สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2564


จริงหรือไม่…? ผู้รับวัคซีนทั้งหมดจะเสียชีวิตใน 2 ปี

ไม่จริง

เพราะ…Luc Montagnier ไม่ได้พูดประโยคดังกล่าว ไม่มีหลักฐานใดอ้างอิง แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับวัคซีนก็ตาม

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/169hziuu8ddop


จริงหรือไม่…? องค์การอนามัยโลก รับรองวัคซีนซิโนแวค

จริง

เพราะ…ผลิตโดย ซิโนแวค ไบโอเทค สำหรับรายการใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อปูทางสู่การใช้วัคซีนตัวที่ 2 ของจีน ในประเทศยากจน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/xrvv8siq2fgf


จริงหรือไม่…? บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ที่สนใจวัคซีนทางเลือก Moderna

จริง

เพราะ…เป็นการสำรวจความต้องการ โดยให้ลงชื่อและรายละเอียดไว้ก่อน รพ.จะติดต่อกลับอีกครั้งเมื่อวัคซีนพร้อมให้บริการ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/5ob6bvq3703w


จริงหรือไม่…? WHO ตั้งชื่อใหม่ ของโควิด กลายพันธุ์

จริง

เพราะ…เปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรกรีกแทน เพื่อจดจำและออกเสียงง่าย ไม่ต้องตีตราให้เข้าใจผิดว่าเป็นประเทศต้นกำเนิด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1y7wun8jrwj5n


จริงหรือไม่…? ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงกับการฉีดวัคซีน

จริง

เพราะ…เป็นคำแนะนำจาก รพ.จุฬาฯ สำหรับผู้เป็นโรคความดันฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3g7j4yq2qkes1


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2564


จริงหรือไม่…? ซีพีปิดข่าว หมูไก่ติดเชื้อตัวใหม่ และเป็นเอดส์ ห้ามกิน 6 เดือน ติดเชื้อตายใน 9 วัน

ไม่จริง

เพราะ…ยังไม่พบกรณีหมู-ไก่เป็นโรคเอดส์ ในพื้นที่ที่มีการอ้างถึง และในทุกพื้นที่ของประเทศไทย.

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3mdsir015v5ul


จริงหรือไม่…? เปลือกไข่รักษาโรคเริม งูสวัดได้

ไม่จริง

เพราะ…ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบ พบ ไม่เป็นความจริง ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถรักษาได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/g3jj44t68w1y


จริงหรือไม่…? ภาพการเสียชีวิตของนกหลายตัว ในประเทศอินเดีย

ไม่จริง

เพราะ…ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบ ยังไม่ได้รับข้อมูลยืนยันที่แท้จริง ดังนั้นไม่ควรแชร์ต่อ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3bhn2y7dy8ch1


จริงหรือไม่…? เพจเราชนะ ของภาครัฐโพสต์​นี้จริงไหม

ไม่จริง

เพราะ…ไม่ใช่เพจของหน่วยงาน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2v1guekr7i3fs


จริงหรือไม่…? สธ. กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนให้บริการแก่บุคคลที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ จากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19

จริง

เพราะ…เพื่อเพิ่มสิทธิเบิกจ่ายดูแลผู้ป่วยจากการฉีดวัคซีน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/g9rcoopp2bw9


จริงหรือไม่…? มูลนิธิพุทธรักษา ระดมทุนจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วย โควิด19

จริง

เพราะ…มูลนิธิพุทธรักษา ร่วมกับ LIFEiS และ มูลนิธิอริยวรารมย์ ในโครงการ Pay it Forward

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3d8anvl87j88l


จริงหรือไม่…? ก.ล.ต. เตือนการทำธุรกรรม DeFi ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

จริง

เพราะ…ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และใบอนุญาตจาก รมต.คลัง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3ok6qfdolcmob


จริงหรือไม่…? ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เริ่ม 1 ก.ค.64

จริง

เพราะ…นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เผย แผนเปิดเกาะภูเก็ตยังคงยืนยันในวันที่ 1 ก.ค.64

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/kqq78sa6k9y8


จริงหรือไม่…? ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สนับสนุนคนอายุ18 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนโควิด19

จริง

เพราะ…เพจ FB ได้เผยแพร่แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนแก่ผู่ใหญ่และผู้ป่วยในโรงพยาบาล

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1rz133qu3owqf


จริงหรือไม่…? แอปพลิเคชั่น หมอพร้อมหยุดให้บริการ

จริง

เพราะ…แจ้งหยุดเปิดจองคิวฉีดวัคซีนโควิดชั่วคราว ตั้งแต่ 31 พ.ค.เป็นต้นไป ตามนโยบาย ศบค. แต่ยังปจ้งความประสงค์ได้ตามช่องทางอื่นๆ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/34vqt4v56rx0t

วงเสวนาแนะทางออก‘ขัดแย้งออนไลน์’ เปิดพื้นที่ปลอดภัย-ฟังเพื่อเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น

บทความ

วงเสวนาแนะทางออก‘ขัดแย้งออนไลน์’เปิดพื้นที่ปลอดภัย-ฟังเพื่อเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น

บ่ายวันที่ 28 พ.ค. 2564 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น Centre for Humanitarian Dialogue (“hd) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ. IBHAP) จัดงาน (ออนไลน์) เสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 16 กาลามสูตรในยุคดิจิทัล: เส้นแบ่งบางๆระหว่างความจริงและความเชื่อ Digital Thinkers Forum #16 “How to draw a thin line between facts & faith in digital age? โดยหนึ่งในนั้นคือการเสวนาหัวข้อ “เราจะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโลกไซเบอร์ (Cybermediation) ได้หรือไม่” ในช่วงท้ายของงานดังกล่าว

น.ส.ธีรดา ศุภะพงษ์ ผู้แทนประเทศไทย Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวว่า คำว่า “ไกล่เกลี่ย (Mediation)” เป็นคำที่ใช้กันในหลายวงการ ทั้งการเจรจาสร้างสันติภาพ การเจรจาทางคดีความในกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการ โดยมีฝ่ายที่ 3 มาเป็นคนกลางรับฟังและหาทางออก นำมาสู่ข้อตกลงที่คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติตาม 

ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้นั้นต้องมีคุณสมบัติคือความเข้าใจว่า การที่คนแต่ละคนที่จะทำอะไรบางอย่างนั้นทำไปด้วยมุมมอง ฐานคิดหรือความเชื่ออย่างไร หรือมีผลประโยชน์ต่อเรื่องราวนั้นอย่างไร และจะสานผลประโยชน์ระหว่าง 2 ฝ่ายที่มีจุดยืนแตกต่างกันได้อย่างไร หรือก็คือมองหาจุดร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนคำว่า “การไกล่เกลี่ยทางไซเบอร์ (Cybermediation)” นั้นเกิดขึ้นในการประชุมปี 2561 ของ UN Department of Political Affairs , Diplo Foundation , SwissPeace  และ HD โดยมีคำถามสำคัญคือ 

1.เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่องานคลี่คลายความขัดแย้งและการป้องกันความขัดแย้งที่รุนแรงได้อย่างไร กับ 2.ผู้ไกล่เกลี่ยจะใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นประโยชน์ในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งและการป้องกันความรุนแรงได้อย่างไร ซึ่งโลกยุคใหม่ข้อมูลข่าวสารและมุมมองความเห็นถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว อีกทั้งผู้คนยังได้พบเจอกันมากบนพื้นที่ออนไลน์ การที่ผู้คนซึ่งต่อสู้หรือต่อรองผลประโยชน์กันบนพื้นที่ออฟไลน์ (โลกจริง) ขยายวงเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ มีการใช้วาทกรรมหรือใช้เครื่องมืออย่างไรบ้างในการประลองกำลังกัน

“เราสามารถทำได้เพราะมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่มีจุดไหนไหม? ที่น่าจะมาดูว่าเส้นแบ่งในการเคารพกันของความแตกต่างทางความคิดมุมมองต่างๆ เสรีภาพในการแสดงออก กับเส้นแบ่งของการที่จะไปละเมิด ไปปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังมีการสื่อสารในทำนองนั้นในโลกออนไลน์แล้วอย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นความท้าทายใหม่ของคนทำงานด้านไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง การทำงานด้านกระบวนการสันติภาพ ที่มองว่าบริบทใหม่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม” น.ส.ธีรดา กล่าว

น.ส.ธีรดา กล่าวต่อไปว่า ในอดีตการไกล่เกลี่ยอาจทำในวงปิด ไปพบกันในพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันอาจต้องคำนึงถึงว่า การที่จะหาข้อตกลงกัน หาฉันทามติร่วมกัน อาจต้องเปิดให้มีส่วนร่วมและต้องรับฟังผู้ที่มีส่วนได้-เสียมากขึ้น ส่วนทักษะใหม่ของผู้ไกล่เกลี่ยในยุคดิจิทัล เช่น การใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ สร้างการสื่อสารสาธารณะให้เกิดแนวคิดหรือพื้นที่ของคนที่อยากหาทางออกร่วมกัน หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เก็บข้อมูลการใช้ถ้อยคำของฝ่ายต่างๆ หรือใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR) จำลองมุมมองของแต่ละฝ่ายให้เข้าใจกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากจะทำเรื่องการไกล่เกลี่ยทางไซเบอร์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง 1.กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง 2.ผู้ไกล่เกลี่ย พื้นที่ปลอดภัย องค์กรที่คู่ขัดแย้งไว้วางใจ 3.บริบทแวดล้อม เช่น คนที่อยู่ตรงนั้นมีความรู้สึกเพียงใดว่าจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง 4.เครื่องมือประเมินและติดตามสถานการณ์ 5.ความสามารถในการหาข้อเท็จจริง แยกแยะได้ระหว่างข้อเท็จจริง ความเห็นและข่าวลวง และ 6.การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการหาฉันทามติอย่างสร้างสรรค์ 

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เดิมทีความคิดอาจอยู่ในสมองหรืออยู่ในคนที่แวดวงใกล้เคียง แต่ปัจจุบันความคิดสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้ง่าย ซึ่งแม้จะไม่กระทบกับเนื้อตัวร่างกาย แต่จะกระทบกับชื่อเสียง เกียรติยศ อารมณ์ความรู้สึก แต่หากไปถึงขั้นข่าวลวงหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ก็อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อทรัพย์สินหรือต่อบุคคลอื่น มีการทำร้ายร่างกายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือผลกระทบทางจิตใจ เช่น บางคนอับอายจนทำร้ายตนเองหรือต้องย้ายถิ่นฐานหนีไป 

ส่วนการจัดการความขัดแย้ง หากเป็นวิธีที่เป็นทางการคือใช้กระบวนการทางกฎหมาย ฟ้องคดีแพ่งหรืออาญาโดยมีปลายทางอยู่ที่คำตัดสินของศาล แต่การเข้าช่องทางแบบเป็นทางการนี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งคำตัดสินก็ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายที่เขียนไว้ ดังนั้นแม้เรื่องราวจะยุติลงได้ แต่เป็นธรรมหรือไม่นั้นก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง จึงเกิดแนวทางกระบวนการยุติธรรมทางเลือกขึ้น โดยการไกล่เกลี่ยเป็นหนึ่งในวิธีเหล่านั้น และเป็นวิธีที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น การเจรจา ที่คู่ขัดแย้งอาจมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน หรือการใช้อนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก 

ความขัดแย้งบนโลกไซเบอร์นั้นแบ่งได้ 2 ส่วนคือ 1.ความขัดแย้งส่วนบุคคล เช่น มีการใช้ภาพตัดต่อ เผยแพร่คลิป ใช้ถ้อยคำโจมตีกัน ฯลฯ กรณีนี้สามารถไกล่เกลี่ยตามกระบวนการทางกฎหมายได้ กับ 2.ความขัดแย้งในสังคมที่มาจากโลกไซเบอร์ ซึ่งมาจากความแตกต่างของชุดข้อมูลที่ได้รับ ชุดความคิดที่มี ตลอดจนความเชื่อ ความเห็นและการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน 

และหลักการที่จะนำไปสู่การไกล่เกลี่ย 1.ความจริง การไกล่เกลี่ยทุกประเภทจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความจริง 2.ครอบคลุม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการ ไม่ใช่ตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป 3.ไว้วางใจ กระบวนการต้องเชื่อถือได้ ซึ่งมาจากการรับฟังและพูดคุยกัน รวมถึงมีคนกลางที่น่าเชื่อถือ แต่ความยากสำหรับกรณีโลกไซเบอร์ คือจะหาความจริงได้หรือไม่ อะไรคือความจริง ความเชื่อและความคิดเห็น 

ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวต่อไปว่า โดยพื้นฐานไม่มีใครอยากส่งต่อความเท็จหรือข่าวลวงถ้าไม่ใช่พวกมิจฉาชีพ ส่วนใหญ่ที่ส่งต่อเพราะเชื่อว่าเป็นความจริง แต่เพราะยุคนี้ต้องเร็วต้องฉับไวบวกกับทุกคนผลิตเนื้อหาได้ ในอดีคกว่าหนังสือพิมพ์จะออกสักฉบับหนึ่งต้องผ่านกระบวนการหลายขั้น แต่ยุคนี้ด้วยความที่ต้องไวและทำรูปแบบให้โดนใจ ความคลาดเคลื่อนก็เกิดขึ้นได้ แต่ข้อมูลเมื่อมันเข้าไปในโลกไซเบอร์แล้วโอกาสที่จะหายไปนั้นยากมาก 

แต่กระบวนการตรวจสอบจึงเป็นประเด็นท้ทาย เพราะเมื่อหันไปดูภาครัฐก็ไม่มั่นใจว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งรัฐควรมีวัฒนธรรมการเปิดเผย โปร่งใสและตรงไปตรงมาในการให้ข้อมูล รวมถึงต้องมีเอกภาพ ไม่ใช่หน่วยงานนี้พูดอย่างหนึ่ง ต่อมาอีกหน่วยงานก็มาบอกว่าหน่วยงานนั้นพูดไม่ถูกต้อง ประชาชนนั้นแยกไม่ออกเพราะทั้ง 2 หน่วยงานเป็นภาครัฐทั้งคู่ แล้วประชาชนก็รู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง ส่วนสื่อก็ต้องระมัดระวัง จะเผยแพร่ข้อมูลโดยใช้มาตรฐานเดียวกับคนทั่วไปไม่ได้ ต้องตรวจสอบมากกว่านั้น และต้องแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น

ผศ.ดร.ปารีณา ยังยกตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างรุ่น ที่ผู้ใหญ่ตั้งคำถามว่าทำไมเด็กต้องออกมาประท้วงเรียกร้อง นั่นเพราะผู้ใหญ่อยู่กับความสุขที่ผ่านมา คือเห็นว่าตนเองรอดแล้ว ในขณะที่เด็กมองว่าตนเองยังไม่รอดและไม่รู้ว่าตนเองจะรอดหรือไม่ จึงต้องการพื้นที่มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงต้องเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น ฟังให้มากขึ้น ซึ่งการไกล่เกลี่ยนอกจากจะให้มาเป็นส่วนหนึ่งแล้ว การฟังก็เป็นเรื่องสำคัญ

“หัวใจสำคัญที่สุดของการไกล่เกลี่ยที่ดีคือการฟัง และทำ Dialogue (บทสนทนา) ร่วมกัน พูดคุยกันเพื่อมองหา Concern (ข้อกังวล) มองหา Interest (ประโยชน์) แล้วถ้าเรามีเวทีที่ฟังกันแบบนี้ได้ สุดท้ายแล้วเราอาจจะพบว่าเราต้องการอย่างเดียวกันก็ได้แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แล้วค่อยมาหาตัว Common Ground (พื้นที่กลาง) บางเรื่องที่แตกต่างกันอาจจะเก็บไว้ก่อน แต่บางเรื่องแก้ไขได้แก้ไขได้ไหม” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว 

ผศ.ดร.ปารีณา ยังกล่าวอีกว่า คนแต่ละรุ่นจะมีวิธีการแสดงออกที่ไม่เหมือนกัน แต่เรามักจะเลือกว่าต้องใช้วิธีการสื่อสารแบบนี้จึงจะฟัง แต่ละคนก็จะอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งอยากให้รับฟังกันที่เนื้อหาและสร้างกรอบกติกาขึ้นมา เพราะสิ่งที่เคยยอมรับกันได้หรือยอมรับไม่ได้ในอดีต ปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปแล้ว กระบวนการจึงสำคัญมาก จะทำอย่างไรถึงจะมีกระบวนการที่จะรวมทุกคนมาได้แบบเป็นหุ้นส่วนจริงๆ แต่ก็จะต้องมีความปลอดภัย เพราะหากไม่มีความปลอดภัยแล้ว เสรีภาพหรือความคิดสร้างสรรค์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talk มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF) มองว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย ไม่ใช่เพียงเพราะความแตกต่างระหว่างรุ่นหรือกลุ่ม แต่ยังเป็นเพราะไม่มีการเชื่อมต่อกัน ดังที่มีการพูดกันเสมอว่าแต่ละคนอยู่ใน Bubble (ฟองสบู่) ของตนเอง ก็จะได้ยินแต่เสียงสะท้อนของตนเองในนั้น นำไปสู่การมีความเชื่อแต่เฉพาะกลุ่มที่ได้ยินในจุดนั้น มองว่าสิ่งนั้นถูกต้องแล้ว 

ดังนั้นต้องมีพื้นที่หรือระบบนิเวศที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะสนทนากัน รวมถึงเพิ่มความสามารถให้ผู้คนกลับมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งมีตัวอย่างจากโครงการ My Country Talk ที่เริ่มจากในประเทศเยอรมนี โดยจะมีโปรแกรมที่นำคำถามที่กลายเป็นประเด็นแบ่งแยกคนในสังคม เช่น จะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ถ้าจะฉีดควรฉีดยี่ห้อใด เป็นต้น นำไปฝากไว้ตามสื่อต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อผู้สนใจมาเห็นและทิ้งคำตอบไม่ว่าทางใด ระบบจะเก็บไว้ กระทั่งเมื่อปิดรับลงทะเบียน ก็จะมีวันที่เชิญคนที่เห็นต่างกันมากๆ มาคุยกัน

“เราบางคนไม่เคยเจอกัน แต่เกลียด ไม่ชอบ เพราะเราไปอยู่ในโลกของเราใบหนึ่งที่เราก็จะได้อย่างนี้ คนนี้คิดไม่เหมือน คนนี้คิดต่างจากเรา คนนี้อย่างนี้ไม่ดี ความจริงของโลกหนึ่งของเรากับความจริงอีกโลกหนึ่งของเขา มันก็คือความจริงของทั้ง 2 ฝ่าย ความจริงที่มีความเชื่อของเขาเองอยู่ในนั้น แล้วก็มันมีความเชื่อบางอย่างที่คล้ายกัน หรือมีความจริงบางชุด มันจะมีความจริงย่อยความเชื่อย่อยที่มันอยู่ในนั้น ซึ่งบางทีถ้าเราได้คุยกันมันเคลียร์ได้ มันอาจจะมองเห็นได้”

ดร.พิมพ์รภัช กล่าว

ดร.พิมพ์รภัช กล่าวต่อไปว่า โปรแกรม My Country Talk ไม่ได้ต้องการให้เปลี่ยนความคิด การที่จะไกล่เกลี่ยได้ต้องมีความสามารถในการเคารพและเข้าใจความจริงหรือความเชื่อของกลุ่มต่างๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยน กระบวนการสนทนานอกจากเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดและฟังกันแล้ว ยังเชื่อว่ามนุษย์มีความพิเศษตรงนี้ถ้าได้เจอกันและคุยกันจริงๆ จะไม่ฆ่ากันตาย ซึ่งความเชื่อนี้ปรากฏให้เห็นในการทำโครงการที่เยอรมนี ถึงขนาดมีคนขับรถข้ามเมืองมาเพื่อจะเจอคนที่เห็นต่างกับตนเองอย่างสุดขั้ว แต่ท้ายที่สุดแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ได้เปลี่ยนความคิด แต่ก็ยังสัญญาว่าจะมาเจอกันทุกปี

ข้อค้นพบนี้ทำให้ย้อนกลับมามองที่สังคมไทย ว่าตกลงแล้วเป็นเพราะเราไม่เคยคุยกันจริงๆหรือเปล่า นำมาสู่การทำโครงการ Thailand Talk เปิดพื้นที่ให้คนได้มาฟังและพูดคุยกันเพื่อเชื่อมต่อคนเข้าด้วยกัน เพราะตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์อยู่ในสังคมเดียวกัน พื้นที่นี้ก็จะเปิดไว้ให้สำหรับทุกคนสามารถเชื่อมต่อกัน และสร้างความเข้าใจด้วยกันได้

น.ส.สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดิจิทัลเพื่อสังคม กล่าวว่า หากมองความขัดแย้งในประเทศไทย จะมี 2 กลุ่มใหญ่ 1.ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล กับ 2.ความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง โดยในส่วนของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ที่ผ่านมาจะพบปรากฏการณ์ทั้งการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ-IO) และการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังกันทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่ารัฐบาลหรือประชาชน แต่ความขัดแย้งบนโลกออนไลน์เป็นภาพสะท้อนว่าประชาชนไม่มีพื้นที่พูดถึงความขัดแย้งในโลกจริง

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือปรากฎการณ์ “ทัวร์ลง” ซึ่งฝ่ายผู้เห็นต่างมองว่าในเมื่อโลกจริงพูดไม่ได้ก็ต้องใช้พื้นที่ออนไลน์ เช่น ไปแสดงความเห็นในเพจของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า หากประชาชนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการใช้วิธีนี้ แล้วเราจะยอมอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีนี้ หรือใช้วิธีนี้เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งกันจริงๆ หรือ 

ขณะเดียวกัน การปิดกั้นโดยฝ่ายรัฐอาจยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เช่น กรณีประเทศไทยที่เฟซบุ๊กทางการของนายกรัฐมนตรีปิดกั้นไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ก็พบว่ามีการใช้ถ้อยคำรุนแรงมากขึ้น หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เมื่อรัฐบาลทหารตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ประชาชนก็ออกมาจับปืนในโลกจริง ซึ่งก็นำไปสู่ความรุนแรง การปิดกั้นจึงไม่ใช่วิธีการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทีได้ผล

ในทางกลับกัน ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีปัญหาความสับสนด้านข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 แต่นายกรัฐมนตรีใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทำให้ประชาชนหันมาสวมหน้ากากปิดปาก-จมูก และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาด ทั้งนี้ หากเน้นไปที่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.รัฐต้องให้พื้นที่ประชาชนในการเสนอความเห็นต่าง เพราะความขัดแย้งบนโลกออนไลน์เป็นผลมาจากการไม่มีพื้นที่ในโลกจริง

2.ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการรับฟังเสียงประชาชน หากมองย้อนไปเมื่อ 100 ปีก่อน รัฐบาลไม่สามารถรู้ได้เลยว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร และ 3.ทั้งรัฐและประชาชนต้องมีกฎกติกาในการใช้สื่อออนไลน์ เหมือนกับการมีกฎจราจรในการใช้รถใช้ถนน แม้ประชาชนจะเห็นว่าต้องใช้วิธีทัวร์ลงกับรัฐ แต่ก็ต้องมีกติกาการใช้สื่อออนไลน์เมื่อมีความเห็นต่างจากรัฐเช่นกัน

“ทั้งด้านประชาชนและรัฐบาล อยากจะให้มองเห็นว่าที่จริงเราอยู่ในโลกที่ว่าเรามีวิธี เรามีเครื่องมือแล้วที่จะทำให้คนได้ฟังกัน แล้วก็มีพื้นที่ ก็คือ Social Media แล้วก็มีเครื่องมือ แต่ว่าจะทำอย่างไรทั้งฝั่งประชาชนและรัฐบาล ที่จะใช้เครื่องมือที่เรามีให้เป็นประโยชน์” น.ส.สายใจ กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

สรุป 3 ข่าว “งบ-การเงิน” ที่ต้องรู้ทัน

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

เป็นประจำทุก ๆ ปีเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง มักมีคนหยิบข่าวสารบางเรื่องนำกลับมาฉายซ้ำ วนแล้ว วนอีก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การคลัง และการงบประมาณ ซึ่งแต่ละครั้งที่หยิบนำมาเล่าใหม่ก็สร้างกระแสสังคมให้ติดตามจนกลายเป็นเรื่องดรามาเสียแทบทุกครั้ง แม้ว่าเรื่องกังกล่าวนั้นเกือบทั้งหมดเป็นข่าวที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง 

กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้รวบรวมข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่มักถูกหยิบยกมานำเสนอในห้วงเวลาต่าง ๆ เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบเป็นข้อมูลว่า ข่าวในลักษณะนี้ควรตรวจสอบ และพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ดีก่อนเชื่อ หรือแชร์ข้อมูลต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้หลาย ๆ คนเกิดความสับสน และเข้าใจผิด 

กรณีแรก

คือ เรื่องของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ซึ่งทุก ๆ ปีจะมีคนคอยติดตามอยู่เสมอว่างบประมาณกระทรวงใดจะได้รับมากที่สุด โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคง แทบทุกครั้งมักมีผู้นำหยิบมาเล่นโดยอ้างอิงข้อมูลเพียงบางส่วน เพียงเพื่อหวังการสร้างประเด็นดราม่าให้เกิดขึ้นในสังคม และเป็นข้อมูลโจมตีในเชิงการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเสมอ ๆ 

อย่างเช่น ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ก็มีการนำเสนอข้อมูล เช่น โจมตีการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข หรือการเปิดข้อมูลงบประมาณของกระทรวงหลาโหมที่อ้างว่าตั้งงบประมาณเอาไว้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดอย่างหนักในประเทศไทย 

จากการตรวจสอบข้อมูลกรณีข้างต้นนี้ พบว่า วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของกระทรวงกลาโหม อยู่ที่ 203,282 ล้านบาท โดยมีวงเงินปรับลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 153,940 ล้านบาท

ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลจริงของการจัดงบประมาณปี 2565 ซึ่งแยกออกเป็นภารกิจต่าง ๆ จะพบว่า ส่วนใหญ่มีวงเงินปรับลดลงจากปีงบประมาณก่อนเกือบทั้งสิ้น โดยมีการแยกวงเงินออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามลักษณะงาน คือ 

  1. การบริหารทั่วไป แบ่งเป็น การบริหารทั่วไปของรัฐ 1,120,424.3 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากปี 2564 การป้องกันประเทศ 733,030.8 ล้านบาท ลดลง 4.9% จากปี 2564การรักษาความสงบภายใน 187,572.8 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากปี 2564
  2. การเศรษฐกิจ 691,452.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% 
  3. การบริการชุมชนและสังคม แบ่งเป็น การสิ่งแวดล้อม 8,533.8 ล้านบาท ลดลง 47.1% การเคหะและชุมชน 131,707.3 ล้านบาท ลดลง 10.8% การสาธารณสุข 606,699.4 ล้านบาท ลดลง 10.8% การศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ 18,696.1 ล้านบาท ลดลง 8.5% การศึกษา 456,240.1 ล้านบาท ลดลง 5.5% การสังคมสงเคราะห์ 366,246.5 ล้านบาท ลดลง 19.8%

กรณีนี้อยู่ที่การนำเสนอ หากหยิบตัวเลขเพียงบางตัวเลขมาเล่น หรือนำเสนอสู่สาธารณะโดยไม่เอาข้อมูลทั้งหมดมาอธิบายให้ครบถ้วน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ 

สามารถติดตามเอกสารอ้างอิงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้ที่นี่ https://www.bb.go.th/topic3.php?gid=860&mid=544


กรณีที่สอง

เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ คือ การนำเสนอโดยอ้างอิงข้อมูลของราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง รายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร เพื่ออนุวัติตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ ของธนาคารแห่งประเทศไทยทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร

โดยระบุ งวดประจำมสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ.2564 งวดประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ.2564 และงวดประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 โดยขาดทุนสะสม 1,069,366,246,596 บาท

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวที่ เป็นการแสดงรายการงบการเงินของ ธปท. และเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง ในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของแบงก์ชาติและเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง ในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ เช่น การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนมากจนกระทบต่อการดำเนินงานภาคเอกชนและเศรษฐกิจ การดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น กำไรหรือขาดทุนที่จะปรากฏในงบดุลของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องปกติของการทำหน้าที่ตามพันธกิจ

ดังนั้น ฐานะการเงินของธนาคารกลางเป็นผลจากการทำหน้าที่ตามพันธกิจ ซึ่งในแต่ละปีอาจเกิดกำไรและขาดทุน เช่น จากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินบาท และจากต้นทุนการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งตัวเลข 1.069 ล้านล้านบาท เป็นผลการขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นหลายปีไม่ใช่ของปีนี้ปีเดียว

ทั้งนี้ หนี้สินในงบการเงินของแบงก์ชาติ ไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของสมาชิก

พร้อมยังขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

สามารถติดตามเอกสารอ้างอิง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร ได้ที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/D/036/T_0002.PDF


กรณีที่สาม

เรียกว่าคลาสสิกที่สุด คือ การประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ข่าวนี้มีออกมาเป็นประจำทุกปีประมาณเดือนกันยายน ในช่วงเข้าสู่ฤดูการขยายระยะเวลาการลดภาษี VAT เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี

สำหรับกรณีนี้ หากใครติดตามข่าวสารเป็นประจำจะรู้ได้ทันทีว่า “เป็นเรื่องปกติ” เพราะทุกรัฐบาลจะต่ออายุการลดภาษี VAT เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยลดผลกระทบทั้งค่าครองชีพ และรักษาการบริโภคภายในประเทศ ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวอยู่ได้ในระดับที่เหมาะสม 

โยปัจจุบัน ตามประมวลรัษฎากร ภาษี VAT มีอัตราการจัดเก็บที่ 10% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ปี 2535 แต่ไม่เคยจัดเก็บจริง  เพราะทุก ๆ ปี จะมีการออกออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ให้เหลือเพียง 7% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 6.3% บวกภาษีท้องถิ่น 0.7% มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ณ ขณะนี้ก็มีแนวโน้มจัดเก็บในรูปแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่กลับมาขยายตัวได้ดีตามศักยภาพ  โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก การจะกลับมาเก็บภาษี VAT ในอัตราปกติ อาจเป็นเรื่องยาก หากรัฐบาลจะตัดสินใจขึ้นช่วงนี้ คงจะซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนมากเลยทีเดียว 

สามารถติดตามข้อมูล และเอกสารอ้างอิง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ที่นี่

เราจะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโลกไซเบอร์ (Cybermediation) ได้หรือไม่

บทความ

รับชมเสวนาออนไลน์ เราจะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโลกไซเบอร์ (Cybermediation) ได้หรือไม่

* ผศ.ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
* ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talk มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF)
* ธีรดา ศุภะพงษ์ ผู้แทนประเทศไทย Centre for Humanitarian Dialogue (HD)
* สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดิจิทัลเพื่อสังคม
ดำเนินรายการโดย
* สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย)

ขอบคุณที่มา Line 77 ข่าวเด็ด

กาลามสูตรในยุคดิจิทัล: เส้นแบ่งบางๆระหว่างความจริงและความเชื่อ Digital Thinkers Forum #16

บทความ

รับชมเสวนาออนไลน์ กาลามสูตรในยุคดิจิทัล: เส้นแบ่งบางๆระหว่างความจริงและความเชื่อ Digital Thinkers Forum #16

กล่าวต้อนรับและเปิดงาน โดย
* ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
* ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย)
* ผศ.ดร.นภัส เรืองนภากุล ภาคีโคแฟคภาคเหนือ พิธีกร

ปาฐกถา เรื่อง หลักกาลามสูตรเพื่อสันติในยุคดิจิทัล โดย
* พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ. IBHAP)

เสวนา อะไรคือเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ
* คุณพ่ออมรกิจ พรหมภักดี อุปมุขนายก สังฆมณฑลสุราษฏร์ธานี กรรมการอำนวยการ สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
* รศ.เสาวนีย์ รุจิระอัมพร-จิตต์หมวด กรรมการบริหารหลักสูตร สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และ ผู้อำนวยการหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (จชต.) สถาบันพระปกเกล้า
* สุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้ง UbonConnect
* รณพงศ์ คำนวณทิพย์ ผู้ก่อตั้ง Media Oxygen
ดำเนินรายการโดย
* สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย)

ขอบคุณที่มา Line 77 ข่าวเด็ด

รับชมคลิป

งานวิจัยพบ‘ข่าวลวง’เสี่ยงระบาดหนักใน‘กลุ่มปิด’ แนะแพลตฟอร์มหาวิธีแก้ไข-สร้างอาสาฯร่วมตรวจสอบ

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

บ่ายวันที่ 27 พ.ค. 2564 โคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานแถลงข่าว (ออนไลน์) “ถอดรหัสข่าวลวง: เปิดรายงานโคแฟค ที่มา ลักษณะข่าวลวงและข้อเสนอแนะ” (De-coding Disinformation: Cofact Original Report and Recommendations) โดย นายชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้แทนทีมวิจัยสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบและยับยั้งข่าวลวง ทุกฝ่ายมีความพยายามกันมาตลอด เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าข่าวลวงเหล่านี้มีที่มาอย่างไร จะใช้วิธีการใด ทำงานร่วมกับหน่วยงานใดเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจาย

นายชิตพงษ์ ยกตัวอย่างข่าวลวงบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนขึ้นมาศึกษา และแบ่งผู้เกี่ยวข้องเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้เผยแพร่ข่าว (Spreader) และผู้แก้ไขข่าว (Corrector) ประกอบด้วย ข่าวที่เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ด้านสุขภาพ อาทิ 1.สมุนไพรฟ้าทะลายโจรป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งผลการวิจัยในปัจจุบันพบแต่เพียงว่ามีฤทธิ์ในการรักษาและสร้างภูมิคุ้มกันได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่มีข้อค้นพบด้านการป้องกันแต่อย่างใด แต่หลายคนก็ไปหาซื้อมากินไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว

การค้นหาระหว่างวันที่ 10 ก.พ. -10 พ.ค. 2564 พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 180 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 401 ข้อความ โดยในกลุ่มข้อความเผยแพร่ข่าวลวง เกี่ยวข้องกับการขายสินค้ามากที่สุด คือยาฟ้าทะลายโจร ถึง 121 ข้อความ รองลงมาคือ ไม่มีความรู้หรือเข้าใจผิด 52 ข้อความ ทั้งนี้ การเผยแพร่หลายครั้งใช้ถ้อยคำอ้างถึงกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า ฟ้าทะลายโจรมีสาร “แอนโดร การ์โพร์ไลท์” มีฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ไม่ให้เข้าสู่เซลล์ และต้านการแตกตัวของเชื้อโควิด-19 ในร่างกายได้

ซึ่งต้นตอของข่าวนี้ น่าจะมาจากคลิปวีดีโอหนึ่งในเว็บไซต์ยูทูป ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ที่ขณะนั้นไวรัสโควิด-19 กำลังเริ่มระบาด โดยในคลิปมีการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม เนื้อหาก็ไม่บอกว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด โดยยังต้องทำการศึกษาต่อไป เพียงแต่ผู้โพสต์คลิปไปบิดเบือนโดยพาดหัวว่าฟ้าทะลายโจรป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ จากนั้นก็มีการส่งต่อกันโดยไม่ได้เข้าไปดูเนื้อหาในคลิปวีดีโอว่ากล่าวถึงในประเด็นใด

2.มะนาวโซดาฆ่าเชื้อโควิด-19 ค้นหาระหว่างวันที่ 12 ธ.ค. 2563-12 มี.ค. 2564 พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 2 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 18 ข้อความ เช่นเดียวกับมะนาวโซดารักษาโรค พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 3 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 157 ข้อความ อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่า ข้อความเผยแพร่ข่าวลวงน่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด เช่น แอปพลิเคชั่นไลน์ ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ ต่างจากสื่อออนไลน์หรือเว็บไซต์ที่เปิดเป็นสาธารณะให้คนทั่วไปดูได้ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูป พันทิป

3.คลิปเสียงแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ระบุว่าการดื่มยาเขียวช่วยป้องกันและรักษาโรคจากไวรัสโควิด-19 ได้ ค้นหาระหว่างวันที่ 10 ก.พ. -10 พ.ค. 2564 ไม่พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง แต่พบและข้อความแก้ไขข่าวลวง 39 ข้อความ สันนิษฐานว่า ข้อความเผยแพร่ข่าวลวงน่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด 4.อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบริษัทไฟเซอร์ เตือนว่าผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ค้นหาระหว่างวันที่ 13 ก.พ.-13 พ.ค. 2564 พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 33 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 1 ข้อความ

อย่างไรก็ตาม ข่าวลวงเรื่องนี้พบว่าผู้ที่แชร์มักเป็นบุคคลทั่วไปที่ใช้เฟซบุ๊ก ไม่ใช่เพจหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามจำนวนมาก ส่วนที่มานั้นมาจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งในต่างประเทศที่มักนำเสนอข่าวลวงหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้สำนักข่าวดังกล่าวยังมีบัญชีสำหรับเผยแพร่คลิปวีดีโอบนเว็บไซต์ยูทูป แต่ในเวลาต่อมาบัญชีดังกล่าวได้ถูกยูทูประงับการใช้งานไปแล้วจากพฤติกรรมนำเสนอข่าวลวง

นายชิตพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ยังมีข่าวลวงเรื่องอื่นๆ ที่ถูกหยิบยกมาทำการศึกษา เช่น ข่าวแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ สามารถใช้กู้ยืมเงินสดได้ ค้นหาระหว่างวันที่ 13 ก.พ.-13 พ.ค. 2564 ไม่พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง แต่พบและข้อความแก้ไขข่าวลวง 16 ข้อความ สันนิษฐานว่า ข้อความเผยแพร่ข่าวลวงน่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหารวบรวมแหล่งเงินกู้ โดยใช้ข้อความทำนองเดียวกันข่าวลวงนี้ อาทิ แอปเป๋าตังค์และวิธีสมัครยืมเงิน 5,000 อนุมัติ 3 นาที หรือ กู้เงินออนไลน์ : มาตรการคนละครึ่งแอพกระเป๋าตังค์ เป็นต้น

รวมถึง ข่าวลวงเรื่องคลื่นความหนาวปกคลุมประเทศไทยทุกภาค โดยอ้างรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ค้นหาระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2563-16 ก.พ. 2564 ไม่พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง แต่พบและข้อความแก้ไขข่าวลวง 5 ข้อความ สำหรับข่าวลวงนี้ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เป็นข่าวที่ส่งต่อวนกันมาหลายปี เบื้องต้นพบว่ามีมาตั้งแต่ปี 2561 และผู้ที่ออกมาชี้แจงว่าข่าวคลื่นความหนาวไม่เป็นความจริงแทบทุกครั้งคือ กรมอุตุนิยมวิทยาเอง แต่สำหรับที่มาของข้อความเผยแพร่ข่าวลวงนั้นสืบหาไม่ได้ และคาดว่าการส่งต่อข่าวลวงนี้น่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด

นายชิตพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า บทสรุปจากการศึกษาในครั้งนี้คือ 1.สำหรับข่าวลวงที่คาดว่าเผยแพร่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด เช่น ในกรณีประเทศไทยคือแอปฯ ไลน์ น่าจะมีการหารือร่วมกับทางบริษัทไลน์สาขาประเทศไทย เพื่อหาช่องทางตรวจสอบข่าวลวงบนแพลตฟอร์มดังกล่าว หรือสร้างเครือข่ายอาสาสมัครตรวจสอบข่าวลวง หากข้อความใดน่าสงสัย อาจส่งเข้ามาให้ทางโคแฟคตรวจสอบก่อนนำข้อมูลที่ถูกต้องกลับไปเผยแพร่ในกลุ่ม

2.ข่าวลวงที่พบต้นทางชัดเจน ควรประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มให้ติดป้ายแจ้งเตือนหรือนำข่าวลวงนั้นออกจากระบบ และ 3.ที่ผ่านมาหน่วยงานหรือกลุ่มตรวจสอบข่าวลวง มักเลือกตรวจสอบในประเด็นที่แต่ละหน่วยงานหรือแต่ละกลุ่มสนใจ แต่ไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ความพยายามจึงไม่เกิดพลังเต็มร้อย ตรงกันข้ามหากทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่า ณ เวลานั้นมีข่าวลวงข่าวใดเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องรีบแก้ไข แล้วเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องนั้นออกไปพร้อมกัน ก็จะเกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางและกลายเป็นกระแสได้

“จริงๆ เรื่องนี้เคยมีการศึกษาแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว (2563) ช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ เราก็ไปศึกษาแบบนี้กับข่าวลวงเรื่องโควิดอยู่ประมาณ 6 เรื่อง แล้วก็พบแพทเทิร์น (Pattern-รูปแบบ) อยู่อย่างหนึ่ง ข่าวลวงเรื่องโควิดมันระบาดเป็นคลัสเตอร์ (Cluster-กลุ่มก้อน) คือระบาดเป็นระลอก แล้วแต่ละระลอกสิ้นสุดลงมักจะพบว่า จุดที่สิ้นสุดของระลอกจะมีซูเปอร์คอเร็คเตอร์ (Super Corrector-กลุ่มผู้ตรวจสอบแก้ไข) เป็นเครือข่ายต่อต้านข่าวลวง ทำงานพร้อมๆ กันโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่โพสต์พร้อมๆ กันว่าเรื่องนี้ไม่จริง ส่งผลให้การระบาดของข่าวลวงในคลัสเตอร์นั้นลดลงอย่างชัดเจน” นายชิตพงษ์ กล่าว

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย (COFACT Thailand) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากการทำงานของโคแฟค มาประมาณ 1 ปี พบสาเหตุของปัญหาข่าวลวงในประเทศไทย ประกอบด้วย

1.การสื่อสารในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด เช่น ในไทยหมายถึงแอปฯ ไลน์ ส่วนต่างประเทศมักจะเป็นแอปฯ วอตส์แอปป์ ที่ไม่ได้ถูกมองเห็นเป็นสาธารณะ ต่างจากแพลตฟอร์มเปิด เช่น ทวิตเตอร์ ที่เมื่อโพสต์อะไรไปเพียงครู่เดียวก็อาจเกิดการโต้เถียงแล้ว

2.วัฒนธรรมความเกรงใจ ด้วยความที่กลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิดมักเป็นคนที่รู้จักกัน เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน ผู้เผยแพร่ข้อความที่ไม่เป็นความจริง อาจเป็นพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน มักไม่กล้าเตือนเพราะกลัวจะโกรธกันเนื่องจากทำให้เสียหน้า คนไทยจำนวนมากจึงเลือกถนอมน้ำใจ คนที่เผยแพร่ข้อความนั้นก็ยังเข้าใจต่อไปว่านั่นเป็นเรื่องจริง

และ 3.อคติ สาเหตุนี้พบได้แม้แต่ในแพลตฟอร์มเปิดที่ถึงจะมีการแก้ไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงแล้ว แต่คนส่วนหนึ่งก็ยังเลือกเชื่อข้อมูลที่ไม่จริงนั้น
ส่วนทางแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย

  1. ข้อมูลที่ออกมาจากภาครัฐต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ และไม่เปลี่ยนไป-มา หรือหากจะเปลี่ยนก็ควรมีฐานข้อมูลกลางป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ได้ หรือเรียกว่าระบบข้อมูลเปิด (Open Data) เช่น ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ที่แต่ละคนต้องไปตามกันเองในเพจนั้นเพจนี้บ้าง ข้อมูลก็จะมีทั้งจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หรือจริงแต่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในเวลาต่อมา (Update) บ้าง ทำอย่างไรจึงจะมีช่องทางให้เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความสับสน ตลอดจนข่าวลวงได้
  2. สื่อมวลชนควรช่วยตรวจสอบข่าวลือต่างๆ อย่างทันท่วงที ที่ผ่านมาหลายครั้งก็พยายามช่วยกัน แต่หลายครั้งแหล่งข้อมูลก็ยังมีความสับสน ดังนั้นแหล่งข่าวไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนต้องทำข้อมูลเข้าถึงได้โดยง่ายเพื่อใช้ในการอ้างอิง
  3. ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ควรมีระบบแจ้งเตือนหรือลบข้อมูลที่พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งมีตัวอย่างแล้ว เช่น เฟซบุ๊ก ที่ในต่างประเทศพบการระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่พบว่าเป็นข่าวลวง
  4. ประชาชนทั่วไปในฐานะผู้ใช้สื่อ ต้องปรับตัวให้มีนิสัยตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนส่งต่อข้อมูล (Fact Checker) ซึ่งผู้ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ผ่านการค้นหาข้อมูล ที่มีหลายองค์กรทำงานด้านตรวจสอบข่าวลวงอยู่ในปัจจุบัน นอกจากโคแฟตแล้วก็ยังมีทีมงานชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. หรือทีมงานของสำนักข่าว AFP เป็นต้น แต่หากในอนาคตมีการรวมข้อมูลการตรวจสอบข่าวลวงเหล่านี้ไว้เป็นจุดเดียวก็น่าจะดี
  5. ต้องสร้างการเรียนรู้ทักษะความรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) อันเป็นแนวทางที่ได้รับการสนับสนุนในระดับสากล

“มีรูปตัดต่อ มีคลิปปลอม มีคลิปเสียงอะไรต่างๆ มากมาย บางทีอาจจะต้องอาศัยทักษะการเปรียบเทียบตรวจสอบไปยังต้นทางซึ่งก็ไม่ยากเกินไป แต่อาจจะต้องใส่ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถม-มัธยม เพื่อจะทำให้ประชาชนมีทักษะในการรู้เท่าทันข่าวลวงข่าวปลอม มันถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” น.ส.สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

เตือน “บัตรพลังงาน” แก้สารพัดโรคกลับมาระบาด

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

ในช่วงเวลาวิกฤต มักมีพวกเข้ามาแสวงหาโอกาสหลอกลวงประชาชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าทุกครั้ง 

ล่าสุด กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้รับทราบข้อมูลมาว่า ขณะนี้มีกรณีการอวดอ้างสรรพคุณของสินค้าหลายชนิดที่สามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้กลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะ “บัตรพลังงาน” ซึ่งถูกโฆษณาชวนเชื่อว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคโดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ เพียงแค่นำบัตรไปแกว่งในแก้วน้ำแล้วนำมาดื่ม หรือนำแก้วน้ำวางทับบนบัตรแล้วดื่ม รวมทั้งมีการนำบัตรสัมผัสกับร่างกายในจุดที่ปวดเมื่อย หรือแขวนคอเอาไว้เพื่อรักษาสุขภาพ

หากใครจำกันได้ในกรณีของบัตรพลังงานดังกล่าว เคยเกิดขึ้นและกลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอย่างมากตั้งแต่ปี 2562 หลังจากพบว่ามีชาวบ้านในจังหวัดขอนแก่นหลายคนหลงซื้อบัตรพลังงานจากบริษัทแห่งหนึ่งที่อ้างว่า เป็นตัวแทนนำบัตรพลังงานมาจำหน่ายในรูปแบบของการให้ประชาชนสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย

หนึ่งในผู้ที่ถูกชักชวนให้สมัครสมาชิก บัตรพลังงาน บอกว่า บัตรนี้สามารถใช้รักษาอาการปวดหลังของตนเองได้ ซึ่งก่อนจะได้บัตรนี้มา ได้มีคนจากบริษัทแห่งหนึ่งมาชักชวนให้เข้าอบรม และสาธิต สรรพคุณของบัตรให้ดู ช่วงระหว่างการสาธิต เมื่อพนักงานนำบัตรลักษณะเป็นสมาร์ทการ์ด มาแตะที่ตัวตนเองรู้สึกมีอาการชา และพอนำบัตรออก ก็หายจากอาการชา 

เมื่อเห็นว่ามีผลต่อร่างกายจริง จึงตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกเพื่อจะได้สมาร์ทการ์ดนำกลับมาใช้ โดยสมัครครั้งแรก มีการให้เลขที่บัญชีกับเจ้าหน้าที่ และได้จ่ายเงินไป 4,400 บาท ได้บัตรมา 5 ใบ หลังจากนั้นตนจึงนำมาบอกต่อคนที่สนใจ โดยขายให้ในราคา 1,100 – 1,500 บาท เพื่อให้นำไปรักษาอาการปวดเมื่อย ซึ่งหากตนเองขายได้ และมีสมาชิกเพิ่มจะได้เงินเพิ่มเข้ามาในบัญชี

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกมาแจ้งเตือนว่าอย่าหลงเชื่อ และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย พร้อมทั้งประสานให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาตรวจสอบ พร้อมทั้งมีการตรวจสอบข้อกฎหมายของสคบ. ประกอบไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการโฆษณา 

นั่นคือ การกระทำผิดด้านการโฆษณาสินค้า ฐานเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าโดยใช้โฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงด้วย

ขณะเดียวกันทาง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังแจ้งเตือนถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะข้อมูลด้านความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งจากข้อมูลที่สำนักงานฯ เคยตรวจวิเคราะห์บัตรพลังงาน พบวัสดุนิวเคลียร์ ทอเรียม 232 (Th-232) ปริมาณรังสีแต่ละบัตร มีค่าประมาณ 0.86 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับรังสีสูงกว่าในธรรมชาติประมาณ 3 เท่า เพราะตามปกติประชาชนจะได้รับรังสีในธรรมชาติซึ่งมีต้นกำเนิดการแผ่รังสีมาจากอวกาศ พื้นดิน แหล่งแร่ในธรรมชาติ สิ่งก่อสร้าง ฯลฯ มีปริมาณรังสีเฉลี่ย 0.27 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง เท่านั้น

หากมีการนำบัตรพลังงานมาใช้ตามคำกล่าวอ้าง เช่น การนำมาสัมผัสหรือติดตามร่างกายตลอดเวลา หรือนำไปแกว่งในแก้วน้ำ จะทำให้มีการได้รับปริมาณรังสีสะสมโดยไม่จำเป็น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการหรืองานวิจัย ที่แสดงว่าบัตรพลังงานมีประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์ได้

ดังนั้น เพื่อลดโอกาสการเกิดผลกระทบจากรังสีต่อร่างกายในระยะยาว จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุกัมมันตรังสี หรือวัตถุอันตราย เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์หรือความคุ้มค่าแล้ว อาจได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าระดับรังสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หากประชาชนสงสัย พบเห็นหรือมีบัตรพลังงานหรือบัตรสมาร์ทการ์ดที่มีสารกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ สามารถโทรแจ้งสายด่วนเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ที่หมายเลข 1296 (ตลอด 24 ชั่วโมง) 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ดีที่สุด คือ ขอแนะนำทุกคนหากจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอะไร ควรจะต้องตรวจสอบข้อมูลของสินค้าให้รอบคอบ ศึกษารายละเอียดของสินค้า หากไม่แน่ใจก็ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน จากนั้นจึงสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อไม่ให้เราเองถูกหลอก เพราะนอกจากทำให้เสียงเงินแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงก็เป็นได้

ลิงค์ข่าว https://www.tja.or.th/view/tjacofact/1331427

สรุป คำถาม-คำตอบ-ข้อแนะนำ การฉีดวัคซีนโควิด 19

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

จากกรณีที่มีข้อกังวลของประชาชน ในเรื่องของข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ “ฉีด”  หรือ “ไม่ฉีด” วัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว กลุ่มประชาชนที่ต้องรับประทานยารักษาโรค กลุ่มสติมีครรภ์และอยู่ในระยะให้นมบุตร รวมถึงกรณีอื่น ๆ

TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่า ก่อนหน้านี้นโยบายของรัฐบาลในการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เริ่มทำการฉีดให้กับ 4 กลุ่มนำร่องที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนก่อน ประกอบด้วย

  1. บุคลากรด่านหน้าและบุคลากรทางการแพทย์
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
  3. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค

เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ หรือหากได้รับเชื้อแล้ว มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงได้

ในส่วนของกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ซึ่งถือเป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ดังนี้

  1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
  2. โรคหัวใจและหลอดเลือด
  3. โรคไตวายเรื้อรัง
  4. โรคหลอดเลือดสมอง
  5. โรคอ้วน
  6. โรคมะเร็ง
  7. โรคเบาหวาน

ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้เป็นกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือติดต่อ ผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวกับนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะค่อยๆสะสมอาการ ค่อยเกิด ค่อยทวีความรุนแรง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วจะเกิดการเรื้อรังของโรคตามมาด้วย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มนี้ หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบข้อมูลการรวบรวมข้อมูลคำถามและคำตอบ ในกรณีการฉีดวัคซีนโควิด จาก “งานบริบาลเภสัชกรรม กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลชลบุรี” ซึงรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ(ตามเอกสารแนบ) โดยกองบก. TJA&Cofact นำมาสรุปดังนี้

กลุ่มโรคประจำตัว

โรคหัวใจและหลอดเลือด  

  • ฉีดได้

 โรคหลอดเลือดสมอง

  • ฉีดได้ ยกเว้นผู้ป่วยที่อาการยังไม่คงที่หรือยัง มีอาการที่อันตรายต่อชีวิต

โรคลมชัก

  • ฉีดได้

 ไทรอยด์

  • ฉีดได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคไทรอยด์แบบใดก็ตาม ได้แก่ มีก้อนที่ต่อมไทรอยต์ คอพอกไทรอยด์เป็นพิษหรือมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ

โรคปอดอุดกั้น, โรคหอบหืด

  • ฉีดได้

โรคมะเร็ง

  • ฉีดได้ ยกเว้นผู้ป่วยมะเร็งที่กําลังได้รับการ ผ่าตัดหรือกําลังได้รับยาเคมีบําบัดควร ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือด โดยเฉพาะกลุ่มที่ ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ควรฉีดหลังจากรักษาครบ 3 เดือน และควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง

โรคเอดส์

  • ฉีดไต้

วัณโรค

  • ฉีดได้

กลุ่มที่ต้องรับประทานยารักษาโรคประจำตัว

On warfarin (ให้ยา วาฟาริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกกันว่ายาละลายลิ่มเลือด)

  • ฉีดได้ (INR <3.0) ควรใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 23G และไม่ ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีนและควรกดตําแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดยานานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ

ให้ยา On ASA(aspirin) , clopidogrel , cilostazol

  • ฉีดได้ ไม่ต้องหยุดยา
  • ควรใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 23G และไม่ ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน และควรกดตําแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดยานานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ

On NOACS (ให้ยา Non-vitamin K antagonist oral anticoagulants)

  • ฉีดได้ ไม่ต้องหยุดยา
  • ควรใช้เข็มขนาดเล็กกว่า 23G และไม่ ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน และควรกดตําแหน่งที่ฉีดหลังการฉีดยานานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ

 ให้ยา Methotrexate

  • ให้หยุดยา 1 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนในแต่ละครั้งแล้วจึงให้ยาต่อตามปกติ (เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการคงที่) **ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ**
  • ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีน ชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีน ชนิดเชื้อตายชนิด mRNA หรือชนิด ส่วนประกอบของโปรตีน

ให้ยา Steroid

  • ยา prednisolone ที่น้อยกว่า 20 mg/day หรือเทียบเท่า สามารถให้การฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องหยุดยา
  • สําหรับยา prednisolone ที่มากกว่า 20 20mg/day หรือเทียบเท่า ในผู้ป่วยที่อาการคงที่และอยู่ในช่วงที่กําลังลดปริมาณSteroidสามารถให้การฉีดวัคซีนได้เช่นกัน
  • ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีน ชนิดเชื้อตายชนิด mRNA หรือชนิดส่วนประกอบของโปรตีน

 ยากดภูมิคุ้มกัน azathioprine, mycophenolate ชนิดกิน

  • สามารถให้การฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องหยุดยา
  • ให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีน ชนิดไวรัสเวคเตอร์และเลือกใช้วัคซีน ชนิดเชื้อตายชนิด mRNA หรือ ชนิด ส่วนประกอบของโปรตีน

ข้อกังวลอื่น ๆ

การรับวัคซีนอื่น ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า หัดเยอรมัน

  • แนะนําให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน
  • วัคซีนที่มีความจําเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลย โดยไม่ได้จําเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา เนื่องจากความ เสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ามีความสําคัญกว่า

การบริจาคเลือด

  • กรณีได้รับวัคซีนขนิต mRNA หรือ วัคซีน ชนิดเชื้อตาย อาจเว้นระยะประมาณ 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนก่อนบริจาคเลือด
  • หากได้รับวัคซีนชนิด live virus vaccine ควรเว้นระยะ 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนก่อนบริจาคเลือด

กําลังให้นมบุตร

  • ฉีดได้

กําลังตั้งครรภ์

  • ยังไม่มีการแนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ เว้นแต่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง และประเมินแล้วว่าวัคซีนให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
  • ในหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ต่อภาวะรุนแรงจากโรคโควิด รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด แนะนําให้ฉีดเมื่ออายุ ครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และแนะนําให้ฉีด วัคซีนขนิดเชื้อตาย

กําลังมีประจําเดือน

  • ไม่ได้มีข้อห้าม แต่มีคําแนะนําจาก ผู้เชี่ยวชาญว่าควรหลีกเลี่ยงการฉีดในช่วงมี ประจําเดือนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง

เคยติดโควิดแล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่

  • ควรฉีดหลังจากติดเชื้ออย่างน้อย 3-6 เดือน และอาจฉีดเพียง 1 เข็ม

ความเสี่ยง/ผลข้างเคียง ที่อาจพบได้หลังจากการฉีดวัคซีน

  • ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ง่วงนอน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวด เมื่อยลําตัว ผื่น / สามารถใช้วัคซีนชนิดเดิมซ้ำได้
  • Anaphylaxis อาการแพ้ เฉียบพลัน โดยมีอาการ 2 ใน 4 ของทางระบบผิวหนัง ทางเดินหายใจ/มีการ เปลี่ยนแปลงของความดัน โลหิต/ทางเดินอาหาร **ห้ามให้วัคซีนชนิดเติมอีก แนะนําให้เปลี่ยนขนิดของวัคซีน

สามารถฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิดได้หรือไม่

  • ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษา จึงแนะนําให้ฉีดชนิดเดียวกัน

หากเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วยังต้องมีการฉีดวัคซีนซ้ำหรือไม่

  • ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลวัคซีนโควิด 19 ต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาว จึงยังไม่มีคําแนะนําในขณะนี้

เคยมีประวัติแพ้ยา หรือ อาหารอย่างรุนแรง (anaphylaxis)

  • พิจารณาฉีดได้ แต่ต้องมีการติดตามอาการใกล้ชิด อาจเกิดอาการแพ้เฉียบพลันได้
  • อาจพิจารณาให้ non-sedative ก่อน

เลื่อนวันฉีดวัคซีนได้หรือไม่

  • Sinovac สามารถเลื่อนนัดฉีด โดยห่างจาก เข็มแรกไม่เกิน 4สัปดาห์

ด้าน พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า 

วัคซีนโควิด-19 กับผู้ที่มีโรคประจำตัว

ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพียงร้อยละ 11 ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลตัวเองเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 มีถึงร้อยละ 36 ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนโควิค-19 ดีหรือไม่ โดยมีเหตุผลสำคัญในเรื่องผลข้างเคียง ความปลอดภัย ผลกับโรคของตนเอง และประสิทธิภาพของวัคซีน แล้วยังพบว่า 44% มีน้ำหนักเพิ่มขั้น 30% หยุดออกกำลังกาย 22% พบว่ามีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น และ 33% ปัญหาโรคเรื้อรังแย่ลงระหว่างการระบาด ผลสำรวจนี้คงไม่แตกต่างจากเมืองไทยสักเท่าไหร่ 

วันนี้เลยขอเอาประเด็นการรับวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวมาเขียนให้ดูกันครับทำไมผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงควรได้รับวัคซีนโควิด-19

ผู้ที่มีโรคประจำตัว มักมีอาการรุนแรงเมื่อเป็น Covid-19 รวมทั้งอาจมีการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่เมื่อมีการติดเชื้อ ทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น และทำให้เสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว  ถึงแม้การศึกษาทางคลินิกของวัคซีนทุกตัวในปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวร่วมในการศึกษาไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไป  

ข้อมูลที่มีอยู่แสดงว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ  แต่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็แนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากผลดีจากวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคจะมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากวัคซีน เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว

ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นไหม

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด อาการไข้ อาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นในผู้มีโรคประจำตัวเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว  และรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่นภาวะหลอดเลือดดำอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังการฉีดวัคซีนที่มีรายงานในต่างประเทศประมาณ 1 ในแสนราย ส่วนใหญ่กลับพบในคนอายุน้อยที่ไม่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดอุดตันมาก่อนจึงสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ หรือปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (ISRR) จากการฉีดวัคซีนกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทำให้มีอาการชา อ่อนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน เป็นลม ตามัว พูดไม่ชัด เกร็ง ก็มักเป็นในผู้หญิงอายุน้อย เป็นกลุ่มก้อน โดยไม่พบความผิดปกติของสมอง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือลมชัก ก็สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้  

ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วโรคที่เป็นจะแย่ลงไหม

ยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าเมื่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคเอชไอวี โรคไทรอยด์ โรคผิวหนัง และโรคอื่น ๆ จะมีอาการแย่ลงหรือกำเริบหลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19  แต่มีข้อระมัดระวังสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวในการรับวัคซีนคือ ในช่วงที่รับวัคซีนจะต้องไม่มีการกำเริบของโรค เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการหอบมากขึ้นก่อนฉีด ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ในช่วงได้รับเคมีบำบัดหรือมีไข้ก่อนให้วัคซีน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมีอาการกำเริบของโรคเหล่านี้ ควรได้รับการดูแลรักษาจนอาการกำเริบดีขึ้นแล้ว จึงสามารถฉีดวัคซีนได้

ลิงค์ข่าว https://www.tja.or.th/view/news/1331483