วงเสวนาแนะทางออก‘ขัดแย้งออนไลน์’ เปิดพื้นที่ปลอดภัย-ฟังเพื่อเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น

บทความ

วงเสวนาแนะทางออก‘ขัดแย้งออนไลน์’เปิดพื้นที่ปลอดภัย-ฟังเพื่อเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น

บ่ายวันที่ 28 พ.ค. 2564 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น Centre for Humanitarian Dialogue (“hd) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ. IBHAP) จัดงาน (ออนไลน์) เสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 16 กาลามสูตรในยุคดิจิทัล: เส้นแบ่งบางๆระหว่างความจริงและความเชื่อ Digital Thinkers Forum #16 “How to draw a thin line between facts & faith in digital age? โดยหนึ่งในนั้นคือการเสวนาหัวข้อ “เราจะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโลกไซเบอร์ (Cybermediation) ได้หรือไม่” ในช่วงท้ายของงานดังกล่าว

น.ส.ธีรดา ศุภะพงษ์ ผู้แทนประเทศไทย Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวว่า คำว่า “ไกล่เกลี่ย (Mediation)” เป็นคำที่ใช้กันในหลายวงการ ทั้งการเจรจาสร้างสันติภาพ การเจรจาทางคดีความในกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการ โดยมีฝ่ายที่ 3 มาเป็นคนกลางรับฟังและหาทางออก นำมาสู่ข้อตกลงที่คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติตาม 

ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้นั้นต้องมีคุณสมบัติคือความเข้าใจว่า การที่คนแต่ละคนที่จะทำอะไรบางอย่างนั้นทำไปด้วยมุมมอง ฐานคิดหรือความเชื่ออย่างไร หรือมีผลประโยชน์ต่อเรื่องราวนั้นอย่างไร และจะสานผลประโยชน์ระหว่าง 2 ฝ่ายที่มีจุดยืนแตกต่างกันได้อย่างไร หรือก็คือมองหาจุดร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนคำว่า “การไกล่เกลี่ยทางไซเบอร์ (Cybermediation)” นั้นเกิดขึ้นในการประชุมปี 2561 ของ UN Department of Political Affairs , Diplo Foundation , SwissPeace  และ HD โดยมีคำถามสำคัญคือ 

1.เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่องานคลี่คลายความขัดแย้งและการป้องกันความขัดแย้งที่รุนแรงได้อย่างไร กับ 2.ผู้ไกล่เกลี่ยจะใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นประโยชน์ในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งและการป้องกันความรุนแรงได้อย่างไร ซึ่งโลกยุคใหม่ข้อมูลข่าวสารและมุมมองความเห็นถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว อีกทั้งผู้คนยังได้พบเจอกันมากบนพื้นที่ออนไลน์ การที่ผู้คนซึ่งต่อสู้หรือต่อรองผลประโยชน์กันบนพื้นที่ออฟไลน์ (โลกจริง) ขยายวงเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ มีการใช้วาทกรรมหรือใช้เครื่องมืออย่างไรบ้างในการประลองกำลังกัน

“เราสามารถทำได้เพราะมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่มีจุดไหนไหม? ที่น่าจะมาดูว่าเส้นแบ่งในการเคารพกันของความแตกต่างทางความคิดมุมมองต่างๆ เสรีภาพในการแสดงออก กับเส้นแบ่งของการที่จะไปละเมิด ไปปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังมีการสื่อสารในทำนองนั้นในโลกออนไลน์แล้วอย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นความท้าทายใหม่ของคนทำงานด้านไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง การทำงานด้านกระบวนการสันติภาพ ที่มองว่าบริบทใหม่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม” น.ส.ธีรดา กล่าว

น.ส.ธีรดา กล่าวต่อไปว่า ในอดีตการไกล่เกลี่ยอาจทำในวงปิด ไปพบกันในพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันอาจต้องคำนึงถึงว่า การที่จะหาข้อตกลงกัน หาฉันทามติร่วมกัน อาจต้องเปิดให้มีส่วนร่วมและต้องรับฟังผู้ที่มีส่วนได้-เสียมากขึ้น ส่วนทักษะใหม่ของผู้ไกล่เกลี่ยในยุคดิจิทัล เช่น การใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ สร้างการสื่อสารสาธารณะให้เกิดแนวคิดหรือพื้นที่ของคนที่อยากหาทางออกร่วมกัน หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เก็บข้อมูลการใช้ถ้อยคำของฝ่ายต่างๆ หรือใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (VR) จำลองมุมมองของแต่ละฝ่ายให้เข้าใจกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากจะทำเรื่องการไกล่เกลี่ยทางไซเบอร์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง 1.กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง 2.ผู้ไกล่เกลี่ย พื้นที่ปลอดภัย องค์กรที่คู่ขัดแย้งไว้วางใจ 3.บริบทแวดล้อม เช่น คนที่อยู่ตรงนั้นมีความรู้สึกเพียงใดว่าจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง 4.เครื่องมือประเมินและติดตามสถานการณ์ 5.ความสามารถในการหาข้อเท็จจริง แยกแยะได้ระหว่างข้อเท็จจริง ความเห็นและข่าวลวง และ 6.การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการหาฉันทามติอย่างสร้างสรรค์ 

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เดิมทีความคิดอาจอยู่ในสมองหรืออยู่ในคนที่แวดวงใกล้เคียง แต่ปัจจุบันความคิดสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้ง่าย ซึ่งแม้จะไม่กระทบกับเนื้อตัวร่างกาย แต่จะกระทบกับชื่อเสียง เกียรติยศ อารมณ์ความรู้สึก แต่หากไปถึงขั้นข่าวลวงหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ก็อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อทรัพย์สินหรือต่อบุคคลอื่น มีการทำร้ายร่างกายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือผลกระทบทางจิตใจ เช่น บางคนอับอายจนทำร้ายตนเองหรือต้องย้ายถิ่นฐานหนีไป 

ส่วนการจัดการความขัดแย้ง หากเป็นวิธีที่เป็นทางการคือใช้กระบวนการทางกฎหมาย ฟ้องคดีแพ่งหรืออาญาโดยมีปลายทางอยู่ที่คำตัดสินของศาล แต่การเข้าช่องทางแบบเป็นทางการนี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งคำตัดสินก็ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายที่เขียนไว้ ดังนั้นแม้เรื่องราวจะยุติลงได้ แต่เป็นธรรมหรือไม่นั้นก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง จึงเกิดแนวทางกระบวนการยุติธรรมทางเลือกขึ้น โดยการไกล่เกลี่ยเป็นหนึ่งในวิธีเหล่านั้น และเป็นวิธีที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น การเจรจา ที่คู่ขัดแย้งอาจมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน หรือการใช้อนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก 

ความขัดแย้งบนโลกไซเบอร์นั้นแบ่งได้ 2 ส่วนคือ 1.ความขัดแย้งส่วนบุคคล เช่น มีการใช้ภาพตัดต่อ เผยแพร่คลิป ใช้ถ้อยคำโจมตีกัน ฯลฯ กรณีนี้สามารถไกล่เกลี่ยตามกระบวนการทางกฎหมายได้ กับ 2.ความขัดแย้งในสังคมที่มาจากโลกไซเบอร์ ซึ่งมาจากความแตกต่างของชุดข้อมูลที่ได้รับ ชุดความคิดที่มี ตลอดจนความเชื่อ ความเห็นและการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน 

และหลักการที่จะนำไปสู่การไกล่เกลี่ย 1.ความจริง การไกล่เกลี่ยทุกประเภทจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความจริง 2.ครอบคลุม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการ ไม่ใช่ตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป 3.ไว้วางใจ กระบวนการต้องเชื่อถือได้ ซึ่งมาจากการรับฟังและพูดคุยกัน รวมถึงมีคนกลางที่น่าเชื่อถือ แต่ความยากสำหรับกรณีโลกไซเบอร์ คือจะหาความจริงได้หรือไม่ อะไรคือความจริง ความเชื่อและความคิดเห็น 

ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวต่อไปว่า โดยพื้นฐานไม่มีใครอยากส่งต่อความเท็จหรือข่าวลวงถ้าไม่ใช่พวกมิจฉาชีพ ส่วนใหญ่ที่ส่งต่อเพราะเชื่อว่าเป็นความจริง แต่เพราะยุคนี้ต้องเร็วต้องฉับไวบวกกับทุกคนผลิตเนื้อหาได้ ในอดีคกว่าหนังสือพิมพ์จะออกสักฉบับหนึ่งต้องผ่านกระบวนการหลายขั้น แต่ยุคนี้ด้วยความที่ต้องไวและทำรูปแบบให้โดนใจ ความคลาดเคลื่อนก็เกิดขึ้นได้ แต่ข้อมูลเมื่อมันเข้าไปในโลกไซเบอร์แล้วโอกาสที่จะหายไปนั้นยากมาก 

แต่กระบวนการตรวจสอบจึงเป็นประเด็นท้ทาย เพราะเมื่อหันไปดูภาครัฐก็ไม่มั่นใจว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งรัฐควรมีวัฒนธรรมการเปิดเผย โปร่งใสและตรงไปตรงมาในการให้ข้อมูล รวมถึงต้องมีเอกภาพ ไม่ใช่หน่วยงานนี้พูดอย่างหนึ่ง ต่อมาอีกหน่วยงานก็มาบอกว่าหน่วยงานนั้นพูดไม่ถูกต้อง ประชาชนนั้นแยกไม่ออกเพราะทั้ง 2 หน่วยงานเป็นภาครัฐทั้งคู่ แล้วประชาชนก็รู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง ส่วนสื่อก็ต้องระมัดระวัง จะเผยแพร่ข้อมูลโดยใช้มาตรฐานเดียวกับคนทั่วไปไม่ได้ ต้องตรวจสอบมากกว่านั้น และต้องแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น

ผศ.ดร.ปารีณา ยังยกตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างรุ่น ที่ผู้ใหญ่ตั้งคำถามว่าทำไมเด็กต้องออกมาประท้วงเรียกร้อง นั่นเพราะผู้ใหญ่อยู่กับความสุขที่ผ่านมา คือเห็นว่าตนเองรอดแล้ว ในขณะที่เด็กมองว่าตนเองยังไม่รอดและไม่รู้ว่าตนเองจะรอดหรือไม่ จึงต้องการพื้นที่มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงต้องเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น ฟังให้มากขึ้น ซึ่งการไกล่เกลี่ยนอกจากจะให้มาเป็นส่วนหนึ่งแล้ว การฟังก็เป็นเรื่องสำคัญ

“หัวใจสำคัญที่สุดของการไกล่เกลี่ยที่ดีคือการฟัง และทำ Dialogue (บทสนทนา) ร่วมกัน พูดคุยกันเพื่อมองหา Concern (ข้อกังวล) มองหา Interest (ประโยชน์) แล้วถ้าเรามีเวทีที่ฟังกันแบบนี้ได้ สุดท้ายแล้วเราอาจจะพบว่าเราต้องการอย่างเดียวกันก็ได้แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แล้วค่อยมาหาตัว Common Ground (พื้นที่กลาง) บางเรื่องที่แตกต่างกันอาจจะเก็บไว้ก่อน แต่บางเรื่องแก้ไขได้แก้ไขได้ไหม” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว 

ผศ.ดร.ปารีณา ยังกล่าวอีกว่า คนแต่ละรุ่นจะมีวิธีการแสดงออกที่ไม่เหมือนกัน แต่เรามักจะเลือกว่าต้องใช้วิธีการสื่อสารแบบนี้จึงจะฟัง แต่ละคนก็จะอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งอยากให้รับฟังกันที่เนื้อหาและสร้างกรอบกติกาขึ้นมา เพราะสิ่งที่เคยยอมรับกันได้หรือยอมรับไม่ได้ในอดีต ปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปแล้ว กระบวนการจึงสำคัญมาก จะทำอย่างไรถึงจะมีกระบวนการที่จะรวมทุกคนมาได้แบบเป็นหุ้นส่วนจริงๆ แต่ก็จะต้องมีความปลอดภัย เพราะหากไม่มีความปลอดภัยแล้ว เสรีภาพหรือความคิดสร้างสรรค์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talk มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF) มองว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย ไม่ใช่เพียงเพราะความแตกต่างระหว่างรุ่นหรือกลุ่ม แต่ยังเป็นเพราะไม่มีการเชื่อมต่อกัน ดังที่มีการพูดกันเสมอว่าแต่ละคนอยู่ใน Bubble (ฟองสบู่) ของตนเอง ก็จะได้ยินแต่เสียงสะท้อนของตนเองในนั้น นำไปสู่การมีความเชื่อแต่เฉพาะกลุ่มที่ได้ยินในจุดนั้น มองว่าสิ่งนั้นถูกต้องแล้ว 

ดังนั้นต้องมีพื้นที่หรือระบบนิเวศที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะสนทนากัน รวมถึงเพิ่มความสามารถให้ผู้คนกลับมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งมีตัวอย่างจากโครงการ My Country Talk ที่เริ่มจากในประเทศเยอรมนี โดยจะมีโปรแกรมที่นำคำถามที่กลายเป็นประเด็นแบ่งแยกคนในสังคม เช่น จะฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ถ้าจะฉีดควรฉีดยี่ห้อใด เป็นต้น นำไปฝากไว้ตามสื่อต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อผู้สนใจมาเห็นและทิ้งคำตอบไม่ว่าทางใด ระบบจะเก็บไว้ กระทั่งเมื่อปิดรับลงทะเบียน ก็จะมีวันที่เชิญคนที่เห็นต่างกันมากๆ มาคุยกัน

“เราบางคนไม่เคยเจอกัน แต่เกลียด ไม่ชอบ เพราะเราไปอยู่ในโลกของเราใบหนึ่งที่เราก็จะได้อย่างนี้ คนนี้คิดไม่เหมือน คนนี้คิดต่างจากเรา คนนี้อย่างนี้ไม่ดี ความจริงของโลกหนึ่งของเรากับความจริงอีกโลกหนึ่งของเขา มันก็คือความจริงของทั้ง 2 ฝ่าย ความจริงที่มีความเชื่อของเขาเองอยู่ในนั้น แล้วก็มันมีความเชื่อบางอย่างที่คล้ายกัน หรือมีความจริงบางชุด มันจะมีความจริงย่อยความเชื่อย่อยที่มันอยู่ในนั้น ซึ่งบางทีถ้าเราได้คุยกันมันเคลียร์ได้ มันอาจจะมองเห็นได้”

ดร.พิมพ์รภัช กล่าว

ดร.พิมพ์รภัช กล่าวต่อไปว่า โปรแกรม My Country Talk ไม่ได้ต้องการให้เปลี่ยนความคิด การที่จะไกล่เกลี่ยได้ต้องมีความสามารถในการเคารพและเข้าใจความจริงหรือความเชื่อของกลุ่มต่างๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยน กระบวนการสนทนานอกจากเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดและฟังกันแล้ว ยังเชื่อว่ามนุษย์มีความพิเศษตรงนี้ถ้าได้เจอกันและคุยกันจริงๆ จะไม่ฆ่ากันตาย ซึ่งความเชื่อนี้ปรากฏให้เห็นในการทำโครงการที่เยอรมนี ถึงขนาดมีคนขับรถข้ามเมืองมาเพื่อจะเจอคนที่เห็นต่างกับตนเองอย่างสุดขั้ว แต่ท้ายที่สุดแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ได้เปลี่ยนความคิด แต่ก็ยังสัญญาว่าจะมาเจอกันทุกปี

ข้อค้นพบนี้ทำให้ย้อนกลับมามองที่สังคมไทย ว่าตกลงแล้วเป็นเพราะเราไม่เคยคุยกันจริงๆหรือเปล่า นำมาสู่การทำโครงการ Thailand Talk เปิดพื้นที่ให้คนได้มาฟังและพูดคุยกันเพื่อเชื่อมต่อคนเข้าด้วยกัน เพราะตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์อยู่ในสังคมเดียวกัน พื้นที่นี้ก็จะเปิดไว้ให้สำหรับทุกคนสามารถเชื่อมต่อกัน และสร้างความเข้าใจด้วยกันได้

น.ส.สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดิจิทัลเพื่อสังคม กล่าวว่า หากมองความขัดแย้งในประเทศไทย จะมี 2 กลุ่มใหญ่ 1.ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล กับ 2.ความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง โดยในส่วนของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ที่ผ่านมาจะพบปรากฏการณ์ทั้งการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ-IO) และการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังกันทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่ารัฐบาลหรือประชาชน แต่ความขัดแย้งบนโลกออนไลน์เป็นภาพสะท้อนว่าประชาชนไม่มีพื้นที่พูดถึงความขัดแย้งในโลกจริง

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือปรากฎการณ์ “ทัวร์ลง” ซึ่งฝ่ายผู้เห็นต่างมองว่าในเมื่อโลกจริงพูดไม่ได้ก็ต้องใช้พื้นที่ออนไลน์ เช่น ไปแสดงความเห็นในเพจของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า หากประชาชนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการใช้วิธีนี้ แล้วเราจะยอมอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีนี้ หรือใช้วิธีนี้เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งกันจริงๆ หรือ 

ขณะเดียวกัน การปิดกั้นโดยฝ่ายรัฐอาจยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เช่น กรณีประเทศไทยที่เฟซบุ๊กทางการของนายกรัฐมนตรีปิดกั้นไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ก็พบว่ามีการใช้ถ้อยคำรุนแรงมากขึ้น หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เมื่อรัฐบาลทหารตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ประชาชนก็ออกมาจับปืนในโลกจริง ซึ่งก็นำไปสู่ความรุนแรง การปิดกั้นจึงไม่ใช่วิธีการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทีได้ผล

ในทางกลับกัน ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีปัญหาความสับสนด้านข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 แต่นายกรัฐมนตรีใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทำให้ประชาชนหันมาสวมหน้ากากปิดปาก-จมูก และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาด ทั้งนี้ หากเน้นไปที่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.รัฐต้องให้พื้นที่ประชาชนในการเสนอความเห็นต่าง เพราะความขัดแย้งบนโลกออนไลน์เป็นผลมาจากการไม่มีพื้นที่ในโลกจริง

2.ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการรับฟังเสียงประชาชน หากมองย้อนไปเมื่อ 100 ปีก่อน รัฐบาลไม่สามารถรู้ได้เลยว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร และ 3.ทั้งรัฐและประชาชนต้องมีกฎกติกาในการใช้สื่อออนไลน์ เหมือนกับการมีกฎจราจรในการใช้รถใช้ถนน แม้ประชาชนจะเห็นว่าต้องใช้วิธีทัวร์ลงกับรัฐ แต่ก็ต้องมีกติกาการใช้สื่อออนไลน์เมื่อมีความเห็นต่างจากรัฐเช่นกัน

“ทั้งด้านประชาชนและรัฐบาล อยากจะให้มองเห็นว่าที่จริงเราอยู่ในโลกที่ว่าเรามีวิธี เรามีเครื่องมือแล้วที่จะทำให้คนได้ฟังกัน แล้วก็มีพื้นที่ ก็คือ Social Media แล้วก็มีเครื่องมือ แต่ว่าจะทำอย่างไรทั้งฝั่งประชาชนและรัฐบาล ที่จะใช้เครื่องมือที่เรามีให้เป็นประโยชน์” น.ส.สายใจ กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-