ระวัง false claim ภาพและวิดีโอเก่า จากข่าวไต้หวัน COFACT Special Report #34

บทความ

เรียบเรียงจาก Taiwan Fact-Check Center

โดย ทีม บก.โคแฟค

ขณะที่ แนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เดินทางถึงไต้หวันในคืนวันที่ 2 ส.ค. 2565 ตามเวลาท้องถิ่นของไต้หวัน ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนก็เพิ่มขึ้น โดยในคืนวันเดียวกัน จีนประกาศว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ซึ่งเป็นกองทัพของจีน จะดำเนินการฝึกซ้อมทางทหารและซ้อมรบด้วยกระสุนจริงใน 6 ภูมิภาครอบๆ ไต้หวัน รวมถึงบริเวณช่องแคบไต้หวันด้วย

การเดินทางเยือนเอเชียของ เปโลซี และปฏิกิริยาตอบโต้ของจีนได้จุดชนวนให้เกิดการแพร่กระจายของข้อมูลที่คลาดเคลื่อนบนสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ได้ว่าจะมีข้อมูลทำนองเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกมากในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น ซึ่ง “ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในไต้หวัน (Taiwan FactCheck Center)” ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ส่งต่อบนอินเตอร์เน็ตที่พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ดังนี้

1.คลิปวีดีโอที่อ้างว่าจีนเริ่มซ้อมรบรอบๆ ไต้หวันด้วยกระสุนจริง ตั้งแต่เริ่มมีข่าวว่า เปโลซี ประกาศจะเดินทางเยือนไต้หวัน  : วันที่ 31 ส.ค. 2565 มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอพร้อมข้อความเป็นภาษาอังกฤษผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า จีนซ้อมรบด้วยการยิงปืนใหญ่โดยใช้กระสุนจริงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันก็ส่งเครื่องบินขับไล่ออกจากฐานทัพอากาศเฉียอี้ (Chiayi Air Base) แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบว่า คลิปวีดีโอดังกล่าวเป็นการซ้อมรบของกองทัพไต้หวัน ไม่ใช่กองทัพจีนแต่อย่างใด อีกทั้งเหตุการณ์ในคลิปยังเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 โดยอ้างอิงข้อมูลจากกองทัพไต้หวัน ที่ระบุว่า เป็นการซ้อมรับมือเมื่ออากาศยานของข้าศึกพยายามลงจอด

2.คลิปวีดีโอที่อ้างว่าเรือรบและอากาศยานทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ เข้าคุ้มกันการเยือนไต้หวันของ เปโลซีจากการถูกโจมตี ถูกแชร์ผ่านทวิตเตอร์และเทเลแกรม : วันที่ 2 ส.ค. 2565 บัญชีทวิตเตอร์สำนักข่าว Yahoo News ประจำประเทศญี่ปุ่น อ้างว่า เครื่องบินที่ เปโลซี ใช้เดินทางมาไต้หวันถูกยิง โดยสัญญาณการติดต่อหายไปขณะอยู่ที่ช่องแคบไต้หวัน และจีนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนกับเรื่องนี้ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็น บัญชีปลอม ที่แอบอ้างว่าเป็นบัญชีของสำนักข่าว Yahoo News ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในระบบของทวิตเตอร์ บัญชีของบุคคลผู้มีชื่อเสียง ตลอดจนองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หากเป็นบัญชีจริงจะมีเครื่องหมายวงกลมสีน้ำเงินกับเครื่องหมายถูกสีขาวอยู่ด้านหลังชื่อบัญชีเพื่อเป็นสัญลักษณ์รับรอง ซึ่งบัญชีปลอมดังกล่าวเริ่มสมัครเข้าระบบทวิตเตอร์ตั้งแต่ มี.ค. 2565 

อีกทั้งเมื่อตรวจสอบเทียบกับบัญชีจริงของสำนักข่าว Yahoo News ญี่ปุ่น ก็ไม่พบข่าวเครื่องบินที่ เปโลซี ใช้เดินทางไปไต้หวัน ถูกโจมตีแต่อย่างใด รวมถึงสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกอย่าง รอยเตอร์ AFP นิวยอร์กไทมส์ ฯลฯ และฝั่งจีนอย่าง ซินหัว ,  CCTV , People’s Daily ตลอดจนเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ ทั้งทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีข่าวนี้เช่นกัน

3.ทางการสหรัฐฯ ประกาศว่า เปโลซี ใช้เครื่องบิน แอร์ฟอร์ซวันไปเยือนไต้หวัน และระยะความปลอดภัยที่ต้องอยู่ห่างเครื่องบินดังกลาวคือ 185 กิโลเมตร หากล้ำเข้าไปอาจถูกยิงได้  : เรื่องนี้พบการโพสต์ในเว๋ยป๋อ (Weibo) สื่อสังคมออนไลน์ของจีนที่มีลักษณะคล้ายเฟซบุ๊ก (Facebook) ของตะวันตก เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกับทาง Flightradar24 ผู้ให้บริการแผนที่การบินของเที่ยวบินต่างๆ ทั่วโลกตามเวลาจริง (Real Time) พบว่า เครื่องบินที่ เปโลซี ใช้เดินทางคือ C-40 เป็นเครื่องบินขนส่งของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

ในขณะที่ แอร์ฟอร์ซวัน (Air Force One) ถูกเรียกว่า VC-25A ซึ่งในเว็บไซต์ทางการของทำเนียบขาว ระบุว่า แอร์ฟอร์ซวันมีสถานะเป็น สำนักงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บนอากาศ โดย แอร์ฟอร์ซวัน เป็นชื่อเรียกเครื่องบินใดๆ ก็ตามของกองทัพอากาศที่มีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษสำหรับการเดินทางของ ปธน.สหรัฐฯ โดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงเครื่องโบอิ้ง 747-200B 2 ลำ ที่มีรหัส 28000 และ 29000 ด้วย 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในไต้หวันอย่าง หวังกวงเล่ย (Wang Guanglei) จาก Youth Daily หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของไต้หวัน ยังระบุว่า เครื่องบิน C-40 ที่ เปโลซี ใช้เดินทางนั้น เป็นการดัดแปลงมาจากเครื่องโบอิ้ง 737 และมีชื่อเรียกว่า SPAR19 เช่นเดียวกับ สือเสี่ยวเว่ย (Shi Xiaowei) จากสำนักข่าวในไต้หวันอย่าง Military & Aviation News ที่เน้นนำเสนอเนื้อหาด้านการทหารและการบิน ที่ย้ำว่า แอร์ฟอร์ซวันเป็นเครื่องบินสำหรับ ปธน.สหรัฐฯ เท่านั้น อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ยืนยันว่า ไม่เคยได้ยินสหรัฐฯ เตือนระยะปลอดภัยของ เปโลซี ไว้ที่ 185 กิโลเมตร

ทั้งนี้ Taiwan FactCheck Center จะเฝ้าระวังและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งต่อกับบนโลกออนไลน์ เกี่ยวข้องกับการเยือนไต้หวันของ แนนซี เปโลซี อย่างต่อเนื่องต่อไป!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://tfc-taiwan.org.tw/articles/7958

https://tfc-taiwan.org.tw/articles/7968

https://tfc-taiwan.org.tw/articles/7963

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2565

มีการแจกข้าวสาร เพียงแลกบัตรประจำตัวประชาชนและสแกนใบหน้า…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3vbvhjg2qa5c0


อวัยวะเพศชายสั้นลงหลังหายจากการติดเชื้อโควิด 19…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3jzz2ghb5aot


 #มาเลเซีย เตือนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในไทย ให้ระวังการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/27atfsyppyd04


ดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำสุขภาพพัง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/4oejvpdmxp3d


มีงานศึกษาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NIH) พบว่า คนที่มีเลือดกรุ๊ปโอจะดึงดูดยุงให้บินเข้าไปหา หรือยุงชอบกัดมากสุด…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1ji6t2ijr4oo2


หนังตากระตุก ไม่ใช่ลางร้าย แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้าย…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1gz9cr6iok7y4


ห้ามนำเข้า “กัญชา-กัญชง”  หากโดนประเทศนั้นๆตรวจเจอสารในร่างกาย หรือของในของฝากโดยวิธีใดๆจะกลายเป็นผู้ เสพ หรือนำเข้า…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1uvqphrq137hi


#โควิด BA.5 สายพันธุ์ที่ต้องจับตา ติดเชื้อง่าย ไวกว่าเดิม…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/ptdlna55g4gi


วิธีรับมือมิจฉาชีพดิจิทัลง่ายๆ ด้วยตนเอง : COFACT Special Report #33

บทความ

เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สรุปประเภทอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อมากที่สุด โดยมิจฉาชีพมักจะใช้การติดต่อผ่านโทรศัพท์ การส่งข้อความ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนสมาร์ตโฟนในการจูงใจให้ผู้ใช้งานโอนเงินให้ ซึ่งในหลายสถานการณ์เราสามารถใช้เทคนิคดังต่อไปนี้ในการป้องกันไม่ให้ถูกหลอกจากเหล่ามิจฉาชีพได้

ซื้อสินค้าออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า หรือได้สินค้าไม่ตรงกับที่สั่ง

ปัจจุบันร้านค้ามากมายต่างปรับรูปแบบการขายมาอยู่บนระบบออนไลน์มากขึ้น แต่หลายครั้งผู้ซื้อมักจะตกเป็นเหยื่อของร้านค้าปลอม หรือร้านค้าที่ไม่ส่งสินค้าตรงตามที่เราสั่ง ดังนั้นก่อนจะสั่งซื้อสินค้าควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าร้านค้าดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ เช่น มีที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรที่ติดต่อได้ มีหน้าร้านที่เป็นหลักแหล่ง มีเว็บไซต์ หรือระบบชำระสินค้าแบบบัตรเครดิต (การซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิตเราสามารถกดยกเลิกรายการสั่งซื้อ หรือทำเรื่องยกเลิกรายการผ่านธนาคารได้ ปลอดภัยกว่าการโอนเงินสด) ไม่ควรซื้อสินค้ากับผู้ขายที่ไม่มีตัวตนชัดเจน หากซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น (เช่น Lazada หรือ Shopee) ควรเลือกซื้อกับร้านค้าที่ผ่านการรับรองจากแอพพลิเคชั่น หากไม่มีบัตรเครดิต ควรเลือกตัวเลือกแบบชำระเงินเมื่อรับของเรียบร้อยแล้ว

หลอกให้ทำงานออนไลน์

หนึ่งในกลลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พบกันบ่อย ก็คือการส่งข้อความ หรือโทรศัพท์มาชักชวนให้ไปทำงานออนไลน์เพราะเราเป็นผู้ใช้งานโปรไฟล์ดี หากมาร่วมงานด้วยจะให้ค่าตอบแทนสูงๆ แต่สุดท้ายมิจฉาชีพเหล่านี้ก็จะบอกให้เราโอนเงินไปให้ก่อน ดังนั้นหากมีผู้ใดชักชวนมาทำงานในรูปแบบส่งข้อความผ่านระบบ SMS หรือโทรศัพท์มาชักชวน โดยที่เราไม่รู้จักเขามาก่อน ให้ปฏิเสธไป การสมัครงานออนไลน์ที่ปลอดภัยควรเป็นการสมัครผ่านทางเว็บไซต์จัดหางานที่น่าเชื่อถือ หรือเว็บไซต์ของบริษัทที่เปิดรับสมัครงานโดยตรงเท่านั้น

หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ 

อีกหนึ่งรูปแบบของมิจฉาชีพในการหลอกล่อให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ก็คือการหลอกให้ลงทุนผ่านทางสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต) หลายครั้งมิจฉาชีพจะปลอมตัวโดยการใช้โปรไฟล์ของบุคคลที่บุคลิกดี หน้าตาดี ส่งข้อความผ่านทางสื่อโซเชียลให้เราหลงเชื่อแล้วชวนให้ไปลงทุนในคริปโต หากพบเจอควรตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน และควรปฏิเสธไปหากไม่ใช่คนที่เรารู้จัก และควรตรวจสอบยืนยันตัวตนของบุคคลที่เรากำลังพูดด้วย หากบุคคลดังกล่าวติดต่อเรามาผ่านทางสื่อโซเชียล ให้ตรวจสอบภาพย้อนกลับรูปโปร์ไฟล์ หรือค้นหาชื่อของบุคคลคนนั้นบน Google ดูวิธีตรวจสอบได้จากบทความนี้

ทั้งนี้การลงทุนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม เราควรสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริงๆ เช่น นักลงทุนมืออาชีพ หรือสถาบันการเงินที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ไม่ควรปรึกษากับบุคคลแปลกหน้าที่ชักชวนเราผ่านช่องทางโซเชียล

ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (แก๊งคอลเซ็นเตอร์)

วิธีนี้เป็นวิธีที่เราพบเห็นกันบ่อยที่สุดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มิจฉาชีพจะโทรศัพท์มาหาเราโดยตรง โดยอ้างว่ามีพัสดุติดที่ศุลกากร หรือมีใบสั่งค้างปรับ ผู้ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าหมายเลขโทรศัพท์เหล่านี้เป็นมิจฉาชีพก็จะหวาดกลัว และตัดสินใจโอนเงินไปเพราะเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งผู้ให้บริการไปรษณีย์รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น DHL, FedEx หรือไปรษณีย์ไทยไม่ใช้วิธีให้ลูกค้าโอนเงินให้กับพนักงานโดยตรงผ่านโทรศัพท์ หรือแม้แต่การส่งใบสั่งก็จะใช้วิธีส่งผ่านทางไปรษณีย์ จะไม่มีการโทรศัพท์มาให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของผู้ใด วิธีที่ดีที่สุดหากเจอสายโทรศัพท์เหล่านี้ก็คือการปฏิเสธไม่พูดคุย หรือสอบถามและยืนยันตัวตนของผู้ที่เรากำลังสนทนาอยู่ และตั้งข้อสงสัยรวมทั้งปฏิเสธการขอให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวทุกครั้ง

หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือลงทุน

เทรนด์ใหม่ของมิจฉาชีพบนอินเทอร์เน็ตที่กำลังได้รับความสนใจในช่วงนี้ก็คือการสร้างโปรไฟล์ปลอมบนแอพพลิเคชั่นหาคู่ต่างๆ ภาพโปรไฟล์จะเป็นบุคคลหน้าตาดี มีฐานะ หรือการศึกษา หลอกเข้ามาพูดคุยและให้เราโอนเงิน หรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต) หลายคนสูญเสียเงินจำนวนมากเพียงเพราะหลงเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคนในภาพจริง และเขาจะไม่รักเราถ้าเราไม่ลงทุนหรือโอนเงินให้ หากเจอผู้ที่เข้ามาทักเราด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ควรหลีกเลี่ยง ไม่พูดคุย หรือถ้าไม่มั่นใจว่าเป็นบุคคลตัวจริงหรือไม่ ให้สังเกตว่าโปรไฟล์ดังกล่าวได้รับการยืนยันโดยแพลตฟอร์มแล้วหรือยัง เช่น ในแอพพลิเคชั่น Tinder จะมีระบบยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน โดยผู้ที่ได้รับการยืนยันโปรไฟล์ว่าเป็นบุคคลจริง จะมีเครื่องหมายถูกกำกับไว้ตรงชื่อ หากไม่มีให้ลองใช้วิธีตรวจสอบภาพย้อนกลับ (Reverse Image Search) บน Google หรือ Yandex เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร ใช่ชื่อเดียวกับคนที่แอบอ้างบนแอพหรือไม่ ดูวิธีการตรวจสอบภาพย้อนกลับได้จากบทความฉบับนี้

เรียกค่าไถ่ผ่านระบบดิจิทัล (แรมซัมแวร์)

วิธีการเรียกค่าไถ่ผ่านแรนซัมแวร์ เป็นวิธีที่มิจฉาชีพเจาะระบบเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของผู้ที่ต้องการจะรีดไถเงินผ่านการติดตั้งมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ผู้ใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวจะไม่สามารถใช้งานโปรแกรมต่างๆ บนเครื่องได้จนกว่าจะโอนเงินไปให้กับมิจฉาชีพ วิธีป้องกันไม่ให้แรมซัมแวร์ติดเข้ามาในเครื่องของเรา ก็คือการใช้ระบบปฏิบัติการที่ถูกลิขสิทธิ์ อัพเดตระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่อย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัสบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้งานอยู่ และควรสำรองข้อมูลบนระบบคลาวด์ เนื่องจากหากเครื่องของเราติดแรนซัมแวร์ เราสามารถเลือกที่จะลบข้อมูลบนเครื่องทั้งหมดเพื่อติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ได้โดยที่ข้อมูลสำคัญของเรายังอยู่ ระบบคลาวด์เป็นวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่ (เช่น Google, Microsoft หรือ Apple) มีการใช้ระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลขั้นสูง ข้อมูลที่จัดเก็บบนคลาวด์จะไม่มีไวรัส หรือมัลแวร์

ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/crime/news_3457852


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.co

มองเหตุลอบสังหารอดีตผู้นำญี่ปุ่น สะท้อนการทำงานสื่อไทย-ห่วงพื้นที่ออนไลน์บ่มเพาะความเกลียดชัง

Editors’ Picks

ค่ำวันที่ 22 ก.ค. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) จัดเสวนา (ออนไลน์) Cofact Live Talk หัวข้อ “เราเรียนรู้อะไรจากข่าวการลอบยิงผู้นำญี่ปุ่น ความเร็ว vs. ความถูกต้อง ความเชื่อ vs. ความจริง ความชอบ vs. ความชัง” โดยถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Cofact โคแฟค” และ “Ubon Connect อุบลคอนเนก”

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะผู้บริโภคสื่อ เมื่อได้ยินข่าวก็อยากรู้รายละเอียด แต่ในช่วงแรกของข่าวเป็นเรื่องของเหตุการณ์ ซึ่งสำหรับสื่อไทยก็คงต้องตามข่าวจากที่สื่อต่างประเทศส่งมา ส่วนบริบทของสังคมญี่ปุ่น เท่าที่ทราบคือเป็นสังคมที่ผู้คนมีความระมัดระวัง สื่อก็เช่นกัน จึงไม่มีข่าวแบบหวือหวา หรือข่าวที่ไม่ใช่จากแหล่งข่าว 

เมื่อไล่ตามช่วงเวลา ซึ่งเหตุการณ์เกิดในช่วงกลางวัน มีสื่อออนไลน์รายงานไปก็มีความก้าวหน้า กระทั่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ เสียชีวิต แต่เมื่อถึงช่วงหัวค่ำ เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่า สื่อหลักนำเสนอเหตุการณ์ลอบสังหารจนถึงการเสียชีวิต ซึ่งตามหลังสื่อออนไลน์ เรื่องนี้สื่อหลักไมได้ผิดอะไร แต่เรื่องของจังหวะก็เป็นความท้าทายการทำงานของสื่อหลักเหมือนกัน 

ทั้งนี้ ความรู้สึกส่วนตัว 3 ประการเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อไทยในประเด็นการลอบสังหารอดีตนายกฯ อาเบะ 1.สื่อที่มีศักยภาพกลับไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศญี่ปุ่นมาให้ความรู้ ซึ่งมีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น ทำไมนักการเมืองญี่ปุ่นหาเสียงแบบนั้น หรือทำไมถูกลอบสังหารได้ง่าย 2.ดูเหมือนสื่อไทยจะไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้มากนัก ทั้งที่ตนขนาดไม่ใช่คอการเมืองก็ยังสนใจ 

และ 3.เมื่อมีรายงานข่าวว่า แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นปมในใจเกี่ยวกับลัทธิทางศาสนา ตนรอดูว่าจะมีสื่อไทยเทียบเคียงกับเรื่องราวแนวเดียวกันหรือไม่ เพราะประเทศไทยก็มีการระดมทุนทางศาสนาเหมือนกัน แต่สุดท้ายกลับไปออกในทำนองว่า เสียดายคนถูกยิงน่าจะเป็นบุคคลอื่น ขณะที่ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ในไทยกลับนำเหตุการณ์นั้นมาเชื่อมโยงกับปมที่ตนเองสนใจ ใช้เหตุการณ์สื่อสารความรู้สึกของตนเอง

ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับสื่อไทยในภาพรวม อาจมีวิธีการทำข่าวที่เรียกกันว่าดรามา (Drama) หรือทำข่าวแบบเร้าใจ แต่ต้นเรื่องเป็นญี่ปุ่นซึ่งข้อมูลที่ออกมาน่าจะถูกกลั่นกรองพอสมควร ขณะเดียว ตนสังเกตว่าคนญี่ปุ่นมีนิสัยรักษากิริยา ไม่แสดงท่าทีใดๆ ออกมา เช่น เมื่อไปดูภาพภรรยาของอดีตนายกฯ อาเบะ จะเห็นแต่ความนิ่งสงบ แต่สื่อไทยกลับไปบรรยายภาพว่าภรรยาใจสลาย 

แน่นอนเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องเสียใจ แต่ท่าทีที่แสดงออกนั้นดูนิ่ง เช่นเดียวกับพิธีศพที่บรรยากาศดูเรียบและนิ่งไปหมด แต่เข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงความเคารพ แต่ก็อาจเป็นเพราะสื่อไทยเคยชินกับการเสียชีวิตไม่ว่าคนธรรมดาหรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มีมุมให้นำเสนอ แต่เมื่อไปเจอมุมนิ่งสงบจากต้นเรื่อง รวมถึงความระมัดระวังจากสื่อญี่ปุ่น สื่อไทยก็อาจรู้สึกได้ว่าไม่มีมุมนำเสนอ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีหลายแง่มุม ตั้งแต่พิธีศพ ปมของผู้ก่อเหตุ ฯลฯ ทำให้สำหรับสื่อไทย ในส่วนของข่าวจะมาเร็วไปเร็ว เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตของคนดังในอดีตจากประเทศอื่นหรือในไทยเอง 

“บางทีความเป็นข่าวและคุณค่าของข่าว มันไม่ใช่ความหวือหวา เร้าใจ เร้าอารมณ์เสมอไป ในฉากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องที่เรียบง่ายนั้นมันก็บอกอะไรบางอย่างเหมือนกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือความสูญเสียไม่ได้ต่างกัน ความน่าเสียใจไมได้ต่างกัน” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

รศ.ดร.มาลี บุญศิริพันธ์ อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า 1.การนำเสนอของสื่อไทยเน้นความเร็วมากกว่าความถูกต้อง เช่น ในตอนแรกชื่อของผู้ก่อเหตุไปซ้ำกับอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง สื่อก็ไปเปิดประวัติของอาจารย์ท่านนี้อย่างละเอียดทันทีโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน เรื่องนี้เป็นความผืดพลาดอย่างรุนแรง อีกทั้งแม้ในเวลาต่อมา สื่อญี่ปุ่นจะชี้แจงว่าเป็นคนละคน แต่สื่อไทยก็ไม่ได้แก้ไข

2.สื่อไทยขาดการหาข้อมูลโดยรอบมาประกอบ เช่น ที่มาที่ไปของเหตุการณ์ แต่กลับไปนำเสนอในเชิงดรามา อาทิ บอกไปก่อนแล้วว่าเสียชีวิตหลังถูกยิงไม่นาน ทั้งที่ในความเป็นจริงกว่าจะเสียชีวิจกินเวลาอีกหลายชั่วโมงหลังไปโรงพยาบาลแล้ว ทั้งที่ข่าวนี้สำคัญและต้องการความเที่ยงตรงมาก หรือข้อบกพร่องด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย สื่อไทยก็ไม่พูดถึง กระทั่งตำรวจญี่ปุ่นออกมาแถลงแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งสื่อไทยระยะหลังๆ ขาดระบบกองบรรณาธิการ ขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สามารถหยิบยกมาใช้ได้ทันที

แม้กระทั่งการเชื่อมโยงระหว่างลัทธิในญี่ปุ่นที่ถูกพาดพิงว่าเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุของคนร้าย กับองค์กรศาสนาที่มีลักษณะคล้ายกันในสังคมไทย สื่อไทยก็ไมได้นำเสนอแบบเจาะลึกลงไป กระทั่งผู้นำลัทธิในญี่ปุ่นต้องออกมาชี้แจงภารกิจขององค์กร และปฏิสธว่าแม่ของผู้ก่อเหตุไม่ได้บริจาคเงินจำนวนมากให้องค์กร ซึ่งสื่อสามารถทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เปรียบเทียบองค์กรลักษณะนี้ของทั่วโลก เพราะเรื่องนี้น่าสนใจที่จะถูกพูดถึง 

“ของเรายังขาดการเจาะและการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างทันทีทันใดไปมาก แล้วตอนนี้ชักจะเกิดวัฒนธรรมในการเล่นดรามา ไม่ว่าข่าวนั้นจะเป็นข่าวที่ละเอียดอ่อนขนาดไหน ข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน ท่านเล่นเป็นดรามาไปหมด เล่นเป็นของเล่น ที่ประชาชนควรรู้ก็จะไมได้รู้” รศ.ดร.มาลี กล่าว

ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น พบสังคมญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเนื้อเดียวสูง กล่าวคือ ชนชั้นกลาง (Middle Class) ในญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่มาก ตัวอย่างหนึ่งคือการใช้บริการรถไฟ ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงานหรือผู้บริหารก็มักเดินทางด้วยรถไฟไม่ต่างกัน จึงดูเป็นสังคมที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน ดังนั้นการก่อเหตุรุนแรงที่ผู้ก่อเหตุมีแรงจูงใจจากการถูกกดทับทางอำนาจจึงเกิดขึ้นน้อยมาก

แม้กระทั่งเรื่องการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยของเหตุลอบสังหาร โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าเกี่ยวข้องเพราะการเมืองญี่ปุ่นไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น ขณะเดียวกัน แม้อดีตนายกฯ อาเบะ มีความคิดแบบฝ่ายขวา แต่พวกฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนสันติภาพก็คงไม่คิดใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ถึงญี่ปุ่นจะมีอาชญากรรมน้อย แต่เกิดมาทีหนึ่งก็น่าตกใจมาก โดยส่วนใหญ่จะใช้มีพเพราะหาได้ง่ายกว่าปืน

ส่วนภูมิหลังของผู้ก่อเหตุ ทราบว่าเดิมเป็นครอบครัว มีแม่และน้อง แต่เมื่อเกิดมรสุมในชีวิตแล้วคนเป็นแม่ต้องการหาที่พึ่งทางจิตใจแล้วไปเจอกับลัทธิดังกล่าว  นำไปสู่การทุ่มบริจาคเงินให้ลัทธิ ซึ่งตัวเลขที่ปรากฏในข่าวสูงเกือบ 30 ล้านบาท ทำให้ผู้ก่อเหตุและน้องต้องดิ้นรนส่งตนเองเรียนมหาวิทยาลัย หากมองในมุมนี้ก็เข้าใจผู้ก่อเหตุได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้ก่อเหตุตั้งใจจะไปสังหารเจ้าลัทธิ แต่เมื่อพบว่าเข้าถึงยากก็หันมาเลือกอดีตนายกฯ อาเบะ ที่เข้าถึงง่ายกว่า ซึ่งก็ประกอบกับเป้นช่วงที่อดีตนายกฯ อาเบะ ไปช่วยหาเสียงพอดี อีกทั้งสังคมญี่ปุ่นมีเหตุคนถูกทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นน้อยมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่มาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ได้เข้มงวดมากนัก 

“กรณีของผู้ก่อเหตุเขาก็ไมได้ไปซื้อปืนที่ไหน เขาประดิษฐ์ปืนเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีประวัติการซื้อขายปืนใดๆ หรือเอามาจากไหน ไม่ได้หาปืนผิดกฎหมาย มันห็ไม่ใช่ ดังนั้นถ้ามองจากมุมของตำรวจญี่ปุ่น จะเรียกว่าเป็นเหตุสุดวิสัยก็ไม่ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดเดาของเขาจรงิๆ” ผศ.ดร.เจษฎา ระบุ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์ ขอให้ความรู้กับสื่อและสังคมไทย เรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อกรณีบุคคลใดหัวใจหยุดแต้นหมายถึงเสียชีวิต เห็นได้จากข่าวการถูกยิงของนอดีตายกฯ อาเบะ ในตอนแรกสื่อญี่ปุ่นบรรยายว่าหัวใจหยุดเต้นแล้วจึงเปลี่ยนเป็นเสียชีวิตในภายหลัง แต่สื่อไทยเมื่อเห็นสื่อญี่ปุ่นใช้คำว่าหัวใจหยุดเต้นก็ตีความว่าเสียชีวิตในทันทีซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการทีคนคนหนึ่งหัวใจหยุดเต้น ยังสามารถกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นได้ 

ซึ่งแนวปฏิบัติทางการแพทย์คือการปั๊มและนวดหัวใจ (CPR) ประกอบกับให้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยแนวปฏิบัติจะอยู่ที่ 20 นาที-1 ชั่วโมง หากพ้นเวลานี้ไปแล้วผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บยังไม่ฟื้น แพทย์ที่ดูแลจะประกาศเวลาการเสียชีวิตซึ่งจะถูกบันทึกในใบมรณบัตร เช่นเดียวกับการจับชีพจรไม่เจอก็อาจไมได้หมายถึงเสีนชีวิตแล้วเสมอไป เพราะอาจเกิดจากชีพจรเต้นผิดจังหวะทำให้เบามากจนจับไมได้ โดยแพทย์ต้องดูสัญญาณอื่นประกอบด้วย เช่น ร่างกายขยับได้หรือไม่ ม่านตาตขยายรือไม่ ตอบสนองต่อแสงหรือไม่ เป็นต้น

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า อีกด้านหนึ่ง ในมุมสุขภาพจิต กรณีลอบสังหารอดีตนายกฯ อาเบะ เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ผลที่ออกมาคือรุนแรงถึงชีวิต อีกทั้งผู้ก่อเหตุมีความตั้งใจก่อเหตุเห็นได้จากปืนที่ใช้เป็นอาวุธที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ประเด็นนี้ต้องวิเคราะห์ไปให้ถึงการรับรู้ ซึ่งการรับรู้ที่นำไปสู่การมีสุขภาพจิตผิดเพี้ยน ในทางการแพทย์หมายถึงการขาดการรู้เท่าทันสุขภาพ (Health Literacy) และการรับรู้อาจมาจากสื่อ สิ่งแวดล้อมหรือบุคคลรอบข้าง ซึ่งก็ได้เห็นแล้วว่าปัจเจกบุคคลมีอำนาจทำลายล้างสูงเพียงใด 

เมื่อเทียบกับสังคมไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาในประเด็นความคิดที่ผิดเพี้ยนก่อให้เกิดความขัดแย้ง สังคมไทยก็มีการแบ่งฝ่ายเป็นคู่ตรงข้าม ประกอบกับสื่อก็มีบทบาทมาก เห็นได้จากใครเลือกข้างไหนก็มักจะรับข้อมูลข่าวสารเฉพาะจากสื่อฝั่งเดียวกัน และไม่ฟังอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้การนำเสนอของสื่อหรือการแสดงออกของคนเป็นแบบทิศทางเดียว ซึ่งชี้นำการรับรู้และนำไปสู่การตัดสินใจทางจิต ที่ทางการแพทย์นับเป็นสุขภาพอย่างหนึ่งผิดไปด้วย จึงเห็นปฏิบัติการใช้ความรุนแรงของมวลชนเกิดขึ้นในสังคมไทย

“ความแตกต่างระหว่างความเป็นปัจเจกที่ใช้ความรุนแรง กับความเป็นมวลชนที่ใช้ฝูงชนเข้าไปแล้วใช้ความรุนแรงต่อกัน ในอดีต 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมไทยปัจจุบันต้องเข้าไปคิดแล้วว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันสามารถตัดสินปัญหา แล้วจริงๆ มันควรจะเกิดขึ้นไหม? เรามีมาตรการอย่างไรในการที่จะไปปกป้อง” นพ.นิรันดร์ กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุอาจไม่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่มาจากปัจจัยจากประวัติในอดีต หรือปัจจัยด้านศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่ทำให้ความอึดอัดคับข้องใจระเบิดออกมา เมื่อประกอบกับการได้รับข้อมูลที่ส่งต่อกันมาซึ่งอาจจะไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะอดีตนายกฯ อาเบะ ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ผู้ก่อเหตุตั้งใจลอบสังหารแต่แรก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุไปได้ข้อมูลจากที่ใด แต่ได้รับข้อมูลที่ทำให้ดข้าใจผิดว่าอดีตนายกฯ อาบะเกี่ยวข้องกับองค์กรลัทธิศาสนาดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อกันทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มีผลต่อการตัดสินใจของคนไม่มากก็น้อย ซึ่งประเทศไทยก็มีมากเช่นกัน อาทิ ทฤษฎีสมคบคิดที่ส่งต่อข้อมูลจับแพะชนแกะเพื่อกล่าวหาคนนั้นคนนี้ เรื่องนี้อันตรายเพราะเป็นกรสั่งสมความเกลียดชังโดยไม่รู้ตัว ข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดและไม่ทราบที่มาแต่ถูกส่งต่อกันไป เป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ผู้ก่อเหตุอาจมีปมอยู่ก่อนแล้ว แต่การได้รับข้อมูลทำให้วินาทีนั้นแล้วตัดสินใจ บุคคลสาธารณะก็ตกเป็นเป้าหมายได้ง่าย

อยากจะรณรงค์ให้คนระมัดระวังมากขึ้นในการส่งต่อข้อมูลที่มันเป็นทฤษฎีสมคบคิด จับแพะชนแกะ ว่าคนนั้นคนนี้ คนนั้นคนนี้อยู่เบื้องหลังซึ่งมันอาจจะไม่จริง 100% นำไปสู่ความเกลียดชัง บังเอิญมันไปเจอกับคนที่เขามีปมพอดี มันอาจจะกระตุ้นทำให้เขาตัดสินใจทำอะไรที่มันมีความรุนแรงก็ได้ เราก็ไม่รู้ ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญอันหนึ่งที่คนทั่วไปน่าจะได้ใช้และตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย น.ส.สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

“เทพปัญญาโคแฟค” ล่ะกอนก้อมกำเมียง

รับชม ล่ะกอนก้อมกำเมียง เรื่องเทพปัญญาโคแฟค จากสถานีสื่อชุมชน เมืองสวดชาแนล จังหวัดน่าน ภาคีสื่อชุมชนโคแฟค

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2565

มีแก๊งค์แทงหม้อน้ำรถ ทำงานเป็นขบวนการ…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/24dp672ochbbg


มีการไลน์ขอยืมเงินจากบุคคลมีชื่อเสียง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐ…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/g1ojgchjlcra


กินนมวัวจะกระตุ้นทำให้ประจำเดือนมาเร็ว และร่างกายจะหยุดสูงทันที…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2gmj9fnuw5r4s


หมอเตือน วัยรุ่นผงพิเศษ อย่าหาทำใช้อุดฟัน อันตรายถึงตายได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/39mdheupm66p7


กรมอุตุฯ ประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20 – 24 กรกฎาคม 2565

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1ot4qifallrbs


ประกาศกระทรวงฯ “กัญชา” สมุนไพรควบคุม ห้ามใช้ในผู้อายุน้อยกว่า 20 ปี และหญิงตั้งครรภ์

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1baf66zvjkg1w


เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพิเศษงวดแรกเข้าแล้ว หลัง ครม.อนุมัติ 10.94 ล้านคน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3m112xdpmuph5


จะมีการสร้างสนามบินที่จังหวัดพะเยา คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารคือใช้เครื่องบิน 180 ที่นั่งให้บริการวันเว้นวัน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/29fllvzky1ehv


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2565

ธนาคารออมสิน ยืนยันว่าไม่ได้ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท…จริงหรือ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3dat5d1siew7x


ไม่ชัวร์ อย่าแชร์ “ข้อมูลส่วนตัว”   ให้กับมิจฉาชีพที่ปลอมตัวหรือโฆษณาเป็นบริษัทให้กู้เงิน สามารถ ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อจากแบงก์ชาติ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2z0ytnx3mzrs2


อย่าเพิ่งรีบโอน ถ้าเพื่อนแชทยืมเงิน ระวังโดนมิจฉาชีพหลอกได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3mtr24r2bbge6


เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต ฟรีทุกสิทธิ์รักษาได้ทุกที่ (UCEP)

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/qpu8i9ow0gzt


หากตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด อาการไม่รุนแรง มีสิทธิบัตรทอง สามารถรับยารักษาโควิดฟรี ที่ร้านยาใกล้บ้าน “เจอ แจก จบ”

อ่านต่อได้ที่

https://cofact.org/article/3iykbwhghocch


รัฐล้มเหลว-เศรษฐกิจล่มสลาย’ เหลียวมอง‘ศรีลังกา’อะไรพามาถึงจุดนี้?

Editors’ Picks

รายงานพิเศษ ข่าวนานาชาติ #01
Factual review on global news
เขียนโดย Zhang Taehun – Cofact contributor

สถานการณ์ประท้วงขับไล่รัฐบาลของชาวศรีลังกาที่ยาวนานมาหลายเดือนจนลุกลามไปถึงขั้นเหตุจลาจล การบุกสถานที่ราชการต่าง ๆรวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดี และการหลบหนีออกนอกประเทศของ ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เมื่อวันพุธ (13 กค.) ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลกและสื่อสังคมออนไลน์ โดยในประเทศไทย

ทางโคแฟคได้สรุปสาเหตุหลักที่นำพาศรีลังกาเข้าสู่วิกฤตครั้งนี้ โดยนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ บทความและงานวิจัยของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งบทวิเคราะห์จากสำนักข่าวที่หลากหลายและมีความน่าเชื่อถือ พร้อมกับให้ข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยย่อเกี่ยวกับประเทศนี้

ทั้งนี้เพื่อหาคำตอบว่าศรีลังกาเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและอธิบายวาทกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาการกู้ยืมเงินและหนี้สินที่ท้วมท้นของรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งบางครั้งเป็นการตัดตอนข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน นำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนกลายเป็นชนวนหนึ่งของเหตุจลาจลในครั้งนี้

‘รัฐล้มเหลว-เศรษฐกิจล่มสลาย’ เหลียวมอง‘ศรีลังกา’อะไรพามาถึงจุดนี้?

รัฐล้มเหลว (Fail State)” เป็นคำที่ใช้เรียกสภาวะของประเทศที่กลไกของรัฐไม่สามารถควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้บริการสาธารณะที่จำเป็น ขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ ศรีลังกา อาจเรียกได้ว่าเข้าข่ายรัฐล้มหลวไปแล้ว เมื่อเศรษฐกิจล่มสลาย พลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซและไฟฟ้าแทบไม่เหลือให้ใช้ในประเทศ และประชาชนก็พากันขับไล่รัฐบาลถึงขั้นบุกยึดบ้านพักของประธานาธิบดี 

คำถามคือ ศรีลังกาเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ซึ่งก็ต้องเข้าใจบริบทของประเทศนี้เสียก่อน ศรีลังกาตั้งอยู่ในเอเชียใต้ ภูมิภาคที่ประกอบด้วย ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์ ศรีลังกามีพื้นที่ 65,610 ตร.กม. เล็กกว่าประเทศไทยที่มีพื้นที่ 513,120 ตร.กม. เกือบ 8 เท่า มีประชากร 22.156 ล้านคน ขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อยู่ที่ 84.52 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 69.950 ล้านคน GDP อยู่ที่ 505.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจากธนาคารโลก World Bank ปี 2564) 

ข้อมูลจาก CIA Factbook ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลประเทศต่างๆ ที่รวบรวมโดยสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (CIA) อธิบายสภาพของศรีลังกา ว่า นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 ก็ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 กลุ่ม คือชาวสิงหลและชาวทมิฬ จนยกระดับกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 2526 ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) กระทั่งปี 2552 สงครามจึงสงบโดยฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามกลุ่ม LTTE ได้อย่างเด็ดขาด ถึงกระนั้น ศรีลังกายังต้องเผชิญสารพัดวิกฤติ ทั้งการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนมากทำให้ขาดความมั่นคง กระทั่งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ซ้ำเติมให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลง จนมาถึงจุดที่เป็นข่าวในปัจจุบัน

Harvard International Review วารสารด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ เผยแพร่บทความ The Sri Lankan Civil War and Its History, Revisited in 2020 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 เขียนโดเย นิทยานี อนันทคุกัน (Nithyani Anandakugan) นักเขียนประจำของวารสารดังกล่าว เล่าเรื่อง “ความขัดแย้งของชาวสิงหลกับชาวทมิฬ” ว่า ประชากรศรีลังกาเป็นชาวสิงหล ร้อยละ 74.9 และชาวทมิฬร้อยละ 11.2 ชาวสิงหลนั้นนับถือศาสนาพุทธ ส่วนชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดู  แม้จะมีความขัดแย้งกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่จุดที่ทำให้ความขัดแย้งยกระดับสู่ความเกลียดชัง เกิดขึ้นเมื่อศรีลังกาตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ 

โดยในยุคอาณานิคม ชาวสิงหลซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกว่าชาวทมิฬได้ประโยชน์จากอังกฤษมากกว่าทั้งที่เป็นเพียงชนกลุ่มน้อย เช่น การเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้รับการส่งเสริมในพื้นที่ของชาวทมิฬมากกว่าพื้นที่ของชาวสิงหล ส่งผลให้ชาวทมิฬมีโอกาสในการทำงานและความก้าวหน้าในอาชีพมากกว่า เมื่อประกอบกับการที่ชาวทมิฬยังมีชุมชนในประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ที่ขณะนั้นก็เป็นอาณานิคมของอังกฤษเช่นกัน การค้าขายโดยอาศัยเครือข่ายเหล่านี้ก็เป็นอีกด้านที่ชาวทมิฬได้ประโยชน์

หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวสิงหลเริ่มมีโอกาสขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาล พวกเขาเริ่ม เอาคืน ชาวทมิฬ จากความรู้สึกที่ชาวสิงหลเสียเปรียบมานานในยุคอาณานิคม อาทิ ในปี 2499 รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว ส่งผลให้ชาวทมิฬจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐรวมถึงการหางานทำ อย่างไรก็คาม จันดรีกา กุมารตุงกา (Chandrika Kumaratunga) อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ยืนยันว่า แนวทางดังกล่าวซึ่งผลักดันโดย โซโลมอน เวสต์ ริดจ์เวย์ ดิแอส บันดาราไนเก (Solomon West Ridgeway Dias Bandaranaike) นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นเพียงความต้องการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของศรีลังกา ที่จางหายไปในช่วงที่ศรีลังกาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกำหนดนโยบายให้ชาวสิงหลมีแต้มต่อด้านการศึกษา กล่าวคือ มีการกำหนดเกณฑ์คะแนนสอบผ่านเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยสำหรัยชาวทมิฬสูงกว่าชาวสิงหล แม้เจตนาของกฎหมายคือการเพิ่มโอกาสให้ชาวสิงหลที่เคยเป็นผู้ด้อยโอกาส อยู่ในสถานะเสียเปรียบในยุคอาณานิคมให้ได้ลืมตาอ้าปากแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นนโยบานที่สนับสนุนให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับชาวทมิฬ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อมาชาวทมิฬกลุ่มหนึ่งเริ่มไม่พอใจและก่อความรุนแรงขึ้น และลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ชิงการนำในหมู่ชาวทมิฬจากกลุ่มหรือขั้วการเมืองอื่นๆ ได้

และแม้การสู้รบจะสิ้นสุดลงในปี 2552 แต่ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นผู้ชนะ ยังคงนโยบายที่ชาวทมิฬมองว่ากดขี่ข่มเหงพวกตนต่อไป เช่น ยังคงมีการสอดส่องบุคคลที่เคยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม กองทัพศรีลังกายังคงกำลังทหารควบคุมพื้นที่ของชาวทมิฬในฐานะพื้นที่ความมั่นคงสูงแม้จะเข้มงวดน้อยกว่ายุคสงครามก็ตาม อีกทั้งยังเดินหน้าทำให้อัตลักษณ์ของชาวสิงหลเข้าแทนที่อัตลักษณ์ของชาวทมิฬ อาทิ การเปลี่ยนชื่อถนนและหมู่บ้าน การส่งเสริมให้ก่อสร้างวัดพุทธในพื้นที่ของชาวทมิฬ เป็นต้น

เมื่อมาดูทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงกันมากว่า ศรีลังกายืมเงินจีนมาแล้วไม่มีปัญญาใช้คืนจนอาจต้องสูญเสียอธิปไตยให้จีน เรื่องนี้เบื้องต้นอาจต้องให้ความเป็นธรรมกับจีนเสียหน่อย เพราะข้อมูลของทางการศรีลังกาเอง ระบุสัดส่วนการก่อหนี้ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) ไว้ดังนี้ อันดับ 1 Market Borrowing หรือการกู้ยืมจากตลาดทุน ร้อยละ 47 รองลงมาคือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร้อยละ 18 ในขณะที่จีนและญี่ปุ่น ศรีลังกากู้เงินจาก 2 ชาตินี้ในสัดส่วนร้อยละ 10 เท่ากัน ดังนั้นหนี้จีนจึงไม่ใช่หนี้ส่วนใหญ่ของศรีลังกาอย่างที่หลายคนเข้าใจ

The Atlantic นิตยสารเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ The Chinese ‘Debt Trap’ Is a Myth เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 บทความนี้เขียนโดยนักวิชาการ 2 ท่าน คือ ศ.เดโบราห์ บรอติกัม (Prof.Deborah Brautigam) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ วิทยาลัยการศึกษาชั้นสูงด้านระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินสฺ์ สหรัฐฯ กับ รศ.เม็ก ริธไมร์ (Assoc.Prof.Meg Rithmire) โรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ชี้ว่าเรื่องที่พูดกันกรณีศรีลังกาติดหนี้จีนนั้นเกินเลยจากความเป็นจริงไปมาก หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ ท่าเรือแฮมบันโตตา (Hambantota Port)” ที่ลือกันว่าจีนให้เงินศรีลังกากู้ไปสร้างท่าเรือ

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงของท่าเรือดังกล่าวคือ สำนักงานพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา (CIDA) ให้ทุนบริษัทด้านวิศวกรรมยักษ์ใหญ่ของแคนาดาอย่าง SNC-Lavalin เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง โดยในปี 2546 มีข้อสรุปว่า ท่าเรือแฮมบันโตตาสามารถก่อสร้างได้ แต่โครงการยังไม่คืบหน้าเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนในประเทศ 

ในยุคสมัยของ มหินตา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ประธานาธิบดีศรีลังกา ที่ครองอำนาจช่วงปี 2548-2558 ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวเมืองแฮมบันโตตา ต้องการผลักดันโครงการท่าเรือนี้ให้เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านเกิด รวมถึงฟื้นฟูความเสียหายที่เมืองแห่งนี้ได้รับจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิในปี 2547 โดยในปี 2549 Ramboll บริษัทวิศวกรรมสัญชาติเดนมาร์ก เผยแพร่ผลการศึกษาซึ่งเนื้อหาคล้ายกับของ SNC-Lavalin แคนาดา ที่ชี้ว่าโครงการท่ารือแฮมบันโตตาสามารถก่อสร้างได้ และแนะนำให้แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ

ในเวลานั้น สินค้าจากประเทศจีนเริ่มเป็นที่ต้องการของครัวเรือนในอินเดียรวมถึงทวิปแอฟริกา ขณะที่เวียดนามก็กำลังเติบโตและต้องการทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น นี่คือโอกาสของศรีลังกาในการก่อสร้างท่าเรือ โครงการแฮมบันโตตาถูกนำไปขออนุมัติจากแหล่งเงินทุนทั้งสหรัฐฯ และอินเดีย แต่ 2 ชาติดังกล่าวปฏิเสธ ตรงข้ามกับจีนที่เห็นความไปได้ จึงสนับสนุนโครงการผ่านเงินกู้ และได้รับอนุมัติเงินกู้ในปี 2550 ก่อนหน้าที่ สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำสูงสุดของจีน จะประกาศยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative) เสียด้วยซ้ำไป

ซึ่งต้องเข้าใจบริบทของศรีลังกาขณะนั้น ที่ยังมีความขัดแย้งจากสงครามกลางเมืองอยู่ จึงเป็นข้อจำกัดในการหารายได้จากภาษี การพึ่งพาแหล่งเงินกู้จึงสมเหตุสมผลแล้ว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจศรีลังกาที่เติบโตสูงขึ้นหลังสงครามสิ้นสุดในปี 2552 ภาระหนี้สินก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากู้นำศรีลังกาไปกู้เงินมาเพิ่มอีก 757 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างเฟส 2 โดยไม่รอให้เฟส 1 สร้างรายได้ก่อนตามคำแนะนำของ Ramboll 

ต่อมาในปี 2557 เพื่อให้การบริหารจัดการท่าเรือมีประสิทธิภาพ การท่าเรือแห่งประเทศศรีลังกา (SLPA)  มีแผนลงนามร่วมกับ China Harbor ซึ่งบริหารท่าเรือในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกาอยู่แล้ว และ China Merchants Group ที่ลงทุน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ Colombo Port City ก่อนที่ในปี 2558 การเมืองศรีลังกาเปลี่ยนขั้ว ไมตรีปาล สิริเสนา (Maithripala Sirisena) ชนะเลือกตั้งได้เป็น ปธน.ศรีลังกา ในยุคนี้เองที่ศรีลังกาต้องเริ่มทยอยใช้หนี้ที่ไปกู้ยืมแหล่งทุนต่างๆ 

ถึงกระนั้น สัดส่วนหนี้ที่ศรีลังกาไปกู้ยืมมาจากจีนนั้นน้อยกว่าที่ไปกู้ยืมจากแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และการชำระหนี้ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือแฮมบันโตตา เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากอดีตผู้บริหารธนาคารกลางของศรีลังกา ทั้งในยุคของ มหินตา ราชปักษา และ ไมตรีปาล สิริเสนา ว่า การกู้เงินจากจีน และโครงการท่าเรือแฮมบันโตตา ไม่ใช่สาเหตุหลักของวิกฤติทางการเงินในศรีลังกา สุดท้ายในเวลาต่อมา ศรีลังกาได้ทำสัญญากับ China Merchants Group ให้เช่าท่าเรือแฮมบันโตตา เป็นเวลา 99 ปี ได้เงินมา 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เงินส่วนนี้ถูกเก็บไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ไมได้นำไปใช้หนี้ China Eximbank แหล่งทุนที่ศรีลังกาไปกู้เงินมาก่อสร้างท่าเรือแต่อย่างใด 

และเอาเข้าจริงๆ แล้ว ศรีลังกาเพิ่งมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ในปี 2565 นี่เอง ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ทันฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด-19 มากนัก กลับต้องมาเจอวิกฤติครั้งใหม่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ลากเอาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพขึ้นราคากันหมดโดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 เป็นวันแรกที่ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้น

ในวันดังกล่าว สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานโดยอ้างคำพูดของ พี นันดลาล วีระสิงห์ (P Nandalal Weerasinghe) ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งชาติศรีลังกา ที่ยืนยันว่า หากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ ขณะที่ ศ.มิค มัวร์ (Prof.Mick Moore) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเชี่ยวชาญประเด็นเศรษฐกิจในอินเดียและศรีลังกา ให้ความเห็นว่า ปัญหาของศรีลังกาสะสมมายาวนาน เพราะรัฐบาลชุดก่อนๆ ไปกู้ยืมเงินมาทำโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่น่าตำหนิคือพฤติกรรม ฝืนทำเป็นเข้มแข็ง (Insisted in this very macho fashion)” ยืนยันว่า จ่ายหนี้ไหว โดยไม่ยอมขอเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ รัฐบาลศรีลังกาทำแบบนี้ตลอดจนถึงเมื่อ 6 เดือนก่อน (ประมาณปลายปี 2564-ต้นปี 2565) สัญญาณวิกฤติก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น

คำถามต่อมา แล้วอะไรทำให้ศรีลังกาต้องหาแหล่งเงินกู้จากทุกทิศทางขนาดนั้น? บทความ Fallacies in Sri Lanka’s external debt patterns เผนแพร่บนเว็บไซต์ของ Observer Research Foundation (ORF) องค์กรคลังสมองด้านนโยบายเศรษฐกิจในอินเดีย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 โดย ซุมยา โภวมิค (Soumya Bhowmick) นักวิจัยของ ORF ผู้สนใจประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐศาสตร์โลกาภิวัตน์ และเศรษฐศาสตร์อินเดีย อธิบายที่มาที่ไปก่อนศรีลังกาจะเดินมาถึงจุดวิกฤติด้านหนี้สิน ดังนี้

1.ศรีลังกาปรับตัวไม่ทันกับการถูกเลื่อนสถานะของประเทศ  ในยุค 2000s (ปี 2543-2552) เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และยังเป็นสหัสวรรษใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่ศรีลังกาได้รับคือ ธนาคารโลก (World Bank) เลื่อนชั้นศรีลังกาจากประเทศยากจน (low-income country) ขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำ (low-middle-income country) ส่งผลให้จากเดิมที่ศรีลังกาสามารถพึ่งพาแหล่งทุน เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ที่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ 1 หรือน้อยกว่านั้น) และให้เวลาผ่อนชำระได้ยาวนาน (25-40 ปี) เมื่อประเทศเลื่อนชั้นขึ้นมาการจะหาแหล่งทุนลักษณะนี้ก็ทำได้ยากขึ้น

นั่นทำให้ศรีลังกาต้องเริ่มพึ่งพากลไกตลาดทุน (Market Borrowing) หรือสินเชื่อเชิงพาณิชย์ (Commercial Loans) ด้วยการออกพันธบัตรระหว่างประเทศ ตราสารประเภทนี้มีอัตราดอกเบี้ยสูง (ร้อยละ 6) มีกำหนดชำระหนี้สั้น (5-10 ปี) และไม่มีเวลาผ่อนผัน โดยเริ่มออกพันธบัตรตั้งแต่ปี 2550 มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 2547 สินเชื่อเชิงพาณิชย์ของศรีลังกามีเพียงร้อยละ 2.5 แต่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 56 ของสินเชื่อต่างประเทศทั้งหมด ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศต่อ GDP เพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ร้อยละ 30 ในปี 2557 เพิ่มเป็นร้อยละ 42.6 ในปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้เชิงพาณิชย์

2.ศรีลังกากู้หนี้ยืมสินจนเกินตัวเพื่อไปลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถให้ผลตอบแทนสูง แต่ประเด็นนี้ก็น่าเห็นใจไม่น้อย เพราะศรีลังกาบอบช้ำสะสมจากสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ (ระหว่างปี 2526-2552) ซ้ำร้ายยังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2550-2551 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤติซับไพรม์) ควบคู่ไปกับการขาดดุลการเงินและบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และเม็ดเงินจากแหล่งทุนต่างๆ ที่ไหลเข้าศรีลังกา ส่วนใหญ่ก็ถูกใช้เพียงเพื่อรักษาเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนที่สืบเนื่องมาจากในอดีต  

 (หมายเหตุ : ซุมยา โภวมิค ผู้เขียนบทความดังกล่าว ค่อนข้างระแวงบทบาทของจีนในการให้กู้เงินอยู่พอสมควรในประเด็นกับดักหนี้ โดยยกกรณีท่าเรือแฮมบันโตตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการศรีลังกาพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะขอกู้เงินจากจีนอีกในอนาคต แม้ว่าหนี้ที่ศรีลังกาติดจีนอยู่นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 9.83 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ตามข้อมูลในปี 2562 ก็ตาม)

อนึ่ง ยังมีเรื่องของ นโยบายเกษตรอินทรีย์ 100% แบบก้าวกระโดดสุดโต่ง ซึ่งพบว่าพอใช้จริงแล้วส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในศรีลังกาอย่างมาก อาทิ รายงานข่าว Photos: For Sri Lankan farmers, president’s escape is bittersweet โดยสำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2565 ที่ไปพูดคุยกับเกษตรกร อาทิ โรฮัน ติลัค คุรุสิงห (Rohan Thilak Gurusinghe) ผู้ปลูกใบชา เล่าว่า เกษตรกรเคยทักท้วงไปแล้วว่าการแบนปุ๋ยเคมีแบบชั่วข้ามคืนจะส่งผลกระทบต่อราบได้ของเกษตรกร แต่รัฐบาลไม่ฟัง กระทั่งผ่านไป 6 เดือน จึงค่อยรู้ว่าผิดพลาด

ไม่ต่างจาก อนินดา วีรสิงห (Anindha Weerasinghe) ผู้ปลูกผัก วิจารณ์นโยบายแบนเกษตรเคมีแบบไมได้เตรียมแผนรองรับไว้ว่าเป็นเรื่องโง่เขลาอย่างมากที่รัฐบาลทำ เช่น ก่อนหน้านี้ตนใช้เมล็ดพันธุ์ผสมที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี ทั้งนี้  โกตาบายา ราชปักษา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา ได้ออกประกาศแบนปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกประเภทในเดือนเมษายน 2564 ส่งผลให้ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ลดลงร้อยละ 40 กระทั่งในเดือนเมษายน 2565 ปธน. โกตาบายา จึงค่อยยอมรับว่าตนเองทำผิดพลาดไป 

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง..แต่มาจากนโยบายของรัฐบาลศรีลังกาที่ขาดความเข้าใจและไม่เตรียมความพร้อม โดยนิตยสาร Civil Society สื่อของภาคประชาสังคมในกรุงนิวเดลี ซึ่งก่อตั้งในปี 2546 เผยแพร่บทความ Lanka could learn from Sikkim how to go organic ณ วันที่  29 เม.ย. 2565 (แก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 27 พ.ค. 2565) อ้างอิงความเห็นของ ราช สีลัม (Raj Seelam) ผู้ก่อตั้งบริษัท เศรษฐา ออร์แกนิต (Srestha Organic) เจ้าของแบรนด์สินค้เออร์แกนิก “24 มันตรา (24 Mantra)” ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรหลายเหมื่นคนในอินเดีย ว่า..

จำเป็นต้องมีการเตรียมการจำนวนมากสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะไม่ใช่แค่ถามเรื่องการหยุดใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเท่านั้น เป็นระบบทางเลือก เราต้องหาวิธีการต่างๆ ในการสร้างดินและความอุดมสมบูรณ์ ประการที่สองคือการสร้างสมดุลตามธรรมชาติเพื่อที่จะไม่จำเป็นต้องทำการแทรกแซงทางเคมี (A lot of preparation is required for going organic because it is not just a question of stopping use of fertilizers and pesticides. It is an alternative system. We have to figure out different means of building up soil and fertility. Second is creating a natural balance so that you don’t need to make chemical interventions)”

สีลัม เล่าต่อไปว่า การทำงานของบริษัทกับเกษตรกรใช้เวลาเฉลี่ย 3-4 ปี ซึ่งก็เป็นเวลาพอดีกับที่สามารถให้การรับรองได้ ลำพังเพียงการโน้มน้าวเกษตรกรเพื่อให้ลงทะเบียนก็ต้องลงพื้นกัน 3-4 ครั้งแล้ว จากนั้นก็ต้องมีพนักงานไปดูแลประจำ เช่น กรณีของ เศรษฐา ออร์แกนิต เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลเกษตรกร 200-300 คน ทำหน้าที่ตั้งแต่ฝึกอบรมและช่วยอธิบายข้อสงสัยต่างๆ แต่หากเกินความสามารถของพนักงานเหล่านี้ ก็จะสอบถามมายังนักปฐพีวิทยาทันที ซึ่พนักงานทุกคนมีแอปพลิเคชั่น ซึ่งสามารถนำปัญหาที่พบเห็นมาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้ 

อีกทั้งมีการลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่อง และยังย้ำด้วยว่า ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านมาทำเกษตรอินทรีย์ ระยะแรกๆ ปริมาณผลผลิตย่อมลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10-15 ในปีแรก และในเมื่อเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถชดเชยให้กับเกษตรกรได้ ตนแนะนำให้ทยอยปรับเปลี่ยนไปเป็นระยะๆ เช่น ผู้มีที่ดิน 10 เอเคอร์ อาจทยอยทำไปทีละ 2 เอเคอร์ เป็นต้น  

เช่นเดียวกับสำนักข่าวออนไลน์อย่าง Firstpost ในเครือ Network18 Group สื่อยักษ์ใหญ่ของอินเดีย เผยแพร่บทความ Is organic farming really to blame for Sri Lanka’s ongoing food crisis? เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2565 อ้างความเห็นของ วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) นักสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงในอินเดีย ชี้ว่า วิกฤติอาหารในศรีลังกามีรากฐานที่ลึกกว่าการห้ามนำเข้าเคมีเกษตรเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งนโยบายระยะสั้นของการห้ามนำเข้าไม่ถือเป็นนโยบายเกษตรอินทรีย์

บทความเดียวกันยังอ้างความเห็นของ  สิราช ฮุซเซน (Siraj Husain) อดีตปลัดกระทรวงเกษตรของอินเดีย ที่มองว่า ลำพังการห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีในเดือนพฤษภาคม 2564 ไม่น่าจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกาเกิดวิกฤติ แต่ต้องถามว่าเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารหรือไม่ ประเทศหนึ่งไม่สามารถกลายเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดได้ในเวลาอันสั้น หากการผลิตทั้งหมดเป็นออร์แกนิก สินค้าพรีเมียมของเกษตรอินทรีย์จะเล้มเหลวและเกษตรกรจะเหลือกำลังผลิตที่น้อยลง

การผูกขาดอำนาจยาวนานจนเอื้อต่อปัญหาคอร์รัปชั่น ก็เป็นอีกปัจจัยที่นำพาศรีลังกาดำดิ่งมาสู่วิกฤติในวันนี้ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 โดย The Washington Post หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่และเก่าแก่ฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เล่าเรื่องราวของตระกูลราชปักษา โดยเฉพาะ 2 พี่น้อง คือ มหินดา และ โกตาบายา ที่ครองอำนาจสูงสุดบนแผ่นดินศรีลังกามายาวนาน อาทิ ในช่วงที่ มหินดา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียาวนานระหว่างปี 2548-2558 ได้แต่งตั้ง โกตาบายา ซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารในกองทัพศรีลังกา ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมและการพัฒนาเมือง โดยอยู่ในตำแหน่งในห้วงเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นยังแต่งตั้ง เบซิล (Basil) และ ชามัล (Chamal) ดูแลงานชลประทานและการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามลำดับ ในทางกลับกัน ช่วงปี 2562-2565 ที่ โกตาบายา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้แต่งตั้งให้ มหินดา เป็นนายกรัฐมนตรี

สันคิธา กุนารัทนี (Sankhitha Gunaratne) รองผู้อำนวยการบริหารของ องค์กรเพื่อความโปรงใสสากล (Transparency International) ประจำศรีลังกา กล่าวว่า มหินดา กับ เบซิล เผชิญข้อกล่าวหามากมาย ทั้งการยักยอกเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ รวมถึงกองทุนสาธารณะไปซื้อที่ดิน ขณะที่ในปี 2564 เอกสารลับที่ถูกเผยแพร่ในโครงการ Pandora Papers โดย เครือข่ายสื่อมวลชนสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ว่าด้วยพฤติกรรมซุกซ่อนทรัพย์สินของบรรดาบุคคลที่เป็นชนชั้นนำของประเทศต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบหรือเลี่ยงภาษี พบว่า หลานของพี่น้องตระกูลราชปักษา มีเงินหลักหลายล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในบัญชีต่างประเทศ 

และแม้เส้นทางการครองอำนาจในศรีลังกาของตระกูลราชปักษา มีการขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่พี่น้อง แต่เรื่องหนึ่งที่ทั้งตระกูลสนับสนุนเต็มที่ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทอำนาจของคณะกรรมการสืบสวนการทุจริต (CIABOC ทำหน้าที่คล้ายกับ ป.ป.ช. ของประเทศไทย) และเพิ่มบทบาทอำนาจของประธานาธิบดีที่มีต่อศาล เช่นเดียวกับ Human Rights Watch องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงาน Human Rights Watch Submission to the UN Human Rights Committee in advance of its review of Sri Lanka เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ตอนหนึ่งกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 20 ของศรีลังกา ในเดือนตุลาคม 2563 

สาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือให้ประธานาธิบดีมีอำนาจจควบคุมการแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส ตลอดจนกรรมการบริหารในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) , สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , คณะกรรมการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สำนักงานคณะกรรมการสืบสวนการทุจริตและสินบนแห่งชาติ (CIABOC – ป.ป.ช.) รวมถึงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหลักนิติธรรม เช่น อัยการสูงสุด หัวหน้าผู้ตรวจสอบบัญชี (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) และจเรตำรวจ

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า..กว่าศรีลังกาจะเดินมาถึงจุดต่ำสุดในปัจจุบันประกอบด้วยหลากหลายเหตุปัจจัย บางเรื่องก็น่าเห็นใจจากข้อจำกัดของประเทศ แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เรื่องราวของศรีลังกา คงจะเป็นอุทาหรณ์หรือบทเรียนให้กับประเทศไทย (และประเทศอื่นๆ) ได้บ้างไม่มากก็น้อย!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.mfa.go.th/th/country/LK?page=5d5bcb3915e39c3060006816&menu=5d5bd3c715e39c306002a882 (สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Sri Lanka) : กระทรวงการต่างประเทศ)

https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL?locations=LK (Sri Lanka Population : World Bank)

https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=LK (Sri Lanka GDP : World Bank)

https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL?locations=TH (Thailand Population : World Bank)

https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=TH (Thailand GDP : World Bank)

https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/sri-lanka/ (Sri Lanka : CIA Factbook)

https://hir.harvard.edu/sri-lankan-civil-war/ (The Sri Lankan Civil War and Its History, Revisited in 2020)

http://www.erd.gov.lk/index.php?option=com_content&view=article&id=102&Itemid=308&lang=en (Foreign Debt Summary : Department of External Resources , Sri Lanka)

https://www.theatlantic.com/international/archive/2021/02/china-debt-trap-diplomacy/617953/ (The Chinese ‘Debt Trap’ Is a Myth : The Atlantic)

https://www.orfonline.org/expert-speak/fallacies-in-sri-lankas-external-debt-patterns/ (Fallacies in Sri Lanka’s external debt patterns : ORF)

https://www.bbc.com/news/business-61505842 (Sri Lanka defaults on debt for first time in its history : BBC)

https://edition.cnn.com/2022/07/12/asia/sri-lanka-crisis-gotabaya-rajapaksa-airport-intl/index.html (Sri Lanka’s prime minister appointed President, calls state of emergency as Rajapaksa flees to Maldives : CNN)

https://www.aljazeera.com/gallery/2022/7/14/photos-for-sri-lanka-farmers-presidents-escape-is-bittersweet (Photos: For Sri Lankan farmers, president’s escape is bittersweet , Aljazeera)

https://www.civilsocietyonline.com/agriculture/lanka-could-learn-from-sikkim-how-to-go-organic-happily/ (Lanka could learn from Sikkim how to go organic  , Civil Society)

https://www.firstpost.com/opinion/is-organic-farming-really-to-blame-for-sri-lankas-ongoing-food-crisis-10555881.html (Is organic farming really to blame for Sri Lanka’s ongoing food crisis? , Firstpost)

https://www.washingtonpost.com/world/2022/05/22/sri-lanka-rajapaksa-mahinda-gotabaya/ (Inside the collapse of the Rajapaksa dynasty in Sri Lanka : The Washington Post)

https://www.hrw.org/news/2022/06/01/human-rights-watch-submission-un-human-rights-committee-advance-its-review-sri


ตรวจสอบข้อเท็จจริง โควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 อันตรายแค่ไหน COFACT Special Report #32

บทความ

ไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 โดยสายพันธุ์ที่กำลังแพร่กระจายอย่างกว้างขวางคือสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน โดยสหรัฐฯ ยุโรป และหลายประเทศในเอเชียกำลังประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้เหมือนๆ กัน ขณะที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มรู้สึกวิตกกังวลกับการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดทั่วโลกมองว่าปัจจุบันเรามีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้ ดังนั้นประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป

โอมิครอน BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ย่อยทั้งหมด

ผลการศึกษาในสหรัฐฯ และยุโรประบุตรงกันว่า โอมิครอน BA.5 แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านี้หลายเท่า ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งสองทวีป รวมทั้งในประเทศที่พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ติดเชื้อมีทั้งผู้ที่ไม่เคยเป็นโควิดมาก่อน และผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะติดเชื้อโอมิครอน BA.5 เช่นกัน เพียงแต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วจะมีอาการของโรคน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน

โอมิครอน BA.5 หลบภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารุนแรงกว่า

ผลการศึกษาในยุโรป สหรัฐฯ และแอฟริกาใต้ระบุตรงกันว่า โอมิครอน BA.5 มีคุณสมบัติหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ รวมทั้งยังแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลการศึกษาดังกล่าว โดยเฉพาะในแอฟริกาใต้พบว่า BA.5 ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการรุนแรงไปกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันมาก่อนและติดเชื้อสายพันธุ์นี้ก็มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ มาก่อนอยู่ดี แต่เมื่อเราดูจากยอดผู้ป่วยหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของบางประเทศ เช่น โปรตุเกส พบผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากการติดเชื้อโอมิครอน BA.5 จำนวนมาก รวมทั้งในสหรัฐฯ บางรัฐก็พบยอดผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้ามาดูปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะพบว่า โปรตุเกสมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าแอฟริกาใต้ และในสหรัฐฯ บางรัฐมียอดการฉีดวัคซีนต่ำ สองปัจจัยนี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจึงยังไม่สามารถสรุปหรือฟันธงได้ว่า BA.5 จะมีความรุนแรงจนส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุขเหมือนการแพร่ระบาดครั้งก่อนๆ เพราะปัจจัยชี้วัดในปัจจุบันกับอดีตแตกต่างกัน

หลายประเทศยังยืนยันว่ายอดผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตจาก BA.5 ยังต่ำ

นพ.แอนโธนี ฟัลชี หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5 จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม และเมื่อเปรียบเทียบกับยอดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากระลอกก่อนๆ ก็พบว่าระลอกนี้ตัวเลขต่ำกว่าจริง ดังนั้นประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกถึงจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่สูง แต่ให้ดูศักยภาพของระบบสาธารณสุขว่าสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้หรือไม่ ขณะที่หลายๆ ประเทศที่พบการแพร่ระบาดของ BA.5 มาก่อนไทย โดยเฉพาะในยุโรป ก็ยังไม่พบรายงานว่าระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านั้นไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยหนักจาก BA.5 

ความเข้าใจเรื่องโควิดในปัจจุบันเปลี่ยนไป ยารักษา+วัคซีน คือตัวเปลี่ยนเกม

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในหลายประเทศระบุตรงกันว่า ถึงแม้โอมิครอน BA.5 จะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุด ผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ปัจจุบันเรามีอาวุธที่จะช่วยต่อกรกับมัน นั่นก็คือการเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น เราทราบดีว่าวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อ แต่มันช่วยป้องกันไม่ให้เราป่วยหนักและเสียชีวิต ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า วัคซีนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัคซีนประเภท mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ถึงแม้ BA.5 จะเป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่า หลบภูมิได้ดีกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนในปัจจุบันจะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิต ดังนั้นการเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นย่อมดีกว่าการไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 

นอกจากนี้ บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนหลายเจ้า เช่น โมเดอร์นา ก็กำลังเตรียมยื่นขออนุมัติวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นสำหรับโอมิครอนโดยเฉพาะ ซึ่งผลการศึกษาพบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนัก และการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นเก่า คาดว่าเราจะสามารถใช้วัคซีนตัวนี้ได้ภายในปลายปีนี้

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน BA.5 ในปัจจุบันก็มีตัวเลือกทางการรักษาที่หลากหลาย ในผู้ป่วยทั่วไปที่อาการไม่รุนแรงสามารถรับประทานยาตามอาการจนอาการหายดีเป็นปกติ ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงปานกลาง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ก็สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส เช่น โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) หรือ แพซโลวิด (Paxlovid) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก FDA ของสหรัฐฯ ว่าสามารถใช้รักษาโควิด-19 ได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะต้องรับประทานยาในปริมาณเท่าใด 

การใช้ชีวิตอย่างสมดุล จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้

หน่วยงานสาธารณสุขในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ต่างระบุตรงกันว่า ปัจจุบันโอมิครอน BA.5 กำลังกลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ด้วยความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนการติดเชื้อก่อนหน้า ยิ่งทำให้ BA.5 มีความน่ากังวล แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันก็คือ การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมทั้งการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีในปัจจุบันนั้นช่วยให้ยอดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตนั้นไม่เยอะจนเกินประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ ซึ่งเราทุกคนมีส่วนช่วยให้ประเทศและสังคมเดินต่อไปได้โดยไม่กลับไปเหมือนเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วด้วยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention อย่างที่เราเคยทำกันมา 


ที่มา:

https://www.nytimes.com/2022/07/12/us/politics/ba5-omicron-variant-white-house.html

https://www.cnbc.com/2022/07/12/covid-hospitalizations-have-doubled-since-may-as-omicron-bapoint5-sweeps-us-but-deaths-remain-low.html

https://www.nbcboston.com/news/local/clearing-up-misconceptions-about-the-omicron-ba-5-subvariant/2769042/

https://health.ucdavis.edu/coronavirus/news/headlines/how-to-protect-yourself-from-covid-subvariant-ba5/2022/07

https://www.healthline.com/health-news/omicron-ba-5-experts-see-increase-in-mild-cases-vaccines-continue-to-be-effective#The-bottom-line:

https://time.com/6187762/ba-4-ba-5-omicron-subvariants-symptoms-risk/


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com