พบบัญชีผู้ใช้ TikTok เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายก อบจ.

Top Fact Checks Political

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

โคแฟคตรวจสอบพบบัญชีผู้ใช้แอปพลิเคชัน TikTok เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) โดยล่าสุดเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่าผู้สมัครจากพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี “อย่างถล่มทลาย” ทั้งที่ในความเป็นจริงการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานียังไม่เกิดขึ้น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานีในวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 8.00-17.00 น. โดยมีผู้สมัครทั้งหมด 4 คน คือ นายกานต์ กัลป์ตินันท์ (หมายเลข 1) อดีตนายก อบจ. อุบลราชธานี สังกัดพรรคเพื่อไทย, นายสิทธิพล เลาหะวนิช (หมายเลข 2) อดีตรองนายก อบจ. อุบลราชธานี สังกัดพรรคประชาชน, นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล (หมายเลข 3) ผู้สมัครอิสระ และ นายอธิปไตย ศุ้ย ศรีมงคล (หมายเลข 4) ผู้สมัครอิสระ

การเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี เป็นการแข่งขันที่เข้มข้นและถูกจับตามากที่สุดสนามหนึ่ง ในโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งโคแฟคพบบัญชีผู้ใช้ TikTok คนหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ผลคือผู้สมัครจากพรรคประชาชนชนะผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยแบบขาดลอย

เมื่อตรวจสอบย้อนหลัง โคแฟคยังพบวิดีโอของผู้ใช้บัญชี TikTok รายนี้ เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และอุดรธานี

โคแฟคตรวจสอบ

บัญชี TikTok นี้ใช้ชื่อว่า “พี่กันต์ นักปั่นทีมชาติ(หน้า)” มีผู้ติดตามมากกว่า 61,000 คน คลิปวิดีโอส่วนใหญมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทยและการขายสินค้าประเภทอาหารเสริม

วิดีโอที่มีเนื้อหาเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี มีความยาว 1.07 นาที เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 มียอดเข้าชมมากกว่า 666,000 ครั้ง (archived link ที่นี่) มีคนเข้ามาคอมเมนต์เกือบ 1,800 ครั้ง กดถูกใจกว่า 24,000 ครั้ง และแชร์ต่อเกือบ 600 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2567)

วิดีโอที่โพสต์ในแอปพลิเคชัน TikTok เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ระบุเนื้อหาเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี

โพสต์นี้มีข้อความแทรกในคลิปและเขียนคำบรรยายว่า “ช้างล้ม ส้มชนะ” ติดแฮชแทก #อบจอุบลราชธานี ผู้ใช้ TikTok รายนี้กล่าวในคลิปช่วงหนึ่งว่า “ขอแสดงความยินดีกับคนอุบลด้วยนะครับ เพราะว่าผลเลือกตั้ง อบจ. ออกมาแล้ว ตอนนี้ได้นับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว พรรคประชาชนเบอร์ 37 ชนะถล่มทลาย ได้ถึง 7 แสนคะแนน คู่แข่งได้แค่ 3-4 พันเอง ขอบคุณคู่แข่งที่เห็นค่าของผู้สมัครพรรคประชาชน…คนอุบลตาสว่างกันหมดแล้ว ดีใจกับด้อมส้มด้วย เขาเรียกว่า ช้างล้มส้มชนะ”

เนื้อหาดังกล่าวเป็นเท็จ ทั้งในส่วนของข้อมูลหมายเลขผู้สมัครของพรรคประชาชน ซึ่งที่ถูกต้องคือหมายเลข 2 ไม่ใช่หมายเลข 37 และผลการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น

เมื่อมีผู้เข้ามาทักท้วงว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือมีคนแสดงความเห็นในลักษณะที่เชื่อว่าเป็นผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานีจริง เจ้าของคลิปปฏิเสธที่จะลบหรือแก้ไขเนื้อหาโดยอ้างว่าเขาได้ “เฉลย” ด้วยท่าทางในตอนท้ายคลิปแล้วว่าสิ่งที่เขาพูดมานั้นเป็น “ฝันกลางวัน” ถ้าดูจนจบก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นไม่ใช่เรื่องจริง และตำหนิคนที่หลงเชื่อว่าเป็นเพราะไม่ยอมดูคลิปให้จบ   

หลายเนื้อหาเท็จเลือกตั้งนายก อบจ.

ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้ TikTok รายนี้ได้โพสต์คลิปวิดีโอที่ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายก อบจ. มาแล้วหลายครั้ง วิดีโอเหล่านี้ วิดีโอเหล่านี้ยังคงเข้าถึงได้ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2567

  • วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอที่มีเนื้อหาเท็จระบุว่า นายอัครเดช ทองใจสด ซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. เพชรบูรณ์ เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคประชาชน ได้คะแนน 7 แสนกว่าคะแนน พร้อมกับเขียนคำบรรยายว่า “ดีใจพรรคส้มของเราชนะ อบจ เพชรบูรณ์ ขาดลอย นำคู่แข่งหลายแสน” โดยพูดสั้น ๆ ในตอนท้ายคลิปว่า เขาเข้าใจผิดว่านายอัครเดชสังกัดพรรคประชาชน (จำนวนการเข้าชม 61.8 หมื่นครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบูรณ์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 มีผู้ลงสมัคร 3 คน ผู้ชนะคือนายอัครเดช ทองใจสด หมายเลข 1 อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ 6 สมัย เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคประชาชน โดยได้คะแนน 263,545 คะแนน

  • วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอความยาว 1.10 นาที มีเนื้อหาเท็จที่ระบุว่า ผู้สมัครพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แบบขาดลอย (จำนวนการเข้าชม 159.4 แสนครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ผู้ชนะคือ นายศราวุธ เพชรพนมพร สังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนนายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครสังกัดพรรคประชาชนได้คะแนนเป็นอันดับ 2

  • วันที่ 2 ธันวาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอความยาว 1.01 นาที มีเนื้อหาเท็จว่า ผู้สมัครหมายเลข 2 ซึ่งสังกัดพรรคประชาชนหรือ “พรรคส้ม” ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. กำแพงเพชร (จำนวนการเข้าชม 149.7 แสนครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ. กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 มีผู้สมัคร 2 คน ผู้ชนะคือ ผู้สมัครหมายเลข 1 นายสุนทร รัตนากร สังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนผู้สมัครหมายเลข 2 นายธานันท์ หล่าวเจริญ ได้คะแนนเป็นอันดับ 2

  • วันที่ 19 สิงหาคม 2567 เผยแพร่วิดีโอความยาว 0.43 นาที มีเนื้อหาเท็จว่า นางสิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล ผู้สมัครหมายเลข 3 สังกัดพรรคประชาชน ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. พิษณุโลก (จำนวนการเข้าชม 572.1 แสนครั้ง)

ความจริง: การเลือกตั้งนายก อบจ. พิษณุโลก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 มีผู้สมัคร 3 คน ผู้ชนะคือ นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ผู้สมัครหมายเลข 1 ส่วนนางสิริพรรณ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเป็นอันดับ 2

เป็นที่น่าสังเกตว่า วิดีโอที่มีเนื้อหาว่าด้วยผลการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครสังกัดพรรคประชาชน มีจำนวนการเข้าชมสูงมากกว่าวิดีโออื่น ๆ มาก คือมีการเข้าชมหลายแสนครั้ง เทียบกับวิดีโออื่น ๆ ที่มีการเข้าชมหลักพันหรือหลักหมื่น ซึ่งอาจเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้บัญชีผู้ใช้ TikTok รายนี้ เผยแพร่เนื้อหาลักษณะนี้บ่อยครั้ง   

กกต.เตือนผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ร.ต.อ.ชนินทร์  น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. และสำนักกฎหมาย กกต. ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 (5) ที่ห้ามผู้ใดหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการการะทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ข้อสรุปโคแฟค

การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับตัวผู้สมัครและผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งผลต่อคะแนนนิยมของผู้สมัคร การรายงานผลการเลือกตั้งเท็จทั้งที่การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น เช่น กรณีการเลือกตั้งนายก อบจ. อุบลราชธานี อาจทำให้บางคนคิดว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นไปแล้ว จึงไม่ไปลงคะแนน เป็นต้น ขณะที่การรายงานผลการเลือกตั้งที่เป็นเท็จทำให้เกิดความสับสนในระยะยาว

แม้ว่าช่วงท้ายวิดีโอ ผู้พูดจะแสดงท่าทางหรือใช้คำพูดเพื่อ “เฉลย” ว่าสิ่งที่เขากล่าวมาทั้งหมดเป็นการล้อเล่น ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ข้อความหรือท่าทางที่สื่อสารนั้นไม่มีความชัดเจน และธรรมชาติของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ใช้เวลาสั้น ๆ ในการชมเนื้อหา บ่อยครั้งไม่ได้ดูวิดีโอจนจบ อีกทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ ของเนื้อหา เช่น ข้อความแทรกในคลิป คำบรรยาย และแฮชแท็กอาจทำให้มีคนหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลจริง ผู้ใช้บัญชี TikTok รวมทั้งผู้ติดตามบางส่วนอาจมองว่า เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นการล้อหรือประชดเพื่อความบันเทิง แต่การล้อเลียน เสียดสีด้วยข้อมูลเท็จ จัดว่าเป็นข่าวลวง (disinformation) ประเภทหนึ่ง ยิ่งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง สถานการณ์มีความเปราะบางล่อแหลม ข้อมูลเท็จใด ๆ อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งมากกว่าที่คาดคิด ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจึงควรหยุดเผยแพร่เนื้อหาเท็จ และประชาชนควรพิจารณาเนื้อหาต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งจะจัดขึ้นหลายจังหวัดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ติดเชื้อเอชไอวี = ผอมซูบ ผิวคล้ำ?

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจำเป็นต้องเป็นคนผอมซูบหรือผิวคล้ำหรือไม่?

หลายคนอาจจะเคยมีภาพจำของผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีว่าอาจจะมีลักษณะที่ผอมซูบ ผิวคล้ำ บางรายมีตุ่มพุพองตามตัว หรือแม้กระทั่งนอนติดเตียง จนนำไปพูดเมื่อเจอเพื่อนที่มีลักษณะผอมซูบ หรือผิวคล้ำว่าอาจจะเป็นโรคเอดส์รึเปล่า? แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีจำเป็นต้องมีลักษณะนี้ไหม แล้วระยะเวลาของอาการที่ทำให้เป็นแบบนั้นต้องใช้มากน้อยแค่ไหน กว่าจะเป็นแบบที่ทุกคนเห็น บทความนี้มีคำตอบมาให้อานกัน

สำหรับภาพลักษณ์ที่ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องผอมซูบ นอนติดเตียง ผิวคล้ำ และมีตุ่มพอง เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเลย ในปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมด้วยยาต้านไวรัส สามารถมีชีวิตที่ปกติและสุขภาพดีได้ และในการรักษาด้วยยาต้านนั้นสามารถช่วยควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน และป้องกันการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์ ซึ่งอาการที่กลายเป็นภาพจำในอดีตนั้น มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง 

แล้วถ้าถามว่าทำไมถึงเกิดภาพจำแบบนั้นขึ้น แท้ที่จริงแล้วเกิดจากหลายปัจจัย อันประกอบไปด้วย 

  • การรับรู้ในอดีต : ในช่วงแรกของการระบาดของเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยมักแสดงอาการรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สังคมจดจำภาพลักษณ์ของผู้ป่วยในลักษณะดังกล่าว
  • การนำเสนอของสื่อ : สื่อมวลชนในอดีตมักนำเสนอภาพผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ในสภาพที่รุนแรง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ แต่กลับส่งผลให้เกิดการตีตราและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ
  • การขาดความรู้และความเข้าใจ : ประชาชนทั่วไปอาจขาดข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ ทำให้เกิดความกลัวและอคติ ส่งผลให้ภาพลักษณ์เชิงลบถูกส่งต่อในสังคม

แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมสามารถมีชีวิตที่ปกติและสุขภาพดีได้ การให้ความรู้ที่ถูกต้องและการนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกของผู้ติดเชื้อในสื่อ สามารถช่วยลดการตีตราและความเข้าใจผิดในสังคมได้ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่พบเชื้อเอชไอวีนั้น การตรวจหาเชื้อเอชไอวีแต่เนิ่น ๆ และการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอหลังจากที่พบเชื้อเอชไอวีนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเราได้

อย่างไรก็ดี อาการผอมซูบ ผิวคล้ำ และนอนติดเตียงในผู้ป่วยเอดส์มักเกิดขึ้นเมื่อการติดเชื้อเอชไอวีพัฒนาเข้าสู่ระยะสุดท้ายหรือระยะเอดส์ หากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวีอาจใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลานี้อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยและการติดเชื้อร่วมอื่น ๆ การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอสามารถชะลอการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงเหล่านี้ได้นั่นเอง


แหล่งอ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

กิน PrEP แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ถุง?

จริงหรือไม่ที่การกิน PrEP สามารถป้องกันเอชไอวีได้ แล้วไม่ต้องใส่ถุง?

หลายคนคงหาวิธีการป้องกันเอชไอวีอยู่อย่างแน่นอน และวิธีการหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ คือการรับประทาน PrEP เพื่อป้องกันเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนเดินทางเข้าไปรับยาชนิดนี้กันเป็นจำนวนมาก คำถามที่หลายคนย้อนกลับมาถามคือมันป้องกันได้จริงๆ ใช่ไหม? แล้วเราจะสามารถไม่ใส่ถุงยางอนามัยเพื่อมีเพศสัมพันธ์ได้เลยไหม หากทานยาชนิดนี้อยู่แล้ว บทความนี้จะพาไปไขคำตอบกัน

ก่อนอื่น คงต้องแนะนำว่า PrEP หรือชื่อเต็มคือ Pre-Exposure Prophylaxis มันคือการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีโดยผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสที่มีความเสี่ยง การรับประทานยา PrEP อย่างสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน PrEP แบ่งออกตามชนิดการรับประทาน ดังนี้

  • การรับประทาน PrEP ทุกวัน (Daily PrEP) : โดยต้องรับประทานยา PrEP วันละ 1 เม็ด ทุกวัน ในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งต้องทานให้ครบ 7 วันก่อนถึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยเหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
  • การรับประทาน PrEP ตามความต้องการ (On-Demand PrEP) : มีวิธีรับประทานยา PrEP คือ ทาน 2 เม็ด ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2-24 ชั่วโมง และทานอีก 2 เม็ด โดย 1 เม็ดแรกให้ทานหลังมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง และ 1 เม็ดหลังให้ทานหลังมีเพศสัมพันธ์ 48 ชั่วโมง วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถวางแผนการมีเพศสัมพันธ์ล่วงหน้าได้

สำหรับการรับประทานยา PrEP หากทานอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง จะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า PrEP สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ประมาณ 99% และลดความเสี่ยงจากการใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดได้อย่างน้อย 74% 

ซึ่งประสิทธิภาพของ PrEP ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการรับประทานยาและการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องทานยาให้ตรงเวลาทุกวันเฉกเช่นกับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีนั่นเอง

แน่นอนว่าการรับประทานยา PrEP อย่างสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ PrEP ก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น หนองในเทียม ซิฟิลิส หรือเริมที่อวัยวะเพศ ดังนั้น การใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการรับประทาน PrEP จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันทั้งเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงการไปตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรัฐให้สิทธิ์ในการตรวจปีละ 2 ครั้งฟรีไว้ด้วย ฉะนั้นใส่ถุงยางอนามัย ทาน PrEP ตรวจเลือด และดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุด


แหล่งอ้างอิง

  • มูลนิธิเพื่อรัก
  • ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC)
  • โรงพยาบาลสมิติเวช
  • PULSE CLINIC

ถาม-ตอบ สธ. กรณี “ต่างด้าวแห่คลอดลูกในไทย-ใช้สิทธิรักษาฟรี”

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุ คนต่างด้าวคลอดบุตรในไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่โรงพยาบาลกำหนด เว้นแต่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิใน “กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว” หรือ “กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” พร้อมกับเปิดตัวเลขคนเมียนมารับบริการหลังคลอดที่หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ 9,933 ครั้ง ฝากครรภ์ 148,391 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567)

โคแฟคสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลคนต่างด้าวจากกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ ซึ่งดูแลการให้บริการสาธารณสุขแก่คนต่างด้าว แรงงานต่างด้าว และบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 อ้างข้อมูลจาก “ลูกเพจที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์แถวชายแดน” ใจความโดยสรุปว่า โรงพยาบาลบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา กำลังประสบปัญหาชาวเมียนมาเดินทางมาคลอดบุตรและรักษาพยาบาลในฝั่งไทยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะใช้สิทธิตามกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “กองทุนสิทธิ ท.99” และหลังจากคลอดลูกแล้ว คนต่างด้าวจะไปขอใบรับรองการเกิดของเด็กเพื่อทำสิทธิรักษาฟรีในไทย

โพสต์ดังกล่าวระบุด้วยว่า คนต่างด้าวยังสามารถซื้อบัตร UC หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะได้สิทธิการรักษาเทียบเท่ากับบัตรทองของคนไทยทุกอย่าง ทั้งหมดนี้ได้สร้างภาระด้านงบประมาณ เพิ่มงานให้แพทย์-พยาบาล และทำให้คนไทยได้รับบริการล่าช้า ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทยที่อาจจะ “ล่มจม” เพราะการมาใช้บริการของคนต่างด้าว

โพสต์นี้มีผู้แชร์ไปแล้วมากกว่า 14,000 ครั้ง (ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2567) มีผู้ให้ความเห็นมากกว่า 3,600 ครั้ง ส่วนใหญ่แสดงความไม่พอใจที่คนไทยต้องแบกรับภาระในการรักษา ทำให้คนไทยที่เป็นผู้เสียภาษีได้รับการรักษาพยาบาลที่ล่าช้า นอกจากนี้เนื้อหาในโพสต์ยังนำไปสู่การปลุกปั่นความไม่พอใจคนต่างด้าวอีกด้วย

ถาม-ตอบ กองเศรษฐกิจสุขภาพฯ  

การดูแลด้านสาธารณสุขของกลุ่มคนต่างด้าว แรงงานต่างด้าว และบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ อยู่ในความรับผิดชอบของกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งบริหารจัดการผ่าน 2 กองทุน คือ

  1. กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ผู้ที่ใช้สิทธิกองทุนนี้ได้ คือ แรงงานต่างด้าวและบุตรอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคา 3,400 บาท และ 3,500 บาทสำหรับแรงงานที่เป็นลูกเรือประมง ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี 6 เดือน
  2. กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ กองทุนสิทธิ ท.99 ผู้ที่ใช้สิทธิกองทุนนี้ต้องเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามที่ระบุในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ที่มีเลขประจำตัว 13 หลักที่ออกให้โดยกระทรวงมหาดไทย แล้วจึงนำเลขประจำตัวนี้ไปยื่นขอขึ้นทะเบียนที่หน่วยบริการสุขภาพ ซึ่งจะส่งต่อข้อมูลให้กองเศรษฐกิจสุขภาพฯ พิจารณาขึ้นทะเบียนรับสิทธิรักษาพยาบาลภายใต้กองทุนนี้ ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนกับกองทุน 723,603 คน (ข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงานกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ ประจำปีงบประมาณ 2566)

โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้อ้างถึงปัญหาจากการใช้สิทธิตามกองทุนสิทธิ ท.99 โคแฟคสรุปประเด็นที่กล่าวอ้างในโพสต์และนำไปสอบถามกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ สธ. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแก่คนต่างด้าว และเรียบเรียงเป็นคำถาม-คำตอบ ดังนี้

ถาม: ชาวเมียนมาเข้ามาคลอดบุตรในไทยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ ?

ตอบ: เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิในกองทุนใดหรือไม่ หากมีสิทธิในกองทุนใดก็สามารถใช้สิทธิได้ตามที่แต่ละกองทุนกำหนด แต่หากไม่มีเอกสารหลักฐานใด ๆ และไม่มีสิทธิในกองทุนใด ก็ต้องชำระค่าใช้จ่ายตามที่ได้รับบริการด้านสาธารณสุข

ถาม: บุตรของชาวเมียนมาที่คลอดในไทย มารดาสามารถนำไปขอใบรับรองการเกิดเพื่อรับสิทธิรักษาพยาบาลฟรีในประเทศไทยได้ จริงหรือไม่

ตอบ: เด็กที่เกิดในโรงพยาบาลในไทย สามารถขอหนังสือรับรองการเกิดได้ แต่สิทธิด้านการรักษาพยาบาลต้องเป็นไปตามสิทธิของแต่ละบุคคลหรือแต่ละกองทุนที่บุคคลนั้นขึ้นทะเบียน

ถาม: คนต่างด้าวสามารถใช้สิทธิจากกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (กองทุนสิทธิ ท.99) ในการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาได้จริงหรือไม่

ตอบ: ผู้ที่จะใช้สิทธิรักษาพยาบาลของกองทุนนี้ได้จะต้องเป็น “ผู้ขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” เท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะขึ้นทะเบียนได้ต้องเป็นบุคคลที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก และมีคุณสมบัติตามมติ ครม. ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เมื่อได้เลขประจำตัว 13 หลักจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว จะต้องนำเอกสารไปยื่นที่หน่วยบริการรับลงทะเบียนสิทธิประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หน่วยบริการที่รับลงทะเบียนจะส่งคำร้องมายังกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานและพิจารณาการให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาล

ถาม: สถานะทางการเงินของกองทุนสิทธิ ท.99 ในขณะนี้เป็นอย่างไร

ตอบ: กองทุนฯ มีสถานะทางการเงินปกติ ไม่มียอดค้างชำระหน่วยบริการสาธารณสุข เมื่อหน่วยบริการแจ้งยอดค่าใช้จ่ายมา ทางกองทุนฯ ก็จ่ายคืนตามรอบการเบิกจ่ายปกติ 

ถาม: คนต่างด้าวที่ซื้อบัตรประกับสุขภาพถ้วนหน้า (บัตร UC) ได้สิทธิการรักษาเทียบเท่ากับบัตรทองคนไทยทุกอย่าง จริงหรือไม่

ตอบ: คนต่างด้าวไม่สามารถซื้อบัตร UC ได้ เนื่องจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถใช้ได้เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น

ตัวอย่างโพสต์เฟซบุ๊กที่อาจสร้างความรู้สึกบาดหมางระหว่างคนไทยกับคนเมียนมา หลังจากมีการแชร์โพสต์ของเพจ Drama-addict อย่างกว้างขวาง

เปิดตัวเลขคนเมียนมาฝากครรภ์-คลอดบุตรในไทย

โคแฟคตรวจสอบฐานข้อมูลการใช้บริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567) ในพื้นที่ทั้ง 13 เขตบริการสุขภาพ ได้ข้อมูลดังนี้

  • ประชากรต่างด้าว (รวมทุกสัญชาติ) ที่เข้ารับบริการฝากครรภ์  237,976 ครั้ง
  • ประชากรต่างด้าว (สัญชาติเมียนมา) รับบริการฝากครรภ์ 148,391 ครั้ง
    • ส่วนใหญ่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 (ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) คือ 47,453 ครั้ง
    • รองลงมาคือเขตสุขภาพที่ 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน) จำนวน 20,442 ครั้ง
  • ประชากรต่างด้าว (รวมทุกสัญชาติ) รับบริการหลังคลอด 16,702 ครั้ง
  • ประชากรต่างด้าว (สัญชาติเมียนมา) รับบริการหลังคลอด 9,933 ครั้ง
    • อันดับหนึ่ง เขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 3,182 ครั้ง
    • อันดับสอง เขตสุขภาพที่ 11 (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ภูเก็ต)  2,068 ครั้ง
    • อันดับสาม เขตสุขภาพที่ 2 (พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย) 1,358 ครั้ง

ข้อสรุปโคแฟค

โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบการให้บริการสาธารณสุขและการบริหารจัดการคนต่างด้าว/แรงงานข้ามชาติในไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและสะสมมานาน โดยขาดคำชี้แจงหรือคำอธิบายจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เนื้อหาในโพสต์ดังกล่าวจึงอาจสร้างความเข้าใจผิดและความสับสนเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของคนต่างด้าวในไทย โดยเฉพาะชาวเมียนมา อีกทั้งโพสต์นี้ยังถูกแชร์ไปในลักษณะที่ปลุกปั่นความไม่พอใจต่อชาวเมียนมา ทุกฝ่ายจึงควรระมัดระวังในการแชร์โพสต์นี้ในทางที่จะสร้างความเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน และควรมุ่งประเด็นการถกเถียงในเรื่องของปัญหาการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขของไทยมากกว่าการปลุกปั่นความไม่พอใจชาวเมียนมา

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

กินยาไมเกรนพร้อมกับยาต้านเอชไอวี อาจเสียชีวิต?

เราควรกินยาต้านเอชไอวีและ PrEP/PEP พร้อมกับยาไมเกรนได้หรือไม่?

ก่อนหน้านี้อาจจะมีข่าวที่ทำให้ประชาชนหลายท่านเกิดความไม่สบายใจและกังวล เมื่อมีข่าวออกมาเกี่ยวกับการทานยาต้านเอชไอวี ทั้งชนิดเพื่อรักษาเอชไอวี และชนิดที่เป็นยาต้านฉุกเฉิน (PEP – Post-Exposure Prophylaxis) และหลังจากนั้นก็ได้ทานยาไมเกรนบางชนิด ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงที่ขา หรือบางรายก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตหลังจากนั้นทันที แล้วมันจริงหรือไม่ที่ไม่ควรทานยาไมเกรนบางชนิดในขณะที่ทานยาต้านเอชไอวี? บทความนี้มีคำตอบมาให้ติดตาม

สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ได้ทำการเก็บข้อมูลและรวบรวมสถานการณ์การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาซึ่งก่อให้เกิดอันตรายขั้นรุนแรง ระหว่างยาต้านไวรัสเอชไอวี กลุ่ม Protease Inhibitor กับยากลุ่ม ergotamine ซึ่งพบ 2 เคสแรกที่มีการรายงานขึ้น ได้แก่

กรณีที่ 1 : ผู้ช่วยทันตแพทย์ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี แต่เกิดเหตุโดนเข็มตำ ทำให้ต้องทานยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (PEP) สูตร AZT/3TX/lopinavir/r โดยหลังได้รับประทานยาก็มีอาการปวดศีรษะ จึงได้ไปซื้อยารักษาอาการไมเกรนสูตร ergotamine และ caffeine และได้รับประทานไปหนึ่งเม็ด ต่อมามีอาการปลายมือปลายเท้าเขียว เย็นซีด เพลีย หน้ามืด ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา แพทย์วินิจฉัยพบเกิดปลายอวัยวะขาดเลือดจนมีเนื้อตาย และต้องถูกตัดเท้าสองข้างในที่สุด

กรณีที่ 2 : ผู้ติดเชื้อเอชไอวี รับประทานยาต้านไวรัสสูตร lopinavir/r และได้มาโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดโดยให้ยาชาทางไขสันหลัง หลังจากการผ่าตัดคนไข้เกิดอาการปวดศีรษะ แพทย์ได้จ่ายยาหลายชนิดแต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จึงสั่งยา Cafergot® ให้ ต่อมาคนไข้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง เพลีย หน้ามืด ความดันโลหิตลดลง ปลายแขนขาเขียวคล้ำ และเสียชีวิตในที่สุด

จากทั้ง 2 เคสนี้ทำให้สมาคมโรดเอดส์แห่งประเทศไทย และบุคลากรทางการแพทย์ได้ดำเนินการวิเคราะห์และสั่งห้ามให้ยาชนิดนี้ร่วมกับยาต้านเอชไอวีเด็ดขาด ซึ่งการรับประทานยาไมเกรนร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีบางชนิดอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะยาต้านไวรัสกลุ่มโปรตีเอสอินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitors) เช่น Lopinavir/Ritonavir เมื่อใช้ร่วมกับยาไมเกรนกลุ่มเออร์กอตามีน (Ergotamine) ปฏิกิริยานี้อาจทำให้ระดับยาเออร์กอตามีนในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหดตัวรุนแรง (Ergotism) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ดังนั้น หากคุณกำลังรับประทานยาต้านเอชไอวีและต้องการใช้ยาไมเกรน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ยาร่วมกันปลอดภัยและไม่มีปฏิกิริยาที่เป็นอันตราย ที่สำคัญที่สุดคืออย่าซื้อยาทานเองเด็ดขาด รวมไปถึงหากต้องไปพบแพทย์ให้แจ้งโรคประจำตัวและยาที่ทานปัจจุบัน เพื่อแพทย์และเภสัชกรสามารถจ่ายยาที่ไม่ขัดกับยาที่ทานอยู่ จนส่งผลเสีย หรือทำให้เกิดการเสียชีวิตได้นั่นเอง


แหล่งอ้างอิง

  • สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย

กินยาต้านแล้ว ต้องเว้นระยะ 2 ชั่วโมงเพื่อกินนม?

ผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี จะสามารถทานยาพร้อมนม หรือแอลกอฮอล์ได้หรือไม่?

ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหลายคนอาจจะกังวลว่าเราสามารถดื่มนมหรืแอลกอฮอล์พร้อมกับยาต้านเอชไอวีได้หรือไม่? เนื่องจากหลายคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการทานยาไม่เหมือนกัน บางคนมีหลักการที่จะเว้นการทานยากับนมไว้ บางคนก็คิดว่าอาจจะทานร่วมกันได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าในทางการแพทย์ไม่สามารถทานร่วมกันได้ แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้น บทความนี้มีคำตอบ

สำหรับการรับประทานยาต้านเอชไอวีควรพิจารณาเรื่องอาหารและยาที่รับประทานร่วมกัน ดังนี้

  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม : ยาต้านเอชไอวีบางชนิดอาจมีปฏิกิริยากับแคลเซียมในนม ทำให้การดูดซึมยาลดลง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกับนม หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • แอลกอฮอล์ : การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาต้านเอชไอวีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงต่อตับและไต ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์

และเพื่อความปลอดภัย หากต้องทานยาหรืออาหารเสริมอย่างอื่นร่วมด้วย รวมถึงยาประจำตัวของตนเอง ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาหารและยาที่รับประทานร่วมกับยาต้านเอชไอวีเสมอ เนื่องจากยาบางตัวมีปฏิกิริยาตอบสนองกับยาต้านเอชไอวี และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่วมด้วย

นอกจากนี้ การรับประทานยาต้านเอชไอวีอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคและป้องกันการดื้อยา ซึ่งข้อควรระวังในการรับประทานยาต้านเอชไอวีมีดังนี้

  • รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา : การรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดช่วยรักษาระดับยาในเลือดให้คงที่และป้องกันการดื้อยา 
  • หลีกเลี่ยงการหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง : หากมีผลข้างเคียงหรือปัญหาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง 
  • ระวังปฏิกิริยากับยาอื่น : ยาต้านเอชไอวีอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ เช่น ยาลดกรด วิตามิน หรือสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสริม 
  • ติดตามผลข้างเคียง : สังเกตอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผื่น หรืออาการอื่น ๆ หากพบควรแจ้งแพทย์ทันที
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ: เข้ารับการตรวจเลือดและประเมินการทำงานของตับและไตตามที่แพทย์นัดหมาย เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของยา 

แน่นอนว่าการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดี แข็งแรงเฉกเช่นคนที่ไม่มีโรค รวมไปถึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างยืนยาวอีกด้วย


แหล่งอ้างอิง

  • หน่วยคลังข้อมูลยา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มูลนิธิเพื่อรัก

มีเชื้อเอชไอวีไม่ควรทำอาหาร?

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรทำอาหารหรือไม่ควรสมัครงานร้านอาหาร

เพราะเอชไอวีจะติดได้จากอาหารที่ทำจากผู้ติดเชื้อจริงเหรอ?

สิ่งหนึ่งที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจกับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี คือการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยเฉพาะการสมัครงานหรือการเข้าทำงานในร้านอาหาร เป็นเชฟ หรือเป็นผู้ปรุงอาหาร เพราะยังมีโรงแรมหรือสถานบริการบางแห่งมีนโยบายไม่รับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานในสถานประกอบการ เพราะยังมีความคิดว่าเอชไอวีสามารถติดต่อผ่านการทำอาหารหรือปรุงอาหารได้ เรื่องนี้จริงหรือไม่ เรามีคำตอบให้ในบทความนี้

อันที่จริงแล้ว เชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการทำอาหารหรือการรับประทานอาหารสด รวมไปถึงการสัมผัสอาหารหรือการปรุงอาหารโดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ซึ่งเชื้อเอชไอวีสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอด หรือแม้แต่น้ำนมแม่

นอกเหนือจากนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวียังสามารถปรุงอาหารและทำงานในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย ดังนั้น การทำอาหารหรือเตรียมอาหารโดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และยังปลอดภัยหากปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยทั่วไปในการเตรียมอาหารเฉกเช่นคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี เช่น ล้างมือก่อนและหลังการปรุงอาหาร ใช้อุปกรณ์ที่สะอาด และปรุงอาหารให้สุก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอื่น ๆ

ดังนั้น การทำอาหารหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยทั่วไปในการเตรียมและรับประทานอาหาร และผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรดูแลสุขภาพของตนเอง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุก เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีสถานที่ทำงานหลายแห่ง ใช้เกณฑ์การตรวจหาเชื้อเอชไอวีและไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานประเภทโรงแรมและร้านอาหารที่มักจะมีทัศนคติในด้านลบ เช่น กลัวเอชไอวีจะติดผ่านการทำงาน หรือการที่อาจจะต้องลาหยุดบ่อยๆ เนื่องจากไม่สบาย ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อไอวีไม่จำเป็นต้องลาบ่อยๆ อีกแล้ว หากมีร่างกายที่แข็งแรง และเชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้ติดกันง่ายๆ อีกแล้วด้วย ดังนั้นสถานที่ทำงานก็ควรให้โอกาสรับผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีเข้าทำงาน เพื่อให้เขาสามารถพิสูจน์ผลงานผ่านความสามารถและความมุ่งมานะ มากกว่าจะตัดสินไม่รับเพียงเพราะกลัวติดเชื้อเอชไอวี


แหล่งอ้างอิง

  • ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 14 ธันวาคม 2567

วิธีเช็กว่าตับยังแข็งแรง สังเกตได้จากเล็บมือ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/gimmm49bcguf


ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถสอบถามรายละเอียดการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์ผ่านเพจ กอ รมน ISOC News…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2ld54zb6k96dt


ห้ามกินอาหารจากไมโครเวฟเด็ดขาด…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2bbp6066qu0rp


เทน้ำร้อนใส่แอปเปิ้ลสารเคมีจะโชว์ทันที ล้วนเป็นสีสังเคราะห์…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/y0llyk2jrolaท


นมผสมฟลูออไรด์อันตรายต่อเด็ก…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2awlbanwao4yc


 เตือนภาคใต้เฝ้าระวังแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก จนถึงวันที่ 17 ธ.ค. 67

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3se3snaws3cni


เปิดช่องทางให้ตรวจสอบสิทธิ์ช่วยเหลือชาวนา ผ่านเว็บไซต์ www.efarmer.doae.go.th

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2k77rkef2bx3x


ธอส. แจกเงินให้กับลูกค้า คนละ 1,000 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ปี 68 ตามเงื่อนไขที่กำหนด

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1f3dbohemqlqv


ตรวจพบน้ำยาดองศพในบุหรี่ไฟฟ้า

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1qffy5m7nbee6


6 สัญญาณเตือนร่างกายกำลังขาดวิตามินซี

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2fa8fqjnocoum


ประกาศเตือนให้แรงงานต่างด้าว และกลุ่ม MOU ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องก่อนหมดอายุทำงานในวันที่ 13 ก.พ. 68

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2s0nsm4auiejn


HIV = AIDS?

มีเชื้อเอชไอวี เท่ากับเป็นโรคเอดส์จริงเหรอ?

ความกังวลของผู้ที่กำลังมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากการกล้าไปตรวจแล้วก็คงจะเป็นทัศนคติและมุมมองของตนเอง รวมถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า มีเชื้อเอชไอวีก็เท่ากับเป็นโรคเอดส์ไปแล้ว แต่แท้ที่จริงแล้ว เอชไอวี และ เอดส์ มีความแตกต่างกันมากพอสมควร ซึ่งบทความนี้จะนำท่านมาเรียนรู้กันว่าความแตกต่างของเอชไอวีกับเอดส์เป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เอชไอวี (HIV)  และ เอดส์ (AIDS) มีความแตกต่างกันมากพอสมควร โดย เอชไอวี (HIV) นั้นย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อเอชไอวี ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง

ในขณะที่ เอดส์ (AIDS) ซึ่งย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เมื่อระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งหากมีการติดเชื้อเอชไอวีขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเอดส์ทันที ถ้าหากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดีได้ 

สำหรับเอดส์นั้น ปัจจัยที่บ่งชี้ว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะเอดส์ได้นั้น สามารถพิจารณาได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หากลดลงต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แสดงว่าระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง และการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยนั้น มีหลักๆ ได้แก่ วัณโรค ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอด ทำให้มีอาการไอเรื้อรังและหายใจลำบาก, ปอดอักเสบจากเชื้อรา โดยเชื้อราทำให้ปอดอักเสบและบวม อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต, เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส โดยเป็นการติดเชื้อราที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ, การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ดวงตาและอาจนำไปสู่การตาบอด และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดจากการเกิดเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวม

ซึ่งเอดส์ (AIDS) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยถูกทำลายอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการวินิจฉัยและเริ่มการรักษาแต่เนิ่น ๆ สามารถชะลอการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและการติดตามสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นและมีอายุเทียบเท่ากับคนที่ไม่มีโรคได้เลยทีเดียว


แหล่งอ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย (คลินิกนิรนาม)
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ