มีเชื้อเอชไอวี มีลูกไม่ได้?

จริงหรือไม่? มีเชื้อเอชไอวีแล้วจะไม่สามารถมีบุตรได้ หากมีบุตรจะติดเชื้อเอชไอวีด้วย?

หากพูดถึงเรื่องเอชไอวีแล้ว ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อหลายคนก็คงคิดว่าหากมีเชื้อแล้วก็ไม่ควรมีลูก เพราะหากมีลูกก็อาจจะติดเชื้อเอชไอวีตามไปด้วย และอาจจะต้องเจอปัญหาเหมือนกับตนเอง และทำให้ใครหลายๆ คนไม่มั่นใจในการที่จะเริ่มวางแผนครอบครัวแต่อย่างไร แต่เอาเข้าจริงแล้วผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจะสามารถมีลูกโดยที่ลูกไม่ติดเชื้อเอชไอวีจากเราได้จริงเหรอ?

ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถมีลูกได้อย่างปลอดภัย โดยมีโอกาสที่ลูกจะไม่ติดเชื้อเอชไอวี หากมีการวางแผนและรับการรักษาอย่างเหมาะสม การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ และการฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก 

โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 10.3 ในปี 2546 เหลือเพียงร้อยละ 1.68 ในปี 2560 ซึ่งประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ โดยสามารถลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้ และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

แล้วถ้าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจะมีลูกควรทำอย่างไรบ้าง? ซึ่งจากคำแนะนำของแพทย์นั้นได้ให้ข้อมูลไว้ดังต่อไปนี้

  • ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ: เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านเอชไอวีและสูตินรีเวช เพื่อประเมินสุขภาพและวางแผนการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
  • รับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ: การรับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องช่วยลดปริมาณไวรัสในเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อไปยังบุตร 
  • ตรวจสุขภาพประจำ: ตรวจวัดปริมาณไวรัส (Viral Load) และระดับเม็ดเลือดขาว CD4 อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสถานะภูมิคุ้มกันและความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อ 
  • วางแผนการตั้งครรภ์: เลือกวิธีการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการรับประทานยา การตรวจสุขภาพ และการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์

การเตรียมตัวและปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังบุตร และเพิ่มโอกาสในการมีบุตรที่สุขภาพแข็งแรง แต่แน่นอนว่าต้องเริ่มต้นจากการดูแลตัวเองและคู่ให้มีสุขภาพทั้งกายและใจที่สมบูรณ์ รวมถึงการมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถวางแผนครอบครัวและมีบุตรอย่างปลอดภัยได้แล้ว


แหล่งอ้างอิง

  • กระทรวงสาธารณสุข
  • องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
  • โรงพยาบาลเวชธานี
  • ภาควิชาสูติ-นรีเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เป็นเกย์ = เสี่ยงเอชไอวี?

จริงหรือที่ LGBTIQ+ เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าเพศอื่น?

หลายคนอาจจะมองว่าเอชไอวีนั้นมีแค่กลุ่ม LGBTIQ+ เท่านั้นที่มีโอกาสติดเชื้อได้ ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ไปตรวจและเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ทันท่วงที และนั่นทำให้โอกาสในการค้นพบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวียิ่งน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจตามไปด้วยเช่นกัน แต่คำถามที่ตามมาคือแล้วเพศไหนกันที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดล่ะ?

จากข้อมูลของ ศ.พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์จากสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจว่า คู่นอนที่นิยมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักนั้นนอกจากคู่ชาย-ชายแล้ว ยังมีคู่ชาย-หญิงที่ปัจจุบันก็นิยมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอีกด้วย ฉะนั้น ตัวเลขของฝ่ายรับไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีมากถึง 138:10,000 ครั้ง ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายมีความเสี่ยงเพียง 11:10,000 ครั้ง เท่านั้น

สอดคล้องกับผลงานวิจัยของคุณกิตติ กรุงไกรเพชร จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ศึกษากรณีพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของนิสิตระดับปริญญาตรี กลุ่มคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ประเทศไทย เมื่อปี 2554 พบว่า ในกลุ่มนิสิตชายที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิง มีประมาณ 3% ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับเพศตรงข้าม อย่างไรก็ดี ข้อมูลสถิติที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับอัตราการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักระหว่างชายและหญิงในประเทศไทยยังมีจำกัดอยู่ในขณะนี้

แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและเป็นฝ่ายรับ ย่อมส่งผลทำให้ติดเชื้อเอชไอวีมากกว่า เพราะนั่นเกิดจากทวารหนักเป็นบริเวณที่บอบบาง มีเส้นเลือดอยู่จำนวนมาก และสามารถเกิดแผลได้ง่าย ทำให้เชื้อเอชไอวีสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลเหล่านี้ได้

จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สามารถชี้ชัดได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ทั้งนั้น หากคุณเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ควรใส่ใจ และสามารถฟันธงได้ว่า LGBTIQ+ ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีอย่างแน่นอน ซึ่งการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การใช้ยาเพร็พ (PrEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ก็เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกัน รวมถึงการไปตรวจเอชไอวีอย่าสม่ำเสมอก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน


แหล่งอ้างอิง

  • มูลนิธิเพื่อรัก
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

กินข้าวร่วมกัน ติดเอชไอวี?

ไขมายาคติที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี และการอยู่ร่วมกับเอชไอวี

ถ้าหากพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง “เอชไอวี” แล้ว ภาพจำในอดีตของใครหลายคนคงมองไปในแง่ลบ เพราะสมัยก่อนสื่อมวลชน รัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ มักจะมุ่งเน้นการนำเสนอภาพจำที่น่ากลัวและทำให้คนหวาดกลัว เช่น การนำเสนอภาพแผลพุพองในกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะโรคแทรกซ้อน หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะเอดส์” จนส่งผลทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีในช่วงหลังๆ นั้นไม่สามารถใช้ชีวิตเฉกเช่นคนอื่นๆ ได้ เพราะสังคมมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับเอชไอวีว่าจะติดทางการอยู่ร่วมกัน ใช้สิ่งของเดียวกัน หรือแม้กระทั่งทำงานร่วมกันไม่ได้

อันที่จริงแล้ว เอชไอวี คือเชื้อไวรัสที่จะติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น ซึ่งการติดต่อเอชไอวีในปัจจุบันจะติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทั้งจากการใช้สารเสพติดและการทำหัตถการทางการแพทย์ที่ไม่ปลอดภัย มีการวนใช้เข็มฉีดยาเก่า และจากช่องทางแม่สู่ลูก

โดยปกติแล้วเอชไอวีไม่ได้ติดจากการสัมผัสภายนอก เช่น การใช้สิ่งของร่วมกัน หรือการใช้ส้วมสาธารณะร่วมกัน เป็นต้น  เนื่องจากเอชไอวีนั้นใช้ลักษณะการติดต่อที่ปราศจากอากาศ โดยจำเป็นต้องมีช่องทางเข้าของเชื้อ เช่น การเกิดบาดแผลที่อวัยวะเพศ ช่องคลอด หรือบริเวณทวารหนัก และมีสารคัดหลั่งที่ออกมาขณะมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทำให้ติดเชื้อในที่สุด

อย่างไรก็ดี เอชไอวีจะไม่เจริญเติบโตทางอากาศ เนื่องจากตัวเชื้อเอชไอวีเมื่อสัมผัสกับอากาศแล้วจะทำให้ตัวเชื้อนั้นตายลง จึงไม่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสภายนอกแต่อย่างใด ฉะนั้นการรับประทานอาหารร่วมกัน การกอด หรือแม้กระทั่งการทำงานร่วมกัน ไม่ได้ส่งผลให้มีการติดเชื้อเอชไอวีแต่อย่างใด กลับกันหากคุณมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน คุณย่อมเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้เช่นกัน

ฉะนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุด คือการป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงคำนึงถึงความเหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของตนเอง เช่น การรับประทาน PrEP หรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี การใส่ถุงยางอนามัย และการตรวจหาเชื้อเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง ซึ่งรัฐจัดให้มีการตรวจฟรี ณ โรงพยาบาลและสถานบริการใกล้บ้านของท่านนั่นเอง


แหล่งอ้างอิง

  • มูลนิธิเพื่อรัก
  • ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย (คลินิกนิรนาม)
  • สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย

เพิ่มภูมิ – เอชไอวีสงบ : อาหารเสริม-เสริมอาหาร แล้วเสริม CD4 ได้ด้วยจริงเหรอ?

หลายครั้งที่เรามักจะพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณในการ “สร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่ม CD4 ทำให้เอชไอวีสงบลง” อยู่บ่อยครั้ง ทั้งบนหน้าจอโทรทัศน์ ตามสื่อออนไลน์ หรือแม้กระทั่งในระบบวิทยุก็ตามที ทำให้ใครหลายคนหลงเชื่อและซื้อสินค้าเหล่านั้นไปรับประทานกันเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังว่าจะสามารถทำให้เอชไอวีสงบ และไม่ต้องทานยาต้านไปตลอดชีวิต ซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนถึงขนาดเลิกการรักษาแบบปกติ แล้วไปพึ่งพาการรักษาด้วยอาหารเสริมเหล่านี้แทนอีกด้วย

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ให้ความหมายของคำว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ว่าหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งสารสังเคราะห์ที่เลียนแบบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่อาหารโดยตรง แต่ใช้บริโภคเพื่อเสริมสร้างสุขภาพหรือเสริมความงาม เป็นต้น ส่วนคำว่า อาหารเสริม นั้น หมายถึง อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก คนไข้ คนชรา ที่รับประทานอาหารไม่ได้ เป็นอาหารที่ทำจากธัญพืช จากเนื้อสัตว์ จากผัก เป็นหลัก

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหารเสริม ได้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ซึ่งส่งผลเสียทั้งในเชิงความรู้ความเข้าใจ และส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ซึ่งผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหลายรายที่หลงเชื่อทานอาหารเสริมเข้าไปเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ส่งผลกระทบต่อตับและไต จนต้องมีการรักษากันเลยทีเดียว และยังส่งผลเสียต่อเนื่องในกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ทำการลดปริมาณหรือไม่รับประทานยาต้านนั้น ก็ยังส่งผลทำให้เกิดการดื้อยาอีกด้วย

ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีว่าในปัจจุบันการรักษาด้วยการทานยาต้านทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับการดูแลสุขภาพกายและใจ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะยับยั้งปริมาณไวรัสในร่างกายได้แล้ว และเมื่อปริมาณไวรัสมีจำนวนน้อยจนไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้ CD4 (เม็ดเลือดขาว) ก็จะมีปริมาณกลับสู่ภาวะปกติ และจะส่งผลให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพที่แข็งแรงเฉกเช่นผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีนั่นเอง

นอกเหนือจากนั้น หากรักษาจนไม่สามารถตรวจพบปริมาณไวรัสในเลือดแล้ว ก็จะสามารถเข้าสู่สถานะ ไม่พบเชื้อ = ไม่แพร่เชื้อ หรือ Undetectable = Untransmittable (U=U) นั่นเอง ซึ่งการทานยาต้านเชื้ออย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องก็เพีงพอแล้ว ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือเสริมอาหารที่มีการอวดอ้างนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดให้การรับรองผลใดๆ ทั้งสิ้น รวมไปถึงยังไม่ผ่านงานวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากลอีกด้วย จึงควรระมัดระวังและไม่หลงเชื่อเป็นอันเด็ดขาด


แหล่งอ้างอิง

  • รายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” โดย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (ออกอากาศเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย)
  • ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย (คลินิกนิรนาม)
  • สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2567

ห้ามกินลูกพลับต่อด้วยนมเปรี้ยวและกล้วยหอม จะทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2l6i1ldo1st9h


อาการง่วงนอน ท้องอืดทุกครั้งหลังกินข้าวมักพบในผู้ที่เลือดไม่สมบูรณ์…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3jpk4mayoq1ya


ลมพิษเกิดจากการบูดเน่าของอาหารในลำไส้ ในช่วงเวลาอากาศเปลี่ยน ทำให้ร่างกายเกิดความแปรปรวน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2zo4hko2eyimt


ใบหน้าบวม ปลายจมูกแดง เป็นสัญญาณเตือนว่าหัวใจกำลังทำงานหนักขึ้น…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/i07175uugldy


 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/14zyhu0y3b3m8


 ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เริ่ม ก.ย.68 ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/30fbtvomfpukq


 วางถังแก๊สหุงต้ม LPG นอนกับพื้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1pc9hntjpo62o


 สปส. เล็งปรับเงินประกันสังคมจ่ายเพิ่มสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2sxq5xhhz4wge


 ประกาศแล้ว กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับ 22 ม.ค. 68

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/14t34eg5tbbga


 ฉีดวัคซีนเอชพีวี 9 สายพันธุ์ ให้เด็กหญิง ป.5 ฟรี เริ่มเดือน ธ.ค. 67

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3fnuo3g1imrv2


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567

รับสมัครคนงานไปทำงานประเทศออสเตรเลีย ผ่านเพจ Job Peachy…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3pl94ud6zgtc9


แจกเงินดิจิทัล 10,000 รอบที่ 2 ในวันที่ 21 พ.ย67 นี้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/20sg58htk4b8g


น้ำมะนาวช่วยรักษา 3 โรคร้ายได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/236zssw2u7ts6


กฟภ. ส่ง SMS ให้ตรวจสอบสิทธิ์การรับเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1yaaz2rzm1o4u


 บริการสายด่วนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 1669 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/mjxax85jv3wo


 ผู้ป่วยโรคไตห้ามรับประทานผักโขม เนื่องจากมีกรดออกซาลิกในปริมาณสูง

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2jcny6eh2lire


 หอมแดงมีส่วนช่วยลดอาการหวัด

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/uflf3ddlesgd


ใบน้อยหน่าสามารถช่วยกำจัดเหาได้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/19qjxknmkl6vvy


กรุงโซลกำลังเผชิญกับหิมะที่ตกหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ117 ปี

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1nwud0r09kh0en


 กินยาคลายกล้ามเนื้อบ่อยอันตราย

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/n5ttvnvt2sz8


 ดมยาดมบ่อยเสี่ยงเป็นโพรงจมูกอักเสบ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/ajy9ti2paxoc


 นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจนำไปสู่ผลของการทำงานของสมองผิดไป…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2s76wnd24fe4dh


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567

ผงชูรสสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางเพศได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3u6b9nsk7ohacn


ไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย ผ่านเพจ จัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ ทั่วไทย…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/wwme2l3w7zh6


ลักษณะของเมฆควันสีขาวเป็นเมฆเตือนภัย จะมีการเกิดเหตุคลังแก๊ส คลังน้ำมันระเบิดครั้งใหญ่…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1xluyc7hhtqs5


หากเห็นรูปภาพเป็นแม่น้ำลำคลอง แสดงว่าสายตาไม่ดี สายตาเสีย สายตาพร่ามัว…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1tkdkmm3he6y7#_=_


ประกันสังคมให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD)

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3d27ejwfwz1xs


รฟม. เปิดให้บริการลานจอดรถรายเดือนที่สถานีพระราม 9 และอีก 4 แห่ง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1qgapdf4d468t#_=_


บทบาทของสื่อ ความรุนแรงออนไลน์  ต่อนักการเมืองหญิง…ชวนสำรวจ

Editors’ Picks

บทบาทของสื่อ ความรุนแรงออนไลน์  ต่อนักการเมืองหญิง…ชวนสำรวจ

  • สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงผู้นำทางการเมืองในพื้นที่ออนไลน์ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านกัน…
  • ความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์และพื้นที่สื่อ : ผลกระทบต่อนักการเมืองหญิง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิ
  • บทบาทของสื่อในการร่วมสร้างความเท่าเทียมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง

รายงานพิเศษ (ตอนที่ 1) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(1/3)

By : Zhang Taehun

เกาะกูดเป็นของใคร?

ภาพที่ 1 : ตัวอย่างภาพที่แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ แสดงความกังวลรัฐบาลไทยจะนำเรื่องเกาะกูดไปเจรจากับกัมพูชา

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา หนึ่งในประเด็นการเมืองที่ร้อนแรงและส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย คือเรื่อง การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทางพลังงาน” โดยรายงานข่าว “Thailand eyes $300bn gas field frozen by Cambodia dispute” ของ นสพ. Bangkok Post วันที่ 10 ต.ค. 2567 ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2567 สมัยอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ทั้ง 2 ชาติ ได้พูดคุยกันว่า จะหารือกันอย่างไรถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตรอย่างยุติธรรม 

ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตและน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรล แต่การเจรจานั้นไม่ง่ายและหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2544 เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชามีความขัดแย้งกันเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดน (หรือเส้นไหล่ทวีป) ทางทะเล และในปีนั้น ทั้ง 2 ชาติได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือMemorandum of Understanding (MOU) ว่าจะต้องหารือเรื่องสิทธิเหนือดินแดนพร้อม ๆ กับการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน กระทั่ง เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 และ แพทองธาร ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งแทน จึงเริ่มมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะเริ่มเจรจาอย่างจริงจัง เนื่องจากไทยมีแรงกดดันด้านความต้องการแหล่งพลังงานมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทย ความขัดแย้งทางการเมืองแบบสุดโต่งที่ยาวนานมาร่วมสองทศวรรษ ยังไม่ได้รับการแก้ไขตามวิถีทางประชาธิปไตย ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 ทำให้กระแสกดดันการยกเลิก MOU44 ถูกกระพือขึ้นมาอีก โดยฝ่ายมีความเห็นต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลไทยในปี 2544 ซึ่งมีพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคดั้งเดิมของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน  เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไปรับรองบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) กับรัฐบาลกัมพูชา ทั้งที่ยังมีความขัดแย้งกันเรื่องเส้นอาณาเขตทางทะเล เท่ากับฝ่ายไทยไปยอมรับการลากเส้นของกัมพูชาหรือไม่? จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิก MOU ปี 2544 เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาหากในอนาคตเรื่องนี้กลายเป็นข้อพิพาทที่ต้องนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกหรือบ้างก็แชร์ข้อมูลกันตามเพจการเมือง ความมั่นคง ในสื่อสังคมออนไลน์และการตีข่าวของสื่อมวลชนว่า ด้วย MOU ปี 2544 ไทยอาจต้องเสียเกาะกูด จ.ตราด ไปให้กัมพูชา ทั้งนี้ในรายงานข่าวของ Bangkok Post ข้างต้น ได้อ้างความเห็นของ สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ที่ว่า การประนีประนอมใด ๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของไทย อาจกลายเป็นชนวนเหตุที่ประชาชนจะออกมาต่อต้านรัฐบาลได้

ภาพที่ 2 : เกาะกูด จ.ตราด (ขอบคุณภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย-ททท.)
เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 และแผนที่แนบเรื่องปักปันเขตแดน  

บทความ ชมทะเลสวยที่ เกาะกูด” เกาะสุดท้ายแห่งน่านน้ำตะวันออกของไทย จังหวัดตราด โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า เกาะกูด สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต จุดพักผ่อนหย่อนใจของเกาะขนาดใหญ่อันดับสองในจังหวัดตราด ภายในเกาะประกอบไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ มีหาดทรายสีขาวที่เนียนละเอียด น้ำทะเลใสสีมรกต จนได้รับการขนานนามว่า อันดามันแห่งทะเลตะวันออก  

ในประเด็นประเทศใดถืออำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด ฝ่ายไทยค่อนข้างจะตรงกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่เห็นต่างว่า เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอนอาทิ ในวันที่ 30 ต.ค. 2567 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ในซีกฝ่ายค้าน เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยกเลิก MOU ปี 2544 โดย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ อธิบายว่า ข้อความในเอกสาร MOU44 ประกอบแผนที่แนบ แสดงว่า 2 ประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อให้ทำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม 

แต่ขอบพื้นที่ดังกล่าวด้านทิศตะวันตก ใช้เส้นเขตแดนในทะเลที่ประกาศ โดยกัมพูชาในปี 2515โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่าขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU44 ซึ่งขัดกับสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU44 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย

หากกัมพูชายอมรับว่าไทยมีเอกสิทธิ์ในเกาะกูดอย่างสมบูรณ์แต่ผู้เดียวจริง กัมพูชาจะต้องยอมรับไทยลากเส้นห่างจากชายฝั่งของเกาะกูด 200 ไมล์ทะเลตามกติกาสากล ไม่ใช่ลากเส้นพาดผ่านเกาะกูด ซึ่งการที่ใน MOU44 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิ์ในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน” ธีระชัย กล่าว

โดยก่อนหน้านั้น ในวันที่ 28 ต.ค. 2567 ธีระชัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตการลากเส้นของฝ่ายกัมพูชา พร้อมแนบภาพประกอบไว้ 4 ภาพ ดังนี้ 1.เป็นเอกสารที่แสดงเส้นแบ่งเขตในทะเลประกาศโดยกัมพูชาในปี 2515 ที่ปลายลูกศรสีแดง กัมพูชาขีดเส้นนี้ผ่านกลางเกาะกูด ซึ่งอยู่ในสี่เหลี่ยมสีแดง 2.เป็นส่วนขยาย โดยเกาะกูดอยู่ในวงกลม เส้นของกัมพูชาผ่านกลางอย่างชัดเจน 3.เป็นแผนที่แนบท้าย MOU44 ตำแหน่งเกาะกูดอยู่ในสี่เหลี่ยมสีแดง และ 4.ปรากฏว่า ในแผนที่นี้ เส้นเขตแดนที่ประกาศโดยกัมพูชา ไม่ได้แสดงเป็นเส้นต่อเนื่อง แต่กลับเว้นช่องเอาไว้ ตรงตำแหน่งเกาะกูด

ซึ่ง ธีระชัย ระบุว่า วิธีการนี้ ย่อมทำให้ประชาชนที่ดูแผนที่แนบท้าย MOU44 มีข้อสงสัย กระทรวงต่างประเทศควรชี้แจง ทำแผนที่เว้นช่องตรงตำแหน่งเกาะกูด ด้วยเหตุผลใด? เป็นการเว้นช่อง เพื่อจะทำให้เข้าใจไขว้เขวว่า กัมพูชาไม่ได้ประสงค์จะขอแบ่งพื้นที่บนเกาะกูด เพียงแต่ประสงค์จะขอสิทธิในทะเล ใช่หรือไม่? จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากจะทำแผนที่โดยกัมพูชายอมรับเด็ดขาดว่าเกาะกูดเป็นของไทย กรณีเช่นนี้ เส้นแบ่งเขตในทะเลของกัมพูชา ก็ต้องอ้อมเกาะกูด ไม่ใช่เพียงไม่กี่ไมล์ทะเล กรณีเช่นนี้ จะต้องอ้อมเกาะกูด เป็นรัศมี 200 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่งทิศใต้ของเกาะกูด ส่วนการที่ MOU44 แสดงแนวเส้นแบ่งเขตของกัมพูชา ผ่ากลางเกาะกูด นั้น ย่อมหมายความว่า ทั้งสองประเทศยอมรับว่า มีกรรมสิทธิ์ในเกาะกูดกันคนละครึ่ง ถ้าอย่างนี้ ไม่เรียกว่าเสียดินแดน จะเรียกว่าอะไร?

ภาพที่ 3 และ 4 : แผนที่ชายแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา ตามคำกล่าวอ้างของ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ

รายงานข่าว กต.ยัน “เกาะกูด” เป็นของไทย ไม่จำเป็นต้องยกเลิก MOU 44” โดยสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS วันที่ 4 พ.ย. 2567 สุพรรณวษา โชติกญาณ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเท ชี้แจงว่า ไทยได้ประกาศเขตไหล่ทวีปในปี 2516 เนื่องจากเห็นว่าการประเทศของกัมพูชาในปี 2515 เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเส้นผ่านเข้าไปในเกาะกูด จึงประกาศเขตไหล่ทวีปของไทย เป็นพระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีป เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 ระบุว่า สิทธิอธิปไตยซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของประเทศใกล้เคียงอันจะถือเป็นจุดเริ่มของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้น จะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน ดังนั้นในการประกาศของกัมพูชาและไทย มีพื้นที่ทับซ้อนกัน 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างมีขนาดใหญ่ หรือกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับกรณีพื้นที่ทับซ้อนของไทยกับมาเลเซีย โดยเป็นเส้นที่ครอบคลุมทะเลอาณาเขต EEZ และไหล่ทวีป

อย่างไรก็ตาม ไทย-กัมพูชา เริ่มเจรจาเรื่องพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2513 แต่เกิดปัญหาว่ากัมพูชาต้องการคุยเพียงการพัฒนาร่วมในเรื่องของทรัพยากร ขณะที่ไทยเห็นว่าเขตทางทะเลมีความสำคัญ รวมถึงความมั่นคง และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยยืนยันว่าต้องคุยประเด็นเหล่านี้ด้วย ซึ่งไทยได้ประกาศเส้นด้านใต้ลงมาระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง แสดงออกว่าไทยไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กัมพูชาประกาศ

โดยตามหลักสากลแล้ว เมื่อเกิดพื้นที่ทับซ้อนต้องเจรจากันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ สำหรับ MOU 2544 แบ่งเป็นพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการเจรจาแบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการเจรจาพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน สิ่งที่ดำเนินการประชาชนทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับในข้อตกลง และผลการเจรจาต้องผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภา และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ยืนยันว่า MOU 44 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด เพราะสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ระบุชัดเจน เกาะกูดเป็นของไทย เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ และยังใช้อำนาจอธิปไตยเกาะกูด 100%” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกล่าว

ทั้งนี้ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 มีชื่อเต็มว่า หนังสือสัญญระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 (ค.ศ.1907)” สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทพื้นที่ทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา จะอยู่ใน ข้อ 1 ที่ระบุว่า รัฐบาลสยามยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมียงเสียมราฐกับเมืองศรีโสภณให้แก่กรุงฝรั่งเศสตามกนดเขตแดน ดังว่าได้ในข้อ 1 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนซึ่งติดท้ายสัญญานี้ และใน ข้อ 2 ที่ระบุว่า รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราดกับทั้งเกาะหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม ตามกำหนดเขตแดนดังว่าไว้ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย

ภาพที่ 5 : หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 (ค.ศ.1907) 
หมายเหตุ : คำว่า “เขต” สมัยนั้นเขียนว่า “เขตร์”ส่วนคำว่า “และ” สมัยนั้นเขียนว่า “แล”

ยังมีรายงานข่าว เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ ของ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5 พ.ย. 2567 อ้างความเห็นของ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในขณะที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้เป็นผู้ลงนาม MOU ปี 2544 โดย สุรเกียรติ์ เคยเขียนบทความในจุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 เรื่อง พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ปัญหาและพัฒนาการ

โดยข้อเขียนของ สุรเกียรติ์ ระบุว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร เริ่มมีการเจรจาครั้งแรกเมื่อปี 2513 ที่กรุงพนมเปญ แต่ไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม จนกระทั่งปี 2533 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประสบความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย จึงพยายามใช้โมเดลนี้กับกัมพูชา แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากกัมพูชายังมีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อ สุรเกียรติ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ผลักดันให้มีการเจรจาอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544(หรือก็คือ MOU44 เกิดขึ้นในช่วงนี้)

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ สุรเกียรติ์ เน้นย้ำคือเรื่องเกาะกูด ก่อนหน้านี้กัมพูชาเคยอ้างสิทธิเหนือเกาะกูดกึ่งหนึ่ง แต่ในการเจรจาครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ยืนยันว่าจะยกเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าว และยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย โดยแผนผังที่แนบท้ายบันทึกความเข้าใจได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย การที่กัมพูชายอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดอย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญ ในการเจรจา ฝ่ายไทยยังพยายามผลักดันให้เส้นเขตแดนทางทะเลเป็นเส้นตรงไม่ผ่านเกาะกูด เพื่อให้อธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น รายงานข่าวของฐานเศรษฐกิจ ระบุ


(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 2) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67 (2/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report-2-3/

(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 3) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(3/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report-50673-3/