มองสังคมไทย “ผู้หญิง” ยังเผชิญความรุนแรงไม่เว้นแวดวงการเมือง “คุกคามออนไลน์” น่าห่วงเพราะคุมยาก

กิจกรรม

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน บรรณาธิการข่าว นักการเมือง นักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม เห็นร่วมกันถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในการเมืองไทยโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยการข่มขู่คุกคาม ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังรวมทั้งข่าวลวง/ข้อมูลเท็จเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้หญิงที่มีบทบาทในทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าของการโจมตีเท่านั้น แต่ยังอาจสกัดกั้นการเข้ามามีบทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทย

วันที่ 18 พ.ย. 2567 มูลนิธิ Westminster Foundation for Democracy ร่วมกับโคแฟค ประเทศไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สถาบันนิติวัชร์, และ Decode.plus ไทยพีบีเอส ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “สื่อกับผู้หญิงในโลกการเมือง” ที่โรงแรม สยาม แอท สยาม ดีไซน์ โฮเทล กรุงเทพฯ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Decode.plus” และ “Cofact โคแฟค”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย กล่าวว่า gender-based violence หรือความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับฐานคิดเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถีมักเริ่มต้นจากการสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคสื่อสังคมออนไลน์ที่การสื่อสารทำได้ง่าย โดยมีทั้งเนื้อหาที่เผยแพร่ตามธรรมชาติและที่เกิดจากการจัดตั้ง ผู้หญิงที่เข้ามาทำงานทางการเมืองหรือนโยบายสาธารณะหลายคนพบกับความรุนแรงในรูปแบบนี้ รวมทั้งตัวเธอเองด้วยที่ทำงานเคลื่อนไหวทางทางสังคมและเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องในเรื่องส่วนตัว เช่น ทำไมไม่แต่งงานมีลูกหรือถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว ซึ่งสะท้อนความคาดหวังว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเป็นภรรยาและเป็นแม่ แม้ว่าค่านิยมหรือมายาคติเหล่านี้จะลดลงในปัจจุบัน แต่ผู้หญิงที่ทำงานการเมืองหรือมีบทบาทในด้านอื่นๆ ก็ยังต้องเผชิญกับอคติทางเพศอยู่ไม่น้อย

มุมหนึ่งเราต้องธำรงหลักการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองไม่ว่าจะเพศสภาพไหน เราต้องมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นักการเมืองไม่ว่าหญิงหรือชายก็ต้องอดทนอดกลั้นที่จะถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ควรอยู่บนหลักเหตุและผลและข้อเท็จจริง เช่น ความคิด การกระทำหรือผลงาน ไม่ใช่ไปเน้นอคติโดยเฉพาะในเรื่องของเพศสภาพสุภิญญากล่าว

เกศชฎา พรหมจรรย์ ผู้อำนวยการ Westminster Foundation for Democracy (WFD) กล่าวว่าวงเสวนานี้สอดคล้องกับการรณรงค์ “16 วันเพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ” ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม ของทุกปีที่หลายประเทศทั่วโลกจะร่วมกันสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงทางเพศในทุกรูปแบบ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนในสังคม จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อข้อท้าทายและหาแนวทางเพื่อทำให้การเมืองไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

Screenshot

เน็นเด็น เซการ์ อารัม (Nenden Sekar Arum) จาก SAFEnet ประเทศอินโดนีเซี ฉายภาพสถานการณ์ความรุนแรงต่อนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงในอินโดนีเซีย โดยระบุว่านักการเมืองหญิงยังคงถูกข่มขู่คุกคามบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเธอมองว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย

การข่มขู่คุกคามเหล่านี้มีผลทั้งต่อจิตใจและสุขภาวะของผู้หญิง และยังอาจส่งผลต่อการแข่งขันทางการเมือง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในเวทีการเมือง…อินโดนีเซียยังขาดกลไกในการรับแจ้งเมื่อมีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเกิดขึ้น ขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งอาจไมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” เน็นเด็นระบุ

กุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker กองบรรณาธิการโคแฟค กล่าวว่าข้อมูลเท็จถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง โดยนักการเมืองหญิงจะถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จในเชิงเหยียดเพศ (gendered disinformation) มากกว่าผู้ชาย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเชิงชู้สาว การตัดต่อภาพวาบหวิว การล้อเลียนเสียดสีเรื่องความสามารถทางภาษา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการปลอมแปลงตัวตน เช่น บัญชีโซเชียลมีเดียปลอมเพื่อสร้างความเสียหายต่อนักการเมืองหญิง

กุลธิดากล่าวว่า gendered disinformationเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยอ้างกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ให้นิยามข้อมูลเท็จเชิงเหยียดเพศว่าเป็น “การคุกคามและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ด้วยการเอาประเด็นทางเพศมาสร้างข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิด ซึ่งมักจะทำกันเป็นเครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นผู้หญิงไม่ให้มีบทบาทในสังคม”

ขณะที่บทความวิชาการในวารสาร Media Asia Journal ระบุว่า gendered disinformation ที่ถูกนำมาใช้ในการโจมตีนักการเมืองหญิงนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้หญิง บ่อนเซาะความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และทำให้เกิดการตีตรานักการเมืองหญิงอีกด้วย

ตัวอย่าง gendered disinformation ต่อนักการเมืองหญิงในไทยเช่น กรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ากพรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาในประเด็นชู้สาวกับวาทกรรม “ว.5 โรงแรมโฟร์ซีซันส์”และมีการแชร์ข้อมูลว่าเธอพูดผิด เช่น อ่านคำว่าคอนกรีตว่า “คอ-นก-รีต” หรืออ่านชื่ออำเภอขนอมว่า “ขน-อม” เป็นต้น โดยที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เคยพูดหรืออ่านคำเหล่านี้ผิดเมื่อใด

รักชนก ศรีนอก สส.ทม. พรรคประชาชน ถูกระบุเท็จว่าเป็นผู้หญิงที่สวมชุดบิกินีสีส้ม และมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เชื่อว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ยืนสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ห้ามสูบบุหรี่ของอาคารรัฐสภา

จิตภัสร์ กฤดากร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกอ้างเท็จว่าเป็นบุคคลในภาพที่ถีบป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทถึงปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกอ้างเท็จว่าเป็นผู้หญิงในภาพวาบหวิวและการถูกสวมรอยสร้างบัญชีเฟซบุ๊กไปทำโพลเปรียบเทียบความสวยระหว่าง“ปารีณา ไกรคุปต์” กับ “พรรณิการ์ วานิช” ซึ่งขณะนั้นพรรณิการ์เป็น สส. พรรคอนาคตใหม่ 

กุลธิดายังได้หยิบยกเนื้อหาบางส่วนจากการสัมภาษณ์นักการเมืองหญิงสองคน คือ ปารีณาและรักชนก 

ปารีณาตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีด้วยข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมเกิดขึ้นได้กับนักการเมืองทุกเพศ ขึ้นอยู่กับว่านักการเมืองคนใดมีความโดดเด่นหรือสังคมกำลังจับตามอง ส่วนในกรณีที่ตนเองเคยเจอมาก็มองว่าชินแล้ว เล่นการเมืองมานานจะให้ไปแก้ข่าวเท็จทุกเรื่องก็คงไม่เป็นอันทำอะไร ขณะที่รักชนกยอมรับว่า การถูกโจมตีในลักษณะนี้ส่งผลกระทบกับตนเองอย่างมาก เช่น เรื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้าในอาคารรัฐสภา แม้จะชี้แจงไปแล้วว่าคนในภาพนั้นไม่ใช่ตน แต่เมื่อไปลงพื้นที่ก็ยังถูกตั้งคำถามเสมอ

ประเด็นที่คุณปารีณาและคุณรักชนกพูดตรงกัน คือไม่ได้คาดหวังกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มว่าจะช่วยอะไรพวกเธอได้ในการถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จหรือมีบุคคลปลอมแปลงเฟซบุ๊ก ก็คิดว่าออกมาชี้แจงด้วยตัวเองก็คงจะทำได้เท่านี้ กุลธิดากล่าว

Screenshot

ขวัญข้าว คงเดชา นักวิจัย สถาบันพระปกเกล้ากล่าวว่า เทคโนโลยีนั้นขึ้นอยู่กับการใช้งานว่าจะสื่อสารเนื้อหาอย่างไร แต่ก็เห็นว่าเทคโนโลยีออนไลน์เหมือนเป็นการเพิ่มพื้นที่ความรุนแรงให้มากขึ้นและเกิดขึ้นกับทุกคน เพียงแต่เมื่อเกิดกับผู้หญิงมักผูกโยงกับปัจจัยเรื่องเพศมากกว่าผู้ชายที่จะไม่ค่อยถูกใช้ความรุนแรงจากเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อค้นพบจากการทำวิจัยกับเครือข่าย สส. หญิงในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปี 2567 ซึ่งแม้จะมีกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลค่อนข้างน้อย คือประมาณ 20 คน แต่ก็มีความน่าสนใจ

กล่าวคือ เมื่อถามว่าเคยประสบความรุนแรงทางเพศขณะที่เป็นนักการเมืองหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งบอกว่าเคยแต่อีกครึ่งบอกว่าไม่เคย โดยในกลุ่มที่บอกว่าเคย มี 4 คน บอกว่าเคยเจอเฉพาะความรุนแรงทางจิตใจ และอีก 6 คน ให้ข้อมูลว่าเจอทั้งความรุนแรงทางกายภาพและทางจิตใจ ขณะที่เมื่อถามว่าความเป็นเพศสภาพมีผลต่อเส้นทางชีวิตของการเป็นนักการเมืองหรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง 11 คน ตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง ส่วนอีก 9 คนตอบว่าเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ได้รับคำอธิบายว่า เมื่อได้มาเป็น สส. หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว การบ่งบอกตัวตน ณ เวลานั้น คือการเป็นตัวแทนของประชาชน และมองว่าการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าเพศสภาพ นอกจากนั้นความเป็นผู้หญิงยังสามารถใช้เป็นข้อได้เปรียบในการทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อเทียบกับผู้ชาย เช่น การหาเสียงเลือกตั้งหรือการลงพื้นที่พบปะกับประชาชน ซึ่งผู้หญิงสามารถใช้บทบาทความเป็นแม่ ลูกสาว พี่หรือน้องสาว ซึ่งมีความละเอียดอ่อนในการเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า

ไม่ได้จะบอกว่านักการเมืองหรือ สส. หญิงจะไม่สนใจเรื่องนี้ เขามีความสนใจ ทุกคนมีความตื่นตัว หลายคนอาจจะบอกว่า ignorance (เมินเฉย) หรือเปล่า? จริงๆ ไม่ใช่ ทุกคนมี perception (การรับรู้) หรือ gender lens (มุมมองเรื่องเพศ) ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะด้วยสถานะทางสังคม การเลี้ยงดู การได้รับการศึกษาที่แตกต่างกัน ฉะนั้นหากเราสามารถสร้าง gender sensibility (ความละเอียดอ่อนในประเด็นเรื่องเพศ) ที่ไม่ถึงกับต้องเป็น universal (สากล)ก็ได้ แต่เป็นที่ยอมรับในสังคมในบริบทของไทย และให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จะสามารถเพิ่มการตระหนักรู้ได้ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ว่าสิ่งที่เจอไม่ใช่แค่เกมการเมืองแต่เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ขวัญข้าวกล่าว

ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคประชาชนเล่าว่าเธอถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จและการคุกคามบนโลกออนไลน์มาตั้งแต่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 จนกระทั่งมาเป็น สส. ซึ่งมีทั้งการถูกอ้างเท็จว่าเป็นบุคคลที่สวมเสื้อสีส้มไปถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือการตัดต่อบทสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์แล้วนำไปอ้างเท็จว่าเธอมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับนักการทูตอเมริกันที่ประจำสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทย

เธอเชื่อว่าการเผยแพร่ข่าวปลอมในลักษณะนี้ไม่ใช่เพียงการแชร์กันไปด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด แต่เป็นการเผยแพร่โดยเจตนาและทำงานกันอย่างเป็นระบบ โดยสื่อมวลชนส่วนหนึ่งกับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อีกส่วนหนึ่งพยายามปั้นเรื่องขึ้นมา

การคุกคามทางออนไลน์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อเธออย่างรุนแรงโดยเฉพาะในทางจิตใจ ทำให้เธอกังวลถึงความปลอดภัยต่อชีวิตด้วย เพราะมีการเขียนข้อความข่มขู่ว่าจะข่มขืน มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ลงเบอร์โทรศัพท์ไว้และมีคนโทรเข้ามาข่มขู่คุกคาม หรือเมื่อออกไปเดินบนท้องถนนก็มีคนพยายามจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย ทำให้เข้าใจความสำคัญของปัญหาการคุกคามทางออนไลน์ 

ชลธิชายอมรับว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงต่อผู้หญิงในโลกออนไลน์มาก่อนจนกระทั่งได้เจอกับตนเอง ถึงขั้นต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ 4-5 เดือนเพื่อความปลอดภัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจ และได้พบจิตแพทย์ จึงได้เข้าใจว่าการปล่อยให้เกิดการคุกคามบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ข่าวปลอมทำลายกันนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจระยะยาว

มันมากกว่าที่เราคิด ไม่ใช่แค่ discredit (ทำลายความน่าเชื่อถือ) เราทางการเมืองเท่านั้น แต่มีผลทางกายภาพและเรื่องของสุขภาพจิต เคยอยู่ในภาวะที่ป่วยเป็น PTSD (โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ) อยู่ช่วงหนึ่ง เพราะรับข้อความหรือเจอการคุกคามทางกายภาพเป็นประจำ จนมีภาวะป่วยด้วยเรื่องสุขภาพจิต เชื่อไหมว่าความน่าเศร้าเกิดขึ้นเมื่อเราพบว่าในช่วงนั้นขบวนการเคลื่อนไหวหรือแม้แต่พื้นที่ของการทำงานทางการเมือง ไม่ได้มีใครตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้ ชลธิชากล่าว

ศรีโสภา โกฏคำลือ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยเล่าว่า การที่ตนเป็นผู้หญิง มีอายุน้อย และเป็นทายาทนักการเมือง ทำให้มีคนที่มองว่าชีวิตสุขสบาย ถูกตั้งคำถามว่าเคยลำบากหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้มองว่าคนเหล่านั้นคิดผิดและมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เขาจะสงสัย แต่ใครที่ได้เห็นตนทำงานก็จะรับรู้ว่าการที่มาอยู่ตรงนี้ได้ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะมีพ่อเป็นนักการเมือง แต่ยังเป็นเพราะสิ่งที่ตัวราเป็นพยายามผลักดันให้เราทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนประสบการณ์เรื่องความรุนแรง ตนเคยมีประสบการณ์ในช่วงก่อนจะเข้ามาทำงานการเมือง โดยเวลานั้นมีโอกาสได้ไปเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลเชียงใหม่ยูไนเต็ด โดยในการแข่งขันต้องเผชิญแรงกดดันจากกองเชียร์ทีมคู่แข่ง ซึ่งตนยอมรับว่าเป็นเรื่องขัดกับธรรมชาติหากไม่ตอบโต้ สุดท้ายจึงแสดงออกไปด้วยการชูนิ้วกลางใส่ฝูงชน แม้จะเป็นการแสดงออกที่สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมรับ แต่ในฐานะหัวหน้าก็ต้องแสดงให้ลูกทีมเห็นว่าตนไม่กลัว ดังนั้นทุกคนอย่าเสียกำลังใจ ให้แข่งขันต่อไปและออกจากสนามนี้อย่างปลอดภัย

สิ่งที่เราได้รับคือสำนักข่าวอื่นเขาก็ตีความปกติไปว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่แปลกใจมากๆ คือู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งวิจารณ์การกระทำของเรา เข้าใจว่าเขาไม่เคยดูฟุตบอลเลยวิจารณ์ไปตามประสาว่าเป็นผู้หญิงที่ก้าวร้าว แต่ทุกคนที่อยู่ในวงการฟุตบอลจะรู้ มันไม่มีผู้หญิงสติดีที่ไหนหรอกที่อยากจะหาเรื่องคนเป็นร้อย สิ่งที่เราได้รับคือเหมือนเขาให้ความเห็นแบบผู้หญิงมากๆ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงด้วยกันควรจะเข้าใจว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ศรีโสภากล่าว

ญดา โภคาชัยพัฒน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวว่า การที่ผู้เสียหายจากเหตุความรุนแรงทางเพศจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็จะคิดว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่ เพราะหนึ่ง-การกระทำเกิดขึ้นทางออนไลน์ซึ่งหาตัวผู้กระทำได้ยาก เนื่องจากทุกคนมีโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เสมือนมีปากกาพร้อมจะเขียนบนโลกออนไลน์ได้เสมอ ส่วนคนจะกรองข้อความหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งสอง-กระบวนการที่ต้องเล่าซ้ำๆ ในสิ่งที่ถูกกระทำตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการและศาล ซึ่งในมุมของเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นขั้นตอนที่ทำเพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นและได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง แต่ในมุมของผู้ถูกกระทำก็อาจคิดไปได้ว่าเจ้าหน้าที่มองว่าผู้ถูกกระทำนั้นได้ทำอะไรผิดหรือไม่ สาม-ไม่มีกระบวนการเยียวยาหรือคุ้มครองผู้ถูกกระทำระหว่างอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น เมื่อถูกเผยแพร่คลิปวีดีโอ ภาพหรือข้อความ และถูกแชร์ต่อกันอย่างสนุกสนาน ผู้เสียหายไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้นำเนื้อหานั้นออกจากระบบได้

เขาจะต้องวิ่งไปทางตำรวจ แล้วกว่าคำพิพากษาจะออกมากินเวลานานมาก อาจเป็นปีหรืออาจจะฝังอยู่ ถ้าเกิดค้นหาชื่อคนคนนี้ขึ้นมา ข่าวทุกข่าวเหมือนย้อนประวัติศาสตร์เป็นบันทึกข้อความว่าเขาผ่านอะไรมา อัยการญดากล่าว

ณฐรัจน์ นิ่มรัตนสิงห์ Brand Manager จาก Mirror Thailand กล่าวว่า Mirror Thailand เป็นสื่อที่มีฐานผู้ติดตามเป็นกลุ่มคนที่สนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง เพราะมองว่าประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าขนาดนั้น และการทำงานด้านนี้ยังต้องทำงานทางความคิดกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น เมื่อผู้หญิงมาทำงานการเมือง สื่อมวลชนไทยยังคงใช้คำว่านักการเมืองหญิง ในขณะที่ผู้ชายจะใช้เพียงคำว่านักการเมือง 

หรือการตั้งประเด็นคำถามในการสัมภาษณ์นักการเมือง หากเป็นผู้ชายจะมุ่งถามในเรื่องการทำงาน ในขณะที่ผู้หญิงจะมีคำถามเรื่องชีวิตส่วนตัว (lifestyle) ขึ้นมาเพื่อให้ดูผ่อนคลาย ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภาไทยจะสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ก็ต้องดูกันต่อไป ไม่ใช่ว่ามาถึงจุดนี้จะดีใจกันแล้ว เท่าเทียมแล้ว หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วคือจบแล้ว แต่ยังต้องทำงานกันอีกมาก

ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ทาง Mirror จะพยายามไม่ทำ นั่นคือการพยายามพาดหัวให้สั้นลง การพยายามย่อยทุกอย่าง เพราะเรารู้ว่าในยุคที่ social media มีผลกระทบมากๆ ในโลกออนไลน์ สื่ออยู่ได้ด้วยยอดแชร์ต่างๆ นานา ทำให้จริยธรรมในการทำงานของสื่อน้อยลง ถ้าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างล่อแหลมหรือมีความสุ่มเสี่ยงอ่อนไหวมากๆ เราจะไม่ค่อยตัดทอนอะไรออกไป เราจะพยายามให้มันครบถ้วน เพราะเราไม่เชื่อว่าการพาดหัวที่สั้นมันสื่อสารมีประสิทธิภาพที่สุด มันอาจมีประสิทธิภาพที่สุดกับ social media แต่ไม่ใช่กับผู้รับสาร ณฐรัจน์กล่าว

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอุปนายกมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(Unesco) จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะกระจายคู่มือนี้ไปยังสื่อต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสมาคม รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในระบบงานทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรของตนเองได้

อย่างเคยมีกรณีนักข่าวผู้หญิง เกิดเรื่องแล้วไปร้องเรียนทั้งบรรณาธิการและบรรณาธิการบริหารซึ่งเป็นผู้ชายแล้วไม่สามารถช่วยเหลือได้เพราะไม่เข้าใจ ดังนั้นทำอย่างไรที่องค์กรสื่อหรือทุกๆ องค์กร จะมีระบบดูแลพนักงานที่เผชิญปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในระบบ HR และในกรณีที่เป็นนักการเมือง ก็ต้องถามไปถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนกรณีนักการเมืองหญิงถูกล่วงละเมิดหรือไม่ สส. ก็ต้องไปย้อนถามในสภาทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ มีหรือไม่ 

ผมก็มีโต๊ะข่าวที่เป็นโต๊ะสุขภาพ ก็มีคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรืออะไรพวกนี้เยอะ ผมไปพบว่าบริษัทใหญ่ๆ เขามีหน่วยเฉพาะที่ให้คำปรึกษาเมื่อคุณเจอผลกระทบทางจิตใจ อย่างเจอล่วงละเมิดทางเพศ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ผมว่าถ้ามีหน่วยพวกนี้ทุกองค์กร ผมว่าจะมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น จีรพงษ์กล่าว

ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหาร เนชั่น TVยกตัวอย่างการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ ในสภา ปัจจุบันจะเป็นการกำหนดโควตาโดยอิงจำนวน สส. ของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งพรรคจะส่งใครมาก็ไม่สามารถไปขัดแย้งได้ แต่ กมธ. บางชุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหวสามารถกำหนดบุคคลที่จะมาเป็นได้โดยอิงกับผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่ต้องยึดติดกับโควตาทางการเมือง เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว หรือการอนุญาตให้ประเทศไทยมีกาสิโนถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบมาก

ปกรณ์ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่มีสถาบันวิจัยกฎหมาย และมีตัวอย่างเรื่องกฎหมายการสร้างห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งนักการเมืองมักเข้าใจว่าความเท่าเทียมหมายถึงการสร้างห้องน้ำชายและหญิงในจำนานเท่าๆ กัน แต่ผลการศึกษาชี้ว่าในความเป็นจริงผู้หญิงใช้เวลาเข้าห้องน้ำนานกว่าผู้ชาย ดังนั้นการสร้างห้องน้ำชายและหญิงเท่ากันส่งผลให้ผู้หญิงต้องรอนานกว่ากรณีมีผู้ใช้ห้องน้ำจำนวนมาก นำมาสู่การออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้สร้างห้องน้ำหญิงมากกว่าชาย 

ขณะที่การทำงานของสื่อ ต้องยอมรับว่าในอดีตมีการแบ่งแยกกันระหว่างสื่อหลักที่มีกรอบจรรยาบรรณและมีสมาคมวิชาชีพกับสื่อออนไลน์หรือสื่อทางเลือก แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและความอยู่รอดของสื่อหลักซึ่งมีต้นทุนสูงมาก ทำให้ทั้งสื่อหลักและสื่อทางเลือกเคลื่อนมาอยู่ใกล้กัน คือยิ่งไม่มีจรรยาบรรณมากเท่าไรก็จะยิ่งมีเรตติ้งมากเท่านั้น  เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายของสื่อ การควบคุมไม่ให้ละเมิดทำได้ยากเพราะละเมิดแล้วได้เรตติ้ง เพราะเรื่องเหล่านี้สามารถหาดูได้ในสื่อออนไลน์ หากสื่อหลักไม่แข่งด้วยก็ไม่มีใครมาดู ดังนั้นหากจะแก้ไขก็ต้องทำพร้อมกัน

ตอนนี้สื่อออนไลน์ไม่ถูกควบคุมโดย กสทช. คือไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานใดไปควบคุมได้ ในขณะที่สื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ถูกควบคุม แต่บางคนเขาพร้อมยอมจ่าย ปรับที่ละ 5 หมื่นก็ปรับได้เพราะเรตติ้งเขาได้เยอะกว่า ปกรณ์กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

รายงานพิเศษ (ตอนที่ 2) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67 (2/3)

By : Zhang Taehun

MOU44 คือการที่ไทยยอมรับการลากเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาจริงหรือ?

นอกจากเรื่องเสียเกาะกูดให้กัมพูชาแล้ว ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ อาณาเขตและผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งเป็นเหตุผลของฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 อาทิ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กวันที่ 4 พ.ย. 2567 ก่อนหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจะแถลงข่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยอ้างว่า ได้ฟังคำชี้แจงจากบุคคลท่านหนึ่งที่เป็นคณะทำงาน MOU 44 แล้วบอกได้อย่างเต็มปากว่าเคลียร์ทุกเรื่อง เว้นแต่การกำหนดเส้นไหล่ทวีปเป็นการอ้างสิทธิของกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ เฉพาะเส้นนี้ที่แปลกใจ ฝ่ายไทยไปยอมรับได้อย่างไร ซึ่งไทยไม่เคยยอมรับตั้งแต่ปี 2515 จนมาบันทึกใน MOU 44

นพ.วรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ต้องถามคือการอ้างสิทธิในเส้นไหล่ทวีปต้องมีเหตุผล แม้จะอ้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่กฎหมายระหว่างประเทศยอมรับ เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูดก็ไม่สมเหตุผล เพราะประวัติศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย เส้นที่เล็งจากจุดสูงสุดของเกาะกูด ก็เพื่อกำหนดหลักหมุดที่ 73 ซึ่งเป็นเขตแดนทางบกไม่ใช่ทางทะเล

ปัญหาที่นำไปสู่พื้นที่ทับซ้อนที่มีขนาดใหญ่เท่ากับจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง ยะลา นราธิวาสและปัตตานี รวมกัน 26,000 ตร.กม. ก็เกิดจากการที่ฝ่ายเราไปยอมรับว่าเขาอ้างสิทธิ ซึ่งเป็นการอ้างสิทธิที่ตามใจชอบ ยังไม่นับรวมเงื่อนไขใน MOU 44 ที่บ่งบอกว่าไทยเสียเปรียบเรื่องดินแดนในอนาคต นี่คือจุดที่ต้องทบทวน MOU 44 เพราะจะนำไปสู่ปัญหาทุกอย่าง รวมทั้งดินแดนทางทะเล ส่วนของทะเล ผืนทราย และทรัพยากรโดยรอบเกาะกูดด้านประชิดกัมพูชา เกาะกูดเราจะเหลือแค่เกาะ แต่รอบเกาะด้านประชิดกัมพูชากลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนนพ.วรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในบทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ปัญหาและพัฒนาการ” ฉบับเต็ม ในหน้า 6-12 สุรเกียรติ์ บรรยายไว้ว่า กัมพูชาได้ประกาศเขตไหล่ทวีปแต่ฝ่ายเดียวครั้งแรกเมื่อวันที่6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) แต่เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศนั้นไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงไม่ยอมรับ ต่อมารัฐบาลกัมพูชาประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในอ่าวไทย ลงนามโดย ลอนนอล ประธานาธิบดีของกัมพูชาในขณะนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) 

โดยการประกาศเขตไหล่ทวีปในครั้งนี้มีพื้นที่ประมาณ 16,200 ตารางไมล์ เขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นเริ่มต้นจากจุด A ซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ 73 จากนั้นเส้นเขตไหล่ทวีปลากไปทางทิศตะวันตกเฉียงลงใต้เล็กน้อย ผ่านกึ่งกลางเกาะกูดเลยออกไปในอ่าวไทย ถึงประมาณกลางอ่าว แล้วหักลงทางใต้ไปเกือบสุดอ่าวไทย จึงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โอบล้อมเกาะฟูกว๊อกของเวียดนาม แล้ววกขึ้นทางเหนือเข้าบรรจบฝั่งที่จุด B ซึ่งอ้างว่าเป็นจุดเขตแดนของเวียดนาม-กัมพูชาที่ริมฝั่งทะเล ดัง รูป 1

รูป 1 และรูป2

กัมพูชาไม่เคยอ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูด

ประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในอ่าวไทยนั้น เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดนั้นเป็นการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะกูดหรือไม่ แผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาในครั้งนั้นเป็นเพียงแผนที่โดยสังเขปที่กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ใช้ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) แต่หากพิจารณากฤษฎีกาที่ 439/72/PRK ที่แผนที่ผนวกเป็นแผนที่เดินเรือขนาดมาตรฐานของกรมอุทกศาสตร์ฝรั่งเศส แสดงเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทั้งหมด ลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล ลงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) จะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปไม่ได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูด ดัง รูป 2

จากรูปที่ 2 เห็นได้ว่าเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากจากจุด A บริเวณชายฝั่งมายังเกาะกูดนั้น เส้นได้มาหยุดอยู่บริเวณขอบของเกาะกูดด้านตะวันออก และเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกออกไปกลางอ่าวไทยไม่มีการลากเส้นผ่านเกาะกูดแต่อย่างใด นอกจากนั้นหากสังเกตบริเวณเส้นทางทิศตะวันตกจะเห็นอักษรภาษาอังกฤษกำกับว่า “Koh Kut (Siam)” ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย

หลังจากนั้นประเทศกัมพูชาได้ประกาศกฤษฎีกากำหนดทะเลอาณาเขตของกัมพูชา หมายเลข 518/72/PRK ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2515 โดยประกาศกฤษฎีกาดังกล่าวมีแผนที่แนบท้ายและลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล โดยประกาศกฤษฎีกาดังกล่าวจะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างว่าได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดหรือไม่ ตาม รูปที่ 3

รูป 3 และ รูป4

เมื่อพิจารณาแผนที่แนบท้ายประกาศทะเลอาณาเขต มีการลากเส้นจากจุด A มายังจุด E1 โดยการลากเส้นดังกล่าวเป็นเส้นเดียวกับเส้นกำหนดเขตไหล่ทวีป ตรงจุด E1 จะมีเครื่องหมายบวก (++++) ทอดชิดกับขอบเกาะกูดด้านตะวันออกลงมาทางใต้จนถึงจุด E2 ที่ปลายเกาะกูดด้านใต้เครื่องหมายบวกตามเครื่องหมายในแผนที่หมายความถึง เขตแดนระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่า การลากเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นเป็นการลากเส้นจากจุด ยังเกาะกูด โดยหยุดอยู่บริเวณขอบของเกาะกูดด้านตะวันออก และเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกออกไปกลางอ่าวไทย ไม่ได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดอย่างที่เข้าใจกัน

ดังนั้น กัมพูชาก็ไม่เคยอ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูด ประเทศไทยต่างหากที่มีอธิปไตยเหนือเกาะกูดตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 ซึ่งระบุว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม” กรณีการลากเส้นของกัมพูชาที่ลากเส้นจากจุด A ไปยังเกาะกูดนั้น เส้นดังกล่าวกัมพูชาได้อ้างสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หนังสือสัญญาไทยฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ. 1907) ซึ่งมีสัญญาต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับดินแดนกัมพูชาของฝรั่งเศส 

ซึ่งข้อ 1 ของสัญญาต่อท้ายนี้ได้ระบุว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแล” ว่าเป็นข้อความที่กำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา โดยวิธีการลากเส้นจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดตรงไปยังเส้นเขาพนมกระวานแล และถือว่าเส้นที่ลากดังกล่าวเป็นเส้นแบ่งเขตทะเลซึ่งมีผลผูกมัดไทย

กัมพูชาได้ตีความหนังสือสัญญาในลักษณะตีความตามตัวอักษร โดยอ้างว่าข้อความดังกล่าวเป็นการแบ่งเขตทางทะเล แต่ถ้าหากพิจารณาเจตนารมณ์ของหนังสือสัญญาและสัญญาต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขตแล้ว จะเห็นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่รัฐบาลฝรั่งเศสทำขึ้นเพื่อคืนดินแดนทางบกที่เคยยึดไปจากประเทศไทย โดยไม่มีข้อความใดที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนทางทะเล การที่สัญญาแนบท้ายระบุเส้นเขตแดนเริ่มจากทะเลนั้นไม่ได้หมายความว่า ภาคีมีเจตนาแบ่งเขตทางทะเล แต่เพียงแสดงว่าแนวเขตหันทิศจากทะเลไปสู่ผืนแผ่นดินมิใช่จากผืนแผ่นดินมายังทะเล 

การที่สัญญาแนบท้ายระบุให้ใช้จุดยอดเขาสูงสุดของเกาะกูดเป็นหลักในการกำหนดเขตแดน ก็เพื่อใช้เล็งกับสันเขาพนมกระวาน เนื่องจากในการปักปันเขตแดนจำต้องอาศัยจุดเด่นในทางภูมิศาสตร์ที่มั่นคงเป็นหลัก ดังนั้น เส้นตรงที่เล็งระหว่างยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดกับสันเขาพนมกระวานจะต้องถือว่าเป็นเส้นสมมติ (Imaginary Line) ที่ใช้สำหรับกำหนดที่ตั้งของจุดเริ่มต้นของแนวเขตแดนทางบก การถือว่าเป็นเส้นแบ่งเขตทางทะเลจึงไม่ถูกต้องนัก 

ในขณะที่ประเทศไทยได้มีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 โดยยึดหลักเขตแดนที่ 73 เป็นจุดเริ่มต้นในการลากเส้นเขตทางทะเลออกไปในอ่าวไทยเช่นเดียวกับประเทศกัมพูชา แต่เป็นการลากเส้นลงไปจากจุด 1 ที่ละติจูดเหนือ11°39´.0 ลองติจูดตะวันออกที่ 102°55´.0 ไปยังจุด 2ที่ละติจูดเหนือ 09°48´.5 ลองติจูดตะวันออก 101°46´.515

ซึ่งจะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยลากลงระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง (Koh Kong) ของกัมพูชาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทยดังกล่าวถือเป็นการสงวนสิทธิของประเทศไทยตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958 (และได้รับการรับรองโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982) เหนือเขตพื้นที่ไหล่ทวีปตามที่ได้ประกาศไว้ดัง รูป 4”

ภาพที่ 1 และ 2 : แผนที่กัมพูชาลากเส้นเขตแดนทางทะเลซึ่งมีข้อขัดแย้งกับไทย

เมื่อไปดูสาระสำคัญคือ MOU เมื่อปี 2544 หรือ MOU44 ซึ่งมีชื่อเต็มว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา โดยผู้แทนฝ่ายไทยคือ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ส่วนผู้แทนฝ่ายกัมพูชาคือ สก อัน  (บางแหล่งเขียนว่า ซก อาน) รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา

หนังสือ ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุเนื้อหาของ MOU ดังกล่าว ไว้ในหน้า 240-241 ดังนี้ 

1.ภาคีผู้ทำสัญญาพิจารณาว่าเป็นที่พึงปรารถนาที่จะทำข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้ในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน

2.เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน

(ก)จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ

(ข) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย

เป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

3.เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อ 2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากแต่ละประเทศแยกต่างหากกัน

คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคมีหน้าที่รับผิดชอบ สำหรับการกำหนด

(ก) เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม รวมถึงพื้นฐานซึ่งยอมรับกันในการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และ

(ข) การแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ระหว่างเขตที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งใช้บังคับ

4.คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคจะประชุมกันโดยสม่ำเสมอเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็ว คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคอาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นว่าเหมาะสม

5.ภายใต้เงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา

อดีตรมต.ตปท.ยืนยัน กรอบMOU44รักษาผลประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่การยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลตามกัมพูชาอ้าง

บทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ” ในหน้า 27-40 สุรเกียรติ์เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ อธิบายประโยชน์ที่ฝ่ายไทยได้รับจาก MOU44 ดังนี้ 

1.การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เจรจา ถือว่ายังไม่เป็นการผูกพันประเทศไทยว่าจะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเหนือพื้นที่ทับซ้อน หรือต้องกำหนดเส้นเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาแต่อย่างใด เพราะเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเจรจาหลักการทั้งสองเรื่องว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นและจุดยืนอย่างไร เพื่อจะให้บรรลุถึงข้อตกลง ซึ่งหากมีจุดยืนที่สอดคล้องที่จะนำ ไปสู่ข้อตกลงกันได้แล้วแต่ละฝ่ายก็ต้องดำ เนินการตามขั้นตอนของกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหากในอนาคต

การมีคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคขึ้นมาทำหน้าที่เจรจา จะทำให้ฝ่ายไทยสามารถรับทราบถึงจุดยืนต่าง ๆ ของฝ่ายกัมพูชาได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านกฎหมายและด้านการแบ่งผลประโยชน์เหนือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อที่จะได้ให้ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานได้ร่วมกันวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงแนวทางของความร่วมมือระหว่างกันอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะต้องมีการพิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียในแต่ละทางเลือกของไทย ตลอดจนการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจา 

ซึ่งแตกต่างจากการเจรจาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาก่อนการจัดทำบันทึกความเข้าใจนี้ ที่ไม่มีการเสนอท่าทีของฝ่ายตนในเรื่องวิธีการและหลักการการกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ชัดเจนและเป็นทางการ ซึ่งทำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยไม่สามารถกำหนดท่าทีและจุดยืนทั้งทางกฎหมายและทางเศรษฐศาสตร์ร่วมกันอย่างจริงจัง

2.บันทึกความเข้าใจนี้ทำให้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดจากการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ (ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน) อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าอันอาจนำ ไปสู่ข้อขัดแย้งที่รุนแรงจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่กระทบต่อความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างทั้งสองประเทศระหว่างกัน สามารถแก้ไขร่วมกันได้ด้วยการเจรจาแบบสันติวิธี และแยกเป็นเอกเทศจากปัญหาความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ โดยให้นำความเห็นหรือท่าทีที่แตกต่างกันในเรื่องการลากเส้นเขตทางทะเลและการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนนั้น มาสู่เวทีของการเจรจาทางด้านเทคนิค หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการแปรข้อขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ (turn conflict into cooperation) ซึ่งก็เป็นวิธีการในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศในเรื่องทับซ้อนทางทะเลที่ประเทศจำนวนมากในโลกปัจจุบันใช้กัน

3.บันทึกความเข้าใจนี้ได้ผูกประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Area) หรือที่บันทึกความเข้าใจนี้เรียกว่า พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) กับการเจรจาเส้นแบ่งเขตทางทะเล (Maritime Boundary Delimitation) เอาไว้ด้วยกัน โดยได้ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการเจรจาทั้งสองเรื่องนี้จะแยกต่างหากจากกันมิได้ (Indivisible Package) กล่าวคือจะต้องเจรจาพร้อมกันไป ซึ่งฝ่ายไทยแม้จะเห็นว่าการสำรวจและขุดเจาะน้ำ มันและก๊าซธรรมชาติก็เป็นความประสงค์ของฝ่ายไทยที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางด้านอุปทาน (Security of Supply) และต้องการกระจายการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Diversity of Sources of Supply) ในอ่าวไทยและทะเลอันดามันก็ตาม 

แต่ผลประโยชน์ที่สำคัญของไทยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ความชัดเจนในจุดเริ่มของการลากเส้นเขตทางทะเล ดังนั้น ในแง่มุมของการเจรจาแล้ว ฝ่ายไทยจึงได้อาศัยความต้องการของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการเร่งรัดการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วม เป็นปัจจัยในการผลักดันให้การเจรจาเส้นเขตทางทะเลมีความคืบหน้าและเป็นที่ตกลงกันได้ของทั้งสองฝ่ายโดยเร็วเช่นกัน

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ หากไม่มีการผูกประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมกับการเจรจาพื้นที่ที่ต้องการแบ่งเส้นเขตทางทะเลเอาไว้ให้ต้องดำเนินการเจรจาควบคู่กันไปแล้ว ก็มีข้อห่วงกังวลว่ากลุ่มเศรษฐกิจการเมืองอาจเข้ามามีบทบาทและผลักดันจนทำให้การตกลงในเรื่องการพัฒนาร่วมเกิดขึ้นได้โดยง่าย โดยอาจทำให้ฝ่ายไทยต้องสูญเสียอำนาจต่อรองในการเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนกับกัมพูชา

สุรเกียรติ์ อ้างถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไทย (ฉบับ 2540 ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ และฉบับ 2550 ในขณะที่เขียนบทความนี้) โดยอธิบายว่า.. 

การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางด้านน้ำ มันและก๊าซธรรมชาติ โดยไม่กระทบต่อเรื่องเส้นเขตแดนนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีการเจรจาเส้นเขตทางทะเลนั้น แม้จะเป็นเพียงการตกลงกันเกี่ยวกับจุดที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลากเส้นเขตทางทะเล ก็จะถือว่าเป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ด้วยเหตุนี้ การผูกประเด็นการเจรจาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรเหนือพื้นที่พัฒนาร่วมเอาไว้กับเรื่องการเจรจาแบ่งเส้นเขตแดนโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้ดังที่ระบุไว้ในข้อ 2วรรค 2 ของบันทึกความเข้าใจนั้น จึงมีผลทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถที่จะรวบรัดทำการตกลงที่มีผลเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์เหนือทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

เพราะแม้จะมีการตกลงในรายละเอียดของการแบ่งปันผลประโยชน์จนเสร็จสิ้นแล้วก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้เกิดผลใดๆ ในทางปฏิบัติได้ เนื่องจากจะต้องนำความตกลงเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์เหนือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วม เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบควบคู่กับความตกลงเกี่ยวกับการกำหนดเส้นเขตทางทะเล

หมายเหตุ : สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็กำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 โดยอยู่ในมาตรา 178 ระบุว่า 

มาตรา 178 (วรรคสอง) หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

นอกจากนั้นยังกำหนดเพิ่มเติมในส่วนของการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากร ซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (มาตรา 224) และเป็นการอธิบายความในส่วนนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 (มาตรา 190) ให้ชัดเจนขึ้นด้วยว่า

มาตรา 178 (วรรคสาม) หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 178 (วรรคสี่) ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย

4.แผนผังกำหนดเขตพื้นที่พัฒนาร่วมและเขตพื้นที่ที่ต้องแบ่งเส้นเขตแดนซึ่งจัดทำแนบท้ายบันทึกความเข้าใจนี้ เป็นสิ่งที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม และผู้เชี่ยวชาญด้านเขตทางทะเลของฝ่ายไทย ได้ให้ความสำคัญในการเจรจามาโดยตลอด กล่าวคือ ฝ่ายไทยต้องการยืนยันจุดยืนที่กำหนดให้เส้นแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาต้องลากออกจากหลักเขตแดนที่ 73 เพื่อให้เขตพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Area) ไม่ครอบคลุมอาณาเขตที่กว้างขวางเกินไป และยืนยันจุดยืนว่าเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของไทย ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907

สุรเกียรติ์ ยังอ้างไว้ในบทความด้วยว่า ในการเจรจาก่อนการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้(MOU44) ฝ่ายกัมพูชาตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจนถึงระดับสูงได้กล่าวถึงเกาะกูดว่าอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาอยู่เนืองๆ มีครั้งหนึ่งในช่วงระหว่างการเจรจาบันทึกความเข้าใจนี้ ตนเคยพูดกับผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของกัมพูชาว่า “ถ้าเส้นเขตทางทะเลลากจากฝั่งและผ่ากลางเกาะกูดแล้ว ในทางปฏิบัติก็คงจะแปลกดี เพราะคนไทยขึ้นบนเกาะกูดจากฝั่งไทย ถ้าจะลงมาเล่นน้ำ อีกฝั่งของเกาะต้องถือพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง) มาด้วย” 

และครั้งหนึ่งในการหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้กล่าวกับตนว่า “กัมพูชาจะยกเลิกข้อเรียกร้อง (Claims) ที่ถือว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชากึ่งหนึ่ง และถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย คือ จะยกอธิปไตยเหนือเกาะกูดให้ไทย แต่อย่าเพิ่งประกาศ เพราะจะเกิดปัญหาทางการเมืองภายในกัมพูชาได้” 

ซึ่งแม้ตนจะเห็นว่าข้อเรียกร้องเหนือเกาะกูดกึ่งหนึ่งนั้นจะไม่มีฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ แต่ข้อเรียกร้องนั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถเรียกร้องกันได้ เพราะในกฎหมายระหว่างประเทศ การเรียกร้องสิทธิกับการมีสิทธินั้นเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น ในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น เมื่อคู่เจรจายอมถอนข้อเรียกร้องก็ย่อมถือเป็นสิ่งที่ดีนอกจากนั้น ยังนำ ไปสู่การที่ฝ่ายกัมพูชายินยอมให้มีแผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจที่แสดงให้เห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยอีกด้วย

ถึงแม้ว่าบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดของการเจรจาที่จะมีผลผูกพันทั้งสองประเทศเกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลกัมพูชาในปัจจุบันได้ยอมรับอย่าเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประเทศไทยมีอธิปไตยเหนือเกาะกูด ดังนั้น แผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจนี้จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยพอใจ เพราะแสดงถึงความคืบหน้าในการเจรจาจุดเริ่มต้นของการลงเส้นเขตทางทะเลจากหลักเขตแดนทางบกที่ตรงกับจุดยืนของไทย และเส้นที่ลากนั้นได้ยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด และยังยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือทะเลอาณาเขตรอบๆเกาะกูดอีกด้วย

5.บันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ลงนามโดยผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969และนับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่สามารถเจรจาเพื่อให้รัฐบาลกัมพูชายอมรับอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก ถึงการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของไทย ตามประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 อันก่อให้เกิดเขตทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชาที่ได้ประกาศเขตไหล่ทวีปไปก่อนหน้านี้ 

โดยบันทึกความเข้าใจนี้ได้ระบุว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการตกลงในเรื่องสิทธิเรียกร้องทางทะเลในเขตที่จะมีการกำหนดเส้นเขตทางทะเล หรืออีกนัยหนึ่งคือ ในช่วงที่อยู่ระหว่างการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมและเขตพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตทางทะเลตามข้อ 2 (aหรือ ก) และ (b หรือ ข) นั้น ข้อความต่างๆ ที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจนี้ก็ดี และการดำ เนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ก็ดีจะไม่มีผลกระทบต่อข้อเรียกร้องสิทธิทางทะเลของทั้งสองประเทศ ซึ่งอยู่ในข้อ 5 ของ MOU44

สุรเกียรติ์ ย้ำว่า บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายไทย เพราะเป็นการที่ฝ่ายกัมพูชายอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ฝ่ายไทยก็มีข้อเรียกร้องสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล และในระหว่างการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ตกลงกันนี้ และสิ่งที่ไม่อาจตกลงกันได้ก็จะไม่กระทบต่อสิทธิเรียกร้องต่างๆ ที่ฝ่ายไทยมีอยู่มาก่อน 

ดังนั้น ข้อตกลงข้อ 5 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ฝ่ายไทยได้โน้มน้าวฝ่ายกัมพูชาจนยอมเห็นชอบให้มีบทบัญญัตินี้ในบันทึกความเข้าใจ ย่อมเป็นข้อป้องกันสถานะทางกฎหมายของไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนกว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงกันทั้งในเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วมและเรื่องเส้นแบ่งเขตทางทะเล ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับ 2540 และ 2550 (รวมถึงฉบับ 2560) ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้

6.บันทึกความเข้าใจนี้ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ 3 (b หรือ ขว่า การเจรจาที่จะนำไปสู่การกำหนดเขตทางทะเลนั้น จะต้องกระทำโดยอยู่ภายใต้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นจุดยืนที่ประเทศไทยยึดถือมาโดยตลอด และเป็นการผูกมัดฝ่ายไทยเองด้วย ว่าในการเจรจาตกลงอย่างไรนั้นต้องเป็นไปตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลทำให้ทุกฝ่ายในขณะนั้นและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ต้องผูกพันตามแนวทางและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดไว้

7.บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นการเจรจาเพื่อนำไปสู่การเจรจาแนวทางการพัฒนาร่วมและการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมเหนือพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งหากสามารถเจรจาจนได้ข้อยุติโดยเร็วและสามารถนำ เอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ฝ่ายไทยย่อมจะได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมดังกล่าวมากเนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการทางด้านพลังงานและปริมาณพลังงานสำรอง อีกทั้งไทยยังมีความพร้อม มีประสบการณ์และมีศักยภาพในการร่วมลงทุนเพื่อสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และมีบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นของตนเองอีกด้วย

ภาพที่ 3 : สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่ไทย-กัมพูชา ร่วมลงนาม MOU44 และเป็นผู้เขียนบทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ” เผยแพร่ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 ปี 2554 (ขอบคุณภาพจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ)

ในรายงานข่าว “เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ” ของ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5 พ.ย. 2567 ได้สรุปมุมมองจากบทความของ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไว้ว่า MOU44 มีกลไกคุ้มครองผลประโยชน์ของไทยหลายประการ 1.การเจรจาต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 2.ไม่กระทบต่อสิทธิเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายจนกว่าจะมีข้อตกลงสุดท้าย3.ข้อตกลงสุดท้ายต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และ 4.มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคเพื่อศึกษาและเจรจารายละเอียด

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2554 สุรเกียรติ์ ชี้ประเด็นท้าทายไว้ด้วยว่า บริษัทน้ำมันข้ามชาติของประเทศมหาอำนาจได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณตอนใต้ของกัมพูชา ซึ่งบริษัทน้ำมันข้ามชาติของมหาอำนาจหลายประเทศให้ความสนใจและต้องการเข้ามาแสวงประโยชน์จากแหล่งน้ำ มันและก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนผ่านทางรัฐบาลกัมพูชามากขึ้น เพื่อขายให้แก่ประเทศไทยเป็นหลักและกัมพูชาเป็นอันดับรอง 

ซึ่งการพบแหล่งพลังงานและความสนใจของบริษัทข้ามชาติที่มีต่อแหล่งพลังงานในกัมพูชานี้ อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาความยุ่งยากในการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยควรเร่งการเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมๆ ไปกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลในส่วนพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตซึ่งเป็นส่วนบนของพื้นที่ทับซ้อนตามจุดยืนของประเทศไทย

โดยสรุปแล้ว การจะบอกว่า MOU44 คือการที่ไทยยอมรับการลากเส้นเขตแดน (ทางทะเล) ของกัมพูชา อันอาจทำให้ไทยเสียดินแดนได้ จึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะ MOU44 เป็นเพียงบันทึกว่าไทยและกัมพูชา ฝ่ายใดมีมุมมองหรือข้อเรียกร้องอย่างไรบ้าง แต่สิ่งเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการที่ทั้ง 2 ชาติต้องเจรจากันจนกระทั่งได้ข้อสรุป และต้องเจรจากันภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งในกรณีของไทย แม้คณะผู้แทน (คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคจะไปเจรจากันมาแล้ว ก็ยังต้องมาผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา อันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ประกอบกับกลไกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังเพิ่มเติมในส่วนของกผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีช่องทางให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย 

          ​ ——

อ้างอิง

https://www.thansettakij.com/business/economy/611121 (เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ : ฐานเศรษฐกิจ 5 พ.ย. 2567)

https://www.thairath.co.th/news/politic/2823643(“หมอวรงค์” ชี้ ยิ่งฟังคำชี้แจง ต้องยิ่งยกเลิก MOU 44 หากยอม ส่อเสียดินแดน : ไทยรัฐ 4 พ.ย. 2567)

http://textbooksproject.org/wp-content/uploads/books/book_1.pdf (ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)

https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2024/BjcSxq7eTLxq7Qod0I85.pdf (พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ : สุรเกียรติ์ เสถียรไทย , จุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 ปี 2554)


(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 1) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(1/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report50-67-1/

(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 3) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(3/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report-50673-3/


รายงานพิเศษ (ตอนที่ 3) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(3/3)

By : Zhang Taehun

ไทยจำเป็นต้องยกเลิก MOU44 หรือไม่?

ในช่วงที่มีการถกเถียงเรื่อง MOU44 ในฝ่ายที่กังวลกับบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว บางส่วนอ้างว่า รัฐบาลไทยสมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2552-2554) ได้ยกเลิกไปแล้ว อาทิ รายงานข่าว ย้อนมติ ครม. ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน” ของ นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 1 พ.ย. 2567 อ้างความเห็นของ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่า ครม.อภิสิทธิ์ มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2552 ให้ยกเลิก MOU44 

“จริงอยู่ที่ว่าการยกเลิก MOU 2544 จนปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างแน่นอน และยังมีผลจนถึงปัจจุบันหากยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของทุกกระทรวงจะดำเนินการไปในหลักการอื่นโดยฝ่าฝืนต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 จะทำต่อไปได้อย่างไร ยกเว้นเสียแต่ว่ามีการขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีเสียใหม่ จริงหรือไม่?” ปานเทพ กล่าวในโพสต์เฟซบุ๊ก

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าปัจจุบัน MOU44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 2567 ตามรายงานข่าวของ ThaiPBS ที่ระบุว่า ประเด็นยกเลิก MOU 44 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในปี 2552 ซึ่งเสนอให้ยกเลิก เพราะขณะนั้นไม่มีความคืบหน้า และ ครม.รับในหลักการ แต่ได้ขอให้มีพิจารณาให้รอบคอบและได้หารือกับที่ปรึกษาทีมต่างชาติ และประชุมคณะกรรมการพิเศษที่เป็นภาคี และหน่วยงานด้านความมั่นคง อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงพลังงาน รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา 

โดยปี 2557 ได้ข้อสรุปว่า MOU 44 ยังมีประโยชน์ที่จะนำไปสู่การเจรจา จึงเสนอ ครม.ให้ทบทวนมติ ครม.ปี 2552 ว่าเรื่องนี้ต้องใช้ MOU 44 ต่อ ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ยังขอให้กรอบ MOU 44  เป็นพื้นฐานในการเจรจาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาลก็ยอมรับและหลักการยังเหมือนเดิม

นอกจากนั้น รายงานข่าว “‘บิ๊กป้อมประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม” โดยสำนักข่าวอิศรา วันที่ 4 ต.ค. 2564 อันเป็นยุคสมัยของรัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลานั้นมีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) เพื่อพิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area-OCA) รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เป็นการประชุมลับ จึงไม่มีการแถลงผลการประชุมกับสื่อ แต่ทางสำนักข่าวอิศรา สรุปร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (OCA) ที่เสนอให้ที่ประชุม JTC ฝ่ายไทย พิจารณา กำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาไว้ 3 ประเด็น ได้แก่

1.การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร

2.การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เมื่อปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งประกอบด้วย การเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ

3.ในการดำเนินการเจรจาให้ใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ตามที่ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว

รวมถึงในวันที่ 5 พ.ย. 2567 รายงานข่าว กษิต อัดแรง พวกปลุกเสียเกาะกูด เล่ายิบเหตุรบ.มาร์ค ยกเลิก MOU44 แต่ไม่สำเร็จ-หนุนเจรจาต่อ โดย นสพ.มติชน อ้างคำกล่าวของ กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ระบุว่า เหตุที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัดสินใจยกเลิก MOU 44 มาจากการที่ ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาในขณะนั้น ได้ตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทย เป็นที่ปรึกษากัมพูชา 

ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นเห็นว่าการกระทำของนายฮุนเซนนั้น ไม่น่ารัก ไม่เป็นมิตร และแทรกแซงกิจการภายในของไทย รัฐบาลขณะนั้นจึงต้องการแสดงออกว่าไม่พึงพอใจ ด้วยการยกเลิก MOU 44 แล้วก็ต้องการบอกกับอดีตนายกฯ ทักษิณด้วยว่า การกระทำดังกล่าวไม่น่ารักเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อมีมติ ครม.ออกมา ก็ต้องมีกระบวนการต่างๆ เพื่อจะนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศก็ดำเนินการอยู่ 

“แต่ว่ารัฐบาลในขณะนั้นก็ยุบสภาพ้นจากตำแหน่งไป ก็เท่ากับว่าเรื่องนี้ยังค้างอยู่ โดยผ่านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กระทั่งรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ก็เท่ากับว่า MOU 44 ยังมีชีวิตอยู่ และล่าสุด นายกฯ แพทองธารก็ได้ยืนยันว่า MOU 44 ยังมีชีวิต และยังอยู่ในการเตรียมการที่จะแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยต่อไป” กษิต กล่าว

จากข้อมูลที่รวบรวมมาข้างต้น จึงสรุปได้ดังนี้ 1.เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ที่ระบุไว้ชัดเจน 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ทำขึ้นในปี 2544 หรือ MOU44 ยังไม่ใช่ข้อตกลงที่ฝ่ายใดจะยอมรับเส้นเขตแดนหรือผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้าง ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการเจรจาผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะส่งตัวแทนเข้ามา อีกทั้งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ยังต้องมาผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไทย 

และ 3.ปัจจุบัน MOU44 ยังไม่ถูกยกเลิก และรัฐบาลชุดล่าสุดภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ก็กล่าวชัดเจนว่าไม่ยกเลิก โดยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ได้ย้อนถามว่า “ถ้ายกเลิกแล้วได้อะไร” ซึ่งการยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศอาจคิดไม่เหมือนกันได้ เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็ต้องมีข้อตกลงเพื่อมาพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การรักษาความสงบของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นใน MOU นี้ เปิดให้ทั้งสองประเทศพูดคุยกัน ซึ่งหากไทยยกเลิกอาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ไม่มีประโยชน์ใดๆ

หลังจากนี้ก็ต้องรอติดตามกันว่า คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ในฐานะคณะผู้แทนฝ่ายไทยไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชานั้นจะมีใครบ้าง? การเจรจาจะเริ่มต้นเมื่อใด? และผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร?

———————

อ้างอิง

https://www.thaipost.net/hi-light/683187/ (ย้อนมติครม.ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน : ไทยโพสต์ 1 พ.ย. 2567) 

https://isranews.org/article/isranews-news/103045-gov-JTC-thailand-Cambodia-OCA-Dialogue-framework-news.html (‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม : สำนักข่าวอิศรา 4 ต.ค. 2564)

https://www.matichon.co.th/politics/news_4883301 (กษิต อัดแรง พวกปลุกเสียเกาะกูด เล่ายิบเหตุรบ.มาร์ค ยกเลิก MOU44 แต่ไม่สำเร็จ-หนุนเจรจาต่อ : มติชน 5 พ.ย. 2567)

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/89854 (นายกรัฐมนตรี ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีการยกเลิก MOU 44 เตรียมตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย คุย กัมพูชา ยืนยันรัฐบาล รักษาผลประโยชน์ให้คนไทย : Thaigov 4 พ.ย. 2567)


(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 1) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(1/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report50-67-1/

(อ่านต่อ) รายงานพิเศษ (ตอนที่ 2) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67 (2/3) | Cofact
https://blog.cofact.org/special-report-2-3/

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567

รัฐบาลประกาศให้งดทำนาปรัง เนื่องจากน้ำมีน้อย…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1wb5shmib81kn


ท่านอนคว่ำ ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1qccg6ww53spy#_=_


ผลิตภัณฑ์ ONEO ป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสำหรับผู้ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืน ด้วยเทคโนโลยี Go-less ของสวิตเซอร์แลนด์…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่   https://cofact.org/article/23l8eamjhwk1z#_=_


ครม.เคาะวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ 3 วัน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3t0a74kjcv2kk


กรมศุลกากร เตือน ประชาชนอย่ารับหิ้วของข้ามประเทศ เสี่ยงถูกซุกยาเสพติด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3tmrxnooo5irh


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้จ่ายค่าโดยสาร BTS ได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3r858z7inj49q


 “มอเตอร์เวย์ฟรี”ยาว 8 วัน ของขวัญปีใหม่ 2568 จาก กระทรวงคมนาคม

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/wv62llv8u4lb


 แจ้งปิดเบี่ยงถนน 4 เส้นทาง ตั้งแต่ 15 พ.ย. 67 ลุยรถไฟฟ้าสายสีส้ม

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/39kj2xoirao3


‘โคแฟค’ เสริมความรู้ผู้สูงวัยรู้เท่าทันข่าวลวง-มิจฉาชีพออนไลน์

กิจกรรม

โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับชมรมสมองใส ใจสบาย หอภาพยนต์ (องค์การมหาชน) และ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ร่วมเป็นวิทยากรรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย หัวข้อ “สูงวัยยุคใหม่ รู้เท่าทัน ภัยกลลวงมิจฉาชีพ อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” ให้กับสมาชิกชมรมสมองใสใจสบาย ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เริ่มต้นด้วยการชวนคิดด้วยคำถาม ทำไมเราจึงหลงเชื่อ (และ/หรือ) ส่งต่อข้อมูลที่ดูอย่างไรก็ไม่จริงแน่ๆ? เช่น มะนาวโซดารักษามะเร็ง ดูอย่างไรก็ไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่หลายคนก็ยังแชร์ไปให้คนอื่นๆ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะ ความหวังดี กลัวคนใกล้ชิดจะไม่ได้รับสิ่งดีๆ ก็แชร์ต่อโดยที่ไม่ได้อ่านให้ถี่ถ้วนและพิจารณาว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งหากไม่นับการกระทำของมิจฉาชีพ ข่าวลวงส่วนใหญ่ก็มักถูกแชร์ต่อด้วยความรู้สึกหวังดี โดยเฉพาะข่าวลวงที่เกี่ยวกับสุขภาพ

นอกจากนั้น ด้วยความที่วันหนึ่งตนเองกลายมาเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผ่านการทำเคมีบำบัด 8 ครั้ง มีช่วงเวลาที่ร่างกายบอบช้ำ ไม่ค่อยอยากกินอาหาร บางครั้งอยากกินของเปรี้ยวๆ ซ่าๆ และคำตอบคือมะนาวโซดานั่นเอง เพราะกินแล้วรู้สึกสดชื่น เกิดความมั่นใจที่จะเข้ารับการรักษาตามกระบวนการต่อไป แต่เพราะแบบนี้ที่ทำให้ขยายความกันจนเกินไปว่ามะนาวโซดารักษามะเร็ง ซึ่งจริงๆ ควรจะบอกว่า มะนาวโซดา ผู้ป่วยดื่มได้ช่วยให้สดชื่น แต่ต้องระวังความหวาน และกินตอนท้องว่างก็ระวังกรดไหลย้อน เป็นต้น  เช่นเดียวกับกัญชา ที่อาจจะเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งบางระยะและบางคนช่วยบรรเทา แต่กับบางคนไม่เหมาะที่จะใช้ ซึ่งไม่สามารถคิดเองได้เพราะเราไม่ใช่แพทย์ แต่เข้าใจได้ว่าคนไทยค่อนข้างเชื่อเรื่องการแพทย์ทางเลือก และนี่เป็นอีกเหตุผลของการเกิดข่าวลวง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่การพบแพทย์มีข้อจำกัด หลายคนเข้าไม่ถึง หรือแม้จะเดินทางมาได้แต่ก็มีเวลาพบแพทย์จริงๆ ไม่นานนัก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกจะค้นหาและเชื่อข้อมูลที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ต

ทั้งนี้ สมัยที่ตนเองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เวลานั้น กสทช. พยายามส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตระดับ 3G 4G และ 5G ตามลำดับ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย แต่ทุกอย่างมีด้านบวกย่อมมีด้านลบ ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันมากแล้ว เช่น ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน จะมีสักกี่คนที่ใช้บริการโอนเงินทางออนไลน์ แต่กลับกันคือทุกวันนี้ยังมีสักกี่คนที่ไม่ใช้บริการดังกล่าว

เดี๋ยวนี้นานๆ จะเจอคนที่ไม่ทำธุรกรรมออนไลน์ เพราะใช้กันเยอะมากรวมทั้งผู้สูงอายุ  คนที่ไม่ทำก็ไม่ได้ผิดอะไร ปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำ แต่คนที่ใช้ไม่ได้ผิดอะไรเช่นเดียวกัน แต่ต้องตื่นตัวให้มันปลอดภัยมากขึ้น สุภิญญา กล่าว

ขณะที่ ร.ต.ท.กฤษกรณ์ ก้องศักดิ์ศรี รองสารวัตร กลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บท.ตอท. กล่าวว่า คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากมิจฉาชีพโจมตีระบบโดยตรง แต่เกิดจากมิจฉาชีพสามารถทำให้เหยื่อกดติดตั้งโปรแกรมที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถควบคุมอุปกรณ์ของเหยื่อจากระยะไกลได้ หรือทำให้เหยื่อบอกข้อมูลสำคัญกับมิจฉาชีพ เช่น รหัสผ่าน 

เมื่อดูสถิติรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 – 31 ต.ค. 2567 มีจำนวนคดีทั้งหมด 708,141 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 77 ล้านบาท 5 อันดับคดีออนไลน์ อันดับ 1หลอกซื้อ-ขายสินค้า อันดับ 2 หลอกให้โอนเงินโดยอ้างว่าจะมีงานให้ทำ อันดับ 3 หลอกให้กู้เงิน อันดับ 4 หลอกให้ลงทุน และอันดับ 5 การข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

โดยกลโกงที่พบบ่อยๆ เช่น หลอกซื้อ-ขายสินค้า มิจฉาชีพมักใช้วิธีตั้งราคาถูกกว่าที่เคยพบเห็นโดยทั่วไปอย่างมาก อาทิ ของชิ้นหนึ่งเคยเห็นวางขายและเคยซื้อในราคา 800 บาท แต่มีเพจหนึ่งโฆษณาว่าขาย 500 บาท และบอกว่าใครสั่งซื้อไวจะได้ไปเลยเพราะมีเพียงชิ้นเดียว เร้าให้คนเรามีสติน้อยลงเพราะอยากได้ของถูก การขายสินค้าปลอมในราคาเท่าของแท้ เช่น รองเท้ากีฬา ทองคำ การปลอมเพจหรือบัญชีเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือบุคคลมีชื่อเสียง เป็นต้น

วิธีการตรวจสอบ อาทิ 1.ตรวจสอบนอกแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ สามารถนำชื่อบุคคลหรือชื่อบัญชีธนาคารไปค้นหาในเว็บไซต์อย่าง Google ว่าเคยมีประวัติการโกงหรือไม่ หรือที่เว็บไซต์อย่าง www.chaladohn.com หรือ www.blacklistseller.com ซึ่งเป็นฐานข้อมูลผู้ค้าที่เชื่อถือได้และผู้ค้าที่มีประวัติการโกง 2.การดูเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเพจปลอมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขั้นแรกของการสังเกตคือ “ต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้าต่อหลังชื่อเพจเท่านั้น” เพราะปัจจุบันมีมิจฉาชีพหัวใสใช้วิธีตัดต่อเครื่องหมายถูกสีฟ้าใส่เข้าไปในรูปโปรไฟล์เพจให้ดูเหมือนเป็นเพจจริง  หรืออีกวิธีหนึ่งคือ “ดูประวัติการตั้งเพจ (และ/หรือ) เปลี่ยนชื่อเพจ”สามารถเข้าไปดูโดยเริ่มจากคลิกที่ “เกี่ยวกับ (About)” แล้วตามด้วย “ความโปร่งใสของเพจ (Page transparency)” และ “ดูทั้งหมด (See all)”ซึ่งเพจที่ดูแล้วน่าสงสัยจะเป็นเพจปลอม คือมีการเปลี่ยนชื่อบ่อยๆ และชื่อที่เปลี่ยนไม่มีอะไรสอดคล้องกันเลย ดังตัวอย่างที่เคยพบ เช่น บางเพจตั้งชื่อมาตอนแรกขายอาหารเกาหลี สักพักเปลี่ยนชื่อไปขายระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สักพักเปลี่ยนชื่อไปขายกระดาษทิชชู่ และเปลี่ยนไปอื่นๆ อีกมากมาย

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่เห็นแล้วให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นเพจปลอม คือระยะเวลาการตั้งเพจที่สั้นผิดปกติ เช่น มีเพจปลอมแอบอ้างหน่วยงานตำรวจไซเบอร์ เพิ่งตั้งได้เพียง 1 เดือน ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวมีมาแล้วหลายปี เป็นต้น หรือห้างสรรพสินค้าบางเจ้าเปิดกิจการในไทยมาแล้วหลายสิบปี จู่ๆ มีเพจห้างฯ นั้นที่ระบุว่าเพิ่งตั้งได้เพียง 1-2 เดือน ก็คงไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะเป็นเพจจริง

รวมถึงที่อยู่ของแอดมินหรือผู้ดูแลเพจ โดยทั่วไปหากเป็นเพจจริง หากองค์กรหรือกิจการนั้นเปิดทำการในประเทศใด แอดมินทุกคนหรือเกือบทั้งหมดต้องอยู่ในประเทศนั้น เช่น มีเพจปลอมแอบอ้างหน่วยงานรัฐของไทย เมื่อกดเข้าไปดูความโปร่งใสของเพจ พบว่ามีแอดมินอยู่ในประเทศไทยเพียงคนเดียว นอกนั้น 8 คนอยู่ในเมียนมา 1 คนในโคลอมเบีย และอีก 1 คนในอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งประวัติการตั้งและเปลี่ยนชื่อเพจ ระยะเวลาการตั้งเพจ และที่อยู่แอดมินเพจ เป็น 3 เรื่องที่ต้องดูควบคู่กันก่อนตัดสินใจว่าจะเชื่อและติดต่อกับเพจนั้นหรือไม่

มิจฉาชีพก็เริ่มมีการซื้อเพจจากที่มีเครื่องหมายถูกสีฟ้าอยู่แล้ว ซื้อต่อมาแล้วก็เอามายิงโฆษณารับแจ้งความร้องทุกข์หรือเป็นหน่วยงาน คือเวลาเราเตือนภัยอะไรไป มิจฉาชีพจะปรับรูปแบบการทำงานตามที่เตือนภัยเลย ฉะนั้นก็พยายามอัปเดตข่าวสารกันไว้ด้วย ร.ต.ท.กฤษกรณ์ กล่าวถึงกลอุบายใหม่ในการสร้างเพจปลอมของมิจฉาชีพ

ร.ต.ท.กฤษกรณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ หลักฐานที่ต้องเตรียมไว้สำหรับนำไปแจ้งความ เช่น ภาพโปรไฟล์ของผู้ค้า , โพสต์ที่ประกาศขายสินค้า , ข้อความสนทนาเพื่อซื้อ-ขายสินค้า , ชื่อและเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไป พร้อมหลักฐานการโอนเงินหลักฐานเหล่านี้ควรมีให้ครบถ้วนเพื่อให้ตำรวจทำการสืบสวนได้ง่าย

ขณะที่การหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีตัวอย่าง เช่น อ้างว่าเป็นญาติสนิทมิตรสหายมาขอยืมเงิน โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ปลอมติดต่อไปยังเหยื่อ อ้างว่าเปลี่ยนเบอร์ใหม่ และหลายครั้งมิจฉาชีพไม่ได้ปลอมเสียงให้เหมือนบุคคลนั้น แต่ที่เหยื่อหลงเชื่อก็เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถจำเสียงคนได้ทุกคน แต่ ณ เวลานั้นเราได้เผลอนึกตามไปที่มิจฉาชีพบอก ทำให้เชื่อว่าปลายสายเป็นคนที่เรารู้จักจริงๆ ซึ่งวิธีป้องกันคือ หากมีหมายเลขโทรศัพท์ของคนคนนั้นอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ให้ลองโทรศัพท์ไปสอบถามว่าได้ติดต่อมาขอยืมเงินจริงหรือไม่

ส่วนการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับหาช่องทางส่งเอกสารมาให้เหยื่อเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ความยากคือการตรวจสอบว่าเอกสารที่ส่งมาเป็นของจริงหรือไม่ เช่น คนที่เป็นตำรวจอาจรู้เฉพาะแบบเอกสารหรือบัตรประจำตัวของตำรวจ แต่ไม่รู้ว่าแบบเอกสารของการไฟฟ้าหรือบัตรเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามีหน้าตาเป็นอย่างไร วิธีการที่ดีที่สุดคือหากได้รับเอกสารมาก็ให้ไปถามกับหน่วยงานนั้นโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด

ส่วนการส่ง SMS แอบอ้างเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ ประการแรกคือ ปัจจุบันธนาคารยกเลิกการส่ง SMS พร้อมกับแนบ Link ไปแล้ว หลังมิจฉาชีพใช้อุปกรณ์ False Base Station สวมรอยเป็นธนาคารส่ง SMS ปลอมกันมาก ส่วนหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ที่ยังใช้ SMS แนบ Link อยู่ ขอให้ดู URL ของ Link ที่แนบมาให้ดีๆ ว่าใช่ของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ก่อนคลิก เช่นเดียวกับเว็บไซต์ปลอม ที่ต้องดู Link โดยละเอียดว่าสะกดถูกหรือไม่

อนึ่ง ในอดีตมิจฉาชีพจะใช้วิธีโทรศัพท์ข้ามประเทศผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเหยื่ออาจสังเกตและระวังตัวได้ง่ายเพราะหมายเลขโทรศัพท์จะดูแปลกๆ เช่น มีเครื่องหมายบวกนำหน้า หรือมีตัวเลขจำนวนมากกว่าหมายเลขโทรศัพท์ปกติในประเทศไทย ทำให้ระยะหลังๆ มิจฉาชีพหันมาใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Sim Box วิธีการคือนำซิมโทรศัพท์ไปใส่ ซึ่ง 1 ซิมสามารถโทรหาผู้รับได้หลายสิบหรือเป็นร้อยเครื่องแล้วแต่สเปคของอุปกรณ์ Sim Box โดยเหยื่อจะเห็นเป็นหมายเลขโทรศัพท์ 10 หลักซึ่งใช้เป็นปกติในไทย 

ที่น่าห่วงคือ ยังมีคนที่พร้อมเอาชีวิตไปเสี่ยงกับการรับจ้างเปิดบัญชีม้า แม้ปัจจุบันกฎหมายไทยมีลักษณะ ยาแรง คือ หากพบบุคคลใดขายหรือปล่อยให้นำบัญชีธนาคารของตนเองไปให้บุคคลอื่นใช้ทำผิดกฎหมาย บุคคลนั้นจะถูกอายัดทุกบัญชีธนาคารที่มี แม้กระทั่งบัญชีที่ไว้ใช้รับเงินเดือนหรือทำธุรกิจตามปกติ แต่ปัจจุบันก็ยังพบโฆษณาชักชวนให้เปิดบัญชีแล้วนำไปขายอยู่เนืองๆ โดยคนเหล่านี้จะไปแฝงตัวอยู่ในกลุ่มหางาน ซึ่งสำหรับคนที่กำลังลำบากเรื่องการหาเงิน-หางาน ก็อาจยอมเสี่ยงถูกจับกุมฐานเปิดบัญชีม้าโดยแลกกับเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาท

“ไลน์” ก็เป็นอีกช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงเหยื่อ เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชั่นสนทนาที่ได้รับความนิยมมาก อีกทั้งมีบริการ “บัญชีธุรกิจ” ที่แบ่งสัญลักษณ์เป็น 3 ระดับ คือ “โล่สีเทา” ลงทะเบียนได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่อีก 2 ระดับที่สูงกว่าอย่าง “โล่สีน้ำเงิน – โล่สีเขียว” ต้องส่งเอกสารยืนยันตัวตนที่ค่อนข้างยุ่งยากและต้องเสียค่าบริการรายเดือน ดังนั้นหากเป็นธุรกิจหรือหน่วยงานที่ต้องการความน่าเชื่อถือ ก็มักจะลงทุนเพื่อให้ไลน์รับรองเป็นเครื่องหมายโล่สีน้ำเงินหรือสีเขียว เพื่อป้องกันมิจฉาชีพสร้างบัญชีไลน์ปลอมขึ้นมาแอบอ้าง

แต่ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงแบบใด ระวังไว้ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจะดีที่สุด” เพราะเงินที่โอนไปจะถูกส่งผ่านบัญชีม้าเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่นาที และหลายครั้งยังพบการแปลงเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) จนติดตามกลับคืนได้ยาก อีกทั้งไม่ว่าจะสืบสวนอย่างไรแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสาวไปถึงตัวการใหญ่ เนื่องจากมิจฉาชีพเหล่านี้มีฐานปฏิบัติการอยู่ในต่างประเทศ แม้จะใกล้กันในระดับเพื่อนบ้าน แต่ก็อยู่นอกเขตอำนาจหน้าที่ที่ตำรวจไทยจะเข้าไปจับกุมดำเนินคดี

หมายเหตุ : สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/100051119811082/videos/571601168590964/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567

ดื่มน้ำโซดาช่วยย่อยอาหารได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2n2rm2544h6s3#_=_


จำหน่ายบัตรราคาพิเศษพร้อมการเดินทางไม่จำกัดบนระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบเป็นเวลา 6 เดือน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2kzt593uvjxeq


การดื่มสารละลายคลอรีนไดออกไซต์ (CDS) ผสมน้ำทุกวันจะช่วย‘ล้างสารพิษ’จากไวรัส…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/k5r26g6xuj7w


บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2um4wzpkbpw2l


ลอยกระทง 2567 เที่ยวงาน Bangkok River Festival จัด 10 ท่าน้ำ มีเรือรับ-ส่งฟรี

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/14xli072l92vm


ลุ้นอีกปี! ขึ้นค่าแรง 400 บาทของขวัญปีใหม่ 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3h18j1q9c349s



‘สิทธิประกันสังคม’ เช็กเลย สถานพยาบาล 77 แห่ง ฟอกไตด้วย ‘เครื่อง APD’ ฟรี

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1lpb5yrx6so09


กทม.เตรียมบังคับฝังไมโครชิป “สุนัข-แมว” ทุกตัว ลดปัญหาสัตว์จร

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/21g5nefw8am10u


กทม. ปรับปรุงค่าธรรมเนียมค่าเก็บขยะรายเดือนใหม่ แยกขยะจ่าย 20 บาท ไม่แยก 60 บาท

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/255i8ab4by732


ตัดสายโจรหรือมิจฉาชีพ กด *1185# แจ้งปุ๊บ บล็อกไว

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/19zgzyfmr5f16


การใส่หูฟังนานๆทำให้หูหนวกได้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/kb4sotwhve7x


ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ หากค่าฝุ่น PM 2.5 สีแดง

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/j42x5ae817al


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567

ธนาคารกรุงไทย ส่งเอกสารแจ้งตรวจพบความผิดปกติแอปพลิเคชัน Krung  NEXT…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/ndrv5jyy4m2s



อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกสิริธารชั่วคราว

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2xn3mm0f4tb4h


AOT เตรียมเปิดใช้ระบบสแกนหน้าเช็คอินก่อนขึ้นเครื่อง เริ่ม 1 พ.ย. 67 นี้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/18ityjqu87xxb


สวมทองคำตอนฟ้าคะนองทำให้ฟ้าผ่า

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2m3gvcbam7ezk


รับประทาน“เนื้อแดง”ในปริมาณมากเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/110vah0qxbqf4


เข้าวัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ รักษาโรคซึมเศร้าได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1nq0dl9vocdwz


เตรียมพบกิจกรรม‘เดือนการฟังแห่งชาติ’พฤศจิกายนนี้! เพราะ‘การฟังอย่างเข้าใจ’ดีต่อทั้งตนเองและคนรอบข้าง

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)ในวันที่ 17 ต.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาส ในประเด็น เดือนแห่งการฟัง ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

ดร.สรยุทธ อธิบายว่า เดือนพฤศจิกายนนั้นถูกกำหนดเป็น เดือนการฟังแห่งชาติ (National Month of Listening) ในขณะที่ต่างประเทศแม้จะส่งเสริมการฟังอยู่บ้าง แต่จะส่งเสริมในลักษณะกำหนดเป็นวัน  ใน 1 ปีมี 365 วัน กำหนดให้มีเพียงวันเดียว ประกอบกับปัจจุบันมีข้อมูลที่ท่วมท้น จริงบ้างเท็จบ้าง พริบตาเดียววันแห่งการฟังก็ผ่านไปแล้ว นำมาซึ่งการพูดคุยกัน จะเอาเป็นสัปดาห์ดีหรือไม่ ก่อนจะมาสรุปที่เป็นเดือนจะดีกว่า อีกทั้งเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่ 11 ซึ่งตัวเลขมีลักษณะเหมือนคนคู่กัน 

จริงๆ เดือนนี้หลายประเทศในโลกให้ความสำคัญ จะมี World Hello Day หรือวันสวัสดีโลก มี World Kindness Day หรือวันความเมตตาโลก มี International Day of Tolerance หรือวันที่เรายอมรับความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงจริงๆ ในอเมริกา จะมี Thanksgiving (วันขอบคุณพระเจ้า) แล้วก็จะมี Black Friday  ที่ผู้คนออกไปชอปปิ้ง หลังจากนั้น 1 วัน เขาจัดเป็นวันแห่งการฟัง” 

 ดร.สรยุทธ กล่าวต่อไปว่า ในวงสนทนานั้นจะมีทั้งการฟังและการพูด แต่หากสังเกตให้ดีๆ เมื่อมีคนมารวมตัวกัน เช่น ลองนึกถึงวันที่กลุ่มเพื่อนสมัยเรียนกลับมารวมกลุ่มสังสรรค์ ความสนใจของคนส่วนใหญ่คือ การคิดว่าเมื่อไหร่ตนเองจะมีช่องให้พูดบ้าง น้อยคนที่จะอยากรู้จักและตั้งใจฟังคนที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกำหนดเดือนแห่งการฟัง (หรือเดือนการฟังแห่งชาติ) ขึ้นมา คือเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เป็นของที่เราสามารถมอบให้แก่กันและกันได้ตลอดเวลา เพราะ การฟังและความเข้าใจก็เหมือนของขวัญที่ให้ได้กับทุกคนโดยไม่ต้องใช้เงินทองซื้อหา แต่ใช้เพียงสิ่งที่มีอยู่แล้วคือความตั้งใจและเวลา ด้านหนึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น แต่อีกด้านก็ทำให้เข้าใจตนเองด้วย เพราะนอกจากการฟังผู้อื่นแล้วยังมีการฟังโลก ธรรมชาติและสังคม โลกเป็นอย่างไร? ร้อนหรือว่าเดือด? ความเป็นไปของคนในสังคมเป็นอย่างไร? หรือในระดับลงมาก็คือคนที่อยู่ตรงหน้าเช่น ในที่ทำงาน ในครอบครัว

แต่ก่อนจะไปฟังผู้อื่นหรือโลก ต้องเริ่มจาก ฟังตนเองก่อน บางครั้งเราฟังคนที่อยู่ตรงหน้าได้ไม่ดีเพราะเราอยู่กับโลกในความคิดของเรา จึงเป็นที่มาของหนึ่งในแนวคิดที่นำมารณรงค์ในเดือนแห่งการฟัง ว่าด้วย หลักการฟังที่ดี ที่มี 3 ประการ ได้แก่ 1.ให้ 100% กับคนตรงหน้า 2.เท่าทันเสียงความคิดของเรา ไม่ไหลไปตามความคิด และ 3.ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของทั้งคนที่กำลังพูดคุยอยู่และตนเอง

“เดี๋ยวนี้เรามีเครื่องมือถอดจิตกันเยอะ ก็คือโทรศัพท์มือถือ บางทีหัวหน้าคุยกับลูกน้อง แต่ไม่ได้อยู่กับเขา 100% ดังนั้นวิธี 100% ที่ง่ายที่สุดคือวางมือถือลง มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารพูดคุย เขาบอกว่าแค่วางบนโต๊ะก็ไม่สุภาพ เพราะเป็นการบอกว่าในวงสนทนา ในโต๊ะอาหารที่เรากิน การวางมือถือแม้จะคว่ำหน้าลง มันบอกคนตรงหน้าว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากกว่า หากเก็บใส่ในกระเป๋าเลย คนก็จะรู้สึกว่าคนตรงหน้าอยู่กับเรา 100%”

ประการต่อมาคือการเท่าทันความคิดที่อยู่ในหัวสมองของเรา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ความคิดทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะเราถูกฝึกถูกสอนมาทั้งในครอบครัวและในภาคการศึกษาให้อยู่กับความคิด แต่การพูดคุยกันบ่อยครั้งคนเราก็ไม่ค่อยจะใส่ใจกับคนที่อยู่ตรงหน้า คือหูฟังผ่านๆ พลางพยักหน้าไปด้วย แต่ในใจไปคิดในเรื่องอื่น อาทิ สังเกตการแต่งกายของคู่สนทนาแล้วคิดในใจว่าวันนี้แต่งตัวดีเลือกเสื้อผ้าหน้าผมได้ดี

โดยเฉพาะเมื่อต้องฟังเรื่องที่มีความเห็นต่าง เช่น เลือกพรรคการเมืองคนละพรรค หรือคน 2 คนจะไปเที่ยวด้วยกัน คู่สนทนาอยากไปทะเลแต่ตัวเราอยากไปภูเขา อีกฝ่ายพูดเรื่องทะเลไปแต่เราที่ฟังอยู่ใจก็คิดถึงแต่ภูเขา หรือในทางกลับกัน พอคุยกับคนที่มีความเห็นเหมือนกันก็จะไหลไปกับความคิดที่สอดคล้องกับอีกฝ่ายไปเสียทั้งหมด การฝึกเข้าใจตนเองเพื่อเข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้า ยังช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงได้ด้วย”เพราะมิจฉาชีพจะใช้ประโยชน์จากกิเลสหรือความอยากได้ของตัวเรา เช่น เมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์มาหลอกลวงก็จะอ้างเรื่องราวต่างๆ อาทิ บอกว่าสายโทรศัพท์กำลังจะถูกตัดเพราะค้างชำระค่าบริการ สิ่งแรกหลังจากได้ฟังคือเราจะตกใจและตื่นเต้น สภาวะแบบนี้จะทำให้ไม่ได้สังเกตตนเองแต่เอาใจไปอยู่กับเรื่องราว ซึ่งมิจฉาชีพก็จะบอกให้แก้ไขและแน่นอนว่าต้องมีการโอนเงิน แต่เมื่อเปลี่ยนจากตื่นเต้นเป็นตื่นตัว จะนำไปสู่การตั้งใจฟังและมักตามด้วยการจับสิ่งผิดปกติได้ อาทิ น้ำเสียง วิธีการพูด  

ประการสุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของทั้งคนที่กำลังพูดคุยอยู่และตนเอง หากไม่ฝึกในเรื่องนี้เราก็จะไปมุ่งใส่ใจกันแต่ข้อความที่ได้ฟัง มีตัวอย่างของคนที่เป็นคู่รัก ฝ่ายหนึ่งบอก ไปไกลๆ เลย’ อาจไม่ได้หมายความว่าจะไล่อีกฝ่ายไปจริงๆ แต่มีนัยว่าให้มาดูแลกันหน่อยแม้ไม่ต้องประชิดตัวกันก็ได้เพราะกำลังหงุดหงิดแต่หากเราไม่ใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกก็จะพลาดความหมายตรงนี้ไป 

“คนจีบกันใหม่ๆ เขาคุยกันระดับเสียงเป็นอย่างไร? มันจะกระซิบกระซาบ ที่เขากระซิบกระซาบกันเพราะอะไร? แค่กระซิบมันก็ได้ยิน แล้วจริงๆ แค่จะอ้าปากมันก็ได้ยินเสียงที่ออกมาจากใจ-จากแววตา หรือคนที่คุยกันไปเสียงดังทะเลาะกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมต้องเสียงดังขึ้น? เพราะเขารู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ได้ยินสิ่งที่จะพูด เลยต้องเสียงดังขึ้นเผื่อคนตรงหน้าจะได้ยินสิ่งที่บอก แต่ถ้าคนข้างหน้ารับฟัง พยักหน้าแล้วทวนสิ่งที่เขาพูดมาว่าอย่างนี้ใช่ไหม? เขาก็จะเบาลงเย็นลงตามธรรมชาติ เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่พูดคนข้างหน้าได้ยินแล้ว”

 ดร.สรยุทธ อธิบายประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า ไม่มีเหตุผลที่มนุษย์จะพูดซ้ำย้ำประโยคเดิมด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นเมื่ออีกฝ่ายได้ยินและทวนคำพูดนั้นแล้วเพราะการที่ทวนคำพูดได้ก็แสดงว่าได้ยินแล้ว การพูดคุยก็จะง่ายขึ้น ทั้งนี้ การทำงานของธนาคารจิตอาสา งานเบื้องหน้าคืองานอาสา หรือการทำเรื่องความสุขของประเทศไทย สร้างเนื้อหาการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ แต่งานเบื้องหลังคือเรื่อง สุขภาวะทางปัญญา อธิบายง่ายๆ ก็คือความสุขที่เกิดจากการเข้าใจตนเอง เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับผู้อื่น รวมถึงกับโลกและธรรมชาติ

การฟังเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ทุกที่-ทุกเวลา แม้กระทั่งตอนนอน เพราะเมื่อเราฝึกฟังตนเองให้ดีไม่เป็น ก็จะเก็บเรื่องราวต่างๆ ไปคิดไปฝัน เมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น แต่หากฟังตนเองและผ่อนคลายให้เป็นก็จะทำให้นอนหลับได้สบาย แม้จะใช้เวลาไม่นานแต่ตื่นมาก็สดชื่นได้ โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเดือนแห่งการฟังจะมี 3 อย่าง 1.Listenian Space 2.Listenian Class และ 3.Listenian Challenge ซึ่ง Listenian หมายถึงคนที่จะมาฝึกฝนตนเอง พัฒนาศักยภาพและกลายเป็นผู้ฟังที่ดี

โดย Listenian Space คือพื้นที่ที่จะให้คนมามีประสบการณ์ได้ฟังการรับฟังที่ดี ซึ่งตลอดเดือนตุลาคม 2567 ธนาคารจิตอาสาได้ฝึกอบรมอาสาสมัครหลายร้อยคน รวมถึงจัดการฝึกอบรมเรื่องการฟังอยู่ทุกเดือนต่อเนื่องมา 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาดก็จัดผ่านโปรแกรม Zoomทุกวัน ซึ่งการสร้าง Listenian นี้ก็เพื่อให้ไปจัดพื้นที่รับฟังในที่ต่างๆ ตั้งแต่พื้นที่ธรรมชาติอย่างสวนรถไฟ พื้นที่รวมกลุ่มของวัยรุ่นอย่างสามย่านมิตรทาวน์ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ สถานปฏิบัติธรรมสวนโมกข์กรุงเทพ ฯลฯ

รวมถึงการจัดพื้นที่รับฟังแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น พ่อแม่ที่กำลังต้องเลี้ยงลูก ผู้หญิง LGBTQ+ ทั้งกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดและผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยหวังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นว่าการมีผู้ฟังที่ดีนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไปฟังผู้อื่นก็จะได้เป็นผู้รับฟังที่ดีแบบนี้บ้าง ขณะที่ Listenian Class สำหรับคนที่เห็นประโยชน์ของการฟังที่ดีแต่ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2567 จะมีการเปิดอบรมทั้งวันธรรมดาและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

สุดท้ายคือ “Listenian Challenge” เป็นการท้าทายตนเองโดยออกจากพื้นที่คุ้นชิน เช่น คนเป็นพ่อแม่ ลูกเดินกลับบ้านมาเสียงดัง ถอดรองเท้าวางไม่เรียบร้อย หากความคุ้นชินคือการโวยวายออกไป อยากให้ลองฝึกรับมือในรูปแบบอื่น หรือนั่งรับประทานอาหารกับคนอื่นๆ ที่บ้าน ปกติจะชอบเล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วยก็ลองไม่ใช้ดู การลองใช้เวลากับคนตรงหน้าสัก 5 นาที ฟังอย่างเดียวโดยไม่ทำอย่างอื่นเลย ไปจนถึงการฟังคนที่เราไม่เห็นด้วยและอาจทำให้หัวร้อนได้ ให้เวลาสัก 5 นาที แล้วมาเล่าว่าเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น

ผมคิดว่าการฟัง จะพูดได้ว่ามันแก้ปัญหาได้ทุกอย่างในโลกเลย เพราะหลายปัญหาในใจเรามันเกิดจากเรื่องของการฟัง แม้เป็นปัญหาที่อาจจะอยู่นอกตัวแล้วเรารู้สึกว่ามันไกลไม่ใช่เรื่องการฟังปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์ ทุกอย่างสามารถทำให้คลี่คลายและดีขึ้นด้วยการฟัง ก็อยากเชิญชวนให้พวกเราทุกคนได้มาลองฝึกฟัง และลองมอบของขวัญของการรับฟังให้กับตัวเราและคนที่อยู่รอบๆ ตัวเราได้” ดร.สรยุทธ ฝากทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.happinessisthailand.com/หรือเพจเฟซบุ๊ก “ความสุขประเทศไทย” https://www.facebook.com/happinessisthailand/?locale=th_TH

รับขมคลิป https://www.facebook.com/share/r/fdxSLKJGbm83ANMT/?mibextid=qDwCgo

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

การ์ด Fact Check เด้อ ดาวน์โหลดฟรี

Editors’ Picks

ท่านที่ต้องการการ์ด Fact Check เด้อ วันนี้เรามีให้โหลด  เพื่อนำไปเป็นการ์ดชวนตั้งคำถามและข้อสงสัยในการวิเคราะห์ว่าเนื้อหาไหนจริงหรือเท็จ  ให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมหรือแก๊งค์มิจฉาชีพ  หรือใครสนใจนำไปเป็นหลักสูตรในการสอนต่อก็ยินดีเลย

ดาวน์โหลดได้ตามลิ้งค์นี้เลย

https://drive.google.com/drive/folders/1EwxSbuPIcauHiD8RvfXMDewJIbLQ

ขอบคุณข้อมูล