สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2567

 เว็บไซต์พนันออนไลน์ในประเทศไทยยังคงผิดกฎหมาย  

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3f5w3i4wy5jxn#_=_


กรมอุตุฯ ประกาศเมืองไทย เข้าสู่ฤดูหนาว 29 ต.ค. อุณหภูมิต่ำ6-8 องศา

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/amwibgu07tw0


 องุ่นไชน์มัสแคท” ทานได้ อย.แนะล้างให้ถูกวิธีเพื่อลดสารตกค้าง

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/272iz5pa6w6fa


  รายชื่อ 42 จังหวัด ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.33 และ ม.39 เหลือ 283 บาท ถึง มี.ค. 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3q4fkro2hi6i0


   WI-FI สาธารณะอันตราย

อ่านต่อได้ที่   https://cofact.org/article/2mu5kmh4bk2iu#_=_


จาก‘สัปดาห์รู้เท่าทันสื่อ’สู่‘เดือนการฟังแห่งชาติ’ ทักษะ‘ตระหนักรู้ใจตน-ฟังคนอย่างมีคุณภาพ’สำคัญในยุคดิจิทัล

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)ในวันที่ 21 ต.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในหัวข้อ “จากสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ MIDL สู่เดือนการฟังแห่งชาติ”

โดยคุณญาณี เริ่มต้นด้วยการอธิบายคำว่า “MIDL” ที่หมายถึง Media Information Digital Literacy เป็นการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในยุคปัจจุบันและอนาคตที่เครือข่ายหลายๆ ประเทศเห็นความสำคัญของทักษะนี้  ทางองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) จึงได้จัดสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อในเดือนตุลาคมของทุกปีในระดับสากล ส่วนแต่ละประเทศก็จะจัดงานภายในประเทศตนเอง  สำหรับประเทศไทย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค. 2567 ณ อาคาร KX Knowledge Xchange (สถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี) นอกจากนั้นจะมีกิจกรรมกระจายในต่างจังหวัดด้วย จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2567 โดยภาคีเครือข่าย มีรูปแบบกิจกรรมทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยวัตถุประสงค์ของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ ในระดับสากลมุ่งเน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานสร้างทักษะเท่าทันสื่อ การเฝ้าระวังสื่อ การป้องกันภัยจากสื่อออนไลน์กับเด็กและเยาวชน

จุดสำคัญคือ ประเทศไทยเองยังขาดการบูรณาการในการขับเคลื่อนเรื่องทักษะเท่าทันสื่อ  ดังนั้นงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อที่จัดขึ้นจึงเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อคนทำงานขับเคลื่อนด้านของ MIDL ในประเทศ ให้มารวมกันแล้วได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้เชื่อมโยงงานกัน มีโอกาสได้ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย

สำหรับงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ เจ้าภาพหลักคือสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี อีกทั้งยังมี 30 เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จะมารวมตัวกันสร้างพื้นที่ที่มีความหลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมร้อยกัน

คุณญาณี เล่าต่อไปว่า หากย้อนกลับไปราว 10 กว่าปีก่อน เรื่องการรู้เท่าทันสื่อจะแตกต่างกับในปัจจุบันอย่างมาก เช่น ยุคนั้นจะเน้นเรื่องสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความซับซ้อนของสื่อมากขึ้น ข้อดีคือได้ใช้ประโยชน์ทั้งการเรียนรู้ ความบันเทิง การเชื่อมความสัมพันธ์ แต่ก็ต้องระวังภัยคุกคามที่เข้ามา เช่น ภัยต่อเด็กและเยาวชน เรื่องเพศ การพนันออนไลน์ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การระรานทางออนไลน์ (Cyberbullying) ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ซึ่งนอกจากรู้เท่าทันแล้วต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียว โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของภาคพลเมือง ให้คนทั่วไปซึ่งทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือเป็นพลเมืองที่เท่าทันสื่อและใช้สื่ออย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเอง หรือยกระดับขึ้นไปกว่านั้นคือการเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์สื่อออกไปยังชุมชนหรือสภาพแวดล้อมที่คนคนนั้นอยู่ได้ด้วย  

และเนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดังนั้นสัญลักษณ์ของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ จึงออกแบบมาสค็อตของงานคือ “A (m) I” ที่พ้องกับคำว่า “Ami” ที่แปลว่า เพื่อน ในภาษาฝรั่งเศส ให้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับ แมงมุม สื่อถือการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ โดยเริ่มจากตนเองก่อน เช่น เมื่อจะใช้สื่อต้องตระหนักรู้ถึงความรู้สึกในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร หรือก็คือ มีสติ ก่อนตัดสินใจโต้ตอบหรือสื่อสารกลับไป 

“ที่สำคัญคือ งานนี้จะไม่ใช่คนทำงานที่เป็นผู้ใหญ่ จะมีเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นพลเมืองในยุคที่ดิจิทัลที่ขับเคลื่อนแล้วก็ใช้สื่อเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในชุมชนในพื้นที่ของเขา ฉะนั้นถ้าเราดูจากวาระของงาน โดยเฉพาะในวันแรกที่มีตัวแทนทั้งจาก UNESCO แล้วก็จะมีผู้แทนที่เป็นเยาวชนคนหนุ่ม-สาว ได้เป็นผู้พูดหลัก ที่จะเข้ามาพูดถึงการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI ในการสร้างสรรค์ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แล้วก็การรู้เท่าทันทั้งโลกภายในและโลกภายนอก”

จากงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ หรือ MIDL Week สู่ เดือนการฟังแห่งชาติ ที่มีธนาคารจิตอาสา และทีมงานเพจความสุขประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มชักชวนเครือข่ายเข้ามาร่วมกิจกรรม ที่มาที่ไปของงานนี้เนื่องจากการฟังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความสัมพันธ์ในทุกระดับให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่คนพูดหรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ กันมาก แต่ฟังกันไม่เป็น แม้กระทั่งการฟังเสียงความต้องการ คุณค่าและความรู้สึกภายในของตนเอง รวมถึงการฟังผู้อื่นที่มาพูดคุยกับเรา ซึ่งการฟังอย่างมีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญและต้องเป็นทักษะ

“คนปัจจุบันมีความเหงาโดดเดี่ยวเยอะ และยิ่งเรามาใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลหรือโลกออนไลน์เยอะมากๆ เราอยู่กับมือถือ อยู่กับโน้ตบุ๊กต่างๆ มันทำให้คุณภาพของความสัมพันธ์นั้นมันค่อยๆ ถอยลงไป คุณภาพมันไม่ดีเพราะเราอยู่กับอะไรที่มันไม่ใช่คน เราไม่มีโอกาสได้วางมือถือหรืออุปกรณ์สื่อสาร ได้สื่อสารแบบมนุษย์กับมนุษย์ นี่คือช่องว่างของปัญหาหรือความสัมพันธ์”

คุณญาณี กล่าวว่า การฟังเป็นทักษะที่ต้องใช้การฝึกฝน อย่างข้อแรกที่เป็นหลักคือ การอยู่กับคนตรงหน้าแบบ 100%” ไม่มีการทำอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นใช้โทรศัพท์มือถือ รับประทานอาหาร ขับรถ ฯลฯ  ประการต่อมาคือ คนเรามักฟังแล้วตกร่องเช่น ฟังแล้วสอดแทรก ไม่ว่าตั้งคำถาม แนะนำ ตัดสิน ฯลฯ ซึ่งบางทีอีกฝ่ายอาจต้องการเพียงการระบาย อีกประการหนึ่ง เท่าทันอารมณ์ของตนเอง” รู้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไรขณะฟัง หากสามารถฝึกทักษะการรับฟังได้ดี ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งกับตนเองและคนรอบข้างดีขึ้น 

ทั้งนี้ ในส่วนของกิจกรรมสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ (MIDL Week) ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน Child and Youth Media Institute” ซึ่งนอกจากการเข้าร่วมทางออนไซต์แล้ว บางกิจกรรมยังสามารถรับชมได้ทางออนไลน์ เช่น กิจกรรมบนเวทีใหญ่  หรือในแต่ละห้องย่อยก็จะมีภาคีเครือข่ายร่วมถ่ายทอดสด ขณะที่กิจกรรมเดือนแห่งการฟังแห่งชาติ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ความสุขประเทศไทย

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

‘บัญชีล้อเลียน’คล้ายคนดัง! ‘อีลอน มัสก์’เปิดให้เล่นสนุกบน‘X’ ผู้ใช้งานพึงสังเกต-โพสต์เกินขอบเขตระวังผิดกฎหมาย : Cofact Report 49/67

By : Zhang Taehun

ภาพที่ 1 : โพสต์จากบัญชี X ใช้ชื่อว่า Elon Musk (Parody) @ElonMuskAOC ซึ่งเป็นบัญชีล้อเลียน อีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์ม X ระบุว่าจะซื้อ “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระในประเทศไทย

“Should I buy Moo Deng?”

“I would treat her well and post many funny videos of her”

ข้อความข้างต้นที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ฉันควรซื้อหมูเด้งไหม และ ฉันจะดูแลเธออย่างดีและโพสต์วิดีโอตลก  ของเธออีกมากมาย มาจากโพสต์บนแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) จากบัญชีที่หน้าตาคล้ายกับของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ในช่วงที่กระแสของ “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระเพศเมีย ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โด่งดังจากประเทศไทยไปไกลทั่วโลก ขนาดรายการตลกในสหรัฐอเมริกาอย่าง Saturday Night Live ก็ยังนำไปล้อเลียนเป็นที่ขบขัน

เพียงแต่ นี่ไม่ใช่บัญชีจริง..แต่เป็นบัญชีล้อเลียนสังเกตได้จากมีคำต่อท้ายว่า “Parody” ที่แปลว่าล้อเลียน นอกจากนั้น ชื่อหลังเครื่องหมาย @ ยังต่างกัน โดยบัญชีล้อเลียน อีลอน มัสก์ จะใช้ชื่อว่า Elon Musk (Parody) @ElonMuskAOC ในขณะที่บัญชีจริงของเจ้าตัว จะใช้ชื่อว่า Elon Musk @elonmusk แต่ถึงจะประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่บัญชีจริงของอีลอน มัสก์ โพสต์จากบัญชีล้อเลียนดังกล่าวก็ยังถูกนำไปแชร์กันอย่างสนุกสนานทั้งในสื่อสังคมออนไสน์ รวมถึงสื่อหลักในประเทศไทยก็ร่วมแชร์ด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า บัญชี Elon Musk (Parody) @ElonMuskAOC เป็นอีกบัญชีหนึ่งที่อีลอน มัสก์ ใช้บนแพลตฟอร์ม X ดังรายงานข่าว Elon Musk Responds To His Parody Account’s “Lizard Boy” Tweet โดยสถานีโทรทัศน์ NDTV ของอินเดีย เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566 มีการอ้างถึงบัญชี Elon Musk @elonmusk ซึ่งเป็นบัญชีทางการของ อีลอน มัสก์ ได้ตอบกลับโพสต์ของบัญชีล้อเลียนว่า “So many people think this account is me. (มีคนจำนวนมากคิดว่าบัญชีนี้คือตัวผมเอง)” 

อีลอน มัสก์ ยังตอบกลับบัญชีของ MrBeast ยูทูบเบอร์คนดัง ที่เข้ามาถามว่า “It’s not?(แล้วไม่ใช่หรือ?) ว่า “Nope (ไม่ใช่)” ดังนั้นตามความเข้าใจในปัจจุบัน บัญชี Elon Musk (Parody) @ElonMuskAOC คาดว่าคงมีแฟนคลับของมหาเศรษฐีเจ้าของแพลตฟอร์ม X รวมถึงแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla และเทคโนโลยีอวกาศอย่าง SpaceX ทำขึ้นเพื่อความบันเทิง และเจ้าตัวก็ดูจะไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไร

ภาพที่ 2 : บัญชี Elon Musk @elonmusk ซึ่ง อีลอน มัสก์ ยืนยันว่าเป็นบัญชีจริงของเจ้าตัว โพสต์โต้ตอบกับบัญชี Elon Musk (Parody) @ElonMuskAOCที่ถูกทำขึ้นเพื่อล้อเลียน

ภาพที่ 3 : บัญชี Elon Musk @elonmusk ซึ่ง อีลอน มัสก์ ยืนยันว่าเป็นบัญชีจริงของเจ้าตัว โพสต์โต้ตอบกับ MrBeast ยูทูบเบอร์คนดัง

เมื่อไปดูกฎระเบียบการใช้งานแพลตฟอร์ม X ในหัวข้อ “Misleading and deceptive identities policy (นโยบายว่าด้วยการระบุตัวตนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและการหลอกลวง)” ได้ระบุว่า การสร้างบัญชีล้อเลียน (Parody) ความคิดเห็น (Commentary) หรือแฟนคลับ (Fans) จะไม่ถือว่าละเมิดกฎการใช้งาน ตราบเท่าที่มีการระบุให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อให้สามารถแยกแยะความแตกต่างกับบัญชีจริงของบุคคลหรือองค์กรนั้นๆ โดยมีคำแนะนำดังนี้  

การตั้งชื่อบัญชี (Account Name) และคำอธิบายประวัติ (Bio) ควรระบุอย่างชัดเจนว่าบัญชีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือองค์กรที่อ้างถึง โดยสามารถใช้ถ้อยคำ เช่น ล้อเลียน (Parody) , ปลอม (Fake) , แฟนคลับ (Fans) , ความคิดเห็น (Commentary) เป็นต้น หรือจะใช้คำอื่นก็ได้ แต่ต้องเป็นถ้อยคำที่ทุกคนเห็นแล้วเข้าใจได้ง่าย และไม่ควรใช้ถ้อยคำที่สื่อไปในทางมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ทางการ (Official)

ภาพที่ 4 : กฎระเบียบการใช้งานแพลตฟอร์ม X ว่าด้วยการสร้างบัญชีล้อเลียน (Parody) ความคิดเห็น (Commentary) หรือแฟนคลับ (Fans)

แม้จะระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นบัญชีล้อเลียนไม่ใช่บัญชีจริง ในบางกรณีหรือบางประเทศก็อาจ ไม่ตลกด้วย ดังรายงานข่าว “Gurdwara body sends legal notice to X over fake account, hurting Sikh sentiments” บนเว็บไซต์นิตยสาร India Today ของอินเดีย เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ระบุว่า Shiromani Gurdwara Parbandhak Committee (SGPC) ที่เป็นองค์กรของศาสนาซิกข์ ได้เปิดเผยว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับแพลตฟอร์ม X เนื่องจากไม่ยอมลบบัญชีทั้งที่ปลอม (Fake) และล้อเลียน (Parody) ที่ใช้ชื่อของ SGPC ออกจากระบบ 

รายงานข่าวอ้างถึงแถลงการณ์ของ SGPC ที่ระบุว่า บรรดาบัญชีปลอมและล้อเลียน มีการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายสร้างความเกลียดชังทางศาสนาทำให้ชาวซิกข์ไม่สบายใจ และกระทบต่อการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องในสังคม ซึ่งตามกฎหมายของอินเดีย การกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (Indian Penal Code) พ.ร.บ.เทคโนโลยีสารสนเทศ พ.ศ.2544 (Information Technology Act 2001) และกฎกระทรวงว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ พ.ศ.2564 (Information Technology Rules 2021)

ปาร์ทัป ซิงห์ (Partap Singh) เลขาธิการ SGPCกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ SGPC เคยทำเรื่องไปยังแพลตฟอร์มแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยบัญชีปลอมหรือบัญชีล้อเลียนดังกล่าวกำลังแพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อสร้างความเกลียดชังต่อองค์กรศาสนาซิกข์และชุมชนซิกข์ ซึ่งไม่อาจยอมรับได้อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียทั้งส่วนกลางและมลรัฐต่างๆ ดำเนินการกับแพลตฟอร์ม X ท่ามกลางการปั่นกระแสสร้างความเกลียดชังยังคงดำเนินต่อไป 

หรือกรณีการสร้างบัญชีล้อเลียน ครุป ราธี (Dhruv Rathee) ยูทูบเบอร์คนดังในอินเดีย ตามรายงานข่าว “Parody account’s post lands Youtuber Dhruv Rathee in legal trouble” โดย นสพ. The Hindu เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 ระบุว่า ยูทูบเบอร์คนดังกล่าวถูกตำรวจรัฐมหาราษฏระ จับกุมเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 ในข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.เทคโนโลยีสารสนเทศ หลังพบมีบัญชีที่ระบุชื่อของเจ้าตัว โพสต์กล่าวหาลูกสาวของ ออม เบอร์ลา (Om Birla) ประธานสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย ว่าผ่านการสอบแข่งขันทั้งที่ไม่ได้มาสอบ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า บัญชีแพลตฟอร์ม X ดังกล่าว ใช้ชื่อว่า Dhruv Rathee (Parody) @dhruvrahtree และมีคำอธิบายประวัติว่า นี่คือบัญชีแฟนคลับและบัญชีล้อเลียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบัญชีต้นฉบับ @dhruv_rathee ไม่ได้แอบอ้างตัวเป็นบุคคลอื่น โดยบัญชีนี้เป็นบัญชีล้อเลียน” และในเวลาต่อมา ข้อความที่ถูกระบุว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายก็ถูกลบออกตามคำสั่งของตำรวจ โดยผู้ใช้บัญชีล้อเลียนดังกล่าว อ้างว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงและเป็นการคัดลอกข้อความของบุคคลอื่นมาแชร์ต่อ ทั้งนี้ บัญชีจริงในแพลตฟอร์ม X ของ ครุป ราธี คือ Dhruv Rathee @dhruv_rathee

ภาพที่ 5 : ครุป ราธี (Dhruv Rathee) ยูทูบเบอร์คนดังในอินเดีย กับบัญชีแพลตฟอร์ม X โดยด้านซ้ายคือบัญชีล้อเลียนที่บุคคลอื่นทำขึ้น ส่วนด้านขวาคือบัญชีจริงของเจ้าตัว

สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องในลักษณะเดียวกันกับอินเดีย แต่การล้อเลียนในลักษณะนี้อาจเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาของไทยใน 2 ประเด็น คือ 1.การสวมรอยแอบอ้างเป็นบุคคลอื่ โดยการสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิดว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของบัญชีจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่ระบุว่า ผู้ใดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

กับ 2.การโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2) (3) (4) และ (5) ที่ระบุว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได , เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)

มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

ส่วนการโพสต์ในเรื่องเท็จ (หรือเรื่องจริงที่กฎหมายไม่อนุญาตให้พิสูจน์เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ) แล้วไปพาดพิงบุคคลใดให้ได้รับความเสียหาย ก็อาจถูกบุคคลนั้นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 328   (หรือประกอบมาตรา 330 ว่าด้วยกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้พิสูจน์) ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

บทสรุปของเรื่องนี้ แม้เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่าง อีลอน มัสก์ จะมองว่าการสร้างบัญชีเลียนแบบชื่อบุคคลหรือองค์กรอื่นจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากระบุให้ชัดเจนว่าบัญชีนั้นไม่เกี่ยวข้องกับบัญชีจริงของบุคคลหรือองค์กรที่ถูกอ้างถึง แต่ผู้ที่คิดจะสร้างและใช้บัญชีล้อเลียนก็ต้องพึงระวัง เพราะหากเล่นสนุกกันจนเลยเถิดไปทำให้บุคคลอื่นเสียหายหรือเกิดความเสียหายต่อสาธารณะหรือระดับความมั่นคงของชาติ ก็จะต้องรับผิดตามกฎหมายเช่นกัน!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4818104(เกินต้าน! หมูเด้งโผล่รายการ แซทเทอเดย์ไนท์ไลฟ์ : มติชน 29 ก.ย. 2567)

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000091395 (ขอเล่นด้วยคน! X ล้อเลียน “อีลอน มัสก์” ถามชาวเน็ต ซื้อ “หมูเด้ง” ดีมั้ย? : ผู้จัดการ 28 ก.ย. 2567)

https://www.thebangkokinsight.com/news/world-news/1390401/ (อย่าเข้าใจผิด! ‘อีลอน มัสก์’ ไม่ได้โพสต์ถามความเห็น ซื้อ ‘หมูเด้ง’ : The Bangkok Inside 30 ก.ย. 2567)

https://www.ndtv.com/world-news/elon-musk-on-his-parody-account-people-think-this-is-me-4189009 (Elon Musk Responds To His Parody Account’s “Lizard Boy” Tweet : NDTV 8 ก.ค. 2566)

https://help.x.com/en/rules-and-policies/x-impersonation-and-deceptive-identities-policy(Misleading and deceptive identities policy : กฎระเบียบการใช้งานแพลตฟอร์ม X ปรับปรุงล่าสุด เมษายน 2566)

https://www.indiatoday.in/india/story/shiromani-gurdwara-parbandhak-committee-sends-legal-notice-to-x-over-fake-account-2487626-2024-01-12(Gurdwara body sends legal notice to X over fake account, hurting Sikh sentiments : India Today 12 ม.ค. 2567)

https://www.thehindu.com/news/national/maharashtra/parody-accounts-post-lands-youtuber-dhruv-rathee-in-legal-trouble/article68400992.ece (Parody account’s post lands YouTuber Dhruv Rathee in legal trouble : The Hindu 15 ก.ค. 2567)


ถอดบทเรียนจากกรุงเทพฯถึงเชียงราย ถึงเวลาประเทศไทยต้องเอาจริงเรื่องระบบเตือนภัยพิบัติ

Editors’ Picks

18 ต.ค. 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาหัวข้อ ผลักดันระบบแจ้งเตือนสาธารณภัย กรณีตัวอย่างน้ำท่วม ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยมีผู้ร่วมเสวนา 5 คน   เริ่มจาก  อาภา หน่อตา ศูนย์สิทธิผู้บริโภค อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า อ.แม่สาย อยู่ติดกับแม่น้ำซึ่งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา ในเดือนสิงหาคน-กันยายน ของทุกปี ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและมีปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ปีก่อนๆ ไม่หนักเท่าปีนี้ที่ท่วมถึง 8 ครั้ง และครั้งสุดท้ายกระแสน้ำก็เชี่ยวมากบวกกับมีดินโคลนถล่มด้วย

ในขณะที่การเตือนภัย จะมีการแจ้งข่าวจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่คนใน อ.แม่สาย ไม่ได้มีแต่คนไทยเท่านั้น ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีข้อจำกัดด้านภาษา ส่วนการประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านบางพื้นที่มีและบางที่ไม่มี หรือประกาศแล้วแต่ไม่ทันกับสถานการณ์ นอกจากนั้นยังมีการตั้งกลุ่มไลน์ของเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ คอยแจ้งสถานการณ์ต่างๆ เช่น ระดับน้ำ ฝนตก ซึ่งก็จะมีข้อมูลเป็นจำนวนมากจนไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลชุดใด หรือแม้แต่การแจ้งเตือนว่าเกิดน้ำท่วมแน่ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะท่วมสูงแค่ไหน บางคนเก็บของขึ้นที่สูงแล้วก็ยังไม่พ้น

น้ำขึ้นเร็วมาก ครึ่งชั่วโมงท่วมเข้าไปเลย ยกของขึ้นสูงไม่พอ และที่วางไม่แข็งแรง ปกติบ้านชาวบ้านส่วนมากก็เป็นเฟอร์นิเจอร์น็อกดาวน์ทั้งนั้น เมื่อเอาของมีค่ายกขึ้นวาง  เช่น คอมพิวเตอร์ ก็ละลายไปกับน้ำ มันก็ยวบลงไป คือถ้าเตือนภัยให้รู้ว่าจะแรงหรือค่อย จะลดความเสียหายได้มากกว่านี้อาภา กล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ในการฟื้นฟูพื้นที่ อ.แม่สาย หลักๆ คือการเคลื่อนย้ายดินโคลนออกไป ต้องอาศัยทั้งกำลังคนและเครื่องจักร โดยในพื้นที่สาธารณะ ดินโคลนส่วนใหญ่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว ยังเหลือตามซอกในอาคารบ้านเรือนซึ่งมีความยากพอสมควร ขณะที่อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ แม้จะดูบางตาลงไป แต่ยังคงทำงานกันในบางพื้นที่ที่อยู่ช่วงท้ายๆ ตามแผนของทางราชการ ในส่วนของการเคลื่อนย้ายดินโคลนออก ประมาณวันที่ 21 ต.ค. 2567 จะถอนกำลังในส่วนนี้ เหลือบางหน่วยรั้งท้ายไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชนล้างทำความสะอาดบ้าน โดยสรุปคือสิ้นเดือน ต.ค. 2567 ภาครัฐน่าจะปิดโครงการ ส่งไม้ต่อให้กับท้องถิ่นเก็บรายละเอียด ซึ่งยังมีโจทย์ยากอยู่ที่เรื่องของท่อระบายน้ำ เพราะโครงสร้างอยู่ใต้ดิน เปิดได้ก็เพียงฝาท่อ ต้องไปหาวิธีการว่าทำอย่างไรจะนำดินโคลนที่อยู่ในท่อออกมา ซึ่งทางสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ส่งรถดูดโคลนขึ้นมาช่วย พบว่าได้ผลค่อนข้างดี

แต่วิธีการนี้จำเป็นต้องมีเครื่องจักรเฉพาะทางและต้องใช้เวลาอย่างมาก ขณะนี้กำลังหาทางว่าทำอย่างไรจะทำให้ผู้รับเหมาท้องถิ่นเข้ามารับงานนี้ได้ เพราะท่อระบายน้ำมีระยะทางยาวพอสมควร ส่วนเรื่องระบบสื่อสารเตือนภัย หน่วยงานที่น่าชื่นชม คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จัดการตัดระบบไฟฟ้าได้ทันก่อนจะเกิดน้ำท่วมทุกครั้ง ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในขณะที่ จ.เชียงใหม่ มีร้องเรียนอยู่บ้างเรื่องไฟรั่ว 

ทั้งนี้ ภายหลังเหตุคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 ประเทศไทยมีการก่อตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ คือมีระบบอยู่แล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอยู่ในสถานะใด เพราะภัยพิบัติรอบนี้แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แม้จะแจ้งเตือนด้วยการส่ง SMS แต่เป็นการส่งในระบบปกติทำให้เกิดปัญหาข้อมูลเดินทางล่าช้า จากที่ได้ฟัง ปภ. ชี้แจง และพูดคุยกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เข้าใจว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เรียกประชุมแล้ว เข้าใจว่าระบบส่งข้อความแจ้งเตือนแบบ Cell Broadcast จะใช้การได้ในต้นปี 2568 หมายความว่าไม่ใช่ความเข้าใจผิดทางเทคโนโลยี แต่ไม่ได้ถูกออกแบบไว้

ขณะที่กองทัพไทยถือว่ามีบทบาทสูง โดยเริ่มปฏิบัติงานใน อ.แม่สาย ตั้งแต่วันแรกๆ ที่น้ำท่วม โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นกลไกสำคัญในการประสานหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพเรือ หรือหน่วยซีล (SEAL) และเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งกองทัพมีความสนใจเรื่องการจัดการภัยพิบัติ และคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้ จึงเห็นว่าหากในอนาคตจะพูดคุยเรื่องการเตือนภัย ก็อาจต้องดึงกองทัพเข้ามาร่วมด้วย เพื่อดูว่าบทบาทนี้ควรจะอยู่ที่ใคร

จริงๆ ถ้าผมเทียบเรื่องพื้นฐานเลย คือการที่คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณน้ำฝนได้และต้องเป็นปริมาณน้ำฝน ณ จุดที่ตรวจวัดที่ใกล้กับชุมชน ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากๆ เครื่องนี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรจะเข้าถึงได้ ทำอย่างไรประชาชนจะรู้ว่าเวลาฝนตกหนักๆ ควรที่จะมอนิเตอร์หรือมี SMS เช่น

ถ้าฝนยังไม่มากเราก็อาจจะมอนิเตอร์ ทำไมฝนตกหนักที่ภูเขาหลังบ้าน ก็มีความหวั่นใจว่าน้ำจะมาแรงหรือเปล่า ขอดูปริมาณน้ำฝนหน่อยได้ไหมว่ากี่มิลลิเมตรแล้ว ผอ.มูลนิธิกระจกเงา กล่าว

สมชาย นิยมราช ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตวังทองหลาง กล่าวว่า ย้อนไปในปี 2554 ที่กรุงเทพฯ เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ในฐานะภาคประชาชนที่มีบ้านติดกับน้ำ และใกล้กับอุโมงค์ผันน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและออกทะเลตามลำดับ ประชาชนไม่ทราบปริมาณน้ำในคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว อันเป็นเส้นทางหลักในการผลักดันน้ำ มีแต่ประชาชนประสานงานกันเอง อาศัยความเป็นเครือข่าย แจ้งเตือนกันเองว่าน้ำมีปริมาณ ความแรงและความสูงเท่าใด อย่างบ้านของตนคือจุดชี้วัด หากน้ำลงอุโมงค์ไม่ทันบ้านตนก็กลายเป็นทะเล  ซึ่งคลองเหล่านี้เชื่อมกับหลายเขต เช่น คลองลาดพร้าวรับมวลน้ำมาจากเขตดอนเมือง ผ่านมาที่เขตจตุจักรถึงเขตห้วยขวาง-เขตวังทองหลาง ส่วนคลองแสนแสบก็รับน้ำจาก จ.ปทุมธานี ผ่านเขตหนองจอก เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ มาถึงอุโมงค์ยักษ์ที่พระราม 9 แต่น้ำจาก 2 คลองดังกล่าวที่จะลงอุโมงค์มีอุปสรรคคือ ขยะและสิ่งของที่ลอยมากับน้ำ ปิดกั้นระบบดูดน้ำลงอุโมงค์ ชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำภาครัฐยังไม่มีระบบประสานงานเท่าที่ควร เพราะกรุงเทพฯ มีคลองเชื่อมกันจำนวนมาก น้ำก็ไหลมาลงรวมกันที่คลองใหญ่ๆ อย่างคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว และแม้พื้นที่ที่น้ำท่วมแล้วก็ยังไม่มีแผนอพยพ ปล่อยให้บ้านเรือนและรถยนต์ของประชาชนเสียหาย ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่บูรณาการงานร่วมกัน หากน้ำจะท่วมก็น่าจะมีการส่งสัญญาณ เช่น ส่งข้อความทาง SMS หรือทางไลน์ มีการประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน ที่ผ่านมาภาคประชาชนในการทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่น้ำเครื่องมือมาติดตั้งบริเวณท่าเรือตามแนวคลองแสนแสบ บอกให้ประชาชนช่วยกันดู หากระดับน้ำสูงจนถึงเครื่องแจ้งเตือนก็ให้เตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงหรืออพยพ ซึ่งก็ใช้ได้ผล

น้ำจากข้างบนที่จะสูบออกต้องผ่านคลองย่อยมา คลองย่อยก็ต้องดูว่าคลองแสนแสบมีปริมาณสูงหรือเปล่า ถ้าทั้งคลองย่อยและคลองแสนแสบมีปริมาณน้ำสูงก็ไม่สามารถสูบออกได้เต็มที่ ทำให้เกิดการท่วมขังภายใน แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนไม่ทราบเลยว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่อาจารย์หลายๆ ท่านบอกว่าการเตือนภัย แจ้งเตือน และทำงานบูรณาการร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สมชาย กล่าว

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เมื่อพูดถึงระบบเตือนภัย คำถามแรกคือใครจะเป็นคนเตือน เพราะคนที่มีอำนาจเตือนไม่มีข้อมูล แต่คนที่มีข้อมูลก็ไม่มีอำนาจเตือน โดยหน่วยงานที่มีอำนาจเตือนคือ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี ฯลฯ 

โดยการปฏิบัติภารกิจให้ได้ผลอย่างมืออาชีพ จะประกอบด้วย 4 ภารกิจหลัก คือ 1.ระบบเตือนภัย หรือการเตรียมการป้องกันและรับมือผลกระทบ 2.การเตรียมแผนป้องกัน เช่น แผนการตอบโต้ แผนการอพยพ 3.การปฏิบัติตามแผนเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น การอพยพ การค้นหาและช่วยชีวิต และ 4.การฟื้นฟู ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการระหว่างกระทรวง แต่ความท้าทายคือผู้บริหารกระทรวงก็มาจากหลากหลายพรรคการเมือง จึงยากที่จะสั่งการกันได้ ตามกลไกจึงต้องมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายมาดูแล

ความยากอีกประการหนึ่งคือแต่ละกระทรวงก็มีภารกิจและกฎหมายของตนเอง หลายหน่วยงานก็มีศูนย์เตือนภัย ทำให้เมื่อเกิดเหตุขึ้นต่างคนก็ต่างประกาศ แล้วประชาชนจะต้องฟังหน่วยงานใด ข้อมูลที่แตกต่างกันก็ทำให้ประชาชนสับสน อีกทั้งตามหลักสากล การเตือนภัยจะเป็นระบบ End to End หมายความว่าที่ทำอยู่ไม่ใช่เพียงติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนแล้วจะจบ แต่ต้องไล่ตั้งแต่ 1.ให้ข้อมูลความเสี่ยงกับชุมชน (Disaster Risk Knowledge) 2.มีเครื่องมือในการสื่อสารและส่งผ่าน (Dissemination & Communication) 3.ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือน (Monitoring & Warning Service) และ 4.การตอบสนองของชุมชน (Response Capability) จะเห็นว่าในประเทศไทยทำเพียงภารกิจที่ 3 เท่านั้น แต่จะให้ครบทุกภารกิจ ชุมชนต้องเข้มแข็ง ต้องมีระบบเตือนภัยของชุมชน และจริงๆ ประเทศไทยก็มีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 เป็นแผนแม่บทและครอบคลุมทั้ง 4 ภารกิจ แต่ขาดการปฏิบัติตามแผน

ความหมายคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามภารกิจของตัวเองหรือไม่? อย่างไร? ชุมชนมีแผนปฏิบัติการที่ปฏิบัติตามนั้นหรือไม่? ทำไมเราเห็นภาพประชาชนไปอยู่บนหลังคา ทำไมเราเห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรถหรือผู้เสียชีวิต แสดงว่ามันมีช่องว่างอยู่ ข้อมูลที่ส่งไปไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชน บทเรียนของเราครั้งนี้ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมชุมชนไม่ตอบสนอง ตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญมาก รศ.ดร.เสรี กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำทั้งระดับชาติและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เช่น ต้องออกแบบการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสภาผู้บริโภคเสนอเรื่องระบบ Thai Alert เป็นระบบเตือนภัยในเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และใช้ได้มากกว่าเรื่องภัยพิบัติ แต่รวมถึงเหตุอาชญากรรมรุนแรงในกรณีพื้นที่เฉพาะ เช่น ใจกลางกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด โดยระบบนี้ไม่จำเป็นต้องกวาดทั้งประเทศ แต่ส่งคำเตือนไปยังโทรศัพท์ของแต่ละคน    ซึ่งในทางเทคนิคสามารถทำได้ แต่เอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์จะกังวลด้านต้นทุน นอกจากนั้นยังไม่มีผู้มีอำนาจตัดสินใจแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่างๆ แม้จะมีหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้วก็ตาม หน่วยงานภาครัฐก็ต้องไปสรุปบทเรียน และมีแนวโน้มที่จะต้องเตรียมพร้อมไว้ทั้งปีเนื่องจากวิกฤติโลกร้อนทำให้ภัยพิบัติคาดการณ์ได้ยาก รวมถึงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐยังขาดการบูรณาการ ขณะที่จุดแข็งของประเทศไทยคือภาคประชาสังคมเข้มแข็ง หลายเรื่องสามารถช่วยเหลือกันเองได้ แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเช่น ระดับการแจ้งเตือน

ทั้งนี้ ระบบ Thai Alert ที่เป็นการส่ง SMS เตือนภัย ตนเห็นว่า กสทช. ควรผลักดันร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แล้วประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยในแต่ละเรื่อง เช่น ตำรวจ หน่วยงานด้านอุทกภัย ต้องวางระบบไว้ว่าสุดท้ายใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ โดย กสทช. อาจออกประกาศอีกฉบับก็ได้ อย่างที่ก่อนหน้านี้เคยออกประกาศให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องต้องแจ้งเตือนตามที่รัฐร้องขอโดยไม่มีข้ออ้างเรื่องธุรกิจ ซึ่งเกิดมาจากเหตุการณ์ที่รัฐแจ้งเตือนสึนามิแต่ช่องต่างๆ ยังคงออกอากาศรายการปกติ  แม้ปัจจุบันคนจะดูโทรทัศน์น้อยลง แต่เรื่องที่ต้องการความจริงจังระดับชาติ ยังมีสิ่งที่เรียกว่าตัววิ่งหรือรวมการเฉพาะกิจ โดยสามารถประกาศรวมการเฉพาะกิจเพื่อเตือนภัยก่อน บอกให้ประชาชนในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายใครรับผิดชอบ หรือสร้างเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาสักเพจหนึ่ง ตั้งเป็นเพจทางการให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ ขณะที่ระดับพื้นที่ก็ต้องวางระบบให้สอดรับกัน เช่น หน่วยงานระดับชาติประกาศเตือน ระดับพื้นที่ก็ต้องออกแบบระบบแจ้งเตือนให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง

อีกทั้งด้วยความที่ยุคนี้ข่าวลวงมีจำนวนมาก มีการรณรงค์กันเยอะให้ตรวจสอบให้แน่ใจแล้วค่อยส่งต่อ ทำให้แม้จะเป็นเรื่องจริงคนก็อาจไม่เชื่อและไม่อพยพตามคำเตือน มองว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม น่าจะเป็นเจ้าภาพในส่วนนี้ เพราะไปทำเรื่องอื่น เช่น การเมือง คนก็มีคำถาม จึงน่าจะไปมุ่งเน้นทำเรื่องสุขภาพหรือภัยพิบัติเป็นหลัก ให้ประชาชนที่สงสัยข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันสามารถสามารถตรวจสอบได้ 

หากทำงานบูรณาการกันอย่างนี้ ก็จะมีจุดรวมที่ประชาชนงงๆ อยู่ ส่งมาทางไลน์ไม่รู้จะไปเช็คที่ไหน เข้าไปเพจศูนย์ต้านข่าวลวงแล้วกัน หรือจะเป็นเพจใหม่ก็ได้ที่รัฐบาลตั้งมาให้สามารถเช็คข่าวเรื่องภัยพิบัติได้ทุกกรณี แล้วก็สามารถประมวลข้อมูลเข้ามาอยู่ในระบบแล้วเอาไปใช้อะไรต่อไปด้วย ซึ่งต้องใช้นวัตกรรม เรื่อง AI เรื่อง Machine Learning Chatbot อะไรที่พูดกันเอามาช่วยเสริมตรงนี้ เพื่อที่จะช่วยกรองข้อมูล วิเคราะห์และอัปเดตข้อมูลกับประชาชน ควรจะต้องมีศูนย์อำนวยความสะดวกแบบนี้ สุภิญญา กล่าว

หมายเหตุ : สามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/tccthailand/videos/428624116923230/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2567

ปปง. ยึดทรัพย์หมื่นล้านจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตรียมคืนเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ถูกหลอก…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/kv5s63orutj0


ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ผู้ลงทะเบียนได้รับทุกคนในเดือนธันวาคม จะโอนเงินเข้าแอปฯ ทางรัฐ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1xdou5ax295j8


โครงการตรวจเช็กมิเตอร์ไฟประจำปี โดยดำเนินการติดต่อทางไลน์ PEA.E-Service…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2l83bli88q94x


เปิดลงทะเบียน ทำใบขับขี่ออนไลน์ 2567 ทำที่บ้าน ไม่ต้องไปขนส่ง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1x1ph98h3cjcr


งดทัศนศึกษาทั่วประเทศ หากโรงเรียนใดฝ่าฝืนปรับ 20,000,000 บาท…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/9sn4fc066vqq


  ฮ่องกงประกาศยกเลิกการกรอก Arrival Card แล้ว

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/24tg69eiav9w6


  มิโซะ หรือซุปมิโซะ มีส่วนช่วยในการปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร มีสารต้านอนุมูลอิสระ

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2xom2940oji7v


  “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ประกาศ เริ่ม ก.ย. 68 ทุกเส้นทาง

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3vuo6pylqvytd


 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกาศเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว 3 อุทยานแห่งชาติในทะเลอันดามัน

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/fgr4t6dzu20f


 ครม.เห็นชอบ เปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ สิ้น มี.ค.2568

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1i3vo6yqfydzg#_=_


การค้นพบที่สำคัญจากรายงานการวิจัยข่าวดิจิทัลประจำปี 2566 ของ Reuters Institute :Cofact Report 48/67

บทความ

โดย Nic Newman

14 มิถุนายน 2566

บทความแปลสรุปความโดยทีมโคแฟค อ้างอิงต้นฉบับจาก บทความของ Nic Newman https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2023

รายงานการวิจัยข่าวดิจิทัลโดย Reuters Institute ประจำปี 2566 นำเสนอข้อมูลเชิงลึกด้านการบริโภคข่าวสารทางดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ สงคราม และความแปรปรวนของสภาพอากาศ รายงานฉบับนี้นำเสนอพลวัตรอันซับซ้อนของความเชื่อถือ การมีส่วนร่วม และการบริโภคสื่อในประเทศต่างๆ พร้อมการวิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของงานด้านข่าวสารอย่างครอบคลุม

การค้นพบที่สำคัญ

1. ความเปลี่ยนแปลงในการบริโภคสื่อ

•  ในปีนี้การอ่านข่าวจากเว็บไซต์หรือแอปของสำนักข่าวโดยตรงลดลง 10 จุดเปอร์เซ็นต์นับจากปี 2561 (ที่ 32%) โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 22% ยังชอบอ่านข่าวด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ ในขณะที่ 30% เปลี่ยนมาใช้การอ่านข่าวจากสื่อโซเชียลแทน

•  คนรุ่นใหม่ใช้งานเว็บไซต์หรือแอปของสำนักข่าวน้อยกว่าคนรุ่นอื่นมาก โดยมักจะบริโภคข่าวทางอ้อมผ่านสื่อโซเชียล เครื่องมือค้นหา (Google) และช่องทางสรุปข่าวในมือถือ

2. ผลกระทบจากสื่อโซเชียล

• การใช้งานสื่อโซเชียลดั้งเดิมเช่น Facebook มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่มีการใช้งานสื่อโซเชียลแบบวิดีโอ เช่น TikTok หรือ YouTube Shorts เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ 

• ในแง่ของการรับข่าวสาร ผู้ใช้ TikTok, Instagram และ Snapchat มีแนวโน้มที่จะสนใจอินฟลูเอนเซอร์และผู้มีชื่อเสียงมากกว่านักข่าว ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ใช้ Facebook และ Twitter (X)

3. ความเชื่อมั่นของผู้รับข่าวสารต่อข่าวที่นำเสนอ

• ผู้รับข่าวสารมีความคลางแคลงใจต่ออัลกอริธึมที่แพลตฟอร์มต่างๆ ใช้ในการแสดงข่าวสารให้ตนเอง โดยมีคนน้อยกว่า 30% ที่ยังพอใจกับการเลือกแสดงข่าวสารโดยอัลกอริธึมจากประวัติการใช้งานที่ผ่านมาของตน (ลดลงจาก 36% ในปี 2561)

• ถึงแม้ว่าจะมีความไม่พอใจกับการเลือกแสดงข่าวสารของอัลกอริธึมอยู่บ้าง แต่ยังมีความพึงพอใจสูงกว่าการนำเสนอข่าวสารโดยบรรณาธิการหรือโดยนักข่าวอยู่ดี สะท้อนถึงความไม่พึงพอใจต่อวิธีการเลือกนำเสนอเนื้อหาของสำนักข่าวโดยรวม 

• เหตุผลส่วนหนึ่งของความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวคือความกังวลว่าตนเองจะพลาดข่าวสารที่สำคัญหรือข่าวสารที่มีแนวโน้มต่างจากความสนใจของตนเองไป เนื่องจากอัลกอริธึมของสื่อโซเชียลมักจะคัดเลือกจากความพึงพอใจที่ผ่านมาของผู้รับเป็นสำคัญ 

4. ปัญหาเศรษฐกิจ

• ความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การตัดงบประมาณ ลดคนทำงาน และการเปลี่ยนจากสิ่งพิมพ์ไปสู่แพลตฟอร์มสื่อโซเชียล และไม่เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แม้กระทั่งสำนักข่าวออนไลน์โดยกำเนิดที่เคยรุ่งเรืองจากโมเดลธุรกิจจากเงินค่าโฆษณาเช่น BuzzFeed News หรือ Vice Media ยังต้องหยุดกิจการไปด้วยเหตุนี้

• โมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิกกลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่สำคัญสำหรับสำนักข่าวแบบดั้งเดิมหลายแห่ง ตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งคือ New York Times ซึ่งมีสมาชิกแบบดิจิทัลถึงกว่า 6 ล้านบัญชี

5. การวิพากษ์วิจารณ์และความเชื่อมั่นในสื่อ

• ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมากเท่าใด ยิ่งหมายความว่ามีความเชื่อมั่นในสื่อน้อยลงเท่านั้น เช่น กรีซ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อสูงมากและมีความเชื่อมั่นในสื่อน้อยมากเช่นกัน ในขณะที่ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และญี่ปุ่นมีแนวโน้มในทางกลับกัน แต่สำหรับประเทศไทยที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อสูงมากกลับมีความเชื่อมั่นในสื่อค่อนข้างสูงมากเช่นเดียวกัน

การวิเคราะห์โดยแบ่งตามประเทศและตลาด: มุ่งเน้นที่ประเทศไทย

ภูมิทัศน์ของสื่อในประเทศไทยสะท้อนทั้งแนวโน้มระดับโลกและพลวัตรระดับท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร 

การบริโภคสื่อในประเทศไทย

• ความนิยมสื่อดิจิทัลอย่างสูง

แพลตฟอร์มดิจิทัลกลายเป็นแหล่งรับข้อมูลข่าวสารหลักสำหรับผู้ใช้ชาวไทยส่วนใหญ่ จากรายงานพบว่า คนไทย 64% เข้าถึงข่าวสารผ่านสื่อโซเชียล, 23% ผ่านทางเครื่องมือค้นหา (Google) และช่องทางสรุปข่าวอื่นๆ ในขณะที่มีเพียง 7% ที่รับข่าวสารโดยตรงจากเว็บไซต์และแอปสำนักข่าว

• การใช้งานสื่อโซเชียล

แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลที่ผู้บริโภคข่าวสารนิยมสูงสุดในประเทศไทยได้แก่ Facebook, YouTube และ LINE โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีอัตราการเข้าใช้งานสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 30% ที่ตอบว่าใช้ TikTok สำหรับการติดตามข่าวสาร ซึ่งแสดงถึงความนิยมรับข่าวสารผ่านการดูวิดีโอที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าการอ่านและการฟังอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศที่แสดงลักษณะนี้

• ความเชื่อมั่นในสื่อ

ต่างจากข้อสรุปโดยรวมเบื้องต้น คนไทยมีความเชื่อมั่นในสื่ออยู่ในระดับค่อนข้างสูง จากรายงานพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจ 50% มีความเชื่อมั่นในสื่อโดยรวม ซึ่งคิดเป็นลำดับที่ 9 จากทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อในระดับสูงมากเช่นกัน

ปัญหาและแนวโน้มหลัก

• ความนิยมข่าวตื่นเต้นเร้าอารมณ์และสื่อโซเชียล

คนไทยส่วนใหญ่นิยมข่าวที่มีเนื้อหาตื่นเต้นเร้าอารมณ์ เช่น ข่าวอาชญากรรมหรือข่าวเกี่ยวกับความเชื่อเหนือจริง โดยสื่อโซเชียลกลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับ “นักสืบโซเชียล” ที่มักจะสืบหาต้นตอของข่าวเหล่านี้ด้วยตนเอง และมักจะนำหน้าการรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักเสมอ 

• บรรยากาศทางการเมืองและเสรีภาพของสื่อ

ภูมิทัศน์ทางการเมืองในประเทศไทยส่งผลต่อการทำงานของสื่อเป็นอย่างมาก การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในด้านเสรีภาพสื่อหลังจากการตกอยู่ภายใต้ความควบคุมของรัฐบาลทหารมานับสิบปี โดยพรรคที่ได้จำนวนที่นั่งในสภาสูงสุดได้นั้นมีผลส่วนใหญ่มาจากแคมเปญผ่านสื่อโซเชียลที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนรุ่นใหม่โดยตรง

• อย่างไรก็ตาม สื่อยังคงมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความเกรงกลัวต่อกฎหมายที่อาจนำไปสู่การต้องโทษถึง 15 ปี

• โมเดลรายได้ของสื่อ

โฆษณายังคงเป็นโมเดลทางธุรกิจหลักสำหรับสำนักข่าวในประเทศไทย ทั้งจากแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์และการจัดวางสินค้าในหน้าจอข่าวโทรทัศน์ ในขณะที่การสมัครสมาชิกข่าวออนไลน์ยังเป็นเรื่องที่ไม่พบเห็นได้มากนักในประเทศไทย

บทสรุป

ภูมิทัศน์ของสื่อโดยรวมยังคงมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการขับเคลื่อนของการพัฒนาเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล บนมือถือ และแพลตฟอร์มสื่อในรูปแบบต่างๆ นำไปสู่ทั้งโอกาสและความท้าทาย ความเชื่อมั่นในสื่อยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ประกอบกับการกระจายของข่าวลวงและแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรูปแบบการหารายได้แบบดั้งเดิม ทำให้องค์กรสื่อทั่วโลกต้องพยายามหากลยุทธ์ดึงดูดใหม่ๆ การใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียล รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการหารายได้

สำหรับประเทศไทย ภูมิทัศน์ของสื่อบางส่วนจะสะท้อนภาพเดียวกับสื่อทั่วโลก แต่ด้วยลักษณะเฉพาะที่ต่างออกไป ลักษณะดังกล่าวคือ การมีส่วนร่วมในสื่อดิจิทัลและสื่อโซเชียลอย่างสูง ความสนใจรับเนื้อหาในรูปแบบวิดีโออย่างมาก และความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูงที่มีต่อสื่อ ทั้งหมดนี้ประกอบเป็นภาพรวมของตลาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แรงกดดันทางการเมือง เนื้อหาข่าวที่มีลักษณะตื่นเต้นเร้าใจ และการแพร่กระจายของข่าวลวงยังคงเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย


สรุปภัยคุกคามทางข้อมูลข่าวสารต่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024 : Cofact Report 47/67

รายงานสาธารณะ                                                                                                ​กันยายน 2024

ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 ของกฤษฎีกาฉบับที่ 2021-922 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2021 หน่วยงานเฝ้าระวังและป้องกันการแทรกแซงทางดิจิทัลจากต่างประเทศ (VIGINUM) รับผิดชอบในการตรวจจับและวิเคราะห์การแทรกแซงทางดิจิทัลจากต่างประเทศ โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะในแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อมวลชนต่างๆภารกิจนี้ครอบคลุมถึงการปกป้องกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในดินแดนของประเทศ (ฝรั่งเศส) เช่น ช่วงเวลาที่สำคัญของประชาธิปไตย (โดยเฉพาะการเลือกตั้ง) หรือมหกรรมกีฬาที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ

ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสืบสวนเชิงเทคนิค VIGINUM ได้รับอนุญาตตามกฤษฎีกาฉบับที่ 2021-1587 ลงวันที่ ธันวาคม 2021 ให้ดำเนินการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการตรวจจับและวิเคราะห์ปฏิบัติการแทรกแซงทางดิจิทัลจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นแผนปลุกปั่นบิดเบือนข้อมูลออนไลน์หรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่มี “การมีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยอ้อมของรัฐหรือหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐต่างประเทศ” การวิเคราะห์การมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเชิงปฏิบัติการของ VIGINUM และไม่ควรสับสนกับกระบวนการระบุแหล่งที่มา เนื่องจากการระบุผู้รับผิดชอบนั้นเกินขอบเขตความสามารถของ VIGINUM

สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024 ที่จัดขึ้นในฝรั่งเศส VIGINUM ได้รับมอบหมายให้ปกป้องการสนทนาสาธารณะในกลุ่มผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสจากความพยายามแทรกแซงทางดิจิทัลจากต่างประเทศซึ่งอาจ:

• เป็นอันตรายต่อภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงของฝรั่งเศสโดยการด้อยค่าความสามารถของฝรั่งเศสในการเป็นเจ้าภาพ จัดการ หรือการรับรองความปลอดภัยของการแข่งขันระดับนานาชาติ

• ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส โดยการโจมตีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้สนับสนุน และนักธุรกิจฝรั่งเศส

• ก่อให้เกิดหรือขยายความวุ่นวายทางกายภาพเพื่อรบกวนการจัดการแข่งขัน

เพื่อตรวจจับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เป็นอันตรายเหล่านี้ VIGINUM ได้เปิดดำเนินการในเดือนเมษายน 2023 โดยมุ่งเน้นไปที่การปกป้องการสนทนาสาธารณะทางออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 และมุ่งเป้าไปที่การเฝ้าระวังกิจกรรมในโลกออนไลน์และเครือข่ายอิทธิพลที่มีความเชื่อมโยงกับอำนาจต่างประเทศ หรือมีผลประโยชน์ร่วมกับอำนาจต่างประเทศ แนวทางปฏิบัตินี้มีพื้นฐานอยู่ที่การวิเคราะห์รูปแบบการดำเนินการ โดยไม่ใช่การพิจารณาเนื้อหาโดยตรง

1. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก : เหตุการณ์ระดับโลกที่ดึงดูดภัยคุกคามทางข้อมูลข่าวสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 8 กันยายน 2024 ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปารีส 2024 ซึ่งเป็นการครบรอบ 100 ปีหลังจากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปารีสเมื่อปี 1924 ในระดับนานาชาติ การแข่งขันจัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อน เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ดำเนินอยู่ ในระดับประเทศ การแข่งขันจัดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024 มีจำนวนผู้ชมทางโทรทัศน์และผู้เข้าชมแพลตฟอร์มออนไลน์มากเป็นปรากฏการณ์ ซึ่งได้แรงกระตุ้นจากพิธีเปิดโอลิมปิกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม รวมถึงความนิยมของกิจกรรมโอลิมปิกและสถานที่จัดการแข่งขัน1 แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นไปในเชิงบวก แต่ด้วยจำนวนผู้ชมและผู้ติดตามจำนวนมากนี้ก็สร้างโอกาสให้กับปฏิบัติการที่มุ่งร้ายจากต่างประเทศในการก่อภัยคุกคามทางข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโซเชียลมีเดียได้สร้างเวทีที่มีประสิทธิภาพสำหรับแผนปลุกปั่นทางข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมของสื่อออนไลน์เพื่อแนะนำหรือขยายหัวข้อที่สร้างความแตกแยกในการสนทนาสาธารณะเกี่ยวกับโอลิมปิก ปารีส 2024 เช่น ประเด็นการอพยพ ความไม่ปลอดภัย สภาพสาธารณสุขที่ย่ำแย่ การรวมตัวของชนกลุ่มน้อย และประเด็นเรื่องเพศ

ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ตรวจพบก่อนและระหว่างโอลิมปิก ปารีส 2024 ซึ่งมาจากต่างประเทศทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เพื่อ :

• ทำลายภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงของฝรั่งเศสโดยการด้อยค่าความสามารถของฝรั่งเศสในการเป็นเจ้าภาพ จัดการ หรือการรับรองความปลอดภัยของการแข่งขันระดับนานาชาติ

• สร้างผลกระทบเชิงลบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยการโจมตีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้สนับสนุน และนักธุรกิจฝรั่งเศส

• ทำลายคุณค่าสากลและคุณค่าของประชาธิปไตยพร้อมกับส่งเสริมรูปแบบการเมืองทางเลือกชนิดอื่นให้กับผู้ชมระหว่างประเทศ

• สร้างหรือขยายความวุ่นวายทางกายภาพเพื่อรบกวนการจัดการแข่งขัน

ตลอดช่วงเวลาที่ติดตาม (เมษายน 2023 – 8 กันยายน 2024) VIGINUM ได้ระบุปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร 43 กรณีที่มุ่งเป้าไปยังโอลิมปิก ปารีส 2024 โดยใช้รูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย ซึ่งจะอธิบายต่อไปในเอกสารฉบับนี้ และเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการฉวยโอกาส VIGINUM จึงได้ระบุแผนปลุกปั่นบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทางดิจิทัลที่มีการประสานงานและวางแผนมาก่อน 2 แผน หนึ่งในนั้นคือแผนในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ที่เรียกว่า “OLIMPIYA” ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้สนับสนุนอาเซอร์ไบจาน2

1 สถานีโทรทัศน์ NBC ของสหรัฐอเมริการายงานว่ามีผู้ชม 41.5 ล้านคนในวันที่ 26 กรกฎาคม คิดเป็นเกือบสองเท่าของจำนวนผู้ชมโอลิมปิกที่โตเกียว และ France Télévisions ยังรายงานอีกว่ามีผู้ชมถึง 24 ล้านคน ซึ่งเป็นเรตติงที่ดีที่สุดอันดับสองของประวัติศาสตร์สถานี

https://www.lemonde.fr/international/article/2023/11/14/des-acteurs-proches-de-l-azerbaidjan-derriere-une-campagne-de- boycott-des-jo-de-paris_6200083_3210.html.

2. การประเมินผลกระทบของวิธีการปฏิบัติการเหล่านี้ต่อการสนทนาสาธารณะในกลุ่มผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส

แม้ว่าโอลิมปิก ปารีส 2024 จะสร้างโอกาสให้กับผู้ก่อภัยคุกคามต่างชาติมาก แต่ VIGINUM สังเกตว่าส่วนใหญ่แล้วปฏิบัติการเหล่านั้นมักไม่ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสมากพอที่จะส่งผลเสียต่อการจัดการแข่งขันโอลิมปิก

ในแง่กลยุทธ์ที่ใช้ ผู้ไม่ประสงค์ดีส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่ผู้ชมเฉพาะกลุ่มในประเทศ กลยุทธ์นี้มุ่งใช้ประโยชน์จากอคติของผู้ชมเป้าหมาย โดยการป้อนเนื้อหาที่พวกเขามีแนวโน้มตอบสนองและมีโอกาสที่จะแชร์ต่อ นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่เนื้อหาหลากหลายในหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการขยายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเพื่อ “ทดสอบ” ความสนใจในบางหัวข้อของกลุ่มผู้ชมแต่ละกลุ่ม และท้ายที่สุด ในมิติระดับนานาชาติแล้ว โอลิมปิกปารีส 2024 ยังเป็นโอกาสของผู้ไม่ประสงค์ดีที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ภาษาอื่นๆ เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสได้ไกลกว่าเพียงภายในเขตแดนของประเทศ

การแชร์เนื้อหาบิดเบือนโดยบุคคลสาธารณะของฝรั่งเศสซึ่งมีผู้ติดตามออนไลน์จำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ปฏิบัติการเหล่านี้เป็นที่สนใจของคนหมู่มาก ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้เกินขอบเขตกลุ่มของตนเองซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีการเผยแพร่วิดีโอที่แอบอ้างว่ามาจากกลุ่มฮามาส (ดูในส่วนที่ 3) ไม่เพียงแต่ทำให้ปฏิบัติการดังกล่าวถูกเผยแพร่มากขึ้น แต่ยังก่อให้เกิดความสับสนต่อความเข้าใจในสถานการณ์ดังกล่าวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการรับชม ปฏิบัติการส่วนใหญ่ที่พบยังคงจำกัดเฉพาะในกลุ่มและไม่แพร่กระจายเกินการโพสต์แรกหรือเกินอินฟลูเอนเซอร์คนแรกที่แชร์ข้อมูลนั้น และไม่แพร่กระจายไปสู่การสนทนาสาธารณะในกลุ่มผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ VIGINUM ยังสังเกตเห็นว่าโครงการริเริ่มสาธารณะ (Public Initiatives) บางโครงการที่มีจุดมุ่งหมายในการหักล้างข้อมูลบิดเบือนในทันทีที่ถูกเผยแพร่ อาจช่วยให้ข้อมูลเหล่านั้นกลับได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในบางกรณีอีกด้วย3 ทั้งๆ ที่หากปล่อยไปก็อาจไม่ได้รับความสนใจใดๆ

ยิ่งไปกว่านั้น บางปฏิบัติการดูเหมือนจะพยายามใช้รูปแบบนี้ให้เป็นประโยชน์ เช่น แผนปลุกปั่นมาตริออชกา (Matryoshka) ที่ตั้งใจเชิญชวนผู้ตรวจสอบข่าวลวงให้มาหักล้างข้อมูลของพวกเขาโดยตรง จนทำให้ได้พื้นที่สื่อเพิ่มมากขึ้น ตรงตามเป้าหมายของการขยายความเสี่ยงของภัยคุกคามด้านข้อมูลข่าวสาร4

ดังนั้น การตัดสินใจที่จะเปิดเผยแผนปลุกปั่นหรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจึงควรขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผลกระทบที่ตามมาด้วย กล่าวคือ โอกาสที่จะทำให้ข้อมูลบิดเบือนเหล่านั้นขยายไปได้ไกลเกินกลุ่มโซเชียลมีเดียและแพร่กระจายออกไปสู่โลกจริงนอกออนไลน์

แต่การที่ปฏิบัติการนั้นๆ ไม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางหรือไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนก็ไม่ควรทำให้เราละเลยการวิเคราะห์ผลกระทบระยะยาวไป เพราะการโพสต์เนื้อหาที่สร้างความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก หรือการใช้ประโยชน์จากผู้ชมเฉพาะกลุ่มยังสามารถกระตุ้นประเด็นเปราะบางหรือช่องโหว่ที่มีอยู่ในสังคมฝรั่งเศสได้เช่นกัน ดังนั้น การถูกกระหน่ำด้วยข้อมูลเดิมๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลบางส่วนเป็นข้อเท็จจริง ทำให้การแยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกบิดเบือนและความคิดเห็นเป็นไปได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ปฏิบัติการเหล่านี้มีการแพร่กระจายต่ำในกลุ่มผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสบนแพลตฟอร์มดิจิทัลยังสามารถอธิบายได้ว่าเป็นผลจากความพยายามที่สำคัญของทั้งสื่อและคนในภาคประชาสังคม รวมถึงโครงการริเริ่มต่างๆ ของบุคคลสาธารณะทั้งในฝรั่งเศสและต่างประเทศอีกด้วย

3 “การหักล้าง” ข้อมูลปลอม หมายถึงการแสดงให้เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ผิดหรือบิดเบือนอย่างไร
4 https://www.sgdsn.gouv.fr/publications/matriochka-une-campagne-prorusse-ciblant-les-medias-et-la-communaute-des-fact- checkers

3. วิธีของปฏิบัติการหลักๆ ที่พบก่อนและระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024

ปฏิบัติการธงปลอม (False flag operations)

วิธีการของปฏิบัติการนี้คือการดำเนินการสร้างอิทธิพลทางดิจิทัลเพื่อใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม โดยมีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้ หรือในอีกแง่หนึ่งคือเพื่อชี้นำการตอบโต้ให้ไปอีกทางหนึ่ง หรือเพื่อทำให้สถานการณ์แย่ลงและดึงดูดความสนใจมากขึ้น ผู้โจมตีจะพยายามใช้สัญลักษณ์หรือรูปแบบการดำเนินการของฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความสับสน

VIGINUM ตรวจพบการใช้วิธีการของปฏิบัติการนี้ในหลายโอกาส รวมถึงก่อนโอลิมปิก ปารีส 2024

ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ช่องบน Telegram ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายอิทธิพลดิจิทัลของรัสเซียได้เผยแพร่วิดีโอข่มขู่พุ่งเป้าไปที่นักกีฬาอิสราเอล โดยใช้สัญลักษณ์ของกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งตุรกีที่รู้จักกันในนาม “Grey Wolves” แต่ไม่มีใครออกมาเสนอตัวรับว่าเป็นเจ้าของวิดีโอนี้ สื่อหลายแห่งได้เขียนบทความเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ ซึ่งสะท้อนถึงการตอบสนองของสื่อที่รวดเร็วต่อการชักจูงเชิงข้อมูล5

ในเดือนกรกฎาคม 2024 VIGINUM ยังตรวจพบว่าไม่กี่สัปดาห์ก่อนพิธีเปิด มีการเผยแพร่วิดีโอบน X, Facebook และ Telegram แสดงภาพบุคคลที่อ้างว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มฮามาสข่มขู่การแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 และฝรั่งเศส โดยกล่าวหาว่าฝรั่งเศสสนับสนุนอิสราเอล และประณามการเข้าร่วมการแข่งขันของนักกีฬาอิสราเอล ถึงแม้ว่าบุคคลในวิดีโอจะพูดภาษาอาหรับได้ดี แต่การออกเสียงมีความผิดพลาด ทำให้สงสัยว่าเขาอาจไม่ใช่เจ้าของภาษาจริง ปฏิบัติการนี้ยังถูกขยายต่อโดยการเผยแพร่บทความในสื่อต่างๆ ของแอฟริกา ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการสนันสนุนด้านการเงิน โดย Microsoft Threat Analysis Center (MTAC) ระบุว่าปฏิบัติการนี้มาจากผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียที่รู้จักกันในนาม Storm-1516

ภาพหน้าจอของบุคคลที่อ้างว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มฮามาส

การเพิ่มการมองเห็นของปฏิบัติการในพื้นที่จริง

วิธีการของปฏิบัติการนี้คือการใช้โปสเตอร์และกราฟิตีในพื้นที่สาธารณะไปพร้อมกับการโพสต์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างสถานการณ์แบบฉับพลันและเป็นระบบ เป้าหมายคือทำให้ดูเหมือนว่ามีการเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะเพื่อสนับสนุนประเด็นใดประเด็นหนึ่ง

5 https://www.liberation.fr/checknews/j0-2024-derriere-une-video-et-des-tags-menacant-les-athletes-israeliens-une-nouvelle- operation-de-destabilisation-russe-20231118_7J4WJB3MKVC3FHFT3ZVAZ2HTV4/.
https://www.nbcnews.com/tech/misinformation/fake-video-threat-olympic-games-russia-rcna163186.

ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2024 VIGINUM ตรวจพบภาพถ่ายของโปสเตอร์ที่ป้ายรถเมล์ในเขตที่ 20 ของกรุงปารีส มุ่งเป้าไปที่ทีมโอลิมปิกอิสราเอล ภาพถ่ายนี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะใน X โดยบัญชีที่สนับสนุนปาเลสไตน์

โปสเตอร์เรียกร้องให้คว่ำบาตรโอลิมปิกที่ป้ายรถเมล์ในเขตที่ 20 ของปารีส

VIGINUM ยังพบความพยายามใช้ประโยชน์จากการทำงานในพื้นที่จริง โดยการเผยแพร่ภาพถ่ายของกราฟิตีที่อ้างว่าพบบนกำแพงที่ปารีส ในเดือนพฤศจิกายน 2023 VIGINUM ตรวจพบภาพกราฟิตีบน Telegram, VK, Facebook และ X ซึ่งแสดงภาพมือที่กำลังส่งอาวุธให้กันเหนือโลโก้ของโอลิมปิก มิวนิค 1972 และปารีส 20247 ซึ่งไม่สามารถยืนยันความจริงของภาพกราฟิตีเหล่านี้ได้ แต่ภาพได้ถูกเผยแพร่โดยบัญชีที่มีคุณลักษณะที่ไม่จริงที่มีความเกี่ยวข้องกับแผนปลุกปั่นRRN/Doppelgänger8

กราฟิตีที่อ้างว่าพบที่ 13 rue Buffon, Paris 75015 เพียง 750 เมตรจากมัสยิดใหญ่แห่งกรุงปารีส

7 ในช่วงโอลิมปิก มิวนิก 1972 นักกีฬาอิสราเอล 11 คนถูกจับเป็นตัวประกันและสังหารหมู่โดยกลุ่ม BlackSeptember
https://www.liberation.fr/checknews/j0-2024-derriere-une-video-et-des-tags-menacant-les-athletes-israeliens-une-nouvelle- operation-de-destabilisation-russe-20231118_7J4WJB3MKVC3FHFT3ZVAZ2HTV4/.

การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของนักกีฬา (Doxxing of athletes)

วิธีการของปฏิบัติการนี้ใช้การค้นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้คนและเผยแพร่ทางออนไลน์ ในบริบทของโอลิมปิกปารีส การเปิดเผยข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกล่าวหานักกีฬาว่าเคยมีประวัติการโกงหรือกระทำความผิดทางอาญา เพื่อทำลายภาพลักษณ์และสร้างความเกลียดชังต่อนักกีฬา ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางร่างกายได้

ในบริบทของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของนักกีฬาอิสราเอลหลายคน ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นถูกใช้เพื่อกล่าวหาว่าพวกเขาก่ออาชญากรรมสงคราม VIGINUM สังเกตว่ากลุ่มเครือข่ายดิจิทัลที่สนับสนุนอิหร่านใช้วิธีการของปฏิบัติการนี้เพื่อสร้างความขัดแย้งและสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อนักกีฬากลุ่มนี้และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) โดยกล่าวหาว่า IOC มีสองมาตรฐานสำหรับนักกีฬาอิสราเอลและนักกีฬาจากเบลารุสและรัสเซีย (ที่แข่งขันภายใต้ธงเป็นกลาง)

การสร้างเนื้อหาเสียงและภาพ

1. เนื้อหาที่สร้างขึ้นใหม่

วิธีการของปฏิบัติการนี้มีการผลิตเนื้อหาขึ้นใหม่ (ภาพ เสียง และวิดีโอ) ที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือน แล้วเผยแพร่ผ่านหลายแพลตฟอร์ม

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 VIGINUM ตรวจพบการเผยแพร่วิดีโอภาษาจีนกลางที่มีเนื้อหาต่อต้านโอลิมปิกปารีส โดยระบุว่าแม่น้ำแซนมีสภาพเทียบเท่ากับแม่น้ำคงคาในอินเดีย ซึ่ง “เต็มไปด้วยน้ำมันและขยะ” และสภาพอากาศในปารีส “เหม็นเน่า” เกินไปสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก วิดีโอนี้สร้างขึ้นโดยใช้ AI และเผยแพร่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิงของจีนหลายแห่ง

ในอีกกรณีหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2024 VIGINUM ตรวจพบการเผยแพร่วิดีโอ 3 รายการใน Instagram ที่นักกีฬาอิสราเอลในเครื่องแบบทหารแล้วเปลี่ยนมาเป็นชุดนักกีฬาโอลิมปิกก่อนที่จะก่ออาชญากรรม9 วิดีโอนี้มีการเปิดเผยตัวตนของนักกีฬาอิสราเอล 3 คนที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกปารีสและทำให้พวกเขาดูเหมือนเป็นอาชญากรสงคราม

2. การปลอมเนื้อหาขององค์กรที่เป็นทางการ

วิธีการของปฏิบัติการนี้มีการสร้างหรือดัดแปลงเนื้อหาโดยการปลอมแปลงโลโก้หรือกราฟิกของสื่อ NGO หรือสถาบันต่างๆ เพื่อทำให้ข่าวลวงดูเหมือนเป็นความจริง และทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าใจผิดได้ในที่สุด

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2024 VIGINUM ตรวจพบการเผยแพร่กราฟิกโดยบัญชีที่สนับสนุนอิหร่าน เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรทีมโอลิมปิกของอิสราเอล โดยใช้โลโก้และสัญลักษณ์กราฟิกของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล10กราฟิกเหล่านี้มาพร้อมกับภาพที่สร้างขึ้นด้วย AI แสดงให้เห็นนักกีฬาอิสราเอลทำร้ายพลเมืองปาเลสไตน์ ควบคู่กับการบรรยายเรียกร้องให้คว่ำบาตรอิสราเอล พร้อมติดแฮชแท็กเฉพาะ

วิธีการของปฏิบัติการนี้ยังถูกใช้ในแผนปลุกปั่นมาตริออชกาของผู้สนับสนุนรัสเซีย ซึ่งในหลายโอกาสได้มุ่งเป้าไปที่องค์กรจัดการแข่งขันโอลิมปิกปารีสโดยการปลอมแปลงเป็นสื่อและสถาบันที่เป็นทางการ11 แผนปลุกปั่นนี้พยายามสร้างเรื่องว่าฝรั่งเศสไม่มีความสามารถในการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก (ในด้านสาธารณสุข การรักษาความปลอดภัย สภาพของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หรือการเดินทาง) โดยมุ่งเป้าไปที่หน่วยงานจัดการแข่งขันต่างๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระดับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจริง

http://archive.is/bWPWfhttp://archive.is/IpO5n ; http://archive.is/7Aa9E.

10 https://archive.ph/wip/YTCZb.

11 แผนปลุกปั่นมาทริออชกามุ่งโพสต์เนื้อหาลวง (รายงาน กราฟิตี มีม และอื่นๆ) ซึ่งจะถูกแชร์ในส่วนตอบกลับของโพสต์ใน X ของบัญชีของสื่อต่างๆ บุคคลสาธารณะ และองค์กรตรวจสอบข่าวลวงในประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศ ดูhttps://www.sgdsn.gouv.fr/publications/matriochka-une-campagne-prorusse-ciblant-les-medias-et-la- communaute-des-fact-checkers

มีหลายโพสต์ที่ปลอมแปลงสัญลักษณ์กราฟิกของหน่วยอำนวยการใหญ่ความมั่นคงภายใน (DGSI) ของฝรั่งเศส และ CIA โดยอ้างว่ามีภัยคุกคามจากการก่อการร้ายสูงเกินกว่าที่จะรับประกันความปลอดภัยในการจัดโอลิมปิกได้ ยังมีการเผยแพร่เอกสารปลอมจากศาลาว่าการกรุงปารีสที่ขอให้ชาวปารีสงดเปิดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการปล่อยคลื่นไปรบกวนการทำงานของโดรนที่ใช้รักษาความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานในการแข่งขันโอลิมปิกปารีส

ภาพหน้าจอจากโพสต์มาทริออชกามุ่งเป้าไปที่โอลิมปิกปารีส

การใช้อินฟลูเอนเซอร์แบบไม่โปร่งใส

วิธีนี้คือการใช้บัญชีที่มีผู้ติดตามจำนวนมากระดับหลายพันคน และ/หรือเป็นบัญชีที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในชุมชนของตน เพื่อเผยแพร่เนื้อหาและเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่กว้างมากขึ้น

ในวันที่ 26 และ 27 กรกฎาคม 2024 VIGINUM ตรวจพบการเผยแพร่อย่างเป็นระบบผ่านบัญชีอินฟลูเอนเซอร์หลายบัญชีบน X มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษวิพากษ์วิจารณ์พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกโดยเปรียบเทียบกับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง กลยุทธ์นี้มีเป้าหมายเพื่อลดทอนคุณค่าสากลและด้อยค่าประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมรูปแบบของจีนให้แก่ผู้ชมทั่วโลก การเผยแพร่ครั้งนี้มีจำนวนผู้ชมโดยรวมกว่า 7 ล้านคน

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 27 ถึง 30 กรกฎาคม 2024 VIGINUM ยังตรวจพบวิดีโอจากอินฟลูเอนเซอร์ที่พูดภาษาจีนรายหนึ่งซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2.45 ล้านคน วิดีโอนี้เผยแพร่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแห่ง12 วิดีโอภาษาจีนกลางดังกล่าววิจารณ์การแข่งขันโอลิมปิกปารีสโดยตรงโดยเฉพาะการจัดพิธีเปิด วิดีโอนี้ได้มีผู้เข้าชมมากกว่า 2 ล้านครั้งภายใน 4 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมูลค่าของการใช้ผู้มีชื่อเสียงที่มีผู้ติดตามจำนวนมากเพื่อเพิ่มการมองเห็นของเนื้อหาอย่างรวดเร็ว

การใช้บัญชีปลอม

วิธีการของปฏิบัติการนี้เกี่ยวข้องกับการใช้เครือข่ายบัญชีที่มีรายละเอียดคุณสมบัติปลอม ไม่ว่าจะเป็นบอทหรือนักเลงคีย์บอร์ด (Trolls) เพื่อขยายผลการเผยแพร่เนื้อหาและเนื้อเรื่องในแบบเทียมๆ โดยบัญชีเหล่านี้จะเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเป็นปริมาณมากในบางครั้งเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหญ่ หรือเพื่อสร้างภาพลวงว่าหัวข้อนั้นกำลังเป็นประเด็นร้อน

12 การเผยแพร่เนื้อหาหลายแพลตฟอร์มนับเป็นวิธีปฏิบัติในตัวเองชนิดหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติการนี้ใช้แพลตฟอร์มสื่อชื่อ Douyin (โซเชียลมีเดียจีนเทียบเท่า TikTok), Bilibili (แพลตฟอร์มวิดีโอของจีน), YouTube, Facebook, Weibo (โซเชียลมีเดียจีนเทียบเท่า X) และ X (ที่เคยเรียกว่า Twitter)

บัญชีเหล่านี้มักมีคุณสมบัติที่ทำให้ระบุได้ว่าเป็นบัญชีปลอม เช่น เป็นบัญชีเพิ่งสร้างขึ้นไม่นาน มีการใช้ AI และใช้ข้อความซ้ำกัน13 มีจำนวนผู้ติดตามน้อย (หรือบางครั้งไม่มีเลย) หรือมีโพสต์จำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ

ระหว่างวันที่ 10 และ 29 กรกฎาคม 2024 บนแพลตฟอร์มหลายแห่งของจีน เครือข่ายบัญชีปลอมได้เผยแพร่เรื่องราวบิดเบือนในภาษาจีนกลางที่ระบุว่า สินค้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกปารีส 92% ผลิตในจีน14 โดยเนื้อหาที่เผยแพร่ส่วนใหญ่เป็นวิดีโอและบทความที่สนับสนุนประสิทธิภาพการผลิตสินค้าของจีนทั่วโลก และอ้างว่าการผลิตของจีนมีบทบาทสำคัญในการทำให้โอลิมปิกปารีสประสบความสำเร็จ

ระหว่างวันที่ 1 ถึง 6 สิงหาคม VIGINUM ยังตรวจพบการเผยแพร่เรื่องราวบิดเบือนเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบโดยบัญชีปลอมบน X และ Tumblr เกี่ยวกับพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 โดยแผนปลุกปั่นข้อมูลข่าวสารนี้มีเป้าหมายสร้างความแตกแยกในกลุ่มสนทนาสาธารณะออนไลน์โดยการเผยแพร่เรื่องราวยั่วยุ ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มชาตินิยมชาติพันธุ์ต่างชาติและผู้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของกลุ่มอิทธิพลที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่รู้จักกันในนาม Spamouflage15 ซึ่งเป็นที่รู้จักในแหล่งข้อมูลเปิด

การสร้างและ/หรือการขยายผลของแฮชแท็ก

วิธีนี้คือการสร้างแฮชแท็กแบบยุแยงให้แตกแยก16 จากนั้นจะถูกเผยแพร่โดยผู้ใช้จริง หรือถูกปั่นและส่งต่อโดยบัญชีปลอม (บอทหรือนักเลงคีย์บอร์ด)

ตั้งแต่กลางปี 2023 VIGINUM พบการสร้างและการขยายผลแฮชแท็กหลายรายการที่มุ่งเป้าไปที่โอลิมปิกปารีสหรือผู้จัดโอลิมปิก เช่น แผนปลุกปั่น RRN17 ที่เผยแพร่แฮชแท็ก #JOpourris2024 บน Facebook และ X หลายบัญชี แต่ดูเหมือนว่าจะมีผู้เห็นแผนปลุกปั่นนี้เพียงเล็กน้อย

ในเดือนกรกฎาคม 2023 บัญชีที่สนับสนุนอาเซอร์ไบจานพยายามเพิ่มการมองเห็นให้กับหลายแฮชแท็กที่เรียกร้องให้คว่ำบาตรโอลิมปิก 2024 เช่น #BoycottParis2024 และ #NoParis2024

นอกจากนั้น VIGINUM ยังตรวจพบการเผยแพร่แฮชแท็กที่ไม่ใช่การเผยแพร่แบบเทียม มุ่งเป้าวิจารณ์การเข้าร่วมโอลิมปิกของนักกีฬาจากบางประเทศ เช่น แฮชแท็ก #BloodyOlympics ที่เผยแพร่บน X, Facebook และ Instagram เพื่อวิจารณ์ผู้สนับสนุนโอลิมปิกและการตัดสินใจของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่อนุญาตให้นักกีฬารัสเซียและเบลารุสเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้ธงเป็นกลาง

การทำให้วิดีโอไม่อยู่ภายใต้บริบทใดๆ

วิธีนี้คือการนำวิดีโอออกจากบริบทเดิมเพื่อใช้ในการหลอกลวงผู้ชม เทคนิคนี้ส่วนใหญ่ใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างพิธีเปิดในวันที่ 22 ถึง 29 กรกฎาคม 2024

ในสัปดาห์ก่อนพิธีเปิด VIGINUM พบการใช้ประโยชน์จากกลุ่มชาตินิยมต่างชาติและกลุ่มแบ่งแยกอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาสเปน ซึ่งใช้เหตุการณ์ความรุนแรงหลายเหตุการณ์

กลุ่มออนไลน์เหล่านี้พยายามสร้างภาพให้รู้สึกว่าปารีสเป็นเมืองที่มีอันตรายจากชุมชนผู้อพยพ โดยหวังให้นักท่องเที่ยวเกิดความหวาดกลัวและงดการเข้าชมโอลิมปิกปารีส ซึ่งทำโดยการเผยแพร่วิดีโอความรุนแรงที่ไม่อยู่ภายใต้บริบทเดิมเพื่อชี้นำและบิดเบือนความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย

13 ชุดข้อความหรือกราฟิกที่เหมือนกันหรือเกือบเหมือนกันที่ถูกคัดลอกและโพสต์ซ้ำกันในหลายแพลตฟอร์ม มุ่งให้เกิดการมองเห็นข้อความมากขึ้น
14 ข้อมูลบิดเบือนนี้มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริงที่ว่าตุ๊กตามาสค็อตของโอลิมปิกปารีส 90% นั้นผลิตในประเทศจีนจริงๆ
15 https://public-assets.graphika.com/reports/Graphika_Report_Spamouflage_Returns.pdf ; https://blogs.microsoft.com/on-the- issues/2024/04/04/china-ai-influence-elections-mtac-cybersecurity/
16 แฮชแท็ก คือคำสำคัญที่ใช้ในโซเชียลมีเดียเพื่อเน้นแก่นของเรื่องต่างๆ เพื่อให้มีการมองเห็นเพิ่มขึ้น
17 หรือเรียกอีกชื่อว่า Doppelganger ซึ่งเป็นแผนปลุกปั่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2022 และใช้วิธีต่อไปนี้:การปลอมเป็นสื่อและสถาบันที่มีตัวตนจริงแต่ใช้วิธีการพิมพ์ชื่อโดเมนผิดเป็นบางตัว หรือการสร้างสื่อท้องถิ่นปลอมเพื่อเผยแพร่เนื้อหาที่สนับสนุนรัสเซียและต่อต้านยูเครน หรือการใช้บัญชีปลอมในหลายแพลตฟอร์มเพื่อเผยแพร่เนื้อหาของแผนปลุกปั่น ดูhttps://www.sgdsn.gouv.fr/publications/maj-19062023-rrn-une-campagne-numerique-de- manipulation-de-linformation-complexe-et

ระหว่างพิธีเปิดโอลิมปิก VIGINUM ตรวจพบว่ามีบัญชีX ที่อ้างว่าเป็นของกลุ่มชาตินิยมอินเดีย ผู้สนับสนุนทรัมป์ และผู้สนับสนุนอิสราเอล ได้เผยแพร่วิดีโอรวมเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารและยานพาหนะในปารีส ซึ่งวิดีโอดังกล่าวเคยถูกเผยแพร่ในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงในเขต Nanterre ในเดือนกรกฎาคม 2023 มาก่อนแล้ว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการเผยแพร่ดังกล่าวมีลักษณะที่บิดเบือนข้อมูลอย่างชัดเจน

ภาพหน้าจอจากวิดีโอรวมหลายเหตุการณ์ที่โพสต์ใน X       ภาพหน้าจอจากวิดีโอนอกบริบทเดิมที่โพสต์ใน X

ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม และหลังพิธีเปิดโอลิมปิก มีบัญชี X ที่สนับสนุนชาตินิยมชาติพันธุ์และอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในภาษาอังกฤษและสเปน ได้เผยแพร่วิดีโอนอกบริบทเดิมอ้างว่า “คริสเตียนหลายพันคน” ได้มารวมตัวกันในฝรั่งเศสเพื่อประท้วงพิธีเปิดโอลิมปิกซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพิธีเปิดที่ “ต่อต้านคริสต์ศาสนา”ซึ่งวิดีโอนี้เดิมเคยถูกเผยแพร่ในวันที่ 15 สิงหาคม 2022 ระหว่างเทศกาลอัสสัมชัญ

และสุดท้าย เมื่อต้นปีนี้ VIGINUM ยังพบการใช้วิธีการของปฏิบัติการนี้ระหว่างวันที่ 14 ถึง 16 พฤษภาคม บน X และแพลตฟอร์มของจีน โดยบัญชีที่ใช้ภาษาจีน ซึ่งนำคลิปจากการแถลงข่าวของรองโฆษกพรรค Podemos ของสเปนมาใช้ โดยในคลิปเธอเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนคว่ำบาตรกิจกรรมระหว่างประเทศใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล

2 | Page:สรุปภัยคุกคามทางข้อมูลข่าวสารต่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2567

งดทัศนศึกษาทั่วประเทศ หากโรงเรียนใดฝ่าฝืนปรับ 20,000,000 บาท…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/9sn4fc066vqq


เม็ดชาไข่มุกทําให้เป็นมะเร็ง…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2kin0jqnce8ue#_=_


น้ำทะเลชายฝั่ง จ.สงขลา และ จ.สุราษฎร์ธานี ลดลงเป็นระยะ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/6sndn2dligu3


กัญชารักษาโรคซึมเศร้าได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3nd3u65rx8wmu


เงินเดือนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มต้นเดือนตุลาคมนี้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/7nxgvn2mc3vx


 30 บาทรักษาทุกที่ เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถขอรับยาฟรี 32 อาการได้ที่ร้านยา

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1qdfozm3vyo0p


 กทม. เปิดฉีดวัคซีนและฝังไมโครชิปสัตว์เลี้ยงฟรี ตลอดเดือน ต.ค. 67 นี้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1i1gtlkpnqqby


กทม. เตรียมรับน้ำ เตือนชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยายกของขึ้นที่สูงเนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2jmimc2tjkijt


 เตือน! ภัยร้ายจากแอปพลิเคชันหาคู่ เสี่ยงเจอมิจฉาชีพ

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2eqn3uy90ivn8#_=_


มองจุดแข็ง-จุดอ่อนสังคมไทย รับมือ‘โจรออนไลน์’แม้ระบบกฎหมายยังต้องปรับ แต่‘วิธีคิดของคน’ ย่อมสำคัญ

กิจกรรม

9 ต.ค. 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และเครือข่าย จัดเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 28 “Next levels to counter fraud & deepfake: What’s else should we act? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุคดีพเฟค ที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ไทยพีบีเอส และCofact โคแฟค

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า หากอ้างอิงข้อมูลจากทางตำรวจ สถิตินับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 – ก.ค. 2567 คดีความเฉพาะที่เกี่ยวกับการหลอกลวงเพียงอย่างเดียว ไม่นับรวมเรื่องการซื้อของแล้วไม่ได้ของ มีมากถึง 3 แสนคดี มูลค่าความเสียหายสูงถึง 6.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่สูงมากหากเทียบกับจำนวนประชากรและรายได้ ซึ่ง ธปท. มองว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ย่อมไม่อาจปล่อยให้ประชาชนอยู่กับความเสี่ยงและความกังวลในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแบบนี้ได้ จึงต้องมีการออกมาตรการต่างๆ มาดูแล แต่ความยากคือในขณะที่เราอยู่ในที่สว่างในขณะที่มิจฉาชีพอยู่ในที่มืด เมื่อมีมาตรการใดๆ ออกมาก็จะหาทางหลบเลี่ยงและคิดอุบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อหลอกลวงอยู่เสมอ

มาตรการที่ ธปท. ดำเนินการร่วมกับธนาคารต่างๆ เพื่อสกัดกั้นมิจฉาชีพ เช่น ยุติการส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะที่เป็นการแนบ Link ให้คลิก เนื่องจากที่ผ่านมาได้กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพส่ง Link ปลอม แอบอ้างเป็นธนาคารหลอกให้เหยื่อคลิกเพื่อติดตั้งแอปพลิเคชั่นควบคุมโทรศัพท์แล้วดึงเงินออกไปจากบัญชีของเหยื่อ หรือ แอปฯ ดูดเงิน การกำหนดให้การโอนเงินเกินครั้งละ 5 หมื่นบาท หรือเกินวันละ 2 แสนบาท ต้องสแกนใบหน้า เพราะพบว่ามิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อโดยไม่รู้ตัว

เมื่อ ธปท. ออกมาตรการข้างต้น มิจฉาชีพได้ไปใช้อุบายอื่นๆ เช่น โทรศัพท์หลอกเหยื่อ อ้างเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทเอกชน แล้วพูดคุยหาทางให้เหยื่อโอนเงิน ซึ่งความยาก คือเหยื่อเป็นคนโอนเงินไปให้เขาเอง กลายเป็นความรับผิดชอบที่เหยื่อต้องแบกรับด้วย ซึ่ง ธปท. ไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นการตระหนักรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

แม้จะมาตรการใดๆ ออกมา แต่ถ้าเราโอนเงินและอนุญาตด้วยตัวของเราเอง ถือเป็นความยากและเมื่อเงินออกจากบัญชแล้ว ต้องใช้เวลานานมากและไม่มีสามารถรู้ได้ว่าเหยื่อจะได้เงินกลับมาคืนมาหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลยดร.ชญาวดี กล่าว 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มิจฉาชีพไม่เคยหยุดพัฒนา เปลี่ยนรูปแบบไปได้ทุกวัน ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทัน ด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยี ที่ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวเราได้อย่างง่ายได้  ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้นถึง 3 เท่า และสามารถใช้งานได้ทุกที่ ข้อดี คือ ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย แต่อีกด้านหนึ่งมิจฉาชีพก็ใช้ช่องทางนี้เข้าถึงเหยื่อเช่นกัน

ทั้งนี้ มีผลการศึกษาที่ สสส. ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หากคนไทยมี 70 ล้านคน ในจำนวนนี้ 36 ล้านคน มีประสบการณ์ถูกคุกคามออนไลน์ และใน 36 ล้านคนนี้ครึ่งหนึ่งเคยถูกหลอกได้รับความเสียหาย หากหารเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 36,000 บาทต่อคน แต่ในความเป็นจริงแต่ละคนจะเสียหายไม่เท่ากัน บางคนเป็นหลักสิบบาท แต่บางคนก็อาจสูงถึงหลักล้านบาท อีกทั้งเมื่อพลาดแล้วการสูญเสียเงินจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากและตามกลับเงินคืนมาได้ยาก โดยได้กลับมาเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

นี่เป็นเพียงข้อมูลปัจจุบัน หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) ี่มีความเหมือนจริงมาก ยิ่งทำให้พวกเราถูกหลอกได้มากขึ้นโดยแทบจะไม่รู้ตัว โอนเงินถูกหลอกไปด้วยความยินยอมพร้อมใจ AI มีข้อดีมากมาย  แต่มีข้อที่พึงระวังในการใช้ด้วยเช่นกัน  ดังนั้นองค์กรทั้งหลายต้องมาร่วมกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

จากนั้นเป็นการบรรยายโดย ดร.โจชัว เจมส์ (Dr. Joshua James) Regional Counter-Cybercrime Coordinator United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานการณ์ที่มีปัจจัยหลายอย่างมารวมกันและเอื้อต่อการเกิดเรื่องร้ายๆ อย่างกรณีของมิจฉาชีพออนไลน์ ประเทศไทยมีปัจจัย คือ 1.การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถใช้งานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ทุกที่ 2.ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง กลายเป็นแรงกดดันให้ต้องดิ้นรนหาเงิน และอาจตกเป็นเหยื่ออุบายที่อ้างว่ามีวิธีหาเงินได้ง่ายและได้ผลตอบแทนสูง (Easy Money) 3.การโอนเงินทำได้ง่ายแม้กระทั่งการโอนข้ามประเทศ ทุกอย่างทำได้โดยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว 4.การมาของสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทำได้ง่าย ซึ่งหมายถึงการโกงทำได้ง่ายขึ้นด้วย 5.กฎหมายตามไม่ทันเทคโนโลยี กว่ากฎหมายสักฉบับจะออกมาบังคับใช้ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งใช้เวลานาน ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน นอกจากนั้น ในขณะที่รัฐบาลดูแลเพียงในอาณาเขตประเทศ แต่มิจฉาชีพมองหาโอกาสจากทั่วโลก เช่น มิจฉาชีพอยู่ในประเทศหนึ่งแต่คิดหาทางหลอกเอาเงินจากคนที่อยู่ในประเทศที่อยู่ไกลออกไปคนละซีกโลก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่หลายหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน ทั้งองค์กรด้านการเงิน ด้านการบังคับใช้กฎหมายด้านการศึกษา

ทุกวันนี้ประเทศไทยพัฒนาขึ้นมากแล้ว ถึงแม้จะยังมีการหลอกอยู่เยอะ มีเหยื่อที่โดนหลอกเป็นหมื่นเป็นแสนคน แต่จากสถิติของสหประชาชาติ จากที่ได้ร่วมงานกับตำรวจไซเบอร์ ประเทศไทยมีการพัฒนามากขึ้นแล้วในการรับมือภัยออนไลน์ ฉะนั้นเราต้องพัฒนาต่อไป อย่าให้แพ้มิจฉาชีพที่เขาก็พัฒนาอย่างไม่หยุดเหมือนกัน ดร.โจชัว กล่าว

จากนั้นเป็นวงเสวนาที่ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) มีวิทยากร 5 ท่าน โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมทกล่าวว่า ประเทศไทยปรับตัวรับมือได้รวดเร็ว โดยหากย้อนไปสัก 4 ปีก่อน สถานการณ์แย่กว่านี้มาก แต่เมื่อทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำงานในบทบาทของตนเองก็ทำให้หลายๆ อย่างถูกแก้ไข แต่จุดอ่อนคือจากที่เคยได้ยินในหลายเวทีซึ่งไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ คือหน่วยงานต่างๆ ยังทำงานร่วมกันได้ไม่ดีนัก แต่หากทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไขสร้างความตื่นตัวในเรื่องนี้  และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว 

ปัญหาของคนที่ทำงานด้านการตรวจสอบและรับมือข้อมูลลวพบ คือ บางครั้งประชาชนเลือกเชื่อโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง  เขาอาจไม่ได้ตั้งคำถามว่าตกลงเรื่องจริงคืออะไร? เขามักจะไปตั้งคำถามในเรื่องที่อยากตั้งคำถาม แต่เรื่องที่เขาไม่อยากตั้งคำถามเขาก็ไม่ตั้งคำถาม ด้วยวิธีคิดแบบนี้กลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเข้ามาทำอะไรกบแต่ละบุคคลได้มากขึ้น ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ประชาชนน่าจะยกระดับและตั้งคำถาม-ตั้งข้อสงสัยเสมอ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าว 

สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) กล่าวว่า เทลสกอร์ทำงานกับผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creator) ตลอดจนภาคประชาสังคม จุดแข็งสำคัญของสังคมไทยคือยังมีความเป็นครอบครัว แม้จะไม่ใช่ครอบครัวใหญ่อย่างในอดีตแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นโดดเดี่ยว อย่างที่เรามักเตือนผู้สูงอายุว่าได้รับข้อมูลอะไรมาให้ไหว้วานลูกหลานช่วยตรวจสอบก่อน วิธีนี้ใช้กับสังคมตะวันตกไม่ได้เพราะผู้สูงอายุในโลกตะวันตกมักอยู่คนเดียวหรืออยู่กับสองคนตา-ยาย แต่ข้อเสียของคนไทย คือ เชื่อง่าย โอนง่าย โอนไว

แล้วพอมีคนมาทำร้ายมักจะไม่ฟ้องใคร ไม่รายงานใครด้วย เก็บเอาไว้คนเดียวเพราะว่าอาย อยากให้ประชาชนรู้ในคุณค่าของตนเอง แล้วก็ลุกขึ้นมารายงานให้มากกว่านี้ เพราะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานมากๆ เลย รวมถึงในฐานะที่เราเป็นสื่อเราเป็นผู้ผลิตเนื้อหาก็จริงแต่ก็ร่วมงานกับสื่อมวลชนอยู่เยอะ ึ่งบทบาทของสื่อก็อาจช่วยเหลือหน่วยงานได้อีกแรงหนึ่ง ก็จะเห็นเรื่องของความร่วมมือ ปวารณาตัวเลยว่าถ้าต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลหรือมีการต้องร่วมงานกัน ยินดีมากและรู้สึกว่าเราต้องทำร่วมกันมากกว่านี้ สุวิตา กล่าว

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในขณะที่เราบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ น่าคิดว่าเราเป็นพุทธไม่เต็มที่หรือไม่เพราะเมื่อดูคำสอนของพระพุทธเจ้า 1.อย่ามีชีวิตบนความประมาท 2.อย่าเชื่อสิ่งใดง่ายๆ โดยไม่ตรวจสอบแม้จะเป็นคำของตถาคต และ 3.ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เหล่านี้เป็นคำสอนตั้งแต่เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน แสดงว่ามีบริบทบางอย่างที่ซ้ำกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพียงแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือรูปแบบตามความทันสมัยของเทคโนโลยี เหล่านี้เราได้รับรู้แต่ก็วางไว้ไม่ได้ยึดถือเป็นที่ตั้งในการดำรงชีวิต

แต่คำสอนบางข้อบางประการ ให้อภัย เป็นเรื่องกรรมเวร ปล่อยให้เป็นเรื่องบุญกรรมเพราะชาติก่อนเราอาจจะไปทำมา จุดอ่อนตรงนี้เราต้องกลับมาตรวจสอบบริบทของพลเมืองของเราทั้งหมดว่าสถานการณ์ประชาชนยังเป็นแบบนี้อยู่ ฉะนั้นตัวระบบของรัฐผมคิดว่ายังต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษ เหมือนกับที่ผมเคยพูดทุกเวที สถานการณ์ตอนนี้ถ้าเรามีคนใกล้ตัวบอกว่าโดนเหมือนกัน อาการถึงขั้นเป็นโรคระบาด รัฐต้องออกมาประกาศเป็นวิกฤติของชาติ แล้วต้องมีมาตรการพิเศษ จะใช้วิถีแบบเดิมปกติ อำนวยความสะดวก เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ คงจะใช้มาตรการแบบนั้นในเวลาแบบนี้อาจจะใช่หรือไม่? อิฐบูรณ์ กล่าว

พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในเรื่องการทำให้เจ้าของระบบมีความพร้อมรับมือแฮ็กเกอร์ โดยล่าสุดขยับจากอันดับ 44 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 7 แต่อีกด้านหนึ่ง สกมช. ยังมีงานที่ต้องช่วยให้คนถูกหลอกน้อยลงด้วย ซึ่งสำหรับสังคมไทยนั้นมีจุดแข็งคือราคาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตค่อนข้างเหมาะสม สัญญาณระดับ 5G ครอบคลุมอย่างทั่วถึง

นอกจากนั้น ระบบการโอนเงินออนไลน์ (Mobile Banking) ใช้งานได้สะดวก ถึงขนาดติด 1 ใน 10 ประเทศที่ใช้บริการโอนเงินออนไลน์มากที่สุดในโลก แต่นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้วประเทศไทยค่อนข้างมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การปิดกั้นทำได้ยากและมักถูกต่อต้านอยู่เสมอ เมื่อเทคโนโลยีเข้าถึงง่ายในราคาที่จับต้องได้บวกกับมีเสรีภาพในการเข้าถึง ทุกคนก็มีโอกาสเจอทั้งสิ่งดีและไม่ดี

อนี่ง สกมช. เคยทำงานร่วมกับภาคีโคแฟค สอนเทคนิคการสังเกตคลิปวีดีโอที่อาจเข้าข่ายใช้เทคโนโลยีดีพเฟค (Deepfake) โดยยกตัวอย่างคลิปวีดีโอดาราดังโชว์ท่าเต้นแบบสุดเหวี่ยงบนแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก (Tiktok) ให้ช่วยกันดูว่าเป็นของจริงหรือใช้ดีพเฟคปลอมขึ้น เช่น ปากขยับอย่างไร ตาเป็นแบบไหน  แต่จริงๆ อยากให้ลองคิดว่าอยู่ดีๆ คนระดับนั้นจะมาเต้นโชว์ลงติ๊กต๊อกทำไม หรือหากมีคนเข้ามาทักบอกว่ามีวิธีลงทุนน้อยแต่ได้เงินมากๆ แต่เป็นความลับและมีคนจำนวนน้อยที่ได้รู้ อยากให้ลองคิดดูว่าหากมีจริงๆ รัฐบาลคงเชิญไปช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศแล้ว เป็นต้น

เวลาที่จะขายข่าวมี 2 แบบ 1.Clickbait (พาดหัวล่อเป้า) ทำแล้วยั่วให้เข้าไปอ่าน ตรงนี้เราจะเจอเยอะมาก เจอข้อความสั้นๆ ข่าวดูแย่มากเลย แต่พอจะดูรายละเอียดต้องเข้าไปคลิก แต่เท่านั้นยังไม่พอ ตอนนี้ยังกระตุ้นให้เป็น 2.Ragebait (พาดหัวยั่วให้โกรธ) คือ ยั่วให้โมโห ใส่เข้าไปยั่วให้มาด่ามาโกรธ อันนี้จะเห็นเยอะขึ้นและบางครั้งเราเองก็ตกเป็นเหยื่อ แบบนี้ถึงจะมองว่าสุดท้ายไม่ได้เสียเงิน แต่มันเป็นชุดความคิดเดียวกัน ถ้าเราเชื่ออะไรแบบนี้ง่ายๆ มองเห็นอะไรปุ๊บแล้วด่วนตัดสินใจ ทำในสิ่งที่ปกติเราจะไม่ทำ เขามายั่วเราถึงทำ พอไปถึงตอนที่เราถูกหลอก ชุดความคิดแบบเดียวกันที่เราไม่ได้คิดวิเคราะห์ มันก็ตามไปด้วย พล.อ.ต.อมร กล่าว

ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ย้อนไปก่อนหน้านี้ กฎหมายคือจุดอ่อนเพราะไม่มีกฎหมาย แต่ปัจจุบันมี พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 และมีมาตรการต่างๆ ออกมา เช่น การเปิดบัญชีม้ามีโทษรุนแรงขึ้น ธนาคารสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ออกมาตรการลดความเสี่ยงจากการโอนเงินทางออนไลน์ มีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นศูนย์ AOC แบบ One Stop Service ในการแก้ไขปัญหาหลอกลวงออนไลน์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในด้านกฎหมายก็ยังมีจุดที่ต้องปรับให้แข็งขึ้น เช่น การเยียวยาความเสียหาย การควบคุมไปถึงสกุลเงินดิจิทัล หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะทำได้ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ยังคงเป็นจุดอ่อนเสมอคือเรื่องของคน เช่น หากเราเป็นผู้สูงอายุอาจมีความใจอ่อน ใครโทรศัพท์มาอ้างเป็นเพื่อนหรือญาติก็อาจโอนเงินให้เขาไป หรือหากเราเป็นคนเหงาๆ อยู่คนเดียว อาจถูกหลอกให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) หรือคนที่มีเงินและกำลังอยากหารายได้เพิ่ม ก็อาจถูกหลอกให้ลงทุนได้ 

ทำอย่างไรให้การสื่อสาร ณ วันนี้ เข้าถึงทุกๆ กลุ่มคน ในการสร้างเกราะป้องกันตัวเอง ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รูปแบบการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ทุกคนสามารถที่จะสร้างเกราะป้องกันจุดอ่อนและไม่เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ” ผอ.ฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธปท. กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

ดาวน์โหลดเอกสารการบรรยายโดย ดร.โจชัว เจมส์ (Dr. Joshua James) Regional Counter-Cybercrime Coordinator United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)