ข้อเท็จจริง‘USA-MTEC’กับการจัดการเรียนการสอนของบุตรหลานแรงงานเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร

By : Zhang Taehun

เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2567 มีผู้ส่ง Link วีดีโอที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กมาให้ผู้เขียนดู เนื้อหาว่าด้วยโรงเรียนในประเทศไทย แต่นักเรียนเป็นชาวเมียนมา พูดภาษาพม่า ครูก็พูดเชิญชวนให้เด็กชาวเมียนมาเข้ามาสมัครเรียน โดยเสียงบรรยายในคลิประบุว่า โรงเรียนที่ถูกอ้างถึงนี้ชื่อว่า “USA-MTEC”แต่ไม่รู้ว่ามีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานศึกษาหรือไม่ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม อยู่ในอาคารสถานที่ที่มีสภาพเหมือนโรงเรียนโดยทั่วไป ไม่ใช่สถาบันสอนพิเศษหรือสอนภาษา ตั้งอยู่ที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

มีการอ้างต่อไปว่า ย้อนไปก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี USA-MTEC เคยเป็นสถาบันสอนภาษาไทย แต่ต่อมาได้ขอเช่าพื้นที่โรงเรียนเก่า คือโรงเรียนปัญจพรพิทยา เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้ได้ปิดการเรียนการสอนไปแล้ว โดยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีชาวเมียนมาไปดำเนินการเพื่อนำพื้นที่มาใช้เป็นโรงเรียนของเด็กและเยาวชนชาวเมียนมา และฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบด้วย

ภาพที่ 1 : คลิปวีดีโอที่อ้างว่ามีการเปิดโรงเรียนของชาวเมียนมาในประเทศไทย

ซึ่งจากการค้นหาชื่อ USA-MTEC ในอินเตอร์เน็ต พบว่า มีชื่อเต็มๆ คือ ศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย ก่อตั้งโดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิของแรงงานข้ามชาติ มีพื้นที่ปฏิบัติงานหลักอยู่ใน จ.สมุทรสาคร

บทความ การศึกษาทำให้ชีวิตคนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ LPN เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2567 ระบุว่า ศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย หรือ USA-MTEC  เป็นการรวมกลุ่มพึ่งตนเองอย่างสร้างสรรค์ของชาวเมียนมา ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่พักอาศัยและทำงานในประเทศไทย   

เป็นการปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มประชากรข้ามชาติที่ประสบความยากลำบากในประเทศไทย  สนับสนุนโดย ภาคีความร่วมมือองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินการด้านการป้องกันการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย รวมถึงตัวบุคคลไทยและคนต่างชาติที่มีความสนใจในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ภาพ 02 : โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก “กอ.รมน.จังหวัดสมุทรสาคร” เข้าตรวจสอบศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย USA – MTEC

ในเบื้องต้นผู้เขียนไม่แน่ใจว่านี่เป็นคลิปเก่าแชร์วนซ้ำ หรือเป็นการทำคลิปใหม่ แต่ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ แห่งนี้ มีหน่วยงานภาครัฐของไทยลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้วหลายหน่วย อาทิ “กอ.รมน. จังหวัดสมุทรสาคร” ลงพื้นที่ในวันที่ 6 ส.ค. 2567 พร้อมด้วย นายอำเภอกระทุ่มแบน, ผกก.สภ.กระทุ่มแบน, จนท.ตร.สันติบาลจังหวัดสมุทรสาคร, ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 พูดคุยกับ นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN โดยขอความร่วมมือดังนี้ (1) ให้มูลนิธิฯรวบรวมจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนว่ามีจำนวนเท่าใดและให้แยกเป็น ช-ญ (2) ทำประวัติทะเบียนราษฎร์ของเด็กแต่ละคน เช่น ชื่อ-สกุล-อายุ-บิดา -มารดา-ที่อยู่ แสกนลายนิ้ว เป็นต้น (3) มีข้อสงสัยประการใดให้ผู้อำนวยการประสานกับนายอำเภอโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องให้กับผู้ที่จัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือชาวต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ทราบจำนวนประชากรเด็กที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และเพื่อป้องกันการก่อเหตุการณ์ต่างๆ ภายในจังหวัดสมุทรสาคร

ภาพ 03 : โพสต์จากเฟจเฟซบุ๊ก “สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร” เข้าตรวจสอบศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย USA – MTEC

วันที่ 2 ก.ย. 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับอีกหลายหน่วยงาน ลงพื้นที่หลังพบมีการแชร์คลิปวีดีโอโรงเรียนแห่งหนึ่งมีนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ ร้องเพลงชาติทั้งของไทยและเมียนมา แล้วมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นที่ จ.สมุทรสาคร อย่างไรก็ตาม พบว่า ไม่เป็นความจริง โดยมีการเปรียบเทียบภาพที่ปรากฏในคลิปวีดีโอ กับสถานที่จริงนั้น ไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม ได้ให้คำแนะนำกับทางศูนย์ฯ ดังนี้ (1) ให้ทางศูนย์ฝึกอบรมฯ ดำเนินการจัดทำทะเบียนนักเรียนในศูนย์ฝึกทั้งหมด (2) กำชับให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหลังจากนั้น ก็ยังมิได้มีข่าวเพิ่มเติมอีกว่ามีการสั่งปิดศูนย์ฯ แห่งนี้ (ค้นหา ณ วันที่ 28 ธ.ค. 2567)

นอกจากการตรวจสอบแล้วยังมีการสนับสนุนและทำงานร่วมกัน เช่น สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (หรือชื่อเดิมคือ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย – กศน.) ในวันที่ 3 ต.ค. 2567 ลงพื้นที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ เพื่อสำรวจ วางแผนและร่วมหารือ เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนเด็กข้ามชาติที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาทักษะภาษาและความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันที่ 21 พ.ย. 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ส่งตัวแทนร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการจัดการศึกษาหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และมูลนิธิ LPN ณ ศูนย์ฯ USA-MTECและยังมีข่าวประชาสัมพันธ์จาก วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร วันที่ 26 พ.ย. 2567 ที่ระบุว่า ผู้บริหารวิทยาลัยฯ ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร ให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

ภาพ 04 : ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร และวิทยาลัยประมงสมุทรสาครร่วมพิธีเปิดการจัดการศึกษาหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และมูลนิธิ LPN ณ ศูนย์ฯ USA-MTEC

แม้จะยังไม่สามารถค้นหาได้ว่าสถานะปัจจุบันของศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นอย่างไร แต่จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้น ที่นี่ไม่ได้แอบลักลอบเปิด และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ในขณะที่คลิปต้นทางนั้นมีการอ้างถึงอีกสถานที่แห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี โดยระบุว่าเป็นการแอบเปิดและเกรงว่าที่ จ.สมุทรสาครจะเหมือนกัน (ซึ่งน่าจะเป็นข้อสงสัยเดียวกับโพสต์ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร จนนำไปสู่การตรวจสอบเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567) จากการสืบค้น พบว่า น่าจะหมายถึง ศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ตั้งอยู่ที่ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี

ซึ่งข้อมูลจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันที่ 5 ก.ย. 2567 ระบุถึงกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลว่า มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงชาติเมียนมาต่อจากเพลงชาติไทยทุกเช้า เพราะความต้องการของผู้ปกครอง และโรงเรียนต้องการปริมาณนักเรียนเพื่อรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ว่า ศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เพื่อจัดการศึกษาโดยกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา มีการวัดและประเมินผล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หน่วยงานราชการในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเรียกมาชี้แจง และได้ออกคำสั่งให้ปิดการเรียนการสอนหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา แต่ศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ก็ยังลักลอบเปิดมาโดยตลอด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวกับการกระทำของศูนย์การเรียนมิตตาเอ๊ะ บางกุ้ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์และการกระทำเข้าข่ายความผิดฐานจัดตั้งโรงเรียนในระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 130 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง ในคลิปยังมีการระบุสถานที่ตั้งของศูนย์ฯ USA-MTEC ว่าได้เช่าพื้นที่จาก ร.ร.ปัญจพรพิทยาที่เลิกกิจการไปแล้ว เบื้องต้นผู้เขียนไม่สามารถค้นหาได้ว่า ร.ร.ปัญจพรพิทยา เลิกไปเมื่อใด แต่หากนำคำว่า ปัญจพรพิทยา และ เลิกกิจการไปค้นหาพร้อมกันในอินเตอร์เน็ต จะพบผลการค้นหาบางแหล่งที่ระบุว่าเลิกไปแล้ว ในขณะที่เมื่อนำไปค้นหาในโหมดแผนที่ของ Google หากใช้คำว่า โรงเรียนปัญจพรพิทยา” จะพบว่า ตั้งอยู่ในซอยร่วมใจ 2 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร แต่มีสถานะ ปิดถาวร โดยบริเวณเดียวกันที่มีการปักหมุด ร.ร.ปัญจพรพิทยา จะมีสถานที่ชื่อ USA-MTEC อยู่ด้วย และเมื่อคลิกดู จะพบว่าใช้ชื่อ “USAMTEC 2” และมีสถานะ เปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้ง 2 สถานที่ ใช้ “M78H+9VV” เป็นพิกัดเดียวกัน

 ภาพ 05 : ที่ตั้งของ ร.ร.ปัญจพรพิทยา
ภาพ 06 : ที่ตั้งของศูนย์ฯ USA-MTEC

โดยสรุป แม้จะเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้เด็กและเยาวชนที่เป็นบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติเหมือนกัน แต่ที่ จ.สมุทรสาคร กับ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นคนละกรณีกัน ซึ่งต้องไปดูในรายละเอียดว่าการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใดบ้าง โดยเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2567 เว็บไซต์ ศธ. 360 องศา อันเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า กรณีการสั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง จ.สุราษฎร์ธานี ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง

พบว่า การเปิดศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่กำหนดถึงสิทธิในการจัดการการศึกษาพื้นฐานในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จึงจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ หรือหากต้องการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนในประเทศไทย ก็ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมการจัดตั้งและบริหารโรงเรียนเอกชน มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียน การบริหารโรงเรียน คุณสมบัติของผู้จัดการโรงเรียนและครู มาตรฐานการศึกษาที่ต้องปฏิบัติตาม และต้องได้รับการอนุมัติจาก ศธ. เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพและสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เร่งสำรวจฐานข้อมูล และดำเนินการให้ถูกต้องและรวดเร็ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสที่ ศธ. จะกำหนดนโยบายเพื่อเร่งวางแนวทางให้ทุกหน่วยงานที่ต้องการเปิดศูนย์การศึกษาลักษณะนี้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อแนะนำการขอจัดตั้งศูนย์การศึกษา เพื่อให้เป็นวิธีปฏิบัติเดียวกันทั้งประเทศจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นอีก

มุมมองจาก สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ กสศ. X 101” เผยแพร่วันที่ 21 มิ.ย. 2566 กล่าวถึงความสำคัญของการให้บุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยเข้าถึงการศึกษา ว่า LPN ทำเรื่องศูนย์การเรียนรู้แรงงานข้ามชาติ ก่อนที่รัฐบาลไทยจะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ก.ค. 2548 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการรับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน เนื่องจากหากไม่ได้เรียนก็มีโอกาสสูงที่เด็กเหล่านี้จะไปทำงานกับพ่อแม่ ไปเป็นแรงงานเด็กตามโรงงาน ตามล้ง หรือสถานที่ทำงานที่มีความสุ่มเสี่ยง ไม่ปลอดภัย

หลายครั้งการรับเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติเข้าทำงานก็มาจากความหวังดีของนายจ้าง คิดว่าเด็กอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร รับเข้ามาทำงานช่วยพ่อแม่หาเงินดีกว่า แต่มุมมองชาวต่างชาติที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จากเรา มองว่าการใช้แรงงานเด็กเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ภายหลังนายจ้างก็ตระหนักมากขึ้นเพราะมีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง สมพงษ์ กล่าว

เช่นเดียวกับรายงานข่าว เด็กทุกชาติได้เรียนเท่าเทียม ไม่แค่สิทธิไทยก็ได้ประโยชน์” ที่เผยแพร่ใน นสพ.แนวหน้า วันที่ 6 มิ.ย. 2562 เกียรติกูล เหล่ากอดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิริมงคล (ในขณะนั้น) ซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หนึ่งในสถานศึกษาที่มีเด็กไทยเรียนร่วมกับบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ ได้กล่าวว่า ต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและมองในมุมการศึกษาใหม่ 

ราจะปรับทัศนคติของครูในโรงเรียนว่าถ้าเราปล่อยเด็กกลุ่มนี้ไป เลือกแต่เด็กเรา ให้ความสำคัญแต่กับเด็กเรา เด็กกลุ่มนี้จะไม่มีใครคอยตักเตือนเมื่อเขาทำผิด และอาจก่อให้เด็กไปทำสิ่งผิดๆ ในอนาคต เช่น ก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้ เกียรติกูลกล่าว

รวมถึง เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ในขณะนั้น) ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้สิทธิเรียนในประเทศไทยว่า เรื่องนี้อย่าไปมองคนต่างด้าวได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว สังคมไทยก็ได้ประโยชน์ด้วยเป็นการ ลดปัญหาสังคม หากปล่อยให้มีเด็กคนใดไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ค้ามนุษย์หรือยาเสพติด ในทางกลับกันเมื่อเด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาเต็มที่ ก็จะมีอาชีพสุจริตและมีรายได้ดี ซึ่งก็ต้องเสียภาษีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมตามเกณฑ์ของกฎหมาย

เป็นธรรมดาที่ประเทศใดก็ตามมีความเจริญ มีการพัฒนาสูง ก็มักจะดึงดูดการย้ายถิ่นของผู้คนจากประเทศอื่นๆ เข้าไปแสวงหาโอกาส ซึ่งแม้ไทยจะยังไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่หากเทียบกับเพื่อนบ้านโดยรอบทั้ง 4 ทิศ พบว่าจาก 3 ใน 4 ประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือเมียนมา ลาวและกัมพูชา ระดับการพัฒนายังน้อยกว่าไทย อีกทั้งกรณีของเมียนมายังมีปัญหาสงครามกลางเมืองยาวนานหลายสิบปี เป็นแรงกดดันให้คนจากประเทศเหล่านี้เข้ามาแสวงหาโอกาสในไทย 

ในทางกลับกัน ประเทศที่มีความเจริญขึ้นมาในระดับหนึ่ง พลเมืองในประเทศนั้นๆ ก็มักเลือกที่จะไม่ทำงานบางประเภท แต่งานนั้นยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ จึงต้องจ้างแรงงานข้ามชาติ (หรือแรงงานต่างด้าว) เข้ามาทดแทน ซึ่งหลายครั้งก็มากันทั้งครอบครัว หอบลูกจูงหลานมาด้วยเพราะอยู่บ้านเกิดไม่มีใครดูแล หรือคนหนุ่ม-สาว มาพบรักใช้ชีวิตสร้างครอบครัวด้วยกันและให้กำเนิดลูกซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น ตามกฎหมายคนเข้าเมืองไม่ได้ถือหลักดินแดน เด็กที่เกิดมาจึงไม่ได้รับสัญชาติไทย 

แต่เมื่อเข้ามาหรือเกิดมาแล้ว หากไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาก็สุ่มเสี่ยงกับการผลักให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมและอาชญากรรม จนส่งผลกระทบกลับมาถึงพลเมืองของประเทศที่คนข้ามชาติเหล่านี้อยู่อาศัยไปโดยปริยาย เพราะ ความมั่นคงของรัฐ” กับ ความมั่นคงของมนุษย์” เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.facebook.com/watch/?v=1602583457009644&rdid=KHFrertyi9TuRLys

https://th.lpnfoundation.org/team

https://th.lpnfoundation.org/post/การศึกษาทำให้ชีวิตคนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี-ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น (การศึกษาทำให้ชีวิตคนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น : 14 ก.ค. 2567)

https://www.facebook.com/isoc.samutsakorn/posts/pfbid02pTuWKnWj9mh7jzQbroCQCpFYCBojsx281Q1wLDVc9ixhp51RjYLGS7RUM7ujzLybl?rdid=7PWLGi0IxqL73Guv#

https://www.facebook.com/sknpeo/posts/pfbid08x2LFpYZpRiuKfHGiVwKhWhNAX6Dp9YXt2ytJCPX7bL8ao4k4YK3yqijUP3HLLiCl?rdid=kmwpUhi5kqchpfjC#

https://samutsakhon.nfe.go.th/4863 (ลงพื้นที่วางแผนและหารือเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป : สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร 3 ต.ค. 2567)

https://sknpeo.moe.go.th/สำนักงานศึกษาธิการจัง-19/ (สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาครร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการจัดการศึกษาหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ของสำนักงาานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร : 21 พ.ย. 2567)

https://www.skfc.ac.th/พิธีเปิดการจัดการหลักส/ (พิธีเปิดการจัดการหลักสูตรผู้ไม่รู้หนังสือ ดำเนินการส่งเสริมความรู้ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมแก่เด็กข้ามชาติร่วมกับมูลนิธิ LPN : วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร)

https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไทย-ให้นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงชาติเมียนมาทุกเช้า/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้นักเรียนเข้าแถวร้องเพลงชาติเมียนมาทุกเช้า : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 5 ก.ย. 2567)

https://moe360.blog/2024/09/29/mittayaylearningcenter/ (ศธ. เร่งแก้ปัญหา​เชิงระบบ​ จัดสรรเด็กเมียนมาจากศูนย์ฯ​ มิตตาเย๊ะ บางกุ้ง สุราษฎร์ธานี​ เข้าสู่โรงเรียน​ตามความพร้อมผู้เรียน : ศธ. 360 องศา 29 ก.ย. 2567)

https://www.eef.or.th/migrant-children-training-center-mahachai/ (“สัญชาติไม่ควรตัดโอกาสทางการศึกษาของใคร” ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ มหาชัย พื้นที่เติบใหญ่ของลูกแรงงานพม่า : กสศ. 21 มิ.ย. 2566)

https://www.naewna.com/likesara/418094 (เด็กทุกชาติได้เรียนเท่าเทียม ไม่แค่‘สิทธิ’ไทยก็ได้ประโยชน์ : แนวหน้า 6 มิ.ย. 2562)


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 11 มกราคม 2568

ลูกใต้ใบใช้ช่วยบำบัดโรคต่อมลูกหมากโต…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2kosoubt8z2fj


กินลูกปลาช่อนสด ช่วยเยียวยาแผลผ่าคลอด…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/205bag73jbcwu


ผลิตภัณฑ์ Harina Bio ช่วยกระตุ้นให้ผมหนา ดกดำภายใน 7 วัน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1zfg1l87c1lno


รับสมัครงานจองไฟล์ทบินออนไลน์ ผ่านเพจ Thailand International Air Lines…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3k9p74r2t5il1


“อย่าเชื่อ” โพสต์อ้าง “อีลอน มัสก์” จ่อเปิดตัวมือถือเทสล่าใหม่…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/9nstz4we6w19


ห้ามนำแบตเตอรี่ E-Bike เข้าลิฟต์…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/ukoy42jdjh8c


 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะหนาวยาวถึงกลางเดือน ม.ค. 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/17nbsix9tz167


 โรคข้าวผัด (Fried Rice Syndrome) ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2tp898r8m4ymw


 ปิดตำนาน ผมทรงนักเรียน ศธ. ยัน ยกเลิกแล้ว 100%

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/31u6jfdyh92f5


 5 จังหวัด ระวังน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำเค็มรุกล้ำ วันที่ 12-21 ม.ค. 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1gpo8nxe507ze


 ไวรัส HMPV ที่ระบาดในจีน จะระบาดไปประเทศอื่นได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/e0wo0g44lyxx


เมื่อนักการเมืองหญิงตกเป็นเป้าข่าวลวง: จับตา 35 ผู้สมัครนายก อบจ. หญิง

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 47 จังหวัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้สมัครผู้หญิงจำนวน 35 คน คิดเป็น 18.5 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครทั้งหมด 189 คน ที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำแต่ละจังหวัดประกาศรายชื่อว่าเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

ขณะที่ 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปแล้ว มีนายก อบจ. หญิงที่อยู่ในตำแหน่งหรืออยู่ระหว่างรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งทั้งหมด 7 คน

การหาเสียงที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. มีแนวโน้มที่จะพบการใช้ข้อมูลเท็จหรือข่าวลวงเพื่อโจมตีคู่แข่งในสนามเลือกตั้งมากขึ้น ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของโคแฟคพบว่า ข้อมูลเท็จที่นักการเมืองหญิงเผชิญนั้นมีความแตกต่างจากนักการเมืองชาย เช่น มักเกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องชู้สาว และความสามารถ

แม้ว่านักการเมืองส่วนหนึ่งจะมองว่า การถูกใส่ร้ายป้ายสีหรือโจมตีด้วยข้อมูลเท็จนั้น “เป็นเรื่องปกติ” ที่นักการเมืองต้องเจอ แต่การทำลายนักการเมืองหญิงด้วยข่าวลวง ข้อมูลเท็จ ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือดูหมิ่นเหยียดหยามนั้นส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมต่อนักการเมืองหญิง และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สัดส่วนของผู้หญิงในแวดวงการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย

ในขณะที่บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นและทีมงานกำลังระดมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียง สื่อสารนโยบาย ชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โคแฟคชวนสำรวจการใช้ข้อมูลเท็จ/ข่าวลวงในการทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองหญิงในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังการใช้ข้อมูลเท็จเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญนี้

ข้อมูลเท็จ

คนส่วนใหญ่คุ้นกับคำว่า fake news หรือข่าวปลอม แต่ในมุมของคนทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact check) นิยมใช้คำว่า “ข้อมูลเท็จ” (false information) ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่า

False information แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามเจตนาการผลิตและเผยแพร่ ได้แก่

  • Misinformation คือ ข้อมูลเท็จที่ผู้เผยแพร่เชื่อว่าเป็นความจริงโดยบริสุทธิ์ใจไม่มีจุดประสงค์ร้าย
  • Disinformation คือ ข้อมูลเท็จที่ผลิตและเผยแพร่โดยเจตนาร้าย ต้องการสร้างความเสียหาย
  • Malinformation คือ ข้อมูลจริงที่เผยแพร่โดยมีเจตนาสร้างความเสียหาย เช่น การปล่อยข้อมูลส่วนบุคคล ภาพหลุด คลิปหลุด ข้อความสนทนาส่วนตัว เป็นต้น

สิ่งที่โคแฟคให้ความสนใจและพบว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุดคือ disinformation หรือเนื้อหาเท็จที่ผลิตและเผยแพร่โดยเจตนา ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่น

  • เนื้อหาเชิงเสียดสีให้ขบขัน แต่อาจมีคนหลงเชื่อว่าเป็นจริง
  • เนื้อหาที่บิดเบือน จงใจชี้นำเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด
  • เนื้อหาที่เป็นจริง แต่นำมาใส่ในบริบทที่ผิด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
  • การแอบอ้างตัวตนเพื่อหลอกลวงผู้อื่น
  • ภาพนิ่งหรือวิดีโอที่ถูกตัดต่อเพื่อสร้างความเท็จ
  • การกุเรื่องใหม่ทั้งหมดเพื่อหลอกหลวง

เนื้อหาเท็จเชิงเหยียดเพศ (Gendered Disinformation)

เนื้อหาเท็จมักถูกนำมาใช้เพื่อชี้นำทางความคิดหรือสร้างความเข้าใจผิดในประเด็นต่าง ๆ เช่น เนื้อหาเท็จที่ปลุกปั่นสร้างความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobic disinformation) เนื้อหาเท็จที่สร้างความเกลียดชังผู้อพยพ/แรงงานข้ามชาติ (Disinformation on migration) และเนื้อหาเท็จเชิงเหยียดเพศหรือสร้างอคติทางเพศ (Gendered disinformation) เนื้อหาเท็จเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ หลายภาษา และมีปริมาณมหาศาลในโลกออนไลน์

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกานิยาม Gendered Disinformation ว่าเป็น “รูปแบบหนึ่งของการคุกคามและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ด้วยการเอาประเด็นทางเพศมาสร้างข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิด ซึ่งมักจะทำกันเป็นเครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นผู้หญิงไม่ให้มีบทบาทในสังคม”

บทความวิชาการเรื่อง “Gendered disinformation: a pernicious threat to equality in the Asia Pacific” ที่เผยแพร่ในวารสาร Media Asia Journal เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 อธิบายว่า Gendered Disinformation “คือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดเพื่อสร้างความเสียหายต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ” และขยายความต่อว่า เนื้อหาเท็จเชิงเหยียดเพศที่ถูกนำมาใช้ในการโจมตีนักการเมืองหญิงนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้หญิง บ่อนเซาะความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และทำให้เกิดการตีตรานักการเมืองหญิง

เนื้อหาเท็จแบบไหนที่ใช้โจมตีนักการเมืองหญิง

1) เรื่องชู้สาว

ตัวอย่าง: กรณี “ภารกิจ ว.5 โรงแรมโฟร์ซีซัน” ที่สื่อมวลชนหลายสำนักและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำมาล้อเลียนและกล่าวหายิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในประเด็นเชิงชู้สาว  

2) ภาพวาบหวิว

ตัวอย่าง: การนำภาพผู้หญิงแต่งตัวโป๊หรือวาบหวิวมาตัดต่อหรือให้ข้อมูลเท็จว่าเป็นนักการเมืองหญิง เช่น กรณีผู้โพสต์ภาพผู้หญิงสวมบิกินี่สีส้มและให้ข้อมูลเท็จว่าเป็นรักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน และ กรณีคลิปสาวเต้นเปลือยอกที่มีผู้อ้างเท็จว่าเป็นปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

3) พฤติกรรมไม่เหมาะสม

ตัวอย่าง: กรณีที่มีผู้เผยแพร่ภาพผู้หญิงถีบป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างการชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างเท็จว่าบุคคลในภาพคือจิตภัสร์ กฤดากร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกรณีผู้โพสต์ภาพผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่รัฐสภาพร้อมข้อความที่ทำให้เชื่อว่าเป็นรักชนก สส. กทม. พรรคประชาชน

สส. รักชนก ชี้แจงว่าบุคคลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เธอ

4) ความสามารถทางภาษาหรือภาวะการเป็นผู้นำ

ตัวอย่าง: เนื้อหาล้อเลียนการอ่านผิดของยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น อ่านคำว่าคอนกรีต “คอ-นก-รีต” อ่านชื่ออำเภอขนอมว่า “ขน-อม” หรือการอ่านข้อความ “Thank you three times” ในร่างสุนทรพจน์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกิดความผิดพลาดเหล่านี้ขึ้นจริง แต่ด้วยการเผยแพร่เนื้อหาเท็จเพื่อล้อเลียนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้หลายคนเชื่อไปแล้วว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นความจริง

5) แอบอ้างตัวตนสร้างเนื้อหาเท็จ

ตัวอย่าง: ปี 2562 ผู้ใช้เฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นปารีณา สส.ราชบุรี ในขณะนั้น ทำโพล “เปรียบเทียบความสวยระหว่าง ‘เอ๋-ปารีณา กับ ช่อ-พรรณิกา’” ซึ่งต่อมาปารีณาออกปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์และบัญชีเฟซบุ๊กนั้นเป็นเฟซบุ๊กที่แอบอ้างตัวตนของเธอ เนื้อหาเท็จนี้มีสื่อมวลชนหลายสำนักนำไปรายงานข่าวโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นบัญชีเฟซบุ๊กปลอม

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเนื้อหาเท็จเหยียดเพศ

เป้าหมาย: แม้ว่าทั้งนักการเมืองชายและหญิงจะมีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีด้วยข่าวลวง/ข้อมูลเท็จ แต่เนื้อหาที่นักการเมืองหญิงเผชิญมักจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องส่วนตัว ความรู้ความสามารถ โดยนักการเมืองหญิงที่ตกเป็นเป้าโจมตีมักจะเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่น ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชน หรือมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียสม่ำเสมอ นอกจากนักการเมืองหญิงแล้ว นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้หญิงก็โดนโจมตีด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จเช่นกัน รวมทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี ล้อเลียนด้วยถ้อยคำที่มีอคติทางเพศ

ช่องทางการเผยแพร่: โซเชียลมีเดียเกือบทุกแพลตฟอร์ม แต่โคแฟคพบว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีการเผยแพร่เนื้อหาเท็จในแพลตฟอร์ม TikTok มากขึ้นและมียอดการเข้าชม/แชร์จำนวนมาก อีกทั้งมีการเผยแพร่ข้ามแพลตฟอร์ม คือ พบเนื้อหาเดียวกันทั้งใน TikTok YouTube Facebook และ X ขณะที่แอปพลิเคชันสนทนาอย่าง LINE ก็ยังคงเป็นอีกช่องทางที่มีการส่งต่อเนื้อหาเท็จทางการเมือง

ใครเป็นคนทำ: เป็นเรื่องยากที่จะหาต้นตอที่มาของเนื้อหาเท็จหรือระบุคนที่ผลิต เนื้อหาเท็จผลิตง่าย แพร่กระจายได้รวดเร็ว แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและต้นตอของเนื้อหาเท็จนั้นไม่ง่ายและต้องใช้เวลา ผู้ที่แชร์เนื้อหาเท็จนั้นอาจทำโดยไม่เจตนา เพราะคิดว่าเป็นความจริงที่น่าสนใจ หรือแชร์โดยเจตนา คือรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ แต่เมื่อมันสร้างเสียหายต่อนักการเมืองที่ตนไม่ชอบ จึงจงใจส่งต่อ

ช่วงเวลาที่เผยแพร่: เนื้อหาเท็จทางการเมืองมักเกิดขึ้นเยอะในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลังตั้งรัฐบาล ช่วงการประชุมสภาในวาระที่คนให้ความสนใจ เมื่อมีความขัดแย้งกันระหว่างนักการเมือง ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง บางกรณีก็ถูกผลิตและเผยแพร่ออกมาโดยไม่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ใด ๆ  ความไม่จริงเป็นสิ่งไม่ตาย: เนื้อหาเท็จส่วนใหญ่มีอายุยืนยาว ไหลเวียนอยู่ในโลกออนไลน์ได้นานหลายปี แม้จะมีการหักล้างแล้ว ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วก็มีโอกาสฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่ได้ เช่น ประเด็น “ว.5 โฟร์ซีซั่น” ที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้ฟ้องร้องต่อศาลและศาลพิพากษาแล้วว่าผู้เผยแพร่เนื้อหานี้มีความผิด และจำเลยในคดีนี้ได้ลงข้อความขอโทษแล้ว แต่ข้อความล้อเลียนเสียดสีนี้ก็ยังถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำทันทีที่แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

เสียงสะท้อนจากนักการเมืองหญิง

โคแฟคสัมภาษณ์นักการเมืองหญิง 2 คนที่เคยตกเป็นเป้าของการโจมตีด้วยเนื้อหาเท็จ คือ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และรักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน

ปารีณาบอกว่าเธอถูกโจมตี ล้อเลียน เสียดสีด้วยเนื้อหาเท็จมาหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเพศและชู้สาว จากการที่เล่นการเมืองมายาวนานเกือบ 20 ปี เธอมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่นักการเมืองต้องเจอ และไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนมากนัก

หลังจากถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตในคดีรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายน 2565 ปารีณาหันมาทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเธอบอกว่าพอไม่ได้เป็น สส. ข่าวลวงเกี่ยวกับเธอแทบไม่มีเลย และตั้งข้อสังเกตว่า นักการเมืองที่ตกเป็นเป้าของข่าวลวงมักจะเป็นที่มีบทบาทโดดเด่น สังคมให้ความสนใจ “ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนักการเมืองผู้หญิงหรือผู้ชาย”  

ด้านรักชนก สส.พรรคประชาชน บอกว่าข้อมูลเท็จถูกนำมาทำลายชื่อเสียงของเธอส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเพศและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพผู้หญิงแต่งตัววาบหวิว ภาพสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่แม้จะชี้แจงไปแล้วว่าบุคคลในภาพไม่ใช่เธอ ก็ยังแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย และพอลงพื้นที่ไปพบชาวบ้าน ก็จะโดนต่อว่าบ้าง โดนถามบ้างว่าสูบจริงหรือเปล่า  

รักชนกบอกว่าเนื้อหาเท็จเหล่านี้สร้างภาพจำและความรับรู้ของคนในสังคมว่านักการเมืองผู้หญิงทำแต่เรื่องไม่เหมาะสม โดยไม่ได้สนใจเรื่องการทำงานของพวกเธอ

เมื่อเผชิญกับข้อมูลเท็จที่สร้างความเสียหายต่อตนเอง นักการเมืองหญิงทั้งสองคนจะประเมินก่อนว่าข้อมูลเท็จนั้นแพร่กระจายมากน้อย (viral) แค่ไหน สร้างความเสียหายมากหรือไม่ ถ้าอยู่ในวงจำกัดหรือไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและการทำงานมากนักก็จะปล่อยผ่าน แต่ถ้าคิดว่าเริ่มไวรัลและกระทบมากก็จะชี้แจงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ปารีณาเลือกที่จะดำเนินคดีผู้เผยแพร่ในบางกรณี ซึ่งปัจจุบันนี้มีคดีความอยู่ในชั้นตำรวจและชั้นศาล

ทั้งปารีณาและรักชนกบอกตรงกันว่า ไม่คาดหวังกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในเรื่องการจัดการข้อมูลเท็จ เพราะที่ผ่านมาเคยรีพอร์ตไป แต่ข้อมูลเท็จหรือบัญชีปลอมแปลงตัวตนก็ยังคงอยู่

การทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของนักการเมืองหญิงด้วยข่าวลวง/เนื้อหาอันเป็นเท็จ นับเป็นอุปสรรคสำคัญของความพยายามในการผลักดันการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในโลกการเมือง เพิ่มสัดส่วนของ สส. หญิงในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและความชอบธรรมของการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น หากพบเห็นการใช้ข่าวลวงเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง ส่งเนื้อหามาให้โคแฟคช่วยตรวจสอบได้ที่ LINE OpenChat “โคแฟคเช็คข่าว Cofact Alert!”  

หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากการนำเสนอในงานเสวนา “สื่อกับผู้หญิงในโลกการเมือง:
บทบาทของสื่อและความรุนแรงออนไลน์ต่อนักการเมืองหญิง” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ชมย้อนหลังได้ ที่นี่

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ดื่มนมวัวทำให้เป็นสิวจริงหรือไม่?

หลายคนมักมีปัญหาเรื่องสิวเข้ามากวนใจ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ทั้งสิวฮอร์โมน สิวที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไขมันที่ผิวหนัง ที่ขึ้นบนใบหน้า บนหลัง ไหล่ หน้าอก และแขน ทำให้ความมั่นใจในการเข้าสังคมลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดซึ่งเป็นอีกสาเหตุของการ กระตุ้นให้เกิดสิวได้ รวมทั้งอาหารที่อยู่ใกล้ตัวเราอาจมีผลต่อสุขภาพผิว แล้วการดื่มนมวัวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวจริงหรือไม่

นมวัวมีส่วนประกอบของฮอร์โมนบางชนิด เช่น โปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนซึ่งอาจไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดสิวได้ในบางคน แต่ในทางกลับกัน นมวัวก็มีสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิว  

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดสิวจากนมวัว

– ปริมาณนมวัวที่ดื่ม : ยิ่งดื่มนมมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดสิวมากขึ้นได้ 

– ชนิดของนมวัว : นมวัวสดมีฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวมากกว่านมวัวพาสเจอร์ไรซ์ 

– ความไวต่อฮอร์โมน แต่ละคนมีความไวต่อฮอร์โมนต่างกัน บางคนอาจไม่เกิดสิวแม้ดื่มนมวัวปริมาณมาก 

การดื่มนมวัวทำให้เกิดสิวนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากกังวลเรื่องสิว แนะนำให้ดื่มนมวัวในปริมาณที่พอเหมาะ ควบคู่ไปกับการดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธี หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนัง

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข / สื่อมัลติมิเดียกรมอนามัย )

Cofact

https://cofact.org/article/28jyrzys0y9e7

Banner

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 4 มกราคม 2568

ไข่ขาวใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวกได้ โดยทาทิ้งไว้จนแห้งแล้วล้างออก…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/11tkbsxhypqpo


เมฆที่มีลักษณะกลมบ่งบอกว่า จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เฝ้าระวังถึง 22 ม.ค. 68…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/140wrzs9d74a6


เมฆเตือนภัย จะเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารประสบอุบัติเหตุ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1kv303hmbgqzk


เริ่มปี 2568 ต้อนรับน้องใหม่ ‘Gen Beta’ คนที่เกิดหลังยุคโควิด-โตพร้อม AI

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2ehqn7ym8jl3i


 โนโรไวรัส ไม่ใช่เชื้อใหม่ ถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 ติดง่าย ระบาดไว

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1e1ln5zg8o2ti


หน้าหนาวเสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3nnckadfg76ztu


ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่ากรุ๊ปอื่น

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2xbw91c8dtv31


‘ฝนดาวตกควอดรานติดส์’ ต้อนรับปี 2025 ดูด้วยตาเปล่าได้ทั่วไทย

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2qbt9sohb236i


เด็กควรงดดูจอก่อน 2 ขวบ เพราะส่งผลต่อใยประสาท

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/18ttfihtej1g5


อหิวาตกโรคติดต่อผ่านเข้าทางปากได้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1npoluct0bgyi


 “ซิมพร้อมเรียน” แก้ไขปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพิ่มโอกาสทางการศึกษา

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3r2s1zqei1kle


 เหล็กเคลือบสีต้องมี มอก. มีผลบังคับใช้ปี 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3b4i6oixlc894


คนเวียดนามแห่กด “ติดตาม-ถูกใจ” โพสต์เฟซบุ๊กผู้สมัครนายก อบจ. พรรคประชาชน ?

Top Fact Checks Political

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

โคแฟคตรวจสอบกรณีเพจเฟซบุ๊ก “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” และ “ความจริงของระยอง” ตั้งข้อสังเกตว่าเฟซบุ๊กทางการของผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) เชียงใหม่และระยอง สังกัดพรรคประชาชน มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวเวียดนามเข้ามากด “ติดตาม” และ “ถูกใจ” เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าผู้สมัครทั้งสองคนใช้งบประมาณหาเสียงสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตามหวังสร้างกระแสความนิยม

เพจ “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” และ “ความจริงของระยอง” ซึ่งเป็นเพจที่มีเนื้อหาโจมตีพรรคประชาชน เป็นเพจแรก ๆ ที่พบความผิดปกตินี้ และโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ และนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้สมัครนายก อบจ. ระยอง สังกัดพรรคประชาชน “ปั๊มยอดผู้ติดตาม” เฟซบุ๊ก เพื่อสร้างภาพว่าผู้สมัครได้รับความนิยมจากประชาชน นอกจากนี้ยังล้อเลียนด้วยถ้อยคำอย่างเช่น “พรรคประชาชนเวียดนาม” “ด้อมส้มฮานอย” และ “นายก อบจ. โฮจิมินห์” ต่อมาข้อกล่าวหาและข้อความล้อเลียนนี้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดยผู้ใช้ TikTok

นายพันธุ์อาจและทีมงานของนายทรงธรรมให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า พบบัญชีที่ใช้ชื่อภาษาเวียดนามเข้ามากดติดตามเฟซบุ๊กและกด “ถูกใจ” จำนวนมากผิดปกติจริง แต่ผู้สมัครทั้งสองคนยืนยันว่าไม่ได้ใช้งบประมาณหาเสียงในการเพิ่มยอดผู้ติดตามหรือเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์ในเฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา และสันนิษฐานว่าบัญชีผู้ใช้เวียดนามเหล่านี้เป็นบัญชีที่ผู้ไม่หวังดีสร้างขึ้นโดยใช้โปรแกรมอัตโนมัติหรือ “บอต” (bot) เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัครนายก อบจ. ของพรรคประชาชน

ลำดับเหตุการณ์และข้อความกล่าวหา

26 พฤศจิกายน 2567 เพจเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” ผู้ติดตาม 2.5 พันคน โพสต์ข้อความว่าเพจเฟซบุ๊กทางการของนายทรงธรรมมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลายพันคน โดยพบว่า “เป็นแอคเวียดนามเกือบทั้งหมดและเป็นอวตารทั้งนั้น” และกล่าวหาว่ากรณีนี้เป็นการปลอมบัญชีผู้ติดตามเพจซึ่งแสดงถึง “ความไม่ซื่อสัตย์” ของผู้สมัครนายก อบจ. ระยอง (ลิงก์บันทึก)

ภาพจากเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” ที่ระบุว่าพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวเวียดนาม
กดติดตามเพจเฟซบุ๊กของนายทรงธรรม สุขสว่าง จำนวนมาก

24 ธันวาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” โพสต์ภาพคล้ายโปสเตอร์หาเสียงของนายทรงธรรม มีสัญลักษณ์พรรคประชาชน และข้อความเป็นภาษาเวียดนามเชิญชวนให้เลือกนายทรงธรรมเป็นนายก อบจ.ระยอง (ลิงก์บันทึก)

26 ธันวาคม 2567 เพจ “ความจริงของระยอง” โพสต์ภาพรายชื่อผู้ติดตาม/กดถูกใจ เฟซบุ๊กของนายพันธุ์อาจและนายทรงธรรมที่เป็นชื่อคนเวียดนาม มีข้อความในภาพว่า “ด้อมส้มฮานอย ผู้สมัครไทยขวัญใจชาวเวียดนาม” (ลิงก์บันทึก)

26 ธันวาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” ผู้ติดตามกว่า 8.3 หมื่นคน โพสต์ข้อความว่า เฟซบุ๊กของนายพันธุ์อาจ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ มีบัญชีผู้ใช้ชาวเวียดนามมากดถูกใจจำนวนมาก และตั้งคำถามว่า “ผู้สมัครพรรคส้มลงสมัคร อบจ.โฮจิมินห์ หรือ อบจ.เชียงใหม่กันแน่คะ ทำไมมีแต่เฟสเวียดนามมากดถูกใจทั้งนั้นเลย” (ลิงก์บันทีก)

เนื้อหาลักษณะเดียวกันนี้ยังปรากฏในแอปพลิเคชัน TikTok โดยนำภาพและข้อความจากเพจ “ความจริงของระยอง” และ “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” ไปเผยแพร่ต่อ (ลิงก์บันทึก 1, 2 และ 3)

เนื้อหาจากเพจ “ความจริงของระยอง” ถูกนำไปเผยแพร่ใน TikTok

โคแฟคตรวจสอบ

● เฟซบุ๊ก ทรงธรรม สุขสว่าง – Songtam Suksawang – พี่ถัง ผู้ติดตาม 6.7 พันคน (ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) ทางเพจตั้งค่าไม่แสดงรายชื่อผู้ติดตาม โคแฟคจึงไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ติดตามได้ว่ามีบัญชีที่ใช้ชื่อเวียดนามจำนวนเท่าไหร่

ทีมงานพรรคประชาชน จ.ระยอง ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า จำนวนผู้ติดตามเพจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจริงในช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังจากเปิดเพจเฟซบุ๊กนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 โดยมีบัญชีผู้ใช้ที่ใช้ชื่อภาษาเวียดนามจำนวนมาก เมื่อทีมแอดมินกดเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมของบัญชีผู้ใช้เหล่านั้นพบว่ามีลักษณะคล้ายบัญชีปลอมที่สร้างด้วยบอต ทีมงานเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ จึงได้แจ้ง Meta ผู้ให้บริการเฟซบุ๊กเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและขอให้ช่วยตรวจสอบ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า “ไม่พบความผิดปกติ”

ทีมงานพรรคประชาชน จ.ระยอง ยืนยันว่านายทรงธรรมและทีมแอดมินเพจเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นผู้สร้างบัญชีผู้ติดตามเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อ “ปั๊มยอดผู้ติดตามเพจ” ตามที่ถูกกล่าวหา ในทางกลับกันเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อการประเมินความนิยมที่แท้จริงของประชาชนต่อผู้สมัคร และยังถูกนำไปทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัครนายก อบจ. พรรคประชาชนด้วย

● เฟซบุ๊ก พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้ติดตาม 4.3 พันคน (ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) ทางเพจตั้งค่าไม่แสดงรายชื่อผู้ติดตามเช่นเดียวกัน โคแฟคจึงไม่สามารถเข้าถึงรายชื่อผู้ติดตามได้ แอดมินเพจให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า จำนวนผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กไม่ได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ แต่ทีมงานพบว่าเนื้อหาที่โพสต์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 มีบัญชีผู้ใช้ชื่อเวียดนามเข้ามากด “ถูกใจ” จำนวนมาก

โคแฟคตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวพบว่า เป็นคลิปวิดีโอขบวนรถหาเสียงของนายพันธุ์อาจในตัวเมืองเชียงใหม่ มีการเข้ามากดแสดงความรู้สึกทั้งหมด 224 บัญชี (ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ใช้ชื่อภาษาเวียดนามมากกว่า 60 บัญชี เมื่อกดเข้าไปดูโปรไฟล์บัญชีผู้ใช้เหล่านี้พบว่ามีเพียงชื่อและรูปโปรไฟล์เท่านั้น ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของบัญชีหรือโพสต์ย้อนหลัง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบัญชีผู้ใช้อื่น เป็นบัญชีที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 รูปโปรไฟล์ไม่ใช่ภาพบุคคลจริงและเมื่อนำไปค้นหาที่มาก็พบว่าเป็นรูปที่นำมาจากแหล่งอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของบัญชีเฟซบุ๊กปลอมที่ควบคุมด้วยบอต (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของบัญชีเฟซบุ๊กปลอม ที่นี่)

ส่วนหนึ่งของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เข้ามากด “ถูกใจ” โพสต์เฟซบุ๊กของนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์

นายพันธุ์อาจยืนยันกับโคแฟคว่าเขาและทีมงานไม่ได้ใช้เงินในการโปรโมทเพจเฟซบุ๊กหรือเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม ไม่มีนโยบายใช้บอตสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม และในความเป็นจริงก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่คนเวียดนามจะมาให้ความสนใจการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย

นายพันธุ์อาจกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ทำให้คนบางกลุ่มเช่นเพจ “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” นำมาโจมตีเขาและทีมงาน ทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในตัวผู้สมัคร นายก อบจ.

“หากยังคงมีการใช้ข้อมูลเท็จโจมตีผู้สมัครอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น ก็อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่หลงเชื่อข้อมูลเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย” นายพันธุ์อาจกล่าว

ความเห็นโคแฟค

1) จากการตรวจสอบของโคแฟคและข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของนายพันธุ์อาจและทีมงานพรรคประชาชน จ.ระยอง สรุปได้ว่า เพจเฟซบุ๊กของผู้สมัคร นายก อบจ. เชียงใหม่และระยอง ของพรรคประชาชนมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อภาษาเวียดนามเข้ามากดติดตามและกด “ถูกใจ” เป็นจำนวนมากจริง  

2) โคแฟคตรวจสอบโปรไฟล์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเวียดนามพบว่าเป็นลักษณะโปรไฟล์ที่สร้างโดยบอต กล่าวคือมีแค่ชื่อและรูปโปรไฟล์ ไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเจ้าของบัญชี ไม่มีโพสต์ย้อนหลัง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบัญชีอื่น รูปโปรไฟล์ไม่ใช่ภาพบุคคลจริงและนำมาจากแหล่งอื่นในอินเทอร์เน็ต

3) โคแฟคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องสงสัยว่าสร้างโดยบอตเหล่านี้ แต่ผู้สมัคร นายก อบจ. เชียงใหม่และทีมงานของนายทรงธรรม ผู้สมัครนายก อบจ.ระยอง ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น และไม่เคยใช้งบประมาณหาเสียงไปในการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อเพิ่มยอดผู้ติดตามหรือเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ พร้อมทั้งแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการส่งเรื่องให้ Meta ตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว

4) Meta ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเฟซบุ๊กประกาศว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะกำจัดบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กปลอม โดยรายงานว่าระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2567 ได้ลบบัญชีปลอมไปมากกว่า 3 พันล้านบัญชี โคแฟคเห็นว่าเมื่อแอดมินเพจของผู้สมัครนายก อบจ. ได้รายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับ Meta แล้ว ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มควรดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง และหากพบว่าเป็นบัญชีที่สร้างโดยบอตจริง ก็ควรดำเนินการลบอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองต่อไป

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2567

ลูกอมมะนาวรักษามะเร็งได้จริง…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/sb7matl9gplt


คนไทยถูกหักเงินประกันสังคม 750 บาท เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แรงงานต่างด้าว…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1aujdl6gwp8rp


เครื่องปรุงรสซีอิ๊วขาวและซอสหอยนางรม ทำให้เป็นโรคเบาหวาน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1f9r6tgpvwmvt


รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้านมผงจาก ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ แบบเสรี FTA ภาษี 0%

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/18zupoaf4x5d


โนโรไวรัส ระยะเวลาฟักตัว 12-48 ชม. ทนต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าได้

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2xp5c8g7bmixg


สธ.เข้มเฝ้าระวังป้องกัน “อหิวาต์” ระบาดเมียนมา หวั่นลามเข้าไทย

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/18zupoaf4x5d


 “มาตรการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ฟรีทุกช่องทางพิเศษ 8 วัน

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2xp5c8g7bmixg


การดื่มน้ำเปล่าเยอะๆยิ่งทำให้ผิวสวย…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/sb7matl9gplt


การดื่มนมเปรี้ยวช่วยลดกลิ่นคาวน้องสาวได้…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1aujdl6gwp8rp


การทานมะเขือเทศให้มีประโยชน์สูงสุดต้องผ่านความร้อนให้สุกก่อน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1f9r6tgpvwmvt


‘สายบุญ-คนใจดี’พึงระวัง! เช็คให้ชัวร์ก่อนบริจาค ระวังตกเป็นเหยื่อ‘มิจฉาชีพ’

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ในวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ “เทใจดอทคอม” (TaejaiDotcom) ต้อนรับบรรยากาศเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งหลายคนก็อยากทำบุญหรือบริจาคเพื่อความเป็นสิริมงคล อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ยุคดิจิทัล มีเพจหรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เปิดขึ้นมาเพื่อรับบริจาคเป็นจำนวนมาก คำถามคือจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพที่อาศัยความใจบุญของคน

เอด้า กล่าวว่า เทใจเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการบริจาคทางออนไลน์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน เนื่องจากเห็นปัญหา 2 ประการในสังคมไทย 1.ในมุมคนทำงานเพื่อสังคม หากเป็นองค์กรที่ขนาดไม่ใหญ่ โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้ยา เพราะคนที่ต้องการบริจาคไม่รู้ว่าองค์กรนั้นทำอะไรบ้าง กับ 2.ในมุมคนที่อยากบริจาค มักไม่รู้ว่าเมื่อบริจาคแล้วเงินจะไปที่ไหน เพราะการหาข้อมูลทำได้ยากเช่นกันจึงเกิดความคิดว่า น่าจะมีแพลตฟอร์มเหมือนตลาดอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่คัดกรองโครงการ 

แพลตฟอร์มเทใจ จึงเป็นพื้นที่ที่ด้านหนึ่งผู้บริจาครับรู้ได้ว่าเงินบริจาคจะถูกนำไปช่วยเหลือสังคมตามโครงการได้แน่นอน กับอีกด้านหนึ่งคือเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนทำงานเพื่อสังคม เช่น โครงการช่วยเหลือเด็ก จะช่วยอย่างไร? ใช้งบประมาณเท่าไร? จะทำให้ทรัพยากร คือเงินบริจาค ที่ในแต่ละปีคนไทยนิยมบริจาคกันมากอยู่แล้วสามารถช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ เข้าทำนองทำบุญเห็นผลชาตินี้ไม่ต้องรอชาติหน้า

หลายองค์กรอาจมีช่องทางของตัวเอง มีเฟซบุ๊กเพจ มีเว็บไซต์มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 12 ปีที่แล้ว แต่ปัญหาเดิมๆ ของผู้บริจาคก็ยังมีอยู่ว่าเขามีเว็บไซต์ไม่ได้หมายความว่าเราจะอ่านข้อมูลแล้วสิ่งที่เขาพูดมันจะเป็นจริงหมด แล้วยังมี Misinformation (ข้อมูลคลาดเคลื่อน) หรือ Imperfect Information (ข้อมูลไม่ครบถ้วน) ก็ยังมีปัญหาตรงนี้อยู่

กระบวนการคัดกรองโครงการหรือองค์กรที่จะเข้ามาใช้แพลตฟอร์มเทใจ 1.ปัญหาและการแก้ไข ดูสิ่งที่โครงการบอกว่าเป็นปัญหานั้นเป็นจริงหรือไม่?  และวิธีการแก้ไขที่เสนอมาสมเหตุสมผลหรือไม่?2.ศักยภาพของผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบุคคลหรือองค์กร แต่ต้องดูว่าจะทำสิ่งที่เสนอมาให้เห็นผลจริงได้หรือไม่? และ 3.ความสมเหตุผลของการตั้งงบประมาณ และกระบวนการบริหารจัดการเงิน หากผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อนี้จะมาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ อีกทั้งยังมีการตรวจสอบซ้ำก่อนที่แพลตฟอร์มจะอนุมัติให้ใช้เงินบริจาคที่ระดมทุนมาได้

เอด้า ยกตัวอย่าง ร้านปันกัน เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้เยาวชนไทยเข้าถึงการศึกษาผ่านการให้ทุนการศึกษา ซึ่งนอกจากจะระดมทุนผ่านการเปิดรับเงินบริจาคแล้ว ยังเปิดรับบริจาคสิ่งของที่สภาพยังดีแต่เจ้าของเดิมไม่ใช้แล้ว ผ่านร้านปันกัน เพื่อนำของนั้นไปขายต่อนำเงินมาใช้สนับสนุนภารกิจของมูลนิธิฯ ด้วย โดยรายได้ทั้งหมดจากการขายจะถูกแปลงเป็นทุนการศึกษาของเด็กๆ ส่วนต้นทุนการบริหารจัดการต่างๆ มูลนิธิฯ จะเป็นผู้ออกให้ มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้จากาการขายสินค้าบริจาคทุกเดือนและคำนวณให้เห็นด้วยว่าสามารถช่วยเหลือเด็กได้กี่คน 

ส่วนคำถามว่า จะตรวจสอบอย่างไรในยุคที่มีการเปิดรับบริจาคเกิดขึ้นมากมายแบบนี้? จากประสบการณ์ส่วนตัว มีคำแนะนำ 1.ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดหากสามารถทำได้ ซึ่งบางองค์กรจะเปิดเผยข้อมูลไว้บนเว็บไซต์ค่อนข้างละเอียด เช่น รายงานประจำปี (Annual Report) ที่เปิดเผยว่าได้รับเงินบริจาคจากแหล่งใด เงินที่ได้มาถูกนำไปใช้อย่างไร มีระบบตรวจสอบการใช้เงินและการวางนโยบายอย่างไร

หรือหากเป็นองค์กรในรูปแบบมูลนิธิ โดยมากก็จะขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย หรือหากระบุว่าการบริจาคสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ก็จะต้องมีข้อมูลองค์กรที่เว็บไซต์กรมสรรพากร นอกจากนั้นยังอาจสอบถามคนใกล้ตัวที่เคยบริจาค ไปจนกระทั่งหากมีเวลาก็จะไปดูการทำงานขององค์กรนั้นด้วยตนเอง ซึ่งด้วยความที่ใช้การตรวจสอบมากแบบนี้ ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าคนจำนวนมากไม่มีเวลา จึงเป็นที่มาของการสร้างแพลตฟอร์มเทใจขึ้นเพื่อให้ผู้บริจาคมั่นใจว่าเงินที่บริจาคไปจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

2.ดูชื่อบัญชีธนาคารสำหรับเปิดรับเงินบริจาคให้ดีก่อนโอน เช่น หากพบว่าเป็นบัญชีชื่อบุคคล ไม่ใช่ชื่อองค์กรหรือมูลนิธิ แม้จะเข้าใจว่าหลายโครงการยังไม่ได้จัดตั้งเป็นองค์กร ยังใช้บัญชีบุคคลรับบริจาค แต่ในมุมผู้บริจาคหากเห็นว่าเป็นบัญชีชื่อบุคคลก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยอาจลองนำชื่อบัญชีนั้นไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางครั้งก็อาจพบข้อมูลการแจ้งเตือนว่าบัญชีนี้เป็นมิจฉาชีพใช้หลอกรับเงินบริจาคมาหลายครั้งแล้ว

3.ระวังการปลอมแปลงแอบอ้างองค์กรที่มีอยู่จริงเพราะแม้แต่เทใจดอทคอมก็ยังเคยโดนมิจฉาชีพปลอมเว็บไซต์มาแล้ว โดยแอบอ้างเพื่อชักชวนคนให้คนลงทุน บอกว่านอกจากจะได้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 30 แล้วยังได้ทำบุญอีกด้วย ซึ่งในครั้งนั้นหลังทราบเรื่องจากที่มีผู้แจ้งเข้ามา สิ่งแรกที่ดำเนินการคือแจ้งเตือนในทุกช่องทางที่มี และแม้ทางเทใจดอทคอมจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานกับทางตำรวจให้กรณีมีผู้หลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว และต้องขอย้ำว่า ชื่อ URL เว็บไซต์จริงของเทใจดอทคอม คือ taejai.com”ในขณะที่เว็บไซต์ปลอมที่เคยพบนั้นจะมี URL ว่า th-taejai.com ดังนั้นต้องสังเกตให้ดี

ถ้าเรารู้เร็วแล้วเราเตือน อย่างของเราผู้เสียหายคือผู้บริจาคและเจ้าของโครงการ ช่วยกันกระจายข่าว มิจฉาชีพก็กลัวเรา คือถ้าเราเร็วแล้วเขารู้ว่าเราเอาจริง อย่างของเทใจเราโดนทำหน้ากากหลอกอยู่ 3 วัน พอเขารู้ว่าเรารู้แล้วเราเตือน พอหลังจาก 3 วันก็เปลี่ยนไปเป็นอีกองค์กรหนึ่ง เป็นองค์กรการกุศลเหมือนกัน ในฐานะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดนเป็นผู้เสียหายด้วย เราก็ต้องพยายามเตือนกันเร็วๆ ให้ข้อมูลไปได้เร็วที่สุด

จากเรื่องเล่าของเอด้า ที่ผ่านมาก็มีข่าวมิจฉาชีพปลอมเพจเป็นองค์กรศาสนา องค์กรการกุศล หรือบุคคลอื่นเพื่อเปิดรับบริจาคอยู่เนืองๆ อย่างเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2567 ทางตำรวจไซเบอร์ โดย ตำรวจ กก.2 บก.สอท.4 เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบกรณีมีผู้โพสต์ภาพในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมข้อความ เชิญชวนทำบุญกฐินสามัคคี ณ วัดดงยางเหนือ อ.พบพระ จ.ตาก เนื่องจากเห็นว่ามีประชาชนบางรายเข้ามาแสดงความเห็นว่าเป็นโพสต์หลอกลวง นอกจากนั้นยังพบว่ามีการโพสต์ภาพพระป่วยนอนโรงพยาบาล เพื่อเชิญชวนให้บริจาค

จากการสืบสวนพบว่า ทั้ง 2 โพสต์ ใช้บัญชีคนละธนาคาร แต่มีข้อสังเกตว่าชื่อบัญชีเป็นชื่อบุคคลคนเดียวกัน อีกทั้ง เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบใน อ.พบพระ ก็ได้รับข้อมูลว่า ในพื้นที่นี้ไม่มีวัดชื่อวัดดงยางเหนือ จึงมั่นใจว่าเป็นมิจฉาชีพ นำไปสู่การขอศาลออกหมายจับและเข้าจับกุมคู่สามี-ภรรยา ที่ร่วมกันโพสต์หลอกลวงเปิดรับบริจาคดังกล่าวได้ในที่สุดโดยในระยะเวลา 4-5 เดือนของการเปิดรับบริจาค มียอดเงินเข้าบัญชีสูงถึงหลักล้านบาท  

(หมายเหตุ : หากนำคำว่า “วัดดงยางเหนือ” และ “ตาก” ไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต จะไม่พบชื่อวัดดงยางเหนือปรากฏแต่อย่างใด โดยจะมีเพียงชื่อ “วัดดงยาง” ซึ่งเป็นวัดที่มีอยู่จริง และแม้จะอยู่ใน จ.ตาก แต่วัดดงยางนั้นจะอยู่ใน อ.บ้านตาก ไม่ใช่ อ.พบพระ)

หรือก่อนหน้านั้นประมาณ 1 เดือนเศษ ในวันที่ 3 พ.ย. 2567 ครั้งนี้เป็นตำรวจไซเบอร์ กก.4 บก.สอท.4จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย เป็นคู่รักหนุ่ม-สาว ซึ่งมีหมายจับจากศาลจังหวัดเชียงราย เนื่องจากทางคณะกรรมการวัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ได้เข้าแจ้งความว่าถูกมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นกรรมการวัด โพสต์ข้อความเชิญชวนเปิดรับบริจาค แต่เมื่อตรวจสอบก็พบว่าชื่อบัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินบริจาคเป็นชื่อของ 1 ใน 2 ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับทางวัดแสงแก้วโพธิญาณ และเมื่อตำรวจเริ่มสืบสวนก็พบว่า มีการตระเวนกดเงินจากบัญชีตามตู้ ATM ในพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ กระทั่งสามารถจับกุมทั้ง 2 คนได้ที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

คำแนะนำเรื่อง “มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมอ้างเป็นพระ/เป็นวัด โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันที่ 6 ก.ย. 2567 เตือนภัยคนชอบทำบุญ เนื่องจากมีมิจฉาชีพแอบอ้างหรือสร้างเพจปลอมเป็นพระหรือวัด ชักชวนให้ทำบุญหรือรับบริจาคเงิน โดยจะอ้างตัวเป็นพระ,เณร เปิดเพจหลอกคนทำบุญ ขโมยภาพหมา-แมวเจ็บป่วยมาขอเงิน อ้างทำบุญบวชพระ ทำบุญโลงศพ สร้างโบสถ์ สร้างเมรุ ฯลฯ

ดังนั้นก่อนบริจาคุกครั้ง 1.ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นเพจของวัด พระ หรือหน่วยงานจริง 2.ซื้อของทำบุญกับร้านค้าที่มีตัวตนและน่าเชื่อถือ 3.ตรวจสอบบัญชีผู้รับเงินให้ถี่ถ้วน กรณีรับบริจาคในนามบัญชีส่วนตัว 4.ไม่คลิกลิงก์ ไม่แอดไลน์คนไม่รู้จัก ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว!!!

หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ Cofact Talk สัมภาษณ์คุณเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ“เทใจดอทคอม” (TaejaiDotcom) ย้อนหลังได้ที่นี่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1994659234372826?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1157215 (เตือนภัย ผัวเมียแสบ ปลอมเพจวัดตุ๋นทำบุญ – บริจาคช่วยพระป่วย สารภาพติดพนัน : กรุงเทพธุรกิจ 10 ธ.ค. 2567

https://www.thairath.co.th/news/crime/2823533 (รวบคู่รักวัยรุ่น เปิดเพจตุ๋นเหยื่อ รับบริจาคบูรณะวิหารหลวงลายคำ ที่ถูกไฟไหม้)

https://www.antifakenewscenter.com/คลังความรู้/มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมอ้างเป็นพระ-เป็นวัด/(มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมอ้างเป็นพระ/เป็นวัด : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 6 ก.ย. 2567)


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2567

พบเด็กนักเรียนในประเทศไทยติดเชื้อโนโรไวรัสแล้วกว่า 1,400 ราย…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2uee5l6ehpyb3


เผยเอกสารกระทรวงยุติธรรม แจ้งเลขล็อกรางวัลสลากกินแบ่ง…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1n217ozkfx3jt


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Helmina ช่วยชำระล้างร่างกายจากพยาธิปรสิตและกำจัดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน 1 เดือน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3edfrv5y8t983


สัญลักษณ์ “กบ” บนซองช็อกโกแลต หมายถึงช็อกโกแลตที่ทำจากหนอน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/rccc2f38ib8t


ไทยเตรียมออกกฎหมายใหม่ ค่ายมือถือและธนาคารร่วมรับผิดชอบ หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3rb10i2q9podp


 จีนขยายเวลาให้นักท่องเที่ยวต่อเครื่องเที่ยวจีนได้ 10 วัน โดยไม่ต้องมีวีซ่า

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/zr0k78vgu2vm


 กทม. นำร่องจัดระเบียบขอทาน บริเวณแหล่งท่องเที่ยวถนนสุขุมวิท

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3jwtrbdcppjco