สายชอปต้องรู้! สู้โจรออนไลน์

ประเด็นสุขภาพ

สายชอปต้องเช็ก👀🎁😶‍🌫️

ในยุคมิจจี้แฝงตัวมาเป็นมิตร
มีคนโดนโกงผ่านช่องทางออนไลน์ มูลค่าความเสียหายรวม 65,000 ล้านบาท!!
เราจะทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ แล้วเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้วต้องทำอย่างไร?!
ติดตามชมได้ใน
‘สายชอปต้องรู้ สู้โจรออนไลน์💪’

#เช็กให้ชัวร์ที่โคแฟค

#Cofact #โคแฟค

#ร้องเรียนสภาผู้บริโภค1502

#สภาองค์กรของผู้บริโภค

คนไทยขวัญใจมิจ!

ประเด็นสุขภาพ

ทุกวันนี้ได้รับสายจากมิจมากกว่ามิตรแล้ว !!! ชวนดูและฟังคนในคลิปมาบอกเล่าประสบการณ์จากภัยมิจฉาชีพและวิธีป้องกัน เพราะเงินจะมากหรือน้อย บางทีก็เป็นเงินทั้งหมดที่มี นอกจากเงินแล้ว มิจฉาชีพยังทำให้สูญเสียได้อีกหลายอย่าง ดูคลิปแล้ว ใครอยากเตือนภัยแบบไหนอีก คอมเมนต์ได้เลยค่ะ

#หารายได้ออนไลน์ #มิจฉาชีพ #ไม่รีบไม่โอน #อย่าเพิ่งเชื่ออย่าเพิ่งโอน #whoscall #โคแฟค

ข้อกังขาและคำชี้แจง “ทำไมเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์”

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค

คำถามว่า “ทำไมเลือกตั้งวันเสาร์” กลับมาอีกครั้งในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่าการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งในวันเสาร์นั้นเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากลและเป็นอุปสรรคต่อการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะวันเสาร์เป็นวันทำงานของสถานประกอบการภาคเอกชน

แม้ว่า กกต. จะชี้แจงเหตุผลที่จัดการเลือกตั้งวันเสาร์แทนที่จะเป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดของคนส่วนใหญ่เหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งด้วยการออกเอกสารชี้แจงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 และการตอบข้อซักถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม 2567 แต่ประเด็นนี้ยังคงถูกตั้งคำถามจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ช่วยหาเสียง นักสังเกตการณ์ทางการเมือง และประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ในแอปพลิเคชัน TikTok มีผู้กล่าวหาว่า การกำหนดให้เลือกตั้งวันเสาร์นั้น “มีเลศนัย” “การโกงก่อนการเลือกตั้ง” และเป็น “แผนสกัด/ตัดคะแนน” ของพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนวัยทำงาน  

ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งวันเสาร์เริ่มถูกนำมาใช้โจมตีกันทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย เช่น เพจเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” โพสต์เนื้อหาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 กล่าวหาพรรคประชาชนว่านำประเด็นนี้มา “ปั่นกระแส”

โคแฟคพบว่าข้อสงสัย คำถาม และเนื้อหาที่วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะขาดบริบทและไม่มีคำชี้แจงจาก กกต. ประกอบ ทำให้มีผู้แสดงความไม่พอใจและเกิดข้อกังขาต่อความเที่ยงธรรมของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ซึ่งอาจส่งผลต่อการยอมรับผลการเลือกตั้งในภายหลังได้  

เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งของ กกต. อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพและสะดวกต่อการออกมาใช้สิทธิของประชาชน โคแฟคจึงได้รวบรวมข้อสงสัยข้อกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ และสาระสำคัญของคำชี้แจงของ กกต. มาไว้ดังนี้

ทำไมถึงเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568?

พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันหลังจากผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ ซึ่งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ชุดที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2563 ดำรงตำแหน่งครบวาระในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 กกต. จึงต้องจัดการเลือกตั้งภายในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเส้นตาย 45 วันที่กฎหมายกำหนด

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ตอบข้อซักถามของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ในประเด็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง อบจ. ตรงกับวันเสาร์ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร​เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567

กกต. ยอมรับว่าปกติแล้วจะกำหนดวันเลือกตั้งเป็น “วันอาทิตย์ของสัปดาห์สุดท้ายก่อนครบ 45 วัน” แต่ในกรณีนี้ วันอาทิตย์สุดท้ายของระยะเวลา 45 วัน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ทำให้ “สุ่มเสี่ยงกับการจัดการเลือกตั้งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด” เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมากกว่า 90,000 หน่วย อาจมีเหตุให้บางหน่วยไม่สามารถนับคะแนนและรวมคะแนนเสร็จภายในวันเดียว กกต. จึงได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้มั่นใจว่าหากมีเหตุจำเป็นให้การนับคะแนนล่วงเลยไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ การเลือกตั้งก็ยังนับว่าอยู่ในระยะเวลา 45 วันตามที่กฎหมายกำหนด

กกต. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เหตุที่ไม่กำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นเป็นวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 ก็เพราะจะทำให้มีเวลาน้อยเกินไปสำหรับกระบวนการรับสมัคร การตรวจสอบคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร และทำให้ผู้สมัครมีเวลาหาเสียงน้อยลง

ทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งวันเสาร์?

สส. พรรคประชาชน เช่น พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส. สมุทรปราการ และ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แสดงความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องให้ กกต. ทบทวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ กกต. ประกาศปฏิทินการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567

เหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ ได้แก่

  • การเลือกตั้งวันเสาร์จะทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิน้อย โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรม เพราะเป็นวันทำงานของโรงงานและสถานประกอบการจำนวนมาก
  • การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกตั้งนอกเขต กกต. จึงต้องลดอุปสรรคของการออกมาใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด การกำหนดให้เลือกตั้งวันเสาร์เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการออกมาลงคะแนนเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน พนักงานบริษัทเอกชนที่ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ หยุดเฉพาะวันอาทิตย์
  • การเลือกตั้งวันอาทิตย์ ทำให้ประชาชนมีเวลามากขึ้นในการเดินทางกลับภูมิลำเนามาใช้สิทธิ
  • ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งมักจัดในวันอาทิตย์ และหากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ การเลือกตั้งทุกครั้ง ทั้งการเลือกตั้ง สส. ปี 2562 และ 2566 การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับล้วนจัดในวันอาทิตย์
  • หากมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้การนับคะแนนเลือกตั้งในบางหน่วยไม่เสร็จสิ้นภายในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์อย่างที่ กกต. กังวล กกต. ก็สามารถขยายระยะเวลาได้ตามมาตรา 11 วรรค 3 ของ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ที่ระบุว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งให้ย่นหรือขยายระยะเวลาให้มีการจัดการเลือกตั้งได้ตามความจำเป็นเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ”

กกต. ว่าอย่างไร?

หลังจากมีข้อทักท้วงจากพรรคการเมืองและ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้นำเรื่องเข้าหารือกับกรรมการการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็มีมติให้คงกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ตามเดิม เพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นไม่เกินระยะเวลา 45 วัน

ส่วนข้อเสนอเรื่องการขยายระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งในบางพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษนั้น นายแสวงกล่าวว่า “เป็นความเห็นทางกฎหมายที่จะต้องตีความกัน”

สำหรับความกังวลว่าการเลือกตั้งวันเสาร์ซึ่งเป็นวันทำงานของภาคเอกชนอาจส่งผลให้ผู้มาใช้สิทธิน้อย กกต. ได้ ส่งหนังสือไปถึงทุกหน่วยงานเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ได้แก่

1) หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขที่ ลต 0012/18372 – 4 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ถึงปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

2) หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขที่ ลต 0012/ว2190 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด ประสานและขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบกิจการ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด นายจ้าง และส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่ออนุญาตและอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด

หน่วยงานต่าง ๆ เร่งรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกอบจ. และ ส.อบจ. ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

กกต.ระบุในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ว่า การส่งหนังสือขอความร่วมมือดังกล่าว “เป็นแนวปฏิบัติตามปกติในทุกการเลือกตั้ง” และขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ดำเนินการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบโดยทั่วกันแล้ว

กกต. ยังเตือนด้วยว่านายจ้างที่ขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเป็นความผิดตามมาตรา 117 ของ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ที่ระบุว่า “ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวก โดยไม่มีเหตุอันสมควรในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ความเคลื่อนไหวจาก กมธ. พัฒนาการเมืองฯ

วันที่ 15 มกราคม 25689 นายพริษฐ์ ประธาน กมธ. พัฒนาการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กว่า กมธ. “ไม่สามารถโน้มน้าวให้ กกต. เปลี่ยนวันเลือกตั้งจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ได้สำเร็จ” จึงได้ส่งหนังสือถึงสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างมีเวลาเพียงพอในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.

นอกจากนี้ กมธ. ยังไม่ได้ส่งหนังสือถึง กกต. ขอให้วางแผนและป้องกันไม่ให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอื่นที่ไม่ใช่วันอาทิตย์ในการเลือกตั้งในอนาคต โดยเฉพาะในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568-2569 เช่น เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ เช็คให้แน่กับ Cofact!

เพจเฟซบุ๊ก “วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร” และ “ความจริงของระยอง” ตั้งข้อสังเกตว่าเฟซบุ๊กทางการของผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่และระยอง สังกัดพรรคประชาชน มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวเวียดนามเข้ามากด “ติดตาม” และ “ถูกใจ” เป็นจำนวนมาก และกล่าวหาว่าผู้สมัครทั้งสองคนใช้งบประมาณหาเสียงสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตามหวังสร้างกระแสความนิยม  

ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่และระยอง ใช้บอทปั่นกระแสโซเชียลจริงหรือ? 🤔 มาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการเมืองช่วงเลือกตั้งนายก อบจ. ไปด้วยกันกับโคแฟค

#โคแฟค #ตรวจสอบข่าวลวงการเมือง #เลือกตั้งนายกอบจ

ดอกอัญชันช่วยทำให้คิ้วลูกน้อยหนาและดกดำได้จริงหรือ

คนไทยจำนวนหนึ่งมีความเชื่อที่พูดต่อๆกันมาว่า การนำดอกอัญชันมาทาคิ้วลูกน้อย จะทำให้คิ้วลูกน้อยหนาและดกดำขึ้น แต่เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่

ในดอกอัญชัน มีสารชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าสาร “แอนโทไซยานิน” (Anthocyanin) มีฤทธิ์ที่จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีมากขึ้น เช่นการที่เลือดไปเลี้ยงรากผมได้ดี ก็จะส่งผลให้เส้นผมดกดำเงางามขึ้น 

แต่ถึงแม้ว่าในอัญชันจะมี สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) แต่สารนี้ก็ไม่ได้มีผลช่วยในเรื่องของการสร้างขนที่ชัดเจน เพียงแต่อัญชันจะไปย้อมที่ขนหรือผมบริเวณนั้น ทำให้เราเห็นขนหรือผมบริเวณนั้นชัดเจนขึ้น อีกทั้งผิวของทารกยังบอบบางมาก การทาอัญชันอาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ และปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยหรือหลักฐานทางการแพทย์ออกมายืนยัน ว่าอัญชันมีส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราการเกิดของขนคิ้วทารก 

ขนคิ้วของทารกนั้นจะเติบโตเต็มที่เมื่ออายุเข้าสู่ช่วง 3-4 เดือน และจะอยู่ในรูปแบบนั้นจนโต โดยปัจจัยที่กำหนดความดกของคิ้วนั้นได้แก่

  1. กรรมพันธุ์พ่อแม่
  2. การได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
  3. กระบวนการสร้างเส้นขนของทารก
  4. การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงรากขน

ดังนั้น การนำดอกอัญชันมาทาคิ้วลูกน้อยจะทำให้คิ้วลูกน้อยหนาและดกดำขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากสาร แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่อยู่ในดอกอัญชัน ไม่ได้มีผลช่วยในเรื่องของการสร้างขนที่ชัดเจน 

( ข้อมูลจากแพทย์หญิง ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี หัวหน้ากลุ่มงานเส้นผมและเล็บสถาบันไทยโรคผิวหนัง / โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย / แพทย์หญิง พรีมา ทศบวร แพทย์อเมริกันบอร์ดเฉพาะทางด้านปลูก Hairsmith Clinic )

Cofact

https://cofact.org/article/3oixed1dxk8j1

Banner

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 18 มกราคม 2568

ไวรัส hMPV ที่ระบาดหนักในประเทศจีน มีการผสมพันธุ์กับโควิด 19…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/36llu50g695wu


หิมะแรกตกแล้วที่จังหวัดชัยภูมิ…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/1zvtj6k55b5ug


 สปสช. ร่วมกับ DGA เพิ่มช่องทางใช้สิทธิบัตรทอง “30 บาทรักษาทุกที่” บนแอปฯ ทางรัฐ

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/re7wh9awsxh1


 ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา “ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด 91” ผ่านออนไลน์ได้ถึง 8 เม.ย. 68

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/5i4b7pztrrus


 กรณีบัตรถูกขโมยและนำไปใช้รูดซื้อสินค้า ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารคืนเงินให้แก่ลูกค้าภายใน 5 วัน

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2941f4hmv4q73


 คุมเข้ม เพิ่มโทษบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ สำหรับนักเรียน นักศึกษา

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2b7a9szdla6d3


 รฟม.ดีเดย์ 17 ม.ค.นี้ปิดสะพานข้ามแยกราชเทวี สร้างรถไฟฟ้า “สีส้ม”

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3oigsskup08fv


 กทม. ประกาศขอความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน WFH 20 – 21 ม.ค. 68 คาดการณ์ค่าฝุ่นสัปดาห์หน้าเป็นสีส้ม

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/3e7qg75j4wy72


 ผัก 3 ชนิดช่วยลดไขมันในเลือด…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/el24zdjge0a2


การแช่เท้าในน้ำส้มสายชูช่วยลดกลิ่นเท้าได้จริงหรือไม่?

กลิ่นเท้าส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยสลายสารในเหงื่อ ซึ่งจะปล่อยสารที่มีกลิ่น เช่น methanethiol นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การสวมรองเท้าที่ไม่ระบายอากาศดี หรือถุงเท้าที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งทำให้เกิดความชื้นสะสมและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแบคทีเรีย

น้ำส้มสายชูช่วยลดความชื้นบนผิวหนังและปรับสภาพกรด-ด่าง ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเติบโตได้ดี ซึ่งช่วยลดกลิ่นเท้าได้

วิธีทำ

ผสมน้ำส้มสายชู 250 มิลลิลิตร กับน้ำอุ่น 1 ลิตรในภาชนะที่กว้างพอให้เท้าจมน้ำได้สะดวก คนให้น้ำส้มสายชูละลายกับน้ำอุ่นดี จากนั้นแช่เท้าลงไปในน้ำส้มสายชูที่เตรียมไว้ ประมาณ 15 นาที ควรใช้เวลาแช่เท้าให้ครบเพื่อให้สารในน้ำส้มสายชูสามารถช่วยลดความชื้นและป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หลังจากนั้นให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนๆ เพื่อขจัดกลิ่นและคราบน้ำส้มสายชู ก่อนเช็ดให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออกอีกครั้ง วิธีนี้ทำได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ควรรักษาความสะอาดเท้า สวมรองเท้าที่ระบายอากาศดี และใช้ถุงเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น cotton เพื่อลดการสะสมเหงื่อและแบคทีเรีย 

ดังนั้น การแช่เท้าในน้ำส้มสายชูช่วยลดกลิ่นได้จริง เนื่องจากช่วยทำให้เท้าแห้งและลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทั้งนี้ควรใช้ร่วมกับการดูแลสุขอนามัยเท้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันกลิ่นเท้าในระยะยาว

(ข้อมูลจาก : ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล / โรงพยาบาลสมิติเวช)

Banner : 

ลิงก์กระทู้Cofact : https://cofact.org/article/1fd3c7qnzvjs1

เหตุเกิดที่เชียงใหม่ ไฟไหม้หญ้า หรือ เผาป้ายหาเสียงนายก อบจ.?

Top Fact Checks Political

กุลธิดา สามะพุทธิ: กองบรรณาธิการโคแฟค

ผู้สนับสนุนพรรคประชาชนเผยแพร่ภาพไฟไหม้ริมถนนใน จ.เชียงใหม่ ในแอปพลิเคชัน TikTok โดยระบุว่าเป็นการจงใจเผาทำลายป้ายหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ของพรรคประชาชน ทางด้านเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด ที่รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า เป็นเหตุไฟไหม้หญ้าริมทางที่ลุกลามจนทำให้ป้ายหาเสียงเสียหาย

วันที่ 8 มกราคม 2568 บัญชีผู้ใช้ TikTok ชื่อ “รังสิมันต์เทียม” ซึ่งมีผู้ติดตาม 62.6 หมื่นบัญชี โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 51 วินาที พร้อมข้อความฝังในภาพว่า “เผาป้ายเลือกตั้ง อบจ. เชียงใหม่” เจ้าของโพสต์ระบุว่า เกิดเหตุเผาทำลายป้ายหาเสียงนายก อบจ. ของพรรคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ทราบว่าเหตุเกิดที่ไหนและใครเป็นผู้ก่อเหตุ คลิปดังกล่าวมีภาพประกอบเป็นภาพไฟไหม้หญ้าริมถนนสายหนึ่งและป้ายหาเสียงของนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ สังกัดพรรคประชาชน ที่ถูกไฟไหม้เสียหายบางส่วน โพสต์นี้มียอดเข้าชมมากกว่า 2 แสนครั้ง และถูกแชร์เกือบ 800 ครั้ง (ลิงก์บันทึก)

วันที่ 9 มกราคม 2568 ผู้ใช้ TikTok ชื่อ “หลวงคม” ซึ่งมีผู้ติดตาม 315.5 แสนบัญชี โพสต์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ไฟไหม้ริมถนนในจุดเดียวกัน คลิปความยาว 15 วินาที มีข้อความฝังในภาพว่า “เผาเย้ยกฎหมาย เชียงใหม่เริ่มแล้ว” ติดแฮชแท็ก #เชียงใหม่ #เผาป้าย #พรรคประชาชน คลิปนี้มียอดเข้าชมมากกว่า 2,200 ครั้ง (ลิงก์บันทึก)

โคแฟคตรวจสอบ

ผู้ใช้ TikTok ทั้งสองรายไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับเหตุไฟไหม้ดังกล่าว บอกเพียงว่าเหตุเกิดใน จ.เชียงใหม่ และสรุปว่าเป็นการเผาทำลายป้ายหาเสียง โดย “รังสิมันต์เทียม” ได้เรียกร้องให้ผู้รู้จุดเกิดเหตุหรือมีภาพกล้องวงจรปิดส่งข้อมูลมาให้เขาด้วย

โคแฟคตรวจสอบเนื้อหานี้ใน 3 ประเด็นคือ 1) เหตุไฟไหม้ริมถนนนี้เกิดขึ้นที่ไหน-เมื่อไหร่ 2) เหตุการณ์นี้เป็นการเผาทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ ตามที่ผู้ใช้ TikTok ทั้งสองรายกล่าวอ้างหรือไม่ และ 3) ภาพรวมเหตุทำลายป้ายหาเสียงเลือกตั้งอบจ. ในจังหวัดเชียงใหม่

เหตุเกิดที่ไหน-เมื่อไหร่?

จากโพสต์ของ “หลวงคม” มีผู้เข้ามาคอมเมนต์ว่าเหตุการณ์นี้เกิดในเขตเทศบาลตำบลแม่คือใช่หรือไม่ โคแฟคจึงได้สอบถามไปยังเทศบาลตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด วันที่เกิดเหตุคือ 7 มกราคม 2568 เทศบาลตำบลแม่คือได้รับการร้องขอจากเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ให้ช่วยนำรถน้ำไปดับไฟบริเวณดังกล่าวเพราะรถน้ำของเทศบาลตลาดใหญ่อยู่ระหว่างซ่อมบำรุง

โคแฟคสอบถามกับเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางเทศบาลได้รับแจ้งจากประชาชนเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 7 มกราคม 2568 ว่าเกิดเหตุไฟไหม้หญ้าริมถนนสายบ่อสร้าง-ดอยสะเก็ด หลังจากรับแจ้งเหตุ ทางเทศบาลได้ประสานเทศบาลแม่คือนำรถน้ำมาดับไฟ ซึ่งใช้เวลาไม่นานไฟก็สงบ

เหตุการณ์นี้เป็นการเผาทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่หรือไม่?

เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ระบุว่า ในที่เกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด จึงไม่สามารถสรุปสาเหตุไฟไหม้ได้แน่ชัด แต่จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่เทศบาลสันนิษฐานว่าเป็นเหตุไฟไหม้หญ้าริมถนนและลามมาที่ป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. ทำให้ป้ายไหม้เสียหายบางส่วนจำนวน 1 ป้าย ไม่น่าจะเป็นการเผาทำลายป้ายโดยตรง

เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ระบุด้วยว่า เหตุไฟไหม้หญ้าริมทางในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยให้ช่วงหน้าแล้ง ทั้งจากการเผาในไร่นาแล้วลามมาที่ถนนหรือจากการทิ้งก้นบุหรี่ริมทางทำให้หญ้าแห้งติดไฟ สำหรับกรณีนี้เจ้าหน้าที่ได้พยายามสอบถามหาตัวผู้ที่ทำให้เกิดไฟไหม้จากชาวบ้านแถวนั้น แต่ไม่สามารถระบุตัวได้ อีกทั้งจุดเกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิดของเทศบาลที่จะบันทึกภาพขณะเกิดเหตุไว้ได้

นับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ให้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ. จนถึงปัจจุบัน (17 มกราคม 2568) พื้นที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ซึ่งมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ไม่ได้รับแจ้งเหตุว่ามีการทำลายป้ายหาเสียงแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ขณะที่เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลแม่คือที่นำรถน้ำเข้าช่วยดับไฟตั้งข้อสังเกตว่า เวลาและจุดเกิดเหตุมีประชาชนสัญจรพลุกพล่านจึงสันนิษฐานตรงกันว่าไม่ได้เป็นการจงใจทำลายป้ายหาเสียง

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศงดการเผาในที่โล่งแจ้งระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 พฤษภาคม 2568 เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุทำลายป้ายหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดเชียงใหม่

นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า นับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ กกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาอบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จนถึงปัจจุบัน (16 มกราคม 2568) กกต. เชียงใหม่ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 4 ราย คือ

1.วันที่ 8 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.เมืองเชียงใหม่ ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย

2.วันที่ 11 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 1 อ.สารภี ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย

3.วันที่ 11 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 2 อ.ดอยสะเก็ด ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคประชาชน

4.วันที่ 14 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 1 อ.แม่อาย ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคประชาชน

“ทั้ง 4 กรณี เป็นการทำลายป้ายด้วยการใช้ของแข็งทำลายป้ายหาเสียงเสียหาย ซึ่งผู้สมัครที่เป็นผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ส่วนการเผาทำลายป้ายหาเสียงนั้น กกต. เชียงใหม่ยังไม่ได้รับรายงาน” นายนพดลกล่าว

ผอ. กกต. เชียงใหม่ระบุว่า การทำลายป้ายหาเสียงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ว่าด้วยการทำลายหรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้ามีการข่มขู่คุกคามหรือใช้อิทธิพลร่วมด้วยก็จะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา 65 (5) ที่ห้ามผู้ใดหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครคนใด

ข้อสรุปโคแฟค

คลิปวิดีโอป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ พรรคประชาชน ถูกไฟไหม้เสียหาย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นริมถนนบ้านสร้าง-ดอยสะเก็ด ในเขตเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เหตุเกิดเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 7 มกราคม 2568 เจ้าหน้าที่เทศบาลยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของไฟไหม้หรือระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุและการสอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นเหตุไฟไหม้หญ้าริมทางแล้วลามมาไหม้ป้ายหาเสียง ไม่ใช่การจงใจเผาทำลายป้ายหาเสียง ขณะที่ กกต.เชียงใหม่ ระบุว่าไม่ได้รับแจ้งเหตุเผาทำลายป้ายหาเสียง แต่ได้รับแจ้งเหตุทำลายป้ายหาเสียงด้วยของแข็ง 4 กรณี เป็นป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย 2 ราย และพรรคประชาชน 2 ราย

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ฟังธรรมรับปีใหม่กับ  ‘Cofact Live Talk’ พึงระวัง‘บอกข้อมูลไม่ครบถ้วน’อันตรายถึงสังคมแตกแยก

กิจกรรม

รายการ “Cofact Live Talk” เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ชวนสนทนาธรรมในหัวข้อ ขอสติมาปัญญามี อย่าหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบ กับ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (IBHAP Foundation)

โดย พระมหานภันต์ เริ่มต้นด้วยการยกเหตุการณ์ 9 แรกของปี หรือวันที่ 9 ม.ค. 2568 อันเป็นวันก่อนหน้าเผยแพร่รายการครั้งนี้ ซึ่งหลายคนก็ถือเป็นฤกษ์งามยามดี มากล่าวเป็นกลอน ว่า..

วันที่ 9 แล้วไง? ใจไม่ก้าว  

ยังติดหล่มจมเรื่องราวคราวหนหลัง

วิธีคิดติดกรอบชอบกับชัง

ชีวิตฝังติดตัวกู (อัตตาอยู่ร่ำไป

วันที่ 9 ยิ่งแล้วใหญ่หากใจกร้าว (โหดร้าย-รุนแรง)

คิดพูดทำก้าวร้าวถึงไหนไหน

ไม่รู้หรอกอ่อนโยนนอกแข็งแกร่งใน

แข็งเรื่อยไปสุดท้ายแหลกแตกยับเยิน

วันที่ 9 ก้าวให้พ้นตัวตนเก่า

ก้าวข้ามเขลาข้ามฉลาดข้ามขลาดเขิน

ก้าวหนึ่งก้าวใกล้หนึ่งใกล้เหมือนไกลเกิน

เพียรก้าวเดินพึงก้าวถึงซึ่งสักวัน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากทิศทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความต้องการลดต้นทุน ทำให้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ อย่างเฟซบุ๊ก ตัดสินใจเลิกใช้บริการองค์กรภายนอก (Third-party) ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล โดยจะหันไปใช้ระบบคำเตือนของชุมชน (Community Notes) คือให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนั้นๆ ช่วยตรวจสอบกันเองว่าโพสต์ต่างๆ ที่ปรากฏมีความถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง พระมหานภันต์ กล่าวถึงข่าวนี้ว่า จริงๆ แล้วต้นทุนป้องกันการระบาดของข่าวลวงก็เหมือนกับต้นทุนในการรักษาสุขภาพ คือเรามองไม่เห็น 

แต่สุดท้ายเมื่อไม่รักษาสุขภาพ เราก็จะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงบ้าง ป่วยโรคเรื้อรังบ้าง สุดท้ายต้นทุนทั้งในแง่ทรัพย์สินและจิตใจก็จะมากมายมหาศาล เช่นเดียวกับการที่ไม่ช่วยกันป้องกันข่าวลวง โดยเฉพาะข่าวลวงที่สร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ-ศาสนา ราคาที่ต้องจ่ายหากไม่ป้องกันก็จะมหาศาลมาก ยังไม่นับรวมมิจฉาชีพที่รุกเข้าไปในทุกแวดวง 

ประการต่อมา ในศาสนาพุทธมีคำสอนว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ มโนกรรม หมายถึงวิธีคิด ค่านิยม วจีกรรมการพูดหรือการสื่อสาร สุดท้ายคือ กายกรรมหรือการลงมือทำ รวมถึงบทบาทระหว่างปัจเจกกับสังคม มีตัวอย่างการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเมื่อปัจเจกชนที่ต้องการพ้นทุกข์ต้องการจะบวชก็จะต้องได้รับรองจากพระอุปัชฌาย์และคณะสงฆ์ ดังนั้นเช่นเดียวกับในที่ทำงานหรือในสังคม ที่ไม่ควรให้มีลักษณะผลักภาระให้เป็นของปัจเจกหรือสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว

พระมหานภันต์ กล่าวต่อไปถึงศีลข้อ 4 ซึ่งครอบคลุมทั้งการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบและพูดเพ้อเจ้อ และถือการทำคณะสงฆ์แตกแยกกันเป็นกรรมหนัก (อนันตริยกรรม) เมื่อเทียบกับบริบทปัจจุบันที่หลายคนไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คือการ พูดไม่หมดแล้วทำให้เข้าใจผิด โดยจะพบในหลายๆ เพจที่เลี่ยงข้อกล่าวหาสื่อสารด้วยข้อมูลที่ไม่จริงด้วยการพูดครึ่งๆ กลางๆ แต่การพูดความจริงครึ่งคำก็เท่ากับพูดโกหกเต็มคำ ในทางศาสนาพุทธถือเป็นเรื่องรุนแรง และมีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับการพูดที่ทำให้เกิดความแตกแยก

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ ภิกษุในเมืองโกสัมพีวิวาทกัน ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจาก พระ 2 รูปคือ พระธรรมกถึก (พระนักเทศนาธรรม) เข้าห้องน้ำแล้วลืมเทน้ำและคว่ำภาชนะที่ใช้ตักน้ำ ซึ่งเป็นวินัยของสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ จากนั้นพระวินัยธร (พระที่แม่นยำเรื่องข้อวินัยสงฆ์) ที่ใช้ห้องน้ำต่อก็ถามพระธรรมกถึกว่าลืมเทน้ำใช่หรือไม่ พระธรรมกถึกตอบยอมรับ ในเบื้องต้นพระวินัยธรบอกว่าไม่รู้ไม่เป็นไร

ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อพระวินัยธรไปเล่าเรื่องนี้ให้ลูกศิษย์ของตนเองฟัง บอกว่าพระธรรมกถึกได้เทศนาสั่งสอนผู้คนทั่วไปแต่ไม่รู้เรื่องวินัยสงฆ์ ลูกศิษย์ของพระวินัยธรจึงไปเล่าต่อกับลูกศิษย์ของพระธรรมกถึก และเมื่อลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกไปถามพระสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์ พระธรรมกถึกได้ย้อนว่าแล้วพระวินัยธรเป็นผู้ทรงวินัยจริงหรือ ขนาดพูดยังพูดไม่จริง เพราะตอนที่พบเห็น ตนก็ถามแล้วว่าจะให้แก้ไขอย่างไร แต่พระวินัยธรกลับบอกว่าไม่เป็นไร หากบอกว่าเป็นอาบัติจะได้จัดการให้เรียบร้อยไปแล้ว

จากกลุ่มลูกศิษย์พระ เป็นลูกศิษย์ฆราวาส แล้วสุดท้ายก็ขยายไป ในคัมภีร์ถึงกับบอกว่าแม้แต่บนสวรรค์เทวดาก็แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วพอทะเลาะกันแม้แต่พระพุทธเจ้าไปห้าม พระทั้งกลุ่มที่กำลังทะเลาะกันก็บอกด้วยภาษาที่โลกปัจจุบันอาจจะแปลว่า ขอพระองค์อย่ายุ่ง’ โทสะครอบงำถึงขนาดไม่เกรงใจแม้แต่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าต้องเสด็จปลีกไปเพื่อจำพรรษารูปเดียว พระมหานภันต์กล่าว

พระมหานภันต์ เล่าต่อไปว่า บทสรุปของเหตุการณ์ที่ลุกลามบานปลายนี้ กลายเป็นฆราวาสที่คิดได้ก่อนนักบวช โดยเห็นว่าการที่ต่างฝ่ายต่างทะเลาะกันแบบนี้จนพระพุทธเจ้าปลีกออกไปทำให้ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม จึงไปขอให้คณะสงฆ์เลิกทะเลาะกัน ในตอนแรกบรรดาพระภิกษุก็ยังมีทิฐิมานะไม่ยอมเลิก จนญาติโยมต้องขู่ว่าหากไม่เลิกก็จะไม่ใส่บาตรแล้ว สถานการณ์จึงค่อยสงบลง โดยมีพระอานนท์พาคณะสงฆ์ไปขอขมาพระพุทธเจ้า

ข้อคิดจากเรื่องนี้คือความสำคัญของ ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ (Information Integrity)” เพราะการได้รับข้อมูลไม่หมดจะนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทะเลาะเบาะแว้งกัน ต่างคนต่างถือความเป็นพวกเขา-พวกเรา ความสงบสุขจึงไม่เกิดขึ้น จึงอยากชวนให้ “เปลี่ยนตั้งแต่มโนกรรม” คือสร้างความตระหนักเรื่องการบอกข้อมูลไม่หมด เพราะแม้จะไม่มีเจตนาแต่ผู้ที่ฟังก็อาจนำไปตีความต่อแบบผิดๆ แล้วเกิดความเสียหายตามมาได้ จึงต้องระมัดระวังตั้งแต่ต้น

ตอนนี้สิ่งที่เกิดในสังคมไทยและหลายๆ สังคม คือบางทีสังคมปล่อยให้ปัจเจกทำแบบนี้ได้ ไม่ว่าจะโดยเห็นว่าเขายังเด็กไม่รู้เรื่องอะไร หรือเขาเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจ สุดท้ายมันเกิดปัญหา เหมือนที่เราเห็นปัญหาจากการใช้ประโยชน์จากขายตรง แต่ใช้ไปในแบบไม่ถูกทิศทาง วันนี้ก็เห็นปัญหา ต้องบอกว่าหลายคนที่ทำขายตรงแบบสุจริตตรงไปตรงมาได้รับผลกระทบไปเยอะมาก แม้แต่บริษัทข้ามชาติที่ทำเรื่องนี้ เท่าที่อาตมาทราบปลดคนไปเยอะเพราะสิ่งเหล่านี้ จะเห็นว่าพอไม่มีเรื่องข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองคิด-พูด-ทำ พอปล่อยให้เกิดกับปัจเจกแล้วสังคมก็ไม่รับผิดชอบด้วยเพราะคิดว่าไม่เป็นไร สุดท้ายก็เกิดปัญหาใหญ่ พระมหานภันต์ฝากข้อคิด

ด้าน สุภิญญา กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวลวงและมิจฉาชีพออนไลน์ว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพใช้ ซิมบ็อกซ์ (Sim Box)” เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้โทรศัพท์แบบสุ่มไปหาเป้าหมายได้ทีละมากๆ แบบไม่ต้องมาไล่กดที่ละหมายเลข ซึ่งแม้จะผิดกฎหมายแต่ไม่รู้ว่าเกลื่อนประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งงานของโคแฟคในปีนี้อาจต้องเน้นที่การผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายมากขึ้น จากตลอด 4 ปีที่ผ่านมาที่เน้นรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง อย่างไรก็ตาม จากนโยบายล่าสุดของเฟซบุ๊ก การที่แต่ละคนช่วยกันตรวจสอบก็ยังจำเป็นอยู่ 

หากให้ประเมินผลงานที่ผ่านมา ในเชิงการดำเนินงาน ก็น่าจะสอบผ่าน แต่ในเชิงผลลัพธ์ อาจผ่านและไม่ผ่านในบางเรื่อง โดยสิ่งที่ประสบความสำเร็จ คือโคแฟคได้ขยายแนวคิดเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการสร้างฐานข้อมูล แต่ปัญหาที่พบคืองานของโคแฟคยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากพอ กล่าวคือ หากเป็นคนในวงการหรือภาคีเดียวกัน เช่น องค์กรสื่อ องค์กรผู้บริโภค จะรู้จักโคแฟค แต่ถ้าออกไปตามท้องถนนผู้คนก็อาจไม่รู้จักดังนั้นแผนของปี 2568 โคแฟคอาจต้องทำงานกับคนที่ชำนาญในเรื่องนี้มากขึ้น

อาจต้องทำแคมเปญร่วมกัน เช่น อาจชวน IBHAP ทำแคมเปญบริจาคข่าวลวงได้บุญ เข้าสู่ฐานข้อมูล แล้วก็ทำกันทั้งปี ไปทำบุญที่ไหนนอกจากถวายเพลแล้วก็ช่วยกันบริจาคข่าวลวงเข้าฐานข้อมูล แล้วถ้าใครบริจาคได้เยอะก็อาจมีอะไรให้เป็นแรงจูงใจ เป็นการทำแคมเปญร่วมกัน เราทำฐานข้อมูลมาแล้ว cofact.org มีข้อมูลเยอะมาก เว็บไซต์ก็มีข้อมูลดีๆ เยอะมาก แต่มันอาจจะเข้าถึงยาก อาจจะดูอ่านยาก ทำอย่างไรจะให้ย่อยมากขึ้น สุภิญญา กล่าว

ประการต่อมา โคแฟคอาจต้องทำงานกับสื่อมวลชนอย่างจริงจังมากขึ้น เช่น มีความร่วมมือกับบางองค์กรเพื่อช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นงานเชิงคุณภาพที่มีผลงานออกมาทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์ อาทิ ที่ผ่านมาโคแฟคจับประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาอย่างความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) แต่ในช่วงปลายปี 2567 ก็มีประเด็นการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่ทำให้เกิดความเกลียดชังแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อ้างว่ามีแรงงานข้ามชาติมาคลอดลูกเต็มโรงพยาบาลทำให้คนไทยไม่สามารถคลอดลูกได้ โดยเรื่องนี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน (Misinformation) ซึ่ง ข่าวลวงที่ทำให้เกิดความเกลียดชังยังคงมีอยู่แต่เป็นแบบซึมลึก วันใดที่มีอะไรไปกระตุ้นก็อาจกลายเป็นความรุนแรงได้ งานในระยะต่อไปอาจเป็นการตรวจสอบเชิงป้องกัน (Prebunking) มากขึ้น ซึ่งดีกว่าการตรวจสอบแบบตามหลังเหตุการณ์ (Debunking) อย่างเรื่องการเมืองก็อาจกลับมาร้อนแรงได้อีกในปี 2568 นี้เช่นกัน!!!

สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/464090773409196/

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/articles/c1kek7zjz41o (เหตุใดเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจึงยกเลิกการใช้เครื่องมือตรวจสอบความจริง : BBC ไทย 8 ม.ค. 2568)