กรรมการอิสลามระบุ “เคเอฟซีในไทย ไม่มีตราฮาลาล”  

กองบรรณาธิการโคแฟค

โคแฟคตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาเฟซบุ๊กโพสต์ที่ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี (กอจ. ปัตตานี) ประกาศว่าร้านไก่ทอด “เคเอฟซี” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล ผลการตรวจสอบพบว่า ร้านเคเอฟซีทุกสาขาในประเทศไทยไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจริง แต่ กอจ. ปัตตานีไม่ได้ออกประกาศใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้

ประเด็นเรื่องเคเอฟซีกับตราฮาลาลถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียมานานหลายปี และมักมีผู้โพสต์จุดประเด็นขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 เพจเฟซบุ๊ก “พา กิน เที่ยว Pa Kin Tiaw” โพสต์ข้อความว่า “ห๊ะะะะ กอจ ปัตตานี ประกาศ kfc 3 จังหวัดไม่มีฮาลาล #ไม่มีฮาลาลกินไม่ได้นะคับ” (ลิงก์บันทึก) โดยอ้างคำพูดของนายอับดุลมานะ เจะเล๊ะ กรรมการด้านกิจการฮาลาล คณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ว่าร้านเคเอฟซีไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล มุสลิมที่รับประทานต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม โพสต์นี้ถูกแชร์ไป 600 ครั้ง เนื้อหาเดียวกันนี้ยังปรากฏในเพจเฟซบุ๊กอื่น ๆ รวมทั้งอินสตาแกรม และติ๊กต็อกในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดคำถามและความสับสนขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนมุสลิม  

โคแฟคตรวจสอบ

โคแฟคตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการสัมภาษณ์นายซาฮารี เจ๊ะหลง เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ.ปัตตานี สืบค้นคำชี้แจงของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสอบถามไปที่บริษัท บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารเคเอฟซีในประเทศไทย ได้ข้อมูลดังนี้

เคเอฟซีไม่ได้ยื่นขอใบรับรองฮาลาลที่ จ.ปัตตานี

นายซาฮารีกล่าวว่าเคเอฟซีไม่ได้ยื่นขอใบรับรองฮาลาล กอจ. ปัตตานีจึงไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เพราะในทางกฎหมาย ถ้าผู้ประกอบการไม่ยื่นขอใบรับรองฮาลาล คณะกรรมการอิสลามฯ ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ

“เมื่อเราไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ ก็ไม่สามารถออกใบรับรองฮาลาลได้ ทำให้เคเอฟซีไม่มีใบรับรองฮาลาล” นายซาฮารีให้สัมภาษณ์โคแฟคเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568

ตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารกิจการฮาลาล พ.ศ.2558 มอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) เป็นหน่วยงานตรวจและรับรองฮาลาลแก่ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการฮาลาลของผู้ประกอบการภายในจังหวัดนั้น โดย กอจ. จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของจังหวัดเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบผลิตภัณฑ์

กอจ. ปัตตานี ไม่ได้ออกประกาศ “ห้ามมุสลิมรับประทานเคเอฟซี”

นายซาฮารีกล่าวเพิ่มเติมว่า กอจ. ปัตตานีไม่ได้ออกประกาศห้ามหรือรณรงค์ไม่ให้คนมุสลิมรับประทานอาหารของร้านเคเอฟซี เพียงแต่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่าเคเอฟซีไม่มีตราฮาลาลเท่านั้น

ส่วนคำพูดของนายอับดุลมานะ เจ๊ะเล๊ะ กรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ. ปัตตานี ที่ระบุว่าอาหารของร้านเคเอฟซี มุสลิมไม่สามารถรับประทานได้เพราะไม่ฮาลาล และคนมุสลิมที่รับประทานเคเอฟซีต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนานั้น นายซาฮารีกล่าวว่าเป็นเนื้อหาเก่าที่ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำ และนายอับดุลมานะ ผู้ที่ถูกอ้างถึงก็เสียชีวิตไปนานนับสิบปีแล้ว

โคแฟคตรวจสอบที่มาของคำให้สัมภาษณ์ของนายอับดุลมานะที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย โดยอ้างที่มาจากสำนักข่าวเนชั่น แต่ไม่พบรายงานข่าวชิ้นนี้ในช่องทางการเผยแพร่ของสำนักข่าวเนชั่นหรือสื่อกระแสหลักเลย จึงไม่สามารถยืนยันที่มาและความถูกต้องของเนื้อหาได้

รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยยืนยัน “เคเอฟซี ไม่มีตราฮาลาล”

ในการสัมมนาสตรีมุสลิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี ฮ.ศ. 1446 วันที่ 19 เมษายน 2568 ผู้แทนสตรีมุสลิมจาก จ.ตราด ได้สอบถามอาจารย์ประสาน ศรีเจริญ รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอาหารของเคเอฟซีว่า “เราอยากได้ความชัดเจนว่า (เคเอฟซี) เราทานได้หรือไม่ได้…มันเป็นความไม่สบายใจ เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อ ยังไม่มีข้อสรุป มุสลิมก็ไปทะเลาะกันเองในโซเชียล ทำให้คนต่างศาสนิกเห็นพวกเราเป็นตัวตลก”

อาจารย์ประสานตอบว่า เคเอฟซีในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามฯ

“เคเอฟซีในประเทศนี้ กรรมการกลาง (อิสลาม) ยังไม่รับรอง ส่วนกินได้หรือไม่ได้นั้นเป็นสิทธิของท่าน ต้องไปตรวจสอบ แต่ว่าไม่มีเครื่องหมายฮาลาล” รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกล่าว

อาจารย์ประสาน ศรีเจริญ รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตอบข้อสงสัยของผู้แทนสตรีมุสลิมจาก จ.ตราด เรื่องการรับรองฮาลาลของเคเอฟซี ในการสัมมนาสตรีมุสลิม งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568

เคเอฟซียังไม่ตอบกลับโคแฟค

โคแฟคส่งข้อความสอบถามเรื่องการรับรองฮาลาลไปที่เพจเฟซบุ๊ก KFC รวมทั้งส่งอีเมลไปที่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารเคเอฟซีในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

ข้อสรุปโคแฟค

อาจารย์ประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายซาฮารี เจ๊ะหลง เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ. ปัตตานี ระบุชัดเจนตรงกันว่าขณะนี้ร้านเคเอฟซีในประเทศไทย ไม่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล แต่มุสลิมจะรับประทานหรือไม่นั้นเป็นสิทธิที่แต่ละคนจะพิจารณา

ส่วนข้อความที่ระบุว่า กอจ. ปัตตานี ประกาศว่าเคเอฟซีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล-ห้ามมุสลิมรับประทานนั้น เป็นเนื้อหาที่อ้างอิงจากคำพูดของอดีตกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล กอจ. ปัตตานี เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งโคแฟคยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ แต่มีผู้อ้างว่ามาจากสำนักข่าวเนชั่น ข้อความนี้ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2557 และถูกนำกลับมาเผยแพร่ใหม่หลายครั้ง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นประกาศล่าสุดจาก กอจ. ปัตตานี ทั้งที่จริงแล้ว กอจ. ปัตตานีไม่ได้ออกประกาศใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ภาพรวมดัชนีเสรีภาพสื่อไทยในการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลก ปี 2025 ชี้วัดจาก การเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม ความปลอดภัย

โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนหรือ Reporter Without Borders Reporters Without Borders – RSF Asia-Pacific Bureau

Visual note โดย Supermommam – Visual Note

ชาวปาเลสไตน์จ้างนักแสดง ‘แกล้งตาย-เจ็บ’ ในศึกกาซาจริงหรือ?

ธีรนัย จารุวัสตร์

สมาชิกเครือข่าย Cofact Thailand 

ขณะที่ภาพข่าวความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาได้รับการตีแผ่ไปทั่วโลก แต่โลกโซเชียลมีเดียกลับเต็มไปด้วยคลิปที่อ้างว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตชาวปาเลสไตน์เป็นเพียงการ “จัดฉาก” เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากชาวโลก หรือที่เรียกกันในวงการสื่อว่า ทฤษฎีสมคบคิด “Pallywood”

หากใครจำกันได้ หลังจากที่กองทัพรัสเซียรุกรานยูเครนในต้นปี 2022 และเริ่มมีรายงานว่าประชาชนยูเครนจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย พิธีกรข่าวของช่อง “ททบ. 5” ในประเทศไทย ได้นำคลิปวิดิโอหนึ่งมาเผยแพร่ออกอากาศ โดยระบุว่าเป็นการจับผิด “ศพ” ชาวยูเครนที่ถูกทหารรัสเซียสังหาร แต่ “ศพ” กลับขยับเขยื้อนได้ ดูเหมือนเป็นการ “จัดฉาก” ซะมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฎว่าวิดิโอดังกล่าวเป็นคลิปจากเหตุการณ์การประท้วงสภาวะโลกร้อน ซึ่งนักกิจกรรมได้แสดงท่าทางเป็นศพเท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครนเลย และในเวลาต่อมา ได้มีหลักฐานและภาพข่าวประชาชนยูเครนที่ถูกคร่าชีวิตโดยกองทัพรัสเซียปรากฎสู่สายตาชาวโลกอย่างล้นหลาม จนไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป การกล่าวหาในทำนองว่ายูเครน “จัดฉาก” ผู้เสียชีวิตเพื่อป้ายสีรัสเซีย จึงค่อยๆเงียบหายไป…

เวลาผ่านมาปีกว่า วาทกรรมดังกล่าวกลับขึ้นมาแพร่หลายในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง แต่เปลี่ยนบริบท 

จากสงครามในยูเครน สู่สงครามในฉนวนกาซาและอิสราเอล จากที่เคยพุ่งเป้าจับผิดว่าชาวยูเครน “จัดฉาก” หรือแกล้งตาย กลายมาเป็นการกล่าวหาว่าชาวปาเลสไตน์กำลังใช้ “นักแสดง” สวมบทบาทเป็นผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการโจมตีของกองทัพอิสราเอล ซึ่งในปัจจุบัน ข้อมูลจากทางการกาซาระบุว่าชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10,000 ราย ตั้งแต่กองทัพอิสราเอลเริ่มปิดล้อมและถล่มฉนวนกาซา หลังฮามาสก่อเหตุสังหารประชาชนในอิสราเอลจำนวนมากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

ตัวอย่างเช่น คลิปที่อ้างว่าชายคนหนึ่งที่สูญเสียขาในโรงพยาบาลกาซ่า กลับกลายว่ายังมีขาอยู่ในวันถัดมา หรืออ้างว่าศพเยาวชนในกาซาขยับเขยื้อนตัวได้ หรืออ้างว่ามีนักแสดงชาวปาเลสไตน์ปรากฎตัวในคลิปการโจมตีของอิสราเอลหลายครั้ง ฯลฯ 

ทั้งหมดเหล่าเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดที่เรียกว่า “Pallywood” ซึ่งเป็นการรวมกันของคำว่า “Hollywood” กับ “Palestine” เพื่อที่จะสื่อว่า ภาพและข่าวความสูญเสียในปาเลสไตน์นั้น เป็นการจัดฉากขึ้นเพื่อตบตาชาวโลก มีการใช้นักแสดงหรือวางบทบาทกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ต่างจากการถ่ายภาพยนตร์ Hollywood

ที่น่ากังวลคือทฤษฎีสมคบคิดเช่นนี้ถูกส่งต่อในโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง แม้แต่ทางการอิสราเอลและสำนักข่าวจำนวนหนึ่ง (รวมถึงสื่อไทยอย่างน้อยหนึ่งแห่ง) ก็หยิบมาเผยแพร่ต่อ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดแต่เคลือบแคลงใจต่อวิกฤติมนุษยธรรมในกาซาขณะนี้อย่างแพร่หลาย ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญและ factcheckers จำนวนมากได้พิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่มีมูลความจริง 

จากปาเลสไตน์ สู่กลุ่มขวาจัดอเมริกัน

แนวคิด Pallywood เริ่มปรากฎขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ระหว่างการลุกฮือครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึดครองเขตเวสต์แบงก์และกาซาโดยกองทัพอิสราเอล 

การลุกฮือ (หรือที่เรียกว่า intifada) ดังกล่าวประกอบด้วยทั้งการประท้วงและการใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายในอิสราเอล นำไปสู่การโต้ตอบอย่างรุนแรงจากกองทัพอิสราเอล ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะพลเรือน ภาพข่าวความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์เริ่มปรากฎขึ้นในสื่อมวลชนต่างประเทศหลายแห่ง กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล 

เหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก คือวิดิโอข่าวเหตุการณ์สองพ่อลูกชาวปาเลสไตน์ที่พยายามซุกตัวในมุมถนนแห่งหนึ่ง เพื่อหลบการต่อสู้กันระหว่างทหารอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ก่อนที่ทั้งสองพ่อลูกจะถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทีมข่าวระบุว่าเป็นฝีมือทหารอิสราเอล สร้างความโกรธแค้นไปทั่วในปาเลสไตน์และนานาประเทศ

สองพ่อลูกชาวปาเลสไตน์ Jamal และ Muhammad al-Durrah ขณะพยายามหลบกระสุนปืนท่ามกลางการต่อสู้กันระหว่างทหารอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เมื่อปี 2000 ที่มา: France 2

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนหนึ่งในสหรัฐฯ เริ่มตั้งคำถามต่อวิดิโอดังกล่าวว่าเชื่อถือได้จริงหรือไม่ โดยได้หยิบยกข้อสังเกตต่างๆมาวิจารณ์ เช่น ดูเหมือนคลิปมีการตัดต่อ, มุมกล้องไม่ได้แสดงเหตุการณ์ทั้งหมด, ลำดับเหตุการณ์ไม่ตรงกับคำให้การของพยาน ไปจนถึงกระทั่งว่า สองพ่อลูกในข่าวไม่ได้เสียชีวิตจริง แต่อาจจะเป็นการ “จัดฉาก” ขึ้นเท่านั้น 

แนวคิดนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เป็นการตั้งข้อสังเกตกับข่าวเหตุการณ์เดียว กลายเป็นการตั้งคำถามกับภาพและข่าวความสูญเสียอื่นๆของชาวปาเลสไตน์ด้วย พร้อมโจมตีว่าสื่อมวลชนหลายแห่งสมคบคิดกันเพื่อจัดฉากป้ายสีอิสราเอล หรือจ้างนักแสดงปาเลสไตน์มาแกล้งตายเพื่อจะได้ภาพข่าวที่ต้องการ เป็นที่มาของคำว่า Pallywood 

กระแส Pallywood เริ่มลดลงไปบ้างหลังการกำเนิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยให้ประชาชนผู้เสพข่าวทั่วโลกได้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆในปาเลสไตน์กับตาตัวเองโดยตรง แต่องค์ประกอบบางส่วนในแนวคิด Pallywood ได้วิวัฒนาการกลายเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆ ที่มักจะเผยแพร่ในกลุ่มขวาจัดอเมริกันในเวลาต่อมา 

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อมีเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงหรือสังหารหมู่ในอเมริกา กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งมักจะเผยแพร่ข้อกล่าวหาว่า การกราดยิงต่างๆนั้นเป็นเพียงการ “จัดฉาก” โดยหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างจำกัดสิทธิ์การครอบครองอาวุธปืนหรือลิดรอนเสรีภาพประชาชน 

เท่านั้นยังไม่พอ ยังกล่าวหาด้วยว่าบรรดาเหยื่อกราดยิงและครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นเพียงนักแสดงเฉพาะกิจ (crisis actors) ที่เล่นบทบาทตบตาสื่อและประชาชน สร้างความเจ็บปวดให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังเช่นในเหตุกราดยิงโรงเรียนประถม Sandy Hook เมื่อปี 2012 จนครอบครัวเหยื่อเหตุกราดยิงครั้งนั้นถึงกับรวมตัวฟ้องร้องนาย Alex Jones เจ้าของสำนักข่าวแนวขวาจัดรายใหญ่ ซึ่งมีบทบาทในการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว จนชนะคดีในเวลาต่อมา 

นอกจากนี้ ทฤษฎีสมคบคิดในลักษณะเดียวกันยังกลับมาปรากฎขึ้นในช่วงสั้นๆ หลังเหตุการณ์กองทัพรัสเซียทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ในเมือง Mariupol ประเทศยูเครน เมื่อต้นปี 2022 ซึ่งกลุ่มชาตินิยมและสื่อในสังกัดรัฐของรัสเซียพยายามบิดเบือนว่า ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็น “นักแสดง” ที่ยูเครนจัดฉากขึ้น เป็นต้น

เมื่อ ‘Mr. FAFO’ ระบาดมาถึงสื่อไทย

การสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาสรอบล่าสุด ได้ทำให้กระแส Pallywood กลับมาแพร่ระบาดในสังคมออนไลน์อย่างไม่ต้องสงสัย ท่ามกลางกระแสข่าวบิดเบือนจำนวนมากเกี่ยวกับสงครามกาซาที่กระจายอยู่เต็มโซเชียลมีเดีย มีทั้งเพื่อสร้างและทำลายความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของคู่ขัดแย้งบนความเข้าใจผิดของผู้เสพย์ข้อมูล

ตัวอย่างหนึ่งซึ่งมักจะปรากฎอยู่บ่อยๆ คือชายชายปาเลสไตน์คนหนึ่งที่กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่สนับสนุนรัฐบาลอิสราเอล ระบุว่าเป็น “นักแสดง” มากบทบาท เป็นทั้งทหารฮามาส สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้บาดเจ็บจากการโจมตีของอิสราเอล แม้กระทั่งศพผู้เสียชีวิต

ชายคนนี้ได้รับฉายาจากกลุ่มขวาจัดอเมริกันว่า “Mr. FAFO” ซึ่งเป็นคำแสลงอเมริกันหมายถึงคนที่รนหาที่ตาย (Fuck Around, Find Out – FAFO) ข่าวนี้ได้กระจายออกจากโซเชียลมีเดียของกลุ่มขวาจัดไปสู่สังคมออนไลน์ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว รวมถึงแอคเคาท์ทวิตเตอร์ทางการของรัฐบาลอิสราเอลด้วย โดยระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า Mr. FAFO คนนี้เป็นหลักฐานปฏิบัติการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของชาวปาเลสไตน์

ในกรณีประเทศไทย พบข้อมูลบิดเบือน คลิปปลอม เกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่มีคนดูหลายล้านวิวในโซเชียลมีเดียไทยด้วยกัน  ส่วนในภาพรวมของสื่อมวลชนไทยจะเน้นการรายงานข่าวหรือข้อมูลการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮามาสจากแหล่งข้อมูลทางการหรือสำนักข่าวต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ จะมีบางสื่อที่รายงานโดยให้น้ำหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง เช่นกรณี เว็บไซต์ของช่อง Bright TV ได้หยิบยกเรื่องของ Mr. FAFO มาเผยแพร่ต่อ โดยเนื้อข่าวตอนนี้ระบุว่า:

“ทั้งนี้ ท่ามกลาง Saleh Aljafarawi นามแฝงของนาย FAFO ที่บงการอย่างสิ้นหวังและวิดีโอที่ทำให้เข้าใจผิดและการกล่าวอ้างทางโซเชียลมีเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มฮามาสใช้กลยุทธ์การโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจและฉายภาพอิสราเอลว่าเป็นผู้กดขี่ กลไกที่น่าละอายอย่างหนึ่งของฮามาสก็คือการอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 500 รายในโรงพยาบาลฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ชี้ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่านี่ไม่ใช่การโจมตีทางอากาศของอิสราเอล แต่เป็นจรวดที่ยิงผิดจากในฉนวนกาซา 

เห็นได้ชัดว่า นอกเหนือจากการทำสงครามกับฮามาส เฮาซี และฮิซบอลเลาะห์แล้ว อิสราเอลยังต้องต่อสู้กับสงครามข้อมูลที่บิดเบือน/บิดเบือนด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม หากได้มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะพบว่านาย Saleh มีอาชีพเป็นอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเทอร์ชื่อดังในกาซาตั้งแต่ก่อนเริ่มสงครามแล้ว โดยเขาได้เผยแพร่คลิปวิดิโอ สตอรี่ และผลงานเพลงจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศอื่นๆทั่วโลก อีกทั้งยังทำงานอาสาเป็นเจ้าหน้าที่ให้แก่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกาซาด้วย (จึงเป็นที่มาของภาพนาย Saleh ในเครื่องแบบโรงพยาบาล) 

มิได้มีเจตนาแฝงตัวเป็นบุคคลหลากหลายอาชีพแบบที่เข้าใจกัน และไม่เคยอ้างตัวว่าเป็นผู้บาดเจ็บจากเหตุโจมตีของอิสราเอล

นอกจากนี้ บางภาพที่นำมายำรวมกันและอ้างว่าเป็น Mr. FAFO ไม่ใช่ภาพของนาย Saleh ด้วยซ้ำ ดังเช่นภาพด้านขวามือที่ปรากฎข้างบนนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นภาพของ Mohammad Zendeq ชาวปาเลสไตน์อีกคนหนึ่ง ที่บาดเจ็บจากปฏิบัติการทางทหารโดยกองทัพอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ (ไม่ใช่ฉนวนกาซา) ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม หรือก่อนหน้าสงครามกาซารอบล่าสุดเสียอีก 

ด้านทีมข่าว AFP Fact Check ในประเทศไทย ได้พิสูจน์แล้วว่า ภาพ “ศพ” ที่หลายคนอ้างว่าเป็น Mr. FAFO แกล้งตายนั้น จริงๆแล้วเป็นภาพเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่แต่งชุดประกวดงานวันฮาโลวีนในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ต่างหาก

นอกจาก Mr. FAFO แล้ว ข่าวบิดเบือน Pallywood เช่นนี้ยังปรากฎขึ้นในอีกหลายรูปแบบ เช่น เอาคลิปเบื้องหลังการถ่ายภาพยนตร์ในเลบานอน มาอ้างว่าชาวปาเลสไตน์กำลังแต่งหน้าและแต้มสีเลือด ให้ดูเหมือนว่าบาดเจ็บจากการโจมตีของอิสราเอล, เอาภาพนักกิจกรรมในประเทศอียิปต์นอนแกล้งตายเพื่อประท้วงรัฐบาล มาอ้างว่าชาวปาเลสไตน์แต่งกายเป็นศพ เพื่อหลอกตาสื่อมวลชน เป็นต้น

เครื่องมือทางจิตวิทยา?

แน่นอนว่าคำถามหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในใจหลายคนคือ ผู้ที่เผยแพร่และปั่นกระแส Pallywood เช่นนี้ มีจุดประสงค์เพื่ออะไร

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลไว้ว่า ผลกระทบหนึ่งจากทฤษฎีสมคบคิด Pallywood คือจะค่อยๆทำให้ประชาชนที่รับข่าวสารเกี่ยวกับสงครามกาซาเกิดความเคลือบแคลงใจ และเริ่มคิดว่าสื่อหรือโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์ไม่น่าเชื่อถือ จนทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเท็จ” ค่อยๆเลือนลงไป ทั้งที่มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงวิกฤติมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในกาซา 

ดังที่ Sam Doak นักวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวบิดเบือน ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Rolling Stone ว่าแนวคิดเช่นนี้เสี่ยงทำให้ผู้ที่รับชมข่าวสารมีทัศนคติเชิงลบต่อชาวปาเลสไตน์ เพราะปักใจเชื่อว่าชาวปาเลสไตน์พยายามหลอกลวงประชาชนทั่วโลก และมองว่าข่าวเกี่ยวกับความสูญเสียของพลเรือนปาเลสไตน์เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

“นี่คือการลดทอนความเป็นมนุษย์” Doak กล่าวสรุป

ข้อมูลสำหรับอ่านเพิ่มเติม

No, Palestinians Are Not Faking the Devastation in Gaza | Rolling Stone 

Clip shows teenager in West Bank hospital, not faked injuries in Gaza | AFP Fact Check

A thread on Pallywood conspiracy theory | Matt Binder 

พบข้อมูลบิดเบือน คลิปปลอม เกี่ยวกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส มีคนดูหลายล้านวิวในโซเชียลมีเดียไทย I BBC Thai 


โควิดระบาดรอบใหม่ร้ายแรง? ชัวร์หรือมั่ว!

กิจกรรม

วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 รายการ “โคแฟคสนทนา รวมพลคนเช็กข่าว” ออกอากาศครั้งแรกผ่านช่องทาง COFACT , UbonConnect ทั้ง Facebook และ Youtube รวมถึงเครือข่าย วารินชำราบบ้านเฮา , Vr CableTV , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม และข่าวเท็จที่แพร่สะพัดในสังคม ครั้งนี้ประเด็นร้อนที่นำมาพูดคุยคือข่าวลือเรื่อง “โควิด-19 ระบาดรอบใหม่รุนแรง” ซึ่งสร้างความกังวลให้ประชาชนจากข้อความที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียและกลุ่มไลน์ โดยสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี คุณเบ็ญ ตัวแทนประชาชนคนเช็กข่าว ดำเนินรายการโดยสุชัย เจริญมุขยนันท

ในช่วงเริ่มรายการ คุณสุภิญญาเน้นย้ำแนวคิดของ COFACT ที่ต้องการให้ทุกคนเป็น “คนเช็กข่าว” ด้วยตัวเองในยุคที่ข้อมูลท่วมท้นและยากจะแยกแยะความจริง โดย COFACT มีฐานข้อมูลออนไลน์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูล รวมถึงเปิดช่องทางให้ส่งข่าวมาพิสูจน์ผ่าน LINE @COFACT และเว็บไซต์ cofact.org ด้านคุณเบ็ญเล่าถึงข้อความในกลุ่มไลน์ที่ได้รับ เช่น ข่าวเตือนให้งดเดินทาง ระวังการระบาดรุนแรงใน 8 จังหวัด พร้อมแนะนำวิธีดูแลตัวเอง เช่น การกินวิตามินซี วิตามินอี ตากแดด และรักษาความชุ่มชื้นในลำคอ รวมถึงคำเตือนเรื่องล็อกดาวน์หรือการติดเชื้อจากการเดินสวนกัน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้รับสาร

นายแพทย์ธีระพงษ์ชี้แจงว่า ข่าวลือเรื่องโควิดระบาดรอบใหม่รุนแรงนั้นไม่เป็นความจริง ปัจจุบันโควิด-19 ถือเป็น “โรคประจำถิ่น” ที่พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปีเหมือนไข้หวัดทั่วไป โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ในปี 2568 มีผู้ป่วยสะสม 45,958 ราย เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีผู้ป่วย 777,730 ราย และเสียชีวิต 222 ราย ลดลงเกือบ 7 เท่า

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ อยู่แล้ว แม้ไม่ติดโควิด การระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรืออาการรุนแรงก็ลดลงอย่างชัดเจน

สำหรับคำแนะนำที่แชร์กัน เช่น การดื่มน้ำอุ่น 50-80 ซีซีเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในลำคอ หรือการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด คุณหมอยืนยันว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการดื่มน้ำปริมาณเฉพาะเจาะจงป้องกันโควิดได้ การดื่มน้ำเพียงพอช่วยให้ร่างกายแข็งแรงทั่วไป แต่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีน (ซึ่งปัจจุบันไม่ได้นำเข้าแล้ว) การสวมหน้ากากอนามัยในที่แออัด การล้างมือบ่อย ๆ และการอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดโอกาสติดเชื้อไม่เฉพาะโควิด แต่รวมถึงไข้หวัดใหญ่หรือวัณโรคด้วย

เมื่อถูกถามถึงวิธีแยกอาการโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ คุณหมออธิบายว่าอาการคล้ายกันมาก เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย แต่โควิดอาจมีอาการเฉพาะ เช่น การสูญเสียการรับรสหรือกลิ่น หายใจลำบาก หรือท้องเสีย การตรวจ ATK เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการยืนยัน ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีน คุณหมอชี้แจงว่าในช่วงวิกฤตโควิด ทุกประเทศต้องเร่งพัฒนาและใช้วัคซีนในเวลาจำกัดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งประเทศไทยก็ติดตามผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่อง โดยส่งข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีวัคซีนโควิดนำเข้าแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามอาการ

สำหรับสัญญาณที่ควรไปโรงพยาบาล คุณหมอแนะนำให้สังเกตอาการที่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หายใจไม่สะดวก ท้องเสียรุนแรง หรืออาการทรุดลง โดยสามารถติดต่อหน่วยสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อรับคำแนะนำ โดยไม่ต้องแจ้งสถานพยาบาลเหมือนในอดีต เนื่องจากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ส่วนไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาด คุณหมอระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากปอดอักเสบทุกปี และแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

คุณหมอยังเตือนถึงปัญหาข่าวลวงด้านสุขภาพที่พบมากในโซเชียลมีเดีย เช่น ข่าวเท็จที่อ้างชื่ออาจารย์ประสิทธิ์จากศิริราชเตือนการระบาดรุนแรง ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง แนะนำให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน แทนการเชื่อข้อมูลจาก TikTok หรือโพสต์ที่หวังยอดไลก์

สรุป: ข่าวลือโควิดระบาดใหม่รุนแรงเป็น “ข่าวมั่ว” โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่น่ากังวลเหมือนในอดีต ประชาชนควรใช้ชีวิตตามปกติ ป้องกันตัวด้วยวิธีพื้นฐาน และตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น

รับชมเพิ่มเติม คลิก

‘สุภิญญา’ชี้ถึงเวลาแล้วไทยต้องมี‘Caller ID’เป็นบริการพื้นฐาน แจ้งเตือนสายเรียกเข้าลดเสี่ยงมิจฉาชีพ

กิจกรรม

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมให้มุมมองในรายการ นโยบาย By ประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2568 โดยเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรมีระบบแจ้งเตือนคนโทรหา หรือ Caller ID ที่จัดทำโดยภาครัฐ เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีแอปพลิเคชั่นของภาคเอกชนให้ใช้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีคนใช้มากขึ้นอาจต้องเสียเงิน อีกทั้งยังมีแอปฯ ลักษณะนี้จากเอกชนหลายราย ข้อมูลจึงไม่ได้รวมศูนย์อย่างที่ภาครัฐมี หากมีปัญหาเกิดขึ้นสามารถบริหารจัดการเพื่อแก้ไขได้

ซึ่งแม้ด้านหนึ่งการรณรงค์ให้รู้เท่าทันข้อมูลอย่าเพิ่งเชื่อ  อย่าเพิ่งแชร์  อย่าเพิ่งรับ – อย่าเพิ่งโอน จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่อีกด้านก็ต้องมีระบบเข้ามาช่วย โดย Caller ID จะเป็นระบบแจ้งว่าใครโทรศัพท์เข้ามาหา ข้อดีคือช่วยให้ผู้รับสายตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะรับหรือไม่รับ เช่น กรณีเป็นเบอร์มิจฉาชีพที่เคยมีการรายงานในระบบ หรือเป็นเบอร์ของธุรกิจต่างๆ ที่ติดต่อมาเพื่อขายสินค้า โดยแต่ละประเทศจะมีกฎเกณฑ์แตกต่างกันออกไป และบางประเทศถึงขั้นกำหนดว่าเมื่อโทรไปต้องแสดงตัวตนให้อีกฝ่ายรับรู้ด้วย

หนึ่งในแอปพลิเคชั่นของภาคเอกชนที่หลายคนคุ้นเคยคือ Whoscall ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพได้หากมีการรายงานเข้าไปในระบบ เช่น คนแรกรับสาย รู้ว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพแล้วรายงาน ระบบก็จะแจ้งไปยังคนอื่นๆ ที่ใช้แอปฯ นี้หากมีผู้ใช้เบอร์ดังกล่าวโทรไปหา แต่เมื่อเป็นแอปฯ เอกชนก็ต้องเสียเงิน ทั้งที่ควรเป็นบริการพื้นฐานสาธารณะใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และที่ผ่านมาคนไทยก็ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกันมาก อย่างในปี 2567 พบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงถึง 168 ล้านครั้ง (ตามรายงานของ Whoscall)

ปัญหานี้ในประเทศไทยรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจด้วย เขาเรียก Easy Money อะไรที่ได้เงินง่าย ทั้งคนที่โทรมาหลอก และคนที่รับสายบางทีก็เชื่อไปเพราะอาจมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจหรือความกลัว องค์การสหประชาชาติ(UN) ได้ระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก สุภิญญา กล่าว

สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า นโยบายนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สามารถทำได้ทันที แต่หากติดขัดในข้อกฎหมายก็ต้องฝากให้ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมถึงฝ่ายวิชาการช่วยกันติดตามทวงถาม ขณะที่ภาคประชาสังคมอย่างสภาองค์กรของผู้บริโภคคงจะยินดีช่วยผลักดันต่อไป

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะเหมือนกับการยกสมุดโทรศัพท์ หรือสมุดหน้าเหลืองเข้ามาไว้ อย่างหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ขอให้แสดงให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าสามารถรับสายได้ ในขณะที่หากเป็นหมายเลขที่ไม่ได้ลงทะเบียนหรือเป็นชื่อแปลกๆ ก็ขอให้ระบบขึ้นคำเตือน ซึ่งเวลานี้ระบบเตือนภัยพิบัติ หรือ Cell Broadcast กำลังจะมีให้ใช้แล้ว ก็อยากให้มีระบบ Caller ID ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ควบคู่กับการมีสติและรู้เท่าทันของประชาชน

ส่วนข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แม้จะเข้าใจแต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยแม้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) แต่ในปัจจุบันก็ทราบกันดีว่าข้อมูลส่วนบุคคลหลุดกันมากอย่างที่เห็นว่ามิจฉาชีพรู้เบอร์โทรศัพท์ของเรา และหลายประเทศก็เห็นว่าต้องเปิดเผย เป็นเรื่องที่ต้องแลกกันแต่ก็คุ้มค่าและจำเป็น เพราะข้อมูลที่เปิดเผยเป็นเพียงการระบุตัวตนอย่างชื่อ ไม่ได้ระบุความเชื่อ – ความชอบ หรือหมู่เลือด 

อาจมีระบบหลังบ้านได้ เช่น ถ้าไม่อยากให้ขึ้นชื่อจริงก็อาจใช้ชื่อเล่นหรือนามปากกา แต่ต้องแลก่าถ้าใช้นามปากกาแล้วไปขึ้นชื่อในสายโทรศัพท์ของเพื่อนอาจไม่รับสาย    แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ประเด็นในเชิงระบบมากกว่า หากไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยแล้วมีการไปแก้ ID ได้  ถ้าระบบเราไม่เข้มแข็งทั้งระบบ ก็อาจมีปัญหาได้เช่นกัน สุภิญญา ระบุ

สุภิญญา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันการเปิดใช้งานซิมโทรศัพท์มือถือต้องลงทะเบียน ดังนั้น กสทช. มีข้อมูลอยู่แล้วว่าซิมหมายเลขใดใครเป็นเจ้าของ แต่สิ่งที่ต้องไปแก้คือต้องไม่มีซิมผิดกฎหมาย การถือซิมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การมีอุปกรณ์ซิมบ็อกซ์ (Sim Box) หรือตั้งเสาสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง   

หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=e7AjAaUjZDc

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

[Live] 21.30 น. #นโยบายByประชาชน : ไทยจะมีระบบแจ้งเตือนคนโทรหา หรือ Caller ID ที่จัดทำโดยภาครัฐ (6 พ.ค. 68)
…ปัจจุบันปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐ มีระบบระวังภัยที่ทำให้ประชาชนรู้ว่าใครโทรหา
.
คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT.ORG ได้เสนอนโยบาย “ไทยจะมีระบบแจ้งเตือนคนโทรหา หรือ Caller ID ที่จัดทำโดยภาครัฐ” เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
.
🗳️ ดูสดพร้อมร่วมโหวต “คุณเห็นด้วยกับนโยบายที่นำเสนอหรือไม่ ?” ทาง LINE @‌ThaiPBS เพิ่มเพื่อนคลิกเลย ! www.thaipbs.or.th/AddLINE
.
📌 รับชมได้ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 หรือรับชมทางออนไลน์

  • Website : www.thaipbs.or.th/live
  • Facebook : https://www.facebook.com/share/v/1EHNVtMBQU/
  • YouTube : https://youtu.be/e7AjAaUjZDc
  • TikTok : www.tiktok.com/@thaipbs/live
  • ชมอีกครั้งทาง : www.thaipbs.or.th/PbyP

🇹🇭เสรีภาพสื่อ2025’คนข่าวไทยเจอแรงกดดันทั้งเศรษฐกิจ-การเมืองแนะจับตา‘โลกหันขวา-AI’🌎

กิจกรรม

3 พ.ค. 2568 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) จัดงาน Cofact Live Talk on World Press Freedom Day 2025 : Freedom Index and its ramifications on truth-seeking เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม ของทุกปี โดยเป็นการจัดทางออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่านเพจ Cofact โคแฟค , The Reporters และ Ubon Connect อุบลคอนเนก The Reporters Ubon Connect อุบลคอนเนก

ขอบคุณที่มาข้อมูล อุบลคอนเนก

Aleksandra Bielakowska,Advocacy Manager และ Arthur Rochereau, Advocacy Officer จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) กล่าวถึงสถานการณ์เสรีภาพสื่อในรอบปีที่ผ่านมา โดยนิยามคำว่าเสรีภาพสื่อ หมายถึงความสามารถของนักข่าวในฐานะปัจเจกหรือกลุ่มคนที่สามารถคัดเลือก ผลิตและเผยแพร่ข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม โดยเฉพาะต้องปราศจากภัยคุกคามต่อความปลอดภัยต่อทั้งร่างกายและจิตใจ Reporters Without Borders – RSF Asia-Pacific Bureau

โดยรายงานเสรีภาพสื่อมวลชนโลกของ RSF แบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่ 1.กลุ่มที่สถานการณ์เสรีภาพดีที่สุด
2.กลุ่มที่สถานการณ์น่าพึงพอใจ
3.กลุ่มที่เริ่มมีปัญหา
4.กลุ่มที่เสรีภาพสื่อเริ่มเป็นเรื่องยาก
และ 5.กลุ่มที่สถานการณ์เสรีภาพสื่อเข้าขั้นย่ำแย่ที่สุด สำหรับประเทศไทยนั้น

รายงานฉบับล่าสุดจัดให้อยู่ในกลุ่ม Problematic Situation หรือกลุ่มที่ 3 (เริ่มมีปัญหา) โดยอยู่อันดับที่ 85 จากทั้งหมด 180 ประเทศ แม้จะอยู่ในกลุ่มบน (สูงกว่ากึ่งหนึ่งคือลำดับที่ 90) ก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นแบบนี้ มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้สื่อจำนวนมากปิดตัวลง มีการเลิกจ้างพนักงาน และเรื่องการเมืองที่มีแรงกดดันทำให้การพูดคุยกันในประเด็นอ่อนไหวลดลง

ส่วนคำแนะนำสำหรับประเทศไทย

  1. รัฐควรปกป้องความหลากหลายของสื่อ ผ่านการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น ควบคุมการผูกขาดสื่อ สนับสนุนสื่อท้องถิ่นหรือสื่ออิสระ
  2. นำมาตรฐาน Journalism Trust Initiative (JTI) มาใช้เป็นแนวทางร่วมกัน
  3. มีระบบความรับผิดชอบทางประชาธิปไตยของผู้โฆษณา ต้องตระหนักถึงบทบาทในการสนับสนุนสื่อที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน และ 4.การกำกับดูแลผู้ควบคุมข้อมูลออนไลน์ รัฐบาลควรออกกฎหมายเพื่อควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ ไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตรายงานของ RSF ข้างต้นว่ายังเน้นที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาจัดทำจึงยังไปไม่ถึงเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะกระทบกับเสรีภาพสื่ออย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกังวลในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่จะได้รับผลกระทบมากคือสื่อขนาดเล็ก เช่น สื่ออิสระหรือนักข่าวพลเมือง การไหลเวียนของข่าวในระบบนิเวศสื่อจะกลายเป็นก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งที่ถูกควบคุมโดย AI ซึ่งคำถามคือแล้ว AI นั้นเป็นของใคร?

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters และผู้สื่อข่าวรายการข่าวสามมิติ ช่อง 33HD กล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว นักข่าวที่ทำงานในประเด็นความมั่นคง สิทธิมนุษยชนและการเมือง สำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นยุคเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ไม่ต่างกัน เช่น การเสนอข่าวประเด็นชาวอุยกูร์ แม้จะไม่ถูกแทรกแซงโดยตรงอย่างการสั่งปิดสำนักข่าว แต่ก็ถูกคุกคามโดยอ้อมจากสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำโดยฝ่ายใด หรือหากทำข่าวที่กระทบต่อนโยบายของรัฐบาลก็อาจถูก IO ในอีกรูปแบบเข้ามาโจมตี

โดยลักษณะที่พบคือการเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งในเพจสำหรับเสนอข่าว เพจส่วนตัว ไปจนถึงเพจร้านอาหารที่ทำอยู่ จนทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิต หรือนำภาพไปตัดต่อใส่คำพูดในลักษณะบิดเบือน ซีงเรื่องเหล่านี้เจอมาตั้งแต่เสนอข่าวชาวโรฮิงญา จนได้เข้าใจว่ามีกระบวนการทำ IO หรือการคุกคามทางอ้อมเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ (Discredit) โดยหวังให้หยุดการรายงานข่าวนั้น

และก่อนหน้านี้เคยเข้าใจว่าคงทำกันเฉพาะยุครัฐบาลเผด็จการ กระทั่งปัจจุบันแม้เป็นยุครัฐบาลประชาธิปไตยก็ยังเกิดขึ้นและรุนแรงกวาเดิม เพราะไม่ใช่เพียงประเด็นความมั่นคงหรือชาตินิยม แต่ยังถูกนำไปโยงกับเรื่องการเมืองด้วย ส่วนประเด็นแรงกดดันด้านทุนที่ส่งผลต่อเสรีภาพสื่อตามรายงานของ RSF เรื่องนี้ก็เห็นด้วย อย่างตนทำสื่อออนไลน์และเป็นสื่อขนาดเล็ก อีกทั้งยังเน้นทำข่าวหนัก (Hard News) อย่างเรื่องการเมืองหรือสิทธิมนุษยชน ยอมรับว่าหาทุนยากมาก มีแรงกดดันทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน

“สื่ออิสระในยุคประชาธิปไตย แทนที่เราจะคิดว่าโอกาสในการที่จะแข่งขันอย่างเสรีในการหาสปอนเซอร์จากหน่วยงานของรัฐ กลับกลายเป็นว่าไม่ได้เสรีอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นว่าหน่วยงานรัฐที่ถืองบประมาณทางด้านที่อาจให้เงินสปอนเซอร์ให้กับสื่อเข้าไปยื่นประมูลงานกันได้อย่างอิสระ กลับกลายเป็นสื่อหน่วยงานรัฐขึ้นอยู่กับการเมือง เพราะว่าการเมืองเข้าไปดูเรื่องงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน แล้วเขาก็เหมือนเป็นคนถืองบประมาณตรงนี้ ถ้าสื่อไหนรายงานข่าวที่ไม่ได้เป็นผลบวกหรือผลดีกับหน่วยงานนั้น โอกาสที่คุณจะได้งบประมาณหน่วยงานนั้นก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลย” ฐปณีย์ กล่าว

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า รายงานเสรีภาพสื่อโลกของ RSF เป็นกระจกสะท้อนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกรวมถึงประเทศไทย และในกรณีของไทย แม้อันดับจะดีขึ้นแต่เมื่อดูคำอธิบายแล้วแย่ลง ซึ่งตัวชี้วัดที่ใช้ในรายงานก็ใช้กันมานาน สามารถอธิบายเหตุปัจจัยได้ว่าอะไรทำให้เสรีภาพสื่อลดลง

ทั้งนี้ หากเป็นในอดีตก่อนปี 2562 รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อช่วยกระตุ้นรัฐบาลในบางประเทศได้จริง เช่น ทบทวนนโยบายและกฎหมาย แต่ในยุคปัจจุบันแม้อยากคาดหวังเช่นนั้นแต่ยังมองไม่เห็น แต่ก็ยังหวังว่ารัฐบาลไทยจะมองเห็นว่าเสรีภาพสื่อเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพระเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน แต่ก็ยังหวังได้น้อยเพราะรู้สึกว่ารัฐบาลมีเรื่องอื่นที่ให้ความสำคัญมากกว่า ขณะที่เมื่อมองออกไปในบริบทโลก จะเห็นกระแสหันขวาเพิ่มขึ้น มีความชาตินิยม (Nationalism) และอำนาจนิยม (Authoritarian) มากขึ้น

ทำให้เราไม่เหมือนเดิม ไม่เป็นกลาง ไม่รอบด้าน ไม่เป็นผู้ที่รับรู้แต่ไม่ตัดสิน แต่กลายเป็นการทำให้เราอยู่ในโลกที่เราอยากรับรู้และเชื่อในสิ่งนี้ ดังนั้นพอบอกว่าเสรีภาพสื่อดีขึ้นและเราเชื่อว่าดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนเราจะตั้งคำถามว่าดีขึ้นจริงหรือไม่และอะไรคือปัจจัย และไม่อยากได้คำอธิบายด้วยว่าจริงๆ แล้วไม่ดีขึ้นแม้จะเป็นรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งก็ตาม เพราะยังมีเรื่องการใช้กฎหมาย หรือการที่ขั้วการเมืองเข้าไปมีข้อจำกัดในการให้อิสระกับสื่อ การหันขวาทำให้ความเป็นกลาง ความโปร่งใสหรือความเป็นอิสระของสื่อน้อยลง

“ในยุคที่โลกหันขวา เราก็รู้อยู่แล้วว่าโลกหันขวาไปจริงๆ เสรีภาพสื่อหรือดัชนีที่เราให้คุณค่ากับมัน อาจไม่ได้เป็นการให้คุณค่ากับอีกฝ่ายการเมืองหนึ่ง หรือฝ่ายที่มีความคิดเฉดการเมืองอีกเฉดหนึ่ง ซึ่งกลุ่มการเมืองหันขวาแบบนั้นอาจเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นในสังคม ในไทยด้วยแล้วก็ในโลก ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ ก็แอบหวังแต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีหวังได้ขนาดนั้นหรือไม่?” ดร.พิมพ์รภัช กล่าว

รศ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ เช่น อคติจากอัลกอริทึม (Algorithmic Bias) จะทำอย่างไรให้ไม่ตกอยู่กับกระบวนการข่าวสารที่สร้างขึ้นมาหรือหลอกลวง การปกป้องจากข้อมูลบิดเบือนที่ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (Protect Against AI Disinformation) ควรมีกลไกหรือกรอบงานอะไรหรือไม่ที่จะมากั้นหรืออย่างน้อยให้เราสามารถตรวจสอบได้

สิทธิในการตรวจสอบข้อมูล (Right to Verify หรือ Right to Fact – Checking) ซึ่งหากเจอข่าวผิดก็เข้าไปแก้ได้ทันทีหากมีข้อมูลมากกว่า หรือการที่นักข่าวต้องอยู่ในภาวะแวดล้อมที่ทำงานได้ปลอดภัย นอกจากความปลอดภัยทางกายภาพแล้วต่อไปอาจต้องรวมถึงความปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital Safety หรือ Digital Security) ด้วย เช่น การทำ IO หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคล

“มันเป็นมุมเดิมที่เขาพยายามจะบอกว่ายังมีอยู่ เราก็ยังเห็นว่าสื่อสารมวลชนแบบเดิมก็ยังเป็นกลไกในการบอกข่าวแจ้งข่าวให้เราทราบอยู่ แต่ในขณะเดียวกันที่เราสนใจในวันนี้คือเสรีภาพที่คุณพูดถึงน่าจะขยายขอบเขตและพรมแดนไปกว้างขวางมากขึ้น” รศ.ดร.อลงกรณ์ กล่าว

หมายเหตุ : สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/988238506410765/
(มีกำหนด 30 วัน นับจากวันถ่ายทอดสด ตามข้อกำหนดของ Facebook)
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2568

 วันที่ 26 มี.ค 68 นายกฯ กัมพูชาเดินทางมาไทย เพื่อขอเจรจาเปิดทางขึ้นเขาพระวิหารฝั่งไทย…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3ru32dubzy0ff


เตรียมทดสอบระบบ Cell Broadcast การเตือนภัย วันที่ 2,7,13 พ.ค. 68

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/xw86281p0rbf


 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1q6ioj3mo007e


ใช้ปากกาเมจิกเขียนลงบนพลาสติกบรรจุอาหาร  อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2xz8zyp4fqrhp


เริ่ม 1 พ.ค.นี้ นทท.ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ต้องลงทะเบียนบัตรตม.6 แบบดิจิทัล

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2ytp3g07n0j4y


 มอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี เปิดวิ่งฟรีตลอดสาย เริ่ม 3 พฤษภาคมนี้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2j80bocyexc5t


ห้ามครูทำคอนเทนต์เด็ก ฝ่าฝืนถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1v9mccgiajtf9


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 26 เมษายน 2568

ภูเก็ตอาจจมน้ำ เพราะแผ่นดินไหวใหญ่ จะมีคนเสียชีวิต 4-6 หมื่นคน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2y8mfhu9es4kj


ภาคเหนือในไทย คือพื้นที่ปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหว ไม่ใช่ภาคอีสาน…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2x5se73xaaq7g


 เงินดิจิทัล 10,000 บาท จ่ายครบทุกกลุ่มภายในเดือน ก.ย. 68…จริงหรือ?

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1abzc8zv2wv5k


เตรียมรับมือ พายุฤดูร้อน 26-28 เม.ย. 68

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/30o6yrho0qqp2


รถไฟฟ้า 20 บาท เริ่ม 30 ก.ย. 68 ลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทางรัฐ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2z4sj11f5on5x


วันที่ 11 เม.ย. ถึง 10 พ.ค. 68 เขตประเวศ ประกาศเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าระบาดชั่วคราวในพื้นที่เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/uco40gszckt0#_=_


กฎใหม่กทม. เลี้ยงสัตว์ หมาแมวกี่ตัว ต้องดูขนาดพื้นที่บ้าน คอนโด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3g0m8m5vkvmu3#_=_


ความขัดแย้ง‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ : เมื่อการเสพข่าวด้วยอารมณ์อาจทำให้ละเลยข้อเท็จจริง : Special Report 58/68

By Zhang Taehun

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นในวันที่ 19 เม.ย. 2568 ดังนั้นข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ผู้อ่านควรรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเพื่อติดตามความคืบหน้าเพิ่มเติมของสถานการณ์

หากนับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลและกลายเป็นการสู้รบระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายในดินแดนฉนวนกาซา ก็เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว และแม้จะมีการหยุดยิงพร้อมกับแลกเปลี่ยนระหว่างตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับไปกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเรือนจำของอิสราเอล แต่ก็เป็นเวลาช่วงสั้นๆ เพียง 6 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลับเข้าสู่การสู้รบกันอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน แต่นอกจากข่าวการต่อสู้กันด้วยอาวุธแล้ว ข่าวลวงหรือข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็ถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ ซึ่งในบทความนี้ได้ยกตัวอย่างมาจากทางสำนักข่าวหรือเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Check) ในต่างประเทศที่ได้ตรวจสอบในรอบปีที่ผ่านมา

1.นักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกทหารอิสราเอลจับโยนลงถังน้ำกรด : เรื่องนี้มีที่มาจากเว็บไซต์ altnews.in โดย Alt News เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งก่อตั้งขึ้นในอินเดียเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนโลกออนไลน์ (ลักษณะเดียวกับ cofact.org ของประเทศไทย) รายงานหัวข้อ Bangkok amusement park stunt viral as Israelis throwing Palestinian prisoners in acid tank ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2568 มีผู้ก่อตั้งโรงเรียนในบังกลาเทศ โพสต์คลิปวีดีโอในเฟซบุ๊ก อ้างว่านักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกหย่อนลงในถังน้ำกรด

ภาพที่ 1 : Alt News เปรียบเทียบรายละเอียดของคลิปวีดีโอที่อ้างว่าเป็นคลิปทหารอิสราเอลจับนักโทษชาวปาเลสไตน์โยนลงถังน้ำกรด กับคลิปการแสดงผาดโผนที่จัดโดยสวนสนุกในประเทศไทย

คลิปทำนองเดียวกันยังถูกแชร์โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวปากีสถาน รวมถึงมีผู้นำไปแชร์ต่อในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น X , TikTok อ้างว่านักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกทหารอิสราเอลจับโยนลงถังสารเคมีอันตรายบ้าง ถังน้ำร้อนเดือดๆ บ้าง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า เนื้อหาคลิปวีดีโอเป็นการแสดงฉากแอ็คชั่นผาดโผน ในโชว์ที่จัดขึ้นในสวนสนุก Dream World ในประเทศไทย โดยมีผู้โพสต์คลิปวีดีโอเต็มของโชว์นี้ไว้ในแพลตฟอร์ม YouTube เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 เป็นชื่อคลิป “Hollywood Action Stunt Show @ Dream World” ซึ่งช็อตที่ถูกตัดทอนไปทำคลิปสั้นแล้วถูกเข้าใจว่าเป็นการทารุณกรรมนักโทษชาวปาเลสไตน์โดยทหารอิสราเอล จะอยู่ในนาทีที่ 3.25 – 3.50 

โดยจะเห็นรายละเอียดเหมือนกันแบบเป๊ะๆ ทั้งสีชุดของนักโทษ ถังใบใหญ่ๆ ที่มีควันพวยพุ่งพร้อมสัญลักษณ์กะโหลกไขว้ที่สื่อว่าเป็นวัตถุอันตราย และอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยรอบ นอกจากนั้น บางคลิปที่ถูกแชร์กันยังมีเสียงผู้ชมโชว์ดังกล่าวพูดคุยกันเป็นภาษาไทยอีกต่างหาก อนึ่ง หากใช้คำว่า “Hollywood Action Stunt Show dream world” ไปค้นหาใน YouTube จะมีผู้โพสต์คลิปวีดีโอโชว์ดังกล่าวเป็นจำนวนมากพร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และบางคลิปมีอายุมากกว่า 10 ปี ซึ่งลำดับการโชว์และฉากโดยรอบเหมือนกันทุกประการ อาจต่างกันบ้างในชุดที่นักแสดงซึ่งแสดงเป็นนักโทษสวมใส่เท่านั้น

ภาพที่ 2 :สำนักข่าว AFP ชี้ว่าภาพที่ถูกแชร์ อ้างตำรวจอิสราเอลรัดคอเด็กชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสวีเดน หลายปีก่อนหน้าการสู้รบครั้งล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า ภาพที่ถูกแชร์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการสู้รบระลอกล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ต.ค. 2566 นานหลายปี โดยในแพลตฟอร์ม YouTube มีคลิปวีดีโอชื่อ “Vakt dunkade nioårings huvud i marken” ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 โดย Sydsvenskan ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในสวีเดน และทีมงานของ AFP ที่รู้ภาษาสวีเดน จับใจความเสียงที่พูดในคลิปได้ว่า “นั่นเด็ก” และ “เขาอายุเท่าไหร่”

นอกจากนั้น บุคคลในคลิปที่ถูกอ้างว่าเป็นตำรวจ จะเห็นเจ้าหน้าที่สวมเสื้อกั๊กเรืองแสงที่มีคำว่า “Ordnings Vakt” ซึ่งเป็นภาษาสวีเดน แปลว่า ตัวแทนบริการสาธารณะ ในภาษาสวีเดนอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง เครื่องแบบนี้มักสวมใส่โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ให้ความช่วยเหลือตำรวจสวีเดน อีกทั้งยังสอบถามไปยัง Jens Mikkelsen หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ส่งข่าวนี้ให้กับ Sydsvenskan ได้รับการยืนยันว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองมัลโมของสวีเดน ไม่ใช่เมืองเยรูซาเล็มในอิสราเอล อีกทั้งเด็กชายในคลิปยังมีพื้นเพเป็นชาวโมร็อกโก ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่สวีเดนด้วย ไม่ใช่ชาวปาเลสไตน์แต่อย่างใด

3.ชาวเนเธอร์แลนด์แสดงท่าทีสะใจกับเหตุทำร้ายร่างกายแฟนบอลชาวอิสราเอล ในวันที่ 7 พ.ย. 2567 เกิดเหตุชาวอิสราเอลซึ่งเดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกกลุ่มผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์รุมทำร้าย ซึ่งรายงานจากทางตำรวจอัมสเตอร์ดัม ระบุว่า เป็นเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างแฟนบอลทั้ง 2 กลุ่ม อีกทั้งแฟนบอลชาวอิสราเอลยังเป็นฝ่ายยั่วยุก่อนด้วยจนนำมาสู่เหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวใดๆ และไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้กับการต่อต้านชาวยิว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ก็เรียกร้องให้ทางการเนเธอร์แลนด์ปกป้องชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ที่เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาเนื่องจากมีการแชร์คลิปวีดีโอบนเฟซบู๊กและ X เป็นภาพของชาวเนเธอร์แลนด์กำลังแสดงความยินดีโดยผู้โพสต์ได้เขียนบรรยายว่า “The Dutch celebrate after teaching the Israelis a lesson they will never forget. (ชาวดัตช์ฉลองบทเรียนที่ให้กับชาวอิสราเอลที่พวกเขาไม่มีวันลืม)” บ้าง หรือ “Left Wing Antisemitic Dutch go out and celebrate while chanting ‘Free Palestine’ the morning after the pogrom against the Jews in Amsterdam.(กลุ่มต่อต้านชาวยิวฝ่ายซ้ายชาวดัตช์ออกไปเฉลิมฉลองพร้อมกับตะโกนว่า ปลดปล่อยปาเลสไตน์‘ ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากเหตุการณ์ทำร้ายชาวยิวในอัมสเตอร์ดัม)” บ้าง เป็นต้น

ภาพที่ 3 : ภาพจากคลิปวีดีโอซึ่งอ้างว่าชาวเนเธอร์แลนด์สะใจที่ชาวอิสราเอลถูกทำร้าย แต่จริงๆ แล้วเป็นเหตุการณ์ในงานรณรงค์เสรีภาพสื่อ

ในวันที่ 15 พ.ย. 2567 สำนักข่าวรอยเตอร์ เผยแพร่รายงาน Fact Check: Video shows applause for Palestinian photojournalist, not celebration of attacks on Israeli soccer fans ระบุว่า ภาพที่อ้างว่าเป็นชาวเนเธอร์แลนด์กำลังสะใจที่เห็นชาวอิสราเอลถูกทำร้าย จริงๆ มาจากคลิปวีดีโอที่ถูกโพสต์ในอินสตาแกรมไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2567 หรือเกือบ 6 เดือนก่อนเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอลชาวอิสราเอลกับกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ตามที่ปรากฎเป็นข่าว 

โดยผู้โพสต์คลิปคือ Motaz Azaiza ช่างภาพชาวปาเลสไตน์ บรรยายว่า ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงาน @worldpressphoto ในวันนี้ ขอบคุณที่เป็นพลังที่ผมใช้เพื่อให้ผมก้าวต่อไปได้ ซึ่งทางรอยเตอร์ได้ติดต่อสอบถามไป และได้รับคำชี้แจงจากเจ้าตัวว่าตนเป็นผู้ถ่ายคลิปดังกล่าว โดยผู้คนได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงน้ำใจต่อปาเลสไตน์ ขณะที่โฆษกของ De Nieuwe Kerk ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ชี้แจงว่า Azaiza เป็นวิทยากรและเป็นสมาชิกคณะกรรมการในงาน World Press Photo วิดีโอนี้ถ่ายทำหลังจากจบการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อและประสบการณ์ส่วนตัวของเขาในฉนวนกาซา และผู้ฟังปรบมือให้เขาหลังจากนั้น

เช่นเดียวกับโฆษกของงาน World Press Photoระบุว่า งานซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. 2567 ที่ De Nieuwe Kerk เป็นการจัดงานในประเด็นเสรีภาพสื่อ ไม่ใช่การชุมนุมประท้วง เพียงแต่ผู้เข้าร่วมงานบางส่วนนำธงปาเลสไตน์มาชูด้วยและมีการตะโกน ซึ่งในฐานะองค์กรเสรีภาพในการแสดงออก จึงไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเนื่องจากไม่มีการรบกวนกิจกรรมดังกล่าว

ภาพที่ 4 : เฟซบุ๊กโพสต์คลิปวีดีโอของสำนักข่าวจากตุรกี แต่บรรยายเป็นภาษามาเลเซีย อ้างว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินให้อิสราเอลเป็นรัฐผิดกฎหมาย

4.ศาลโลกบอกว่าอิสราเอลเป็นรัฐผิดกฎหมายรายงาน UN top court ruled ‘illegal’ Israel’s occupation of Palestinian territory, not Israeli stateโดยสำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศส วันที่ 9 ต.ค. 2567 อ้างถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กที่นำคลิปวีดีโอของสำนักข่าว TRT World ของตุรกีมาโพสต์ แล้วบรรยายเป็นภาษามาเลเซีย ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ICJ) ประกาศให้อิสราเอลเป็นรัฐที่ผิดกฎหมายศาลยังตัดสินว่าอิสราเอลไม่สามารถเป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยได้ ในที่สุด ความยุติธรรมก็ได้รับชัยชนะ โดยคลิปดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 

แต่เมื่อตรวจสอบคำแนะนำที่ทาง ICJ แถลงเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 ตามคำร้องขอของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีความยาว 83 หน้า พบว่า การที่อิสราเอลยังคงยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ต่อไปนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ (Against International Law) พร้อมบรรยายปฏิบัติการทางทหารและมาตรการต่างๆ ที่อิสราเอลดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2510 แต่ไม่มีส่วนใดเลยที่บอกว่าอิสราเอลเป็นรัฐผิดกฎหมาย (Illegal State)

นอกจากนั้น คลิปวีดีโอที่โพสต์ดังกล่าวนำมาอ้างถึง ยังเป็นคลิปข่าวของ TRT World เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 เป็นเหตุการณ์ที่ Riyad Al-Maliki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ ภายหลัง ICJ เผยแพร่คำแนะนำดังกล่าว โดยรมว.ต่างประเทศปาเลสไตน์ กล่าวว่า  ความเห็นของ ICJ คือจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับปาเลสไตน์ สำหรับความยุติธรรม และสำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยหากเข้าไปดูในแพลตฟอร์ม YouTube คลิปต้นทางซึ่งถูกโพสต์โดยช่อง TRT World วันที่ 19 ก.ค. 2567 มีชื่อคลิปว่า Palestinian Foreign Minister Riyad al Maliki briefs media after ICJ ruling on Israel’s occupation และมีคำบรรยายว่า Riyad Al-Maliki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศรับรองความมุ่งมั่นและความพากเพียรของชาวปาเลสไตน์ โดยสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลที่ระบุว่าการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอลเป็นการทำผิดกฎหมาย (ไม่ได้บอกว่าอิสราเอลเป็นรัฐผิดกฎหมาย)

จากทั้ง 4 เรื่องที่รวบรวมมาข้างต้น มีข้อสังเกตว่าผู้โพสต์น่าจะอยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายและปฏิบัติการต่างๆ ของอิสราเอลที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ รวมถึงเมื่อดูจากชื่อของบัญชีผู้โพสต์หรือภาษาที่ใช้ในการโพสต์ก็อาจมีภูมิหลังบางอย่างร่วมกันหรือใกล้เคียงกับชาวปาเลสไตน์ เช่นเดียวกับผู้แชร์ต่อก็อาจมีมุมมองในลักษณะเดียวกัน จึงเป็นข้อเตือนใจได้ว่า เมื่อเรามีอคติต่อเรื่องใดแล้ว เราก็มักเชื่อและส่งต่อเรื่องนั้นในมุมมองที่อคติทันทีโดยละเลยที่จะสงสัยและตรวจสอบข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเสมอในการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ในยุคที่ใครๆ ก็ทำสื่อได้แบบปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เชื้อชาติ และ ศาสนา เป็นเรื่องที่อ่อนไหวยิ่งต้องงระมัดระวังในการสื่อสารหรือการแชร์ เพราะการส่งผ่านความรุนแรงและความเกลียดชังจากข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ยิ่งเป็นการตอลิ่มความขัดแย้งที่ฝังลึกมายาวนานให้ยากแก่การคลี่คลายลงได้

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

แต่งหน้าบ่อยทำให้หน้าแก่ขึ้นจริงหรือ?

     การแต่งหน้าเป็นสิ่งที่เพิ่มความมั่นใจ เคยสังเกตใบหน้าของตัวเองหลังล้างเครื่องสำอางออกไปแล้วไหม ว่าผิวของเรานั้นเริ่มเหี่ยวย่นลงหรือไม่ หากผิวหน้าเริ่มมีสภาพดังกล่าวไม่ควรนิ่งนอนใจเด็ดขาด 

แต่หากว่าผิวหน้าของเราถูกเติมแต่งด้วยเครื่องสำอางอย่างหนักหน่วงในทุก ๆ วัน อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมา เช่น ก่อให้เกิดผิวอุดตัน ความหมองคล้ำ และยังเป็นตัวเร่งผิวหย่อนคล้อย ผิวเหี่ยวกว่าวัยอีกด้วย 

     ดังนั้นเครื่องสำอางเป็นตัวดีที่ทำให้หน้าของเราโทรมได้ง่ายเพราะมีสารปนเปื้อนหลายๆอย่าง และเครื่องสำอางมีให้เลือกหลายเกรด หลายราคา และหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อนั้นก็มีสรรพคุณชวนเชื่อที่แตกต่างกันออกไป หากเราเลือกใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย แน่นอนว่าผิวของเราได้รับผลกระทบไปแบบเต็ม ๆ จากสารที่มาจากสินค้าเหล่านั้น ก่อให้เกิดเป็นริ้วรอย ฝ้า กระ จุดด่างดำ ผิวเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ใบหน้าหมองคล้ำ เกิดการระคายเคือง

วิธีการแก้ไข : ควรศึกษาที่มาของสินค้าที่เราจะซื้อว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน มีส่วนผสมอะไรในผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นบ้าง สามารถใช้กับสภาพผิวของเราได้หรือไม่ รวมไปถึงวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากเลยละค่ะ เพราะบางคนเห็นแก่ของลดล้างสต๊อก ต้องเช็กให้ดี ๆ

    ดังนั้นการแต่งหน้าเป็นประจำจนไม่ให้ผิวของเราได้พักและล้างหน้าผิดวิธีหรือไม่สะอาด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาหรือทำให้ผิวหน้าแก่กว่าวัยขึ้นได้

(ข้อมูลจาก  : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. ) / กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสารธารณะสุข )

Banner :

ลิ้งค์กระทู้ Cofact  : https://cofact.org/article/daeuzmg6cpj3