‘เคี้ยวหมากฝรั่ง8นาที.เท่ากับกลืนไมโครพลาสติกหลายพันชิ้น’มีงานวิจัยจริงไหม? และได้บอกอะไรกับเรา?

By : Zhang Taehun
“รู้แล้วจะช็อก! แค่เคี้ยวหมากฝรั่ง 8 นาที ก็กลืนไมโครพลาสติกหลายพันชิ้น เตือนอีก 4 สิ่งก็น่ากลัว”
ข้างต้นนี้คือข้อความที่ถูกแชร์กันในโลกออนไลน์และถูกส่งเข้ามาสอบถามในระบบของ Cofact ซึ่งเมื่อลองนำไปสืบค้นก็พบว่ามีสำนักข่าวรวมถึงเว็บไซต์หลายแห่ง อ้างถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค. 2568 โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA)
– งานวิจัยนั้นว่าอย่างไร? : ในวันที่ 25 มี.ค. 2568 เว็บไซต์ acs.org ของสมาคมเคมีอเมริกัน (American Chemical Society : ACS) สมาคมเก่าแก่ด้านวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ Chewing gum can shed microplastics into saliva, pilot study finds อ้างถึงผลการศึกษาของ สันชัย โมฮันตี (Sanjay Mohanty) หัวหน้านักวิจัยของโครงการและศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของ UCLA และ ลิซ่า โลเว่ (Lisa Lowe) นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ที่ร่วมกันค้นคว้าว่า จำนวนไมโครพลาสติกที่มนุษย์อาจได้รับจากการเคี้ยวหมากฝรั่งธรรมชาติและหมากฝรั่งสังเคราะห์นั้นมาก – น้อยเพียงใด
โลเว่ กล่าวว่า สมมติฐานเบื้องต้นของตนคือหมากฝรั่งสังเคราะห์จะมีไมโครพลาสติกมากกว่ามากเนื่องจากฐานเป็นพลาสติกประเภทหนึ่ง โดยหมากฝรั่งธรรมชาติจะใช้พอลิเมอร์จากพืช เช่น ยางไม้ หรือยางไม้ชนิดอื่นๆ เพื่อให้ได้ความเหนียวที่เหมาะสม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ใช้ส่วนผสมหลักที่ทำจากยางสังเคราะห์จากพอลิเมอร์ที่ผลิตจากปิโตรเลียม ดังนั้นวิธีการวิจัยจึงใช้หมากฝรั่งสังเคราะห์ 5 ยี่ห้อ และหมากฝรั่งธรรมชาติ 5 ยี่ห้อ ซึ่งทั้งหมดมีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด
ขณะที่ โมฮันตี อธิบายเพิ่มเติมว่า เพื่อลดปัจจัยมนุษย์จากรูปแบบการเคี้ยวและน้ำลายที่หลากหลาย จึงให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง 1 คนเคี้ยวหมากฝรั่งแต่ละยี่ห้อ ยี่ห้อละ 7 ชิ้น ผู้เข้าร่วมการทดลองเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นเวลา 4 นาที โดยเก็บตัวอย่างน้ำลายทุกๆ 30 วินาที จากนั้นบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันเป็นตัวอย่างเดียว
และยังมีการทดลองอีกแบบหนึ่ง มีการเก็บตัวอย่างน้ำลายเป็นระยะๆ เป็นเวลา 20 นาที เพื่อดูอัตราการปล่อยไมโครพลาสติกจากหมากฝรั่งแต่ละชิ้น จากนั้นนักวิจัยได้วัดจำนวนไมโครพลาสติกในน้ำลายแต่ละตัวอย่าง อนุภาคพลาสติกจะถูกย้อมเป็นสีแดงและนับจำนวนด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Fourier-transform infrared spectroscopy ที่ตรวจหาสารเคมีจากการที่มันดูดซึมหรือคายรังสีอินฟราเรด ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของพอลิเมอร์ด้วย
โลเว่วัดปริมาณไมโครพลาสติกที่ปล่อยออกมาโดยเฉลี่ย 100 ชิ้นต่อหมากฝรั่ง 1 กรัม แม้ว่าหมากฝรั่งบางชิ้นจะปล่อยไมโครพลาสติกออกมามากถึง 600 ชิ้นต่อกรัม หมากฝรั่งโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักระหว่าง 2 ถึง 6 กรัม ซึ่งหมายความว่าหมากฝรั่งชิ้นใหญ่สามารถปล่อยอนุภาคพลาสติกออกมาได้มากถึง 3,000 ชิ้น ดังนั้นผู้วิจัยจึงประเมินว่า หากคนทั่วไปเคี้ยวหมากฝรั่งแท่งเล็ก 160 – 180 ชิ้นต่อปี อาจส่งผลให้มีไมโครพลาสติกที่กินเข้าไปประมาณ 30,000 ชิ้น หากคนทั่วไปบริโภคไมโครพลาสติกหลายหมื่นชิ้นต่อปี การเคี้ยวหมากฝรั่งอาจเพิ่มปริมาณไมโครพลาสติกที่กินเข้าไปได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตจากการทดลองนี้ว่า “น่าแปลกที่หมากฝรั่งทั้งแบบสังเคราะห์และแบบธรรมชาติมีไมโครพลาสติกที่ปล่อยออกมาในปริมาณที่ใกล้เคียงกันเมื่อเคี้ยว” และหมากฝรั่งทั้งสองชนิดนี้ยังมีพอลิเมอร์ชนิดเดียวกัน ได้แก่ โพลีโอเลฟิน โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลีอะคริลาไมด์ และโพลีสไตรีน พอลิเมอร์ที่พบมากที่สุดในหมากฝรั่งทั้งสองประเภทคือโพลีโอเลฟิน ซึ่งเป็นกลุ่มพลาสติกที่ประกอบด้วยโพลีเอทิลีนและโพลีโพรพิลีน
ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่หลุดออกจากหมากฝรั่งภายใน 2 นาทีแรกหลังการเคี้ยว แต่โมฮันตีกล่าวว่า“ไมโครพลาสติกไม่ได้หลุดออกมาเพราะเอนไซม์ในน้ำลายย่อยสลาย แต่การเคี้ยวนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนมากพอที่จะทำให้ชิ้นส่วนหลุดลอกออกไป และหลังจากเคี้ยวไป 8 นาที อนุภาคพลาสติกที่เก็บรวบรวมได้ระหว่างการทดสอบถึงร้อยละ 94 ถูกปล่อยออกมา” ดังนั้น โลเว่จึงแนะนำว่า หากต้องการลดความเสี่ยงในการสัมผัสไมโครพลาสติกจากหมากฝรั่ง ก็ให้เคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นเดิมนั้นให้นานขึ้นหนึ่งชิ้นแทนการรีบหยิบหมากฝรั่งชิ้นใหม่มาเคี้ยว (they chew one piece longer instead of popping in a new one.)
ถึงกระนั้น โมฮันตี ก็ย้ำว่า เป้าหมายของ “การวิจัยนี้ไม่ใช่การทำให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อเราหรือไม่” ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ แต่รับรู้ว่าเราสัมผัสกับพลาสติกในชีวิตประจำวัน และนั่นคือสิ่งที่ต้องการตรวจสอบ โดยการศึกษาในสัตว์ทดลองและการศึกษาในเซลล์มนุษย์แสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกอาจก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้น ในขณะที่เรารอคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากชุมชนวิทยาศาสตร์ บุคคลทั่วไปสามารถดำเนินการเพื่อลดการสัมผัสไมโครพลาสติกได้
นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า การศึกษานี้จำกัดอยู่แค่การระบุไมโครพลาสติกที่มีความกว้าง 20 ไมโครเมตรหรือใหญ่กว่า เนื่องจากเครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ ซึ่งโมฮันตี กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าไม่พบอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่าในน้ำลาย และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการปล่อยพลาสติกขนาดนาโนจากหมากฝรั่ง
“พลาสติกที่หลุดออกมาในน้ำลายเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของพลาสติกที่อยู่ในหมากฝรั่ง ดังนั้น โปรดใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอย่าทิ้งมันออกไปข้างนอกหรือติดไว้บนผนังหมากฝรั่ง หากไม่ทิ้งหมากฝรั่งที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง หมากฝรั่งที่ใช้แล้วก็จะเป็นอีกหนึ่งแหล่งมลพิษพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน” โมฮันตี ให้บทสรุปของการวิจัยครั้งนี้
ข้อมูลจาก acs.org ยังระบุด้วยว่า งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก UCLA และโครงการ Maximizing Access to Research Careers ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) และสภาคุ้มครองแคลิฟอร์เนีย (California Protection Council) และวิธีการทดลองของงานวิจัยนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบภายในของ UCLA
ประมาณเกือบ 1 เดือนให้หลัง เว็บไซต์ newsroom.ucla.edu ช่องทางประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เผยแพร่ข่าว Bursting your bubble: Chewing gum releases microplastics into your saliva, UCLA research shows ในวันที่ 22 เม.ย. 2568 กล่าวถึงงานวิจัยข้างต้นของสันชัย โมฮันตี และ ลิซ่า โลเว่ ด้วยเช่นกัน
– ไมโครพลาสติกคืออะไร? : ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่า ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน
1. Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic pellet) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic scrub) ซึ่งมักเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล
2. Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือไมโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้สามารถเกิดได้ทั้งกระบวนการย่อยสลายที่เกิดจากแรงกระทำ(Mechanical degradation)
กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation) และกระบวนการย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ ((UV degradation) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล
– ข้อกังวลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ : ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่า ปัจจุบันไมโครพลาสติกกลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บและการกำจัด รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลพบได้ทั้งในน้ำ และตะกอนดิน
หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเอาไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (Food chain) และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ อีกทั้ง ยังมีรายงานเกี่ยวกับสารที่เป็นองค์ประกอบและพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติกมักเป็นสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม “ยังไม่มีรายงานไมโครพลาสติกก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนักวิจัยทั่วโลกกำลังศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการสะสมของสารพิษ และการถ่ายทอดของสารปนเปื้อนในไมโครพลาสติกสู่มนุษย์ รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องในอนาคต” และจากผลกระทบข้างต้น วิธีการหนึ่งที่ทุกคนสามารถช่วยลดปริมาณไมโครพลาสติกไม่ให้แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ คือ การสร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้น้อยลง
ในวันที่ 23 ก.พ. 2568 พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไมโครพลาสติก(MPs) เป็นผลมาจากการใช้พลาสติก จากผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก หรือมีส่วนประกอบของพลาสติก ซึ่งได้แฝงตัวอยู่รอบตัว และพบได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว นั้น จากรายงานวิจัยของไทย พบว่า “น้ำนมแม่จะตรวจพบไมโครพลาสติกจากห้องทดลอง แต่ยังน้อยกว่าการดื่มนมจากขวด ที่ผ่านความร้อนสูงจากการทำความสะอาดขวดนมและวิธีการเตรียมนม” ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ทำให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนม มีความกังวลว่าไมโครพลาสติกอาจส่งผลต่อการพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกันและระบบต่อมไร้ท่อของทารก “แต่ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวและปริมาณที่ได้รับและก่อให้เกิดอันตรายเมื่อเข้าสู่ร่างกาย”
ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการรับประทาน การสัมผัสเพราะมันสามารถปนอยู่ในอาหาร น้ำดื่ม เครื่องสำอาง การใช้พลาสติกที่ทำให้เกิดไมโครพลาสติก จะละลายอยู่ในน้ำหรืออาจจะปนอยู่กับบรรจุภัณฑ์สำหรับเลี้ยงลูกที่ไม่ผ่านมาตรฐาน หรือมีคุณภาพดีพอ รวมถึงมลพิษทางอากาศจากการสูดดมเข้าไป หรือปนผ่านเครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ
นอกจากนี้ แม่ที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม่ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ปศุสัตว์หนาแน่น ซึ่งอาจจะมีไมโครพลาสติกปะปนได้สูง หากไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายแม่แล้ว อาจมีโอกาสที่จะเข้าสู่กระแสเลือด หรือเนื้อเยื่อต่างๆ “แต่ในปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลชัดเจนว่าไมโครพลาสติกพบในนมแม่ได้อย่างไร หรืออาจเกิดจากการที่ไมโครพลาสติกปนอยู่ในภาชนะเก็บน้ำนมที่ให้เด็กกิน จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป” ทั้งนี้ “ไมโครพลาสติกสามารถขับออกจากร่างกายได้ผ่านปัสสาวะ และเหงื่อได้”
เว็บไซต์ newsroom.heart.org ของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Living near an ocean polluted by microplastics may increase cardiometabolic disease risk อ้างผลการศึกษาของ ซาร์จู กานาตรา (Sarju Ganatra) ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ด้านความยั่งยืน รองประธานฝ่ายวิจัยภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ลาเฮย์ ในเมืองเบอร์ลิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ และประธานบริษัท Sustain Health Solutions ที่พบว่า การอาศัยอยู่ในเขตชายฝั่งของสหรัฐฯ ที่ติดกับน่านน้ำทะเลซึ่งมีปริมาณไมโครพลาสติกเข้มข้นสูงมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับระบบการเผาพลาญพลังงานของร่างกาย(Cardiometabolic Diseases) เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มีข้อจำกัดหลายประการ ประการแรก ความสัมพันธ์กับไมโครพลาสติกเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลระดับเขตมากกว่าข้อมูลรายบุคคล การศึกษาประเภทนี้ไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลกระทบระหว่างระดับไมโครพลาสติกในมหาสมุทรใกล้เคียง (วัดเฉพาะในน้ำเท่านั้น ไม่ได้วัดในปลาหรือพืช) กับการเกิดโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับระบบการเผาพลาญพลังงานของร่างกายซึ่ง กานาตรา กล่าวว่า คณะผู้วิจัยไม่ได้วัดระดับพลาสติกในประชากรในเขตเหล่านี้ และเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าอนุภาคเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้อย่างไร ดังนั้นแม้ผลการวิจัยจะน่าสนใจ แต่ก็ควรเป็นข้อเรียกร้องให้มีการวิจัยเชิงลึกมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อสรุปผลที่ชัดเจน
บทสรุปของเรื่องนี้ : ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ข้อมูลเรื่องเคี้ยวหมากฝรั่ง 8 นาที จะได้รับไมโครพลาสติกหลายพันชิ้น มาจากงานวิจัยที่มีอยู่จริง ซึ่งผู้วิจัยคาดหวังให้สังคมเกิดความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง กับ 2.ผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพยังไม่มีหลักฐานความเกี่ยวโยงที่ชัดเจนและเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเชิงลึกกันต่อไป!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://cofact.org/article/2h2ysds5qmdgt
https://www.sanook.com/news/9813294/ เตือนช็อก 5 แหล่งซ่อนเร้น “ไมโครพลาสติก” แค่เคี้ยวหมากฝรั่งก็ “กลืน” ไปหลายพันชิ้น! (Sanook.com 9 ก.ค. 2568)
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1187640 (คิดให้ดีก่อนเคี้ยว หมากฝรั่งดีหรือร้ายต่อสุขภาพของเรา? : กรุงเทพธุรกิจ 2 ก.ค. 2568)
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1172787 (‘หมากฝรั่ง’ มี ‘ไมโครพลาสติก’ เคี้ยวแต่ละที กลืนพลาสติกนับพัน : กรุงเทพธุรกิจ 26 มี.ค. 2568)
https://www.acs.org/pressroom/presspacs/2025/march/chewing-gum-can-shed-microplastics-into-saliva-pilot-study-finds.html (Chewing gum can shed microplastics into saliva, pilot study finds : ACS 25 มี.ค. 2568)
https://newsroom.ucla.edu/releases/bursting-your-bubble-chewing-gum-releases-microplastics-into-your-saliva-ucla-research-shows (Bursting your bubble: Chewing gum releases microplastics into your saliva, UCLA research shows : UCLA Newsroom 22 เม.ย. 2568))
http://otop.dss.go.th/index.php/knowledge/interesting-articles/273- (ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร : ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินคเา OTOP กรมวิทยาศาสตร์บริการ)
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/250268/ (กรมอนามัย แจง ไมโครพลาสติกสามารถพบได้ ร่างกายขับออกได้เอง ชี้ พบในนมแม่น้อยมาก : กรมอนามัย 25 ก.พ. 2568)
https://newsroom.heart.org/news/living-near-an-ocean-polluted-by-microplastics-may-increase-cardiometabolic-disease-risk (Living near an ocean polluted by microplastics may increase cardiometabolic disease risk : haert.org 18 มิ.ย. 2568)
ภาพประกอบบทความ https://www.acs.org/pressroom/presspacs/2025/march/chewing-gum-can-shed-microplastics-into-saliva-pilot-study-finds.html