การค้นพบที่สำคัญจากรายงานการวิจัยข่าวดิจิทัลประจำปี 2566 ของ Reuters Institute :Cofact Report 48/67

บทความ

โดย Nic Newman

14 มิถุนายน 2566

บทความแปลสรุปความโดยทีมโคแฟค อ้างอิงต้นฉบับจาก บทความของ Nic Newman https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2023

รายงานการวิจัยข่าวดิจิทัลโดย Reuters Institute ประจำปี 2566 นำเสนอข้อมูลเชิงลึกด้านการบริโภคข่าวสารทางดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ สงคราม และความแปรปรวนของสภาพอากาศ รายงานฉบับนี้นำเสนอพลวัตรอันซับซ้อนของความเชื่อถือ การมีส่วนร่วม และการบริโภคสื่อในประเทศต่างๆ พร้อมการวิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของงานด้านข่าวสารอย่างครอบคลุม

การค้นพบที่สำคัญ

1. ความเปลี่ยนแปลงในการบริโภคสื่อ

•  ในปีนี้การอ่านข่าวจากเว็บไซต์หรือแอปของสำนักข่าวโดยตรงลดลง 10 จุดเปอร์เซ็นต์นับจากปี 2561 (ที่ 32%) โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 22% ยังชอบอ่านข่าวด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ ในขณะที่ 30% เปลี่ยนมาใช้การอ่านข่าวจากสื่อโซเชียลแทน

•  คนรุ่นใหม่ใช้งานเว็บไซต์หรือแอปของสำนักข่าวน้อยกว่าคนรุ่นอื่นมาก โดยมักจะบริโภคข่าวทางอ้อมผ่านสื่อโซเชียล เครื่องมือค้นหา (Google) และช่องทางสรุปข่าวในมือถือ

2. ผลกระทบจากสื่อโซเชียล

• การใช้งานสื่อโซเชียลดั้งเดิมเช่น Facebook มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่มีการใช้งานสื่อโซเชียลแบบวิดีโอ เช่น TikTok หรือ YouTube Shorts เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ 

• ในแง่ของการรับข่าวสาร ผู้ใช้ TikTok, Instagram และ Snapchat มีแนวโน้มที่จะสนใจอินฟลูเอนเซอร์และผู้มีชื่อเสียงมากกว่านักข่าว ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ใช้ Facebook และ Twitter (X)

3. ความเชื่อมั่นของผู้รับข่าวสารต่อข่าวที่นำเสนอ

• ผู้รับข่าวสารมีความคลางแคลงใจต่ออัลกอริธึมที่แพลตฟอร์มต่างๆ ใช้ในการแสดงข่าวสารให้ตนเอง โดยมีคนน้อยกว่า 30% ที่ยังพอใจกับการเลือกแสดงข่าวสารโดยอัลกอริธึมจากประวัติการใช้งานที่ผ่านมาของตน (ลดลงจาก 36% ในปี 2561)

• ถึงแม้ว่าจะมีความไม่พอใจกับการเลือกแสดงข่าวสารของอัลกอริธึมอยู่บ้าง แต่ยังมีความพึงพอใจสูงกว่าการนำเสนอข่าวสารโดยบรรณาธิการหรือโดยนักข่าวอยู่ดี สะท้อนถึงความไม่พึงพอใจต่อวิธีการเลือกนำเสนอเนื้อหาของสำนักข่าวโดยรวม 

• เหตุผลส่วนหนึ่งของความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวคือความกังวลว่าตนเองจะพลาดข่าวสารที่สำคัญหรือข่าวสารที่มีแนวโน้มต่างจากความสนใจของตนเองไป เนื่องจากอัลกอริธึมของสื่อโซเชียลมักจะคัดเลือกจากความพึงพอใจที่ผ่านมาของผู้รับเป็นสำคัญ 

4. ปัญหาเศรษฐกิจ

• ความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การตัดงบประมาณ ลดคนทำงาน และการเปลี่ยนจากสิ่งพิมพ์ไปสู่แพลตฟอร์มสื่อโซเชียล และไม่เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แม้กระทั่งสำนักข่าวออนไลน์โดยกำเนิดที่เคยรุ่งเรืองจากโมเดลธุรกิจจากเงินค่าโฆษณาเช่น BuzzFeed News หรือ Vice Media ยังต้องหยุดกิจการไปด้วยเหตุนี้

• โมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิกกลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่สำคัญสำหรับสำนักข่าวแบบดั้งเดิมหลายแห่ง ตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งคือ New York Times ซึ่งมีสมาชิกแบบดิจิทัลถึงกว่า 6 ล้านบัญชี

5. การวิพากษ์วิจารณ์และความเชื่อมั่นในสื่อ

• ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมากเท่าใด ยิ่งหมายความว่ามีความเชื่อมั่นในสื่อน้อยลงเท่านั้น เช่น กรีซ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อสูงมากและมีความเชื่อมั่นในสื่อน้อยมากเช่นกัน ในขณะที่ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และญี่ปุ่นมีแนวโน้มในทางกลับกัน แต่สำหรับประเทศไทยที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อสูงมากกลับมีความเชื่อมั่นในสื่อค่อนข้างสูงมากเช่นเดียวกัน

การวิเคราะห์โดยแบ่งตามประเทศและตลาด: มุ่งเน้นที่ประเทศไทย

ภูมิทัศน์ของสื่อในประเทศไทยสะท้อนทั้งแนวโน้มระดับโลกและพลวัตรระดับท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร 

การบริโภคสื่อในประเทศไทย

• ความนิยมสื่อดิจิทัลอย่างสูง

แพลตฟอร์มดิจิทัลกลายเป็นแหล่งรับข้อมูลข่าวสารหลักสำหรับผู้ใช้ชาวไทยส่วนใหญ่ จากรายงานพบว่า คนไทย 64% เข้าถึงข่าวสารผ่านสื่อโซเชียล, 23% ผ่านทางเครื่องมือค้นหา (Google) และช่องทางสรุปข่าวอื่นๆ ในขณะที่มีเพียง 7% ที่รับข่าวสารโดยตรงจากเว็บไซต์และแอปสำนักข่าว

• การใช้งานสื่อโซเชียล

แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลที่ผู้บริโภคข่าวสารนิยมสูงสุดในประเทศไทยได้แก่ Facebook, YouTube และ LINE โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีอัตราการเข้าใช้งานสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 30% ที่ตอบว่าใช้ TikTok สำหรับการติดตามข่าวสาร ซึ่งแสดงถึงความนิยมรับข่าวสารผ่านการดูวิดีโอที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าการอ่านและการฟังอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศที่แสดงลักษณะนี้

• ความเชื่อมั่นในสื่อ

ต่างจากข้อสรุปโดยรวมเบื้องต้น คนไทยมีความเชื่อมั่นในสื่ออยู่ในระดับค่อนข้างสูง จากรายงานพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจ 50% มีความเชื่อมั่นในสื่อโดยรวม ซึ่งคิดเป็นลำดับที่ 9 จากทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อในระดับสูงมากเช่นกัน

ปัญหาและแนวโน้มหลัก

• ความนิยมข่าวตื่นเต้นเร้าอารมณ์และสื่อโซเชียล

คนไทยส่วนใหญ่นิยมข่าวที่มีเนื้อหาตื่นเต้นเร้าอารมณ์ เช่น ข่าวอาชญากรรมหรือข่าวเกี่ยวกับความเชื่อเหนือจริง โดยสื่อโซเชียลกลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับ “นักสืบโซเชียล” ที่มักจะสืบหาต้นตอของข่าวเหล่านี้ด้วยตนเอง และมักจะนำหน้าการรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักเสมอ 

• บรรยากาศทางการเมืองและเสรีภาพของสื่อ

ภูมิทัศน์ทางการเมืองในประเทศไทยส่งผลต่อการทำงานของสื่อเป็นอย่างมาก การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในด้านเสรีภาพสื่อหลังจากการตกอยู่ภายใต้ความควบคุมของรัฐบาลทหารมานับสิบปี โดยพรรคที่ได้จำนวนที่นั่งในสภาสูงสุดได้นั้นมีผลส่วนใหญ่มาจากแคมเปญผ่านสื่อโซเชียลที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนรุ่นใหม่โดยตรง

• อย่างไรก็ตาม สื่อยังคงมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความเกรงกลัวต่อกฎหมายที่อาจนำไปสู่การต้องโทษถึง 15 ปี

• โมเดลรายได้ของสื่อ

โฆษณายังคงเป็นโมเดลทางธุรกิจหลักสำหรับสำนักข่าวในประเทศไทย ทั้งจากแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์และการจัดวางสินค้าในหน้าจอข่าวโทรทัศน์ ในขณะที่การสมัครสมาชิกข่าวออนไลน์ยังเป็นเรื่องที่ไม่พบเห็นได้มากนักในประเทศไทย

บทสรุป

ภูมิทัศน์ของสื่อโดยรวมยังคงมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการขับเคลื่อนของการพัฒนาเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล บนมือถือ และแพลตฟอร์มสื่อในรูปแบบต่างๆ นำไปสู่ทั้งโอกาสและความท้าทาย ความเชื่อมั่นในสื่อยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ประกอบกับการกระจายของข่าวลวงและแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรูปแบบการหารายได้แบบดั้งเดิม ทำให้องค์กรสื่อทั่วโลกต้องพยายามหากลยุทธ์ดึงดูดใหม่ๆ การใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียล รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการหารายได้

สำหรับประเทศไทย ภูมิทัศน์ของสื่อบางส่วนจะสะท้อนภาพเดียวกับสื่อทั่วโลก แต่ด้วยลักษณะเฉพาะที่ต่างออกไป ลักษณะดังกล่าวคือ การมีส่วนร่วมในสื่อดิจิทัลและสื่อโซเชียลอย่างสูง ความสนใจรับเนื้อหาในรูปแบบวิดีโออย่างมาก และความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูงที่มีต่อสื่อ ทั้งหมดนี้ประกอบเป็นภาพรวมของตลาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แรงกดดันทางการเมือง เนื้อหาข่าวที่มีลักษณะตื่นเต้นเร้าใจ และการแพร่กระจายของข่าวลวงยังคงเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย