สนทนาธรรมส่งท้าย‘Pride Month’ ไม่ว่าศาสนาใดเราล้วนเป็นมนุษย์-แนะพ่อแม่ฝึกปล่อยวาง
29 มิ.ย. 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ. หรือ IBHAP Foundation) ชวนสนทนาธรรมในรายการ Cofact Live Talk ส่งท้าย Pride Month หัวข้อ “มุมมองทางศาสนากับประเด็นสิทธิความหลากหลายของเพศวิถี|เพศสภาพ มายาคติ ความเข้าใจ และ ความสมานฉันท์” โดยมี พระมหานภันต์ สันติภัทโท ประธานกรรมการมูลนิธิ สกพ.และผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหารเป็นวิทยากร
พระมหานภันต์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 ข้อ ไล่ตั้งแต่ข้อแรกคือ No Poverty (ยุติความยากจน) ไปจนถึงข้อ 17 คือ Partnerships for the Goals (เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน) ขณะที่เมื่อพูดถึง Pride Month จะเกี่ยวข้องกับ “ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ใน 2 ข้อ คือ ข้อ 5 ความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) และข้อ 10(ลดความไม่เสมอภาค (Reduced Inequalities)
โดยไทยถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการคำนึงถึงทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ทั้งนี้แม้จะพูดกันเฉพาะในชาติปัจจุบันที่คนเรามีชีวิตอยู่ ในคนคนเดียวกันก็มีทั้งภาวะที่เป็นบุรุษและสตรี ดังนั้นตราบใดที่เรายังยึดถือเรื่องดีงาม เรื่องมนุษยธรรม ไม่ว่าจะอ้างอิงว่าตนเองเป็นเพศใด ทั้งตัวเราและสังคมอาจต้องเปิดใจและเปิดพื้นที่สื่อสารกัน
“ด้านหนึ่งเราต้องยอมรับก่อนว่า มันมีระดับที่สมมติโลกภายนอกเขายินดีกับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เราก็อาจจะยินดีกับเขาด้วย แต่พอถึงเวลาลูกเราจะมีความรักในเพศเดียวกันแล้วอยากจะจดทะเบียนสมรสตาม พ.ร.บ. นี้ ก็อาจจะมีความรู้สึกต่างไป” พระมหานภันต์ เปิดประเด็นชวนคิด
พระมหานภันต์ กล่าวถึงประเด็นเริ่มที่ “ครอบครัว” ซึ่งเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาผ่านออกมาบังคับใช้ เป็นการรับรองสิทธิของความรักและการรับผิดชอบชีวิตของกันและกัน และด้วยโครงสร้างของสังคมก็ทำให้หลายคนรู้สึกผ่อนคลาย กล้าเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนมากขึ้น แต่หากบุตรหลานของเราเป็นแบบนั้น แล้วคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจะคิดอย่างไร จะร่วมยินดีกับความรักในเพศเดียวกันของบุตรหลายหรือไม่? หรือเราควรจะวางใจอย่างไร?
พระมหานภันต์ กล่าวว่าด้วยประสบการณ์ที่เติบโตมากับโยมแม่ที่สอนให้มีมารยาท พร้อมๆ ไปกับให้ยอมรับทุกคนในแบบที่คนคนนั้นเป็น จึงไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ อย่างเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 มูลนิธิ สกพ. มีโอกาสได้จัดวงพูดคุยกับผู้นำศาสนาต่างๆ ซึ่งในช่วงท้าย ก็มีตัวแทนจากศาสนาฮินดู ตั้งคำถามว่า ในฐานะที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ คิดอย่างไรกับ LGBTQ+
“อาตมาก็เลยบอกว่า ถ้าโดยส่วนรู้สึกว่ามันมีความเป็นสิทธิมนุษยชนของแต่ละคน ที่ด้านหนึ่งแม้ว่าในส่วนของศาสนาจะมีคำสอนที่แตกต่างกัน แต่ด้านหนึ่งต้องไม่ลืมในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แม้จะมีข้อบัญญัติในศาสนาที่แตกต่าง อาตมาก็ขออภัยเขาว่าด้านหนึ่งก็เคยไปร่วมเสวนากับหลากหลายศาสนา แล้วอาตมาก็ตอบแม้ในหลายศาสนาจะมีข้อห้ามเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ แต่เราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์ด้วยกันเขารักกัน เราทำไมจะต้องไปตัดสิน ไปกีดกันใม่ให้เขาได้รักกันหรือมีชีวิตอยู่ด้วยกัน
หากคิดว่ามันเป็นความผิดบาปตามหลักความเชื่อของศาสนาของแต่ละท่านที่มีพระเจ้าของตนเอง ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขากับพระเจ้าดีกว่าไหม? เราไม่ต้องไปตัดสินอะไร เราในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ตราบใดที่เขาไม่ไปละเมิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ก็น่าจะเปิดพื้นที่ให้เขา ไม่ใช่ไปกดดันจนทำให้เขาต้องหลบซ่อนเหมือนกับในอดีต” พระมหานภันต์ กล่าว
พระมหานภันต์ อธิบายเสริมในประเด็นนี้ว่า การเกิดขึ้นของ Pride Month ก็เพื่อรณรงค์เรื่องเหล่านี้ เพราะในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอมเริกา อังกฤษ ในอดีตมีการกดดันเรื่องนี้มาก คนรักเพศเดียวกันถูกตีตราว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช จึงถือว่าหากมอง ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน “เรานั้นก็พัฒนามาไกลจนรู้แล้วว่าความดี-ความชั่ว ไม่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ ไม่ว่าชายจริง-หญิงแท้ หรือคนรักเพศเดียวกัน ก็ทำดี-ทำชั่วได้ไม่แตกต่างกัน” จึงไม่จำเป็นต้องนำเรื่องศาสนามาพูดในประเด็นนี้ นอกจากศาสนาแล้วอย่าลืมว่าทุกคนเป็นมนุษย์ และเราควรมีมนุษยธรรม
แต่หากเน้นไปที่ศาสนาพุทธ พระมหานภันต์กล่าวถึงหน้าที่ของพ่อแม่ต่อลูก ก็คือการอบรมสั่งสอนลูกให้ตั้งอยู่ในความดี-ไม่ทำความชั่ว ซึ่งหากในมุมนี้ ไม่ว่าลูกจะมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไรก็ควรจะเป็นความสุขของเขา ทั้งนี้ “เราต้องยอมรับว่า คนแต่ละคนล้วนมีชีวิตเป็นของตนเอง และไม่สามารถทำให้เขาเป็นดั่งใจของเราได้ แม้เราจะหวังดีกับเขาแค่ไหนก็ตาม” ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตในมุมต่างๆ ด้วย เช่น การเลือกอาชีพที่ใม่ตรงกับสายงาน เป็นต้น
ดังนั้นแล้ว “เราทำได้เพียงยอมรับและวางอุเบกขา” เพราะต่อให้เราจะทุกข์ใจอย่างไรก็ไม่ทำให้เขาเปลี่ยนไป แล้วเราจะทุกข์ไปเพื่ออะไร หรือแม้ว่าเขาเปลี่ยนมาเป็นหรือมาทำในสิ่งที่เราต้องการ ก็เท่ากับเขาต้องยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อให้เรามีความสุข ก็ต้องถามว่าเราอยากให้เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ? ซึ่งศาสนาพุทธมีคำสอนว่า “สัพเพธัมมานาลัง อภินิเวสายะ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่น” อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเข้าใจว่า บางเรื่องเป็นกฎธรรมชาติ แต่บางเรื่องก็เป็นกฎเกณฑ์
“ณ ตอนนี้ บ้านเมืองเรากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของกฎเกณฑ์อันเนื่องมาจากวิธีคิด-วิธีมองของคน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชวนเอาธรรมะไว้ในใจ ก็คือทำใจนั่นเอง” พระมหานภันต์ฝากข้อคิดต่อประเด็นนี้ไว้
จากเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม พระมหานภันต์ขวนมองประเด็นท้าทายเรื่องตำแหน่งแห่งหนในสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหลายเรื่องก็ยังเป็นข้อถกเถียง เช่น การใช้ห้องน้ำ จะมีห้องน้ำเฉพาะสำหรับคนข้ามเพศ (Transgender) หรือจะเป็นห้องน้ำร่วมไม่แยกเพศ (Unisex) หรือการแข่งขันกีฬา ซึ่งนักกีฬาที่เป็นหญิงข้ามเพศ ไปแข่งกับชายแท้ก็เสียเปรียบ แต่ไปแข่งกับหญิงแท้ก็ได้เปรียบ ซึ่งก็สามารถเปิดพื้นที่พูดคุยกันได้
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายนของทุกปี หรือเรียกว่า “Pride Month” ทั่วโลกจะมีการรณรงค์เรื่องสิทธิความหลากหลายของเพศวิถีและเพศสภาพ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของ SDGs นอกจากนั้น วันที่ 18 มิถุนายน ของทุกปี ยังเป็นวันรณรงค์หยุดการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) และการกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (Cyberbullying) อีกด้วย ซึ่งงานของโคแฟคคือการส่งเสริมการสื่อสร้างอย่างสร้างสรรค์ ค้นหาข้อเท็จจริงและมีสัมมาวาจา
ทั้งนี้ หากมองในระดับครอบครัว พ่อแม่อาจต้องฝึกปล่อยวางเมื่อลูกมีวิถีทางเพศเป็นของตนเอง แต่หากมองในระดับสังคมก็ต้องเข้าใจและเรียนรู้ไปด้วยกัน เช่น แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมรองรับแล้ว แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่าเราเคยชินกับสังคมที่มีกรอบเพียง 2 เพศสภาพตามสรีระกันมานาน เช่น การไปปฏิบัติธรรม ต้องแยกเรือนชาย-เรือนหญิง แม้จะเข้าใจว่าบางคนสรีระเป็นชายแต่สภาพจิตใจเป็นหญิง แต่หากให้พักเรือนพักของเพศหญิงก็จะทำให้ผู้หญิงไม่สบายใจเช่นกัน เรื่องนี้ก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา
“ในแง่หนึ่งเราก็ยอมรับสิทธิ์ แต่ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ยังไม่พร้อม ในทางปฏิบัติคนที่สรีระยังเป็นชายก็อาจจะต้องอยู่เรือนชายก่อนไหม? เพื่อคำนึงถึงคนหมู่มาก มันอาจจะต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ปรับตัวเรียนรู้กันไปทุกๆ ฝ่าย เพราะคงไม่ได้มีใครยืนอยู่ที่เส้นไหน 100% อันนั้นน่าจะเป็นทางออก” สุภิญญา กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/506608675057080