ภาพ พล.อ. ประยุทธ์เปิดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ถูกบิดเบือนว่าเป็นภาพเปิดตึก สตง.

กองบรรณาธิการโคแฟค
ภาพ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมพิธีเปิดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเมื่อปี 2560 ถูกผู้ใช้เฟซบุ๊กนำมาบิดเบือนว่า อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำพิธีเปิดโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 จากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาและส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก
เนื้อหาที่ตรวจสอบ
วันที่ 31 มีนาคม 2568 หรือ 3 วันหลังเหตุแผ่นดินไหวและตึก สตง. ถล่ม ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แชร์ภาพ พล.อ. ประยุทธ์ถ่ายภาพร่วมกับชายสวมสูทอีก 4 คน ทุกคนสวมหมวกนิรภัย สวมถุงมือสีขาว และด้านหน้ามีพลั่ววางไว้ ลักษณะเป็นการถ่ายภาพในพิธีเปิดโครงการก่อสร้างแห่งหนึ่ง (ลิงก์บันทึก)
ผู้โพสต์เขียนข้อความว่า “[พล.อ.ประยุทธ์] ไปเปิดตึกเองกับมือ..” ส่วนข้อความที่ฝังในภาพระบุว่า “ทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งการเซ็นสัญญาก่อสร้างตึกของ สตง. ทั้งการเซ็นสัญญาสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ล้วนเกิดขึ้นในรัฐบาลรัฐประหารทั้งสิ้น”
โพสต์ดังกล่าว ซึ่งถูกแชร์ไปมากกว่า 300 ครั้ง ทำให้เกิดความเข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยร่วมพิธีเปิดโครงการก่อสร้างตึก สตง. ในพื้นที่เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ที่ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหาย 67 ราย (ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร วันที่ 11 เมษายน 2568)
โคแฟคตรวจสอบ
โคแฟคตรวจสอบภาพดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือค้นหาภาพย้อนกลับของกูเกิล (Reverse Image Search) ประกอบกับการอ้างอิงรายงานข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนัก ผลการตรวจสอบพบว่านี่เป็นภาพถ่ายเก่าตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ร่วมพิธีเปิดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลจีนเข้าร่วมในพิธีด้วย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานของ สตง. ตามที่ถูกกล่าวอ้าง
ไทยรัฐออนไลน์ เผยแพร่ภาพนี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 (ลิงก์บันทึก) เป็นภาพประกอบรายงานข่าวพิธีเปิดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางไปเป็นประธานในพิธี ณ มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
โคแฟคเปรียบเทียบภาพที่ปรากฏในโพสต์บนเฟซบุ๊กกับภาพจากรายงานข่าวของไทยรัฐ พบว่าเป็นภาพเดียวกัน

การค้นหาภาพเพิ่มเติมยังพบว่า ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) รายงานข่าวเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านช่องทางยูทูบ ในวิดีโอมีภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ร่วมพิธีเปิดกับตัวแทนรัฐบาลจีนเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นภาพจากมุมกล้องที่แตกต่างกัน แต่ก็ยืนยันได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับภาพที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ (ลิงก์บันทึก)

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย โดยเฉพาะเส้นทางสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่มุ่งเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนเข้ากับเครือข่ายการคมนาคมของจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่รัฐบาลจีนผลักดัน
คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการในระยะที่ 1 ครอบคลุมเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายใต้รูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยฝ่ายไทยรับผิดชอบการลงทุนทั้งหมดและดำเนินงานก่อสร้างโยธา ขณะที่ฝ่ายจีนให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การออกแบบระบบ และวิศวกรรม
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ฝ่ายจีนมีบทบาทในด้านการออกแบบระบบและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านบริษัท China Railway International Group (CRIC) และ China Railway Design Corporation (CRDC) ขณะที่ฝ่ายไทยรับผิดชอบด้านการลงทุนและก่อสร้างโยธา ขณะนี้โครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยใช้งบประมาณราว 179,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570
เซ็นสัญญาสร้างตึก สตง. สมัย “รัฐบาลรัฐประหาร”?
โคแฟคตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อความในภาพที่ระบุว่า การเซ็นสัญญาก่อสร้างตึก สตง. “เกิดขึ้นรัฐบาลรัฐประหาร” ซึ่งเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้ามาบริหารประเทศหลังการรัฐประหารปี 2557 และเป็นนายกฯ ต่อหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของ สตง. ลงวันที่ 30 มีนาคม 2568 หรือ 2 วันหลังเหตุการณ์ตึกถล่ม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการก่อสร้างอาคารหลังนี้ว่า สตง. ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท
สำหรับพิธีลงนามทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี นั้น ไทยพีบีเอสรายงานว่ามีขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
โคแฟคตรวจสอบสรุปผลการประชุม ครม. พบว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่ง ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. และเขายังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ สตง. จัดพิธีลงนามทำสัญญาก่อสร้างกับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี
ข้อสรุปโคแฟค: ภาพจริงแต่ข้อความบิดเบือน
- ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กนำมาโพสต์บิดเบือนนั้น เป็นภาพเหตุการณ์เก่าเมื่อ 7 ปีที่แล้วขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ร่วมพิธีเปิดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ณ มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่ใช่พิธีเปิดการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่
- การอนุมัติวงเงินงบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ และพิธีเซ็นสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่าง สตง. กับ ครม. กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จริง กล่าวคือที่ประชุม ครม. ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานมีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนพิธีเซ็นสัญญาจ้างก่อสร้างมีขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่อนุมัติงบประมาณหรือเซ็นสัญญาจ้างก่อสร้างกับเอกชนยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าบุคคลใดหรือรัฐบาลใดมีความผิด การสอบสวนกรณีอาคาร สตง. ถล่ม ต้องอาศัยข้อมูลหลักฐานอื่น ๆ อีกมาก ไม่ใช่เพียงแค่โครงการนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดใด
เรื่องแนะนำ
- Live fact-check: อัพเดทรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังเหตุแผ่นดินไหว 28 มี.ค.2568
- คลิปชุมนุมที่แยกอโศกปี 66 ถูกนำมาสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นการชุมนุมต้านกาสิโนปี 68
- เลือกตั้ง 2566: ตรวจสอบ 3 ประโยคของประยุทธ์บนเวทีปราศรัยรวมไทยสร้างชาติ
- มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี ผลงานรัฐบาลไหน?