คลิปชุมนุมที่แยกอโศกปี 66 ถูกนำมาสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นการชุมนุมต้านกาสิโนปี 68

กองบรรณาธิการโคแฟค
ผู้ใช้เฟซบุ๊กนำวิดีโอเก่าที่บันทึกเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่แยกอโศกมนตรีเมื่อปี 2566 มาโพสต์ใหม่ โดยไม่อธิบายว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากเข้าใจผิดว่าเป็นการชุมนุมต่อต้านธุรกิจกาสิโนและร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่ผลักดันโดยรัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร และกำลังถูกคัดค้านจากประชาชนหลายกลุ่ม
เนื้อหาวิดีโอที่ตรวจสอบ
ช่วงสายวันที่ 7 เมษายน 2568 บัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ Phoorithat Thongchoi ได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 1 นาที มีข้อความฝังไว้ว่า “การชุมนุมวันนี้ที่อโศก” (ดูลิงก์บันทึก) เป็นภาพประชาชนจำนวนมากชุมนุมบริเวณแยกอโศกมนตรี เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ท่ามกลางสายฝน คลิปดังกล่าวไม่มีเสียงบรรยาย มีเพียงเสียงคนพูดผ่านเครื่องขยายเสียงและเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่า “สว.ออกไป” โพสต์นี้มีผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากกว่า 1 พันครั้งและแชร์วิดีโอนี้อย่างน้อย 5.6 พันครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 09.15 น.)
ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากเข้าใจว่าภาพในวิดีโอนี้เป็นการชุมนุมคัดค้านกาสิโนในวันที่ 7 เมษายน 2568 เห็นได้จากข้อความที่ร่วมคัดค้นร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งข้อความขับไล่รัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น “ไม่เอากาสิโน” “เพื่อลูกหลานในอนาคต จะเอาบ่อนมาทำลายประเทศ มามอมเมาลูกหลานเรา..” และ “น่าจะจุดติดแล้วนะ ลำพังคน กทม.ออกมาซัก 20% ก็เหลือแหล่ให้พวกมันหวั่นไหวได้แล้ว”
วิดิโอนี้ถูกเผยแพร่ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมและเคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านการผลักดัน ร่าง พ.รบ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรหรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ. “Entertainment Complex” ที่รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการในสมัยการประชุมสภาครั้งนี้ โดยสภามีกำหนดจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในวันที่ 9 เมษายน 2568
โคแฟคตรวจสอบ
การรวมตัวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานเทิงครบวงจรฯ เกิดขึ้นเป็นระยะมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 แต่เข้มข้นขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 โดยมีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และแนวร่วมได้ปักหลักชุมนุมที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล
โคแฟคตรวจสอบจากการรายงานของสื่อมวลชนหลายสำนักพบว่าวันที่ 7 เมษายน 2568 ผู้ชุมนุมยังคงรวมตัวใกล้ทำเนียบรัฐบาล ไม่มีรายงานการชุมนุมที่แยกอโศก ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมประกาศว่าจะนัดรวมตัวกันในวันที่ 8 และ 9 เมษายน
โคแฟคนำคลิปวิดีโอการชุมนุมที่แยกอโศกไปตรวจสอบโดยใช้ InVID-WeVerify ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ร่วมพัฒนาโดยสำนักข่าวเอเอฟพีเพื่อตรวจสอบเนื้อหาและที่มาของวิดีโอ ระบบแยกเฟรมภาพในวิดีโอเป็นภาพนิ่งและนำไปค้นหารูปภาพด้วยเครื่องมือ reverse image search พบภาพที่ใกล้เคียงกันเป็นวิดีโอที่โพสต์ใน TikTok เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 โดยบัญชีผู้ใช้ชื่อ jj108shops
เมื่อนำภาพและเสียงมาเปรียบเทียบพบว่าน่าจะเป็นวิดีโอเดียวกัน และมีความยาวเท่ากันคือ 1 นาที แต่โคแฟคยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครคือผู้ถ่ายคลิปวิดีโอนี้และนำมาเผยแพร่เป็นคนแรก

โคแฟคตรวจสอบเพิ่มเติมโดยค้นหารายงานข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการชุมนุมที่แยกอโศกในวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 พบว่าในวันนั้นมีการชุมนุมทางการเมืองที่นำโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง สว. และ สส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ในการชุมนุมครั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนแปรอักษรเป็นรูปตัว “ค”
สื่อมวลชนและสื่อออนไลน์หลายแห่งถ่ายทอดสดการชุมนุมครั้งนี้ มีทั้งไลฟ์สตรีม ข่าวออนไลน์และข่าวโทรทัศน์ มีภาพข่าวหลายภาพที่ใกล้เคียงกับคลิปวิดีโอ “การชุมนุมวันนี้ที่อโศก” ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กนำมาเผยแพร่และทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น


ข้อสรุปโคแฟค: วิดีโอเก่านำมาโพสต์ใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจผิด หยุดแชร์
วิดีโอ “การชุมนุมวันนี้ที่อโศก” ที่บัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ Phoorithat Thongchoi นำมาโพสต์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 เป็นวิดีโอบันทึกภาพการชุมนุมทางการเมืองที่แยกอโศกมนตรี เขตวัฒนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ไม่ใช่การชุมนุมคัดค้านกาสิโนและร่าง พ.ร.บ. ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฯ หรือ Entertainment Complex
แม้ว่าวิดีโอดังกล่าวจะเป็นภาพเหตุการณ์จริง แต่เป็นวิดีโอเก่าตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว การนำมาเผยแพร่ซ้ำในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฯ โดยที่ผู้โพสต์ไม่ให้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่าเป็นวิดีโอเก่า แสดงถึงเจตนาที่จะสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นการชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายและรัฐบาลของ น.ส.แพรทองธาร ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เรื่องอื่นที่น่าสนใจ
- Live fact-check: อัพเดทรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังเหตุแผ่นดินไหว 28 มี.ค.2568
- คลิปเก่าที่มีผู้โพสต์เมื่อ 3 ปีก่อน ถูกนำมาอ้างเท็จว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกน้ำมันไปเมียวดี
- 4 ปี รัฐประหารเมียนมา คลิปเก่า-เนื้อหาเท็จระบาด ปั่นความเกลียดชังแรงงานข้ามชาติ
- คลิป “กัมพูชาซ้อมรบ” และ “ฮุน เซนขู่สงครามปะทุ” มาจากไหน เกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยอย่างไร