กฎบัตรปารีสว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และงานข่าวและสื่อสารมวลชน

เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) และองค์กรพันธมิตร 16 แห่ง กฎบัตรนี้เป็นมาตรฐานจริยธรรมสากลฉบับแรกที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และงานข่าวและสื่อสารมวลชน

บทนำ

พวกเราในฐานะตัวแทนของชุมชนสื่อและงานข่าวและสื่อสารมวลชนตระหนักถึงผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษยชาติจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เราสนับสนุนความร่วมมือในระดับโลกเพื่อให้แน่ใจว่า AI รักษาสิทธิมนุษยชน สันติภาพ และประชาธิปไตย รวมถึงสอดคล้องกับความปรารถนาและค่านิยมร่วมของเรา

ประวัติศาสตร์ของข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวพันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี AI ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การทำงานอัตโนมัติขั้นพื้นฐานไปจนถึงระบบการวิเคราะห์และสร้างสรรค์ โดยเป็นตัวแทนของเทคโนโลยีใหม่ที่สอดคล้องกับความคิด ความรู้ และความสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในกระบวนการรวบรวมข้อมูล การค้นหาความจริง การเล่าเรื่อง และการเผยแพร่ความคิด ซึ่ง AI จะสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางเทคนิค เศรษฐกิจ และสังคมของงานข่าวและสื่อสารมวลชนและการปฏิบัติงานด้านบรรณาธิการได้อย่างลึกซึ้ง ระบบ AI อาจมีศักยภาพในการปฏิวัติภูมิทัศน์ของข้อมูลทั่วโลกโดยขึ้นอยู่กับการออกแบบ การกำกับดูแล และการประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม ระบบ AI ยังเป็นความท้าทายเชิงโครงสร้างต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหา รับ และเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งฝังรากอยู่ในกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อข้อมูลและประชาธิปไตย(International Partnership for Information and Democracy) สิทธินี้สนับสนุนเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

บทบาททางสังคมของงานข่าวและสื่อสารมวลชนและสื่อต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เชื่อถือได้สำหรับสังคมและบุคคล เป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยและการเสริมสร้างสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลให้แก่ทุกคน ระบบ AI สามารถช่วยสื่อในการทำหน้าที่นี้ได้อย่างมาก ตราบเท่าที่เป็นการใช้งานอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และรับผิดชอบในสภาพแวดล้อมที่ยึดถือจริยธรรมของงานข่าวและสื่อสารมวลชนอย่างเคร่งครัด ในการยืนยันหลักการเหล่านี้ เราขอยืนหยัดสนับสนุนสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ส่งเสริมงานข่าวและสื่อสารมวลชนอิสระ และมุ่งมั่นที่จะรักษาความเชื่อถือได้ของข่าวสารและสื่อต่างๆ ในยุค AI

หลักการสิบประการ

1. จริยธรรมของงานข่าวและสื่อสารมวลชนต้องเป็นแนวทางของสื่อและนักข่าวในการใช้เทคโนโลยี

สื่อและนักข่าวใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจหลัก นั่นคือการรับรองสิทธิของทุกคนในการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ การแสวงหาและบรรลุเป้าหมายนี้ควรเป็นแรงขับเคลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับเครื่องมือเชิงเทคโนโลยี การใช้และพัฒนาระบบ AI ในงานข่าวและสื่อสารมวลชนต้องยึดถือค่านิยมหลักของจริยธรรมงานข่าวและสื่อสารมวลชน เช่น ความจริงและความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ความรับผิดชอบ เคารพความเป็นส่วนตัว และการรักษาความลับของแหล่งข่าว

2. สื่อต้องให้ความสำคัญกับอำนาจของมนุษย์

การตัดสินใจของมนุษย์ต้องยังคงมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านยุทธศาสตร์ระยะยาวและการตัดสินใจด้านบรรณาธิการประจำวัน การใช้ระบบ AI ควรมาจากการตัดสินใจของมนุษย์โดยเจตนาและได้รับข้อมูลที่ดี ทีมบรรณาธิการต้องกำหนดเป้าหมาย ขอบเขต และเงื่อนไขการใช้งานสำหรับแต่ละระบบ AI อย่างชัดเจน รวมถึงต้องตรวจสอบผลกระทบของระบบ AI ที่นำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามกรอบการใช้งาน และมีความสามารถในการปิดการใช้งานระบบได้ทุกเมื่อ

3. ระบบ AI ที่ใช้ในงานข่าวและสื่อสารมวลชนต้องผ่านการประเมินอย่างอิสระก่อนใช้งาน

ระบบ AI ที่ใช้โดยสื่อและนักข่าวควรผ่านการประเมินที่อิสระ ครอบคลุม และละเอียดโดยกลุ่มสนับสนุนงานข่าวและสื่อสารมวลชน การประเมินนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าระบบยึดมั่นในค่านิยมหลักของจริยธรรมงานข่าวและสื่อสารมวลชน ระบบเหล่านี้ต้องเคารพความเป็นส่วนตัว กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายคุ้มครองข้อมูล รวมถึงต้องมีการกำหนดกรอบความรับผิดชอบอย่างชัดเจนหากระบบไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ ควรใช้ระบบที่สามารถทำงานได้ตามความคาดหมายและอธิบายได้ง่าย

4. สื่อต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่เสมอ

สื่อต้องรับผิดชอบในการทำหน้าที่บรรณาธิการ รวมถึงการใช้ AI ในการรวบรวม ประมวลผล หรือเผยแพร่ข้อมูล สื่อต้องรับผิดชอบต่อทุกเนื้อหาที่เผยแพร่ ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ AI ควรได้รับการคาดการณ์ วางแผน และมอบหมายให้กับมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบจะยึดมั่นกับจริยธรรมงานข่าวและสื่อสารมวลชนและแนวปฏิบัติด้านบรรณาธิการ

5. สื่อต้องรักษาความโปร่งใสในการใช้ระบบ AI

การใช้ AI ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลิตหรือการเผยแพร่เนื้อหางานข่าวและสื่อสารมวลชนควรได้รับการเปิดเผยและสื่อสารให้ทุกคนที่รับข้อมูลได้รับรู้ ควบคู่กับเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง สื่อควรเก็บบันทึกสาธารณะเกี่ยวกับระบบ AI ที่ใช้และเคยใช้ โดยระบุวัตถุประสงค์ ขอบเขต และเงื่อนไขการใช้งานอย่างละเอียด

6. สื่อต้องรับรองแหล่งที่มาและการสืบทวนแหล่งที่มาของเนื้อหา

สื่อควรใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อรับรองความถูกต้องและแหล่งที่มาของเนื้อหาที่เผยแพร่ โดยระบุรายละเอียดที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับแหล่งที่มาและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเนื้อหา เนื้อหาใดก็ตามที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความถูกต้องเหล่านี้ควรได้รับการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

7. งานข่าวและสื่อสารมวลชนต้องแบ่งระหว่างเนื้อหาจริงกับเนื้อหาสังเคราะห์อย่างชัดเจน

นักข่าวและสื่อต้องพยายามแยกแยะอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้ระหว่างเนื้อหาที่ได้จากการบันทึกความเป็นจริง (เช่น ภาพถ่ายและการบันทึกเสียงหรือวิดีโอ) กับเนื้อหาที่สร้างขึ้นหรือถูกดัดแปลงอย่างมากด้วยระบบ AI นักข่าวและสื่อควรเน้นการใช้ภาพและการบันทึกวิดีโอจริงเพื่อสะท้อนเหตุการณ์จริง สื่อต้องหลีกเลี่ยงการทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดจากการใช้เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรหลีกเลี่ยงการสร้างหรือใช้เนื้อหาจาก AI เพื่อเลียนแบบการบันทึกภาพจริงหรือใช้แทนตัวบุคคลจริงอย่างสมจริง

8. การปรับเนื้อหาให้เหมาะกับบุคคลและการแนะนำเนื้อหาที่ขับเคลื่อนด้วย AI ต้องรักษาความหลากหลายและความสมบูรณ์ของข้อมูล

สื่อต้องปฏิบัติตามจริยธรรมงานข่าวและสื่อสารมวลชนในการออกแบบและใช้ระบบ AI เพื่อปรับเนื้อหาให้เหมาะกับบุคคลและแนะนำเนื้อหาโดยอัตโนมัติ ระบบดังกล่าวต้องเคารพในความสมบูรณ์ของข้อมูลและส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันในข้อเท็จจริงและมุมมองที่เกี่ยวข้อง ระบบควรนำเสนอมุมมองที่หลากหลายและครอบคลุมในประเด็นต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสนทนาที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย การใช้ระบบเหล่านี้ต้องโปร่งใส และผู้ใช้ควรมีตัวเลือกในการปิดใช้งานเพื่อให้เข้าถึงเนื้อหาบรรณาธิการที่ไม่ผ่านการกรอง

9. นักข่าว สื่อ และกลุ่มสนับสนุนงานข่าวและสื่อสารมวลชนต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล AI

ในฐานะผู้พิทักษ์สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล นักข่าว สื่อ และกลุ่มสนับสนุนงานข่าวและสื่อสารมวลชนควรมีบทบาทเชิงรุกในการกำกับดูแลระบบ AI พวกเขาควรมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล AI ระดับโลกหรือระดับนานาชาติ และควรรับรองว่าการกำกับดูแล AI เคารพค่านิยมประชาธิปไตย และการพัฒนาของ AI ควรสะท้อนความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม พวกเขาต้องคงอยู่ในแนวหน้าของความรู้เกี่ยวกับ AI และมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบและรายงานผลกระทบของ AI ด้วยความถูกต้อง ละเอียดอ่อน พร้อมแนวคิดวิพากษ์

10. งานข่าวและสื่อสารมวลชนต้องรักษาพื้นฐานทางจริยธรรมและเศรษฐกิจในการทำงานร่วมกับองค์กร AI

การเข้าถึงเนื้อหางานข่าวและสื่อสารมวลชนโดยระบบ AI ควรอยู่ภายใต้ข้อตกลงอย่างเป็นทางการที่รับรองความยั่งยืนของงานข่าวและสื่อสารมวลชนและคุ้มครองผลประโยชน์ร่วมระยะยาวของสื่อและนักข่าว เจ้าของระบบ AI ต้องให้เครดิตแหล่งที่มา เคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และจ่ายค่าตอบแทนที่ยุติธรรมให้แก่เจ้าของสิทธิ์ ซึ่งค่าตอบแทนนี้ต้องถูกส่งต่อไปยังนักข่าวผ่านการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม นอกจากนี้ เจ้าของระบบ AI ต้องเก็บบันทึกที่โปร่งใสและละเอียดของเนื้อหางานข่าวและสื่อสารมวลชนที่ใช้ในการฝึกอบรมระบบของตน ผู้ถือสิทธิ์ต้องสามารถกำหนดเงื่อนไขการนำเนื้อหาของตนไปใช้โดยระบบ AI ให้เคารพความสมบูรณ์ของข้อมูลและหลักการพื้นฐานของจริยธรรมงานข่าวและสื่อสารมวลชน ทั้งหมดนี้เพื่อให้มีการออกแบบและใช้ระบบ AI ในลักษณะที่รับประกันข้อมูลคุณภาพสูง มีความหลากหลาย และน่าเชื่อถือ


องค์กรพันธมิตร

ผู้ริเริ่ม:

Reporters Without Borders (RSF)

พันธมิตร:

Asia-Pacific Broadcasting Union (ABU)

Collaboration on International ICT Policy in East and Southern Africa (CIPESA)

Canadian Journalism Foundation (CJF)

Committee to Protect Journalists (CPJ)

DW Akademie

European Federation of Journalists (EFJ)

European Journalism Centre (EJC)

Ethical Journalism Network (EJN)

Free Press Unlimited (FPU)

Global Investigative Journalism Network (GIJN)

Global Forum for Media Development (GFMD)

International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ)

International Press Institute (IPI)

Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP)

Pulitzer Centre

Thomson Foundation