ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับแอป Smart Vote ของ กกต.
กมล หอมกลิ่น: โคแฟคอีสาน
นับตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดตัวแอปพลิเคชัน “Smart Vote” เมื่อเดือนมกราคม 2562 ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภา กกต. จะเชิญชวนให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ก่อนการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ก็มีการโหมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปมาใช้งานเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเลือกตั้งเช่นกัน
โคแฟคตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแอป Smart Vote ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะแรงงานต่างถิ่นที่ไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิที่ภูมิลำเนาได้ เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขต ดังนั้นแอป Smart Vote จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่มีความสำคัญและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพื่อรักษาสิทธิทางการเมืองของตนเอง
รู้จักแอป Smart Vote
กกต. พัฒนาและเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ฉลาดเลือก Smart Vote” ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับแอปไว้ว่า “เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง ข้อมูลที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
ภายในแอปแบ่งเนื้อหาเป็น 5 หัวข้อ คือ 1) การเลือก สว. 2) เลือกตั้ง สส. 3) เลือกตั้งท้องถิ่น 4) การออกเสียงประชามติ และ 5) รวมกฎหมาย/ข่าวประชาสัมพันธ์
ในหัวข้อ “เลือกตั้งท้องถิ่น” จะมีให้เลือก 6 หัวข้อย่อย เช่น ข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ข้อมูลการเลือกตั้ง อบจ./เทศบาล/อบต./กทม./เมืองพัทยา, ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง/แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะลิงก์เชื่อมต่อกับข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ของ กกต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
ส่วนของการแจ้งเหตุทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อคลิกเข้าไประบบจะขึ้นข้อความและสัญลักษณ์ให้ดาวน์โหลดแอป “ตาสับปะรด” ซึ่งเป็นอีกแอปพลิเคชันหนึ่งที่ กกต. พัฒนาขึ้นเพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยเฉพาะ
Smart Vote เคยโดนแฮ็ก?
หนึ่งในประเด็นที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียคือกรณีแอป Smart Vote “โดนแฮ็ก” ซึ่งมีการเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ตัวอย่างเช่น บัญชีผู้ใช้ TikTok ชื่อ “Artจิตรภณุ” โพสต์คลิปวิดีโอเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ระบุว่า “แอป Smart Vote ของ กกต. โดนแฮ็ก” และแนะนำให้ประชาชนถอนการติดตั้งแอปเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
“…มันมีข้อความแปลก ๆ เด้งขึ้นมาในแอปพลิเคชัน เช่น ‘ก้าวไกล no.1’ ‘ลุงตู่อยู่ไหน’ กกต. ไปตรวจสอบแล้วว่าระบบถูกแฮ็กครับ ซึ่ง Smart Vote หลายคนก็ดาวน์โหลดมาตั้งแต่มีการเลือกตั้ง เพราะว่าจะได้ตามผลการเลือกตั้ง ผมเองก็ดาวน์โหลดมาเหมือนกัน ผมว่าเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของเรา แนะนำให้ทุกคนลบทิ้งมันไปเลยครับ” เจ้าของคลิประบุ
โคแฟคตรวจสอบพบว่าสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่าแอป Smart Vote โดนแฮ็กเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เช่น มติชนออนไลน์ ไทยพีบีเอส และไทยรัฐ ซึ่งรายงานว่าประชาชนจำนวนมากที่ติดตั้งแอป Smart Vote ของ กกต. ได้รับข้อความแจ้งเตือนจากแอปจำนวนมากในช่วงเวลา 13.00 น. ข้อความมีเช่น “ลุงตู่อยู่ไหน อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลอยู่รวมไทยสร้างชาติ” และ “ก้าวไกล no1” ตลอดจนคำอุทาน คำด่าหรืออักขระพิเศษที่ไม่มีความหมาย
วันเดียวกันนั้น ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์สำนักงาน กกต. ได้ส่งข้อความแจ้งสื่อมวลชนผ่านไลน์กลุ่ม “ภารกิจ กกต.” ว่า ขณะนี้มีแฮ็กเกอร์กำลังเข้าโจมตีแอปพลิเคชัน Smart Vote ทำให้มีข้อความประหลาดในการแจ้งเตือนของแอป ซึ่งทางสำนักประชาสัมพันธ์ ได้แจ้งทางสำนักสนับสนุนการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติแล้ว
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว แอป Smart Vote กลับมาใช้งานได้ตามปกติ และ กกต. ก็ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนติดตั้งแอปนี้อีกครั้งในช่วงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 เพื่อติดตามข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. และผลการเลือก
แจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง อบจ. ผ่านแอป Smart Vote ได้?
ก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. ใน 47 จังหวัดและ ส.อบจ. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โคแฟคพบว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีเนื้อหาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแอป Smart Vote จำนวนมาก ทั้งเชิญชวนให้ติดตั้งแอปเพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง และแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น บัญชีผู้ใช้ TikTok ชื่อ “Natcha na ka” โพสต์คลิปวิดีโอเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 อธิบายขั้นตอนการแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ทางแอป Smart Vote โดยให้ข้อมูลว่าระบบจะเปิดให้เข้าไปแจ้งเหตุ 2 ช่วงคือ 25-31 มกราคม และ 2-8 กุมภาพันธ์ 2568 เท่านั้น
บัญชีผู้ใช้ TikTok ชื่อว่า “ฮักน้ำขุ่น” ซึ่งอยู่ใน จ.อุบลราชธานี โพสต์คลิปภาษาอีสานแนะนำให้คนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิทางออนไลน์ ภายใน 7 วัน หลังการเลือกตั้ง
โคแฟคสอบถามเจ้าหน้าที่ กกต. ประจำ “สายด่วน กกต. 1444” เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ได้รับคำยืนยันว่า ประชาชนสามารถ “ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง” หรือ “แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ทางแอปพลิเคชัน Smart Vote ได้จริง โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิไว้ แต่หากวันเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิได้ ก็สามารถเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามปกติ
“บางคนอาจมีข้อจำกัดจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ หรือมีธุระด่วนสำคัญในวันนั้น การลงข้อมูลในระบบออนไลน์จะช่วยอำนวยความสะดวกและเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย หรือบางคนที่ลงไว้แล้วแต่ถึงวันจริงไปได้ก็สามารถเลือกตั้งได้ตามปกติ” เจ้าหน้าที่สายด่วน กกต. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางออนไลน์จะต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของการเลือกครั้งนั้น ๆ เช่น ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น และต้องแจ้งเหตุในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คือ ก่อนการเลือกตั้ง 7 วัน หรือภายใน 7 วัน หลังวันเลือกตั้ง
วิธีการตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งและแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางแอป Smart Vote มีดังี้ กดเข้าแอปพลิเคชัน Smart Vote > เลือกเมนู “เลือกตั้งท้องถิ่น” > เลือกเมนู “ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง” > หากมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ให้ไปที่เมนู “แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ระบบจะพาเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องกรอกเลขบัตรประชาชน ชื่อ-นามสกุล และวันเดือนปีเกิด เพื่อดำเนินการต่อ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- ข้อกังขาและคำชี้แจง “ทำไมเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์”
- เหตุเกิดที่เชียงใหม่ ไฟไหม้หญ้า หรือ เผาป้ายหาเสียงนายก อบจ.?
- พบบัญชีผู้ใช้ TikTok เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายก อบจ.
- คนเวียดนามแห่กด “ติดตาม-ถูกใจ” โพสต์เฟซบุ๊กผู้สมัครนายก อบจ. พรรคประชาชน ?
- เมื่อนักการเมืองหญิงตกเป็นเป้าข่าวลวง: จับตา 35 ผู้สมัครนายก อบจ. หญิง