เหตุเกิดที่เชียงใหม่ ไฟไหม้หญ้า หรือ เผาป้ายหาเสียงนายก อบจ.?
กุลธิดา สามะพุทธิ: กองบรรณาธิการโคแฟค
ผู้สนับสนุนพรรคประชาชนเผยแพร่ภาพไฟไหม้ริมถนนใน จ.เชียงใหม่ ในแอปพลิเคชัน TikTok โดยระบุว่าเป็นการจงใจเผาทำลายป้ายหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ของพรรคประชาชน ทางด้านเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด ที่รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า เป็นเหตุไฟไหม้หญ้าริมทางที่ลุกลามจนทำให้ป้ายหาเสียงเสียหาย
วันที่ 8 มกราคม 2568 บัญชีผู้ใช้ TikTok ชื่อ “รังสิมันต์เทียม” ซึ่งมีผู้ติดตาม 62.6 หมื่นบัญชี โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 51 วินาที พร้อมข้อความฝังในภาพว่า “เผาป้ายเลือกตั้ง อบจ. เชียงใหม่” เจ้าของโพสต์ระบุว่า เกิดเหตุเผาทำลายป้ายหาเสียงนายก อบจ. ของพรรคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ทราบว่าเหตุเกิดที่ไหนและใครเป็นผู้ก่อเหตุ คลิปดังกล่าวมีภาพประกอบเป็นภาพไฟไหม้หญ้าริมถนนสายหนึ่งและป้ายหาเสียงของนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ สังกัดพรรคประชาชน ที่ถูกไฟไหม้เสียหายบางส่วน โพสต์นี้มียอดเข้าชมมากกว่า 2 แสนครั้ง และถูกแชร์เกือบ 800 ครั้ง (ลิงก์บันทึก)
วันที่ 9 มกราคม 2568 ผู้ใช้ TikTok ชื่อ “หลวงคม” ซึ่งมีผู้ติดตาม 315.5 แสนบัญชี โพสต์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ไฟไหม้ริมถนนในจุดเดียวกัน คลิปความยาว 15 วินาที มีข้อความฝังในภาพว่า “เผาเย้ยกฎหมาย เชียงใหม่เริ่มแล้ว” ติดแฮชแท็ก #เชียงใหม่ #เผาป้าย #พรรคประชาชน คลิปนี้มียอดเข้าชมมากกว่า 2,200 ครั้ง (ลิงก์บันทึก)
โคแฟคตรวจสอบ
ผู้ใช้ TikTok ทั้งสองรายไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับเหตุไฟไหม้ดังกล่าว บอกเพียงว่าเหตุเกิดใน จ.เชียงใหม่ และสรุปว่าเป็นการเผาทำลายป้ายหาเสียง โดย “รังสิมันต์เทียม” ได้เรียกร้องให้ผู้รู้จุดเกิดเหตุหรือมีภาพกล้องวงจรปิดส่งข้อมูลมาให้เขาด้วย
โคแฟคตรวจสอบเนื้อหานี้ใน 3 ประเด็นคือ 1) เหตุไฟไหม้ริมถนนนี้เกิดขึ้นที่ไหน-เมื่อไหร่ 2) เหตุการณ์นี้เป็นการเผาทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ ตามที่ผู้ใช้ TikTok ทั้งสองรายกล่าวอ้างหรือไม่ และ 3) ภาพรวมเหตุทำลายป้ายหาเสียงเลือกตั้งอบจ. ในจังหวัดเชียงใหม่
เหตุเกิดที่ไหน-เมื่อไหร่?
จากโพสต์ของ “หลวงคม” มีผู้เข้ามาคอมเมนต์ว่าเหตุการณ์นี้เกิดในเขตเทศบาลตำบลแม่คือใช่หรือไม่ โคแฟคจึงได้สอบถามไปยังเทศบาลตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด วันที่เกิดเหตุคือ 7 มกราคม 2568 เทศบาลตำบลแม่คือได้รับการร้องขอจากเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ให้ช่วยนำรถน้ำไปดับไฟบริเวณดังกล่าวเพราะรถน้ำของเทศบาลตลาดใหญ่อยู่ระหว่างซ่อมบำรุง
โคแฟคสอบถามกับเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางเทศบาลได้รับแจ้งจากประชาชนเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 7 มกราคม 2568 ว่าเกิดเหตุไฟไหม้หญ้าริมถนนสายบ่อสร้าง-ดอยสะเก็ด หลังจากรับแจ้งเหตุ ทางเทศบาลได้ประสานเทศบาลแม่คือนำรถน้ำมาดับไฟ ซึ่งใช้เวลาไม่นานไฟก็สงบ
เหตุการณ์นี้เป็นการเผาทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่หรือไม่?
เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ระบุว่า ในที่เกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด จึงไม่สามารถสรุปสาเหตุไฟไหม้ได้แน่ชัด แต่จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่เทศบาลสันนิษฐานว่าเป็นเหตุไฟไหม้หญ้าริมถนนและลามมาที่ป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. ทำให้ป้ายไหม้เสียหายบางส่วนจำนวน 1 ป้าย ไม่น่าจะเป็นการเผาทำลายป้ายโดยตรง
เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ระบุด้วยว่า เหตุไฟไหม้หญ้าริมทางในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยให้ช่วงหน้าแล้ง ทั้งจากการเผาในไร่นาแล้วลามมาที่ถนนหรือจากการทิ้งก้นบุหรี่ริมทางทำให้หญ้าแห้งติดไฟ สำหรับกรณีนี้เจ้าหน้าที่ได้พยายามสอบถามหาตัวผู้ที่ทำให้เกิดไฟไหม้จากชาวบ้านแถวนั้น แต่ไม่สามารถระบุตัวได้ อีกทั้งจุดเกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิดของเทศบาลที่จะบันทึกภาพขณะเกิดเหตุไว้ได้
นับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ให้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ. จนถึงปัจจุบัน (17 มกราคม 2568) พื้นที่เทศบาลตำบลตลาดใหญ่ซึ่งมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ไม่ได้รับแจ้งเหตุว่ามีการทำลายป้ายหาเสียงแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ขณะที่เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลแม่คือที่นำรถน้ำเข้าช่วยดับไฟตั้งข้อสังเกตว่า เวลาและจุดเกิดเหตุมีประชาชนสัญจรพลุกพล่านจึงสันนิษฐานตรงกันว่าไม่ได้เป็นการจงใจทำลายป้ายหาเสียง
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศงดการเผาในที่โล่งแจ้งระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 พฤษภาคม 2568 เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เหตุทำลายป้ายหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ในจังหวัดเชียงใหม่
นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า นับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ กกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาอบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จนถึงปัจจุบัน (16 มกราคม 2568) กกต. เชียงใหม่ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 4 ราย คือ
1.วันที่ 8 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.เมืองเชียงใหม่ ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย
2.วันที่ 11 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 1 อ.สารภี ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย
3.วันที่ 11 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 2 อ.ดอยสะเก็ด ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคประชาชน
4.วันที่ 14 มกราคม 2568 เขตเลือกตั้งที่ 1 อ.แม่อาย ป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคประชาชน
“ทั้ง 4 กรณี เป็นการทำลายป้ายด้วยการใช้ของแข็งทำลายป้ายหาเสียงเสียหาย ซึ่งผู้สมัครที่เป็นผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ส่วนการเผาทำลายป้ายหาเสียงนั้น กกต. เชียงใหม่ยังไม่ได้รับรายงาน” นายนพดลกล่าว
ผอ. กกต. เชียงใหม่ระบุว่า การทำลายป้ายหาเสียงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ว่าด้วยการทำลายหรือทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ามีการข่มขู่คุกคามหรือใช้อิทธิพลร่วมด้วยก็จะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา 65 (5) ที่ห้ามผู้ใดหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครคนใด
ข้อสรุปโคแฟค
คลิปวิดีโอป้ายหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ พรรคประชาชน ถูกไฟไหม้เสียหาย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นริมถนนบ้านสร้าง-ดอยสะเก็ด ในเขตเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เหตุเกิดเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 7 มกราคม 2568 เจ้าหน้าที่เทศบาลยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของไฟไหม้หรือระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุและการสอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นเหตุไฟไหม้หญ้าริมทางแล้วลามมาไหม้ป้ายหาเสียง ไม่ใช่การจงใจเผาทำลายป้ายหาเสียง ขณะที่ กกต.เชียงใหม่ ระบุว่าไม่ได้รับแจ้งเหตุเผาทำลายป้ายหาเสียง แต่ได้รับแจ้งเหตุทำลายป้ายหาเสียงด้วยของแข็ง 4 กรณี เป็นป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย 2 ราย และพรรคประชาชน 2 ราย
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- พบบัญชีผู้ใช้ TikTok เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายก อบจ.
- คนเวียดนามแห่กด “ติดตาม-ถูกใจ” โพสต์เฟซบุ๊กผู้สมัครนายก อบจ. พรรคประชาชน ?
- เมื่อนักการเมืองหญิงตกเป็นเป้าข่าวลวง: จับตา 35 ผู้สมัครนายก อบจ. หญิง
- 5 ประเด็นข่าวลวงการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566
- ทำนาย 8 ข่าวลวง-ความเข้าใจผิด ในการเลือก สว.2567