มองเหตุกราดยิงจากสหรัฐฯถึงไทย สื่อมวลชนจะมีบทบาทป้องกัน-แก้ไขปัญหาความรุนแรงได้อย่างไร

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

27 ต.ค. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) จัดบรรยายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ในหัวข้อ “Mass shooting in Thailand and the Lesson-learned from the U.S.:  Violence Prevention and Ethics of Fact-based reporting. (บทเรียนโศกนาฎกรรมกราดยิง จากสหรัฐฯ ถึง หนองบัวลำภู บทบาทสื่อที่ควรเป็น และ การป้องกันความรุนแรงในสังคม)” โดยมีวิทยากรคือ แฟรงค์ สมิธ (Frank Smyth) นักข่าวสืบสวนอิสระดีกรีรางวัล ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านสงคราม อาชญากรรมข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ รวมถึงการเคลื่อนไหวประเด็นอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา และมี ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) เป็นผู้แปลสรุปเป็นภาษาไทย

คุณแฟรงค์ เริ่มต้นด้วยการยอมรับว่าตกใจมากกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอีกทั้งไม่ใช่เหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในไทย ขณะที่ในสหรัฐฯ เมื่อทศวรรษที่แล้วที่เคยเกิดขึ้นที่รัฐคอนเนกติคัต หรือเมื่อไม่นานที่รัฐเท็กซัส อย่างไรก็ตาม การค้นหาแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุเป็นเรื่องยากในการระบุ แต่เมื่อไม่นานนี้เพิ่งมีการศึกษาแล้วพบว่า แรงจูงใจอาจไม่ได้มาจากปัญหาทางสภาพจิตใจเสมอไป แต่ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกหลายด้าน 

อย่างเช่นวิกฤติปัญหาชีวิต เหตุการณ์อย่างเช่นถูกเลิกจ้างงาน คู่ครองเลิกรา มีคนเสียชีวิต ปัญหาวิกฤติชีวิตที่สิ่งที่มันทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกท่วมท้น/อัดอั้นตันใจ แล้วผู้ก่อเหตุ อย่างที่เคยเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ และตอนนี้ก็เกิดขึ้นที่ไทย ก็ตัดสินใจที่จะไปก่อเหตุที่ธนาคาร ออกจากบ้านไปข้างนอก แสดงการกระทำให้คนอื่นในสังคมเห็นถึงความขัดข้องใจ/ขุ่นเคือง สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของเขา ไปยิงธนาคาร ไปยิงคนบริสุทธิ์ แล้วก็ยิงตัวตาย เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่สหรัฐที่เดียว เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว” 

เมื่อถามต่อไปถึงปัจจัยของความรุนแรง ตุณแฟรงค์ค่อนข้างให้น้ำหนักไปที่ การเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย แต่ประเด็นนี้จะแตกต่างกัน ในขณะที่หลายรัฐของสหรัฐฯ ใครก็ตามที่มีใบขับขี่หรือเอกสารยืนยันตัวตนที่การออกให้ เดินไปที่ร้านแล้วก็ซื้อปืนได้ ภายในเวลา 30 นาที แม้ปัจจุบันจะมีการกำหนดให้มีการตรวจสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธปืน แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพียงมีอายุมากกว่า 18 ปี ตรวจประวัติเพียงเล็กน้อย แล้วก็เดินออกจากร้านพร้อมกับอาวุธได้เลยตั้งแต่ปืนสั้นไปจนถึงปืนอัตโนมัติอย่าง AR15 ซึ่งเป็นปืนไรเฟิลกำลังสูง

ส่วนประเทศไทย สำหรับคนทั่วไปค่อนข้างเข้าถึงอาวุธปืนได้ยากเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ที่แม้ภายหลังจะไม่ได้ทำงานในอาชีพดังกล่าวแล้วก็ยังครอบครองอาวุธปืนได้ เรื่องนี้ตนไม่ได้ตำหนิใคร แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ปืนที่อยู่ในความครอบครองของผู้ก่อเหตุในไทยเป็นอาวุธที่ขายให้โดยเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต หรืออดีตเจ้าหน้าที่ที่เข้าถึงปืน นำมาครอบครองส่วนตัวแล้วขายต่อในภายหลัง ดังนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ก็ต้องยุติพฤติกรรมการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ที่ปล่อยให้มีการนำอาวุธปืนของทางการมาขายต่อในตลาดมืด อย่างไรก็คาม แม้ไทยจะมีอัตราความรุนแรงจากอาวุธปืนค่อนข้างสูงเกือบเท่าสหรัฐฯ แต่ก็ยังน้อยกว่าประเทศแถบลาตินอเมริกา (อเมริกากลางและใต้)

“ลาตินอเมริกามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงมาก ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมาก มันส่งผล โครงสร้างทางสังคมมีส่วนทำให้อาชญากรรมมีอัตราที่สูงและความรุนแรงจากอาวุธปืนที่สูงด้วย ที่ไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ผมมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะสัญญาณเตือนให้รัฐบาลไทยมองเห็นปัญหานี้ ปัญหาคือการเข้าถึงอาวุธปืน ปัญหาคือการมีเจ้าหน้าที่ที่คอร์รัปชั่น ที่เอาปืนไปขายในตลาดมืด”

ประเด็นต่อมา จากเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นใน จ.หนองบัวลำภู ประเทศไทย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็น “การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน” ซึ่งคุณแฟรงค์ยกตัวอย่างกรณีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว CNN เข้าไปในสถานที่เกิดเหตุซึ่งถูกกั้นไว้เป็นเขตหวงห้ามตามกฎหมาย ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด ไม่ควรทำ และในฐานะที่เคยทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมาก่อน ต้องย้ำว่า สื่อมวลชนไม่ได้มีสถานะพิเศษกว่าคนอื่นในการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศใดก็ตาม เพราะกฎหมายต้องใช้ปฏิบัติกับทุกคน

แต่ในเรื่องของข้อมูล ไม่มีใครมีสิทธิมาบอกผู้สื่อข่าวหรือนักข่าวว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงอะไรไม่ใช้ นั่นเป็นเรื่องของผู้รับสารที่จะเป็นคนกำหนดว่าการรายงานข่าวนั้นมีความยุติธรรรม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง หรือจริงแท้แม่นยำแค่ไหน เพราะว่าทันทีที่บอกว่าเป็นการรายงานข้อเท็จจริงมากกว่าสิ่งอื่นใด แต่สิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่จริงๆ คือการมีอิทธิพลหรือส่งผลต่อรูปแบบ-วิธีการการนำเสนอข้อมูล แล้วเสรีภาพของสื่อไม่อยากให้รัฐเข้ามาแทรกแซง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวควรปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ ต้องยึดมั่นเรื่องนี้อยู่ทุกห้วงขณะ แต่ผู้สื่อข่าวก็มีสิทธิที่จะรายงานข่าวตามที่ตนเองเห็นสมควรเหมาะสม หลายกรณีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่คนไม่รู้อย่างถ่องแท้ ดังนั้นหน้าที่ของสื่อคือการรายงานให้ทราบข้อเท็จจริงที่ตัวผู้สื่อข่าวรู้ บอกเรื่องราวที่ผู้รับสารไม่รู้ให้ได้รับรู้ แล้วก็ให้พวกเขาเป็นคนตัดสินใจว่าอะไรที่พวกเขาคิดเป็นเรื่องจริง ถูกต้องแม่นยำ หรืออะไรที่พวกเขาคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องจริง นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าวารสารศาสตร์หรือการรายงานข่าวเป็นกระบวนการที่ไม่ได้สมบูรณ์เสมอไป แต่เป็นเรื่องกระบวนการที่จะค้นพบข้อมูลใหม่อยู่ตลอดเวลา 

“ผมเชื่อว่าผู้สื่อข่าวควรมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ไม่ควรมีใครมาบอกผู้สื่อข่าวอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรไม่ใช่ ถ้ามีใครอยากคัดค้านข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คัดค้านสิ่งที่รายงานออกมาได้ แต่แนวความคิดที่ว่ามีใครมาทำหน้าที่เป็นเหมือนตำรวจคอยกำกับว่าอะไรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง อะไรที่ถูกต้องแม่นยำ อะไรเป็นข้อเท็จจริง อันนี้เป็นปัญหา เพราะว่าเราทุกคนในสังคมมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดเองว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่มีแค่คนที่มีอำนาจที่ออกมาบอกว่าผู้สื่อข่าวรายงานข่าวบิดเบือน เพราะนั่นเป็นการบ่อนทำลายเสรีภาพของสื่อ” 

อนึ่ง มีข้อถกเถียงว่า ในเหตุความรุนแรงสื่อควรสัมภาษณ์ญาติของผู้สูญเสียหรือไม่ เนื่องจากมีมุมมองว่าการที่สื่อไปสัมภาษณ์ก็เท่ากับเป็นการทำให้พวกเขาโศกเศร้าพราะต้องเล่าเรื่องราวนั้นซ้ำๆ คุณแฟรงค์ ให้มุมมองว่า เมื่อผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์แบบนี้ต้องพยายามไม่สร้างบาดแผลหรือความบอบช้ำนั้นอีก ซึ่งมีเทคนิคในการระมัดระวัง หนึ่งในวิธีนั้นคือ การให้ครอบครัวได้มีโอกาส หมายถึงไม่ใช่การยื่นไมค์ใส่ปากแล้วถามใส่ไม่ยั้ง แต่ควรบอกว่า เสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น แล้วถามว่าอยากบอกอะไรหรือไม่ หากไม่อยากพูดก็ไม่เป็นไร 

โดยตนไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดหรือถูกในการสัมภาษณ์คนหลังเกิดเหตุ แต่จะเป็นเรื่องผิดหากยื่นไมค์จ่อปากแล้วก็ต้อนพวกเขาจนมุมในลักษณะที่พวกเขาไม่ได้คาดหวัง บางทีพวกเขาอาจกำลังแสดงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่อยากให้มีการเผยแพร่ออกไปก็ได้ ดังนั้นการถามขออนุญาตก่อนสัมภารณ์เป็นเรื่องที่เหมาะสมควรทำ บางคนอาจจะตอบตกลง บางคนอาจปฏิเสธ เพราะว่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความสำคัญ ความน่าสยดสยองของเหตุการณ์ก็สำคัญ และไม่ควรนำภาพร่างของผู้เสียชีวิตมานำเสนอ แม้กระทั่งภาพกราฟฟิกที่ทำขึ้น

คุณต้องมีความละเอียดอ่อนในการหาทางจะเล่า/นำเสนอเรื่องราวที่เกิดชึ้นยังไง ผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์รายงานข่าวเหตุกราดยิงมาก่อน พวกเขาเรียนรู้วิธีการที่จะนำเสนอข่าวยังไงโดยไม่ต้องเข้าไปใกล้ยังที่เกิดเหตุได้ คุณรายงานข่าวจากข้างนอกได้ ภาพบรรยากาศของญาติของเด็กที่เสียชีวิตที่พากันร้องไห้เสียใจหน้าโรงเรียนด้วยกันได้ บอกเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เสียชีวืตในโรงเรียนได้ โดยไม่ต้องเดินเข้าไปภายในพื้นที่ของโรงเรียนก็ได้ 

ผมคิดว่าเราก็ต้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผู้สื่อข่าวก็ต้องใช้ความละเอียดอ่อนต่อวิธีการที่รายงานหรือบอกเล่าเรื่องราว ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่ต้องมีการรายงานเกี่ยวกับญาติหรือบุคคลอันเป็นที่รักของผู้เสียชีวิตหรือผู้รอดชีวิต รวมถึงผู้ที่ก่อเหตุด้วย เพราะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุก็มีครอบครัวเหมือนกัน อาจเป็นลูกหรือน้องชายหรือสามีของใครสักคน ดังนั้น เราก็ต้องมีความเคารพหรือเห็นใจทุกครั้งที่เราสัมภาษณ์บุคคลอันเป็นที่รักหรือญาติของผู้เสียชีวิต เรื่องราวความรุนแรงคือสิ่งที่เราต้องรายงาน ใครที่ต้องออกมารับผิดชอบเรื่องนี้

คุณแฟรงค์ ยังกล่าวถึงประเด็นเหตุดการดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู อีกว่า การลงไปพื้นที่ก่อเหตุไปถามญาติผู้เสียชีวิตว่ารู้สึกอย่างไรไม่ใช่การรายงานข่าวที่ดี และการนำเสนอภาพปฏิกิริยาของญาติผู้เสียชีวิตมันเป็นการรายงานที่คุณภาพต่ำ (Cheap Way) ทางที่ดีคือการสร้างความไว้วางใจจากครอบครัว แล้วก็ให้เขาพาไปที่บ้าน พาไปดูเตียงนอน หนังสือเรียน ของเล่นของเด็กที่เสียชีวิต กระเป๋า สัตว์เลี้ยง เพื่อสื่อให้ผู้ฟังหรือผู้ชมเข้าใจถึงความสูญเสีญอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นจะดีกว่า 

ส่วนสิ่งที่สื่อมวลชนควรตั้งคำถามคือ แม้ผู้ก่อเหตุจะลงมือจากปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่เหตุใดผู้ก่อเหตุถึงสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ นั่นหมายถึงคนที่เป็นเจ้าหน้าที่เข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายใช่หรือไม่ นอกจากนั้น หากมองไปยังคนอื่นๆ ที่ก่อเหตุความรุนแรงด้วยอาวุธปืน ในไทย ซึ่งเป็นทราบกันว่าไทยมีอัตราเหตุฆาตกรรมต่อประชากรที่สูงมากกว่าที่อื่นและเกือบเท่าที่สหรัฐฯ คำถามคืออะไรทำให้สถิติสูง มาจากการที่เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตลักลอบนำอาวุธปืนของทางการไปขายข้างนอกหรือไม่ เหตุใดจึงไม่มีการควบคุมเรื่องเหล่านี้

อีกด้านหนึ่ง ในยุคดิจิทัลที่ใครๆ ก็สามารถเผยแพร่และส่งต่อเนื้อหาได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ดังนั้นทุกคนในสังคมต้องตระหนักอะไรอย่างไรบ้าง คุณแฟรงค์ มองว่า ตอนนี้ทุกคนมีอุปกรณ์ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองกันได้ซึ่งเป็นประโยชน์ แพลตฟอร์มสื่อ (Media Platforms) มีบทบาททั้งดีและไม่ดีต่อสังคม การเผยแพร่ข้อมูลก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่พื้นที่สื่อก็ต้องติดตามเฝ้าสังเกตตนเองด้วย ไม่ควรนำเข้าข้อมูลเท็จโดยไม่ได้มีการอธิบายว่าข้อมูลนั้นมาจากแหล่งที่เชื่อถือหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า แม้แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ขนาดใหญ่อย่างทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊กก็เริ่มมีการดำเนินการแบบนี้แล้ว แต่ว่าเป็นการเริ่มดำเนินการภายใต้การถูกกดดันให้ทำ ไม่ได้สมัครใจแต่แรก แต่นี่เป็นทางเดียวที่จะช่วยให้มีการจำกัดข้อมูลเท็จหรือการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ที่เผยแพร่โดยกล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริงถูกต้อง ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่มีการบอกให้ทราบด้วยการทำข้ออธิบายกำกับ ตนนั้นไม่อยากให้มีการเซ็นเซอร์ แต่ควรมีการทำคำอธิบายกำกับซึ่งสำคัญมาก 

เรื่องของข้อมูลภาพเหมือนกัน ที่มีความรุนแรง อย่างภาพผู้ถูกยิงที่เป็นเด็กที่โรงเรียน หรือภาพการกระทำความรุนแรงของอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate rime) ที่คุณไม่อยากให้มีการเผยแพร่ส่งต่อ เพราะว่ามันเป็นการเติมเชื้อไฟให้แก่ความุรนแรงเช่นว่า เพราะมันมีคนที่อยากเห็นคนชนกลุ่มน้อยถูกโจมตีแบบนั้น ดังนั้น คุณก็ไม่อยากเห็นอะไรแบบนี้เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม 

คุณไม่อยากให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นพื้นที่ของการเผยแพร่ข้อมูลหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ข้อมูลเท็จ ข้อมูลลวง รวมทั้งความรุนแรง ผมคิดว่าแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์มทำได้ดีขึ้น แพลตฟอร์มใหญ่ๆ ก็มีการเฝ้าสังเกตตัวเองในเรื่องนี้ด้วย ผมคิดว่ามันเป็นการฝ่าฟันที่ยังเกิดขึ้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องมาหาทางแก้ไข มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ผมคิดว่าเราต้องมาร่วมกันสะท้อนในเรื่องนี้

ในช่วงท้ายของการสนทนา คุณแฟรงค์ ให้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยอาจจะเผชิญกับการกราดยิงอีก แต่ก็หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์โหดร้ายแบบที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนในไทยก็เกิดขึ้นมากอยู่แล้ว ส่วนผู้สื่อข่าวก็ควรรู้ตัวได้แล้วว่าไม่ควรผลิตข่าวคุณภาพต่ำที่เน้นเรื่องราวกระตุ้นอารมณ์ แต่ควรถอยมาก้าวนึง แล้วลงทุนผลิตข่าวสารที่กระตุ้นความสนใจ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิต ญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งตนมองว่าสำคัญมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องรายงานข่าวที่ผู้สื่อข่าวจะรู้สึกภาคภูมิใจ 

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1033424 (งามไส้ “ดาบตำรวจ” ขโมย “ปืนหลวง” ไปขาย-จำนำ กว่า 150 กระบอก : กรุงเทพธุรกิจ 20 ต.ค. 2565)

https://www.voathai.com/a/dead-including-gunman-in-cincinnati-bank-shooting/4560563.html (เสียชีวิต 4 ราย! เหตุยิงกราดที่ธนาคารกลางเมืองซินซินเนติ : Voice of America 7 ก.ย. 2561)

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/WNFOR6109070020003 (มีเหตุยิงกันเกิดขึ้นภายในธนาคารย่านใจกลางเมืองซินซินเนติรัฐโอไฮโอของสหรัฐ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 7 ก.ย. 2561

https://www.bbc.com/thai/articles/clm8lx797gyo (เหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ติดอันดับกราดยิงสังหารในโรงเรียนร้ายแรงสุดในโลก : BBC 8 ต.ค. 2565)

https://thestandard.co/nongbua-lamphu-shooting/ (ผบ.ตร. แถลงอดีตตำรวจกราดยิง คาดเมายา เครียดต้องขึ้นศาล ปืนก่อเหตุซื้อเองถูกกฎหมาย : The Standard 6 ต.ค. 2565)

https://www.thaipbs.or.th/news/content/320242 (ผบ.ตร.เผยผลตรวจ อดีต ตร. “กราดยิงหนองบัวลำภู” ไม่พบสารเสพติด – เตรียมตรวจซ้ำ : ThaiPBS 7 ต.ค. 2565)

https://www.thairath.co.th/news/politic/2028231 (ครบรอบ 1 ปี เหตุสะเทือนขวัญ กราดยิงโคราช : ไทยรัฐ 8 ก.พ. 2564)