Media Forum 12th เรื่อง “ข่าว ไม่ใช่ละคร | เส้นแบ่งอาชญากรรมเสมือนจริง”

บทความ

นักจิตวิทยาสังคม- นักวิชาการห่วงการเสนอข่าวเป็นละคร ผลวิจัยชัด เสี่ยงชี้นำ เลียนแบบและทำให้ความก้าวร้าวรุนแรงเป็นเรื่องปกติ เรียกร้องคนถูกละเมิดฟ้องสื่อเป็นตัวอย่าง เอเจนซี่ไม่หนุนโฆษณา

(24 ก.ค. 63) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ Cofact ร่วมกันจัดงานเสวนาออนไลน์ Media Forum 12th เรื่อง “ข่าว ไม่ใช่ละคร | เส้นแบ่งอาชญากรรมเสมือนจริง”

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดเสวนาว่า ปรากฏการณ์เรตติ้งรายการข่าวสูงกว่าละครบางรายการ โดยนำเสนอในรูปแบบละคร ใช้กราฟิคและเทคนิคเล่าเรื่องที่เน้นอารมณ์เพื่อเรียกความสนใจคนดูให้มากขึ้นแต่ถูกตีความผิดเพี้ยนไป ซึ่งหลายฝ่ายห่วงใย จนมีความเคลื่อนไหวจากคนหลายกลุ่ม ทั้งส่วนของกรรมาธิการในสภาฯ กสทช. ภาคประชาสังคม กลุ่มเกี่ยวกับเด็ก-เยาวชน เรียกร้องให้สื่อทบทวนการทำงานลักษณะนี้

“หวังว่าเวทีการแลกเปลี่ยนวันนี้จะได้หารือกันอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของสื่อ และจะได้มีการแลกเปลี่ยนกับคนที่ทำงานในวิชาชีพต่อไป ผมเชื่อว่าฝ่ายผู้ประกอบการสื่อน่าจะยินดีรับฟัง”

ผศ. ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นำเสนอข้อมูลสำรวจข่าวของสื่อโทรทัศน์จากกรณีศึกษาต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีการเสนอข่าวอาชญากรรมเสมือนจริงอย่างละครในรูปแบบการเล่าข่าว เทคนิค Immersive ใช้น้ำเสียงเร้าอารมณ์ ใช้ภาพจำลองเหตุการณ์ที่ล่อแหลมต่อการส่งเสริมความรุนแรง และให้ผู้สื่อข่าวเสมือนเข้าไปอยู่ร่วมในเรื่องทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์จริง ใช้จินตนาการและการคาดเดาข้อมูลเรื่องราว มีการละเมิดบุคคลในข่าว จึงเป็นคำถามต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากการทำงานของสื่อมวลชนในลักษณะดังกล่าว

“การนำเสนอข่าวแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อความอ่อนไหวในการก่ออาชญากรรมของคนในสังคมกลุ่มไหน อย่างไร เมื่อสื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน ไม่ใช่สื่อเชิงสืบสวน ส่งผลต่อรูปคดี บุคคล สังคมและมาตรฐานวิชาชีพสื่ออย่างไร”

รศ. ดร. ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด รองศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม (หลักสูตรพิเศษ) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการที่สื่อเสนอรายละเอียดของข้อมูลในเหตุการณ์ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ บางกรณีสื่อเป็นผู้เปิดเผยและเชื่อมโยงเบาะแสทำให้คดีคลี่คลาย แต่ที่ควรต้องระวังคือเรื่องอคติและความถูกต้องของข้อมูล เพราะคนให้ข้อมูลมีเป้าหมายแตกต่างกัน

“สื่ออย่าทำให้ข้อเท็จจริงกลายเป็นนิยายแล้วไปด่วนตัดสินเองเสียก่อน การให้ข้อมูล ให้รายละเอียดนั้นเป็นเรื่องที่ดีและควรทำแต่ต้องอยู่บนข้อเท็จจริง บนความถูกต้อง”

ผศ. ดร. วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เทคโนโลยีและสร้างภาพจำลอง ทำให้คนทำงานข่าวก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ได้ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากแต่มีจุดที่ต้องระวังในด้านลบด้วยเช่นกัน

“มีงานวิจัยชี้ชัดเจนว่า สิ่งที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนสามารถกระตุ้นและมีอิทธิพลกับคนดูได้มาก หากนำเสนอเป็นแรงจูงใจทางลบ อาจกลายเป็นตัวอย่างพฤติกรรมไม่ดี ความก้าวร้าว การใช้ความรุนแรง ในเมื่อเรามีเครื่องมือทรงพลังในมือ อยู่ที่สื่อจะเลือกใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด”

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันข่าวเชิงสืบสวนลดน้อยลง ขณะที่การนำประเด็นอาชญากรรมมาทำ Immersive เรียกความสนใจคนดูมากขึ้น เมื่อผู้บริหารเห็นเรตติ้งเพิ่มขึ้น มีโฆษณามาก จึงไม่สนใจจริยธรรม ดังนั้นเรียกร้องให้คนถูกละเมิดใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้สื่อเพิ่มความระวังมากขึ้น

“ถ้าไม่อยากให้มีข่าวแบบนี้ คนดูก็ต้องเลือกไม่ดู และเอเจนซี่โฆษณาก็ต้องไม่สนับสนุน หลายภาคส่วนต้องสนับสนุนข่าวน้ำดีด้วย การทำข่าวเสนอเรื่องที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สื่อมีแนวโน้มจะไม่เสนอเรื่องของคนที่เสี่ยงจะถูกฟ้อง แต่จะเป็นคนธรรมดาที่ต่อรองได้น้อยกว่า ผมกลัวว่าในอนาคตจะขยายมากขึ้น ไม่เฉพาะข่าวอาชญากรรมแต่อาจลามไปถึงข่าวการเมือง ปัญหาจะยิ่งใหญ่โตมากขึ้น”

รศ. รุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า พัฒนาการของสื่อมวลชนในการคุ้มครองสิทธิของแหล่งข่าวในรอบสิบปีที่ผ่านมาถือว่าดีขึ้น มีความระมัดระวัง แต่ปัจจุบันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาทำให้ข่าวน่าสนใจนั้นต้องพิจารณาให้รอบคอบกว่านี้

“ต้องดูว่าการใช้กราฟิคนั้นเพื่อเป้าหมายใด ควรใช้กรณีที่มีความซับซ้อน หรือใช้ในเรื่องใหญ่เพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างช่วยลดทอนความรุนแรงของเรื่องหรือไม่ ส่งผลกระทบใครบ้าง มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องมากเพียงพอที่จะใช้หรือไม่ สื่อ ต้องตั้งคำถามก่อนเสนอข่าวว่า ถ้าเป็นญาติเรา จะเสนอข่าวนี้แบบไหน ถ้าไม่นำเสนอแล้ว ประชาชนจะเสียอะไร รวมทั้งต้องยึดหลักป้องกันไว้ก่อน เพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากจำเป็นต้องละเมิด ต้องอธิบายประชาชนให้ได้ว่า ทำด้วยเหตุผลอะไร”

รศ. รุจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สนับสนุนการให้สื่อกำกับดูแลกันเองมากกว่าให้หน่วยงานรัฐ หรือ กสทช. มาควบคุม ขณะที่ผู้บริโภคและประชาชนต้องตระหนักว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หากไม่ต้องการ

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ บอกว่าจริง ๆ สื่อมีการกำกับตนเองเต็มที่ ถ้าข่าวอาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นกับคนมีบารมีหรือมีเงิน สื่อจะเกรงใจไม่กล้าเจาะลึก แต่พอเป็นข่าวคนธรรมดาสื่อก็ขาดความเกรงใจ ผลิตซ้ำเรื่องราวจนละเมิดสิทธิโดยเฉพาะกรณีที่เป็นเด็กและเยาวชนมีกฎหมายคุ้มครองชัดเจนไม่ใช่แค่ละเมิดจริยธรรม.

ขอบคุณที่มา http://www.presscouncil.or.th/archives/5484