โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร กับ ความเข้มแข็งของพลเมืองยุคดิจิทัล

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบบทความ คลิก https://drive.google.com/file/d/1pcTaGx41qlsp4ejy94joE8lolzcRv2_e/view?usp=drivesdk

พีรพล อนุตรโสตถิ์ | ฉบับร่าง

ถ้าเปรียบเทียบการมาของ “โควิด-19 คือ “ข้อสอบปลายภาค” ของเหล่าพลเมืองยุคดิจิทัล

“เราสอบตก.”

ย้อนไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา…


บิลเกตส์ มหาเศรษฐีนักเทคโนโลยีที่ก้าวออกจากฉายา “พ่อมดคอมพิวเตอร์” ผันตัวมาจดจ่อกับการหาทางแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะของประชาคมโลก วันหนึ่งในปี 2015 เขาขึ้นเวทีชี้ช่องโหว่เป็นสัญญาณเตือนแบบแรง ๆ ว่า “โลกนี้ยังไม่พร้อมรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่” 

ในเวลานั้น คนส่วนใหญ่ที่พอจะมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ต่างกำลังบริโภคความสุขสบายใจและกาย หรือจดจ่ออยู่กับความใฝ่ฝันและความมุ่งมั่นของตนเอง

คำค้นติดอันดับบน Google สะท้อนตัวตนความสนใจได้เป็นอย่างดีว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พลเมืองรุ่นใหม่หลากหลายวัยในโลกดิจิทัล สนใจอะไรกันบ้าง

Google Trends 2011-2019 : ดารา ดราม่า ซีรีส์ ละคร คอนเสิร์ต ท่าเต้น บันเทิง กีฬา โซเชียล #แฮชแท็ก มือถือ ถ่ายรูป ทำอาหาร การลงทุน สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ก่อการร้าย คนดังตาย โรคระบาดใหญ่ที่ถูกค้นหา คือ Ebola เมื่อปี 2013

เมื่อปลดล็อกหน้าจอมือถือหนึ่งในหลายเครื่องที่พกไว้ แอปยอดนิยมบนจอคือนานาประตูสู่หลากหลายแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์  ที่เปิดให้ อวด-อ้าง-อ้อน-อ่าน-โอน-อิ่ม ได้ง่ายสะดวกทุกที่ทุกเวลา จนมุกตลกขบกัดสะท้อนสังคม หนีไม่พ้นเรื่องราวจากการก้มหน้า “ดาวน์หลุด” เข้าสู่โลกใบเล็กที่สร้างขึ้นในมือตนเองซึ่งถักทอต่อสานด้วยเส้นใยอินเทอร์เน็ต

เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเติบโตของ “habit” หรือลักษณะพฤตินิสัยบนโลกออนไลน์ ที่เป็นมูลเหตุของการ “สอบตก” ในโลกจริง อีกไม่กี่ปีถัดมา

“Fake News” “ข่าวปลอม” กลายเป็นวาทกรรมซึ่งสะท้อนอธิบายถึงนิเวศสภาวะใหม่ในยุคไซเบอร์ ที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและโครงข่ายสังคมออนไลน์เป็นถนนโลดแล่นขับเคลื่อน ซึ่งอาจจะมีทั้ง “คนหน้าใหม่” เผยแพร่ข้อมูลเท็จด้วยความไม่ประสีประสา แบบที่เรียกว่า “misinformation” หรือ จะ “คนรว้าย ๆ” ที่จงใจกุข่าวเท็จแล้วเผยแพร่ในแบบ “disinformation” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการชี้นำ เงิน หรือสนองจิตใจ

ประจวบเหมาะกับ “ห้องแห่งเสียงก้อง” ที่เป็นบอลลูนพาหนะฟองสบู่ผิวหนา พาแต่ละคนหลุดเข้าไปล่องลอยอิ่มเอมกับแพลตฟอร์มและ “อัลกอริทึม” ซึ่งหมั่นเอาอกเอาใจ พยายามสะกิดประเคนให้แต่ “สิ่งที่คุณชอบ” จนหลงคิดไปว่าโลกทั้งใบกลายเป็นสีอะไรก็ได้ที่ต้องการ

เติมเชื้อไฟด้วย “กลไกการหารายได้” ของโลกยุคดิจิทัล ซึ่งแลกมาได้ด้วย “ยอดวิว” และ “การล่อคลิก” จึงไม่น่าแปลกใจที่ปริมาณดาต้าอินเทอร์เน็ตของหลายต่อหลายคน ถูกผลาญไปเพราะพลาดตกกับดักหลุมพรางเหล่านี้

ทั้ง “พฤตินิสัย” “ห้องแห่งเสียงก้อง” และ “กลไกรายได้” ประสานกลายเป็นโลกออนไลน์ในซีกมืดที่ฉาบด้วยแสงสีศิวิไลซ์ กลุ่มมนุษย์ผู้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลก่อนคนอื่น ใช้โอกาสในฐานะ “พลเมืองรุ่นบุกเบิก” ไปกับการหลงใหลในความสวยงามเสมือน ที่รู้ทั้งรู้ว่าล้วนถูกปั้นแต่งเนรมิตขึ้น 

แม้ในช่วงไม่กี่ปีของท้ายทศวรรษนี้ จะมีแนวคิดเพื่อคืนสมดุลให้ชีวิตดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ลดการใช้เวลาหน้าจอ การเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดที่จับต้องได้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้หรือทำงานอย่างมีคุณภาพ

แต่เมื่อถึงต้นปี 2020 มนุษย์ก็ได้บทสรุปที่พิสูจน์ชัดแล้วว่า สายเกินหันหลังกลับ

ชีวิตดิจิทัลที่ก้าวล้ำ ยิ่งทำให้ “ภูมิคุ้มกัน” ในชีวิตจริงเสื่อมถอยลง

วิถีนิสัยของเหล่าพลเมืองดิจิทัลส่วนใหญ่ ยิ่งทำให้ผลร้ายจาก “ไวรัส” ทวีความรุนแรง

ไวรัสตัวเล็ก ๆ ที่ถูกจำกัดด้วยสารพัดมิติกายภาพ

จึงกลับสร้างความเสียหายอย่างยิ่งใหญ่ได้กว้างขวาง

ด้านการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ : สอบตก

พลเมืองดิจิทัล ถูกนิยามไว้ให้หมายถึง ใครก็ตามที่เข้าสู่อินเทอร์เน็ต แล้วสามารถใช้เพื่อมีส่วนร่วมในสังคม เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และปลอดภัย

พลเมืองดิจิทัล จัดเป็น พลเมืองแบบที่สาม ต่อจาก พลเมืองชาติ และ พลเมืองโลก ซึ่งความเป็นพลเมืองดิจิทัลนั้น ยังนิยามจำแนกออกไปได้อีก 3 แบบ คือ

มิติด้านความรู้เกี่ยวกับสื่อและสารสนเทศ

มิติด้านจริยธรรม และ

มิติด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม

มีหลากหลายเนื้อหาที่ออกแบบคุณลักษณะของ “พลเมืองดิจิทัล”

“การจะเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีนั้น ต้องมีชุดทักษะและความรู้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและการคิดขั้นสูง หรือที่เรียกว่า ความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์ รู้จักป้องกันตนเองจากความเสี่ยงต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ เข้าใจถึงสิทธิ ความรับผิดชอบ และจริยธรรมที่สำคัญในยุคดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม ที่เกี่ยวกับตนเอง ชุมชน ประเทศ และโลก ได้อย่างสร้างสรรค์”

‘ความเป็นพลเมืองดิจิทัล’ ประกอบด้วย ความรับผิดชอบ มีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น มีส่วนร่วม และมุ่งเน้นความเป็นธรรมในสังคม เพื่อรักษากฎเกณฑ์ สมดุลของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยควรบ่มเพาะทักษะที่จำเป็น 8 ประการ ได้แก่

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว
  3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี
  4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ
  5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์
  7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

เมื่อศึกษาเนื้อหาว่าด้วย “พลเมืองดิจิทัล” ข้างต้น แล้วนำมาทาบกับสถานการณ์ “โลกยุคหลังโควิด-19” นับตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลึกลับในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนจะแพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลกนั้น นอกจากคำว่า “ความปลอดภัย” (ซึ่งที่จริงน่าจะหมายถึง Digital Safety & Security) แล้ว แทบจะไม่พบร่องรอยของคุณสมบัติใดใน “ความเป็นพลเมืองดิจิทัล” ที่จะใกล้เคียงหรือนำมาอธิบายได้ว่า มีการออกแบบให้รองรับและคำนึงถึงสวัสดิภาพทางกายภาพของมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา จนสามารถนำมาชูหรือใช้เพื่อป้องกันการลุกลามระบาดของปัญหาจากโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของไวรัส หรือ การระบาดของข้อมูลข่าวสาร

ไม่ว่าจะเป็น 3 มิตินิยาม หรือ 8 ทักษะสำคัญ ล้วนทำให้ผู้เป็นพลเมืองดิจิทัลมุ่งคิดและปฏิบัติตนอยู่บนโลกออนไลน์อย่างเจาะจง เปรียบเหมือนกับ แนวปฏิบัติเมื่ออยู่บนเรือสำราญลำใหญ่ ที่มิได้เน้นเตรียมให้ลูกเรือ คำนึงถึงการใช้ชีวิตหลังเรืออัปปาง และให้ผู้โดยสารมั่นใจในความมั่นคงที่โคลงเคลง

ด้านการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า : สอบตก

ในทางตรงกันข้าม หากจะค้นหาว่า “การขาดความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี” นั้นมีส่วนขยายปัญหาของไวรัสตัวเล็ก ๆ นี้ได้อย่างไรบ้าง เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริยธรรม เรื่องวิจารณญาณ หรือเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนรวม

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก พบว่า การรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสที่มนุษย์ไม่มีภูมิคุ้มกันครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่เพียงการจัดการปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่ปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กัน หรือบางครั้งก็อาจจะส่งผลเสียได้มากกว่า คือ ข้อมูลข่าวสารเท็จที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

นำมาซึ่งคำใหม่ในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า INFODEMIC ซึ่งเกิดจากการผสมคำสองคำ ได้แก่ INFORMATION กับ EPIDEMIC และนำมาซึ่งการจัดประชุมนานาชาติ (แบบออนไลน์) ว่าด้วย “ศาสตร์แห่ง INFODEMIC” หรือ INFODEMIOLOGY ก่อนที่จะให้นิยามอย่างเป็นทางการว่า “INFODEMIC คือ สภาวะที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นสับสนจนยากจะแยกว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จ”

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ.อสมท เก็บรวบรวมข้อมูลที่มีการส่งต่อกันเกี่ยวกับโควิด-19 พบว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีข้อมูลเท็จที่เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งที่เป็นข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ และคลิปเสียง ถูกส่งต่อกันไม่ต่ำกว่า 500 ชิ้น โดยไม่ซ้ำกัน ภายในเดือนเดียว

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจจับบนสังคมออนไลน์พบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 จำนวนมากในหลักแสนข้อความ

อาจกล่าวได้ว่า นอกจากมนุษย์จะเป็นผู้ที่ช่วยนำพาให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลกได้แล้ว มนุษย์ยังเป็นต้นเหตุซึ่งทำให้อิทธิพลจากเชื้อไวรัส login เข้าไปก่อผลกระทบในโลกดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่แตกต่างจากโครงสร้างทางสังคมกายภาพในชีวิตจริง ที่มนุษย์มิได้คาดคิดเตรียมภูมิคุ้มกันรับกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ โภชนาการ และการออกกำลังกาย ทำให้รู้สึกมั่นคงทางสุขภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความก้าวล้ำในด้านการคมนาคมอย่างไร้พรมแดน ทำให้ไม่มีสักจังหวะชีวิตที่มนุษย์จะนึกถึงสนามบินที่ต้องถูกใช้เป็นลานจอดเครื่องบิน และตระหนักว่ามนุษย์ด้วยกันเองที่ถูกไวรัสตัวเล็กใช้เป็นพาหะนำพาเชื้อโรคให้กระจายไปทั่วโลก

การขาดการสร้างสภาวะแวดล้อมในการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน รวมทั้งด้านการเชื่อมโยงกับชีวิตทางกายภาพ ให้กับ “พลเมืองดิจิทัล” จึงไม่เพียงแต่เป็นการสละโอกาสป้องกันตัว ที่ทำให้ผู้คนมากมายกลายเป็นผู้ติดเชื้อหรือได้รับผลกระทบแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาใหม่ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง 

กรณีแพทย์ผู้แจ้งข่าวคนแรก

โครงสร้างการปกครองทางดิจิทัล มีส่วนสำคัญในการกำหนดระดับสถานการณ์ถัดไป อาทิ กรณีแพทย์ชาวจีนที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นบุคคลแรก ๆ ที่พยายามแจ้งเตือนเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยไวรัสลึกลับ แต่กลับถูกขนบระเบียบด้านการควบคุมกลั่นกรอง มีส่วนทำให้ข้อมูลสำคัญถูกหน่วงให้ล่าช้าไป ไม่ว่าจะเป็นกลไกโดยเจ้าหน้าที่ทางการ หรือ กลไกทางสังคมดิจิทัล แม้ต่อมาสังคมจะยกย่องสดุดีแพทย์ท่านนี้ แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้ในขณะที่ยังมีลมหายใจแล้ว

    กรณีทฤษฎีสมคบคิด

ทฤษฎีสมคบคิดในเรื่องต่าง ๆ มีมายาว นานก่อนยุคดิจิทัล แต่กลับมาแพร่กระจายขยายเร็วด้วยระบบนิเวศของ “พลเมืองดิจิทัลที่ขาดความสมบูรณ์” ซึ่งผู้คนต่างกระหายหาข้อมูล จนไม่เหลือพื้นที่ “ชั่งใจ” ไว้ให้รอคอยผลสรุป ข้อมูลหลายชิ้นอันเกิดจากการปะติดปะต่อเรื่องราวแบบตัดต่อเชื่อมโยงอย่างดูดี จึงแพร่กระจาย และย้ายสถานะจาก “ทฤษฎี” ของผู้ประพันธ์ กลายไปเป็น “ความจริง” ของผู้ที่หลงเชื่อ

ทันทีที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีหลายข้อมูลซึ่งไร้หลักฐานที่หนักแน่น และจัดเป็นทฤษฎีสมคบคิด ถูกส่งต่อแพร่กระจายข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์และภาษา เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสตัวร้ายที่ถูกมองว่าประดิษฐ์ขึ้นมาโดยน้ำมือของมนุษย์ ข้อมูลที่กระจายจากการระบาดในจีน ก็ชี้นิ้วไปที่ห้องแล็บในฐานทัพสหรัฐอเมริกา ขณะที่ชิ้นข้อมูลคล้ายกันแต่ระบาดในหมู่ชาวอเมริกันกลับชี้ว่าไวรัสนี้จีนจงใจประดิษฐ์ขึ้นเป็นอาวุธชีวภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกต่างวิเคราะห์และลงความเห็นกันว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น เป็นไวรัสที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำมือมนุษย์

ทฤษฎีสมคบคิดประกอบด้วยข้อมูลที่ดูน่าเชื่อถือมากมาย ยกเว้นแต่เพียงข้อมูลจริงที่ขัดแย้งเท่านั้น ที่จะถูกมองข้ามไป ไม่หยิบยกเข้ามาถ่วงดุล

นอกจากประเด็นที่มาของไวรัสแล้ว ยังมีทฤษฎีสมคบคิดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและอนาคตในการควบคุมป้องกันโรค อาทิ ทฤษฎีที่เชื่อมโยงการแพร่ระบาดของไวรัสกับเทคโนโลยี 5G ในสหราชอาณาจักร ที่ถึงขั้นมีการข่มขู่บุคลากรด้านโทรคมนาคมตามสถานที่ต่าง ๆ และ ทฤษฎีการต่อต้านวัคซีนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความกังวลว่าจะทำให้ประชาชนตัดสินใจไม่ไปรับวัคซีน เมื่อวัคซีนถูกประดิษฐ์คิดค้นได้สำเร็จในอนาคต

    กรณีข่าวสารการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ข้อมูลข่าวสารใด ๆ เกี่ยวกับ “โควิด” กลายเป็นแหล่งดึงดูด “ชาวเน็ต” ได้อย่างทรงพลัง เนื่องจากกระแสความสนใจของผู้คน ถูกกระตุ้นด้วยข่าวการพบผู้ป่วยรายแรกในไทย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นดินแดนแรกที่มีการพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่นอกประเทศจีน จากนั้นตามมาด้วยการพบผู้ติดเชื้อคนไทยรายแรก การพบผู้เสียชีวิตรายแรก การที่ดาราดังออกมาประกาศตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หรือการพบกลุ่มผู้ป่วยในสนามมวย และสถานบันเทิง ซึ่งล้วนเป็นการสร้างความสนใจในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

การตื่นตัวต่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาด ถือเป็นโอกาสที่ดีทางด้านการสื่อสารความเสี่ยงทางสาธารณสุข แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจเป็นการสร้างแรงเหวี่ยงที่ไร้การควบคุม เมื่อนับรวมผนวกกับการที่ผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ ต่างระดมสร้างเนื้อหาตอบรับกระแส เพื่อช่วงชิงผู้เข้าชม ซึ่งในบางประเด็น ผู้ผลิตเนื้อหาอาจขาดความเข้าใจ หรือมีการด่วนสรุปข้อมูลบางประการ หรือพบเห็นเนื้อหาบนสื่อสังคมที่ประชาชนเป็นผู้โพสต์ด้วยความเข้าใจผิด แล้วมีการนำเสนอออกไปโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน ก็อาจทำให้ที่ควรจะเกิด “การตื่นตัว” และ “ตระหนัก” กลับกลายเป็น “การตื่นตูม” และ “ตระหนก” ของประชาชน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ

เช่น เมื่อประชาชนพบเห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแต่งกายด้วยชุดป้องกัน เข้าไปในพื้นที่ใด หรือให้การดูแลกับผู้ป่วยรายใด ประชาชนมักจะตีความเข้าใจไปว่า มีการพบผู้ติดเชื้อในสถานที่นั้นแล้ว หรือบุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือนั้นจะต้องเป็นผู้ติดเชื้ออย่างแน่นอน ประชาชนอาจถ่ายภาพแล้วโพสต์เข้าสื่อของตนเองด้วยความเข้าใจผิด หรือต่อมาภายหลัง ไม่พบว่ามีการประกาศการติดเชื้อในบริเวณนั้น ก็อาจจะตีความตัดสินไปว่ามีการพยายามปกปิดข่าว

กลุ่มทักษะการรับมือและต่อสู้กับข่าวปลอมข้อมูลเท็จ : สอบ (เกือบ) ตก

แม้ในช่วงเวลาก่อนหน้าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเด็น “ข่าวปลอม” เป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปรับรู้และเข้าใจว่ามีโอกาสเกิดข่าวปลอมข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ได้ทุกเมื่อและในทุกเรื่อง มีการรณรงค์และดำเนินการหลากหลายวิธีการ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและความตระหนักรู้เท่าทันให้แก่ประชาชนในวงกว้าง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ดูเหมือนว่าการดำเนินการเช่นนั้นจะไม่ทันการณ์ หรือยังไม่ลึกซึ้งกว้างขวางมากเพียงพอ

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ วิเคราะห์สังเกตปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ที่อาจก่อปัญหาต่อสาธารณะและการควบคุมโรค พบปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข่าวปลอมข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ได้แก่

  1. ความเป็นโรคอุบัติใหม่ อยู่ในพื้นที่ซึ่งมนุษยชาติยังขาดความรู้ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่กล้าฟันธงตัดสิน เนื่องจากข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
  2. ความรุนแรงของการระบาด กระตุ้นให้เกิดความหวาดระแวงจนต้องการแสวงหาคำตอบที่วางใจได้ 
  3. ความร้ายแรงถึงชีวิต ทำให้เกิดความหวาดกลัว และลดน้ำหนักในข้างการตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้ปลอดภัยไว้ก่อน

“พบโรคจากไวรัสลึกลับ แพร่ง่ายเหมือนหวัด คร่าชีวิตแล้วนับสิบศพ” หรือพาดหัวข่าวในลักษณะที่ใกล้เคียงกันนี้ มีศักยภาพกระตุ้นความสงสัยได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยืนยันโดยสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นเหมือนการเปิดประตูให้ผู้คนกรูเข้าสู่การขุดคุ้ยหาข้อมูลอันมีค่าเพื่อรักษาชีวิตอย่างไม่ต้องใช้วิจารณญาณเพิ่มเติม เพราะทุกคนกระหายใครรู้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการรอดชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 จึงมีความใหม่ น่าสนใจ น่าตกใจ และทำให้ดึงดูดใจได้ไม่ยาก

แหล่งกำเนิดของข้อมูลที่อาจก่อปัญหาในสถานการณ์โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร จากกรณีโรคโควิด-19 มีอย่างน้อย 8 แหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปได้ทั้งการสร้างข้อมูลเท็จโดยจงใจ และ การแพร่ข้อมูลเท็จโดยรู้ไม่เท่าทัน (ทั้งนี้ จัดเรียงตามภาพใหญ่ถึงภาพย่อย ไม่ได้มีการจัดเรียงลำดับตามระดับการก่อปัญหาแต่อย่างใด)[19]

  1. หน่วยงานทางการ เช่น การมิได้สื่อสารรายละเอียดอย่างครบถ้วนหรือทันเหตุการณ์
  2. บุคคลสำคัญ เช่น นักการเมือง ซึ่งอาจแสดงความคิดเห็นโดยไม่อิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
  3. ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์ และ ไม่ใช่แพทย์ ซึ่งให้ข้อมูลที่อาจแตกต่าง ขัดแย้งกัน
  4. สื่อมวลชน และ ผู้ทรงอิทธิพลบนออนไลน์ นำเสนอเนื้อหาที่อาจไม่ครบถ้วนและส่งผลกระทบ
  5. ผู้ขายสินค้า พยายามให้ข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อถือและสั่งซื้อสินค้าไปบริโภคหรือใช้งาน
  6. หลอกลวงข้ามชาติ ผู้แปลเนื้อหาจากต่างประเทศมาแพร่กระจายโดยไม่ตรวจสอบ
  7. ประชาชนทั่วไป ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิด และสร้างเนื้อหาเผยแพร่โดยไม่ตรวจสอบก่อน
  8. ผู้กุข่าวลวง ผู้ที่ใช้โอกาสเรียกร้องความสนใจหรือชี้นำประชาชนด้วยข้อมูลที่กุขึ้น

นอกจากนั้น ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างส่งเข้าสู่ระบบนิเวศออนไลน์แล้ว ก็ยังมีโอกาสถูกผนวกรวมโยงใยเข้าด้วยกัน อย่างไม่เกี่ยวข้องกัน หรือ อาจวนซ้ำกลับมาแพร่ระบาดในอนาคตได้ไม่รู้จบ เช่น กรณีการแชร์ข้อความว่า “ทีวีประกาศระดับ 3 แล้ว… ด่วน ไวรัส H3N2 ถึงเชียงใหม่แล้ว ไวรัสตัวใหม่จากวูฮั่นประเทศจีนที่มีความรุนแรงทำให้เสียชีวิตในเวลาอันสั้น…” ซึ่งถูกแชร์ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แล้วไปผนวกรวมกับการแจ้งเตือนเท็จอีกข้อความหนึ่ง “กระทรวงสาธารณะสุขแจ้งเตือนว่า ไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้มีความร้ายแรงมาก…” แต่ยังคงพบการส่งต่อกันในเดือนพฤศจิกายน 2563

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ จัดกลุ่มข้อมูลข่าวสารที่มีการส่งต่อกันในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงเดือนแรก ๆ พบว่าแบ่งตามผลกระทบได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. ตื่นตระหนก ตกใจ ชะล่าใจ

เนื้อหาทั้งภาพ ข้อความ คลิป และคลิปเสียง ในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงหรือทำให้เข้าใจไปได้ว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานที่ใด คำเตือนให้งดไปในสถานที่เสี่ยง เชื้อไวรัสมาถึงจังหวัดแล้ว รวมทั้งการชี้นำแนวทางปฏิบัติในลักษณะ “ตุนด่วน จ่อปิดเมือง”

ปัญหาที่เกิดจากข้อมูลลักษณะนี้ จะทำให้ประชาชนผู้เปิดรับข่าวสารตอบสนองอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งในด้านการตอบสนองเกินจำเป็น และ การชะล่าใจมากเกินไป

ข้อมูลสื่อในกลุ่มนี้มักจะมีศักยภาพทำให้เกิดความตื่นตระหนกตกใจได้ง่าย และมักจะไม่ระบุวันเวลาสถานที่ที่เจาะจง จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดวนซ้ำได้ เช่น กรณีมีการแชร์คลิปเสียงข้อมูลเท็จเตือนว่าพบผู้ติดเชื้อในห้างสรรพสินค้าย่านพระราม 9 ซึ่งแพร่กระจายครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม แต่ยังคงอยู่ในระบบนิเวศที่ส่งต่อกันจนถึงเดือนตุลาคม

ความไม่เข้าใจในกลไกของโรค และอาจผนวกกับจินตนาการซึ่งเทียบจากภาพยนตร์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและสำคัญผิด เช่น การเตือนว่าพบผู้ป่วยในบางจังหวัด แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีการพบผู้ป่วยในพื้นที่ดังกล่าว แต่เชื้อไวรัสนั้นจะติดตามและแพร่ระบาดผ่านตัวบุคคลเป็นหลัก การกังวลหวาดกลัวในบางสถานที่ จึงอาจไม่ส่งผลต่อการป้องกันโรค กระทบผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และยังทำให้ผู้คนชะล่าใจว่า สถานที่อื่นจะไม่มีความเสี่ยง หรือเสี่ยงน้อยกว่า

ข้อมูลเท็จในกลุ่มนี้มักจะเป็นข้อมูลชุดแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์คับขันและเป็นสัญญาณของคลื่นข้อมูลเท็จอีกหลากหลายที่จะตามมา ซึ่งสังเกตได้จากภาพผู้คนที่ล้มลง ภาพศพ หรือการปฏิบัติการของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มักแพร่กระจายทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19

นอกจากนั้น ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ทยอยค้นพบและเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจมีศักยภาพในการก่อความเข้าใจผิดได้ เมื่อผู้สื่อสารต่อไม่ได้สื่อสารบริบท หรือกลั่นกรองเนื้อหาอย่างครบถ้วนรอบคอบ เช่น “โควิดกลายพันธุ์แล้ว”] “โควิดแพร่เชื้อตอนออกกำลังกาย”

  1. สำคัญผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด

เรื่องราวทางการแพทย์และที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ถูกผลิตและส่งต่อออกมาอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ตัวบุคคลในการป้องกันตัว รักษาตัว และเพิ่มความตระหนักหรือตระหนก กระตุ้นให้หวาดกลัว เพื่อจะคลิกเข้าไปอ่าน กดเข้าไปดู ปฏิบัติตาม หรือ ซื้อผลิตภัณฑ์

ในภาวะที่ประชาชนกระหายหาข้อมูลข่าวสารเพื่อการดูแลรักษาและป้องกันตนเอง มีโอกาสอย่างมากที่จะลดน้ำหนักการชั่งใจหรือตรวจสอบลง คำแนะนำทางสุขภาพหลายประการ ซึ่งมีโครงสร้างไม่ต่างจากข้อมูลเท็จด้านสุขภาพอื่น ๆ จึงเกิดขึ้นใหม่อย่างมาก และมีศักยภาพในการหลอกลวงให้หลงเชื่อได้

มีตั้งแต่ลักษณะการเกิดโรค การทำลายของไวรัส พาหะนำโรค การแพร่เชื้อ การปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค วินิจฉัย รักษาโรค รวมไปถึงอาหาร ยา สารเคมี สมุนไพร อุปกรณ์ หรือกิจกรรม ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพ

“น้ำอุ่น น้ำชา กระเทียม เครื่องเทศ สมุนไพร ยาบางชนิด รักษาโควิดได้”

“อุปกรณ์ห้อยคอไล่ไวรัส น้ำยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ฆ่าเชื้อ ป้องกันโควิดได้”

ข้อมูลลักษณะนี้ถูกส่งต่อกันจนชินตา ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มียาใดรักษาโควิดได้โดยตรง และการป้องกันโควิดที่ได้ผลที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นแนวทางพื้นฐานที่หน่วยงานทางการประกาศรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลที่แชร์กันในแต่ละประเทศ จะมีความผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังเช่นที่ปรากฏในฐานข้อมูลของ CoronaVirusFacts Alliance ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรนักตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศต่าง ๆ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยการจัดการดูแลของ International Fact Checking Network เช่น “ปัสสาวะวัวรักษาโควิด” ซึ่งแชร์กันในแถบประเทศอเมริกาใต้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพบางประการก็อาจอยู่ในช่วงเวลาถกเถียงและมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เช่น แนวปฏิบัติ “การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยเท่านั้น” ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นมาตรฐาน คำแนะนำที่ให้ทุกคนใส่หน้ากากตลอดเวลาเมื่อพบกับผู้คน จึงถูกตั้งคำถามอย่างมาก แต่ต่อมา เมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติม องค์การอนามัยโลกก็ได้ปรับเปลี่ยนคำแนะนำในภายหลังให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเช่นกัน หรือ กรณีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน แต่แพทย์ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และไม่ควรฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายอย่างเด็ดขาด

  1. สับสน ตึงเครียด ขัดแย้ง

วิธีบริหารจัดการและการเผยแพร่ข่าวสารที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดผลกระทบย้อนกลับมาที่การบริหารจัดการสถานการณ์ของหน่วยงานทางการ รวมทั้งกระแสข้อมูลข่าวสารท่วมท้นที่มาจากทุกทิศทาง ร่วมทำให้การดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

“กูติดยังวะ ?”  เป็นหนึ่งในกระแสที่สะท้อนความรู้สึกของผู้คนในช่วงเวลาที่สงสัยใคร่รู้ว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ แต่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ เพราะองค์ประกอบไม่เข้า “เกณฑ์สอบสวนโรค” หรือ PUI (Patient Under Investigation) เนื่องจากหน่วยงานสาธารณสุขจำเป็นต้องจัดลำดับให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าได้ตรวจหาเชื้อก่อน เพื่อบริหารจัดการไม่ให้ทรัพยากรในการตรวจหาเชื้อขาดแคลน ในช่วงต้นของการระบาดใหม่ที่การตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการมีข้อจำกัดและใช้เวลานาน ก่อนที่ต่อมาจะมีการขยายกลุ่ม PUI ให้ครอบคลุมทุกบุคคลที่สงสัยว่าตนเองติดเชื้อ

การปิดเมือง ปิดประเทศ หรือมาตรการขั้นเด็ดขาดต่าง ๆ ที่ถูกนำมาบังคับใช้ในวงกว้าง มักจะถูกตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมอยู่เสมอ เนื่องจากในสังคมมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลายระดับจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่ประกอบธุรกิจซึ่งอิงรายได้จากนักท่องเที่ยวอาจจะไม่พร้อมให้มีการระงับยุติกิจกรรมท่องเที่ยว แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพประจำที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรือปรับตัวได้ทัน ก็อาจจะสนับสนุนให้ความสำคัญด้านการควบคุมโรคมาก่อน นอกจากนั้น ข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ ยังเพิ่มปัจจัยการประเมินพิจารณามาตรการภายในประเทศ โดยเปรียบเทียบจากมาตรการของประเทศต่าง ๆ ด้วย

การบริหารจัดการควบคุมโรคในระดับประเทศ ยังถูกเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง จนนำมาซึ่งแถลงการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ย้ำเตือนไม่ให้การเมืองหรือผลประโยชน์มานำหน้าสวัสดิภาพของประชาชนในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับมาตรการการควบคุมโรคของทางการนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยสากล และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าผลของการควบคุมโรคจะเป็นอย่างไร เช่น กรณีข้อมูลข่าวสารการประท้วงต่อต้านมาตรการในประเทศจีน การชุมนุมต่อต้านมาตรการในสหรัฐอเมริกา  หรือแม้แต่ในการแสดงความคิดเห็นบนเพจ Facebook ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็พบการแสดงความเห็นต่างขั้วอยู่เสมอ

ด้านการปรับตัวเผชิญสถานการณ์ : สอบผ่าน

แม้ ด้านการเตรียมความพร้อม ด้านการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า และ ทักษะวิชาการรับมือกับข่าวปลอมข้อมูลเท็จ พลเมืองดิจิทัล อาจจะทำคะแนนได้ไม่ค่อยดีอย่างที่ทุกคนมุ่งหวัง แต่เมื่อ “ทุกคน” ต้องอยู่กับสถานการณ์ที่ “QUIT” ไม่ได้ “ชีวิตจึงต้องดำเนินต่อไป” อย่างที่หลายคนมักจะพูดกัน และกลายเป็นกุญแจของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเวลาถัดมา

หลายหลายความคิด บทความ และเรื่องราว ถูกหยิบยกขึ้นมาให้มองหาและมองเห็นแง่ดีในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งให้กำลังใจกันและกันในการต่อสู้กับภัยคุกคามร่วมของมวลมนุษย์ และการขยับปรับตัวทางความคิดเหล่านี้ ถูกสะท้อนขยายออกมาอย่างกว้างขวางกลางใจพื้นที่ของพลเมืองดิจิทัลด้วยเช่นกัน

“ตู้ปันสุข” อันเกิดจากประชาสังคม ต่อเนื่องมาจากนโยบายภาครัฐที่ให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อาจเป็นหนึ่งในช่วงเวลาแห่งการเข้าอกเข้าใจกันที่สูงยิ่งของสังคม แม้การตั้งข้อวิพากษ์สงสัยและต่อต้านจะเกิดขึ้นบ้างตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจขัดขวางการมีอยู่ของความรู้สึกปรารถนาดีต่อกันของพลเมืองดิจิทัล ผู้เป็น “นักใช้เทคโนโลยี” และ “นักสร้างสรรค์” ได้ร่วมกันสร้าง “ความรู้สึกเชิงบวก” ในท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย

ขณะที่พลเมืองดิจิทัล ผู้เป็น “นักพัฒนา” ซึ่งเน้นไปที่ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ วิศวกรคอมพิวเตอร์ ปรับแผนงานหันสรรพกำลังความร่วมมือมาใช้ความรู้ความสามารถและวิทยาการดิจิทัลขั้นสูง เพื่อประสานสร้างเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่จะเสริมพลังให้แก่พลเมืองดิจิทัลและประชาชนโดยภาพรวม เช่น เว็บไซต์เกาะติดสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด ว็บไซต์ประเมินความเสี่ยงโควิด  แอปพลิเคชัน “หมอชนะ”

พลเมืองดิจิทัล ผู้เป็น “สื่อ” และผู้ที่ตระหนักในอิทธิพลทางความคิดของตนเองจำนวนมาก เข้าใจและปรับบทบาทให้ตนเองส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์และกลั่นกรองแล้วให้แก่ผู้ติดตามของตนเอง ทั้งในด้านการดูแลปฏิบัติตนเพื่อห่างไกลจากโรค และการพามองไปข้างหน้าให้ฉวยใช้เวลาและโอกาสวิกฤตเพื่อพัฒนาเตรียมตนเองให้พร้อมสู่โลกใหม่

สื่อมวลชน และ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เข้าใจและตัดสินใจสวมบทบาททำหน้าที่ FACT CHECKER ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยให้กับประชาชน ซึ่ง ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยปรับเนื้อหาให้เน้นการนำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 โดยตรง หรือ โครงการ COFACT ที่เป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมเพื่อต่อสู้รับมือกับข่าวปลอม ก็ได้สร้างประโยชน์เป็นอันมากผ่านการให้คำตอบที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว แก่ผู้ที่สงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านทางเทคโนโลยีแชตบอต

รวมทั้ง CorinaVirusFacts Alliance ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ ก็เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมมือลักษณะเดียวกันในระดับนานาชาติเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมข้อมูลเท็จที่เป็นปัญหาใหญ่บนโลกออนไลน์ หรือการเกิดขึ้นของโครงการ Share Verified โดยองค์การสหประชาชาติ เป็นสิ่งสะท้อนผลกระทบของข่าวปลอมข้อมูลเท็จและจุดอ่อนของประชาคมโลกได้อีกทางหนึ่ง

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางพลเมืองดิจิทัลของไทย สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน และสอดรับกับแนวคิดที่บิลเกตส์เคยนำเสนอไว้ว่า เทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญที่มนุษย์ใช้เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่แห่งศตวรรษ นอกเหนือไปจากวัคซีน วิธีการรักษา ยา หรือนโยบาย

หน่วยงานด้านแหล่งวิชาการซึ่งเป็นฐานสำคัญขององค์ความรู้ ตระหนักในคุณค่าและความจำเป็นของบทบาทตนเอง หลายแห่งจึงตัดสินใจ “ทลายรั้วค่าธรรมเนียม” ยกเลิก Pay-Wall เพื่อให้บุคคลใดก็ได้ในโลก สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงเนื้อหางานศึกษาวิจัย หรือวารสารวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเนื้อหาดิจิทัลหลายแห่ง ก็ตัดสินใจยกเลิก Pay-Wall ของตนเองเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบาก สามารถเข้าถึงเนื้อหา เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ บริการ แอป เกม ฯลฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ถือเป็นการแสดงความเอื้อเฟื้ออารี มีส่วนช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ยอมลดราวาศอกในการแข่งขันเพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ตู้ปันสุขแบบดิจิทัล ได้เช่นกัน

โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลถูกนำมาปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โรคระบาด หลายเทคโนโลยีที่คาดว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับความนิยมแพร่หลาย ก็พลิกกลับมาเป็นเทคโนโลยีสำคัญ เช่น นโยบายการทำงานจากที่บ้าน Work-At-Home ส่งผลให้แพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ อย่าง ZOOM ประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืนจนต้องปรับแผนการปรับปรุงบริการและความปลอดภัยอย่างฉับพลัน และยังกระเพื่อมถึงผู้ให้บริการรายอื่นที่ต้องลุกขึ้นมาปรับแผนอย่างฉับพลัน เช่น Google เพิ่มบริการ Meet เข้าใน Gmail และเปิดให้ใช้ฟรี หรือ Microsoft Team และ Cisco WebEx เร่งพัฒนาเพิ่มความสามารถใหม่ในแอปจำนวนมาก รวมทั้งการเกิดกระแสการโจมตีทางไซเบอร์ใหม่ ๆ เช่น Zoom Bombing  หรือ การหลอกลวงให้คลิกและกรอกด้วยข่าวด่วนเกี่ยวกับโควิด

การตระหนักในคุณค่าความสำคัญแท้จริงของตน จนแสดงออกเป็นการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นมุมมองที่สำคัญในท่ามกลางวิกฤต สำหรับพลเมืองดิจิทัล ทั้งระดับบุคคลและระดับนิติบุคคล เห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่เมื่อนักวิชาการและทางการเห็นว่า การควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีระบบ “การติดตามผู้สัมผัส” (Contact Tracing) ที่มีประสิทธิภาพด้วย นั่นคือ จะต้องสามารถติดตามย้อนกลับได้ว่า ผู้ที่เพิ่งตรวจพบว่าติดเชื้อนั้น ได้ไปสัมผัสกับบุคคลใดในสถานที่ใดมาบ้าง ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา เพื่อจะได้ติดตามหาผู้ที่สัมผัสกับบุคคลเหล่านั้นในระดับถัดไป ซึ่งหลายประเทศได้ทดลองทำโครงการ แต่พบกับอุปสรรคท้าทายทางเทคโนโลยีหลายประการซึ่งทำให้การติดตามผู้สัมผัสเกิดขึ้นได้ยาก [51] จึงเป็นสาเหตุที่สองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Apple ซึ่งเป็นคู่แข่งกันได้ประกาศความร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีแจ้งเตือนการสัมผัส หรือ Exposure Notification ซึ่งจะผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ซึ่งนับเป็นอุปกรณ์พกพาที่มีผู้ใช้ส่วนใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบดังกล่าวจะมีการปกปิดข้อมูลผู้ใช้อย่างเคร่งครัด และเป็นระบบการยืนยันผู้ติดเชื้อโดยสมัครใจ จึงทำให้ยังมีข้อกังวลในหลายพื้นที่ว่าอาจจะใช้ควบคุมโรคได้ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ หรือแม้แต่ระบบแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ของประเทศไทย ก็ยังมิได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เช่นกัน

แม้ในด้านการปรับตัวอยู่กับสถานการณ์ พลเมืองดิจิทัลจะสอบผ่านอย่างน่าพอใจ แต่ในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ก็ยังมีข้อพึงตระหนักและพิจารณาปรับปรุงอยู่บ้าง เช่น การตีตราผู้ป่วย การโจมตีผู้เห็นต่าง (ดังที่เห็นได้ชัดจากการโต้เถียงในเพจ ศบค.ข้างต้น) การแสดงความคิดเห็นดูหมิ่นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการใช้ข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง

ด้านการอยู่กับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ : สอบ (การ์ด) ตก

ในท่ามกลางสถานการณ์คับขัน ความเป็นพลเมืองในโลกจริง กับ ความเป็นพลเมืองดิจิทัล ไม่อาจแยกจากกันได้ แต่หากยังผสานเป็นเนื้อเดียวกันมากยิ่งขึ้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มผ่านไประยะหนึ่ง วิถีชีวิตพลเมืองกลับสู่สภาวะเกือบปกติ (ใหม่) ประกอบกับผลจากการร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของคนไทยทุกภาคส่วน ได้สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับคนไทย

“คนไทยการ์ดเริ่มตก” เป็นข้อสรุปของผลสำรวจในหลาย ๆ ครั้งของกรมอนามัย และการย่อหย่อนในการสวมหน้ากาก-อยู่ห่าง-ล้างมือ ก็ข้ามมาถึงสะพานเชื่อมสู่ชีวิตดิจิทัล การสแกน “ไทยชนะ” เมื่อเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ ก็ร้างลาลงไปตามกัน หากสมมติเหตุการณ์ว่า พบผู้ป่วยในชุมชน แล้วต้องตามย้อนกลับไป 14 วัน คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่งที่จะติดตามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ขณะที่ประเด็นสนทนาบนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องราวของโควิดเป็นหลักอีกต่อไป เหลือไว้เพียงการหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์เชิงนโยบายกันตามวาระเท่านั้น

ประเทศไทย ขึ้นอันดับประเทศที่ทั่วโลกจับตา เพราะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ป่วยโควิดนอกจีน แต่ผ่านมา 10 กว่าเดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และ ผู้เสียชีวิต อยู่ในอันดับต่ำกว่า 150 มีผู้ป่วยห่างจากประเทศอันดับต้น ๆ หลายร้อยเท่า วิถีชีวิตประจำวันใกล้เคียงปกติ การเดินทางไปเรียนหรือทำงานได้ ไม่ต้องหยิบแผนสอง แผนสาม สลับวันสับหว่างมาใช้

ตัดภาพไปในซีกโลกอื่นหรือใกล้ ๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้าน ผู้คนหลักพันล้าน นั่งทำงานอยู่บ้านอย่างไม่แน่ใจในกำหนดสิ้นสุด และการได้ออกไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์พบปะผู้คนคือความใฝ่ฝัน ยอดจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กิจกรรมที่ต้องประชุมพบปะประจำปียกเลิกกันระนาว และไม่มีทีท่าจะกลับสู่สภาวะปกติอีกต่อไป แม้ความหวังในวัคซีนจะมีอยู่บ้าง แต่คงไม่ใช่ยาวิเศษที่จะช่วย “UNDO” ทุกสิ่งให้ย้อนกลับไปได้

สองภาพที่แตกต่างอย่างชัดเจน ดูเหมือนจะดีสำหรับคนไทยที่ใช้ชีวิตกันตามปกติได้ แต่ในเวลาเดียวกันสภาวะเช่นนี้ทำให้เกิด “สภาพบังคับ” อย่างกว้างขวางในนานาประเทศ ที่บีบบังคับให้ “ความเป็นพลเมืองดิจิทัล” ถูกเคี่ยวเข็ญและยกระดับขึ้นไปอีกขั้น คล้ายกับการเข้าค่ายเก็บตัวและฝึกหนักกันเป็นปี ๆ ในขณะที่พลเมืองดิจิทัลในไทย มีชีวิตสะดวกสบายอยู่นอกค่ายนั้น และคงจะคาดการณ์ผลลัพธ์กันได้ไม่ยากว่า จะมีทักษะทางดิจิทัลของคนไทยบางอย่าง ถูกทิ้งห่างโดยประชาคมโลกในเร็ววันนี้

นอกไปจากนั้น ทักษะของพลเมืองดิจิทัลในประเทศไทย กำลังจะถูกท้าทายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของตนเอง จากหลากหลายโครงการที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แอปพลิเคชันรับและจ่ายเงินผ่านมือถือด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือหลัก รวมถึงการลงทะเบียนรับสิทธิ์ การตรวจสอบเงินเข้าออก เป็นเหมือนมหกรรมการย้ายประชาชนจำนวนมากจากพลเมืองแอนะล็อกทางการเงิน มาสู่พลเมืองที่ใช้เงินดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ข่าวคราวการหลอกลวงผ่านไซเบอร์ยังไม่มีทีท่าจะลดลง จึงน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นว่าพลเมืองดิจิทัลหน้าใหม่เหล่านี้จะดูแลประตูสมบัติของตนเองอย่างไร

เช่นเดียวกับ ทักษะในการเผชิญ “โรคระบาดข้อมูลข่าวสาร” หรือ INFODEMIC ที่ประเทศไทยอาจจะได้มีโอกาสรับมือและฝึกฝนกันอยู่ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดโรค แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไป อาจนับว่า “การ์ดตก” ย้อนกลับไปสู่สภาวะปกติเก่า โดยสังเกตจากการแพร่ระบาดของประเด็นทางการเมืองที่ยังคงเต็มไปด้วยข่าวปลอมข้อมูลเท็จ และอาจจะร้ายแรงยิ่งขึ้น หากข้อมูลเท็จเหล่านั้นเป็นการจงใจส่งต่อโดยไม่อยู่บนฐานข้อเท็จจริง แต่อยู่บนฐานความพึงพอใจ ร่วมด้วยถ้อยคำเกลียดชัง แบ่งแย่งผู้แตกต่าง และข้อความหยาบคายเป็นเรื่องปกติของการแสดงอารมณ์ในที่สาธารณะ 

จดหมายข่าว INFODEMIC MANAGEMENT NEWS FLASH ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2020 เผยแพร่ภาพการ์ตูนของ Arghxsel Cartoons ในคอลัมน์ Feature Artwork เป็นภาพการ์ตูนหมาป่าที่อยู่ท่ามกลางฝูงแกะ 7 ตัว ซึ่งไม่มีอาการตกใจ บางตัวยังกินหญ้าอย่างอารมณ์ดี

หมาป่าพูดว่า “พวกเจ้ารู้ใช่ไหมว่า ข้าคือหมาป่า ทำไมเจ้าไม่หนีไปล่ะ ?”

เหล่าแกะตอบด้วยท่าทีเรียบเฉย

“พวกเราพึ่งพาภูมิคุ้มกันหมู่”

“ร่างกายที่ฝึกมาอย่างดี จะรอดชีวิตจากคมเขี้ยวหมาป่า”

อีกตัวหนึ่งบอกว่า “มีแต่ตัวที่แก่และป่วยเท่านั้นแหละ ที่จะถูกหมาป่าจู่โจม”

และแกะอีกตัวหนึ่งบอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม…

“หมาป่ามีจริงซะที่ไหนล่ะ”

จดหมายข่าวอธิบายถึงภาพนี้ด้วยการเปรียบเทียบกับ “risk perception” หรือ ความสามารถในการรับรู้ถึงความเสี่ยงหรืออันตราย ต่อตนเองหรือคนรอบข้าง

“สำหรับโรคโควิด-19 แล้ว ยังมีความแตกต่างไม่ลงรอยกันของ “การรับรู้ความเสี่ยง” ในมุมมองของทั้งนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และสาธารณชน ดังนั้น การสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่าง ความหวัง และ ความกังวล คือ เป้าหมายสำคัญของเหล่านักจัดการ infodemic” บทความระบุ

ภาพเปรียบเทียบดังกล่าว ยังสะท้อนด้วยว่า ในสภาวะที่ถูกจู่โจมด้วยโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร หรือ infodemic นั้น ประชาคมโลกจำนวนมากยังตกอยู่ในการเชื่อถือเฉพาะข้อมูลที่ขาดความสมดุล ไปจนถึงข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง

ขณะที่สถานการณ์ที่คนไทยเผชิญในช่วงปลายปี 2020 ที่มีความแตกต่างไปจากอีกหลายประเทศในโลก ทำให้การยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในแบบ infodemic management ก็อาจจะไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัจจัยกระตุ้นของโรคระบาดไม่ใช่ประเด็นที่มีน้ำหนักสำหรับคนไทย

การขาดโอกาสในการจัดการข้อมูลข่าวสารที่แพร่ระบาด รวมทั้งการขาดโอกาสเผชิญวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น อาจส่งผลในระยะยาวเมื่อต้องเข้าสู่เวทีโลกของพลเมืองดิจิทัลชาวไทย และในขณะเดียวกันกระแสข่าวปลอมข้อมูลเท็จทางการเมืองที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบอย่างหนัก อาจเป็นบทสรุปได้ว่า แม้ประเทศไทยมิได้มีสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรง แต่พลเมืองดิจิทัลไทยที่แม้ผ่านสถานการณ์โรคระบาดข้อมูลข่าวสารมาแล้ว ก็ยังคงตกเป็นเหยื่อกระแสข่าวปลอมข้อมูลเท็จในด้านอื่น ๆ และต้องการ infodemic management เช่นเดียวกัน

บทสรุป : “สอบตก” คือ กระจกเงา

ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า พลเมืองดิจิทัล “สอบไม่ผ่าน” ในข้อสอบใหญ่ที่มากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในด้าน

การเตรียมความพร้อม การเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้า และการอยู่กับสถานการณ์อย่างเกิดประโยชน์เชิงบวก

โดยเฉพาะทักษะการรับมือและต่อสู้กับข่าวปลอมข้อมูลเท็จ ที่โหมกระหน่ำพร้อมกันทั่วโลก เป็นสภาวการณ์ที่เกินกว่าการรับมือปกติจะทำได้ แม้ “สอบไม่ผ่าน” เพราะมีข้อมูลข่าวสารเท็จมากระหน่ำซ้ำเติมสถานการณ์ และสร้างความสับสน ตื่นตระหนก และขัดแย้ง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ได้เห็นการ “ตั้งตัว” และ “ปรับตัว” ลุกขึ้นมารวมพลังต่อสู้ของประชาคมโลก

ในขณะเดียวกัน พลเมืองดิจิทัล “สอบผ่าน” อย่างสง่างาม ในการปรับตัวเมื่อจำเป็นต้องเข้าสู่การร่วมใจรับสถานการณ์ ทั้งการเสริมพลังเชิงบวกทางจิตใจ ไปจนถึงการลดราการแข่งขัน แล้วเททักษะฝีมือเฉพาะทางต่าง ๆ เพื่อร่วมกันบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์โหดร้าย

แต่ข้อพึงตระหนักสำคัญ คือ ถ้อยคำเกลียดชัง การตีตรา ความหยาบคาย และการจงใจเผยแพร่ข่าวปลอม ยังคงเป็นเหยื่อล่ออย่างดีให้ผู้คนติดกับดักของโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะในหัวข้อหรือประเด็นใด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย อาจขาดโอกาสที่จะได้เข้าร่วมเผชิญหน้าในสถานการณ์ที่คับขันของข้อมูลข่าวสารที่แพร่ระบาดไปควบคู่กับโรคอย่างรุนแรง แต่การเรียนรู้และต่อยอดจากองค์ความรู้ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ อย่างเช่น ศาสตร์การบริหารจัดการ infodemic ถือเป็นแนวทางที่ขาดไม่ได้ ควบคู่ไปกับการไล่ติดตามกระแสพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่ระดับโลกสร้างขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาหนักแห่งศตวรรษครั้งนี้

สุดท้ายนี้ ย้อนทวนกลับมาดูนิยามและทักษะของ พลเมืองดิจิทัล กันอีกครั้ง

“ผู้ที่เข้าสู่อินเทอร์เน็ต แล้วสามารถใช้เพื่อมีส่วนร่วมในสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และปลอดภัย… มีชุดทักษะความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์ รู้จักป้องกันตนเองจากความเสี่ยงต่าง ๆ ในโลกออนไลน์… ควรบ่มเพาะทักษะที่จำเป็น 8 ประการ ได้แก่

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว
  3. ทักษะในการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี
  4. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ
  5. ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้บนโลกออนไลน์
  7. ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

ผู้เขียนพบว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ และจำเป็นต้องติดอาวุธหรือเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่พลเมืองดิจิทัล เห็นควรให้มีการย้ำเตือนเหล่าพลเมืองดิจิทัล ให้ตระหนักถึงรอยต่อที่เริ่มเลือนหายไปของโลกดิจิทัลกับโลกกายภาพ (เช่น ถูกแฮกบนโลกออนไลน์ แต่เงินหายในชีวิตจริง) และความแตกต่างของสิ่งที่อยู่ในโลกดิจิทัลกับโลกความเป็นจริงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (เช่น ชีวิตจริง ไม่มี UNDO ไม่มี Restart) 

อาจจะจัดได้ว่าเป็น “ทักษะพลเมืองดิจิทัล ลำดับที่ 9 ทักษะในการแยกแยะและเชื่อมโยง โลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริง” เป็นเหมือนทุ่นเตือนสึนามิที่ติดตั้งเพื่อย้ำเตือนให้ตระหนักของสองโลกที่กำลังจะผสานกันอย่างสมบูรณ์

เพราะหากพลเมืองดิจิทัลยังใช้ชีวิตออนไลน์อย่างแยกขาด มั่นใจในการนิรนาม เพลินอยู่ในห้องแห่งเสียงก้องของกลุ่มพวกแล้ว ไม่ว่าปรากฏการณ์โรคระบาดข้อมูลข่าวสารครั้งใหม่จะถาโถมเข้าถล่มใส่อีกกี่ครั้ง ก็จะยังไม่เกิดการเรียนรู้ และอาจจะสอบไม่ผ่านอยู่ร่ำไป

———

“…we have invested a huge amount in nuclear deterrence, but we’ve actually invested very little in a system to stop an epidemic. ”

ในสุนทรพจน์เดียวกันเมื่อปี 2015 บิลเกตส์ ยังกระตุ้นให้นานาชาติลุกขึ้นมายกเครื่องเตรียมพร้อม หลังจากที่ต่างลงทุนมากมายไปกับการครอบครองนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามกัน ทั้งนี้ ให้ถือว่าโรคระบาด Ebola ซึ่งขณะนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 10,000 คน เป็นสัญญาณปลุกให้มนุษย์ตื่นขึ้นเห็นภัยคุกคามสักที

“If we start now, we can be ready for the next epidemic.”

อาจไม่ใช่แค่รู้สึกว่า “สายเกินไป” แต่ยังน่าเสียดายที่ พร้อม ๆ กับความแพ้พ่ายต่อ “epidemic” แล้ว มนุษย์ยังใช้โลกดิจิทัลที่ก้าวล้ำ ให้กำเนิด infodemic ขึ้นมาอีกด้วย

Footnote (อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สมบูรณ์)