กินยาต้านแล้ว ต้องเว้นระยะ 2 ชั่วโมงเพื่อกินนม?
ผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี จะสามารถทานยาพร้อมนม หรือแอลกอฮอล์ได้หรือไม่?
ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหลายคนอาจจะกังวลว่าเราสามารถดื่มนมหรืแอลกอฮอล์พร้อมกับยาต้านเอชไอวีได้หรือไม่? เนื่องจากหลายคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการทานยาไม่เหมือนกัน บางคนมีหลักการที่จะเว้นการทานยากับนมไว้ บางคนก็คิดว่าอาจจะทานร่วมกันได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าในทางการแพทย์ไม่สามารถทานร่วมกันได้ แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้น บทความนี้มีคำตอบ
สำหรับการรับประทานยาต้านเอชไอวีควรพิจารณาเรื่องอาหารและยาที่รับประทานร่วมกัน ดังนี้
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม : ยาต้านเอชไอวีบางชนิดอาจมีปฏิกิริยากับแคลเซียมในนม ทำให้การดูดซึมยาลดลง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกับนม หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- แอลกอฮอล์ : การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาต้านเอชไอวีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงต่อตับและไต ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
และเพื่อความปลอดภัย หากต้องทานยาหรืออาหารเสริมอย่างอื่นร่วมด้วย รวมถึงยาประจำตัวของตนเอง ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาหารและยาที่รับประทานร่วมกับยาต้านเอชไอวีเสมอ เนื่องจากยาบางตัวมีปฏิกิริยาตอบสนองกับยาต้านเอชไอวี และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่วมด้วย
นอกจากนี้ การรับประทานยาต้านเอชไอวีอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคและป้องกันการดื้อยา ซึ่งข้อควรระวังในการรับประทานยาต้านเอชไอวีมีดังนี้
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา : การรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดช่วยรักษาระดับยาในเลือดให้คงที่และป้องกันการดื้อยา
- หลีกเลี่ยงการหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง : หากมีผลข้างเคียงหรือปัญหาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง
- ระวังปฏิกิริยากับยาอื่น : ยาต้านเอชไอวีอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ เช่น ยาลดกรด วิตามิน หรือสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสริม
- ติดตามผลข้างเคียง : สังเกตอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผื่น หรืออาการอื่น ๆ หากพบควรแจ้งแพทย์ทันที
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ: เข้ารับการตรวจเลือดและประเมินการทำงานของตับและไตตามที่แพทย์นัดหมาย เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของยา
แน่นอนว่าการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดี แข็งแรงเฉกเช่นคนที่ไม่มีโรค รวมไปถึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างยืนยาวอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
- หน่วยคลังข้อมูลยา มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- มูลนิธิเพื่อรัก