HIV = AIDS?

มีเชื้อเอชไอวี เท่ากับเป็นโรคเอดส์จริงเหรอ?

ความกังวลของผู้ที่กำลังมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากการกล้าไปตรวจแล้วก็คงจะเป็นทัศนคติและมุมมองของตนเอง รวมถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า มีเชื้อเอชไอวีก็เท่ากับเป็นโรคเอดส์ไปแล้ว แต่แท้ที่จริงแล้ว เอชไอวี และ เอดส์ มีความแตกต่างกันมากพอสมควร ซึ่งบทความนี้จะนำท่านมาเรียนรู้กันว่าความแตกต่างของเอชไอวีกับเอดส์เป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เอชไอวี (HIV)  และ เอดส์ (AIDS) มีความแตกต่างกันมากพอสมควร โดย เอชไอวี (HIV) นั้นย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อเอชไอวี ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง

ในขณะที่ เอดส์ (AIDS) ซึ่งย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เมื่อระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งหากมีการติดเชื้อเอชไอวีขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเอดส์ทันที ถ้าหากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดีได้ 

สำหรับเอดส์นั้น ปัจจัยที่บ่งชี้ว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะเอดส์ได้นั้น สามารถพิจารณาได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หากลดลงต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แสดงว่าระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง และการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยนั้น มีหลักๆ ได้แก่ วัณโรค ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอด ทำให้มีอาการไอเรื้อรังและหายใจลำบาก, ปอดอักเสบจากเชื้อรา โดยเชื้อราทำให้ปอดอักเสบและบวม อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต, เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส โดยเป็นการติดเชื้อราที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ, การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ดวงตาและอาจนำไปสู่การตาบอด และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดจากการเกิดเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวม

ซึ่งเอดส์ (AIDS) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยถูกทำลายอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการวินิจฉัยและเริ่มการรักษาแต่เนิ่น ๆ สามารถชะลอการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและการติดตามสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นและมีอายุเทียบเท่ากับคนที่ไม่มีโรคได้เลยทีเดียว


แหล่งอ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย (คลินิกนิรนาม)
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ