เก็บตกจาก g0v Summit 2024: วิธีสู้ข่าวลวงในยุค AI
“ข่าวลวงในยุค AI” เป็นหนึ่งในหัวข้อเสวนาของงาน g0v Summit 2024 ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของเหล่า “เนิร์ด” ด้านเทคโนโลยีและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในไต้หวัน ที่ร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมด้วยการใช้เทคโนโลยี/ซอฟต์แวร์แบบ open source ภาคพลเมือง บนพื้นฐานความโปร่งใสและเปิดเผย
g0v (อ่านว่า “gov-zero”) ก่อตั้งเมื่อปี 2555 เป็นเครือข่ายภาคพลเมืองที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพและความเชี่ยวชาญ ทั้งโปรแกรมเมอร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ประกอบการเพื่อสังคม นักวิชาการ นักกิจกรรม ฯลฯ ผู้ร่วมก่อตั้งที่สำคัญคนหนึ่งคือคุณออเดรย์ ถัง อัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์และนักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งในปี 2559 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลคนแรกของไต้หวัน
g0v จัดระดมสมองในรูปแบบ hackathon ทุกสองเดือน เพื่อเปิดเวทีให้สมาชิกมาขายไอเดีย เสนอโครงการ รับสมัครทีมงานอาสาสมัคร และมีการจัดการรวมตัวครั้งใหญ่หรือ g0v Summit เป็นประจำทุกสองปี มาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีทั้งผู้สนใจจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานด้วย
g0v Summit ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พ.ค. ที่ Academia Sinica ชานกรุงไทเป มีผู้เข้าร่วมคึกคัก ทีมงานโคแฟค ประเทศไทย ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยโดยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาดูงานด้านการรับมือข่าวลวงของไต้หวันในโอกาสครบรอบ 5 ปี การก่อตั้งโคแฟค ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดิช เนามันเพื่อเสรีภาพ (FNF)
ตลอดสองวันของงานซัมมิทมีทั้งการเสวนา อภิปราย บรรยายพิเศษ นำเสนอโครงการ และเวิร์คช็อปที่น่าสนใจในหลายหัวข้อ เช่น เทคโนโลยีกับความถดถอยทางการเมือง สิทธิทางดิจิทัล การกำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัล การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เป็นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์จากหลายภาคส่วนทั้งในไต้หวันและจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย คือ ดร.ศราวุฒิ นิลสวัสดิ์ นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย นำเสนอเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศ คุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งบริษัท Opendream ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี
เนื่องจาก AI เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้จัด ‘g0v Summit 2024’ ให้ความสำคัญ จึงได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ข่าวลวงในยุค AI” โดยมีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย คุณบิลเลียน ลี ผู้อำนวยการ Cofacts ของไต้หวัน และคุณชิเฮา หยู ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิจัยระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารแห่งไต้หวัน (Taiwan Information Environment Research Center –IORG) ร่วมพูดคุย โดยทั้งสามคนเห็นตรงกันว่าการใช้เทคโนโลยี AI ในทางลบกำลังคุกคามระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารทั้งในไทยและไต้หวัน
Deepfake แพร่หลาย Cheapfake ก็ยังอยู่
คุณสุภิญญาเล่าถึงปฏิกิริยาโดยรวมของคนไทยต่อ AI ว่ามีทั้งคนที่มองเห็นโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีนี้และคนที่กังวลถึงด้านมืดหากถูกใช้ในทางที่ผิด โคแฟคเองก็มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ Generative AI ในการสร้างและเผยแพร่เนื้อหาเพื่อหลอกลวงประชาชน หรือที่เรียกว่า “deepfake” เพราะแม้แต่ก่อนที่ AI จะถูกใช้อย่างแพร่หลาย คนไทยจำนวนมากก็ถูกหลอกให้เสียทรัพย์โดยมิจฉาชีพที่หลอกลวงด้วยวิธีการง่าย ๆ หรือ “cheapfake” อย่างเช่นการโทรศัพท์หลอกลวงให้โอนเงินหรือส่งข้อความให้กดลิงก์เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นเมื่อ cheapfake ยังคงอยู่ และมี deepfake มาสมทบ ประชาชนย่อมตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น
โคแฟคเห็นว่าสิ่งที่จะป้องกันผู้คนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทั้งจาก cheapfake และ deepfake คือการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี โคแฟคจึงเน้นการทำงานด้านการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน รวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คนในทุกระดับตั้งแต่ครอบครัวถึงชุมชน เพื่อให้ช่วยกันดึงสติก่อนถูกหลอกให้เชื่อ
“ถ้าเรารับข้อมูลข่าวสารอยู่คนเดียว ตัดสินใจเองลำพัง เราอาจถูกหลอกได้ง่าย แต่ถ้ามีใครอยู่ใกล้ ๆ อย่างคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ให้เราได้พูดคุยถามความเห็น เราจะเกิดการยับยั้งชั่งใจและไม่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลหลอกลวง” คุณสุภิญญากล่าว นอกจากสร้างเกราะป้องกันในระดับบุคคลแล้ว สุภิญญามองว่าสังคมไทยต้องพูดคุยหารือกันว่าควรจะมีการกำกับดูแลการใช้ AI หรือไม่ อย่างไร ควบคู่กับการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเทคโนโลยีภาคพลเมือง เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่จะมารับมือกับข่าวลวงที่สร้างจาก AI
สู้เทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยี
คุณชิเฮา วิศวกรซอฟต์แวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและผู้อำนวยการ IORG ซึ่งทำงานด้านการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวว่า AI ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ IORG ใน 3 ด้านหลักคือ ปริมาณข้อมูล (quantity) ความหลากหลายของข้อมูล (diversity) และความจริงแท้ของข้อมูล (authenticity)
AI ทำให้ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจนอาจกระทบกับศักยภาพและเนื้อที่ในการจัดเก็บ โดยเฉพาะวิดีโอที่สร้างโดยใช้ Generative AI ที่เพิ่มขึ้นสูงลิ่วโดยเฉพาะใน TikTok
นอกจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ความหลากหลายของข้อมูลก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะ AI สามารถผลิตเนื้อหาออกมาได้หลายเวอร์ชันได้อย่างง่ายด่ายในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่กระจายของข้อมูลทำได้ยากยิ่งขึ้น ผลกระทบด้านสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของ deepfake อย่างเช่นวิดีโอและคลิปเสียงเท็จที่สร้างจาก AI ที่ทำให้เราต้องเสียพลังงานและเวลาในการตรวจสอบความจริงแท้ของเนื้อหาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
“นี่เป็นเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจะต้องร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีน้ำดีมาสู้กับการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด อย่างการสร้างเนื้อหาเท็จและหลอกลวง”
อย่างไรก็ตาม ลำพังเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับข่าวลวงในยุค AI คุณชิเฮาเสนอว่าปราการป้องกันข่าวลวงจะต้องสร้างจากองค์ความรู้จากหลายสาขาวิชาผสมกัน ทั้งรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงจิตวิทยา
“ที่สำคัญที่สุด การกำกับดูแลการใช้ AI จะต้องฟังเสียงประชาชน ประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดว่าเราควรใช้ AI อย่างไร การออกนโยบายและระเบียบใด ๆ มากำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีนี้จะต้องเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย” คุณชิเฮาให้ความเห็น