โคแฟคเปิดวงเสวนาข้อมูลบิดเบือนความเชื่อและความจริงด้านสุขภาพในสื่อออนไลน์  สร้างความสับสนให้ผู้รับสื่อ

Editors’ Picks

27 พ.ย. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และ บริษัท เจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวิร์ค จำกัด จัดงาน “Infodemic Literacy Forum เสวนาสาธารณะรู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ #1” ณ ห้องประชุมชั้น 2 ห้อง 201 อาคารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค”

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา กล่าวเปิดการประชุมว่า ย้อนกลับไปในปี 2563 ซึ่งเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเวลาเดียวกันยังเกิดการระบาดของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือข้อมูลลวง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกสถานการณ์นี้ว่า “อินโฟเดมิก (Infodemic)” ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของคนในสังคมอย่างมาก

จากนั้นในปี 2565 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) สำรวจพบคนไทยร้อยละ 85 ใช้สื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ไทยก็ติด 1 ใน 10 ของโลก ว่าด้วยประเทศที่ผู้คนวิตกกังวลเรื่องข่าวลาวง ทั้งในแง่ความรู้สึกและปริมาณ โดยคะแนนความกังวลของไทยอยู่ที่ 62 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ประมาณ 50 กว่า แต่เรื่องนี้มองได้ 2 ด้าน ทั้งการที่คนไทยเผชิญวิกฤติของการระบาดของข้อมูลข่าวสารบิดเบือนสูงมาก และการที่คนไทยตื่นตัว ระแวดระวังสูงมากด้วยเช่นกัน 

ข้อมูลเหล่านี้ก็มีทั้งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ มีประโยชน์ อ้างอิงได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อมูลที่บิดเบือน ผสมผสานความเชื่อ-ความจริงแบบมีชั้นเชิง หรือใส่ความเชื่อที่ขาดการพิสูจน์ไว้อย่างแนบเนียนมากๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดจากความกลัว ความไม่รู้ของผู้คน และการขาดการเท่าทันสื่อ ไม่ว่าคนที่ทำขึ้นมาจะหวังผลทางธรกิจ หรือหวังผลที่เรียกว่า คลิกเบท (Click Bait-พาดหัวล่อเป้า) ยอดไลค์ยอดแชร์ต่างๆ แต่ผู้คนในสังคมก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการติดตั้งทักษะในการที่จะมีภูมิคุ้มกันต่อการที่จะเท่าทันสื่อ และใช้สื่อที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีนางญาณีกล่าว

ต่อด้วยวงเสวนา “เมื่อความเชื่อ VS ความจริง เราควรรับมือข้อมูลสุขภาพอย่างไร” โดย พญ.ณัษฐา พิภพไชยาสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานโภชนศาสตร์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยและเสียชีวิต สุขภาพจึงเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสำคัญ ขณะที่โรคมะเร็งถือเป็นโรคเรื้อรัง (NCDs) เช่นเดียวกับโรคเบาหวานหรือโรคความดัน ซึ่งการรักษาค่อนข้างซับซ้อนและมีผลข้างเคียงมาก ทำให้ผู้คนหวาดกลัวกับโรคและการรักษา จึงมีการเกิดขึ้นของสารพัดข้อมูลที่พยายามทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยและรักษาหายได้มาก

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทุกคนอยากฟังแต่ข้อดีหรือข่าวดี ไม่มีใครอยากฟังเรื่องน่ากลัวหรืออันตราย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในฐานะที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นทั้งผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็ยังเป็นสถาบันทางวิชาการด้วย จึงได้พบเจอข้อมูลมากมายในสังคม ทั้งความเชื่อและแนวทางการรักษาต่างๆ มากมาย จึงต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องยอมรับว่าข้อมูลทางการแพทย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป วิธีการรักษาบางอย่างในอดีตอาจถูก แต่ปัจจุบันกลายเป็นวิธีที่ผิดก็มี

ปัจจุบันอยู่กับคำว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) คือวิธีการรักษาต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น ยาที่ผ่านการวิจัย ทดลอง เก็บข้อมูล กว่าจะได้รับการรับรองบางทีเป็นสิบปี แต่พอออกมาตลาด ใช้ไปอีกสิบปี ปรากฎว่ายานี้เป็นอันตราย เพราะตอนทดลองใช้กลุ่มตัวอย่างหลักร้อย-หลักพันคนเห็นผลข้างเคียงเล็กน้อยแล้วมองว่าไม่เป็นอะไร แต่พอมาใช้จริงมีผู้ใช้ยาเป็นหลักหมื่น-หลักแสน-หลักล้านคน และใช้กันมาเป็นเวลานานเพียงพอจนเห็นผลข้างเคียงชัดขึ้น ยานั้นก็ต้องถูกถอดออกจากการใช้รักษา

“สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เราต้องอ้างอิงข้อมูลการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่มีในปัจจุบัน ไม่แต่เพียงภายในประเทศ แต่รวมถึงข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก เพื่อทำให้ได้ข้อมูลเพื่อเผยแพร่ สื่อสารกับประชาชน แล้วก็ภาคีเครือข่ายที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารออกไปให้ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จะได้ไม่เอาตัวไปเสี่ยงกับอะไรที่มันยังไม่รู้ เราคงไม่อยากเป็นหนูทดลองโดยที่เราไม่รู้ระเบียบการวิจัย” พญ.ณัษฐา กล่าว

ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์ แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกล่าวว่า ข่าวลือเรื่องวิธีการรักษาโรคมะเร็ง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพร อย่างไรก็ตาม มี 2 คำที่ความหมายไม่เหมือนกัน คือคำว่า ต้านกับคำว่า รักษา โดยข้อมูลจำนวนมากที่ระบุถึงสมุนไพรซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เป็นข้อมูลที่มีส่วนจริง โดยอ้างอิงการทดลองเพาะเซลล์มะเร็งแล้วใส่สารจากสมุนไพรลงไป แล้วพบว่าสามารถยุบหรือลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้

แต่เมื่อนำสมุนไพรดังกล่าวมาใช้ในมนุษย์ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งจะได้ผลแบบเดียวกับการทดลองในหลอดทดลอง นอกจากนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วยังไม่มีงานวิจัยใดที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การใช้สมุนไพรแบบเดี่ยวๆ แล้วสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าสมุนไพรจะไม่มีประโยชน์เลยกับผู้ป่วยมะเร็ง โดยผู้ป่วยอาจใช้แล้วช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด เช่น บางคนไม่สามารถให้ยาเคมีบำบัดตามรอบที่แพทย์กำหนดได้เพราะภูมิคุ้มกันตก แต่หากดูแลตนเองได้ดีก็อาจทำการรักษาได้ต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้

“สมุนไพรจึงมีบทบาทแค่ในแง่ของทางเลือก ที่จะเสริมควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งวิธีการเลือกสมุนไพรส่วนใหญ่เราจะเลือกจากหลักฐานงานวิจัยส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้อาจจะไม่ไปถึงขั้นในคน แต่ถ้ามันพอมีข้อมูลอยู่บ้างและมีการใช้มายาวนาน อย่างเช่นขมิ้นชัน ใครๆ ก็รู้จัก ทั่วโลกรู้จัก หรือส่วนใหญ่เราจะมองว่ามันใช้ได้ สมมติว่ามีคนมาถามว่าขมิ้นรักษามะเร็งได้ไหม เราก็จะบอกว่าไม่ได้ แต่ถ้าคนไข้อยากใช้ก็คือใช้เป็นทางเลือกเสริม โดยหวังผลในแง่การลดอักเสบซึ่งมันก็ลดได้จริง ซึ่งฐานรากเหง้าของมะเร็งจริงๆ คือการอักเสบที่เกิดขึ้น” ภญ.อาสาฬา กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการทำงานร่วม 4 ปีของโคแฟค นอกจากโควิด-19 แล้ว โรคมะเร็งจะเป็นอีกเรื่องที่มีข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของบางองค์กรจะมีลักษณะฟันธงไปเลยว่าเป็นข้อมูลจริงหรือลวง แต่แนวคิดของโคแฟคอยากให้ทุกคนมีสติ รับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วตรวจสอบ บนฐานของการหาความจริงร่วม หมายถึงเปิดกว้างกับข้อเท็จจริงหลายชุด เพราะเชื่อว่าในแต่ละประเด็นอาจไม่ได้มีข้อเท็จจริงเพียงชุดเดียว แต่ข้อมูลก็ต้องอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์และหลักเหตุและผลด้วย

ทั้งนี้ เรื่องสุขภาพการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้ง่าย เพราะมีหลายแง่มุม เช่น กรณีวัคซีนโควิด-19 การใช้กัญชาหรือสมุนไพรต่างๆ เพื่อรักษาโรค เป็นต้น จึงนำมาสู่ข้อถกเถียง ซึ่งเราจะพยายามมองอย่างเข้าใจ ไม่แบ่งแยกว่าคนที่แชร์ข่าวแนวหนึ่งแบบมองว่าทำไมไม่รู้จักคิด-ทำไมถึงเชื่อ แม้บางเรื่องเราอาจตั้งคำถามว่าทำไมจึงมีการแชร์ต่อ แต่ก็จะพยายามหามุมมองที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเปิดใจรับฟังกันและทำความเข้าใจ ด้วยความที่ตนก็เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงเข้าใจว่าเหตุใดผู้คนจึงแชร์ข่าวโรคนี้กันมาก

“ส่วนหนึ่งคนอาจจะท้อถอยในการรักษาแผนปัจจุบัน เพราะมันแพง มันใช้เวลา มันยุ่งยาก มันต้องกินอาหารเสริม ต้องฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดขาว จะต้องกินไข่ขาว จะต้องไปรับโอโซนให้ร่างกายสดชื่น อะไรแบบนี้ มันมีต้นทุนทั้งนั้น ก็เลยเข้าใจได้ว่าถ้าจะรักษาให้ครบกระบวนการไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ อันนี้เราต้องเข้าใจคนด้วยว่าทำไมเขาถึงไปหาสายมู สายสมุนไพร หรือสายวัด มันก็จะต้องมาแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างนี้ด้วย ว่าจะรองรับให้คนเข้าสู่กระบวนการในการรักษาได้อย่างไร” น.ส.สุภิญญากล่าว

นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า เจริญเคเบิลทีวี มีผู้ชมประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน และเป็นการชมแบบเสียค่าบริการ แบ่งเป็นอาคารประเภทต่างๆ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล อพาร์ตเมนท์ คอนโดมิเนียม ที่เจ้าของสถานที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการ ร้อยละ 60 กับบ้านเรือนทั่วไปที่ครัวเรือนจ่ายเอง ร้อยละ 40 โดยช่องที่ออกอากาศในเจริญเคเบิลทีวี มีทั้งหมด 150 ช่อง เป็นช่องดิจิทัล 36 ช่อง และส่วนที่เหลือจะเป็นช่องดาวเทียม 

แต่ทุกช่องที่ดึงสัญญาณมาออกอากาศ ต้องเป็นช่องที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) รับรอง เพราะถือว่าเป็นช่องที่ออกอากาศถูกกฎหมาย แต่นอกจากช่องของผู้ประกอบการสื่อรายอื่นๆ ที่ดึงมาแล้ว ยังมีช่องที่เจริญเคเบิลทีวีเปิดไว้เป็นช่องสาธารณะ คล้ายๆ กับสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS โดยจะคัดสรรรายการที่ดี มีสาระ เป็นประโยชน์มาออกอากาศ โดยตั้งไว้ที่ช่อง 37 ต่อจากช่องดิจิทัลที่ 36 เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมได้ง่าย เพราะเข้าใจดีว่ารายการแบบนี้คงไม่มีใครตั้งใจดูตั้งแต่ต้น

“ผมว่าข่าวดีๆ มีเยอะ ข่าวไม่ดีก็เยอะ ข่าวก้ำกึ่งก็เยอะ ผมต้องการคนกลางสักคนหนึ่ง อย่างโคแฟคจะร่วมกับเครือข่ายเคเบิ้ลช่วยเป็นคนสกรีนให้ผมได้ไหม แล้วไปเอาเนื้อหามา ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือเอามาร้อยเรียงเพื่อออกอากาศ ผมคอยทำหน้าที่ตรงนี้ จะเอาอะไรเอาออกมาเลย ไม่คิดเงินด้วย ผมให้ช่องนี้เลย 24 ชั่วโมง” นายวิชิต กล่าว 

ดร.วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา นักวิจัย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และสมาคมนักวิจัยไทยรุ่นใหม่ กล่าวว่า เหตุที่คนแชร์ข้อมูลลวง คือปัจจุบันผู้คนใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และพอเห็นข่าวแล้วก็อยากส่งต่อให้คนที่เรารักและเป็นห่วง เห็นว่าแม้ตนเองจะไม่ได้ใช้แต่ก็อาจเป็นประโยชน์กับผู้อื่น โดยที่อาจรู้หรือไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่แชร์ออกไปส่งผลกระทบอย่างไรกับคนที่เห็นว่าตัวเราน่าเชื่อถือสำหรับเขา อย่างเคยมีแพทย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แม่ของแพทย์ก็ยังแชร์ข้อมูลบางอย่างซึ่งลูกเตือนก็ไม่เชื่อ แต่หากนำไปส่งต่อกันในกลุ่มไลน์หมู่บ้านก็จะดูน่าเชื่อถือ

การที่คนได้ชุดข้อมูลที่ไม่เหมือนกันเป็นเรื่องดีเพราะทำให้ได้ฝึกการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) แต่การฝึกทักษะนี้ต้องอาศัยทั้งชุดข้อมูล วิจารณญาณส่วนบุคคล และคนรอบข้าง ซึ่งตามหลักการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์จะเรียกว่า ทุนทางวิทยาศาสตร์ ว่าเราสามารถเข้าถึงคนที่สามารถหาข้อมูลได้หรือไม่ 

“สื่อที่มีในปัจจุบัน ต้องบอกว่า สื่อต่างๆ ทางทีวี มูลค่าทางเศรษฐกิจเยอะมากกับผู้สูงอายุที่ดูทีวีอยู่ที่บ้าน เราไม่รู้ว่าที่เขาโฆษณาเพียงน้อยนิดเพื่อทำการโฆษณา มันอาจจะมีตัวอื่นๆ ผสมกันขึ้นมา แล้วก็อาจมีทั้งที่มี อย. และไม่มี อย. จริงๆ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นหน่วยงานทื่ทำงานหนักมากที่จะขึ้นทะเบียนทางยา ตรวจสอบทางยา แต่กระบวนการของเขาอาจจะไม่ทันกับทางธุรกิจ” ดร.วิจิตรา กล่าว

นอกจากนี้ยังมีการแถลงความร่วมมือในการรณรงค์ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพ และความร่วมมือระหว่างบริษัทเจริญเคเบิลทีวี เน็ตเวิร์ค จำกัด กับภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) รวมถึงมีการเปิดตัวฐานข้อมูล Health Information Update และ Line Open Chat โคแฟคเช็คข่าว ถามตอบข้อมูลลวง ขณะที่กิจกรรมในช่วงบ่าย มีการเปิดตัวซีรีย์รายการ “รู้มั้ย by Cofact” ตัวกรองข้อมูลสุขภาพเพื่อผู้สูงวัยทางช่องยูทูปโคแฟค สาธิตการสร้างความตระหนักและการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยและอบรมการใช้นวัตกรรมโคแฟค เพื่อการตรวจสอบข้อมูลสุขภาพ

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-