ตำรวจไซเบอร์ เผยสารพัดกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ ยอมรับจับยากเพราะอยู่ต่างประเทศ-ป้องกันตัวเองดีที่สุด

4 เม.ย. 2566 ชมรมสมองใสใจสบาย ภายใต้ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดงานภาพยนตร์สนทนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ รับมือด้านมืดออนไลน์ในยุคห้าจี โดยในภาคบ่ายเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ รับมือด้านมืดออนไลน์ในยุคห้าจี สำหรับผู้สูงอายุ โดยมีวิทยากรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 ท่าน คือ พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ และ พ.ต.ท.วัชรินทร์ อ่วมฟุ้ง รองผู้กำกับ กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์

วิทยากรทั้ง 2 ท่าน เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นว่า ในอดีตการเจอกับคนร้ายได้เรามักต้องอยู่นอกบ้าน เช่น ออกไปแล้วถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกชิงทรัพย์ แต่ปัจจุบันที่เราใช้ชีวิตกับโลกออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือแทบจะตลอดเวลา มิจฉาชีพก็สามารถปะปนเข้ามาได้ เช่น ส่ง SMS มาล่อให้คลิกเข้าไปดู หรือมีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเป็นชาวต่างชาติแถมร่ำรวยอีกต่างหากทักมาขอทำความรู้จัก ซึ่งจากสถิติรับแจ้งความออนไลน์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดให้แจ้งได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 ผ่านมาปีเศษๆ พบมีการแจ้งมากถึง 2.2 แสนคดี 

ตัวอย่างหนึ่งของมิจฉาชีพออนไลน์คือการ สร้างเพจปลอม โดยพยายามใช้ตัวอักษรให้ใกล้เคียงกับเพจจริงมากที่สุด เช่น เพจขายสินค้าแห่งหนึ่ง เพจจริงใช้อักษรไทย ข-ไข่ แต่เพจปลอมใช้อักษรอังกฤษตัวยู-u หรือกรณีของ เว็บไซต์ปลอม ก็จะพยายามทำที่อยู่เว็บ (URL) ให้ดูเหมือนเว็บจริง หรือให้เข้าผ่านเว็บไซต์อื่นๆ ซึ่งหากสังเกตก็จะพบว่าชื่อเว็บกับ URL ไม่ตรงกัน อีกทั้งยังมีการปลอมแปลงบัตรประชาชนของเจ้าของเพจด้วยการตัดต่อภาพ เพื่อทำให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นเพจจริง และจาก 2.2 แสนคดี มีข้อค้นพบว่า การตรวจสอบความน่าเชื่อถือมักทำหลังจากโอนเงินไปแล้ว เรียกว่ากว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก เงินก็ลอยออกไปจากบัญชีแล้วนั่นเอง

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องเตือนกันคือ เช็คให้ชัวร์ก่อนโอนเงิน วิธีง่ายๆ คือนำชื่อเพจ ชื่อเจ้าของบัญชีธนาคาร หรือเลขบัญชีธนาคารไปลองค้นหาในอินเตอร์เน็ตก่อนตัดสินใจโอนเงิน อย่างน้อยเป็นการคัดกรองในขั้นต้น หากชื่อหรือบัญชีธนาคารดังกล่าวเคยมีประวัติต้องสงสัยน่าจะเป็นมิจฉาชีพ โดยนอกจาก Search Engine ยอดนิยมอย่าง Google แล้ว ยังมีเว็บไซต์ ฉลาดโอน.com” หรือ https://www.chaladohn.com ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและเอกชน เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการตรวจสอบ แม้ความแม่นยำจะไม่ถึงกับ 100% ก็ตาม เพราะฝั่งมิจฉาชีพเองก็มีการเปิดบัญชีใหม่ๆ ขึ้นมาซึ่งยังไม่มีประวัติในฐานข้อมูล 

ประการต่อมา “อย่าลืมตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก” สามารถเข้าไปดูได้โดยเลือกที่หมวด “เกี่ยวกับ” แล้วตามด้วยหัวข้อ “ความโปร่งใสของเพจ” เนื่องจากหลายครั้งมิจฉาชีพไปซื้อเพจที่มียอดคนติดตามจำนวนมาก เช่น เพจคำคม เพจธรรมะ ฯลฯ แล้วมาเปลี่ยนเป็นเพจร้านค้า วิธีสังเกตเบื้องต้นคือ หากร้านค้าระบุที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยแต่แอดมินหรือผู้ดูแลเพจอยู่ต่างประเทศ หากเจอเพจลักษณะนี้เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเพราะมีโอกาสสูงที่จะเป็นมิจฉาชีพ นอกจากนั้น ในหน้าความโปร่งใสของเพจ ยังมีประวัติการเปลี่ยนชื่อเพจให้ดูด้วย ซึ่งบางเพจเปลี่ยนมาแล้วหลายชื่อ ตั้งแต่ขายรถหลุดจำนำ ขายตู้เย็นมือสอง ขายชุดเครื่องนอน ฯลฯ เป็นอีกจุดที่น่าสงสัยเช่นกัน

ถูกหลอกยืมเงิน-ขอเงินโดยอ้างว่าเป็นคนรู้จัก” เป็นอีกรูปแบบของมิจฉาชีพออนไลน์ที่เจอกันบ่อยๆ ทักมาทางไลน์บ้าง เฟซบุ๊กบ้าง วิธีการคือมิจฉาชีพจะสร้างลิงค์ (Link) อะไรสักอย่างขึ้นมาล่อให้คลิกเข้าไป และเมื่อเข้าไปแล้วจะมีให้กรอกบัญชีและรหัสผ่าน เช่น อีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ หากหลงเชื่อกรอกเข้าไปก็ไม่ต่างอะไรกับการมอบบัญชีนั้นให้มิจฉาชีพเอาไปใช้หลอกญาติสนิทมิตรสหายต่อไป เพราะมิจฉาชีพรู้รหัสผ่านสำหรับล็อกอินเข้าใช้งานแล้ว 

วิธีป้องกันง่ายๆ คือ “โทรศัพท์ไปถามเจ้าตัวก่อนโอน” อาจจะเสียเวลา (หรืออาจเจออีกฝ่ายบ่นบ้าง) ก็ยังดีกว่าเสียเงินให้มิจฉาชีพ และย้ำว่า “ให้โทรด้วยหมายเลขโทรศัพท์เดิมที่เคยจดไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น” อย่าโทรไปหมายเลขใหม่ที่บัญชีนั้นเพิ่งให้มา หรืออย่าโทรโดยผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพราะยังเสี่ยงเจอมิจฉาชีพให้หมายเลขโทรศัพท์หรือบัญชีไลน์ปลอมอีก นอกจากนั้น “อย่าโอนเงินถ้าชื่อคนขอเงินกับชื่อบัญชีธนาคารไม่ตรงกัน” เจอแบบนี้คิดไว้ก่อนได้เลยว่ามิจฉาชีพแน่นอน

ทุกวันนี้เรามีไลน์ ปัญหาที่ตามมาคือเราไม่ค่อยจะบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของกันและกันแล้ว สมัยก่อนเราบอกเพื่อน เฮ้ย! ขอเมมเบอร์ไว้หน่อย ปีใหม่-สงกรานต์ก็ส่ง SMS ให้เพื่อน แต่ทุกวันนี้ส่งไลน์ ส่งให้เป็นกลุ่ม โดยที่เราไม่รู้ว่าเพื่อนเราเบอร์โทรอะไร ฉะนั้นกลับไปเมมเบอร์เพื่อน เมมเบอร์ลูกหลานไว้ เผื่อฉุกเฉินได้คุยกัน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารยังทำให้การ หางาน-สมัครงานทำได้ง่ายทางออนไลน์ แต่ก็ง่ายต่อการที่มิจฉาชีพจะใช้หลอกลวงเหยื่อด้วย โดยจะมีการล่อลวงด้วยถ้อยคำที่สื่อในทำนอง งานสบายรายได้ดี เมื่อผู้สนใจคลิกลิงค์เข้าไปดู 1.ถูกหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล เช่น มีการให้กรอกชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน ฯลฯ เมื่อส่งไปแล้วและไม่มีการติดต่อกลับ นอกจากจะไม่ได้งานแล้วข้อมูลที่เรากรอกไปอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ 

2.ถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า กรณีนี้มิจฉาชีพไม่ต้องการให้เหยื่อโอนเงิน แต่จะขอเลขบัญชีธนาคารของเหยื่อ อ้างว่าทำธุรกิจรับโอน-จ่ายค่าต่างๆ นานา แถมยังล่อตาล่อใจด้วยการแบ่งส่วนหนึ่งให้ เช่น ให้วันละ 200 บาทบ้าง 500 บาทบ้าง เป็นรายได้แบบไม่ต้องทำงานอะไรนอกจากช่วยโอนเงินจากบัญชีตนเองไปอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งเคยมีคดีที่คุณยายวัย 80 ปี ถูกหลอกโดยอ้างว่ารายได้ดีแบบไม่ต้องพึ่งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่สุดท้ายต้องตระเวนไปขึ้นศาลทั่วประเทศ เพราะมีการแจ้งความว่าบัญชีดังกล่าวถูกนำใปใช้หลอกเหยื่อคนอื่นๆ ให้โอนเงิน รวมกว่า 40 คดี

3.อ้างว่ามีงานแน่ๆ แต่ขอให้โอนเงินมาก่อน เคยมีกรณีเพจประกาศรับคนทำงานแพ็คสบู่ แต่ผู้สนใจต้องโอนเงินไปก่อน 500 บาทแล้วจะส่งสบู่ไปให้แพ็ค จากการสืบสวนพบแอดมินเพจกระจายกันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งในมุมของตำรวจแล้วมิจฉาชีพประเภทนี้ถือว่าเลวร้ายมากเพราะเป็นพวกซ้ำเติมความทุกข์ เนื่องจากผู้ตกเป็นเหยื่อมักเป็นคนที่เดิมก็ไม่ค่อยมีเงินอยู่แล้วและต้องการหางานทำ แต่นอกจากจะไม่ได้งานแล้วยังเสียเงินที่ควรจะได้เก็บไว้ใช้จ่ายประทังชีวิตไปอีก

 เคสนี้น่าเศร้ามาก เคยเห็นหน้า Feed เฟซบุ๊กไหม? รับสมัครคนดูคลิปยูทูบ 10 คลิปได้ 400 เคสนี้เกิดขึ้นจริง หลายท่านอาจจะเคยดูข่าว มีน้องอายุ 15 อยากหางานช่วยเหลือพ่อแม่ช่วงปิดเทอม ไปเจอในอินสตาแกรม รับสมัครคนดูคลิปยูทูบเพิ่มยอดวิว อยู่บ้านเฉยๆ ดู 10 คลิปได้ 400 น้องแอดไลน์ไปคุย ตอนแรกเขาส่งคลิปมาให้ดู 10 คลิป แล้วเขาโอนเงินให้จริงๆ 400 บาท แต่ถ้าน้องอยากทำงานเพิ่มก็ต้องสมัครเป็น VIP แพ็คเกจ ถึงจะดูได้ 50 คลิป ซึ่งจะได้ 2,000 บาท น้องก็โอนไป 1,000 บาท เพื่อจะได้แพ็ตเกจ VIP

น้องก็ดู 50 คลิป แต่คราวนี้คนร้ายไม่ได้โอน 2,000 บาท บอกว่า VIP มันมีหลายขั้นตอน VIP1 แล้วยังมี VIP2 VIP3 น้องก็โอนไปเรื่อยๆ ไปเปิดเป็น VIP5 เสียไปแล้วประมาณ 2 หมื่นบาท ก็ยังโอนไม่ได้ คนร้ายก็จะหาวิธีมาหลอกให้น้องโอนเงินเรื่อยๆ เด็กก็รู้สึกเสียดาย โอนเงินไปขนาดนี้ถ้าไม่โอนต่อก็ไม่สามารถถอนเงินได้ ก็โอนจนเงินหมดแล้วก็ไปเอาเงินพ่อแม่มา แล้วก็ไม่กล้าบอกพ่อแม่ สุดท้ายน้องคนนี้ผูกคอตาย แอดมินคนที่คุยกับน้องอยู่ที่กัมพูชา ตอนนี้จับได้แล้ว

นอกจากเอาเรื่องหางานทำมาหลอกแล้ว แหล่งเงินกู้ ก็เป็นอีกกลโกงที่มิจฉาชีพนำมาใช้ซ้ำเติมคนที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะหลายคนจำเป็นต้องใช้เงินแต่ไม่สามารถเข้ากู้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ จึงต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบแม้จะมีดอกเบี้ยสูง และเมื่อมีเทคโนโลยีพร้อม แอปพลิเคชันเงินกู้ จึงเกิดขึ้น ซึ่งมี 2 รูปแบบคือ 1.กู้เงินได้จริง (แต่ดอกเบี้ยสูงเพราะเป็นเงินกู้นอกระบบ) และหากไม่จ่ายหรือจ่ายช้าก็จะถูกโทรศัพท์ไปทวงถามหรือประจานกับคนอื่นๆ รอบข้าง ไปจนถึงสามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลไปส่งต่อให้มิจฉาชีพ เพราะแอปฯ เหล่านี้เมื่อติดตั้งจะขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่บันทึกไว้ พิกัดตำแหน่ง ภาพถ่าย ฯลฯ

กับ 2.กู้ไม่ได้แถมเสียเงินเพิ่มไปอีก เช่น มิจฉาชีพจะอ้างว่าจะกู้เงินต้องจ่ายค่าประกันร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ขอกู้ เพื่อให้ธนาคารอนุมัติ อาทิ ขอกู้ 5 หมื่นบาท ต้องจ่ายค่าประกัน 5 พันบาท โดยยืนยันว่าเมื่ออนุมัติแล้วจะคืนให้พร้อมเงินกู้ แต่จริงๆ แล้วไม่มีการให้กู้เงิน มีแต่การหลอกเหยื่อให้โอนเงิน มิจฉาชีพประเภทนี้จะเล่นกับความรู้สึกเสียดายโอนไปแล้วครั้งหนึ่งก็จะโอนต่อไปเรื่อยๆ เสียเงินมากขึ้นอีกหลายครั้งตามคำลวงต่างๆ นานาของมิจฉาชีพ เพราะเสียดายเงินที่โอนไปแล้วจึงไม่กล้าตัดสินใจถอนตัวตั้งแต่ยังเสียเงินเพียงจำนวนน้อยๆ 

หลอกให้รักแล้วลวงเอาเงิน (Romance Scam)” ส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะสร้างประวัติปลอมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้ภาพชาวต่างชาติหน้าตาดี-ฐานะดี อ้างว่าอยากมาใช้ชีวิตระยะยาวในประเทศไทย เมื่อชวนพูดคุยกันไปสักระยะจนเหยื่อเริ่มตายใจ มิจฉาชีพจะบอกว่าตนเองขนเงินจำนวนมากเข้ามาในไทย แต่ติดขั้นตอนดำเนินการบางอย่างซึ่งต้องใช้เงินจำนวนหนึ่ง แล้วก็ขอให้เหยื่อโอนเงินจำนวนนั้นไปช่วยสำรองเป็นค่าดำเนินการก่อน ซึ่งมีจุดสังเกตคือ บัญชีธนาคารที่ให้โอนเงินเป็นบัญชีชื่อคนไทย แบบนี้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหลอกแน่ๆ

การจับคนร้ายว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าเขากำลังโดนหลอก มีอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นรองศาสตราจารย์ เกษียณอายุแล้ว คุยกับคนร้ายนี้มา 5 ปี หมดเงินไป 10 ล้าน ลูกหลานพาไปแจ้งความก็ไม่ไป ไม่เชื่อ ทุกวันนี้ยังนั่งรอจะไปสนามบินเพื่อไปรอรับคนนี้อยู่ แล้วครอบครัวก็พัง ฉะนั้นสิ่งที่เลวร้ายกว่าคือการที่ยอมรับความจริงไม่ได้ การที่อยู่ในโลกของการคุยออนไลน์ เพราะด้วยวัยที่เราอยู่บ้านคนเดียวอาจจะเหงา อาจต้องการเพื่อนคุย ลูกหลานทำงาน ฉะนั้นเราควรจับกลุ่มกับคนที่เราเจอในโลกแห่งความจริงจะดีกว่า

นอกจากหลอกให้รักแล้ว หลอกให้สงสาร ก็เป็นอีกกลโกงของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ เช่น มีกรณีเหยื่อกับคนร้ายคุยกัน 3 ปี ตลอดเวลาไม่มีการพูดคุยเรื่องชู้สาว มีแต่เรื่องธรรมะและอื่นๆ ทั่วไป วันหนึ่งมิจฉาชีพส่งรูปผู้ป่วยนอนติดเตียงพร้อมข้อความว่าต้องการใช้เงินด่วน หากหาไม่ได้ก็คงต้องปล่อยไป เป็นการสร้างความรู้สึกผิด (Guilty) กับเหยื่อหากนิ่งเฉยไม่โอนเงินไปช่วยเหลือ หรือระยะหลังๆ มีกรณีประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ถูกหลอกแบบ Romance Sacm” มักเป็นกลุ่ม สาวใหญ่ อายุ 45 ปีขึ้นไป และมีปัญหาครอบครัวมาก่อน เช่น เป็นหม้าย หย่าร้าง อาจเกิดความเหงาและต้องการเพื่อนคุย-เพื่อนคู่คิด สำหรับวิธีรับมือมิจฉาชีพประเภทนี้ ให้อีกฝ่ายเปิดกล้องและชวนพูดคุยผ่านวีดีโอคอล หรือขอให้แสดงท่าทางต่างๆ ในทันที เพราะมิจฉาชีพมักใช้วิธีเปิดคลิปวีดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้าแล้วหากเหยื่อขอให้เปิดกล้อง 

ยังมีรูปแบบ หลอกให้ร่วมลงทุน อ้างเป็นชาวต่างชาตินอกจากจะอยากมาใช้ชีวิตในไทยแล้วยังอยากทำธุรกิจอีกโดยขอเลขบัญชีธนาคาร แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นการนำไปใช้เป็นบัญชีม้าหลอกลวงคนอื่นๆ ให้โอนเงินเข้ามา นอกจากถูกมิจฉาชีพหลอกแล้วยังมีคดีความติดตัวอีกต่างหาก หรือเป็นการหลอกลงทุนจริงๆ เช่น ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (Crypto Currency) ระยะแรกๆ ให้โอนเงินทีละน้อยๆ ไม่กี่พันบาท แล้วโอนกลับมาพร้อมผลกำไร กระทั่งเมื่อเหยื่อกล้าโอนเงินจำนวนมากพอตามที่มิจฉาชีพต้องการ ก็จะอ้างว่าหากอยากได้เงินทุนคืนพร้อมกำไรต้องโอนเงินไปจ่ายภาษีหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ นานา

ในเมื่อตำรวจสืบสวนแกะรอยมิจฉาชีพออนไลน์ได้ แต่ทำไมไม่จับกุม ปล่อยให้หลอกลวงทั้งคนไทยและคนทั่วโลกจนมีมูลค่าความเสียหายมหาศาล? เรื่องนี้คำตอบอยู่ที่ คนร้ายปฏิบัติการข้ามประเทศ และฐานปฏิบัติการบางแห่งเป็นพื้นที่พิเศษที่แม้แต่ตำรวจท้องถิ่นในประเทศนั้นจะเข้าไปทันทีก็ยังทำไม่ได้ เช่น ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย บางแห่งเป็นเขตเช่าที่มีนักธุรกิจจากชาติมหาอำนาจมาเช่าพื้นที่ระยะยาว ซึ่งตำรวจท้องถิ่นจะเข้าไปดำเนินการอะไรก็ต้องขออนุญาตนักธุรกิจที่เช่าพื้นที่นั้นเสมอ

ฉะนั้นการระมัดระวังตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อคือวิธีการที่ดีที่สุด!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-