พรรคก้าวไกลเสนอลดบำนาญข้าราชการ ข่าวลวงที่กลับมาช่วงเลือกตั้ง
ข้อความที่ระบุว่าพรรคก้าวไกลเสนอตัดลดบำนาญข้าราชการ ซึ่งโคแฟคตรวจสอบพบว่าเป็นเนื้อหาที่บิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิด ได้ถูกนำมาเผยแพร่ในแอปพลิเคชันไลน์และโซเชียลมีเดียอีกครั้งหลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ
“พรรคก้าวไกลเรียกข้าราชการบำนาญว่าพวกช้างป่วย งานไม่ทำ ได้รับเงินเดือน ตั้งงบประมาณไว้เลี้ยงช้างป่วยรอวันตาย” และ “ถ้าผม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-หัวพน้าพรรคก้าวไกล) ได้เป็นนายกฯ ผมจะตัดบำนาญข้าราชการ” เป็นตัวอย่างข้อความที่ถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา โดยเนื้อหาลักษณะเดียวกันนี้ ได้ถูกส่งต่อทั้งในในแอปพลิเคชันไลน์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก มีทั้งการแต่งกลอนโจมตีพรรคก้าวไกล และข้อความเชิญชวนให้ข้าราชการบำนาญลงชื่อเสนอกฎหมายตัดบำนาญ ส.ส. เพื่อเป็นการตอบโต้
การกลับมาของเนื้อหาที่บิดเบือนคำพูดของนายพิธาในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทำให้พรรคก้าวไกลและนายพิธาต้องออกมาชี้แจงอีกครั้ง โดยนายพิธาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ว่า
“…มีข่าวปลอมข่าวหนึ่งที่วนกลับมา ถูกส่งต่อในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มไลน์ บิดเบือนว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายลดเงินเดือนหรือบำนาญของข้าราชการ ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่มีและไม่เคยมีนโยบายลดเงินเดือนหรือบำนาญของข้าราชการ สิ่งที่เราเสนอคือให้ลดงบประจำที่ไม่ใช่เงินเดือนของข้าราชการ เช่น การไปดูงานเมืองนอก โครงการอบรมสัมมนา โครงการที่ซ้ำซ้อน รวมถึงลดงบกลางที่เป็นเงินสำรองที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลเอาไปใช้ได้ตามใจชอบ โดยไม่เกิดประโยชน์”
โคแฟคตรวจสอบ
วันที่ 13 ก.พ. 2566 โคแฟคตรวจสอบข่าวนี้พบว่า จุดเริ่มต้นของประเด็นงบประมาณบำนาญข้าราชการนี้ มาจากเนื้อหาส่วนหนึ่งของการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 ในวาระที่ 1 โดยนายพิธาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565
จากคลิปบันทึกการอภิปรายของนายพิธา ความยาว 30 นาที สรุปใจความสำคัญได้ว่า นายพิธาเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลขาดความสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่าย เขาเปรียบโครงสร้างงบประมาณปี 2566 ว่าเป็นเหมือน “ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้” และแสดงข้อมูลประกอบว่า งบประมาณรายจ่ายกว่า 3 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับปี 2566 นั้น เป็นรายจ่ายบุคลากรภาครัฐถึง 40 เปอร์เซ็นต์ รายจ่ายที่สูงที่สุดคือบำนาญข้าราชการ
“ตัวเลขที่สูงที่สุดในงบประมาณรายจ่ายคือเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ มูลค่า 3 แสนกว่าล้านบาท สูงเท่ากับกระทรวงศึกษาธิการทั้งกระทรวงที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ อันนี้เป็นปัญหาเรื่องช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้” นายพิธากล่าวต่อที่ประชุมสภา
เขายังให้ข้อมูลอีกว่า งบประมาณรายจ่ายส่วนที่เป็นบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้นจาก 1.4 แสนล้านบาทในปี 2557 เป็น 3 แสนล้านบาทในปี 2564 และ 3.2 ล้านล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนคาดว่าจำนวนข้าราชการบำนาญจะเพิ่มจาก 8 แสนคนในขณะนี้ เป็น 1.2 ล้านคนในปี 2580
“แค่บำนาญ แค่บุคลากรเนี่ย เกินงบประมาณที่เราจะใช้ไปเยอะมากเลยทีเดียว อันนี้เป็นยาขมที่เราต้องกลืน และผมก็ต้องส่งสัญญาณดังๆ ไปยังพี่น้องข้าราชการที่เคารพรักทุกท่านว่าเราต้องมาช่วยกันคิดว่ากระบวนการรัฐราชการ ช้างอุ้ยอ้าย ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้แบบนี้ เราจะแก้ไขปัญหากันยังไง” นายพิธากล่าวก่อนจะอภิปรายเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ส่วนอื่นๆ ต่อไป
หลังการอภิปราย ปรากฏว่ามีการนำคำพูดของนายพิธามาบิดเบือนและเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันไลน์ เช่น ข้อความที่ระบุว่านายพิธาเสนอให้ตัดบำนาญข้าราชการ กล่าวว่าเงินบำนาญคือตัวปัญหาของการพัฒนาประเทศ และเปรียบข้าราชการบำนาญว่าเป็น “ช้างป่วย” ที่เป็นภาระงบประมาณประเทศ เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่ได้ปรากฏในการอภิปรายของนายพิธา
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์โคแฟคว่า พรรคก้าวไกลรับมือกับ “ระลอกแรก” ของข่าวปลอมว่าด้วยการตัดบำนาญข้าราชการ ซึ่งคาดว่าเริ่มต้นจากการส่งข้อวามในแอปพลิเคชันไลน์ ด้วยการชี้แจงผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้แทนสหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทยและศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทยโดยตรง พร้อมกับแถลงข่าวร่วมกันที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565
สำหรับ “ระลอกที่สอง” ของข่าวเท็จเรื่องบำนาญข้าราชการในช่วงปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 นายพริษฐ์วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะบริบททางการเมืองที่กำลังเข้าสู่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และเขาคาดว่าอาจจมีข่าวปลอมอื่นๆ ที่ถูกผลิตขึ้นใหม่หรือถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำมากขึ้นในช่วงนี้ หนึ่งในนั้นข่าวเท็จที่บอกว่าพรรคก้าวไกลเสนอให้ยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ข่าวปลอมมันกระทบกับฝ่ายที่ถูกกล่าวหาในทางที่ผิด แต่เราเข้าใจดีว่าทางออกไม่ใช่การให้อำนาจกับรัฐในการผูกขาดว่าอะไรเป็นข่าวปลอมแล้วปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ทางแก้ปัญหาคือการมีพื้นที่ตรงกลางที่ให้ฝ่ายที่เสียหายชี้แจงได้ และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงชุดข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายมากที่สุด” นายพริษฐ์กล่าวกับโคแฟค
ข้อสรุปโคแฟค: เนื้อหาบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด งดแชร์
ข้อความที่ระบุว่าพรรคก้าวไกลเสนอตัดลดบำนาญข้าราชการเป็นข้อมูลเท็จและบิดเบือนจากคำอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ในสภาของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ข่าวนี้เป็นข่าวลวงวนซ้ำ โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกันแล้ว