คลิปเก่าที่มีผู้โพสต์เมื่อ 3 ปีก่อน ถูกนำมาอ้างเท็จว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกน้ำมันไปเมียวดี

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค
คลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายรถบรรทุก ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำมาโพสต์และ “ท็อปนิวส์ออนไลน์” นำไปเผยแพร่ต่อ โดยผู้โพสต์อ้างว่าเป็นภาพเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงไปที่เมืองเมียวดี สหภาพเมียนมา หลังจากที่ทางการไทยตัดไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โคแฟคตรวจสอบพบว่าเป็นคลิปวิดีโอเก่าที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซียนำมาเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2564
อย่างไรก็ตาม โคแฟคยังไม่ได้ตรวจสอบในเชิงลึกว่า วิดีโอนี้ถ่ายจากเหตุการณ์จริงหรือไม่ หรือใช้เทคนิคการตัดต่อ/สร้างภาพด้วย AI และหากเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสถานที่ใดและเมื่อไหร่
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 บัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ talkwiththepolice (ผู้ติดตาม 4.66 แสนบัญชี) โพสต์คลิปความยาว 13 วินาที เป็นภาพเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกบินอยู่เหนือพื้นที่ป่า ขึ้นข้อความว่า “ขนส่งน้ำมันทาง ฮ.” และ “หลังจากที่ประเทศไทยตัดไฟฟ้าและเชื้อเพลิงไปที่เมืองเมียวดี เฮลิคอปเตอร์ Mi-26 ลึกลับก็ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าและขนส่งรถบรรทุกเชื้อเพลิงไปที่เมืองเมียวดี” คลิปนี้มียอดเข้าชมกว่า 1.5 ล้านครั้ง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 (ลิงก์บันทึก https://archive.ph/lh2bb)

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “เหยี่ยว ข่าวสายรถบรรทุก” (ผู้ติดตาม 8.6 หมื่นบัญชี) โพสต์วิดีโอและข้อความเดียวกัน มีผู้แชร์ต่อมากกว่า 200 ครั้ง
ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ช่องยูทูป “TOP NEWS LIVE” นำคลิปวิดีโอนี้ไปเผยแพร่ในรายงานข่าวหัวข้อ “วิกฤติหนัก เมียวดี ราคาน้ำมันทะลุลิตรละ 100 แชร์ว่อนคลิป พม่าใช้ ฮ.ขนรถน้ำมัน” วิดีโอนี้มีผู้เข้าชมเกือบ 1 แสนครั้งในเวลา 20 ชั่วโมง

โคแฟคตรวจสอบ
โคแฟคใช้ InVID-WeVerify ซึ่งเป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ร่วมพัฒนาโดยสำนักข่าวเอเอฟพีเพื่อช่วยในการค้นหาที่มาของวิดีโอ โดยระบบจะแยกเฟรมภาพในวิดีโอเป็นภาพนิ่งและนำภาพนั้นไปค้นหาในเสิร์ชเอนจิน เมื่อนำ URL ของวิดีโอที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก “เหยี่ยว ข่าวสายรถบรรทุก” ไปแยกเฟรมภาพและค้นหาใน Google และ Yandex พบว่าคลิปวิดีโอนี้เคยถูกเผยแพร่มาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 (พ.ศ. 2564) ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ยังพบว่า ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2021 เว็บไซต์รวมข่าวสารและเรื่องราวเบาสมองของอินโดนีเซีย เช่น Hops และ Saura.com รายงานว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซียได้แชร์ภาพและวิดีโอการเดินทางด้วยวิธีแปลก ๆ พร้อมด้วยข้อความเช่น “กลับบ้านอย่างไรไม่ให้ถูกจับได้” เพื่อเสียดสีคำสั่งของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ห้ามประชาชนเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลอีด (Eid al-Fitr) ในเดือนพฤษภาคม 2021 เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หนึ่งในภาพที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ คลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุก ที่เผยแพร่โดยผู้ใช้อินสตาแกรมรายหนึ่ง ซึ่งเว็บไซต์ Hops และ Saura ระบุว่าไม่สามารถยืนยันต้นตอและสถานที่ในวิดีโอได้ แต่วิดีโอนี้ก็ได้ทำให้ชาวเน็ตสนทนากันอย่างสนุกสนาน
ขณะที่เว็บไซต์ Riau24 รายงานเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2021 ว่าคลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกที่โพสต์โดยบัญชีผู้ใช้อินสตาแกรมกำลังเป็นไวรัลในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียของอินโดนีเซีย โดยผู้โพสต์ระบุว่านี่เป็นภาพที่ถ่ายในจังหวัดปาปัว เว็บไซต์ Riau24 ระบุในรายงานเช่นกันว่าไม่สามารถยืนยันต้นตอของวิดีโอดังกล่าวได้

โคแฟครวบรวมตัวอย่างคลิปวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกที่ถูกนำมาอ้างเท็จว่าเป็นการขนรถบรรทุกน้ำมันไปที่เมียวดี ที่เคยมีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซีย
- วันที่ 5 พฤษภาคม 2021 ช่องยูทูบ SEKITAR LABURA เผยแพร่วิดีโอนี้โดยเขียนคำบรรยายภาษาอินโดนีเซีย ใช้เครื่องมือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ไวรัล.!! รถบรรทุกขนส่งเฮลิคอปเตอร์ในปาปัว”

- วันที่ 7 พฤษภาคม 2021 โพสต์โดยบัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อก พร้อมกับข้อความภาษาอินโดนีเซีย ใช้เครื่องมือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การขนย้ายรถบรรทุกด้วยวิธีนี้มีเฉพาะในปาปัวเท่านั้น

- วันที่ 12 กรกฎาคม 2021 เพจเฟซบุ๊กชื่อ “Dika Mobil Towing/Derek Kota Jambi” โพสต์วิดีโอนี้ พร้อมคำบรรยายภาษาอินโดนีเซียเกี่ยวกับการให้บริการรถลาก-ขนย้ายพาหนะ

- วันที่ 6 กรกฎาคม 2023 ผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอเดียวกันนี้ โดยไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ ประกอบ แต่มีการปักหมุดสถานที่ในวิดีโอว่า “Bangsring Breeze” ซึ่งเป็นชื่อของโรงแรมที่พักในจังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย โคแฟคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นจุดที่ถ่ายวิดีโอนี้จริงหรือไม่

ข้อสรุปโคแฟค
วิดีโอนี้เป็นวิดีโอเก่าที่เคยมีการเผยแพร่มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซีย ดังนั้นภาพเฮลิคอปเตอร์ขนรถบรรทุกในคลิปวิดีโอจึงไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตามที่บัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ talkwiththepolice และเพจเฟซบุ๊ก “เหยี่ยว ข่าวสายรถบรรทุก” รวมทั้งท็อปนิวส์ออนไลน์ อ้างว่าเป็นการ “ขนส่งน้ำมันทาง ฮ.” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หยุดส่งกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเมียนมาตามมติของสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568
ทั้งนี้ โคแฟคยังไม่ได้ตรวจสอบในเชิงลึกใน 2 ประเด็น คือ 1) วิดีโอนี้เป็นวิดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริงหรือไม่ หรือเป็นวิดีโอที่ใช้เทคนิคการตัดต่อภาพหรือใช้เทคโนโลยี AI 2) หากเป็นวิดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสถานที่ใดและเมื่อไหร่ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบ แต่เนื่องจากคลิปวิดีโอนี้กำลังสร้างความเข้าใจผิด เป็นที่สนใจและถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย อีกทั้งมีสื่อมวลชนนำไปรายงานต่อ โคแฟคจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่รายงานการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหานี้ในเบื้องต้น และหากมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิดีโอนี้ โคแฟคจะรายงานให้ทราบต่อไป
เรื่องอื่นที่น่าสนใจ
- 4 ปี รัฐประหารเมียนมา คลิปเก่า-เนื้อหาเท็จระบาด ปั่นความเกลียดชังแรงงานข้ามชาติ
- ถาม-ตอบ สธ. กรณี “ต่างด้าวแห่คลอดลูกในไทย-ใช้สิทธิรักษาฟรี”
- ความจริงจากมหาดไทย “บัตรสีชมพู” เปิดช่องแรงงานข้ามชาติ ได้สัญชาติไทยจริงหรือ?
- คลิป “กัมพูชาซ้อมรบ” และ “ฮุน เซนขู่สงครามปะทุ” มาจากไหน เกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยอย่างไร