14 ล้านเสียงเลือกพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ “เสียงส่วนใหญ่” ของประชาชน?
ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ถูกผู้ใช้โซเชียลมีเดียตีความไปหลายแนวทาง หนึ่งในนั้นคือการตีความว่าการที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงที่สุดคือ 14,438,851 คะแนน ไม่ได้แปลว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเลือกหรือสนับสนุนพรรคก้าวไกล เพราะประชากรไทยมีทั้งหมดราว 66 ล้านคน ซึ่งโคแฟคตรวจสอบพบว่า เป็นการตีความโดยใช้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์การประมวลผลการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และละเลยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่อาจนำไปสู่การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้้ง
วันที่ 12 มิ.ย. 2566 สมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก “แฟนข่าว TOP NEWS THAILAND” ซึ่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นสมาชิกกว่า 38,000 บัญชี โพสต์ข้อความว่า “…ยังคิดเลขกันไม่เป็นอีกเหรอ 14 ล้าน ลบ 70 ล้าน เป็น 56 ล้าน ที่ไม่ชอบหน้า…และไม่ได้เลือก (พรรคก้าวไกล)” โพสต์นี้ถูกแชร์ไปมากกว่า 250 ครั้ง ทั้งยังมีการนำไปแชร์ต่อในบัญชีเฟซบุ๊ก นพ.เหรียญทอง แน่นหนา หัวหน้าคณะทำงานด้านนโยบายสุขภาพของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 166,000 คน นอกจากโพสต์ดังกล่าว ยังมีเนื้อหาในโซเชียลมีเดียอีกจำนวนมากที่ตีความผลการเลือกตั้งไปในทิศทางเดียวกันนี้
โคแฟคตรวจสอบ
โคแฟคตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีข้อมูลที่ต้องนำมาพิจารณา ดังนี้
- ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน
- รายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ของ กกต.
- จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง: 52,195,920 คน
- จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง: ส.ส. แบบแบ่งเขต 39,514,973 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 39,514,964 คน คิดเป็น 75.71% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (กกต. ชี้แจงว่าจำนวนไม่ตรงกันเพราะ 1. มีกรณีที่ผู้มาใช้สิทธิเข้าคูหาลงคะแนนโดยไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและ 2. ซองใส่บัตรเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรบางซองมีเพียงบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว)
- การนับคะแนน ส.ส. แบ่งเขต: บัตรดี 37,190,071 ใบ บัตรเสีย 1,457,899 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 866,885 ใบ พรรคก้าวไกลได้คะแนนมากสุดเป็นอันดับ 1 คือ 9,665,433 คะแนน (24.4% ของผู้มาใช้สิทธิ) อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 9,340,082 คะแนน (23.6%) และอันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย 5,133,441 คะแนน (12.9%)
- การนับคะแนนบัญชีรายชื่อ: บัตรดี 37,522,746 ใบ บัตรเสีย 1,509,836 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 482,303 ใบ พรรคก้าวไกลได้คะแนนมากสุดเป็นอันดับ 1 คือ 14,438,851 คะแนน (36.5% ของผู้มาใช้สิทธิ) อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 10,962,522 คะแนน (27.7%) และอันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ 4,766,408 คะแนน (12%)
เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนประชากรและข้อมูลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ประกอบกับความเห็นของ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้สัมภาษณ์โคแฟคเมื่อ 20 มิ.ย. มีข้อสังเกตต่อการตีความผลการเลือกตั้งที่สรุปว่าพรรคก้าวไกลไม่ควรอ้างว่าได้ฉันทามติจากประชาชน เพราะ 14.43 ล้านเสียงที่ได้ ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ ดังนี้
1) จำนวนผู้ที่เลือกหรือไม่เลือกพรรคก้าวไกล ไม่สามารถคำนวณได้จากการนำคะแนนบัญชีรายชื่อจำนวน 14,438,851 คะแนน ที่พรรคก้าวไกลได้ มาลบออกจากจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ คือ 66,090,475 คน แต่ต้องคำนวณจากจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. ระบุว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 39,514,964 คน อีกทั้งยังต้องนำบัตรเสีย 1,509,836 ใบ และบัตรไม่เลือกผู้ใด 482,303 ใบ มาร่วมคำนวณด้วย ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ที่ไม่ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. เพราะไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ได้มาลงคะแนน รวมทั้งผู้ที่กาบัตรเสียหรือกาไม่เลือกผู้ใด สนับสนุนพรรคการเมืองใด
2) หากกล่าวเฉพาะคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล 14.4 ล้านเสียง จริงอยู่ว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดคือ 39.5 ล้านคน ซึ่งหมายถึงว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ “คะแนนเสียงส่วนใหญ่” หรือ “คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ” แต่ ศ.ดร.สิริพรรณชี้ว่า ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่พรรคก้าวไกล “ได้คะแนนมากเป็นอันดับ 1” ซึ่งคิดเป็น 36.5% ของผู้มาใช้สิทธิ โดยได้คะแนนมากกว่าพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนมากเป็นอันดับ 2 เกือบ 3.5 ล้านเสียง และทิ้งห่างจากพรรคอันดับ 3 คือ รวมไทยสร้างชาติถึง 9.6 ล้านเสียง
“การที่ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง (ของผู้ออกมาใช้สิทธิ) เป็นลักษณะร่วมของระบบเลือกตั้งของประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีหรืออังกฤษ ก็แทบจะไม่มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง ด้วยความที่มีหลายพรรคแข่งขันกัน พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจึงเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง”
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3) หากดูเฉพาะคะแนนเสียงแยกเป็นรายพรรค ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะตีความผลการเลือกตั้งว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พรรคก้าวไกลสามารถรวบรวมอีก 7 พรรคการเมืองมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทำให้คะแนนเสียงรวมของทั้ง 8 พรรคมี 27,125,460 คะแนน หรือ 68.64% ของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งหรือเรียกได้ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ และมีที่นั่งในสภารวมกันได้ 312 ที่นั่งซึ่งก็เกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง
ข้อสรุปโคแฟค
การตีความผลการเลือกตั้งโดยสรุปว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้รับฉันทามติจากประชาชน เพราะ 14.43 ล้านเสียงที่ได้ ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศซึ่งมีมากกว่า 66 ล้านคน เป็นการตีความโดยใช้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ที่ชนะการเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของระบบเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีพรรคการเมืองแข่งขันกันหลายพรรค
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียควรหยุดแชร์หรือเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะที่ทำให้เกิดความสับสนและสร้างความเข้าใจผิดที่อาจนำไปสู่การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง