จาก‘Echo Chamber’สู่‘Hate Speech’

Editors’ Picks

โดย Windwalk_Jupiter นักข่าว นักเขียน นักตรวจสอบข้อมูล

จาก‘Echo Chamber’สู่‘Hate Speech’

เลือกรับข้อมูลเฉพาะที่ถูกใจ..ต้นตอสำคัญผิดพร้อมทำลายผู้คิดต่าง

“มันน่าใจหายนะ ที่บทสนทนาทั่วไปของเด็กสมัยนี้คือการด่า …… ฯลฯ เราเป็นติวเตอร์สอนเด็กมาเข้าปีที่ 8 บทสนทนาของเด็กเดี๋ยวนี้คืออยู่ๆก็โพล่งมาเลยว่า….. ผมจะฆ่า…. ถ้ามีพลังวิเศษจะไปฆ่า…… ฯลฯ และเป็นแบบนี้เยอะมาก ฉันคือสอนแค่ประถม/มัธยมต้นนะ”

“ว่าตามตรง เราก็ยี้คนพวกนั้น แต่ทีนี้บางทีเห็นพฤติกรรมชาว…เด็กๆ ก็น่ากลัวจนน่าใจหาย ไม่ต่างอะไรจากพวก…แก่ๆ ที่แช่งคนเห็นต่างเลย”

“มองในแง่นึง ก็ไม่แปลกนะที่พวกคนมีอำนาจจะโดนแบบนั้น แต่ที่แปลกใจคือพวกดาราก็โดนด้วยนี่หละ (ไม่นับพวกตัวเป้งๆ ที่ด่า…นะ) บางคนก็ไม่แสดงตัวว่าซัพม็อบผ่านโลกโซเชียล แต่กลับโดนด่า ไล่ไปตายแบบไม่ใช่คนเลยนี่สิ”

“มันคือพลังของการใช้สื่อ อยู่ๆคนมันไม่โพล่งขึ้นมาเกลียดคนเองหรอก แต่ลองดูในทวิต ในเฟส ในติ๊กต่อก ทุกคนล้วนด่าๆๆๆ สาปแช่ง ไล่ไปตายต่อบรรดาคนใน…และ… เด็กที่อยู่กับสื่อออนไลน์ค่อนชีวิต เขาเจอแบบนั้น เขาจะซึมซับไปก็ไม่น่าแปลก”

ข้างต้นเป็นบทสนทนาหนึ่งของ ชาวทวิตหรือผู้ใช้ทวิตเตอร์ ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยที่แสดงอารมณ์ โกรธเกรี้ยว อย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์ในเรื่องที่เกี่ยวกับ การเมือง ซึ่งดูไปแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอีกกลุ่มที่อายุอานามมากกว่า ที่มีความเห็นทางการเมืองไปอีกฝั่งหนึ่ง จนอาจมีคำถามว่า ตกลงใครเป็นคนดี หรือเป็นคนหัวก้าวหน้ากว่ากันแน่ 

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่” เพราะแม้แต่ในสังคมไทย “Hate Speech” หรือที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ประทุษวาจา” น่าจะคุ้นหูมาตั้งแต่ยุคการเมืองเสื้อสีที่มีการประท้วงสลับฝั่งรายปีกันตั้งแต่เมื่อราวๆ 10 ปีก่อน แม้ยุคนั้นสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเท่าใดนัก แต่ในกระดานข่าว (Webboard) ที่เว็บไซต์ต่างๆ เปิดให้ชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น ก็มักมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงด่าทอโจมตีฝ่ายตรงข้ามกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อน 

บทความ “Hate Speech ทำไมต้องให้ร้ายใส่กัน โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) อธิบายความหมายของ Hate Speech ว่า วาทะสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ไม่ได้หมายถึง คำพูด เท่านั้น แต่รวมถึงการสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือสื่อต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาในเชิงยุยง ก่อให้เกิดอคติ สร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดการแบ่งแยก การดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ชาติพันธุ์ สีผิว ความพิการ เพศสภาพ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางด้านความคิด เช่น การเมือง ศาสนา

ซึ่ง Hate Speech มีเป้าหมายเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการสร้างความเกลียดชังอย่างชัดเจน ต้องการแบ่งแยกสังคม กำจัดออกจากสังคม หรือต้องการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีรูปแบบของการสื่อสาร ไม่จำกัดที่การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม เท่านั้น แต่อาจตั้งใจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด แล้วโน้มน้าวชักจูงให้เกลียดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมาย การลดศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ สร้างความรู้สึกแบ่งแยก กีดกันออกจากสังคมที่อยู่ การเหมารวมในด้านลบ ข่มขู่คุกคามและสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มเป้าหมาย ระรานกันทางออนไลน์ (Cyberbullying) แบ่งชนชั้นหรือเลือกข้าง สร้างความแตกแยกในสังคมก็ได้

ทั้งนี้ Hate Speech ไม่ใช่เป็นปรากฎการณ์เฉพาะในไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งคำถามคือ Hate Speech เกิดขึ้นได้อย่างไร? ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับอีกคำหนึ่งคือ “Echo Chamber” หรือ ห้องเสียงสะท้อนเป็นการเปรียบเปรยปรากฎการณ์ธรรมชาตืที่ว่าเมื่อส่งเสียงประเภทใดออกไปแล้วก็จะได้ยินเสียงประเภทเดียวกันสะท้อนกลับมาเสมอ (ที่เห็นได้บ่อยๆ คือการตะโกนใส่หน้าผาแล้วผู้ตะโกนจะได้ยินเสียงตนเองสะท้อนกลับมา) กับปรากฎการณ์ในสังคมมนุษย์ ที่ในพื้นที่หนึ่ง ผู้คนจะได้ยิน (หรือได้เห็น) แต่มุมมองความคิดที่สอดคล้องกับตนเองเท่านั้น 

เดวิด โรเบิร์ต กริมส์ (David Robert Grimes) นักฟิสิกส์ชาวไอร์แลนด์ ซึ่งผันตัวมาเป็นนักสื่อสารสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (คล้ายๆ กับประเทศไทยที่มี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีอีกบทบาทคือการให้ความรู้ด้านปรากฏการณ์แปลกๆ ที่สังคมสงสัย ในมุมมองด้านวิทยาศาสตร์ผ่านสื่อต่างๆ) เขียนบทความ “Echo chambers are dangerous –  we must try to break free of our online bubbles” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ นสพ.The Guardian ของอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากเดิมที่เคยมีผู้ฝันแบบ ยูโทเปีย ว่าอินเตอร์เน็ตจะเชื่อมร้อยผู้คนเข้าด้วยกัน ทำให้คนที่มีมุมมองแตกต่างเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป โลกออนไลน์ดูจะเป็น ดิสโทเปีย หรือดินแดนที่เต็มไปด้วยภยันตรายทั้งการระรานรังแก รวมถึงการปั่นกระแสด้วยข้อมูลเท็จและอื่นๆ เสียมากกว่า

กริมส์ อ้างถึงผลการศึกษาที่อาจจะเรียกได้ว่า “มาก่อนกาล” นั่นคือ “Electronic Communities: Global Village or Cyberbalkans?” ที่จัดทำโดย 2 นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา คือ มาร์แชล ฟาน อัลสไตน์ (Marshall Van Alstyne) และ เอริค ไบรน์จอล์ฟสัน (Erik Brynjolfsson) เผยแพร่ในปี 2540 อันเป็นยุคที่การใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่งเริ่มแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ชี้ว่า การที่อินเตอร์เน็ตให้อำนาจผู้ใช้งานสามารถเลือกรับเนื้อหาตามที่ตนเองต้องการ อาจนำไปสู่การที่แต่ละคนมีแนวโน้มเลือกเข้าร่วมกลุ่มกับบุคคลที่มีมุมมองหรือความเชื่อคล้ายกัน และปิดกั้นการรับรู้มุมมองหรือความเชื่อของฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นว่า เทคโนโลยียิ่งช่วยพอกพูน “อคติ (Bias)” ในใจของแต่ละคนให้หนาแน่นหรือเข้มข้นมากขึ้น

จริงอยู่ที่อคติจากการรับข้อมูลข่าวสารไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตเสมอไป เห็นได้จากที่ผ่านมาสื่อดั้งเดิมที่เป็นองค์กรสำนักข่าว แต่ละแห่งมีจุดยืนไปทางใดทางหนึ่งไม่มากก็น้อย ถึงกระนั้น สื่อดั้งเดิมมักต้องวางตนอยู่ในกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพและกฎหมาย ทำให้อย่างน้อยที่สุด สำนักข่าวแบบดั้งเดิมมักหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่มีลักษณะแต่งนิยายจับแพะชนแกะ ไปจนถึงการหมิ่นประมาทใส่ร้ายด้วยข้อมูลเท็จ แต่บนโลกออนไลน์ที่ใครจะนำเสนออะไรก็ได้ ผู้นำเสนอเนื้อหาบางรายสามารถเติบโตด้วยเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับสาร โดยไม่ต้องสนใจจรรยาบรรณของคนทำงานสื่อสารมวลชนแต่อย่างใด 

การเลือกเสพสื่อที่ตรงกับความคิดหรือความเชื่อของตนเองเป็นพฤติกรรมที่คนเราทำกันโดยทั่วไปไม่ใช่ข้อค้นพบที่น่าประหลาดใจ  ชาห์รัม เฮชมัท (Shahram Heshmat) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเกี่ยวกับพฤติกรรมเสพติด มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สปริงฟิลด์ สหรัฐฯ เขียนบทความ “What Is Confirmation Bias?” เผยแพร่ในเว็บไซต์นิตยสาร Psychology Today อันเป็นสำนักข่าวในสหรัฐฯ ที่นำเสนอเนื้อหาด้านจิตวิทยามาตั้งแต่ปี 2510 อธิบายว่า เมื่อคนเราสร้างมุมมองใดมุมมองหนึ่งขึ้นมา เราก็มักเลือกยอมรับเฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับมุมมองนั้น และปฏิเสธข้อมูลที่ทำให้ตั้งข้อสงสัยกับมุมมองที่สร้างขึ้น นั่นคืออคติที่ทำให้เราไม่สามารถรับรู้สถานการณ์อย่างเป็นกลาง และพฤติกรรมการเลือกรับข้อมูลแบบนี้ทำให้คนเราติดกับดักสมมติฐานของตนเอง

เฮชมัท อธิบายต่อไปอีกว่า ปรากฎการณ์ข้างต้นที่เรียกว่า “Confirmation Bias” หรือ อคติแห่งการยืนยัน สามารถพบได้ในคนที่ชอบคิดวิตกกังวลและมองว่าโลกนี้เป็นอันตราย เช่น ผู้ที่ความนับถือตนเองต่ำ (Low Self-esteem) และมีอารมณ์อ่อนไหวสูงต่อการถูกผู้อื่นเมินเฉย คนประเภทนี้มักคอยมองหาสัญญาณว่าผู้อื่นอาจไม่ชอบตนเองอยู่เสมอ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้อ่านบทความดังกล่าวลองสังเกตว่า มีความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับผู้อื่นที่รบกวนบ้างไหม ถ้ามี อาจหมายความว่ากำลังตกอยู่ในอคติ มองสิ่งที่คนอื่นๆ ปฏิบัติต่อตัวเราเองในแง่ลบไปเสียทั้งหมด 

“โดยรวมแล้ว ผู้คนมักจะเชื่อในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเชื่อ การพยายามยืนยันความเชื่อของเราเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ในขณะที่การมองหาหลักฐานที่ขัดกับความเชื่อของเรานั้นเรารู้สึกว่ามันขัดกับสัญชาตญาณ สิ่งนี้อธิบายได้ว่าทำไมความคิดเห็นถึงดำรงอยู่และแพร่กระจาย การยืนยันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการพิสูจน์ความจริง การยืนยันจะต้องมองหาหลักฐานที่สามารถพิสูจน์เพื่อหักล้างได้ บทเรียนที่อยากให้นำติดตัวไปด้วยในครั้งนี้คืออยากให้ลองตั้งสมมติฐานและมองหาตัวอย่างว่าสิ่งที่ตัวเราคิดนั้นอาจจะผิด นี่อาจเป็นคำจำกัดความที่แท้จริงของคำว่าความมั่นใจในตัวเอง นั่นคือการมองโลกโดยไม่จำเป็นต้องหาตัวอย่างที่ทำให้อัตตาของเราพอใจ” เฮชมัท กล่าว

ในประเทศไทย นพ.อุเทน บุญอรณะ นักเขียนและแพทย์ด้านประสาทวิทยา เคยให้สัมภาษณ์กับ Hfocus สำนักข่าวที่เน้นนำเสนอเนื้อหาด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะ อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาข่าวปลอม-ข่าวลวง (Fake News) กับกลไกการทำงานของสมองและจิตใจของมนุษย์ ว่า จริงๆ แล้วข้อความหลายอย่างไม่ได้น่าเชื่อถือสำหรับเรา แต่มันดันไปตรงกับอะไรลึกๆ ในใจเราต่างหาก มันเป็นอะไรที่สั่นพ้อง หรือ Resonance ตรงกับความเชื่อในใจเรา เราจึงเชื่อ แล้วรับมันมาทันที ฉะนั้น ข่าวลวงอะไรที่เราเชื่อ มันคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนจริงๆ ของเรา

Fake News ยังเชื่อมโยงกับ ความเกลียดชัง นพ.อุเทน ขยายความในส่วนนี้ว่า ความเกลียดชังเปรียบเหมือนหัวหน้าหรือตัวคน ส่วน Fake News เปรียบเหมือนลูกน้องหรืออุปกรณ์ โดยสรุปก็คือหัวหน้าหรือคนคนหนึ่ง สั่งลูกน้องหรือใช้อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งไปทำให้ผู้คนเกลียดชังกัน อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ ดูเหมือน Fake News จะกลายเป็นลูกน้องหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้เรื่องเสียแล้ว เพราะผู้คนเริ่มสงสัยและจับผิดได้มากขึ้น ถึงกระนั้น ตัวความเกลียดชังจะยังคงอยู่ต่อไป และคอยหาลูกน้องหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเกลียดชังในสังคม เช่น ความเชื่อ ดังที่ในอดีตเคยมีการล่าแม่มดหรือการตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนถึงปัจจุบันที่มีการสรรหาถ้อยคำแรงๆ มาเรียกผู้ที่มีมุมมองทางการเมืองแตกต่างจากตนเอง 

อีกทั้ง ผู้คนมีแนวโน้มที่จะทำตามๆ กัน อาทิ ในการทดลอง “People in the lift” ทีมวิจัยรวมกลุ่มกันเข้าไปยืนในลิฟท์แล้วทุกคนหันหน้าไปทางเดียวกันหมด คนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในทีมเมื่อเห็นเข้าก็มักจะหันหน้าไปทางเดียวกันด้วย เพราะคนเรามักกลัวว่าตนเองจะไม่เหมือนคนอื่น ดังนั้นเมื่อเราอยู่ในสิ่งแวดล้อม (Chamber) แบบใด เราก็มักจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมนั้น แล้วก็คิดไปเองว่าเราอยากทำ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราถูกสิ่งแวดล้อมบังคับให้ทำ ซึ่งปรากฎการณ์นี้สามารถพบเห็นได้บนพื้นที่ออนไลน์เช่นกัน เช่น ผู้ที่ใช้เวลากับชุมชนออนไลน์ที่พูดคุยเรื่องศิลปินเกาหลี อาจเข้าใจไปว่าสังคมนี้ชื่นชอบศิลปินเกาหลีกันหมด ทั้งที่จริงๆ บนโลกออนไลน์ยังมีผู้สนใจเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราถูกทำให้เชื่อ แต่หากเชื่ออยู่แล้วก็อาจยิ่งแสวงหาเพราะเห็นว่าจุดนั้นมีแต่คนที่ชอบเหมือนกับเรา

“เรากลัวการที่เราไม่มีฝูง เราเป็นม้าลายที่อยากอยู่ในฝูงม้าลาย เราอยากอยู่ท่ามกลางคนที่คิดแบบเดียวกับเรา หรือเรารู้สึกว่านี่แหละครอบครัว หรือฝูงของเราที่แท้จริง นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของสัตว์” นพ.อุเทน กล่าว 

ปรากฎการณ์ Echo Chamber ส่งผลต่อความเกลียดชังอย่างไร? ย้อนไปในปี 2544 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ เคยนำเสนอสารคดี “Five Steps to Tyranny” ที่สรุปวิธีเปลี่ยนคนธรรมดาๆ ให้พร้อมจะออกไปเข่นฆ่าทำร้ายคนอื่นที่คิดต่าง โดยเริ่มจาก 1.แบ่งเขาแบ่งเรา 2.เชื่อฟังทันทีโดยไม่ตั้งคำถาม ซึ่งเมื่อได้องค์ประกอบ 2 ข้อแรกนี้แล้ว อีก 2 ข้อที่เหลือจะตามมา คือ 3.พร้อมทำร้ายฝ่ายตรงข้าม 4.เมินเฉยกับฝ่ายตรงข้ามและช่วยเหลือเฉพาะฝ่ายเดียวกัน และเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็จะเข้าข้อสุดท้ายคือ 5.ทำร้ายอีกฝ่ายได้แบบไม่ต้องลังเลใจ 

ซึ่งแม้สารคดีข้างต้นจะสร้างขึ้นใน บริบทของการเชื่อฟังคำสั่งผู้นำหรือผู้มีอำนาจ (เช่น รัฐบาลเผด็จการ) และยุคสมัยที่อินเตอร์เน็ตเพิ่งแพร่หลาย แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบ 2 ข้อแรก (1.แบ่งเขาแบ่งเรา กับ 2.เชื่อฟังทันทีโดยไม่ตั้งคำถาม) จะพบว่าคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ที่แต่ละคนเลือกอยู่กับกลุ่มที่คิดเหมือนกัน รับข้อมูลข่าวสารเฉพาะจากฝ่ายเดียวกันและเชื่อตามกันโดยมองว่าฝ่ายตนนั้นถูกส่วนอีกฝ่ายผิด ท้ายที่สุดแม้ยังไม่ถึงขั้นออกไปทำร้ายกันในชีวิตจริง แต่ก็พร้อมแบกความเชื่อของตนเองออกไปสาด Hate Speech ต่อผู้เห็นต่างบนโลกออนไลน์

ปัญหาจากปรากฎการณ์ Echo Chamber ยังทวีความรุนแรงขึ้นอีกเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้าสู่ยุคของสื่อสังคมออนไลน์ ที่แพลตฟอร์มมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เก็บข้อมูลผู้ใช้งานแต่ละคนว่าสนใจเรื่องใด แล้วคัดกรองเฉพาะเนื้อหาที่ “ถูกจริต” ของผู้ใช้งานมาให้ได้พบเห็นเท่านั้น โดยตัดเนื้อหาอื่นๆ ที่ผู้ใช้งานไม่ชอบหรือไม่สนใจออก สิ่งนี้ถูกเรียกว่า “Filter Bubble” หรือ “ฟองสบู่ตัวกรอง” คำนี้ถูกพูดถึงครั้งแรกโดย เอลี ปารีเซอร์ (Eli Pariser) นักคิดและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน บนเวที Ted Talk ในปี 2554 

ปารีเซอร์ ยกตัวอย่าง อาทิ วันหนึ่งเขาได้สังเกตเห็นข่าวสารฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) หายไปหน้าจอเฟซบุ๊คของตน สาเหตุเพราะตนเองมีแนวคิดเสรีนิยม (Liberal) จึงมักโต้ตอบกับข่าวสารฝ่ายเสรีนิยมเป็นหลัก และเฟซบุ๊คก็มีระบบที่จดจำพฤติกรรมการค้นหาหรือเนื้อหาที่ผู้ใช้งานแต่ละคนมีปฏิกิริยาโต้ตอบ (กด Like กด Share หรือแสดงความคิดเห็น) บ่อยๆ ก่อนนำไปประมวลผลแล้วเลือกแต่เฉพาะเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คนคนนั้นชอบส่งมาให้เห็น 

เช่นเดียวกับ Search Engine ยอดนิยมอย่างกูเกิ้ล ปารีเซอร์ ไหว้วานเพื่อนอีก 2 คน ลองค้นหาคำว่าประเทศอียิปต์ (Egypt) แล้วพบว่า หน้าแรกของการค้นหาของคนหนึ่งมีข่าวการประท้วงในอียิปต์ (ที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ในเวลานั้น) โผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด แต่ของอีกคนหนึ่งไม่มีข่าวดังกล่าวปรากฏเลย และย้ำว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์เจ้าอื่นๆ ก็กำลังดำเนินการแบบเดียวกัน นั่นคือการปรับรูปแบบการใช้งานให้เข้ากับผู้ใช้งานแต่ละคน นำไปสู่ข้อกังวลว่า ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้าน จากระบบที่กรองสิ่งที่ผู้ใช้งานมีแนวโน้มไม่ชอบ หรือตรงข้ามกับทัศนคติของผู้ใช้งานออกไปหมด เหลือแต่สิ่งที่แต่ละคนพอใจเพียงด้านเดียวเท่านั้น

บทความ “How algorithms and filter bubbles decide what we see on social media” ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ อธิบายการทำงานของ อัลกอริทึม (Algorithms) ของ AI ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ว่า มันเก็บข้อมูลผู้ใช้งานทั้งประวัติการค้นหา การซื้อของออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ใช้ รายละเอียดเวลาสมัครใช้บริการต่างๆ ทางออนไลน์ ตลอดจนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ก่อนจะประมวลผลและแสดงให้เห็นตามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานแต่ละคน 

ดังนั้นเมื่อบวกกับพฤติกรรมที่คนเรามักเลือกรับข้อมูลข่าวสาร หรือติดตามผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มุมมองคล้ายกับตนเองแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจที่ท้ายที่สุดเราจะมองเห็นแต่ข้อมูลข่าวสารในทางเดียวกัน และไม่เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป นี่คือปรากฎการณ์ Filter Bubble ซึ่งยังส่งผลให้ข่าวปลอม-ข่าวลวงแพร่กระจายได้ง่ายด้วย หากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ติดตามอยู่ต่างพากันเชื่อหรือแชร์เนื้อหาดังกล่าว 

ในตอนท้ายของบทความข้างต้นของ BBC ได้แนะนำ 3 ข้อที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตควรทำเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวังวนของ Filter Bubble ประกอบด้วย 1.ให้พื้นที่ในการติดตามฝ่ายที่มีมุมมองแตกต่าง เพื่อคานอำนาจกับการทำงานของอัลกอรึทึมที่เลือกป้อนแต่สิ่งที่ผุ้ใช้งานชื่นชอบหรือเห็นด้วยเพียงด้านเดียว 2.รับข้อมูลให้กว้างขวาง อย่ายึดติดกับสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์บางแห่งมากเกินไป (แต่ก็ต้องดูแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้วย) 3.กลับสู่ชีวิตจริง พักการท่องโลกออนไลน์แล้วไปใช้เวลากับคนรอบๆ ตัวอย่างครอบครัวหรือเพื่อนฝูงบ้าง แทนที่จะรับข้อมูลข่าวสารด้านเดียวจากปรากฎการณ์ Filter Bubble ทั้งนี้ ขอให้ตระหนักไว้ว่า อย่าเชื่อทุกอย่างบนฟีดข่าวหน้าจอ เพราะยังมีคนอีกมากที่อาจคิดต่างออกไปจากมุมมองนั้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว มนุษย์มีพื้นฐานตั้งต้นคือความพอใจที่จะเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับจริตของตนเอง และปฏิเสธข้อมูลข่าวสารในมุมอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับความเชื่อ-ความชอบ ซึ่งอินเตอร์เน็ตสามารถตอบสนองจุดนี้ได้เพราะผู้ใช้งานเป็นผู้ตัดสินใจเลือกรับ แต่ผลกระทบคือทำให้สังคมแบ่งขั้วและแตกแยกกันมากขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่คิดจะรับฟังกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ใช้เทคโนโลยีป้อนแต่เนื้อหาที่ชอบและคัดกรองเนื้อหาที่ไม่ชอบออกไป ยิ่งทำให้ระดับความอคติของผู้ใช้งานเข้มข้นขึ้น และพร้อมใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตีด่าทอหรือระรานผู้ที่เห็นต่างกไปจากตนบนโลกออนไลน์ 

ดังนั้นการ “ฝืนความเคยชิน” แบ่งใจ-เปิดพื้นที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่มีมุมมองแตกต่างบ้าง (แม้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ ก็ตาม) คงเป็นหนทางที่พอจะช่วยให้อุณหภูมิความเดือดดาลรุนแรงลดลงได้บ้าง!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Hate-Speech-in-IFBL.aspx (Hate Speech ทำไมต้องให้ร้ายใส่กัน : EDTA 16 ธ.ค. 2562)

https://news.thaipbs.or.th/content/117718 (เผยผลสำรวจพบเว็บไซต์การเมืองใช้”Hate Speech”เกลื่อนเว็บ แซงทีวีดาวเทียม : ThaiPBS 11 ต.ค. 2555)

https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/echo-chamber (echo chamber : Cambridge Dictionary)

https://www.theguardian.com/science/blog/2017/dec/04/echo-chambers-are-dangerous-we-must-try-to-break-free-of-our-online-bubbles (Echo chambers are dangerous –  we must try to break free of our online bubbles : The Guardian 4 ธ.ค. 2560)

https://web.mit.edu/marshall/www/papers/CyberBalkans.pdf (Electronic Communities: Global Village or Cyberbalkans? : MIT มีนาคม 2540)

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/science-choice/201504/what-is-confirmation-bias (What Is Confirmation Bias? : Psychology Today 23 เม.ย. 2558)

https://www.hfocus.org/content/2020/05/19325 (เข้าใจเฟคนิวส์ในมุมมองแพทย์ด้านประสาทวิทยา: “เราเชื่อ เพราะเราอยากเชื่อ” : Hfocus 14 พ.ค. 2563)

https://kottke.org/16/11/five-steps-to-tyranny (Five Steps to Tyranny : Kottke.org 23 พ.ย. 2559)

https://www.ted.com/talks/eli_pariser_beware_online_filter_bubbles (Beware online “filter bubbles” : Ted Talk มีนาคม 2554)

https://www.naewna.com/likesara/434893 (‘โลกออนไลน์’ ไฉนเป็น‘สังคมอุดมดราม่า’ : นสพ.แนวหน้า 22 ส.ค. 2562)

https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/zd9tt39 (How algorithms and filter bubbles decide what we see on social media : BBC)