Live fact-check: อัพเดทรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังเหตุแผ่นดินไหว 28 มี.ค.2568

โคแฟครวบรวมและอัพเดทรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื้อหาที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์หลังเหตุการณ์ แผ่นดินไหว ที่ประเทศเมียนมาและส่งผลกระทบถึงประเทศไทยเมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยกองบรรณาธิการโคแฟคและภาคีเครือข่าย
วันที่ 31 มีนาคม 2568
เนื้อหาที่ตรวจสอบ: เกิดแผ่นดินไหวอีกระลอก ผู้คนอพยพออกจากตึกสูงหลายแห่งใน กทม.
เนื้อหาโดยสรุป: เวลาประมาณ 9.30 น. มีรายงานว่าคนที่อยู่ในตึกสูงรู้สึกถึงแรงสั่นไหวจึงได้พากันออกมาจากตึก เช่น ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก สำนักงานใหญ่ธนาคารอาคาสงเคราะห์ ถ.พระราม 9 สำนักงานประกันสังคม ถ.มิตรไมตรี กรมสรรพากร ซ.อารีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “เกิดแผ่นดินไหวอีกระลอก”
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาจริงบางส่วน** คนที่อยู่บนอาคารสูงเกิดความหวาดกลัวและอพยพออกจากอาคารหลายแห่งจริง แต่ข้อความที่ระบุว่า “เกิดแผ่นดินไหวอีกระลอก” นั้นเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและสร้างความตื่นตระหนกในสถานการณ์ที่อ่อนไหวหลังภัยพิบัติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมทรัพยากรธรณียืนยันว่าไม่มีแผ่นดินไหวในไทยแต่มีอาฟเตอร์ช็อกขนาดเล็กในเมียนมา และไม่ส่งผลกระทบต่อไทย
เวลา 11.08 น. เพจเฟซบุ๊กกรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่าวันนี้ (31 มีนาคม) เกิดอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวในเมียนมาจริง แต่มีขนาดเล็กและไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
เวลา 11.14 น. เพจเฟซบุ๊กกรมทรัพยากรธรณีชี้แจง จากการตรวจสอบข้อมูลแผ่นดินไหวจากเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และเครือข่ายสถานีตรวจวัดจากต่างประเทศ “ไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่พบเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.7 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก บริเวณทิศตะวันออกของเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา” และจากสถิติที่ผ่านมาแผ่นดินไหวขนาดเล็กในประเทศเมียนมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: สั่งอพยพคนออกจากอาคาร A ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
เนื้อหาโดยสรุป: เวลาประมาณ 10.00 น. มีการส่งข้อความทางแอปพลิเคชันไลน์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่ามีประกาศอพยพคนออกจากอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เนื่องจากมีผู้ที่อยู่ในอาคารได้ยินเสียงคล้ายตึกร้าวและมีเศษปูนร่วงหล่าน
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาเป็นจริง** เหตุการณ์นี้มีสื่อมวลชนรายงานตรงกันหลายสำนึก เช่น เวลา 10.05 น. เว็บไซต์มติชนรายงานว่า “ด่วน! อพยพเจ้าหน้าที่จากศูนย์ราชการ ตึก A หลังมีเสียงลั่น พบรอยแยกตึก” ขณะที่ ch7hd_news โพสต์คลิป ในอินสตาแกรมระบุข้อความว่า “นาทีเร่งอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากตึก A และ B ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เจ้าหน้าที่บางคนบอกได้ยินเสียงลั่น ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทย รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน สั่งอพยพคนเช่นกัน”
เวลา 10.03 น. พิชญ์ธรา แก้วก่อ ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงยุติธรรม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โพสต์เฟซบุ๊กรายงานเหตุการณ์จากศูนย์ราชการฯ ว่าเธอและเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้อพยพออกจากตึกเพื่อความปลอดภัย เพราะได้รับแจ้งว่าอาคารฝั่งที่เป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญและศาลล้มละลายกลางเกิดการสั่น แต่เธอซึ่งนั่งอยู่ในห้องสื่อมวลชน บริเวณชั้น 2 ประตู 3 ไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนใด ๆ
เวลา 11.04 น. พิชญ์ธราให้ข้อมูลกับโคแฟคทางโทรศัพท์ว่าได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบว่าจุดที่เกิดเหตุอาคารสั่นสะเทือนและมีความเสียหายคือศาลล้มละลายกลาง และขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาตให้กลับเข้าอาคาร
วันที่ 29 มีนาคม 2568
เนื้อหาที่ตรวจสอบ: แผ่นดินไหวทะเลอันดามันขนาด 4.6 เวลา 17.08 น. ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
เนื้อหาโดยสรุป: ช่วงเย็นถึงกลางดึกของวันที่ 29 มีนาคม มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายโพสต์ข้อความเตือนภัยการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน เช่น ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ สื่อมวลชนอิสระ โพสต์ข้อความในบัญชี X @sirotek ว่า “ด่วน! มีรายงานแผ่นดินไหวทะเลอันดามันขนาด 4.6 เวลา 17:08 น. ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ลึก 140 ก.ม. ห่างจากภูเก็ต 400 กม.” ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความเมื่อเวลา 18.40 น. คล้ายกันว่า “ด่วน วันนี้ 29 มี.ค.68 เวลาประมาณ 17.08 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวในทะเล ที่บริเวณ จ.บันดาอาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 4.6 แมกนิจูด ความลึก 140 กม.”
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **ข้อมูลจริง แต่อาจสร้างความตื่นตระหนกในช่วงสถานการณ์อ่อนไหว** กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊กเมื่อเวลา 21.01 น. ว่ามีแผ่นดินไหวในตำแหน่งและเวลาดังกล่าวจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวในเมียนมาและไม่เกิดสึนามิ กรมอุตุฯ ระบุว่า “เนื่องจากมีประชาชนสอบถามเข้ามาจำนวนมาก จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว จึงขอเรียนชี้แจงว่า แผ่นดินไหว วันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลา 17.08 น. บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ขนาด 4.1 ลึก 148 กม. ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา และไม่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ”
เนื้อหาที่ตรวจสอบ: ภาพที่อ้างว่าเป็น “รอยเลื่อนสะกาย”
เนื้อหาโดยสรุป: เวลาประมาณ 00.22 น. ผู้ใช้ TikTok เผยแพร่ภาพที่อ้างว่าเป็น “รอยเลื่อนสะกาย” พร้อมกับให้ข้อมูลเกี่ยวกับรอยเลื่อนที่เป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูดในประเทศเมียนมาที่ส่งแรงแรงสั่นสะเทือนถึงไทย ภาพดังกล่าวเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ที่ปริแยกออกจากกันเป็นทางยาว ต่อมาภาพและข้อความเดียวกันนี้ถูกนำมาเผยแพร่ต่อในเพจเฟซบุ๊ก “อาสาปทุม”

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **คาดว่าเป็นภาพ AI** Thai PBS Verify ตรวจสอบภาพจากเฟซบุ๊ก “อาสาปทุม” โดยใช้ “Is It AI?” ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจสอบภาพจาก AI ผลการตรวจสอบพบว่าร้อยละ 99 ถูกสร้างจาก AI ของ Midjourney บริษัทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับการสร้างภาพศิลปะ
โคแฟคตรวจสอบเพิ่มเติมโดยใช้ RevEye Reverse Image Search พบภาพที่คล้ายกันเป็นภาพรอยแยกที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่ง AFP Fact Check เคยตรวจสอบภาพนี้มาแล้วเมื่อปี 2566 เมื่อมีผู้ใช้ TikTok นำมาอ้างเท็จว่าเป็นภาพของเปลือกโลกที่แตกหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศตุรกีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566
วันที่ 28 มีนาคม 2568
เนื้อหาที่ตรวจสอบ: เขื่อนวชิราลงกรณ์ได้รับความเสียหายมาก
เนื้อหาโดยสรุป: ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ในกลุ่มสาธารณะ “แจ้งเตือนอากาศ” ว่าเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) ซึ่งกั้นแม่น้ำแควน้อย อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี “ได้รับความเสียหายมาก” ทำให้ต้องเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาเท็จ** Thai PBS Verify ตรวจสอบกับนายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ยืนยันว่า เขื่อนวชิราลงกรณ์ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2568 เพจเฟซบุ๊กทางการของกรมชลประทานยืนยันอีกครั้งว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอย่างละเอียดแล้ว พบว่าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทุกแห่งยังคงมีสภาพมั่นคง แข็งแรงและไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
เนื้อหาที่ตรวจสอบ: SMS แจ้งเตือนแผ่นดินไหวให้กดลิงก์
เนื้อหาโดยสรุป: หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวประมาณ 1-2 ชั่วโมง มีผู้ได้รับ SMS ข้อความว่า “แจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน” พร้อมกับแนบลิงก์ให้ผู้รับกดเข้าไปอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **SMS ปลอม อย่ากดลิงก์** กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแจ้งเตือนทางเฟซบุ๊กตำรวจสอบสวนกลางเมื่อเวลา 19.03 น. ว่าให้ประชาชนระวัง SMS ปลอมที่ส่งข้อความแจ้งเตือนแผ่นดินไหวและแปะลิงก์ดูดข้อมูล
“ขณะนี้พบว่ามีมิจฉาชีพอาศัยสถานการณ์ดังกล่าว ส่ง SMS ปลอมมายังโทรศัพท์มือถือของประชาชน โดยอ้างว่าเป็น SMS แจ้งเตือนเหตุเเผ่นดินไหว แต่ความจริงเเล้วมีการแปะลิงก์ดูดข้อมูลมาด้วย ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อ และกดลิงก์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด”
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ย้ำว่าข้อความแจ้งเตือนภัยจะส่งในชื่อ “DDPM” เท่านั้นและไม่มีการแนบลิงก์ให้ประชาชนกดอ่านเพิ่มเติมหรือลงทะเบียน หากได้รับข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นข้อความจากมิจฉาชีพ

เนื้อหาที่ตรวจสอบ: ตึกใบหยกร้าวและเอียง
เนื้อหาโดยสรุป: ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความว่า “ตึกใบหยกร้าวและเอียง” จากเหตุแผ่นดินไหวและเตือนให้ทุกคนออกจากบริเวณดังกล่าว ตึกใบหยกสกายหรือตึกใบหยก 2 เป็นตึกระฟ้าความสูง 88 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาเท็จ** เพจเฟซบุ๊ก Baiyoke Sky รายงานการตรวจสอบ เมื่อเวลา 15.20 น. ว่า ไม่พบร่องรอยความเสียหายที่กระจกของอาคาร ซึ่งเป็นส่วนที่บอบบางที่สุด และยืนยันว่าตึกใบหยก 2 ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ขณะที่เฟซบุ๊กของนายปิยะเลิศ ใบหยก โพสต์ ระบุว่าข้อมูลที่ว่าตึกร้าวและเอียงนั้นไม่เป็นความจริง แต่รอยที่เห็นเกิดจากสีแตกซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ Thai PBS Verify ได้ตรวจสอบภาพตึกใบหยกในอดีตที่มีการบันทึกใน Google Map พบว่าภาพที่บันทึกในปี 2554 มีรอยคล้ายสีแตกจริง จึงเป็นไปได้ว่ารอยดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้
เนื้อหาที่ตรวจสอบ: สะพานภูมิพลสลิงขาด
เนื้อหาโดยสรุป: ผู้ใช้เฟซบุ๊กอ้างว่าสายสลิงสะพานภูมิพล ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างเขตยานนาวา กรุงเทพฯ และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ชำรุดเสียหายและกำลังจะขาด เจ้าหน้าที่สั่งปิดการจราจร
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง: **เนื้อหาเท็จ** กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ชี้แจงในเพจเฟซบุ๊กเมื่อเวลา 16.49 น. ว่าเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วยืนยันว่า “สลิงบนสะพานภูมิพลยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ประชาชนสามารถใช้สะพานในการสัญจรได้ตามปกติ” ต่อมาเวลา 19.07 น. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทช. ตรวจสอบทุกสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว พบว่าใช้งานได้ตามปกติทุกแห่ง ได้แก่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานกรุงธน, สะพานพระราม 7, สะพานพระราม 5, สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์, สะพานพระราม 4, สะพานพระราม 3, สะพานพระพุทธยอดฟ้า, สะพานพระปกเกล้า, สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน, สะพานกรุงเทพ, สะพานภูมิพล 1, สะพานภูมิพล 2, สะพานยกระดับข้ามคลองและข้ามแยกในสายทาง, อุโมงค์ทางลอด
ข้อมูลเพิ่มเติม: ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับทางหลวงชนบทได้ที่ Facebook “กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม” หรือโทรสายด่วน ทช. 1146