ตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวลือโรคระบาดต่างๆ ในปี 2021 COFACT Special Report #3

บทความ

ตรวจสอบข่าวลวง-ข่าวลือโรคระบาดต่างๆ ในปี 2021

English Summary

The recent global pandemic makes people aware of diseases around them. There have been reports of other diseases that could potentially spread widely just like COVID-19, including Acute Flaccid Myelitis (AFM) or Polio-like disease, Nipah Virus, and Respiratory Syncytial Virus. World Health Organization has been watching these three diseases closely but all of them do not spread in the way COVID-19 does. Therefore, no warning of the new epidemic has been issued. We take a closer look at the symptoms of each disease, how they spread, and how much should you worry or not to worry about them.

การแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาส่งผลให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยวิตกกังวลว่าจะมีโรคระบาดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่ จนทำให้เกิดกระแสข่าวโรคระบาดอื่นๆ ตามมาเป็นจำนวนมาก บางโรคเป็นโรคจริงที่เกิดการแพร่ระบาดแต่ยังไม่เป็นวงกว้าง บางโรคเป็นโรคประจำฤดูที่เคยแพร่ระบาดมาก่อน และบางโรคเป็นการนำเสนอข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกเกินจริง 

1) โรคระบาดคล้ายโปลิโอในสหรัฐฯ?

ในสหรัฐฯ มีการแชร์ภาพและบทความที่ระบุว่า สำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ หรือ CDC เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคคล้ายโปลิโอ ชื่อ Acute Flaccid Myelitis หรือเอเอฟเอ็ม ที่คาดว่าจะแพร่ระบาดอย่างหนักในอีก 4 เดือนข้างหน้า ข้อความดังกล่าวถูกแชร์ต่อหลายร้อยครั้งและสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา สก็อต พอลลี โฆษกประจำสำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า CDC ยังไม่ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม CDC แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กับบุคลากรทางการแพทย์และหาทางรับมือหากเกิดการระบาดขึ้นจริง 

เอเอฟเอ็มเป็นโรคที่มีอาการคล้ายกับโปลีโอ และพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ระบบประสาทสัมผัสไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ 

2) ไวรัสนีปาห์ในอินเดีย? 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานจากสื่อในอินเดียว่า เด็กชายอายุ 12 ปีในรัฐเกรละเสียชีวิตจากไวรัสนีปาห์ สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวนี้พร้อมกับระบุว่าไวรัสตัวนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน และผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 40-75%

ไวรัสนีปาห์ที่จริงแล้วไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่แต่อย่างใด ไวรัสตัวนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1999 ในฟาร์มสุกรที่มาเลเซีย ต่อมาพบว่าสัตว์ที่เป็นพาหะนำเชื้อคือค้างคาวผลไม้ การติดเชื้อมาจากการสัมผัสหรือถูกสัตว์กัดเข้าที่ผิวหนัง อาการที่พบได้คือมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นมีความผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ และอาการชัก ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ต้องประคับประคองและรักษาตามอาการ

ไวรัสนีปาห์สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านทางสารคัดหลั่ง ออย่างไรก็ตามจำนวนผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสตัวนี้มามีเพียง 260 รายเท่านั้น ทั้งหมดอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไวรัสตัวนี้แตกต่างจาก COVID-19 ตรงที่นักวิทยาศาสตร์ทราบต้นตอของการแพร่ระบาดมาจากค้างคาวผลไม้ และส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพร่เชื้อจากคนสู่สัตว์ ดังนั้นวิธีการรับมือกับไวรัสนีปาห์ที่ได้ผลที่สุด คือการตรวจสอบที่มาของการแพร่เชื้อในชุมชน ทำลายฟาร์มสัตว์หรือแหล่งที่พบการแพร่ระบาด และกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้า

องค์การอนามัยโลกยังคงเฝ้าจับตาไวรัสตัวนี้ แต่ยังคงไม่ออกคำเตือนว่าไวรัสตัวนี้แพร่ระบาดอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไวรัสนีปาห์เป็นเชื้อโรคที่เราทราบกันดีว่ามีต้นตอจากสัตว์ พบว่าเคยมีผู้ป่วยในไทยมาก่อน แต่ยังไม่มีการรายงานว่ามีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง วิธีที่จะตัดวงจรการแพร่เชื้อได้คือมนุษย์ต้องเลิกบุกรุกทำลายระบบนิเวศน์ของสัตว์ ธรรมชาติ และทำให้สัตว์ป่าที่ปฏิบัติตัวเป็นแหล่งรังโรค โดยไม่มีอาการทำการย้ายถิ่นฐาน และมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังมนุษย์ และสัตว์เศรษฐกิจได้ง่าย จนระบาดมายังคน

3) ไวรัสอาร์เอสวีระบาดนอกฤดูกาล?

อาร์เอสวี หรือไวรัสมวลเซลล์รวมระบบหายใจ ปกติมักจะพบมากในช่วงฤดูหนาวของประเทศเขตเหนือ อาการที่พบได้บ่อยคืออาการหายใจลำบาก ไอ หอบ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็ก ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมากลับพบว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน และอาการของโรคใกล้เคียงกันกับ COVID-19 ทำให้ผู้ปกครองหลายคนกังวลว่าไวรัสตัวนี้อาจยิ่งทำให้เด็กมีโอกาสป่วยมากขึ้น

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่า โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น พบผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อจากไวรัส RSV ในช่วงฤดูใบไม่ผลิ และฤดูร้อนจำนวนมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ปกติแล้วจะเป็นช่วงที่ไวรัสตัวนี้จะไม่ค่อยแพร่เชื้อ เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศอบอุ่น 

แพทย์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมที่ผิดแปลกของไวรัสชนิดนี้อาจมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการด้านสุขอนามัยต่างๆ ส่งผลถึงไวรัสชนิดอื่นๆ ด้วย เมื่อมาตรการต่างๆ ในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ก็ทำให้ไวรัสบางชนิดที่เป็นไวรัสประจำฤดูกาลกลับมาแพร่ระบาดได้อีก ถึงแม้จะไม่ใช่ฤดูของพวกมันก็ตาม

สำนักงานควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าไวรัสตัวนี้ไม่น่ากังวลเท่าไร เพราะส่วนมากเด็กเกือบทุกคนจะต้องติดเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในอายุ 2 ขวบ อาการที่พบได้บ่อยคือน้ำมูกไหล ไอ หรือจาม จากนั้นมักจะหายป่วยไปเอง บางรายอาจมีภาวะหลอดลมฝอยอักเสบ และอาการอักเสบที่ปอดส่วนล่าง ทำให้หายใจและรับประทานอาหารลำบาก วิธีการรักษาคือการให้ออกซิเจนทางจมูก จากนั้นอาการก็จะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน

หากพบว่าบุตรหลานของท่านติดเชื้อไวรัส RSV วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในครัวเรือนเดียวกันเข้าใกล้กับเด็กที่มีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เพื่อไม่ให้บุคคลดังกล่าวนำเชื้อไปแพร่ต่อให้กับเด็กคนอื่นๆ 

ที่มา: 

https://factcheck.afp.com/http%253A%252F%252Fdoc.afp.com%252F9MZ7X9-1

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/nipah-virus

https://www.cbsnews.com/news/nipah-virus-outbreak-india-kerala/

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/09/12/1035571714/why-the-world-should-be-more-than-a-bit-worried-about-indias-nipah-virus-outbrea

https://www.komchadluek.net/news/484444

https://www.bbc.com/thai/international-58570983

เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)  https://www.damikemedia.com