คลิปชุมนุมเรื่องที่ดินในเชียงใหม่ ถูกนำไปอ้างเท็จว่าเป็นม็อบ “ต่อต้านมิน อ่อง หล่าย” และ “ขับไล่ฮุน เซน”

คลิปการชุมนุมเรียกร้องสิทธิในที่ดินใน จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ถูกนำมาใช้สร้างเนื้อหาเท็จเกี่ยวกับ 3 เหตุการณ์ ใน 3 ประเทศ ตั้งแต่การชุมนุมต่อต้านพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ถึงการชุมนุมขับไล่สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สะท้อนวิธีสร้างข่าวลวงด้วยการนำภาพเหตุการณ์จริงเพียงหนึ่งเหตุการณ์มาใส่คำบรรยายเท็จเพื่อสร้างเรื่องหลอกลวงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วันที่ 24 มี.ค.-1 เม.ย. 2568 ประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินซึ่งรวมตัวกันในนาม “สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า” และ “สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ” ได้ปักหลักชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินของชาวบ้านและให้ยอมรับสิทธิชุมชนคนอยู่กับป่า

ระหว่างการชุมนุมได้มีการเผยแพร่ภาพกิจกรรมของผู้ชุมนุมออกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งต่อมาคลิปการชุมนุมของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่าได้ถูกนำมาใส่คำบรรยายบิดเบือนโดยผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งในเมียนมา ไทย และกัมพูชา ในช่วงที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

โคแฟครวบรวมโพสต์เท็จจากโซเชียลมีเดียในสามประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย และกัมพูชา ซึ่งนำเอาคลิปการชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่ดินใน จ.เชียงใหม่ มาแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จสามกรณี ดังนี้

1. คนไทยชุมนุมต่อต้านมิน อ่อง หล่าย?

ผู้ใช้งานติ๊กตอกชาวเมียนมาโพสต์วิดีโอในวันที่ 4 เม.ย. 2568 โดยมีข้อความบรรยายว่า “ชาวไทยเดินขบวนชุมนุมมุ่งหน้าไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อต่อต้านการมาเยือนของมิน อ่อง หล่าย…3 เม.ย. 68” วิดีโอนี้มียอดรับชมมากกว่า 280,000 ครั้ง ถูกแชร์มากกว่า 1,700 ครั้ง และมีผู้ใช้งานชาวเมียนมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เชื่อว่าเป็นการชุมนุมขับไล่ผู้นำเผด็จการเมียนมาจริงเป็นจำนวนมากใต้โพสต์ เช่น “ผู้นำของเราคงคิดว่าคนไทยมารวมตัวกันสนับสนุนเขา” “ได้โปรดระวังตัวด้วย” และ “อยากรู้ว่านายกฯ ไทยเชิญเขามาทำไม”

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จภาษาพม่า

วิดีโอนี้เริ่มถูกแชร์ในโพสต์ภาษาพม่าจำนวนมากในช่วงที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหารแห่งเมียนมา เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจหรือบิมสเทค (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. 68

การมาเยือนของมิน อ่อง หล่าย ทำให้ไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมในฐานะประธานการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 องค์กรภาคประชาสังคมในไทย เมียนมา และนานาชาติ 319 องค์กร ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการเชิญผู้นำคณะรัฐประหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล

โคแฟคตรวจสอบวิดีโอดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล (Google reverse image search) โดยแยกเฟรมภาพจากวิดีโอออกมาตรวจสอบ ร่วมกับการค้นหาคำสำคัญ (keywords) พบวิดีโอลักษณะเดียวกันถูกโพสต์บนบัญชีติ๊กตอกของผู้ใช้งานชาวไทยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 โดยคำบรรยายโพสต์ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นเหตุการณ์ “การประท้วงสิทธิที่ดินในเชียงใหม่”

สำนักข่าวไทยพีบีเอสภาคเหนือรายงานการชุมนุมในวันที่ 29 มี.ค. 2568 ว่า “กลุ่มมวลชน สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ยังคงชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เป็นวันที่ 6 เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายป่าอนุรักษ์ละเมิดสิทธิชุมชน” โดยภาพจากโพสต์ข่าวดังกล่าวแสดงผู้ชุมนุมที่มีลักษณะตรงกันกับชายในวิดีโอของโพสต์เท็จภาษาพม่า

การเปรียบเทียบภาพจากวิดีโอในโพสต์เท็จซึ่งแสดงผู้ชุมนุมที่มีลักษณะตรงกันกับภาพข่าวการชุมนุมวันที่ 29 มี.ค. 2568 ของสำนักข่าวไทยพีบีเอส

2. ผู้ใช้ติ๊กตอกกัมพูชาอ้างเกิดเหตุวุ่นวายในไทย

ผู้ใช้งานติ๊กตอกชาวกัมพูชาซึ่งมักเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการเมืองโพสต์วิดีโอฝังข้อความภาษาเขมรแปลเป็นไทยได้ว่า “ประเทศไทย (รูปธงชาติไทย) ปัญหา” ในวันที่ 10 มิ.ย. 2568 ทำให้ผู้ใช้งานรายอื่น ๆ เข้าใจผิดและนำไปเผยแพร่ต่อว่ามีการชุมนุมในไทยในวันดังกล่าว โดยวิดีโอความยาว 14 วินาทีนี้มียอดรับชมมากกว่า 788,000 ครั้ง และถูกแชร์ต่อมากกว่า 1,400 ครั้ง

โคแฟคตรวจสอบพบว่าวิดีโอนี้เป็นภาพการชุมนุมเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกัน

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จภาษาเขมร

3. ชาวกัมพูชาชุมนุมขับไล่ฮุน เซน?

ทางด้านผู้ใช้งานติ๊กตอกชาวไทยนำวิดีโอในโพสต์ของชาวกัมพูชาข้างต้นมาใส่ข้อความเพิ่มเติมว่า “ฮุนเซ็นออกไป (ประชาชนประท้วงแล้ว)” และเผยแพร่ในวันที่ 19 มิ.ย. 2568 พร้อมแฮชแท็ก “ประท้วงกัมพูชา” “ข่าวกัมพูชาวันนี้” “ประชาชนลุกฮือ” และ “ต้านรัฐบาลเขมร” วิดีโอนี้มียอดรับชมมากกว่า 177,000 ครั้ง ถูกแชร์ต่อมากกว่าร้อยครั้ง และมีผู้ใช้งานชาวไทยแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เชื่อว่าเกิดการชุมนุมขับไล่อดีตผู้นำกัมพูชาจริง

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จภาษาไทย

วิดีโอนี้เริ่มถูกนำมาบิดเบือนว่าเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งไทย-กัมพูชาทั้งในโพสต์ภาษาไทยและกัมพูชาหลังจากทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันบริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิตหนึ่งนาย และนำไปสู่มาตรการโต้ตอบระหว่างไทยกับกัมพูชา เช่น การกระชับเวลาเปิด-ปิดด่านพรมแดนและนโยบายการห้ามนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ

โคแฟคตรวจสอบพบว่าวิดีโอที่ถูกนำมาประกอบโพสต์เท็จในข้อ 2 และ 3 ถูกเผยแพร่ทางยูทูบมาตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2568 คำบรรยายวิดีโอระบุว่า “เชียงใหม่ระอุ!! กลุ่มชาติพันธุ์นับหมื่นประท้วง” (ลิงก์บันทึก)

ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอยูทูบวันที่ 7 เม.ย. 2568

เมื่อค้นหาเพิ่มเติมจึงพบว่าวิดีโอนี้เป็นภาพการชุมนุมของเครือข่ายชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายป่าอนุรักษ์ และได้มาชุมนุมเรียกร้องสิทธิในที่ดิน ร่วมกับสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่าและสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเมื่อวันที่ 24 มี.ค.-1 เม.ย. 2568 (ลิงก์บันทึก

ปรากฏการณ์ “1 คลิปจริง 3 โพสต์เท็จ” นี้ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศ มักมีผู้นำคลิปเหตุการณ์ในอดีตหรือเหตุการณ์อื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องมาบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อสร้างรายได้จากยอดการเข้าชม เพื่อสร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม หรือสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายของตัวเอง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ