3 มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมหนุนตรวจสอบข้อมูลลวงในวันพูดความจริง 

กิจกรรม

7 ก.ค. 2568 รายการ รายการ Cofact Live Talk ทางเพจเฟซบุ๊ก Cofact โคแฟค ในครั้งนี้ดำเนินรายการโดย สุชัย เจริญมุขยนันท จาก Ubon Connect ชวนพูดคุยในประเด็น ความจริงร่วม จาก 3 ภูมิภาค : ความจริงช่วยสร้างสันติภาพหรือความขัดแย้งกันแน่ แต่ความลวงนั่นทำร้ายสังคมแน่แท้เนื่องในวาระวันพูดความจริงโลก วันที่ 7 กรกฎาคม ของทุกปี 

รายการครั้งนี้เริ่มจากการแสดงธรรมโดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเทศ ราชวรมหาวิหารประธานกรรมการมูลนิธิ สกพ. IBHAP Foundation ซึ่งท่านได้กล่าวว่า เนื่องในโอกาส วันอาสาฬหบูชา ที่เวียนมาถึงในปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ก.ค. 2568 ย้อนไปในสมัยพุทธกาล วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร พูดถึงความจริงที่เรียกว่า อริยสัจ 4” อันประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค จึงเห็นได้ว่าความจริงเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ อย่างแม้กระทั่งในศาสนาพุทธ 

และหากมองให้ลึกลงไปในเนื้อหาของธัมมจักกัปปวัตนสูตร ก็จะเห็นว่า “พระพุทธเจ้าได้อธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความจริงกับการปฏิบัติ” เช่น ก่อนจะกล่าวถึงทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ท่านก็ยกตัวอย่างทางที่สุดโต่ง 2 ด้าน ฝั่งหนึ่งคือการปรนเปรอตนเองด้วยความสุขมากเกินไป กับอีกฝั่งคือการทรมานตนเองมากเกินไป ก่อนจะสรุปที่ทางสายกลางว่ามรรคมีองค์

อนึ่ง แม้ความจริงจะมีเพียงหนึ่งเดียว..แต่ความจริงก็อาจมองได้หลายมิติ ดังจะเห็นเรื่องราวการทำสงครามกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะมีการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ – Information Operation) การปล่อยข้อมูลเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำร้ายทำลายกัน เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตั้งแต่สงครามระหว่างประเทศลงมาจนถึงการต่อสู้กันของกลุ่มหรือพรรคที่มีความเห็นต่าง 

ดังนั้นแล้วจึงอยากชวนมองใน 2 อย่าง คือ 1.ตรวจสอบก่อนว่าเรื่องที่รับรู้ว่าเป็นข้อเท็จจริง (Fact) หรือไม่ อย่างที่ทางภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) รณรงค์ว่า “Everyone is a Fact Checker” ทุกคนก่อนจะเชื่ออะไรต้องตรวจสอบเสียก่อน กับ 2.ท่าทีต่อความจริง ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะแม้จะตรวจสอบจนแน่ใจว่าเรื่องที่รู้มานั้นจริง เราก็ยังมีท่าทีที่จะเลือกปฏิบัติกับเรื่องนั้นๆ ได้ด้วยว่าจะเลือกอย่างไร 

ซึ่งเรื่องนี้ขอยกหลักคิดของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่แนะนำว่า ท่าทีต่อมนุษย์ให้ใช้เมตตา..ท่าทีต่อสัจธรรมให้ใช้ปัญญา” หมายถึงในแง่สัจธรรมควรไปให้สุดว่าเป็นความจริงหรือไม่ด้วยปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ ที่หมายถึงการพิจารณาให้ถึงต้นกำเนิดของธรรมหรือปรากฏการณ์นั้นว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร แล้วจะได้เห็นเนื้อความด้วยปัญญา

แต่เมื่อรู้ความจริงนั้นแล้ว การมีท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์เราใช้เมตตา หมายความว่า เช่น บางคน บางกลุ่ม บางสังคม เขาอาจทำเรื่องนี้ไปแล้วเรามีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่โอเค แต่ถ้าเรามองด้วยเมตตา เราอาจจะเห็นว่าเบื้องหลังความจริงที่ว่าคนคนนี้หรือกลุ่มนี้ทำเรื่องไม่ดีนี้มันมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจริงๆ แล้วเราจะเห็นว่าบางทีเราเองอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยุติความขัดแย้งหรือยุติสงคราม คือสร้างสันติภาพหรือความสงบสุขขึ้นมาก็ได้

เช่น เราพูดกันบ่อยๆ เวลาเด็กทำอะไรไม่ดี หรือผู้ใหญ่ที่มีเงื่อนไขอะไรบางอย่างแล้วทำให้เขาทำในสิ่งที่ไม่ดี เราก็จะโจมตีแต่ปีศาจที่เราเห็น โดยลืมไปว่าบางครั้งสื่อมวลชน ครูบาอาจารย์ในโรงเรียน พระหรือสถาบันศาสนา บางทีล้วนมีส่วนในการที่ทำให้ปีศาจตนนั้นเกิดขึ้นมา บางทีการที่เราทำหรือไม่ทำอะไรล้วนมีส่วนที่ทำให้ภาวะนั้นๆ ที่มันไม่ดีในตัวบุคคลมันเกิดขึ้นและเติบโต ในมุมแบบนี้เราอาจต้องมองด้วยเมตตาว่าเราจะมีส่วนช่วยยุติความไม่ดีงามนั้นได้อย่างไร พระมหานภันต์ กล่าว

พระมหานภันต์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเลือกใช้หลักให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ภายในครอบครัว การเถียงไปให้ถึงที่สุดว่าใครผิด – ใครถูก อาจนำไปสู่ความแตกแยกของครอบครัว ลักษณะนี้อาจไม่จำเป็นที่ต้องต่อสู้กันเพื่อความจริง เพราะแต่ละคนก็จะถือชุดความจริงของตนเอง พ่อแม่ญาติพี่น้องทะเลาะกันมีแต่เสียครอบครัวแล้วจะทำไปเพื่ออะไร ก็น่าจะใช้การประนีประนอมพักเรื่องความจริงไว้ก่อนก็ได้ แต่หากเป็นกรณีที่หากปล่อยไว้ไม่ค้นหาความจริงก็จะกลายเป็นวงจรอุบาทว์นำความเสียหายมาแบบไม่สิ้นสุด เช่น เรื่องทุจริตต่างๆ ก็ต้องหาความจริงให้ถึงต้นตอเพื่อนำไปสู่การแก้ไข

จากนั้นเป็นการเสวนาโดยวิทยากร 3 ท่าน โดย อังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงกิจกรรม Workshop เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 6 ก.ค. 2568 ชวนนิสิตพูดคุยเรื่องสถานการณ์ความไม่จริงที่เคยพบเห็น เช่น ประสบการณ์ถูกหลอกโดยมิจฉาชีพรูปแบบต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นพบว่านิสิตมีต้นทุนทักษะชีวิตอยู่พอสมควร เจออะไรแปลกๆ ก็จะสงสัยไว้ก่อน 

โดยหนึ่งในกลอุบายที่พบบ่อยๆ คือการหลอกให้ลงทุนโดยต้องจ่ายเงินก่อน แต่จำนวนเงินที่ให้จ่ายนั้นยังไม่มาก ซึ่งก็มีทั้งคนที่คิดได้และคนที่ลืมตัวแล้วโอนไป พร้อมกับฉายภาพให้เห็นว่ากิจกรรมนี้ไมได้จัดกันแต่เฉพาะในมหาวิทยาลัยมหาสารคามแต่ดำเนินการทั่วประเทศและระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นิสิตได้เห็นว่าการนำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริงมีความสำคัญอย่างไร

เราชวนเขามอง อย่างน้อยที่สุดเขาสวมหมวก 2 ใบ ใบแรกเขาเป็นประชาชนทั่วไป ใบที่ 2 คือเขาเป็นสื่อ การที่เขาสวมหมวก 2 ใบลักษณะนี้เขาต้องทำบทบาทหน้าที่ทั้งปกป้องตัวเอง ปกป้องคนใกล้ชิดในครอบครัว และในขณะเดียวกันเขาเป็นสื่อที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ฉะนั้นเราก็ชวนเขามามุมมองเหล่านี้แล้วหลังจากนั้นเราชวนเขาให้รู้จักกันเครื่องมือในการที่จะตรวจสอบข้อมูลต่างๆอังคณา กล่าว

ผศ.ดร.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(วิทยาเขตปัตตานี) กล่าวว่า ที่คณะวิทยาการสื่อสารมอ.ปัตตานี มีกิจกรรม Hackathon ตามล่าความจริงพิชิตข้อมูลลวง ชวนคนรุ่นใหม่เข้ามาฝึกการตรวจสอบข้อมูลเท็จ ซึ่งจากโจทย์ที่ตั้งไว้ก็จะทำให้นักศึกษาที่มาเข้าร่วมได้เห็นว่า หลายๆ เรื่องที่ได้รับรู้มา หากตั้งข้อสังเกตเสียหน่อยก็จะนำไปสู่การตรวจสอบได้ว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือมาก – น้อยเพียงใด 

โดยโจทย์ที่ตั้งไว้ก็จะมี 2 เรื่อง 1.การโฆษณาที่พบได้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง ยาสีฟันช่วยลดฟันร่น เรื่องนี้น่าสนใจเพราะเป็นข้อมูลที่แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์แล้วมีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก กับ 2.ความเชื่อ ตัวอย่างโจทย์ที่ยกมาคือ ขนแมวสามารถผ่านเข้าไปในปอดของคนเราได้ ซึ่งหลายๆ เรื่องที่เป็นความเชื่อก็เป็นการบอกเล่าต่อๆ กันมาโดยไม่มีการตรวจสอบ

ถ้าเราหยุดคิดแล้วเอ๊ะสักนิด เราก็จะพบว่าหลายๆ ข้อมูลเราปฏิบัติผิดมาตลอดเลยเพราะเรามีความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดแล้วก็ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลกัน อันนี้ก็จะเป็นโจทย์ที่พยายามจะให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้พยายามตั้งคำถามทั้งในสื่อ ในโฆษณา แล้วก็ในความเชื่อที่ผ่านเข้าสู่การรับรู้ของเราในชีวิตประจำวัน ผศ.ดร.ภีรกาญจน์ กล่าว 

ผศ.ดร.รดี ธนารักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เล่าว่า มรภ.อุตรดิตถ์ มีกิจกรรมวันพูดความจริงใน 3 รูปแบบ คือ 1.สำรวจสถานการณ์ว่าคนที่อยู่ใน จ.อุตรดิตถ์ เจอข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนเรื่องใดบ้าง ซึ่งข้อค้นพบก็ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ คือเรื่องมิจฉาชีพมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ในขณะที่ประเด็นที่ค่อนข้างเฉพาะในพื้นที่คือเรื่องภัยพิบัติ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ เช่น น้ำท่วม หรือที่ อ.ลับแล เคยเกิดเหตุโคลนถล่ม ภัยพิบัติจึงเป็นประเด็นที่ชาว จ.อุตรดิตถ์ ค่อนข้างระแวดระวังเป็นพิเศษ อาทิ ฝนตกมากหน่อยก็เกิดข่าวลือกัน

โดยแบ่งเป็นการทำแบบสอบถามอย่างเร็ว (Quick Survey) และการลงพื้นที่สัมภาษณ์ประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ปภ.จังหวัด สื่อมวลชนในท้องถิ่น ก่อนนำมาประมวลผลและตัดต่อเป็นรายงาน 2.เสวนาหัวข้อ คนอุตรดิตถ์แคร์ข่าวแท้ไม่แพ้ข่าวลวง เสวนาสืบสานตำนานเมืองลับแล ร่วมเช็คก่อนแชร์กับภาคีโคแฟค อาทิ เมื่อพบประเด็นร่วมกันในพื้นที่อย่างเรื่องภัยพิบัติ จึงเชิญผู้เกี่ยวข้อง เช่น ประธานมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ (กู้ภัย) สื่อมวลชนของรัฐ (สวท.อุตรดิตถ์) นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ตำรวจ และตัวแทนนักศึกษา

และ 3.ละครออนไลน์ หยิบยกตำนาน เมืองลับแล ที่มีการกล่าวถึง เขตห้ามพูดโกหก มาเล่าโดยสอดแทรกความรู้เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ อนึ่ง ในหลักสูตรปกติจะมีวิชาที่เสริมสร้างทักษะการตรวจสอบข้อมูลอยู่แล้ว เช่น วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชาพลเมืองดิจิทัล ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากภาคีโคแฟคในการเข้ามาสอนการใช้เครื่องมือช่วยตรวจสอบ

กระบวนการฝึกเด็กและเยาวชน รวมถึงการทำงานโดยมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วน ตอนนี้ในพื้นที่อุตรดิตถ์ก็ขยายการทำงานด้วยการชวนภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาสร้างการรับรู้ว่าเมื่อคุณมีปัญหานอกจากจะใช้วิจารณญาณส่วนตัวและมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เปรียบเทียบข้อมูลอะไรต่างๆ ตามที่ทุกคนรู้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เรามามีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งในการเช็คข้อมูลได้ ก็คือโคแฟคผศ.ดร.รดี กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค(ประเทศไทย) กล่าวว่า ประทับใจที่เห็นบรรยากาศคึกคักกว่าที่คิดไว้ ซึ่งเข้าใจว่าทั้งอาจารย์และนิสิต-นักศึกษาต่างก็มีภาระเรื่องการเรียนการสอน เมื่อโคแฟคเข้าไปชวนมาทำงานเรื่องส่งเสริมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็รู้สึกเกรงใจว่าอาจเป็นภาระเพิ่ม แต่ก็มีข้อดีคือกิจกรรมนี้สามารถนำไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจ อีกทั้งมีกิจกรรมที่หลากหลาย เหมือนเป็นโครงการทดลองที่จะดูว่าภาคีสามารถไปออกแบบงานได้เลย

“ก็ดีนะในแง่ของหลากหลาย ในแง่ของทุกคนได้แสดงศักยภาพ ก็น่าจะได้ทำงานกันต่อเนื่องและจะได้ขยายโอกาสไปในพื้นที่อื่นๆ ที่เราจะได้เห็นเด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ถูก อย่างปีที่แล้วเราจัดเสวนาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นได้เนื้อหาสาระ ได้คนร่วมที่ดีเป็นภาคีในกรุงเทพฯ แต่ว่าตอนนี้งานของโคแฟคได้ขยายภาคีในกรุงเทพฯ ก็เยอะพอสมควรแล้ว เลยคิดว่าเราน่าจะได้กระจายไปทำงานในภูมิภาคท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากกว่าเดิม” สุภิญญา กล่าว

หมายเหตุ : สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Link นี้ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/2170566536794017 (ภายใน 30 วันนับจากวันถ่ายทอดสด ตามข้อกำหนดของ Facebook)

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-