สวิตเซอร์แลนด์สั่งแบน ‘แมมโมแกรม’: ข่าวลวงแชร์วนซ้ำจากต่างประเทศก่อนมาถึงเมืองไทย

บทความ

By : Zhang Taehun

ด่วน: สวิตเซอร์แลนด์ห้ามทำแมมโมแกรม — และได้เปิดโปงกลุ่มมาเฟียทางการแพทย์!

พาดหัวข้อความที่ถูกส่งเข้ามาสอบถามในระบบของ Cofact เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2568 โดยเนื้อหาของโพสต์ดังกล่าวอ้างว่า โดยอ้างว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์สั่งห้ามทำแมมโมแกรม ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม  และระบุด้วยว่า การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวทำให้เกิด ผลบวกปลอมหมายถึงได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้ป่วย แถมยังอ้างว่าพบผลบวกปลอมสูงถึงร้อยละ 60 อีกต่างหาก และยังระบุด้วยว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นความจงใจของอุตสาหกรรมยาที่ต้องการสร้างกำไรจากสถานการณ์นี้

– แมมโมแกรมคืออะไร?

บทความ การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี ที่เผยแพร่ตั้งแต่เมื่อปี 2559 โดย รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า แมมโมกราฟฟี (Mammography) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้สร้างภาพภายในเนื้อเยื่อของเต้านมโดยใช้รังสีเอ็กซ์ขนาดกำลังต่ำ การตรวจแมมโมกราฟฟีหรือที่เรียกกันว่า แมมโมแกรม นั้นเป็นการตรวจเพื่อหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งทำให้มีโอกาสรักษาหายขาดมากที่สุด ทั้งนี้การตรวจด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่แบ่งได้คร่าวๆ 2 แบบ คือ 

1.การตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ (Screeningmammography) เป็นการตรวจที่สำคัญในการคัดกรองหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น เพราะมะเร็งบางชนิดอาจใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อเต้านมเป็น ปีหรือ 2 ปีก่อนที่ผู้ป่วยหรือแพทย์จะสามารถคลำส่วนที่ผิดปกตินี้ได้ ล่าสุดวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา  แนะนำให้เริ่มทำการตรวจ screening mammogram  ปีละครั้งเมื่อสตรีมีอายุ 40 ปีขึ้นไป สำหรับผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมีความเสี่ยงสูงเช่น มีประวัติมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรรับการตรวจก่อนอายุ 40 ปีหรือไม่ หรือควรตรวจอะไรเพิ่มเติม เช่น Breast MRI

2.การตรวจในผู้ที่มีอาการ (Diagnosismammography) เช่นคลำก้อนได้ที่เต้านม มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณเต้านม หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกมาจากหัวนม (เลือด,หนอง) การตรวจนี้มักเป็นการตรวจเพิ่มเติมเมื่อพบความผิดปกติจาก Screening mammogram

เครื่องแมมโมแกรมมีส่วนที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมซึ่งใส่หลอดเอกซเรย์ และมีส่วนประกอบที่ช่วยให้รังสีผ่านเฉพาะเต้านมที่ทำการตรวจ เป็นเครื่องที่สร้างมาเพื่อใช้ตรวจเฉพาะเต้านมเท่านั้น โดยจะมีแผ่นรองรับเต้านมและกดเนื้อเต้านมในมุมต่างๆเพื่อการถ่ายภาพ การตรวจ Breast tomosynthesis  ต้องใช้เครื่อง Digital mammography เท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกเครื่อง Digital mammography จะสามารถตรวจด้วยวิธี tomosynthesis ได้

เครื่องจะให้กำเนิดรังสีเอกซ์ในขนาดที่พอเหมาะ ผ่านอวัยวะที่จะทำการตรวจ รังสีที่ผ่านจะถูกเก็บไว้ในแผ่นรับรังสีซึ่งจะได้รับการแปลเป็นภาพผ่านระบบคอมพิวเตอร์ให้แพทย์แปลผลอีกครั้งหนึ่ง ในอดีตแผ่นรับรังสีเป็นแผ่นฟิล์มแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นแผ่นรับรังสีที่เป็นระบบอิเล็คทรอนิกส์แทน แต่แผ่นฟิล์มก็ยังคงใช้อยู่ ทั้งนี้ การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี เป็นการตรวจที่ไม่ต้องเข้าพักในโรงพยาบาล (ตรวจแบบผู้ป่วยนอก) เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่ผ่านการอบรมเฉพาะจะเป็นผู้ทำการถ่ายภาพ โดยเริ่มต้นด้วยการจัดตำแหน่งของเต้านมให้พอเหมาะที่แผ่นรองรับที่ตัวเครื่องและใช้แผ่นใสแข็งอีกแผ่นค่อยๆกดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อแผ่ออก และไม่ขยับระหว่างทำการถ่ายภาพ

– สวิตเซอร์แลนด์สั่งห้ามตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเมมโมแกรมจริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริ แถมเรื่องนี้ยังเคยเป็นข่าวลวงในต่างประเทศและถูกหักล้างไปแล้ว ก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาไทยและเข้ามาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ของไทยอีกต่างหาก อาทิ ในวันที่ 13 มิ.ย. 2567 เว็บไซต์ นสพ. USA Today สหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความ Mammograms don’t cause cancer, aren’t banned in Switzerland | Fact check โดยอ้างถึงโพสต์หนึ่งที่ถูกแชร์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2567 ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามการตรวจแมมโมแกรม และอ้างว่า ผลการตรวจที่เป็นบวกราวร้อยละ 50-60 ไม่ถูกต้องและกระบวนการคัดกรองกระตุ้นการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเนื้องอก โพสต์ดังกล่าวได้รับการแชร์มากกว่า 100 ครั้งในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ แถมยังถูกนำไปแชร์บนแพลตฟอร์มอื่น เช่น X (ทวิตเตอร์เดิม)

(ภาพ 01) โพสต์ที่ USA Today อ้างถึง (ในภาพเป็นวันที่ 3 มิ.ย. 2567 เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของโซนเวลา)

ในเวลานั้น ผู้สื่อข่าวของ USA Today ได้สอบถามไปยัง เซลีน เรย์มอนด์ (Celine Reymond) โฆษกสำนักงานสาธารณสุขกลางของสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับคำยืนยันว่า ในระดับประเทศไม่มีนโยบายห้ามการตรวจเอกซเรย์ด้วยแมมโมแกรม โดยโปรแกรมการตรวจคัดกรองนั้นจัดทำขึ้นโดยรัฐต่างๆ

ขณะที่ คอร์เนเลีย ลีโอ (Cornelia Leo) หัวหน้าแพทย์ของ Interdisciplinary Breast Center ของ Cantonal Hospital Baden ในเมืองบาเดิน (Baden) ของสวิตเซอร์แลนด์ ให้ข้อมูลว่า การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมมีให้บริการใน 14 รัฐจากทั้งหมด 26 รัฐในสวิตเซอร์แลนด์ และอีก 4 รัฐกำลังดำเนินการนำโปรแกรมดังกล่าวไปปฏิบัติ ส่วนในรัฐอื่นๆ ก็มีการตรวจแมมโมแกรมด้วยเช่นกัน แต่ในระดับบุคคล เรียกว่าการตรวจคัดกรองแบบตามโอกาส ทั้งนี้ โปรแกรมการตรวจคัดกรองแมมโมแกรมเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพสูงที่ได้รับการตรวจสอบเป็นประจำ

นอกจากนั้น ข้อมูลที่ทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลซูริก ยังระบุด้วยว่า โรงพยาบาลได้เชิญชวนสตรีที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และไม่มีอาการมะเร็งเต้านม ให้เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุกๆ 2 ปีในบางรัฐ แต่การตรวจคัดกรองจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านคุณภาพที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย 

ในเวลาต่อมา วันที่ 20 ก.พ. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ เผยแพร่บทความ Fact Check: Switzerland has not banned mammograms, contrary to online claims ระบุว่า พบโพสต์เนิ้อหาทำนองเดียวกันกับUSA Today เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2567 บนแพลตฟอร์ม X และเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม จากคำตอบที่ได้รับทางอิเมล ซึ่งผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ได้สอบถามไปยัง สำนักงานสาธารณสุขกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า สวิตเซอร์แลนด์ไม่มีนโยบายห้ามการตรวจแมมโมแกรม

ทางสำนักงานสาธารณสุขกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า คำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์กันในโลกออนไลน์ เป็นการตีความรายงานปี 2557 ผิด โดยคณะกรรมการการแพทย์สวิส (SMB) ซึ่งตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และ SMB ถูกยุบไปตั้งแต่เมื่อปี 2565 ทั้งนี้ ในสวิตเซอร์แลนด์แนะนำให้ทำการตรวจแมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจะจัดตั้งขึ้นโดย แคนตัน (Canton)” ต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารในสวิตเซอร์แลนด์ที่คล้ายกับเทศมณฑล (County) หรือมลรัฐ (State)

จากแผนที่ 26 รัฐของสวิตเซอร์แลนด์ มี 15 รัฐที่เสนอโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ โดยรัฐอื่นๆ อีก 3 รัฐมีแผนที่จะแนะนำโครงการในอนาคต โครงการที่เป็นระบบคือโครงการที่ผู้หญิง – มักจะอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป – ได้รับเชิญให้เข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำนอกจากนี้ ยังมีอีก 8 รัฐที่มีโครงการเฉพาะกิจ โดยที่ผู้หญิงจะถูกส่งไปตรวจแมมโมแกรมหลังจากได้รับการแนะนำจากแพทย์ รายงานการตรวจสอบของรอยเตอร์ ระบุ

– ผลบวกปลอมจากการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมสูงถึงร้อยละ 50  60 จริงหรือ?

คำตอบคือ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในวันที่ 24 มี.ค. 2568 สำนักข่าว Euronews ของฝรั่งเศสเผยแพร่รายงาน No, Switzerland hasn’t banned mammograms นอกจากจะยืนยันอีกครั้งว่าเรื่องสวิตเซอร์แลนด์แบนการตรวจด้วยแมมโมแกรมนั้นไม่เป็นความจริงแล้ว ยังไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญในประเด็นผลบวกปลอมนี้ด้วย

ปาร์ธา บาซู (Partha Basu) หัวหน้าสาขาการตรวจจับในระยะเริ่มต้น การป้องกัน และการติดเชื้อของสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในเมืองลียงของฝรั่งเศส อธิบายว่า แม้ผลบวกปลอมจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดกรอง แต่การได้รับผลบวกปลอมเพียงครั้งเดียวก็ไม่เหมือนกับการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย โดย ต้องเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการตรวจคัดกรอง (Screening Test) และการตรวจวินิจฉัย (Diagnostic Test) โดยการตรวจวินิจฉัยก็เหมือนกับการตัดชิ้นเนื้อ ซึ่งคาดหวังว่าจะมีความแม่นยำสูงมาก

การตรวจคัดกรองเป็นเพียงการระบุว่าใครมีความเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำที่จะเป็นโรค และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงแนะนำเสมอว่าผู้หญิงที่ผลการตรวจแมมโมแกรมเป็นบวกควรเข้ากระบวนการสอบสวนโรค (Investigated) โดยเร็วที่สุด บาซูกล่าว  

รายงานข่าวของ USA Today อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า ผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 50 ในสหรัฐฯ ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปีเป็นเวลา 10 ปี จะได้รับผลบวกปลอมในบางช่วงเวลา ซึ่งหมายความว่าพบความผิดปกติในภาพเอกซเรย์แต่ไม่พบมะเร็งซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์กร Susan G. Komen ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานด้านมะเร็งเต้านมในสหรัฐฯรายงานในทำนองเดียวกันว่าโอกาสเกิดผลบวกปลอมอยู่ที่ร้อยละ 50-60 หลังจากทำแมมโมแกรม 10 ปี โดยผลบวกปลอมเกิดขึ้นบ่อยกว่าเล็กน้อยในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า

ขณะที่รายงานของรอยเตอร์ อ้างอิงคำอธิบายของ คริส เดอ วูล์ฟ (Chris de Wolf) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและประธานองค์กรอ้างอิงยุโรปด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและบริการวินิจฉัยคุณภาพ ที่กล่าวว่า ในยุโรป สัดส่วนของผู้หญิงที่ถูกเรียกตัวกลับมาตรวจเพิ่มเติมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-12 ในครั้งแรก และร้อยละ3-5 ในการตรวจครั้งต่อไป ซึ่งตัวเลขหลังนี้หมายความว่าผู้หญิง 30-50 คนในทุกๆ 1,000 คนถูกเรียกตัวกลับมาตรวจเพิ่มเติมหลังการตรวจแมมโมแกรม และในจำนวนผู้หญิงที่ถูกเรียกตัวกลับมา ประมาณ 7 คนจะเป็นมะเร็ง 

ดังนั้น ในจำนวนผู้หญิงที่ถูกเรียกตัวกลับมา 23  43 คน หรือ 76  86% ให้ผลบวกปลอม แต่เมื่อพิจารณาเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั้งหมดที่ได้รับการคัดกรอง จะพบว่าอยู่ที่ 23  43 ใน 1,000 คน หรืออยู่ที่ 2.3  4.3% โดยโพสต์ดังกล่าวอาจหมายถึงความเสี่ยงสะสมของผลบวกปลอมด้วย ตัวอย่างเช่น หากอัตราผลบวกปลอมอยู่ที่ 5% และผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรอง 12 ครั้งตั้งแต่อายุ 50 ปี ความเสี่ยงสะสมโดยประมาณของผลบวกปลอมในช่วงเวลาดังกล่าวจะอยู่ที่ 60% เดอ วูล์ฟ ระบุ

อัตราการตรวจซ้ำเฉลี่ยของสวิตเซอร์แลนด์สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-69 ปีอยู่ที่ 31 ต่อ 1,000คนในปี 2562 – 2564 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของผู้หญิงทั้งหมดที่ได้รับการตรวจคัดกรอง ทั้งนี้ ตามรายงานที่จัดทำขึ้นสำหรับ Swiss Cancer Screening อัตราผลบวกปลอมอยู่ที่ 26 ต่อผู้หญิง 1,000 คน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.6 ของผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองทั้งหมด อัตราดังกล่าวสูงขึ้นสำหรับผู้ที่เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมครั้งแรกในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราการตรวจซ้ำอยู่ที่ 110.8 ต่อ 1,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองทั้งหมด อัตราการตรวจพบผลบวกปลอมอยู่ที่ 105 รายต่อผู้เข้ารับการตรวจ 1,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 10.5 ของผู้เข้ารับการตรวจทั้งหมด

– ตรวจแมมโมแกรมทำให้เกิดเนื้องอก? 

เป็นข้อความที่ถูกส่งเข้ามาถามในระบบของ Cofact และมีการระบุด้วยว่า ยิ่งแย่ลงไปอีก: แมมโมแกรมอาจทำให้เนื้องอก(ถ้ามี)แพร่กระจายได้ การศึกษาวิจัยใหม่ยืนยันว่าการกดทับเนื้อเยื่อที่บอบบางอาจกระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจาย และการทดสอบอาจเพิ่มโรคก็ได้

คำตอบคือ ไม่จริง  โดยรายงานการตรวจสอบจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ยืนยันโดยอ้างคำพูดของปาริสา ล็อตฟี (Parisa Lotfi) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยาและการถ่ายภาพทางชีวการแพทย์ที่ศูนย์มะเร็งเยล (YCC) ในสหรัฐฯ ที่กล่าวกับ USA Today ว่า โพสต์ที่ว่าแมมโมแกรมกระตุ้นการเติบโตของเนื้องอกและการแพร่กระจายนั้นไม่เป็นความจริง ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่บ่งชี้ว่าแมมโมแกรมทำให้เกิดมะเร็ง การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ทั้งแรงกดจากแมมโมแกรมและปริมาณรังสีของมะเร็งเต้านมไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง โดย พ.ร.บ.คุณภาพและมาตรฐานแมมโมแกรม(Mammography Quality and Standards Act) ขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) รับรองว่าปริมาณรังสีอยู่ในช่วงที่ปลอดภัยและต่ำกว่าค่ามาตรฐานของรังสีเอ็กซ์

เอวานโดร เดอ อาซัมบูจา (Evandro de Azambuja) หัวหน้าทีมสนับสนุนทางการแพทย์ของสถาบัน Jules Bordet ในเมืองอันเดอร์เลชท์ของเบลเยียม อธิบายกับ Euronews ว่า หากปฏิบัติตามขั้นตอนที่เคร่งครัดตามคำแนะนำของหน่วยงานต่างๆ ปริมาณรังสีก็จะต่ำ ดังนั้นจะไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งจากการฉายรังสีแมมโมแกรม

สรุปแล้วการตรวจแมมโมแกรมมีประโยชน์หรือไม่?

รายงานของ Euronews อ้างความเห็นของ จูเลีย ชวาร์ตซ์ (Julia Schwarz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจจับระยะเริ่มต้นจาก Swiss Cancer League ในเมืองเบิร์น (Bern) ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ระบุว่า ผู้หญิงควรได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับผลบวกปลอมก่อนเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม โอกาสนั้นไม่มากนัก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นคือโอกาสในการรักษาให้หายจะสูงขึ้น

เช่นเดียวกับ คอร์เนเลีย ลีโอ หัวหน้าแพทย์ของ สถาบันรักษาเต้านมแบบบูรณาการ (Interdisciplinary Breast Center) ของ Cantonal Hospital Baden ในเมืองบาเดินของสวิตเซอร์แลนด์ ที่กล่าวกับ USA Today ว่า ข้อดีของการตรวจแมมโมแกรมนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ผลการศึกษาในระดับนานาชาติและในสวิตเซอร์แลนด์แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ มะเร็งเต้านมจะถูกตรวจพบในระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษามีภาระน้อยลงด้วย ลีโอกล่าว 

ขณะที่ประเทศไทย เท่าที่สืบค้นได้ มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ห่างกันประมาณ 1 ปี โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 รายการ ชัวร์ก่อนแชร์ ทางช่อง MCOT HD ได้สอบถามไปยัง ศ.พญ.ชลทิพย์ วิรัติพันธ์ หัวหน้าศูนย์วินิจฉัยเต้านม ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับคำยืนยันว่า จากการวิจัยทั่วโลกที่ทำกันมากว่า 30 ปี ชี้ว่า แมมโมแกรมเป็นวิธีเดียวที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้มากกว่าร้อยละ 20

และแม้จะมีการตรวจพบผลบวกลวง ก็ไม่ได้แปลว่าจะหักล้างและสรุปว่าไม่ควรตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม ซึ่งหากเทียบกันระหว่างการตรวจหามะเร็งเต้านมตั้งแต่แรกๆ กับการเจอผลบวกลวง โดยเป็นการเจอชิ้นเนื้อแต่ยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไร ขั้นตอนต่อไปก็จะแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อ และการตรวจชิ้นเนื้อนั้นแล้วพบว่าไม่ใช่มะเร็ง ก็เท่ากับว่าเราสามารถเก็บชิ้นเนื้อนั้นไว้กับร่างกายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ดีกว่าไม่รู้แล้วต้องมาคอยลุ้นว่าชิ้นเนื้อจะโตขึ้นหรือไม่ นอกจากนั้นยังควบคุมปริมาณรังสีที่ใช้ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย  

การทำแมมโมแกรมยังไม่กระตุ้นให้เกิดเนื้องอก เพราะไม่ได้ทำให้เซลล์มะเร็งกระจายไปที่ไหนหรือทำให้ลุกลามมากขึ้น ส่วนที่บอกว่าผู้หญิงแข็งแรงทำแมมโมแกรมแล้วตรวจเจอมะเร็ง เรื่องนี้เป็นไปได้ว่าเป็นการเจอมะเร็งที่ซ่อนอยู่เงียบๆ ยังไม่แสดงอาการ สุดท้ายคือสวิตเซอร์แลนด์ก็ไม่ได้ห้ามการตรวจแมมโมแกรม เพียงแต่ที่นั่นรัฐบาลไม่ได้บรรจุให้เป็นสิทธิประโยชน์ และไม่ได้สนับสนุนหรือเชิญชวนให้มาตรวจ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2568 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานโดยอ้างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า สวิตเซอร์แลนด์ยังคงแนะนำและให้บริการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมถือเป็นวิธีตรวจคัดกรองมาตรฐาน (gold standard) สำหรับการตรวจหามะเร็งเต้านมในผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป 

ปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนว่า แมมโมแกรมสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาหายและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยขนาดใหญ่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในยุโรป พบว่า การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ 20-40% ในกลุ่มสตรีที่เข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังแนะนำให้ประเทศที่มีทรัพยากรเพียงพอดำเนินโปรแกรมการตรวจแมมโมแกรมอย่างเป็นระบบโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพและลดภาระของโรคในระยะยาว แม้ว่า การตรวจแมมโมแกรมจะมีความเสี่ยงบางประการ เช่น การได้รับรังสีในปริมาณเล็กน้อย แต่เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นซึ่งช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตแล้ว การตรวจแมมโมแกรมจึงให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

รวมถึงเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2568 เพจเฟซบุ๊ก “สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute” ก็ยังโพสต์คลิปวีดีโอพร้อมคำบรรยาย ข่าวดีของหญิงไทย…. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์  ไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0 22026800 ต่อ 1127

บทสรุปคือ สวิสเซอร์แลนด์สั่งแบนแมมโมแกรมเป็นอีกหนึ่งข่าวลวงที่เข้าข่าย แชร์วนซ้ำ” มีการหักล้างไปแล้วก็ยังกลับมาใหม่ได้อีก!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://cofact.org/article/3ceijwwvsa336

https://www.radiologythailand.org/th/การตรวจเต้านมด้วยเครื่/ (การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมกราฟฟี่ : รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย)

https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2024/06/13/mammograms-banned-switzerland-fact-check/74005275007/ (Mammograms don’t cause cancer, aren’t banned in Switzerland | Fact check : USA Today 13 มิ.ย. 2567)

https://www.reuters.com/fact-check/switzerland-has-not-banned-mammograms-contrary-online-claims-2025-02-20/ (Fact Check: Switzerland has not banned mammograms, contrary to online claims : รอยเตอร์ 20 ก.พ. 2568)

https://www.euronews.com/my-europe/2025/03/24/no-switzerland-hasnt-banned-mammograms (No, Switzerland hasn’t banned mammograms : Euronews 24 มี.ค. 2568)

https://www.youtube.com/watch?v=gD9c4bIQMew (ชัวร์ก่อนแชร์ : แมมโมแกรม อันตราย กระตุ้นให้เป็นมะเร็ง จริงหรือ? : ชวร์ก่อนแชร์ 20 พ.ค. 2567)

https://www.antifakenewscenter.com/ผลิตภัณฑ์สุขภาพ/การทำแมมโมแกรมอาจกระตุ้นให้เนื้องอกลุกลาม/ (การทำแมมโมแกรมอาจกระตุ้นให้เนื้องอกลุกลาม : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 3 มิ.ย. 2568)

https://www.facebook.com/NationalCancerInstitute.Thailand/videos/1606874680006528