‘สุภิญญา’ชี้ถึงเวลาแล้วไทยต้องมี‘Caller ID’เป็นบริการพื้นฐาน แจ้งเตือนสายเรียกเข้าลดเสี่ยงมิจฉาชีพ

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมให้มุมมองในรายการ นโยบาย By ประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2568 โดยเสนอแนะว่า “ประเทศไทยควรมีระบบแจ้งเตือนคนโทรหา หรือ Caller ID ที่จัดทำโดยภาครัฐ” เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีแอปพลิเคชั่นของภาคเอกชนให้ใช้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีคนใช้มากขึ้นอาจต้องเสียเงิน อีกทั้งยังมีแอปฯ ลักษณะนี้จากเอกชนหลายราย ข้อมูลจึงไม่ได้รวมศูนย์อย่างที่ภาครัฐมี หากมีปัญหาเกิดขึ้นสามารถบริหารจัดการเพื่อแก้ไขได้

ซึ่งแม้ด้านหนึ่งการรณรงค์ให้รู้เท่าทันข้อมูล“อย่าเพิ่งเชื่อ – อย่าเพิ่งแชร์ – อย่าเพิ่งรับ – อย่าเพิ่งโอน” จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่อีกด้านก็ต้องมีระบบเข้ามาช่วย โดย Caller ID จะเป็นระบบแจ้งว่าใครโทรศัพท์เข้ามาหา ข้อดีคือช่วยให้ผู้รับสายตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะรับหรือไม่รับ เช่น กรณีเป็นเบอร์มิจฉาชีพที่เคยมีการรายงานในระบบ หรือเป็นเบอร์ของธุรกิจต่างๆ ที่ติดต่อมาเพื่อขายสินค้า โดยแต่ละประเทศจะมีกฎเกณฑ์แตกต่างกันออกไป และบางประเทศถึงขั้นกำหนดว่าเมื่อโทรไปต้องแสดงตัวตนให้อีกฝ่ายรับรู้ด้วย

หนึ่งในแอปพลิเคชั่นของภาคเอกชนที่หลายคนคุ้นเคยคือ Whoscall ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพได้หากมีการรายงานเข้าไปในระบบ เช่น คนแรกรับสาย รู้ว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพแล้วรายงาน ระบบก็จะแจ้งไปยังคนอื่นๆ ที่ใช้แอปฯ นี้หากมีผู้ใช้เบอร์ดังกล่าวโทรไปหา แต่เมื่อเป็นแอปฯ เอกชนก็ต้องเสียเงิน ทั้งที่ควรเป็นบริการพื้นฐานสาธารณะใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และที่ผ่านมาคนไทยก็ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกันมาก อย่างในปี 2567 พบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงถึง 168 ล้านครั้ง (ตามรายงานของ Whoscall)

“ปัญหานี้ในประเทศไทยรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจด้วย เขาเรียก Easy Money อะไรที่ได้เงินง่าย ทั้งคนที่โทรมาหลอก และคนที่รับสายบางทีก็เชื่อไปเพราะอาจมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจหรือความกลัว องค์การสหประชาชาติ(UN) ได้ระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก” สุภิญญา กล่าว

สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า นโยบายนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สามารถทำได้ทันที แต่หากติดขัดในข้อกฎหมายก็ต้องฝากให้ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมถึงฝ่ายวิชาการช่วยกันติดตามทวงถาม ขณะที่ภาคประชาสังคมอย่างสภาองค์กรของผู้บริโภคคงจะยินดีช่วยผลักดันต่อไป
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะเหมือนกับการยกสมุดโทรศัพท์ หรือสมุดหน้าเหลืองเข้ามาไว้ อย่างหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ขอให้แสดงให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าสามารถรับสายได้ ในขณะที่หากเป็นหมายเลขที่ไม่ได้ลงทะเบียนหรือเป็นชื่อแปลกๆ ก็ขอให้ระบบขึ้นคำเตือน ซึ่งเวลานี้ระบบเตือนภัยพิบัติ หรือ Cell Broadcast กำลังจะมีให้ใช้แล้ว ก็อยากให้มีระบบ Caller ID ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ควบคู่กับการมีสติและรู้เท่าทันของประชาชน
ส่วนข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แม้จะเข้าใจแต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยแม้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) แต่ในปัจจุบันก็ทราบกันดีว่าข้อมูลส่วนบุคคลหลุดกันมากอย่างที่เห็นว่ามิจฉาชีพรู้เบอร์โทรศัพท์ของเรา และหลายประเทศก็เห็นว่าต้องเปิดเผย เป็นเรื่องที่ต้องแลกกันแต่ก็คุ้มค่าและจำเป็น เพราะข้อมูลที่เปิดเผยเป็นเพียงการระบุตัวตนอย่างชื่อ ไม่ได้ระบุความเชื่อ – ความชอบ หรือหมู่เลือด
“อาจมีระบบหลังบ้านได้ เช่น ถ้าไม่อยากให้ขึ้นชื่อจริงก็อาจใช้ชื่อเล่นหรือนามปากกา แต่ต้องแลกว่าถ้าใช้นามปากกาแล้วไปขึ้นชื่อในสายโทรศัพท์ของเพื่อนอาจไม่รับสาย แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ประเด็นในเชิงระบบมากกว่า หากไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยแล้วมีการไปแก้ ID ได้ ถ้าระบบเราไม่เข้มแข็งทั้งระบบ ก็อาจมีปัญหาได้เช่นกัน” สุภิญญา ระบุ
สุภิญญา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันการเปิดใช้งานซิมโทรศัพท์มือถือต้องลงทะเบียน ดังนั้น กสทช. มีข้อมูลอยู่แล้วว่าซิมหมายเลขใดใครเป็นเจ้าของ แต่สิ่งที่ต้องไปแก้คือต้องไม่มีซิมผิดกฎหมาย การถือซิมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การมีอุปกรณ์ซิมบ็อกซ์ (Sim Box) หรือตั้งเสาสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=e7AjAaUjZDc
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
[Live] 21.30 น. #นโยบายByประชาชน : ไทยจะมีระบบแจ้งเตือนคนโทรหา หรือ Caller ID ที่จัดทำโดยภาครัฐ (6 พ.ค. 68)
…ปัจจุบันปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐ มีระบบระวังภัยที่ทำให้ประชาชนรู้ว่าใครโทรหา
.
คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT.ORG ได้เสนอนโยบาย “ไทยจะมีระบบแจ้งเตือนคนโทรหา หรือ Caller ID ที่จัดทำโดยภาครัฐ” เพื่อลดปัญหาการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
.
🗳️ ดูสดพร้อมร่วมโหวต “คุณเห็นด้วยกับนโยบายที่นำเสนอหรือไม่ ?” ทาง LINE @ThaiPBS เพิ่มเพื่อนคลิกเลย ! www.thaipbs.or.th/AddLINE
.
📌 รับชมได้ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 หรือรับชมทางออนไลน์
- Website : www.thaipbs.or.th/live
- Facebook : https://www.facebook.com/share/v/1EHNVtMBQU/
- YouTube : https://youtu.be/e7AjAaUjZDc
- TikTok : www.tiktok.com/@thaipbs/live
- ชมอีกครั้งทาง : www.thaipbs.or.th/PbyP



