ความขัดแย้ง‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ : เมื่อการเสพข่าวด้วยอารมณ์อาจทำให้ละเลยข้อเท็จจริง : Special Report 58/68

By Zhang Taehun
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นในวันที่ 19 เม.ย. 2568 ดังนั้นข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ผู้อ่านควรรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเพื่อติดตามความคืบหน้าเพิ่มเติมของสถานการณ์
หากนับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลและกลายเป็นการสู้รบระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายในดินแดนฉนวนกาซา ก็เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว และแม้จะมีการหยุดยิงพร้อมกับแลกเปลี่ยนระหว่างตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับไปกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเรือนจำของอิสราเอล แต่ก็เป็นเวลาช่วงสั้นๆ เพียง 6 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลับเข้าสู่การสู้รบกันอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน แต่นอกจากข่าวการต่อสู้กันด้วยอาวุธแล้ว “ข่าวลวง”หรือข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็ถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ ซึ่งในบทความนี้ได้ยกตัวอย่างมาจากทางสำนักข่าวหรือเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Check) ในต่างประเทศที่ได้ตรวจสอบในรอบปีที่ผ่านมา
1.นักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกทหารอิสราเอลจับโยนลงถังน้ำกรด : เรื่องนี้มีที่มาจากเว็บไซต์ altnews.in โดย Alt News เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งก่อตั้งขึ้นในอินเดียเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนโลกออนไลน์ (ลักษณะเดียวกับ cofact.org ของประเทศไทย) รายงานหัวข้อ Bangkok amusement park stunt viral as Israelis throwing Palestinian prisoners in acid tank ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2568 มีผู้ก่อตั้งโรงเรียนในบังกลาเทศ โพสต์คลิปวีดีโอในเฟซบุ๊ก อ้างว่านักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกหย่อนลงในถังน้ำกรด

คลิปทำนองเดียวกันยังถูกแชร์โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวปากีสถาน รวมถึงมีผู้นำไปแชร์ต่อในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น X , TikTok อ้างว่านักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกทหารอิสราเอลจับโยนลงถังสารเคมีอันตรายบ้าง ถังน้ำร้อนเดือดๆ บ้าง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า “เนื้อหาคลิปวีดีโอเป็นการแสดงฉากแอ็คชั่นผาดโผน ในโชว์ที่จัดขึ้นในสวนสนุก Dream World ในประเทศไทย” โดยมีผู้โพสต์คลิปวีดีโอเต็มของโชว์นี้ไว้ในแพลตฟอร์ม YouTube เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 เป็นชื่อคลิป “Hollywood Action Stunt Show @ Dream World” ซึ่งช็อตที่ถูกตัดทอนไปทำคลิปสั้นแล้วถูกเข้าใจว่าเป็นการทารุณกรรมนักโทษชาวปาเลสไตน์โดยทหารอิสราเอล จะอยู่ในนาทีที่ 3.25 – 3.50
โดยจะเห็นรายละเอียดเหมือนกันแบบเป๊ะๆ ทั้งสีชุดของนักโทษ ถังใบใหญ่ๆ ที่มีควันพวยพุ่งพร้อมสัญลักษณ์กะโหลกไขว้ที่สื่อว่าเป็นวัตถุอันตราย และอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยรอบ นอกจากนั้น บางคลิปที่ถูกแชร์กันยังมีเสียงผู้ชมโชว์ดังกล่าวพูดคุยกันเป็นภาษาไทยอีกต่างหาก อนึ่ง หากใช้คำว่า “Hollywood Action Stunt Show dream world” ไปค้นหาใน YouTube จะมีผู้โพสต์คลิปวีดีโอโชว์ดังกล่าวเป็นจำนวนมากพร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และบางคลิปมีอายุมากกว่า 10 ปี ซึ่งลำดับการโชว์และฉากโดยรอบเหมือนกันทุกประการ อาจต่างกันบ้างในชุดที่นักแสดงซึ่งแสดงเป็นนักโทษสวมใส่เท่านั้น

แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า ภาพที่ถูกแชร์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการสู้รบระลอกล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ต.ค. 2566 นานหลายปี โดยในแพลตฟอร์ม YouTube มีคลิปวีดีโอชื่อ “Vakt dunkade nioårings huvud i marken” ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 โดย Sydsvenskan ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในสวีเดน และทีมงานของ AFP ที่รู้ภาษาสวีเดน จับใจความเสียงที่พูดในคลิปได้ว่า “นั่นเด็ก” และ “เขาอายุเท่าไหร่”
นอกจากนั้น บุคคลในคลิปที่ถูกอ้างว่าเป็นตำรวจ จะเห็นเจ้าหน้าที่สวมเสื้อกั๊กเรืองแสงที่มีคำว่า “Ordnings Vakt” ซึ่งเป็นภาษาสวีเดน แปลว่า “ตัวแทนบริการสาธารณะ” ในภาษาสวีเดนอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง เครื่องแบบนี้มักสวมใส่โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ให้ความช่วยเหลือตำรวจสวีเดน อีกทั้งยังสอบถามไปยัง Jens Mikkelsen หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ส่งข่าวนี้ให้กับ Sydsvenskan ได้รับการยืนยันว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองมัลโมของสวีเดน ไม่ใช่เมืองเยรูซาเล็มในอิสราเอล อีกทั้งเด็กชายในคลิปยังมีพื้นเพเป็นชาวโมร็อกโก ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่สวีเดนด้วย ไม่ใช่ชาวปาเลสไตน์แต่อย่างใด
3.ชาวเนเธอร์แลนด์แสดงท่าทีสะใจกับเหตุทำร้ายร่างกายแฟนบอลชาวอิสราเอล ในวันที่ 7 พ.ย. 2567 เกิดเหตุชาวอิสราเอลซึ่งเดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกกลุ่มผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์รุมทำร้าย ซึ่งรายงานจากทางตำรวจอัมสเตอร์ดัม ระบุว่า เป็นเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างแฟนบอลทั้ง 2 กลุ่ม อีกทั้งแฟนบอลชาวอิสราเอลยังเป็นฝ่ายยั่วยุก่อนด้วยจนนำมาสู่เหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวใดๆ และไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้กับการต่อต้านชาวยิว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ก็เรียกร้องให้ทางการเนเธอร์แลนด์ปกป้องชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม ที่เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาเนื่องจากมีการแชร์คลิปวีดีโอบนเฟซบู๊กและ X เป็นภาพของชาวเนเธอร์แลนด์กำลังแสดงความยินดีโดยผู้โพสต์ได้เขียนบรรยายว่า “The Dutch celebrate after teaching the Israelis a lesson they will never forget. (ชาวดัตช์ฉลองบทเรียนที่ให้กับชาวอิสราเอลที่พวกเขาไม่มีวันลืม)” บ้าง หรือ “Left Wing Antisemitic Dutch go out and celebrate while chanting ‘Free Palestine’ the morning after the pogrom against the Jews in Amsterdam.(กลุ่มต่อต้านชาวยิวฝ่ายซ้ายชาวดัตช์ออกไปเฉลิมฉลองพร้อมกับตะโกนว่า ‘ปลดปล่อยปาเลสไตน์‘ ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากเหตุการณ์ทำร้ายชาวยิวในอัมสเตอร์ดัม)” บ้าง เป็นต้น

ในวันที่ 15 พ.ย. 2567 สำนักข่าวรอยเตอร์ เผยแพร่รายงาน Fact Check: Video shows applause for Palestinian photojournalist, not celebration of attacks on Israeli soccer fans ระบุว่า “ภาพที่อ้างว่าเป็นชาวเนเธอร์แลนด์กำลังสะใจที่เห็นชาวอิสราเอลถูกทำร้าย จริงๆ มาจากคลิปวีดีโอที่ถูกโพสต์ในอินสตาแกรมไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2567” หรือเกือบ 6 เดือนก่อนเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอลชาวอิสราเอลกับกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ตามที่ปรากฎเป็นข่าว
โดยผู้โพสต์คลิปคือ Motaz Azaiza ช่างภาพชาวปาเลสไตน์ บรรยายว่า “ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงาน @worldpressphoto ในวันนี้ ขอบคุณที่เป็นพลังที่ผมใช้เพื่อให้ผมก้าวต่อไปได้” ซึ่งทางรอยเตอร์ได้ติดต่อสอบถามไป และได้รับคำชี้แจงจากเจ้าตัวว่าตนเป็นผู้ถ่ายคลิปดังกล่าว โดยผู้คนได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงน้ำใจต่อปาเลสไตน์ ขณะที่โฆษกของ De Nieuwe Kerk ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ชี้แจงว่า Azaiza เป็นวิทยากรและเป็นสมาชิกคณะกรรมการในงาน World Press Photo วิดีโอนี้ถ่ายทำหลังจากจบการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อและประสบการณ์ส่วนตัวของเขาในฉนวนกาซา และผู้ฟังปรบมือให้เขาหลังจากนั้น
เช่นเดียวกับโฆษกของงาน World Press Photoระบุว่า งานซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. 2567 ที่ De Nieuwe Kerk เป็นการจัดงานในประเด็นเสรีภาพสื่อ ไม่ใช่การชุมนุมประท้วง เพียงแต่ผู้เข้าร่วมงานบางส่วนนำธงปาเลสไตน์มาชูด้วยและมีการตะโกน ซึ่งในฐานะองค์กรเสรีภาพในการแสดงออก จึงไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเนื่องจากไม่มีการรบกวนกิจกรรมดังกล่าว

4.ศาลโลกบอกว่าอิสราเอลเป็นรัฐผิดกฎหมายรายงาน UN top court ruled ‘illegal’ Israel’s occupation of Palestinian territory, not Israeli stateโดยสำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศส วันที่ 9 ต.ค. 2567 อ้างถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กที่นำคลิปวีดีโอของสำนักข่าว TRT World ของตุรกีมาโพสต์ แล้วบรรยายเป็นภาษามาเลเซีย ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ICJ) ประกาศให้อิสราเอลเป็นรัฐที่ผิดกฎหมายศาลยังตัดสินว่าอิสราเอลไม่สามารถเป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยได้ ในที่สุด ความยุติธรรมก็ได้รับชัยชนะ โดยคลิปดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567
แต่เมื่อตรวจสอบคำแนะนำที่ทาง ICJ แถลงเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 ตามคำร้องขอของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีความยาว 83 หน้า พบว่า “การที่อิสราเอลยังคงยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ต่อไปนั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ (Against International Law)” พร้อมบรรยายปฏิบัติการทางทหารและมาตรการต่างๆ ที่อิสราเอลดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2510 “แต่ไม่มีส่วนใดเลยที่บอกว่าอิสราเอลเป็นรัฐผิดกฎหมาย (Illegal State)”
นอกจากนั้น คลิปวีดีโอที่โพสต์ดังกล่าวนำมาอ้างถึง ยังเป็นคลิปข่าวของ TRT World เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 เป็นเหตุการณ์ที่ Riyad Al-Maliki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ ภายหลัง ICJ เผยแพร่คำแนะนำดังกล่าว โดยรมว.ต่างประเทศปาเลสไตน์ กล่าวว่า ความเห็นของ ICJ คือจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับปาเลสไตน์ สำหรับความยุติธรรม และสำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ
โดยหากเข้าไปดูในแพลตฟอร์ม YouTube คลิปต้นทางซึ่งถูกโพสต์โดยช่อง TRT World วันที่ 19 ก.ค. 2567 มีชื่อคลิปว่า Palestinian Foreign Minister Riyad al Maliki briefs media after ICJ ruling on Israel’s occupation และมีคำบรรยายว่า Riyad Al-Maliki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปาเลสไตน์ เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศรับรองความมุ่งมั่นและความพากเพียรของชาวปาเลสไตน์ โดยสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลที่ระบุว่าการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอลเป็นการทำผิดกฎหมาย (ไม่ได้บอกว่าอิสราเอลเป็นรัฐผิดกฎหมาย)
จากทั้ง 4 เรื่องที่รวบรวมมาข้างต้น มีข้อสังเกตว่าผู้โพสต์น่าจะอยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายและปฏิบัติการต่างๆ ของอิสราเอลที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ รวมถึงเมื่อดูจากชื่อของบัญชีผู้โพสต์หรือภาษาที่ใช้ในการโพสต์ก็อาจมีภูมิหลังบางอย่างร่วมกันหรือใกล้เคียงกับชาวปาเลสไตน์ เช่นเดียวกับผู้แชร์ต่อก็อาจมีมุมมองในลักษณะเดียวกัน จึงเป็นข้อเตือนใจได้ว่า “เมื่อเรามีอคติต่อเรื่องใดแล้ว เราก็มักเชื่อและส่งต่อเรื่องนั้นในมุมมองที่อคติทันทีโดยละเลยที่จะสงสัยและตรวจสอบข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเสมอในการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ในยุคที่ใครๆ ก็ทำสื่อได้แบบปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เชื้อชาติ และ ศาสนา เป็นเรื่องที่อ่อนไหวยิ่งต้องพึงระมัดระวังในการสื่อสารหรือการแชร์ เพราะการส่งผ่านความรุนแรงและความเกลียดชังจากข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ยิ่งเป็นการตอกลิ่มความขัดแย้งที่ฝังลึกมายาวนานให้ยากแก่การคลี่คลายลงได้
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-