‘Cofact’เช็คก่อนแชร์ ประชาสังคมสู้ภัยข่าวลวง

“ปัจจุบันนี้งานของกองบรรณาธิการโคแฟค (Cofact) ที่ทำงานด้านตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact – Check) มีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกก็จะเป็นการจัดทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็คือการนำเนื้อหาออนไลน์มาตรวจสอบความถูกต้องและเผยแพร่รายงานของเราบนเว็บไซต์ ส่วนที่สองเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นอีสานโคแฟค Deep South Cofact และโคแฟคแสงเหนือ
ส่วนที่สาม เป็นคล้ายๆ Fact Check Webboard ซึ่งอยู่บนเว็บไซต์ของเราเหมือนกัน ที่เราเปิดให้ประชาชนสามารถส่งความต้องสงสัยมาให้กอง บก. ของเราตรวจสอบได้ ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่สี่ ก็เป็น Line Open Chat โคแฟคเช็คข่าว ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดให้ประชาชนส่งข้อความมาให้แอดมินของเราช่วยตรวจสอบความถูกต้อง”

กุลธิดา สามะพุทธิ ตัวแทนภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวบนเวที Lightning Talks “ยกระดับ รับมือ ข้อมูลบิดเบือน 4.0” โดย ภาคี Fact Checkers ภายในงาน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568 (International Fact-Checking Day 2025)สงครามข้อมูล 2025: โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ถึงงานที่ดำเนินการอยู่ของโคแฟค เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ไหลเวียนบนโลกออนไลน์
ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ในงานเสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 11 เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวโคแฟค โดย สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวว่า โคแฟคเป็นนวัตกรรมทางสังคมในการนำแอพพลิเคชั่นไลน์ แชทบอท และฐานข้อมูลในเว็บไซต์ มาช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือลวง
แต่การจะขับเคลื่อนกลไกโคแฟคให้สำเร็จได้จริงนั้น จึงต้องขยายงานจากการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ไปสู่การสร้างชุมชนเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถือเป็นภารกิจการปฏิรูปสื่อในยุคดิจิทัลที่หันกลับมาสร้างความเข้มแข็งในภาคพลเมือง ให้การแก้ไขข่าวลวงด้วยหลักวารสารศาสตร์ เช่น การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนเสมอ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคม

ขณะที่ สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในขณะนั้น กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานการณ์การระบาดของข่าวลวง อาทิ การหลอกขายสินค้า ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาและหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวงในยุคชีวิติวิถีใหม่ (New Normal) จึงจำเป็นต้องมีกลไกกลางเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน
โดยจุดประกายด้วยนวัตกรรม โคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) บนเว็บไซต์ cofact.org และไลน์ @cofact พร้อมสานพลังขับเคลื่อนสังคมขยายผู้ใช้ไปยังภาคีเครือข่ายเกิดเป็นชุมชนโคแฟค สร้างค่านิยมใหม่โดยใช้พลังพลเมืองในการร่วมตรวจสอบข่าวลวงที่ทุกคนสามารถเป็น fact checker เกิดพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงประเด็นสุขภาวะร่วมกัน
กลับมาที่งานวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568กุลธิดา เล่าว่า จากประสบการณ์ที่เข้ามาร่วมทำงานกับโคแฟคตั้งแต่เมื่อปี 2566 พบ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือน” คือ “แม้จะถูกหักล้างแล้วไปแต่ก็พร้อมจะกลับมาถูกแชร์ใหม่ได้เสมอ” โดยอาจต่างกันไปบ้างที่บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่นำเรื่องนั้นกลับมาแชร์ หรือช่องทางแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกนำเรื่องนั้นไปแชร์ นอกจากนั้นยังมีการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) รวมถึงการแทรกแซงทางข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ ซึ่งต้องยกระดับการรับมือใน 3 ส่วน

1.กองบรรณาธิการของ Cofact ซึ่งไม่ได้ทำงานแบบสำนักงานแต่เป็นแบบเครือข่าย ที่ผ่านมาอาจประสานกันได้ไม่ดีพอ แต่เชื่อว่าหากการทำงานของกอง บก. Cofact สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลและเผยแพร่รายงานการตรวจสอบได้ถี่ขึ้น ก็น่าจะเป็นส่วนช่วยในการยกระดับการรับมือข่าวลวงได้ 2.ภาคีเครือข่ายของ Cofact ซึ่งเปรียบเสมือน “เพื่อนบ้าน” เช่น สำนักข่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ สิ่งที่อยากเห็นคือการแบ่งปันเนื้อหาการตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างสื่อด้วยกันให้ได้มากที่สุด
“เข้าใจดีว่าองค์กรสื่อมันมีการแข่งขันกันในระดับหนึ่ง แล้วก็การเอาเนื้อหาของเพื่อนมาเผยแพร่ต่อก็เป็นสิ่งที่ไม่โอเคเลย อันนี้เข้าใจดี แต่เป็นไปได้ไหมว่ายกเว้นสำหรับการทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นไปได้ไหมว่าเราจะทำงานกันในลักษณะเหมือนกับเป็นกองบรรณาธิการร่วม หรือมีถังกลางที่ทุกคนทุกสื่อทุกสำนัก สามารถที่จะเอารายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงไปนำเสนอในแพลตฟอร์ม ในช่องทางของตัวเองได้โดยมีการอ้างอิงที่เหมาะสม
คือในส่วนการทำข่าวอื่นๆ ก็แข่งกันไปตามปกติเลย แต่พอเป็นตรวจสอบข้อเท็จจริงเราใช้ของกันและกันได้ อันนี้เป็นความฝัน เป็นสิ่งที่อยากเห็นมากๆ เลย เพราะถ้าเราทำได้มันก็จะทุ่นเวลา ประหยัดแรง แล้วก็ทำให้ประชาชนเข้าถึงรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเราได้มากที่สุด”กุลธิดา กล่าว
กุลธิดา ยังกล่าวถึงอีกภาคส่วนที่สำคัญคือ 3.ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยความที่เป็นช่องทางเผยแพร่รายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลไปสู่สาธารณชน จึงอยากให้เอื้อต่อการมองเห็นเนื้อหาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด รวมถึงพัฒนาระบบคัดกรองเพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มกลายเป็นช่องทางระบาดของข้อมูลเท็จ ก็จะช่วยยกระดับการรับมือข้อมูลบิดเบือนในยุคนี้
ในการกล่าวเปิดงานวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568 เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. ยกตัวอย่างเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ อย่างแผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่งแม้ศูนย์กลางจะอยู่ที่เมียนมา แต่ส่งผลมาไกลถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ว่า ในวันดังกล่าวจะเห็นการสื่อสารอย่างมากแบบท่วมท้น ขณะที่ สสส. โดยแผนระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา มุ่งมั่นให้เกิดการสร้างปัจจัยแวดล้อมของระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ทั้งนี้ World Economic Forum ชี้ว่า ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนยังเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 1 ติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี นั่นหมายความว่ายังไม่สามารถแก้ไขได้ดีมากนัก

“Cofact ไม่ได้เป็นของ สสส. คนเดียว เราร่วมกันทำงาน แล้วเราเห็นการเติบโตที่บอกว่าไม่ใช่ว่าพอโคแฟคเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่ทุกคนไม่ต้องทำอะไร แต่ยิ่งโคแฟคเกิดขึ้นเท่าไรการทำงานภาคประชาชนเยอะขึ้นมากๆ เรามีฐานข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูลองค์กรประมาณเป็นหมื่นข้อมูลที่เข้ามา ตอนนี้นับยอดเข้ามาสะสม เรามีคนที่เข้าดู 5 แสนคน/ครั้ง เป็นอันดับ 2 ต่อจากศูนย์ที่เป็นของภาครัฐจริงๆ”เบญจมาภรณ์ กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-