‘ยุคดิจิทัล’ข้อมูลล้นทะลัก ยิ่งเกิดภัยพิบัติสื่อยิ่งต้องมี‘ความน่าเชื่อถือ’ แนะรัฐเปิดข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ให้เข้าถึงได้

กิจกรรม

2 เม.ย. 2568 – Cofact (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีจัดเสวนาหัวข้อ “สงครามข้อมูล 2025 : สื่อจะช่วยสังคมเข้าถึงข้อเท็จจริงได้อย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568(International Fact-Checking Day 2025) สงครามข้อมูล 2025: โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดสดทางเพจ Thai PBS และ Cofact โคแฟค

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(Thai PBS) กล่าวว่า Thai PBS มีพันธกิจที่มากกว่าการเป็นสถานีผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ โดยถูกวางบทบาทการส่งเสริมสังคมที่ใช้ปัญญา มีคุณภาพและคุณธรรม ในขณะที่สถานการณ์ข่าวลวงเชื่อว่าทุกคนทราบกันดีว่าปัจจุบันหนักหนาสาหัสขึ้นทุกที 

ล่าสุด คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่งมีข้อมูลทะลักเข้ามาเต็มไปหมดโดยเฉพาะในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หากรู้ไม่เท่าทันก็จะไปไกลมาก ยิ่งในภาวะที่ตกใจกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งที่ทุกคนต้องการทราบคือความจริงคืออะไร? ข้อเท็จจริงคืออะไร? เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า? และเราต้องทำตัวอย่างไร? มีความเสี่ยงหรือไม่? สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องทดลองชั้นดีว่าเครื่องมือที่ ThaiPBS เปิดตัวไปอย่าง Thai PBS Verifyสามารถใช้ได้จริงหรือไม่?

ตอนที่เกิดเหตุการณ์นี้ สิ่งที่ ThaiPBS ทำงานเลยคือนอกจากเช็คตัวเองแล้ว นอกจากทำกระบวนการตรวจสอบข้างในกองบรรณาธิการแล้ว สิ่งหนึ่งเลยก็คือการ Service Verify (บริการตรวจสอบขึ้นทันที และต้องขอบคุณที่มีนักวิชาการหลายท่าน แม้แต่โคแฟคเองที่เป็นภาคีกันอยู่ก็ช่วยกันในการตรวจสอบเครื่องมือนี้ อันนี้ก็คือสิ่งที่อยากบอกว่าเป็นพันธกิจที่บอกว่าทำไมเราต้องทำมากกว่าการนำเสนอข่าว รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว

กิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ เปิดประเด็นด้วยการตั้งคำถามว่า คิดว่าเราจะเห็นข่าวลวงในหนังสือพิมพ์หน้า 1 หรือไม่?” ซึ่งไม่ว่าจะฉบับไหนตนก็คิดว่าไม่มี ดังนั้นต้องถามตนเองว่าข่าวลือหรือข้อมูลบิดเบือนที่มาถึงตัวนั้นมาจากแหล่งไหน? เพราะในกระบวนการของสื่ออาชีพ มีองคาพยพ มีห่วงโซ่ของการทำงานเยอะ  ตั้งแต่นักข่าวเขียนข่าวส่งเข้ามา หัวหน้าข่าวตรวจสอบและเรียบเรียง (Rewrite) มีกองบรรณาธิการหน้า 1 มาเลือกข่าว มีพิสูจน์อักษร (Proof Reader) ขนาดที่พิมพ์ผิดแม้แต่ตัวอักษรเดียวก็ไม่ได้ 

ทั้งนี้ คำว่า นักข่าวอาชีพ มี 2 ความหมาย 1.ความเป็นมืออาชีพ (Professional) หมายถึงคนที่ทำงานภายใต้จริยธรรมของวิชาชีพนั้นๆ เช่น วิศวกร นักกีฬา ฯลฯ 2.การเลี้ยงชีพ หมายถึงมีรายได้เลี้ยงตนเองจากสิ่งที่ทำ ไม่ใช่ทำแบบสมัครเล่น (Amateur) เอาสนุก ดังนั้นความเข้มข้นย่อมต่างกัน อย่างวิศวกรหากหลุดจากวิชาชีพนั่นหมายถึงอาคารพังถล่ม ซึ่งคนแบบพวกตนที่เป็นสื่อแบบดั้งเดิม แม้จะเผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์มก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ผิดพลาด และมีกำหนดในจรรยาบรรณวิชาชีพของสมาคมนักข่าว ว่าประชาชนต้องได้รับข่าวที่เป็นจริงเท่านั้น

มีตัวอย่างจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งตนยึดหลัก ข้อมูลปฐมภูมิ ในการทำงาน เช่น กรณีผู้คนอพยพออกจากอาคาร A ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ สิ่งแรกที่ตนทำหลังเห็นข้อมูลนี้คือพยายามนึกว่ามีคนรู้จักอยู่ในอาคารดังกล่าวกี่คนแล้วก็โทรศัพท์ไปสอบถามคนเหล่านั้นก่อน เมื่อรับรู้ข้อเท็จจริงด้วยตนเองแล้วว่ามีการอพยพจริงหรือไม่จึงค่อยรายงานออกไป และนี่คือหลักการทำงานของทีมงานข่าว 3 มิติ ด้วยที่ต้องลงพื้นที่ไปให้เห็นด้วยสายตาของตนเองและได้สัมภาษณ์ด้วยตนเอง หรือไม่ก็ติดตามจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น เรื่องแผ่นดินไหว หากไม่เชื่อข้อมูลจาก สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) แล้วจะเชื่อใคร?   

“ผู้ชมถ้าอยากแยกแยะว่าอะไรคือจริง – ไม่จริง ต้องหัดเบื้องต้นก่อนว่าอันไหนเป็นข้อเท็จจริง? อันไหนเป็นความเห็น? หนังสือพิมพ์ดั้งเดิมเขาจะแยกชัดเจน ถ้าเป็นความเห็นก็อยู่ในคอลัมน์ ในบทบรรณาธิการ อันที่เป็นข่าวก็อยู่ในข่าว แต่บางทีพอเรามาทำเป็นแพลตฟอร์ม มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็นั่งพูดกันไป ไม่รู้ว่าเรื่องไหนเป็นความจริง เรื่องไหนเป็นความเห็นตัวเอง ผสมกันไปหมด ชาวบ้านที่ไม่รู้จักแยกแยะ บางทีถ้าเกิดผมใส่ความเห็นไปมันก็ไม่ใช่ข่าว แล้วที่สำคัญคือคนที่เป็นตัวเผยแพร่ข่าวลือมักจะพูดโดยไม่มีแหล่งที่มาอ้างอิง พวกผมเป็นนักข่างเวลาเขียนข่าวต้องบอกว่าเอามาจากไหน” กิตติ กล่าว

ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard กล่าวว่า จุดตั้งต้นจริงๆ ในยุคนี้ที่มีความรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ถาโถมเข้ามาจนล้น (Overload) ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและเรื่องข้อมูล อย่างไรก็เป็นข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่เหนื่อยและกำลังจะแพ้คือความน่าเชื่อถือ หมายถึง คนในสังคมเลือกที่จะเชื่อ แม้แต่สิ่งที่สำนักข่าวนำเสนอไปก็ไม่เชื่อ ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์พูดด้วยคำพูดที่ให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนที่รู้สึกแบบนั้น คนที่ทำงานสื่อเป็นอาชีพต้องใช้เวลาตรวจสอบ

ดังนั้นแล้ว เมื่อเกิดอะไรขึ้นขอให้สงสัยไว้ก่อน ว่าเรื่องนั้นเป็นความจริงหรือไม่? ในขณะที่การทำงานของสื่อก็ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือก่อน ให้ผู้รับสารรู้สึกว่าเมื่อตั้งต้นที่สำนักข่าวของเราแล้วหลังจากนี้คือสามารถเชื่อถือได้ ทุกข้อมูลข่าวสารที่ไหลผ่านแพลตฟอร์มของเราคือผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองมาแล้ว และเมื่อออกไปสู่การรับรู้ของประชาชนจะสามารถใช้อ้างอิงได้ด้วย

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ อดีตผู้อำนวยการ DGA สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานของ DGA คือการเปลี่ยนภาครัฐให้เป็นดิจิทัล ซึ่งเป็นงานใหญ่เพราะภาครัฐของไทยมีมากกว่า 7 พันหน่วยงาน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอย่าว่าแต่ประชาชน แม้แต่หน่วยงานรัฐด้วยกันเองบางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าข้อมูลที่น่าเชื่อถืออยู่กับหน่วยงานใด จึงพยายามผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ดูว่าหน่วยงานมีข้อมูลอะไรบ้าง มาจากแหล่งใดแล้วทำเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) ให้ประชาชนเข้าถึงได้

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าภาครัฐมีแนวโน้มไม่ค่อยชอบเปิดเผยข้อมูล สื่อกว่าจะหาข้อมูลได้ในแต่ละเรื่องก็คงเหนื่อย ดังนั้นสมัยที่ทำงานกับ DGA จึงใช้กลไกการให้คะแนน เพราะหน่วยงานภาครัฐต้องถูกประเมิน KPI โดย ก.พ.ร. อยู่แล้ว โดยช่วงแรกๆ หน่วยงานภาครัฐเริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่สำคัญมากนัก จากนั้น DGA ได้เพิ่มความเข้มข้นด้วยการกำหนดว่าต้องเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีประชาชนนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ 

และล่าสุดคือพยายามให้นำข้อมูลที่เคยให้หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐใช้มาขึ้นบัญชีไว้ โดยหวังว่าหากในอนาคตข้อมูลนั้นไม่เป็นความลับอีกต่อไปก็จะได้เปิดเผยกับประชาชนได้ ซึ่งคาดหวังว่าต่อไปเมื่อเริ่มกำหนดชุดข้อมูลสำคัญ ที่เรียกว่าข้อมูลหลัก (Master Data) เช่น ข้อมูลของบริษัทต่างๆ ว่ามีใครเป็นผู้ถือหุ้น? ทำธุรกิจอะไร? ก่อตั้งมานานเท่าใด? ได้รับใบอนุญาตอะไรบ้าง? ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าควรเปิดเผยให้สื่อมวลชนได้เข้าไปตรวจสอบได้โดยง่าย

“อันนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราไปผลักดันให้ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตสิ่งที่ภาครัฐทำไปเป็นข้อมูลพื้นฐาน แล้วผมคิดว่าถ้าสื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้แล้วก็เอามาใช้ในการอ้างอิงเพื่อจะไปรายงานเหตุการณ์หรือให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องหรือว่าข้อเท็จจริงกับประชาชน ก็น่าจะทำให้การเข้าถึงข้อเท็จจริงดีขึ้น” ดร.สุพจน์ กล่าว