4 ปี รัฐประหารเมียนมา คลิปเก่า-เนื้อหาเท็จระบาด ปั่นความเกลียดชังแรงงานข้ามชาติ

Top Fact Checks Political

กองบรรณาธิการ HaRDstories: รายงาน

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์บางส่วนในไทยอาศัยช่วงครบรอบ 4 ปี รัฐประหารเมียนมา และการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 กุมภาพันธ์ 2568 เผยแพร่เนื้อหาที่ปลุกปั่นความเกลียดชังแรงงานเมียนมา โดยนำภาพเหตุการณ์ในอดีตมาใส่บริบทใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจผิด และพาดพิงพรรคการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น

เนื้อหาที่บิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิดต่อแรงงานเมียนมาที่เกิดขึ้นในระลอกนี้ มุ่งประเด็นไปที่การขอขึ้นค่าแรงของแรงงานเมียนมา โดยนำคลิปวิดีโอที่นายสุรัจ กีรี (รู้จักในชื่อไทย วีระ แสงทอง) ชาวเมียนมาที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิแรงงาน ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อ 2 ปีที่แล้วมาเผยแพร่ใหม่ในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงเดือนมกราคม 2568 มีเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิดและบิดเบือน ทำให้เกิดความไม่พอใจแรงงานเมียนมาอย่างน้อย 3 ชิ้น ที่ถูกแชร์ต่อในวงกว้าง ดังนี้

1.คลิปเก่าปี 2565 ถูกนำมาปั่นกระแสก่อนวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหารเมียนมา

ช่วงวันที่ 5-8 มกราคม 2568 มีการแชร์คลิป “พม่าเรียกค่าแรง 600-700 บาท” อย่างกว้างขวางบนเฟซบุ๊กและติ๊กต็อก โดยเป็นคลิปที่นายสุรัจ กีรี นักเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิแรงงานชาวเมียนมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเรื่องค่าแรง มีข้อความซ้อนในคลิปว่า “พม่าต้องการค่าแรง 600-700 บาท” ซึ่งบางคลิปมีการใส่โลโก้พรรคประชาชนด้านมุมขวาของคลิปด้วย 

เนื้อหาเดียวกันนี้ ถูกเผยแพร่ซ้ำบนเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เช่น TOP NEWS (ผู้ติดตาม 2.1 ล้านบัญชี), มุมมองเพื่อนบ้าน (ผู้ติดตาม 8.4 หมื่นบัญชี) และ ข่าวเฟสบุ๊ก (ผู้ติดตามกว่า 3 แสนบัญชี)

Fact-check: คลิปดังกล่าวเป็นการให้สัมภาษณ์ของนายสุรัจระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแรงงานเมียนมา Bright Future เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ การตรวจสอบพบว่าต้นฉบับคลิปเป็นข่าวที่เผยแพร่ทางยูทูป Voice TV เมื่อ 25 ธันวาคม 2565 พาดหัวข่าวว่า “ฟังเสียงคนสร้างกรุงเทพ ‘พวกเราไม่ได้เผากรุงศรี’ ขอค่าแรงขั้นต่ำ 600 เท่าเทียมกัน!”

ในคลิปให้สัมภาษณ์ต้นฉบับนั้น สุรัจกล่าวว่า “ค่าแรงตอนนี้ 335 หรือ 350 บาท คนพม่าได้ร้อยกว่าบาท บางคนได้ 200 แน่นอนคนที่ได้เต็ม 350 มันก็มี แต่ส่วนน้อย ส่วนมากก็คือโดนหักค่าประกันสังคม แต่เจ้านายไม่ส่งเงินสมทบให้ประกันสังคม ผมเจอ 2-3 เคส มันจะมีค่ารถ ค่าห้อง ค่ากิน 350 ยังไงก็ไม่พออยู่แล้ว ยังไงก็อยากได้มากกว่า 350 บาท 600 หรือ 700 ก็ว่าไป ถ้าได้ราคานั้น เราก็อาจจะอยู่อย่างสบายระยะหนึ่งหน่อย อาจจะนะ เพราะอย่าลืมว่าคนที่จะหาประโยชน์จากเรื่องนี้ก็มีเยอะ ไม่ว่าจะนายหน้าทั้งหลาย คนก็จะหาประโยชน์จากไอ้พวกนี้เยอะ เราต้องจัดการเรื่องนายหน้า […] อย่าลืมนะครับ กรรมกร งานสร้างตึกคนไทยไม่ทำ เราทำ เราทำให้ประเทศไทยสวยงามมากขึ้น ผมว่าลุงก็น่าจะดูแลพวกผมบ้างนะครับ อยากจะบอกว่า พม่าไม่ได้เผากรุงศรี แต่พม่าสร้างกรุงเทพ” 

เห็นได้ว่า คลิปที่ถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ในช่วงเดือนมกราคม 2568 นั้น ไม่มีการให้ข้อมูลหรือบริบทใด ๆ ว่าเป็นการให้สัมภาษณ์เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นการชุมนุมที่เพิ่งเกิดขึ้น อีกทั้งยังตัดคำพูดให้สั้นลง และบางคลิปได้นำโลโกพรรคประชาชนมาใส่ ทำให้เข้าใจว่าการชุมนุมนี้เกี่ยวข้องหรือได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาชน เช่น มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ก “มุมมองเพื่อนบ้าน” ว่า “ข้างหลังนั้นป้ายอะไรสีส้มๆ บอกตรงๆ เสียใจที่ลงคะแนนให้ แล้วประเทศจะไปทางไหนต่อในเมื่อพรรคที่หวังไว้กลับมาสนับสนุนคนพวกนี้ให้มาบ่อนทำลายประเทศ”

เปรียบเทียบภาพจากคลิปที่เผยแพร่ทางยูทูป VOICE TV เมื่อปี 2565 และภาพที่เผยแพร่ทางติ๊กต็อกในช่วงเดือนมกราคม 2568 ซึ่งมีการใส่โลโกพรรคประชาชน

การค้นหาด้วยเครื่องมือออนไลน์ Who Posted What พบว่าผู้ที่นำคลิปให้สัมภาษณ์ของนายสุรัจมาเผยแพร่ใหม่พร้อมกับใส่โลโกพรรคประชาชนคือบัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ @jiraya3115 ซึ่งโพสต์คลิปนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568  

บัญชีผู้ใช้งานติ๊กต็อก @jiraya3115 มีผู้ติดตาม 7,077 ราย และ 253,700 ไลก์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เผยแพร่คลิปทั้งหมด 309 คลิป เนื้อหาเกือบทั้งหมดสื่อสารแง่ลบเกี่ยวกับผู้อพยพในไทย

คลิปคำให้สัมภาษณ์เรื่องเรียกร้องการขึ้นค่าแรงของนายสุรัจที่ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำในช่วงก่อนวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหารเมียนมา ถูกใช้เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน นำโดยนายทรงชัย เนียมหอม ที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการฝ่ายกิจการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยห้ามชาวเมียนมาในไทยเคลื่อนไหว นอกจากนี้ “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” ยังได้นัดรวมตัวที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อคัดค้านการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมาเช่นกัน โดยมีการปราศรัยโจมตีชาวเมียนมาด้วยถ้อยคำรุนแรง

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานเมียนมาที่นำโดยนายสุรัจและกลุ่ม Bright Future ในวาระครบรอบ 4 ปีรัฐประหารเมียนมาในปีนี้ มีเพียงการเดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หนึ่งในข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแรงงานคือ ขอให้ปรับกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงงานข้ามชาติ (บัตรชมพู) ในไทยให้สะดวกกับแรงงานและนายจ้างมากขึ้น

2.คลิปการชุมนุมของแรงงานเมียนมาที่ จ.เพชรบูรณ์ ถูกนำมาบิดเบือนว่าเป็นการเรียกร้องขึ้นค่าแรง

วันที่ 31 มกราคม 2568 บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเผยแพร่คลิปความยาว 33.5 วินาที เป็นภาพการชุมนุมของชาวเมียนมาพร้อมเสียงภาษาเมียนมาที่แปลเป็นไทยว่า “เราจะไม่กลับ จนกว่าจะได้ตามที่เรียกร้อง” คลิปนี้มีการใส่ข้อความว่า “พม่าขอขึ้นค่าแรงเป็น 700 บาท” และคำบรรยายว่า “คนไทยได้ 350 พม่าจะเอา 700” มียอดเข้าชมกว่า 1.8 ล้านและถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง

Fact-check: คลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่แรงงานชาวเมียนมารวมตัวกันภายในบริษัทการเกษตร ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ซึ่ง Manager Online รายงานว่า​แรงงานชาวเมียนมาประมาณ 1,000 คน รวมตัวเรียกร้องให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายในการต่อพาสปอร์ตและวีซา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องการขึ้นค่าแรงเป็น 700 บาทตามข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์

3.ภาพเก่าปี 2564 และ 2567 ถูกนำมาประกอบเนื้อหาเท็จเรื่องการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมา

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพการเดินขบวนและการชุมนุมที่มีการชูธงชาติเมียนมาทั้งหมด 3 ภาพ พร้อมกับข้อความว่า “…วันนี้แรงงานพม่าในไทยเหิมเกริมมากเกินทำการเดินขบวนชุมนุมที่หน้าสนง.ยูเอ็น ใครรับได้. ผมรับไม่ได้ ผมมีความรู้สึกที่ดีกับแรงงานต่างด้าวแต่กับเรื่องนี้ รับไม่ได้ จะมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้ หากอยากเรียกร้องกลับไปพม่าให้หมดจะไปต่อสู้เรียกร้องรัฐบาลเมียนม่าเรื่องสิทธิ เรื่องการเมือง ประชาธิปไตยเชิญกลับประเทศไปให้หมด จะมาปิดถนนเดินขบวนอย่างนี้ไม่ได้คนไทยจะได้มีงานทำเพิ่มมากขึ้น ไทยช่วยเหลือผู้หนีภัยสู้รบนานพอแล้ว มากกว่านี้ รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมา จะตอบคนไทยที่ยากไร้ยังไง ส่วนที่แรงงานพม่าเรียกร้อง 700 บาท เอกชนคนไหนรวยเชิญตามสบาย ไปหา สส.ที่เชียร์แรงงานพม่าน่าจ่ายไหว คนไทย 400 บาทยังยากเลย…”

โพสต์นี้ถูกแชร์ไปมากกว่า 1.5 หมื่นครั้ง มีผู้กดแสดงรีแอคชันกว่า 1 หมื่นครั้ง ในจำนวนนี้มีผู้กด “ถูกใจ” 6 พันครั้ง และกด “โกรธ” 3.6 พันครั้ง

Fact-check: วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 4 ปี รัฐประหารเมียนมา โดยกลุ่ม Milk Tea Alliance ในเวลา 16.00 น. ที่หน้าสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ โดยมีชาวเมียนมาและคนไทยเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการตรวจสอบทั้ง 3 ภาพที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวนำมาเผยแพร่พบว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2564 และ 2567 ดังนี้

ภาพที่ 1 เป็นภาพจากการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งมีชาวเมียนมาในไทยร่วมกิจกรรมด้วยเพื่อต่อต้านรัฐประหารในไทยและเมียนมา โดยผู้ชุมนุมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ภาพต้นฉบับมาจากบัญชี X ของกลุ่มพันธมิตรชานม ประเทศไทย (Milk Tea Alliance Thailand)

ภาพที่ 2 เป็นภาพจากการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม “ทะลุฟ้า” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทั้งในไทยและเมียนมา ภาพต้นฉบับมาจากเพจเฟซบุ๊ก “MTAT – Milk Tea Alliance Thailand – พันธมิตรชานม”

ภาพที่ 3 เป็นภาพขบวนพาเหรดเนื่องในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ Bangkok Pride Festival 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 จากสนามกีฬาแห่งชาติ มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ โดยในขบวนพาเหรดมีกลุ่มนักกิจกรรมมาร่วมแสดงออกในหลายประเด็นรวมทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาและยุติสงครามในกาซา ภาพนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางเพจเฟซบุ๊ก “MTAT – Milk Tea Alliance Thailand – พันธมิตรชานม” เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567   

ข้อสังเกตจาก 3 กรณี

  • เนื้อหาที่หยิบยกมาล้วนเป็นการสร้างความเข้าใจผิดและปลุกปั่นความเกลียดชังแรงงานเมียนมาในไทยด้วยการใช้ภาพและคลิปเก่าเผยแพร่ใหม่ ในบริบทใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื้อหาทั้งหมดถูกเผยแพร่ช่วงเดือนมกราคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงก่อนครบรอบ 4 ปีรัฐประหารเมียนมา 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งที่ผ่านมาชาวเมียนมาในไทยจะใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย
  • เนื้อหาและการแสดงความคิดเห็นเป็นไปในทางที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีพรรคการเมืองในไทยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมา ซึ่งเป็นการเผยแพร่ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
  • ปัจจุบันเนื้อหาเหล่านี้ยังคงเผยแพร่อยู่ในโซเชียลมีเดีย แม้จะมีประชาชนทักท้วงจำนวนมาก โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เช่น การขึ้นข้อความแจ้งเตือนเนื้อหาเท็จ 

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ