ถอดรหัสถ้อยคำ‘ข่าวลวงสุขภาพ’ กลวิธีจี้ปม‘ความเปราะบาง’ คนอ่านพร้อมเชื่อและแชร์

กิจกรรม

29 ม.ค. 2568 รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ใน EP2 ของปี 2568 รับเทศกาล “ตรุษจีน” ชวนพูดคุยกับ ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษมอาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ คณะการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ในหัวข้อ เฮงปัง สุขภาพดี เท่าทันข้อมูลลวง เช็กให้ชัวร์ที่โคแฟค รับตรุษจีน สืบเนื่องจากเรื่องสุขภาพ เป็นหัวข้อที่พบปัญหาข่วงลวงและข้อมูลบิดเบือน-คลาดเคลื่อนบนโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง

ผศ.ดร.นิษฐา กล่าวถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกส่งเข้ามาในฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ cofact.org โดยไล่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2562 มาจากถึงวันที่ 20 พ.ย. 2567 คัดมา 1,726 รายการ ในจำนวนนี้ร้อยละ 97 มีการตรวจสอบไปแล้ว มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ 1.ช่วงเวลา แบ่งเป็นช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พบว่า ในช่วงปี 2563 – 2564 ที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะมีการส่งข้อมูลเข้ามาให้ช่วยตรวจสอบเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นการส่งเข้ามาก็ค่อยๆ ลดลง

สะท้อนถึงว่าตอนนั้นคนไม่มั่นใจข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองได้ จะเชื่อได้ไหม? ข้อความนี้เป็นอย่างไร? จะใช้ได้ไหม? ทำให้เหมือนกับบางครั้งก็ต้องตรวจสอบ ทีนี้จะตรวจสอบที่ไหน? เวลาที่คนส่งข้อความเข้ามาเยอะๆ สามารถจะอนุมานได้ว่าในนี้เป็นแหล่งข้อมูลที่เขาเชื่อถือมั่นใจ ข้อมูลที่ได้มาจึงมีจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด

2.ประเภทของข้อมูลในช่วงสถานการณ์โควิด-19ข้อมูลที่พบมากคืออาการของโรค การป้องกันตนเอง การรักษาและการฉีดวัคซีน สะท้อนว่าการที่มีข้อมูลข่าวลวงจำนวนมากก็ส่งผลต่อการตัดสินใจ เช่น ในเวลานั้นมีคำถามเกิดขึ้นว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่ เกิดความลังเลจากข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงต่างๆอาทิ ฉีดแล้วเป็นหมัน เป็นโรคเรื้อน หรือฉีดแล้วเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม การที่คนส่งข้อมูลมาทางเว็บไซต์น้อยลงหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป อาจเป็นเพราะไปส่งผ่านช่องทางอื่นก็ได้ เช่น โคแฟคมีไลน์ @cofact ซึ่งปกติหลายคนก็อยู่กับโทรศัพท์มือถือและได้รับการแชร์ข้อความต่างๆ ผ่านทางไลน์อยู่แล้ว จึงอาจส่งเข้าไปให้ตรวจสอบในช่องทางดังกล่าวเพราะเห็นว่าง่ายต่อไป ซึ่งก็จะต้องเก็บข้อมูลต่อไปว่าผู้คนใช้ช่องทางใดมากกว่ากัน

3.ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่พบบ่อยๆ พบว่า มีหลากหลายมากทั้ง 3.1 สุขภาพจิต เช่น ความเครียด ภาวะซึมเศร้า การปรับอารมณ์ มีเข้ามาทั้งที่เป็นข้อมูลและการสอบถาม อาทิ เล่นเกมช่วยลดความเครียดได้หรือไม่? กินสมุนไพรชนิดนี้ลดอาการซึมเศร้าได้หรือเปล่า? เป็นต้น 3.2 โภชนาการเป็นเรื่องการบริโภคอาหารและการควบคุมน้ำหนัก เช่น ทฤษฎีการกินตามกลุ่มเลือด กินตามเวลาหรือตามความเชื่อบางอย่าง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง อาทิ ยา แผ่นแปะ เครื่องดื่ม ปากกา เซรั่ม ครีม ฯลฯ ซึ่งมักเชื่อมโยงกับการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง   3.3 โรคและการรักษา มีทั้งการรักษาแบบทางเลือก การป้องกันโรค ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับสมุนไพรและอาหารเสริม เช่น ฟ้าทะลายโจรใช้อย่างไร? น้ำโซดาช่วยย่อยอาหารได้หรือไม่? 3.4 การดูแลสุขภาพ เช่น ในเรื่องการนอน มีทั้งการนอนตะแคง ใส่ถุงเท้าแล้วจะช่วยให้นอนหลับได้ง่าย หรือวิ่งมากจะแก่เร็ว บางเรื่องที่ไม่คิดว่าจะมีคนสงสัยก็มี จึงเกิดคำถามว่าแล้วจะไปหาคำตอบจากไหนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามาจะเป็นข้อมูลลอยๆ ไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาและยังไม่ได้รับการพิสูจน์ หากหลงเชื่อแล้วเกิดอันตรายขึ้น คนที่จะได้รับอันตรายก็คือคนที่หลงเชื่อนั้นเอง

4.ถ้อยคำที่มักถูกเลือกใช้ในข้อมูลที่ส่งต่อกันเรื่องสุขภาพ มักผูกกับการรักษาด้วยวิธีการทางธรรมชาติ เช่น น้ำมะนาวร้อนรักษามะเร็ง ถั่งเช่ารักษามะเร็ง น้ำมันกัญชา น้ำต้มใบมะขาว แต่ขณะเดียวกันก็มักจะใช้คำทางวิทยาศาสตร์ด้วย เช่น หากเป็นโรคมะเร็ง จะมีคำว่า คอร์ไดเซปิน เอนไซม์โบรมิเลน หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสายตา จะมีคำว่า แคนนาบินอยด์ ไบโลบา หากเป็นโรคเรื้อรัง หรือทางการแพทย์คือกลุ่มโรค NCDs เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะมีคำว่า อัลคาลอยด์ จินเซนโนไซด์

เวลาที่เขาพูดถึงวิถีธรรมชาติ การรักษาทางเลือก สมุนไพร พวกคำวิทยาศาสตร์ คำเฉพาะเจาะจงแบบนี้จะถูกใส่เข้ามาประกบกัน เข้าใจว่ามันอาจจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถืออะไรบางอย่าง เพราะมันเป็นคำที่มันดูเป็นวิทยาศาสตร์ ดูน่าเชื่อถือ ดูเป็นคำยากๆ เก๋ๆ เราแปลไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ออก แต่มันน่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องการแพทย์ เพราะฉะนั้นน่าเชื่อ ตรงนี้ก็เหมือนเป็นตัวลวงตัวหลอก

5.หลายครั้งข้อมูลถูกแชร์วนซ้ำ โดยทีมงานที่ช่วยเก็บข้อมูลพบว่าหลายเรื่องเคยเก็บแล้วก็ยังพบอีก ดังนั้นคงต้องใช้คำที่คุ้นเคยในช่วงโควิด-19 ระบาดคือ การ์ดอย่าตก เช่น ในปีนี้เจอข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบเรียบร้อยพบว่าเป็นข่าวลวง แต่ผ่านไป 3-4 ปี ข้อมูลเดิมก็ถูกแชร์วนกลับมาอีก หากการ์ดตกไม่ว่าด้วยปัจจัยใดๆ ก็ตาม ก็อาจหลงเชื่อได้ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยตรวจสอบจนรู้แล้วว่าเป็นเรื่องลวงหรือข้อมูลบิดเบือน

6.ข้อมูลเรื่องสุขภาพมักเล่นกับความเปราะบางของคน เช่น โรคเรื้อรัง (NCDs) มีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา ในขณะที่ผู้ป่วยก็อยากหายไวๆ และหายขาด ในค่าใช้จ่ายที่ตนเองแบกรับได้ ดังนั้นข้อมูลจึงนำเสนอทางเลือกที่ง่ายและราคาถูก เช่น ใช้คำว่า ต้มดื่มวันละ 1 แก้ว ในราคาแค่วันละ 10 บาท” , “วัตถุดิบมีขายในตลาดและราคาไม่แพง” ,ประหยัด เป็นต้น โดยคำเหล่านี้มักปรากฏเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษากับแพทย์ที่สูงกว่า 

นอกจากนั้น หลายคนท้อแท้เพราะไม่หายป่วยเสียทีในการรักษาโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่มีข้อมูลการรักษาด้วยสมุนไพรหรือวิธีการทางธรรมชาติ เช่น สูตรยาจากตำราแพทย์แผนไทยโบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้มาหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังจะไปผูกกับคำทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ เป็นการผสมระหว่าง โบราณ คือใช้มาหลายรุ่นหลายชั่วอายุคน และใช้ได้ผลจึงยังคงดำรงอยู่มาถึงปัจจุบันกับ ศัพท์วิทยาศาสตร์ ซึ่งดูน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของความหวัง ฟังแล้วเชื่อว่าต้องหายป่วยแน่นอน

  ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเปราะบางกับความเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม ปัญหาสุขภาพตามวัยของเรา เรื่องของความจำ ของสมอง ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคร้ายแรง เราอาจกำลังกังวลต่อโรคที่กำลังเป็น หรือผู้ป่วยที่กังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสายตา จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก กรณีเป็นคนที่สนใจข้อมูลสุขภาพความงาม ก็จะเปราะบางต่อเรื่องควบคุมน้ำหนัก เรื่องการทานอาหาร อาหารคลีน อาหารมังสวิรัติ อาหารตามกรุ๊ปเลือด เรื่องของการย่อยอาหารก็เป็นเรื่องที่ให้ความสนใจเหมือนกัน

7.ถ้อยคำและวิธีการที่กระตุ้นให้อยากเชื่อ-อยากลอง (และอยากแชร์) ไล่ตั้งแต่ 7.1ระบุตัวเลขแบบเฉพาะเจาะจง เช่น หายขาดภายใน 7 วัน ให้นับวันรอได้เลย , เห็นผลตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ ซึ่งหากเป็นคำแนะนำจากแพทย์จะต้องใช้เวลาในการรักษา แต่ตัวเราไม่อยากรอ , สยบทุกอาการป่วยใน 24 ชั่วโมง , ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ 95% คือเน้นการทำให้เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่จะกินหรือใช้  7.2 ใช้คำที่มีความหมายทำนอง เด็ดขาด เช่น รักษามะเร็งได้แน่นอน หายขาดจากโรคเบาหวาน ป้องกันโรคได้ 100% ซึ่งแตกต่างจากความเห็นของแพทย์ที่จะบอกให้เผื่อๆ ไว้ 7.3 ใช้การอ้างอิง เช่น อ้างความเป็นสูตรโบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่พิสูจน์มาแล้วหลายชั่วอายุคน อ้างอิงการเป็นทางเลือกด้วยการบอกว่าในเมื่อรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ไปโรงพยาบาลแล้วยังไม่ได้ผลก็มองหาทางเลือกอื่นๆ  7.4 อ้างความเป็นข้อมูลลับหรือสิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้แล้วให้รีบตัดสินใจ เช่น บอกให้รีบแชร์ก่อนถูกลบ บอกว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้รู้ความจริง ซึ่งจะตรงข้ามกับการณรงค์ให้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนเชื่อหรือแชร์ต่อ ที่ต้องการทำให้การตัดสินใจช้าลงหรือไม่ด่วนตัดสินใจเพื่อให้มีเวลาได้หยุดคิดและตรวจสอบ 7.5 แม้จะอ้างบุคคล ผู้เชี่ยวชาญ หรือสถาบันที่น่าเชื่อถือมารับรองก็ยังต้องระวัง เช่น อ้างชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนึ่งกับโรคที่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของแพทย์ท่านนั้น  

หรือที่อ้างว่าได้รับการรับรอง แม้จะได้รับการรับรองจริงแต่หลายอย่างมีจำกัดอายุ ก็ต้องตรวจสอบอีกว่าการรับรองนั้นหมดอายุไปแล้วหรือยัง หรืออ้างว่ามีคนนั้นคนนี้ใช้แล้วเห็นผลบ้าง ใช้แล้วพึงพอใจบ้าง ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่าคนที่อ้างถึงนั้นเป็นใคร เพราะส่วนใหญ่การอ้างจะมี 2 ส่วน คือผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้จริง ซึ่งผู้ใช้จริงก็มักจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว ตามสูตรก็เหมือนกับการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) มาเล่าเรื่องว่าใช้แล้วได้ผลจริง 

“ถ้าให้สรุปคือส่วนใหญ่แล้วข้อมูลไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน เน้นความสะดวก คุ้มค่า ปลอดภัย ไม่มีสถิติที่มาข้อมูล เชื่อมโยงกับโรคสมัยใหม่ เชื่อมโยงกับคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ พวกนี้เหมือนทำให้เราเวลาที่คิดว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อดี ไปเจอกลยุทธ์ เจอเทคนิค กลวิธีแบบนี้ เราจะเหมือนหลอมละลายทุกทีเราเชื่อตามข้อมูลพวกนี้ทุกที อันนี้ก็คือเป็นข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้เจอจากฐานข้อมูลของโคแฟค”

หมายเหตุ : รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1827458771347007/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-