ข้อกังขาและคำชี้แจง “ทำไมเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์”

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค

คำถามว่า “ทำไมเลือกตั้งวันเสาร์” กลับมาอีกครั้งในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่าการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งในวันเสาร์นั้นเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากลและเป็นอุปสรรคต่อการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะวันเสาร์เป็นวันทำงานของสถานประกอบการภาคเอกชน

แม้ว่า กกต. จะชี้แจงเหตุผลที่จัดการเลือกตั้งวันเสาร์แทนที่จะเป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดของคนส่วนใหญ่เหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งด้วยการออกเอกสารชี้แจงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 และการตอบข้อซักถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม 2567 แต่ประเด็นนี้ยังคงถูกตั้งคำถามจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ช่วยหาเสียง นักสังเกตการณ์ทางการเมือง และประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ในแอปพลิเคชัน TikTok มีผู้กล่าวหาว่า การกำหนดให้เลือกตั้งวันเสาร์นั้น “มีเลศนัย” “การโกงก่อนการเลือกตั้ง” และเป็น “แผนสกัด/ตัดคะแนน” ของพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนวัยทำงาน  

ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งวันเสาร์เริ่มถูกนำมาใช้โจมตีกันทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย เช่น เพจเฟซบุ๊ก “ความจริงของระยอง” โพสต์เนื้อหาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 กล่าวหาพรรคประชาชนว่านำประเด็นนี้มา “ปั่นกระแส”

โคแฟคพบว่าข้อสงสัย คำถาม และเนื้อหาที่วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่จะขาดบริบทและไม่มีคำชี้แจงจาก กกต. ประกอบ ทำให้มีผู้แสดงความไม่พอใจและเกิดข้อกังขาต่อความเที่ยงธรรมของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ซึ่งอาจส่งผลต่อการยอมรับผลการเลือกตั้งในภายหลังได้  

เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งของ กกต. อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพและสะดวกต่อการออกมาใช้สิทธิของประชาชน โคแฟคจึงได้รวบรวมข้อสงสัยข้อกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ และสาระสำคัญของคำชี้แจงของ กกต. มาไว้ดังนี้

ทำไมถึงเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568?

พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันหลังจากผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ ซึ่งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ชุดที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2563 ดำรงตำแหน่งครบวาระในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 กกต. จึงต้องจัดการเลือกตั้งภายในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเส้นตาย 45 วันที่กฎหมายกำหนด

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ตอบข้อซักถามของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ในประเด็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง อบจ. ตรงกับวันเสาร์ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร​เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567

กกต. ยอมรับว่าปกติแล้วจะกำหนดวันเลือกตั้งเป็น “วันอาทิตย์ของสัปดาห์สุดท้ายก่อนครบ 45 วัน” แต่ในกรณีนี้ วันอาทิตย์สุดท้ายของระยะเวลา 45 วัน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ทำให้ “สุ่มเสี่ยงกับการจัดการเลือกตั้งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด” เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมากกว่า 90,000 หน่วย อาจมีเหตุให้บางหน่วยไม่สามารถนับคะแนนและรวมคะแนนเสร็จภายในวันเดียว กกต. จึงได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้มั่นใจว่าหากมีเหตุจำเป็นให้การนับคะแนนล่วงเลยไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ การเลือกตั้งก็ยังนับว่าอยู่ในระยะเวลา 45 วันตามที่กฎหมายกำหนด

กกต. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เหตุที่ไม่กำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นเป็นวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 ก็เพราะจะทำให้มีเวลาน้อยเกินไปสำหรับกระบวนการรับสมัคร การตรวจสอบคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร และทำให้ผู้สมัครมีเวลาหาเสียงน้อยลง

ทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งวันเสาร์?

สส. พรรคประชาชน เช่น พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส. สมุทรปราการ และ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แสดงความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องให้ กกต. ทบทวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ กกต. ประกาศปฏิทินการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567

เหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ ได้แก่

  • การเลือกตั้งวันเสาร์จะทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิน้อย โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรม เพราะเป็นวันทำงานของโรงงานและสถานประกอบการจำนวนมาก
  • การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกตั้งนอกเขต กกต. จึงต้องลดอุปสรรคของการออกมาใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด การกำหนดให้เลือกตั้งวันเสาร์เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการออกมาลงคะแนนเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน พนักงานบริษัทเอกชนที่ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ หยุดเฉพาะวันอาทิตย์
  • การเลือกตั้งวันอาทิตย์ ทำให้ประชาชนมีเวลามากขึ้นในการเดินทางกลับภูมิลำเนามาใช้สิทธิ
  • ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งมักจัดในวันอาทิตย์ และหากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ การเลือกตั้งทุกครั้ง ทั้งการเลือกตั้ง สส. ปี 2562 และ 2566 การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับล้วนจัดในวันอาทิตย์
  • หากมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้การนับคะแนนเลือกตั้งในบางหน่วยไม่เสร็จสิ้นภายในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์อย่างที่ กกต. กังวล กกต. ก็สามารถขยายระยะเวลาได้ตามมาตรา 11 วรรค 3 ของ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ที่ระบุว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งให้ย่นหรือขยายระยะเวลาให้มีการจัดการเลือกตั้งได้ตามความจำเป็นเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ”

กกต. ว่าอย่างไร?

หลังจากมีข้อทักท้วงจากพรรคการเมืองและ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้นำเรื่องเข้าหารือกับกรรมการการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็มีมติให้คงกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ตามเดิม เพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นไม่เกินระยะเวลา 45 วัน

ส่วนข้อเสนอเรื่องการขยายระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งในบางพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษนั้น นายแสวงกล่าวว่า “เป็นความเห็นทางกฎหมายที่จะต้องตีความกัน”

สำหรับความกังวลว่าการเลือกตั้งวันเสาร์ซึ่งเป็นวันทำงานของภาคเอกชนอาจส่งผลให้ผู้มาใช้สิทธิน้อย กกต. ได้ ส่งหนังสือไปถึงทุกหน่วยงานเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ได้แก่

1) หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขที่ ลต 0012/18372 – 4 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ถึงปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

2) หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขที่ ลต 0012/ว2190 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด ประสานและขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบกิจการ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด นายจ้าง และส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่ออนุญาตและอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด

หน่วยงานต่าง ๆ เร่งรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกอบจ. และ ส.อบจ. ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

กกต.ระบุในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ว่า การส่งหนังสือขอความร่วมมือดังกล่าว “เป็นแนวปฏิบัติตามปกติในทุกการเลือกตั้ง” และขณะนี้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ดำเนินการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบโดยทั่วกันแล้ว

กกต. ยังเตือนด้วยว่านายจ้างที่ขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเป็นความผิดตามมาตรา 117 ของ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ที่ระบุว่า “ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวก โดยไม่มีเหตุอันสมควรในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ความเคลื่อนไหวจาก กมธ. พัฒนาการเมืองฯ

วันที่ 15 มกราคม 25689 นายพริษฐ์ ประธาน กมธ. พัฒนาการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กว่า กมธ. “ไม่สามารถโน้มน้าวให้ กกต. เปลี่ยนวันเลือกตั้งจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ได้สำเร็จ” จึงได้ส่งหนังสือถึงสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างมีเวลาเพียงพอในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.

นอกจากนี้ กมธ. ยังไม่ได้ส่งหนังสือถึง กกต. ขอให้วางแผนและป้องกันไม่ให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอื่นที่ไม่ใช่วันอาทิตย์ในการเลือกตั้งในอนาคต โดยเฉพาะในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568-2569 เช่น เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ