เมื่อนักการเมืองหญิงตกเป็นเป้าข่าวลวง: จับตา 35 ผู้สมัครนายก อบจ. หญิง
กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 47 จังหวัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้สมัครผู้หญิงจำนวน 35 คน คิดเป็น 18.5 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครทั้งหมด 189 คน ที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำแต่ละจังหวัดประกาศรายชื่อว่าเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ขณะที่ 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปแล้ว มีนายก อบจ. หญิงที่อยู่ในตำแหน่งหรืออยู่ระหว่างรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งทั้งหมด 7 คน
การหาเสียงที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. มีแนวโน้มที่จะพบการใช้ข้อมูลเท็จหรือข่าวลวงเพื่อโจมตีคู่แข่งในสนามเลือกตั้งมากขึ้น ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของโคแฟคพบว่า ข้อมูลเท็จที่นักการเมืองหญิงเผชิญนั้นมีความแตกต่างจากนักการเมืองชาย เช่น มักเกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องชู้สาว และความสามารถ
แม้ว่านักการเมืองส่วนหนึ่งจะมองว่า การถูกใส่ร้ายป้ายสีหรือโจมตีด้วยข้อมูลเท็จนั้น “เป็นเรื่องปกติ” ที่นักการเมืองต้องเจอ แต่การทำลายนักการเมืองหญิงด้วยข่าวลวง ข้อมูลเท็จ ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือดูหมิ่นเหยียดหยามนั้นส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมต่อนักการเมืองหญิง และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สัดส่วนของผู้หญิงในแวดวงการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย
ในขณะที่บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นและทีมงานกำลังระดมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียง สื่อสารนโยบาย ชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โคแฟคชวนสำรวจการใช้ข้อมูลเท็จ/ข่าวลวงในการทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองหญิงในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังการใช้ข้อมูลเท็จเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญนี้
ข้อมูลเท็จ
คนส่วนใหญ่คุ้นกับคำว่า fake news หรือข่าวปลอม แต่ในมุมของคนทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact check) นิยมใช้คำว่า “ข้อมูลเท็จ” (false information) ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่า
False information แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามเจตนาการผลิตและเผยแพร่ ได้แก่
- Misinformation คือ ข้อมูลเท็จที่ผู้เผยแพร่เชื่อว่าเป็นความจริงโดยบริสุทธิ์ใจไม่มีจุดประสงค์ร้าย
- Disinformation คือ ข้อมูลเท็จที่ผลิตและเผยแพร่โดยเจตนาร้าย ต้องการสร้างความเสียหาย
- Malinformation คือ ข้อมูลจริงที่เผยแพร่โดยมีเจตนาสร้างความเสียหาย เช่น การปล่อยข้อมูลส่วนบุคคล ภาพหลุด คลิปหลุด ข้อความสนทนาส่วนตัว เป็นต้น
สิ่งที่โคแฟคให้ความสนใจและพบว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุดคือ disinformation หรือเนื้อหาเท็จที่ผลิตและเผยแพร่โดยเจตนา ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่น
- เนื้อหาเชิงเสียดสีให้ขบขัน แต่อาจมีคนหลงเชื่อว่าเป็นจริง
- เนื้อหาที่บิดเบือน จงใจชี้นำเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด
- เนื้อหาที่เป็นจริง แต่นำมาใส่ในบริบทที่ผิด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
- การแอบอ้างตัวตนเพื่อหลอกลวงผู้อื่น
- ภาพนิ่งหรือวิดีโอที่ถูกตัดต่อเพื่อสร้างความเท็จ
- การกุเรื่องใหม่ทั้งหมดเพื่อหลอกหลวง
เนื้อหาเท็จเชิงเหยียดเพศ (Gendered Disinformation)
เนื้อหาเท็จมักถูกนำมาใช้เพื่อชี้นำทางความคิดหรือสร้างความเข้าใจผิดในประเด็นต่าง ๆ เช่น เนื้อหาเท็จที่ปลุกปั่นสร้างความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobic disinformation) เนื้อหาเท็จที่สร้างความเกลียดชังผู้อพยพ/แรงงานข้ามชาติ (Disinformation on migration) และเนื้อหาเท็จเชิงเหยียดเพศหรือสร้างอคติทางเพศ (Gendered disinformation) เนื้อหาเท็จเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ หลายภาษา และมีปริมาณมหาศาลในโลกออนไลน์
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกานิยาม Gendered Disinformation ว่าเป็น “รูปแบบหนึ่งของการคุกคามและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ด้วยการเอาประเด็นทางเพศมาสร้างข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิด ซึ่งมักจะทำกันเป็นเครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นผู้หญิงไม่ให้มีบทบาทในสังคม”
บทความวิชาการเรื่อง “Gendered disinformation: a pernicious threat to equality in the Asia Pacific” ที่เผยแพร่ในวารสาร Media Asia Journal เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 อธิบายว่า Gendered Disinformation “คือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดเพื่อสร้างความเสียหายต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ” และขยายความต่อว่า เนื้อหาเท็จเชิงเหยียดเพศที่ถูกนำมาใช้ในการโจมตีนักการเมืองหญิงนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้หญิง บ่อนเซาะความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และทำให้เกิดการตีตรานักการเมืองหญิง
เนื้อหาเท็จแบบไหนที่ใช้โจมตีนักการเมืองหญิง
1) เรื่องชู้สาว
ตัวอย่าง: กรณี “ภารกิจ ว.5 โรงแรมโฟร์ซีซัน” ที่สื่อมวลชนหลายสำนักและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำมาล้อเลียนและกล่าวหายิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในประเด็นเชิงชู้สาว
2) ภาพวาบหวิว
ตัวอย่าง: การนำภาพผู้หญิงแต่งตัวโป๊หรือวาบหวิวมาตัดต่อหรือให้ข้อมูลเท็จว่าเป็นนักการเมืองหญิง เช่น กรณีผู้โพสต์ภาพผู้หญิงสวมบิกินี่สีส้มและให้ข้อมูลเท็จว่าเป็นรักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน และ กรณีคลิปสาวเต้นเปลือยอกที่มีผู้อ้างเท็จว่าเป็นปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
3) พฤติกรรมไม่เหมาะสม
ตัวอย่าง: กรณีที่มีผู้เผยแพร่ภาพผู้หญิงถีบป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างการชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างเท็จว่าบุคคลในภาพคือจิตภัสร์ กฤดากร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกรณีผู้โพสต์ภาพผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่รัฐสภาพร้อมข้อความที่ทำให้เชื่อว่าเป็นรักชนก สส. กทม. พรรคประชาชน
4) ความสามารถทางภาษาหรือภาวะการเป็นผู้นำ
ตัวอย่าง: เนื้อหาล้อเลียนการอ่านผิดของยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น อ่านคำว่าคอนกรีต “คอ-นก-รีต” อ่านชื่ออำเภอขนอมว่า “ขน-อม” หรือการอ่านข้อความ “Thank you three times” ในร่างสุนทรพจน์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกิดความผิดพลาดเหล่านี้ขึ้นจริง แต่ด้วยการเผยแพร่เนื้อหาเท็จเพื่อล้อเลียนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้หลายคนเชื่อไปแล้วว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นความจริง
5) แอบอ้างตัวตนสร้างเนื้อหาเท็จ
ตัวอย่าง: ปี 2562 ผู้ใช้เฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นปารีณา สส.ราชบุรี ในขณะนั้น ทำโพล “เปรียบเทียบความสวยระหว่าง ‘เอ๋-ปารีณา กับ ช่อ-พรรณิกา’” ซึ่งต่อมาปารีณาออกปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์และบัญชีเฟซบุ๊กนั้นเป็นเฟซบุ๊กที่แอบอ้างตัวตนของเธอ เนื้อหาเท็จนี้มีสื่อมวลชนหลายสำนักนำไปรายงานข่าวโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นบัญชีเฟซบุ๊กปลอม
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเนื้อหาเท็จเหยียดเพศ
เป้าหมาย: แม้ว่าทั้งนักการเมืองชายและหญิงจะมีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีด้วยข่าวลวง/ข้อมูลเท็จ แต่เนื้อหาที่นักการเมืองหญิงเผชิญมักจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องส่วนตัว ความรู้ความสามารถ โดยนักการเมืองหญิงที่ตกเป็นเป้าโจมตีมักจะเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่น ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชน หรือมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียสม่ำเสมอ นอกจากนักการเมืองหญิงแล้ว นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้หญิงก็โดนโจมตีด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จเช่นกัน รวมทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี ล้อเลียนด้วยถ้อยคำที่มีอคติทางเพศ
ช่องทางการเผยแพร่: โซเชียลมีเดียเกือบทุกแพลตฟอร์ม แต่โคแฟคพบว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีการเผยแพร่เนื้อหาเท็จในแพลตฟอร์ม TikTok มากขึ้นและมียอดการเข้าชม/แชร์จำนวนมาก อีกทั้งมีการเผยแพร่ข้ามแพลตฟอร์ม คือ พบเนื้อหาเดียวกันทั้งใน TikTok YouTube Facebook และ X ขณะที่แอปพลิเคชันสนทนาอย่าง LINE ก็ยังคงเป็นอีกช่องทางที่มีการส่งต่อเนื้อหาเท็จทางการเมือง
ใครเป็นคนทำ: เป็นเรื่องยากที่จะหาต้นตอที่มาของเนื้อหาเท็จหรือระบุคนที่ผลิต เนื้อหาเท็จผลิตง่าย แพร่กระจายได้รวดเร็ว แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและต้นตอของเนื้อหาเท็จนั้นไม่ง่ายและต้องใช้เวลา ผู้ที่แชร์เนื้อหาเท็จนั้นอาจทำโดยไม่เจตนา เพราะคิดว่าเป็นความจริงที่น่าสนใจ หรือแชร์โดยเจตนา คือรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ แต่เมื่อมันสร้างเสียหายต่อนักการเมืองที่ตนไม่ชอบ จึงจงใจส่งต่อ
ช่วงเวลาที่เผยแพร่: เนื้อหาเท็จทางการเมืองมักเกิดขึ้นเยอะในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลังตั้งรัฐบาล ช่วงการประชุมสภาในวาระที่คนให้ความสนใจ เมื่อมีความขัดแย้งกันระหว่างนักการเมือง ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง บางกรณีก็ถูกผลิตและเผยแพร่ออกมาโดยไม่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ใด ๆ ความไม่จริงเป็นสิ่งไม่ตาย: เนื้อหาเท็จส่วนใหญ่มีอายุยืนยาว ไหลเวียนอยู่ในโลกออนไลน์ได้นานหลายปี แม้จะมีการหักล้างแล้ว ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วก็มีโอกาสฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่ได้ เช่น ประเด็น “ว.5 โฟร์ซีซั่น” ที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้ฟ้องร้องต่อศาลและศาลพิพากษาแล้วว่าผู้เผยแพร่เนื้อหานี้มีความผิด และจำเลยในคดีนี้ได้ลงข้อความขอโทษแล้ว แต่ข้อความล้อเลียนเสียดสีนี้ก็ยังถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำทันทีที่แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
เสียงสะท้อนจากนักการเมืองหญิง
โคแฟคสัมภาษณ์นักการเมืองหญิง 2 คนที่เคยตกเป็นเป้าของการโจมตีด้วยเนื้อหาเท็จ คือ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และรักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน
ปารีณาบอกว่าเธอถูกโจมตี ล้อเลียน เสียดสีด้วยเนื้อหาเท็จมาหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเพศและชู้สาว จากการที่เล่นการเมืองมายาวนานเกือบ 20 ปี เธอมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่นักการเมืองต้องเจอ และไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนมากนัก
หลังจากถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตในคดีรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายน 2565 ปารีณาหันมาทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเธอบอกว่าพอไม่ได้เป็น สส. ข่าวลวงเกี่ยวกับเธอแทบไม่มีเลย และตั้งข้อสังเกตว่า นักการเมืองที่ตกเป็นเป้าของข่าวลวงมักจะเป็นที่มีบทบาทโดดเด่น สังคมให้ความสนใจ “ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนักการเมืองผู้หญิงหรือผู้ชาย”
ด้านรักชนก สส.พรรคประชาชน บอกว่าข้อมูลเท็จถูกนำมาทำลายชื่อเสียงของเธอส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเพศและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพผู้หญิงแต่งตัววาบหวิว ภาพสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่แม้จะชี้แจงไปแล้วว่าบุคคลในภาพไม่ใช่เธอ ก็ยังแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย และพอลงพื้นที่ไปพบชาวบ้าน ก็จะโดนต่อว่าบ้าง โดนถามบ้างว่าสูบจริงหรือเปล่า
รักชนกบอกว่าเนื้อหาเท็จเหล่านี้สร้างภาพจำและความรับรู้ของคนในสังคมว่านักการเมืองผู้หญิงทำแต่เรื่องไม่เหมาะสม โดยไม่ได้สนใจเรื่องการทำงานของพวกเธอ
เมื่อเผชิญกับข้อมูลเท็จที่สร้างความเสียหายต่อตนเอง นักการเมืองหญิงทั้งสองคนจะประเมินก่อนว่าข้อมูลเท็จนั้นแพร่กระจายมากน้อย (viral) แค่ไหน สร้างความเสียหายมากหรือไม่ ถ้าอยู่ในวงจำกัดหรือไม่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและการทำงานมากนักก็จะปล่อยผ่าน แต่ถ้าคิดว่าเริ่มไวรัลและกระทบมากก็จะชี้แจงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ปารีณาเลือกที่จะดำเนินคดีผู้เผยแพร่ในบางกรณี ซึ่งปัจจุบันนี้มีคดีความอยู่ในชั้นตำรวจและชั้นศาล
ทั้งปารีณาและรักชนกบอกตรงกันว่า ไม่คาดหวังกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในเรื่องการจัดการข้อมูลเท็จ เพราะที่ผ่านมาเคยรีพอร์ตไป แต่ข้อมูลเท็จหรือบัญชีปลอมแปลงตัวตนก็ยังคงอยู่
การทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของนักการเมืองหญิงด้วยข่าวลวง/เนื้อหาอันเป็นเท็จ นับเป็นอุปสรรคสำคัญของความพยายามในการผลักดันการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในโลกการเมือง เพิ่มสัดส่วนของ สส. หญิงในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและความชอบธรรมของการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น หากพบเห็นการใช้ข่าวลวงเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง ส่งเนื้อหามาให้โคแฟคช่วยตรวจสอบได้ที่ LINE OpenChat “โคแฟคเช็คข่าว Cofact Alert!”
หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากการนำเสนอในงานเสวนา งานเสวนา “สื่อกับผู้หญิงในโลกการเมือง:
บทบาทของสื่อและความรุนแรงออนไลน์ต่อนักการเมืองหญิง” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ชมย้อนหลังได้ ที่นี่