กิน PrEP แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ถุง?

จริงหรือไม่ที่การกิน PrEP สามารถป้องกันเอชไอวีได้ แล้วไม่ต้องใส่ถุง?

หลายคนคงหาวิธีการป้องกันเอชไอวีอยู่อย่างแน่นอน และวิธีการหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ คือการรับประทาน PrEP เพื่อป้องกันเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนเดินทางเข้าไปรับยาชนิดนี้กันเป็นจำนวนมาก คำถามที่หลายคนย้อนกลับมาถามคือมันป้องกันได้จริงๆ ใช่ไหม? แล้วเราจะสามารถไม่ใส่ถุงยางอนามัยเพื่อมีเพศสัมพันธ์ได้เลยไหม หากทานยาชนิดนี้อยู่แล้ว บทความนี้จะพาไปไขคำตอบกัน

ก่อนอื่น คงต้องแนะนำว่า PrEP หรือชื่อเต็มคือ Pre-Exposure Prophylaxis มันคือการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีโดยผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสที่มีความเสี่ยง การรับประทานยา PrEP อย่างสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน PrEP แบ่งออกตามชนิดการรับประทาน ดังนี้

  • การรับประทาน PrEP ทุกวัน (Daily PrEP) : โดยต้องรับประทานยา PrEP วันละ 1 เม็ด ทุกวัน ในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งต้องทานให้ครบ 7 วันก่อนถึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยเหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
  • การรับประทาน PrEP ตามความต้องการ (On-Demand PrEP) : มีวิธีรับประทานยา PrEP คือ ทาน 2 เม็ด ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2-24 ชั่วโมง และทานอีก 2 เม็ด โดย 1 เม็ดแรกให้ทานหลังมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง และ 1 เม็ดหลังให้ทานหลังมีเพศสัมพันธ์ 48 ชั่วโมง วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถวางแผนการมีเพศสัมพันธ์ล่วงหน้าได้

สำหรับการรับประทานยา PrEP หากทานอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง จะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า PrEP สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ประมาณ 99% และลดความเสี่ยงจากการใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดได้อย่างน้อย 74% 

ซึ่งประสิทธิภาพของ PrEP ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการรับประทานยาและการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องทานยาให้ตรงเวลาทุกวันเฉกเช่นกับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีนั่นเอง

แน่นอนว่าการรับประทานยา PrEP อย่างสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ PrEP ก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น หนองในเทียม ซิฟิลิส หรือเริมที่อวัยวะเพศ ดังนั้น การใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการรับประทาน PrEP จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันทั้งเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงการไปตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรัฐให้สิทธิ์ในการตรวจปีละ 2 ครั้งฟรีไว้ด้วย ฉะนั้นใส่ถุงยางอนามัย ทาน PrEP ตรวจเลือด และดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุด


แหล่งอ้างอิง

  • มูลนิธิเพื่อรัก
  • ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC)
  • โรงพยาบาลสมิติเวช
  • PULSE CLINIC