มีเชื้อเอชไอวีไม่ควรทำอาหาร?

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรทำอาหารหรือไม่ควรสมัครงานร้านอาหาร

เพราะเอชไอวีจะติดได้จากอาหารที่ทำจากผู้ติดเชื้อจริงเหรอ?

สิ่งหนึ่งที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจกับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี คือการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยเฉพาะการสมัครงานหรือการเข้าทำงานในร้านอาหาร เป็นเชฟ หรือเป็นผู้ปรุงอาหาร เพราะยังมีโรงแรมหรือสถานบริการบางแห่งมีนโยบายไม่รับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานในสถานประกอบการ เพราะยังมีความคิดว่าเอชไอวีสามารถติดต่อผ่านการทำอาหารหรือปรุงอาหารได้ เรื่องนี้จริงหรือไม่ เรามีคำตอบให้ในบทความนี้

อันที่จริงแล้ว เชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการทำอาหารหรือการรับประทานอาหารสด รวมไปถึงการสัมผัสอาหารหรือการปรุงอาหารโดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ซึ่งเชื้อเอชไอวีสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอด หรือแม้แต่น้ำนมแม่

นอกเหนือจากนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวียังสามารถปรุงอาหารและทำงานในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย ดังนั้น การทำอาหารหรือเตรียมอาหารโดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และยังปลอดภัยหากปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยทั่วไปในการเตรียมอาหารเฉกเช่นคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี เช่น ล้างมือก่อนและหลังการปรุงอาหาร ใช้อุปกรณ์ที่สะอาด และปรุงอาหารให้สุก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอื่น ๆ

ดังนั้น การทำอาหารหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยทั่วไปในการเตรียมและรับประทานอาหาร และผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรดูแลสุขภาพของตนเอง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุก เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีสถานที่ทำงานหลายแห่ง ใช้เกณฑ์การตรวจหาเชื้อเอชไอวีและไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานประเภทโรงแรมและร้านอาหารที่มักจะมีทัศนคติในด้านลบ เช่น กลัวเอชไอวีจะติดผ่านการทำงาน หรือการที่อาจจะต้องลาหยุดบ่อยๆ เนื่องจากไม่สบาย ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อไอวีไม่จำเป็นต้องลาบ่อยๆ อีกแล้ว หากมีร่างกายที่แข็งแรง และเชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้ติดกันง่ายๆ อีกแล้วด้วย ดังนั้นสถานที่ทำงานก็ควรให้โอกาสรับผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีเข้าทำงาน เพื่อให้เขาสามารถพิสูจน์ผลงานผ่านความสามารถและความมุ่งมานะ มากกว่าจะตัดสินไม่รับเพียงเพราะกลัวติดเชื้อเอชไอวี


แหล่งอ้างอิง

  • ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์