รายงานพิเศษ (ตอนที่ 1) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 50/67(1/2)
By : Zhang Taehun
‘เกาะกูด’เป็นของใคร?
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา หนึ่งในประเด็นการเมืองที่ร้อนแรงและส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย คือเรื่อง “การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทางพลังงาน” โดยรายงานข่าว “Thailand eyes $300bn gas field frozen by Cambodia dispute” ของ นสพ. Bangkok Post วันที่ 10 ต.ค. 2567 ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2567 สมัยอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ทั้ง 2 ชาติ ได้พูดคุยกันว่า จะหารือกันอย่างไรถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตรอย่างยุติธรรม
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตและน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรล แต่การเจรจานั้นไม่ง่ายและหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2544 เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชามีความขัดแย้งกันเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดน (หรือเส้นไหล่ทวีป) ทางทะเล และในปีนั้น ทั้ง 2 ชาติได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือMemorandum of Understanding (MOU) ว่าจะต้องหารือเรื่องสิทธิเหนือดินแดนพร้อม ๆ กับการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน กระทั่ง เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 และ แพทองธาร ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งแทน จึงเริ่มมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะเริ่มเจรจาอย่างจริงจัง เนื่องจากไทยมีแรงกดดันด้านความต้องการแหล่งพลังงานมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทย ความขัดแย้งทางการเมืองแบบสุดโต่งที่ยาวนานมาร่วมสองทศวรรษ ยังไม่ได้รับการแก้ไขตามวิถีทางประชาธิปไตย ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 ทำให้กระแสกดดันการยกเลิก MOU44 ถูกกระพือขึ้นมาอีก โดยฝ่ายมีความเห็นต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลไทยในปี 2544 ซึ่งมีพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคดั้งเดิมของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไปรับรองบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) กับรัฐบาลกัมพูชา ทั้งที่ยังมีความขัดแย้งกันเรื่องเส้นอาณาเขตทางทะเล เท่ากับฝ่ายไทยไปยอมรับการลากเส้นของกัมพูชาหรือไม่? จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิก MOU ปี 2544 เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาหากในอนาคตเรื่องนี้กลายเป็นข้อพิพาทที่ต้องนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกหรือบ้างก็แชร์ข้อมูลกันตามเพจการเมือง ความมั่นคง ในสื่อสังคมออนไลน์และการตีข่าวของสื่อมวลชนว่า ด้วย MOU ปี 2544 ไทยอาจต้องเสียเกาะกูด จ.ตราด ไปให้กัมพูชา ทั้งนี้ในรายงานข่าวของ Bangkok Post ข้างต้น ได้อ้างความเห็นของ สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ที่ว่า การประนีประนอมใด ๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของไทย อาจกลายเป็นชนวนเหตุที่ประชาชนจะออกมาต่อต้านรัฐบาลได้
บทความ “ชมทะเลสวยที่ “เกาะกูด” เกาะสุดท้ายแห่งน่านน้ำตะวันออกของไทย จังหวัดตราด” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า “เกาะกูด” สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต จุดพักผ่อนหย่อนใจของเกาะขนาดใหญ่อันดับสองในจังหวัดตราด ภายในเกาะประกอบไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ มีหาดทรายสีขาวที่เนียนละเอียด น้ำทะเลใสสีมรกต จนได้รับการขนานนามว่า “อันดามันแห่งทะเลตะวันออก”
ในประเด็นประเทศใดถืออำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด ฝ่ายไทยค่อนข้างจะตรงกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่เห็นต่างว่า “เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน”อาทิ ในวันที่ 30 ต.ค. 2567 ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ในซีกฝ่ายค้าน เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยกเลิก MOU ปี 2544 โดย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ อธิบายว่า ข้อความในเอกสาร MOU44 ประกอบแผนที่แนบ แสดงว่า 2 ประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อให้ทำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม
แต่ขอบพื้นที่ดังกล่าวด้านทิศตะวันตก ใช้เส้นเขตแดนในทะเลที่ประกาศ โดยกัมพูชาในปี 2515โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่าขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU44 ซึ่งขัดกับสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU44 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย
“หากกัมพูชายอมรับว่าไทยมีเอกสิทธิ์ในเกาะกูดอย่างสมบูรณ์แต่ผู้เดียวจริง กัมพูชาจะต้องยอมรับไทยลากเส้นห่างจากชายฝั่งของเกาะกูด 200 ไมล์ทะเลตามกติกาสากล ไม่ใช่ลากเส้นพาดผ่านเกาะกูด ซึ่งการที่ใน MOU44 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิ์ในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน” ธีระชัย กล่าว
โดยก่อนหน้านั้น ในวันที่ 28 ต.ค. 2567 ธีระชัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตการลากเส้นของฝ่ายกัมพูชา พร้อมแนบภาพประกอบไว้ 4 ภาพ ดังนี้ 1.เป็นเอกสารที่แสดงเส้นแบ่งเขตในทะเลประกาศโดยกัมพูชาในปี 2515 ที่ปลายลูกศรสีแดง กัมพูชาขีดเส้นนี้ผ่านกลางเกาะกูด ซึ่งอยู่ในสี่เหลี่ยมสีแดง 2.เป็นส่วนขยาย โดยเกาะกูดอยู่ในวงกลม เส้นของกัมพูชาผ่านกลางอย่างชัดเจน 3.เป็นแผนที่แนบท้าย MOU44 ตำแหน่งเกาะกูดอยู่ในสี่เหลี่ยมสีแดง และ 4.ปรากฏว่า ในแผนที่นี้ เส้นเขตแดนที่ประกาศโดยกัมพูชา ไม่ได้แสดงเป็นเส้นต่อเนื่อง แต่กลับเว้นช่องเอาไว้ ตรงตำแหน่งเกาะกูด
ซึ่ง ธีระชัย ระบุว่า วิธีการนี้ ย่อมทำให้ประชาชนที่ดูแผนที่แนบท้าย MOU44 มีข้อสงสัย กระทรวงต่างประเทศควรชี้แจง ทำแผนที่เว้นช่องตรงตำแหน่งเกาะกูด ด้วยเหตุผลใด? เป็นการเว้นช่อง เพื่อจะทำให้เข้าใจไขว้เขวว่า กัมพูชาไม่ได้ประสงค์จะขอแบ่งพื้นที่บนเกาะกูด เพียงแต่ประสงค์จะขอสิทธิในทะเล ใช่หรือไม่? จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากจะทำแผนที่โดยกัมพูชายอมรับเด็ดขาดว่าเกาะกูดเป็นของไทย กรณีเช่นนี้ เส้นแบ่งเขตในทะเลของกัมพูชา ก็ต้องอ้อมเกาะกูด ไม่ใช่เพียงไม่กี่ไมล์ทะเล กรณีเช่นนี้ จะต้องอ้อมเกาะกูด เป็นรัศมี 200 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่งทิศใต้ของเกาะกูด ส่วนการที่ MOU44 แสดงแนวเส้นแบ่งเขตของกัมพูชา ผ่ากลางเกาะกูด นั้น ย่อมหมายความว่า ทั้งสองประเทศยอมรับว่า มีกรรมสิทธิ์ในเกาะกูดกันคนละครึ่ง ถ้าอย่างนี้ ไม่เรียกว่าเสียดินแดน จะเรียกว่าอะไร?
รายงานข่าว “กต.ยัน “เกาะกูด” เป็นของไทย ไม่จำเป็นต้องยกเลิก MOU 44” โดยสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS วันที่ 4 พ.ย. 2567 สุพรรณวษา โชติกญาณ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเท ชี้แจงว่า ไทยได้ประกาศเขตไหล่ทวีปในปี 2516 เนื่องจากเห็นว่าการประเทศของกัมพูชาในปี 2515 เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเส้นผ่านเข้าไปในเกาะกูด จึงประกาศเขตไหล่ทวีปของไทย เป็นพระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีป เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 ระบุว่า สิทธิอธิปไตยซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของประเทศใกล้เคียงอันจะถือเป็นจุดเริ่มของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้น จะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน ดังนั้นในการประกาศของกัมพูชาและไทย มีพื้นที่ทับซ้อนกัน 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างมีขนาดใหญ่ หรือกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับกรณีพื้นที่ทับซ้อนของไทยกับมาเลเซีย โดยเป็นเส้นที่ครอบคลุมทะเลอาณาเขต EEZ และไหล่ทวีป
อย่างไรก็ตาม ไทย-กัมพูชา เริ่มเจรจาเรื่องพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2513 แต่เกิดปัญหาว่ากัมพูชาต้องการคุยเพียงการพัฒนาร่วมในเรื่องของทรัพยากร ขณะที่ไทยเห็นว่าเขตทางทะเลมีความสำคัญ รวมถึงความมั่นคง และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยยืนยันว่าต้องคุยประเด็นเหล่านี้ด้วย ซึ่งไทยได้ประกาศเส้นด้านใต้ลงมาระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง แสดงออกว่าไทยไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กัมพูชาประกาศ
โดยตามหลักสากลแล้ว เมื่อเกิดพื้นที่ทับซ้อนต้องเจรจากันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ สำหรับ MOU 2544 แบ่งเป็นพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการเจรจาแบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการเจรจาพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน สิ่งที่ดำเนินการประชาชนทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับในข้อตกลง และผลการเจรจาต้องผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภา และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“ยืนยันว่า MOU 44 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด เพราะสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ระบุชัดเจน เกาะกูดเป็นของไทย เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ และยังใช้อำนาจอธิปไตยเกาะกูด 100%” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกล่าว
ทั้งนี้ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 มีชื่อเต็มว่า “หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 (ค.ศ.1907)” สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทพื้นที่ทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา จะอยู่ใน “ข้อ 1” ที่ระบุว่า “รัฐบาลสยามยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมียงเสียมราฐกับเมืองศรีโสภณให้แก่กรุงฝรั่งเศสตามกำหนดเขตแดน ดังว่าได้ในข้อ 1 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนซึ่งติดท้ายสัญญานี้” และใน “ข้อ 2” ที่ระบุว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราดกับทั้งเกาะหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม ตามกำหนดเขตแดนดังว่าไว้ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว” ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย
ยังมีรายงานข่าว “เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ” ของ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5 พ.ย. 2567 อ้างความเห็นของ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในขณะที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้เป็นผู้ลงนาม MOU ปี 2544 โดย สุรเกียรติ์ เคยเขียนบทความในจุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 เรื่อง “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ปัญหาและพัฒนาการ”
โดยข้อเขียนของ สุรเกียรติ์ ระบุว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร เริ่มมีการเจรจาครั้งแรกเมื่อปี 2513 ที่กรุงพนมเปญ แต่ไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม จนกระทั่งปี 2533 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประสบความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย จึงพยายามใช้โมเดลนี้กับกัมพูชา แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากกัมพูชายังมีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อ สุรเกียรติ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ผลักดันให้มีการเจรจาอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544(หรือก็คือ MOU44 เกิดขึ้นในช่วงนี้)
“หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ สุรเกียรติ์ เน้นย้ำคือเรื่องเกาะกูด ก่อนหน้านี้กัมพูชาเคยอ้างสิทธิเหนือเกาะกูดกึ่งหนึ่ง แต่ในการเจรจาครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ยืนยันว่าจะยกเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าว และยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย โดยแผนผังที่แนบท้ายบันทึกความเข้าใจได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย การที่กัมพูชายอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดอย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญ ในการเจรจา ฝ่ายไทยยังพยายามผลักดันให้เส้นเขตแดนทางทะเลเป็นเส้นตรงไม่ผ่านเกาะกูด เพื่อให้อธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น” รายงานข่าวของฐานเศรษฐกิจ ระบุ
อ่านตอนที่ 2/2 คลิก