วงเสวนา‘วันรณรงค์การพูดความจริง’ย้ำความสำคัญงดเว้นการสื่อสารเรื่องเท็จ แต่ต้องไม่ลืม‘กาลเทศะ’ด้วย

Editors’ Picks

7 ก.ค. 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย (CSCT)และมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ. หรือ IBHAP Foundation) จัดงาน “COFACT Live Talk # Special หัวข้อ Spread TRUTH, not lies” ณ ลานหน้าตึกกิจกรรม บ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานครและถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค”

ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) กล่าวเปิดงาน ระบุว่า มีผลการศึกษาที่พบว่า คนเราพูดโกหกเฉลี่ย 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นได้ทั้งการโกหกเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าการโกหกสีขาว (White Lie) คือโกหกเพื่อถนอมน้ำใจผู้ฟัง แต่วันพูดความจริงนั้นเปิดโอกาสให้เรานั้นได้มีความกล้าเผชิญกับความจริงและกล้าสื่อสาร แต่อีกจุดสำคัญก็คือจะทำอย่างไรไม่ให้การสื่อสารความจริงนั้นทำร้ายผู้อื่นด้วย 

ทั้งนี้ วันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันโกหก (April Fools Day) แต่วันพูดความจริงเป็นคุณค่าที่ตรงข้ามกัน ซึ่งวันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์การพูดความจริง (Tell the Truth Day) ที่แม้จะไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ก็ทำให้ผู้คนกลับมาอยู่กับความจริง ซื่อสัตย์กับตนเอง ผู้อื่นและโลก นอกจากนั้นยังมีวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-checking Day) 

โดยแผนระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. มีภารกิจสนับสนุนให้เกิดนิเวศสื่อสุขภาวะ ที่จะเอื้อให้ผู้คนได้พัฒนาศักยภาพให้เป็นพลเมืองที่เท่าทันสื่อ และพัฒนาสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ที่ช่วยกันรณรงค์สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ให้กับสังคม ควบคู่กับการสนับสนุนช่องทางสื่อในการเผยแพร่เนื้อหาที่ให้ประโยชน์กับผู้คนในเรื่องของสุขภาพและสังคม

“งานวิจัยบอกว่าการพูดความจริงมีประโยชน์ หนึ่งคืออย่างน้อยทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลหรือกลัวว่าสิ่งที่เราพูดไปจะมีใครมาจับผิดไหม? ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องไปหาข้อมูลอะไรมาสนับสนุน สิ่งที่เราพูดเรื่องความไม่จริงนั้น เรื่องแรก คือ สุขภาพจิต-สุขภาพกายเราดีขึ้น ถ้าทำต่อเนื่องให้เป็นนิสัยของการที่เราจะกับตัวเอง-กับคนรอบข้าง เรื่องที่สอง ทำให้เรามีโอกาสได้ทบทวนตนเอง ได้ใคร่ครวญกับตัวเอง ว่าตอนนั้นที่เราพูดไม่จริงไปเพราะอะไร? เปิดโอกาสให้อยู่กับตัวเอง ” ญาณี กล่าว

จากนั้นเป็นเวทีศาสนสัมพันธ์สนทนา ‘spread TRUTH not lies’ โดย บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย กล่าวว่า ในศาสนาคริสต์ เลข 7 คือเลขที่สมบูรณ์ เช่น ศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ บาปต้น 7 ประการ ในพระคัมภีร์ เมื่อมีเลข 7 จะหมายถึงความสมบูรณ์ ดังนั้นวันที่ 7 เดือน 7 จึงอุปมาได้ว่า การพูดความจริงทำให้ชีวิตของคนคนนั้นสมบูรณ์ มีภาพลักษณ์ดูภูมิฐาน ไว้ใจได้และเป็นคนดี

ในมุมของตนเชื่อว่าเมื่อเราอยู่ในบรรยากาศของการโกหกหลอกลวง สิ่งหนึ่งที่การโกหกหลอกลวงทำร้าย คือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” อันเป็นที่มนุษย์มีและไม่ควรถูกทำร้าย เพราะหากเราไม่สามารถเชื่อถืออะไรได้ แล้วเราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร อย่างเคยมีกรณีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ-AI) สร้างภาพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สวมเสื้อผ้าแบรนด์หรูราคาแพง แล้วมีคนจำนวนมากส่งต่อภาพนั้นเพราะเชื่อว่าเป็นภาพจริง เนื่องจากไม่เข้าใจว่าเอไอคืออะไร แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็ทำให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

“ในพระคัมภีร์มีคำหนึ่งที่บอกว่า ‘ความจริงจะทำให้ท่านเป็นไท’ ไทในที่นี้คือความเป็นอิสระ น่าสนใจเพราะในคำถามของการเสวนาก็มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ เช่น  คำโกหกสีขาว หรือพูดความจริงไม่ครบ ความจริงจะทำให้ท่านเป็นไท ก็เพราะว่าเมื่อเราพูดความจริงเราไม่ต้องระวังหลัง เพราะต่อจากนี้จะมาอย่างไรก็ไม่รู้ เราพูดสิ่งที่มันจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นคำสอนที่บอกว่าถ้าเราอยู่กับความจริงเราก็เป็นอิสระจากบาป จากความทุกข์กังวลใดๆ อะไรต่างๆ เรื่องโกหกสีขาว จริงๆ โกหกก็คือโกหก แต่ศาสนาคริสต์เขาจะดูที่เจตนา สมมติว่าขโมยมาปล้นบ้านเรา แล้วถามว่ากุญแจตู้เซฟอยู่ตรงไหน เราบอกความจริงว่าอยู่บนหลังตู้ อันนี้ก็คงไม่ใช่” บาทหลวงอนุชา กล่าว

ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ ซาเวียร์ ผู้อำนวยการศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรมระดับชาติ กล่าวว่า มีตัวอย่างกรณีการแชร์ภาพที่อ้างว่าเป็นการจุดไฟคบเพลิงสำหรับเตรียมไว้ใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยระบุว่าเป็นพิธีที่จัดขึ้นในศาสนสถานของชาวคริสต์ และมีนักบวชเป็นผู้จุด แต่เมื่อไปตรวจสอบในสื่อต่างๆ ก็ไม่พบว่ามีสำนักข่าวใดเลยที่รายงานข่าวการเตรียมไฟคบเพลิงสำหรับกีฬาโอลิมปิกในศาสนสถานที่ฝรั่งเศส   มีเพียงข่าวฝรั่งเศสจัดพิธีรับมอบคบเพลิงไฟโอลิมปิกทางเรือที่ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เห็นภาพนี้ถูกแชร์มาจากหลายๆ คน ในใจก็คิดว่า ในยุคนี้ผู้คนดูจะห่างไกลศาสนา ดังนั้นจึงรู้สึกดีที่มีการทำพิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิกที่ศาสนสถาน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่ใช่ข่าวจริง จึงรีบตอบคนที่ส่งภาพดังกล่าวกลับไปว่าคงไม่ใช่อย่างแน่นอน ขอให้ตรวจสอบดู ซึ่งภายหลังคนที่ส่งมาก็ได้ลบภาพนั้นออกไป ดังนั้นเมื่อได้รับข้อมูลอะไรมาจะต้องตรวจสอบว่าแหล่งที่มาของข้อมูลเป็นอย่างไร เพราะแม้จะเป็นข้อมูลที่ถูกเขียนขึ้นมาในลักษณะเนื้อหาที่ดูดี แต่หากไม่มีที่มา-ที่ไปที่ก็ไม่ควรส่งต่อ

“บางคนก็จะโกรธถ้ามีคนตั้งคำถาม เขาก็จะเหมือนกับว่า เราแชร์ข้อมูลดีๆ ไปอย่างนี้ไม่ดีหรือ? ดีกว่าไปแชร์ข้อมูลที่มันไม่ดีใช่ไหม? เราบอกว่าจะดีหรือไม่ดีแต่ถ้าไม่มีที่มาที่ไปใครเป็นผู้เขียน ไม่มีสำนักข่าวที่เขียน เราก็ไม่ควรจะแชร์ข้อมูลที่จริงหรือไม่จริงเราก็ไม่ทราบ ก็จะพยายามตั้งหลักตรงนี้มากๆ เลยว่าไม่ควรแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง แต่ก็ไม่กล้าบอกไปในกลุ่มไลน์ เพราะว่ากลัวเขาอาย เราก็ต้องมีเทคนิคไม่ให้เขาอาย ก็ต้องส่งไปที่ส่วนตัวให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่ง ” ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ กล่าว

ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งถือมนุษย์ว่าเป็นทั้งบ่าวและตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จึงมีหน้าที่เคารพสักการะต่อผู้พระผู้เป็นเจ้า แต่การเคารพสักการะไม่ได้หมายถึงเฉพาะการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในมัสยิด หรือการถือศีลอดเท่านั้น แต่รวมถึงการปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบทั้งต่อมนุษย์ สภาพแวดล้อมและทุกอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าสรรสร้าง 

และในคัมภัร์อัลกุรอ่าน จะมีอยู่บทหนึ่งที่พูดถึงความจริงหรือสัจธรรม ดังนั้นการเป็นคนโกหกโป้ปดมดเท็จ ในทรรศนะของอิสลามจึงถือเป็นบาปที่ร้ายแรง แม้กระทั่งการโกหกสีขาวซึ่งมักพบได้ในชีวิตประจำวัน อิสลามก็พยายามเตือนว่า การโกหกสีขาวจงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะการโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ที่บอกว่าคนเราโกหกเฉลี่ย 2 ครั้งต่อวัน เดือนหนึ่งก็ 60 ครั้ง แต่การที่เราโกหกเล็กๆ น้อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ท้ายที่สุดเราก็จะเห็นว่าการโกหกเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคนเราจะต้องพูดความจริงออกไปทุกอย่าง โดยอาจยกเว้นได้บ้าง เช่น กรณีหากพูดไปแล้วจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้คน อาทิ เหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นมีเรื่องทะเลาะวิวาททำร้ายคู่อริ สมมติฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวิ่งหนีตายแอบปีนเข้ามาหลบอยู่ในบ้านของตน แล้วอีกฝ่ายไล่ตามมาพร้อมอาวุธทั้งมีด-ปืน เข้ามาถามตนว่าเห็นคู่กรณีวิ่งผ่านมาแถวนี้บ้างหรือไม่ ซึ่งในศาสนาก็ระบุถึงสถานการณ์บางอย่าง เช่น สงคราม ที่อาจส่งผลให้บุคคลได้รับอันตรายถึงชีวิต ก็ถือเป็นข้อยกเว้นได้

หรือแม้แต่การนำเสนอข้อมูลที่แม้จะเป็นความจริง หากจะไปกระทบสิทธิมนุษยชนก็ต้องระมัดระวัง เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำป้ายไวนิลแสดงชื่อและภาพถ่ายบุคคลที่ถูกออกหมายจับในคดีความรุนแรง แม้จะเป็นหมายจับจริง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อลูกและภรรยาของผู้ต้องหา เช่น ถูกล้อเลียนด่าทอเป็นลูกโจร-เมียโจร หรือสื่อพาดหัวข่าวผู้ต้องหากับอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ ในลักษณะตีตราไปแล้วว่าบุคคลนั้นกระทำผิดจริง ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ซึ่งขัดกับหลักที่ว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าผิด (Presumption of Innocence)

“มีกรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งไปก่อคดีฆาตกรรมทำร้ายคน สมมติผมไปทำร้ายใครสักคนหนึ่ง ใช้ระเบิดซีโฟร์ ก็กลายเป็นสุชาติซีโฟร์ แต่พวกเราคงนึกออกว่าผู้หญิงคนนั้นถูกตีตราว่าเป็นอะไร เสร็จแล้วปรากฏว่าในที่สุดศาลตัดสินมาก็ตัดสินมา ก็ปรากฎว่าเธอไม่ได้ทำผิด แต่สื่อนี่กระจายไปหมดแล้ว” ผศ.สุชาติ กล่าว

พระมหานภันต์ สันติภัทโท ประธานกรรมการมูลนิธิ สกพ. และผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า ผลกระทบที่ใหญ่มากจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง เช่น การนำภาพหรือคำสอนของศาสนาต่างๆ มาบิดเบือน คือการสร้างความเกลียดชัง อย่างมีครั้งหนึ่งที่เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ ก็มีคนขับแท็กซี่ถามว่า เหตุใดพี่น้องคุณถึงฆ่าพี่น้องเรา โดยอ้างถึงกรณีพระสงฆ์ในประเทศเมียนมา มีการปลุกเร้าให้พุทธศาสนิกชนเข่นฆ่าชาวมุสลิม 

โดยในมุมมองของศาสนาพุทธ ความจริงหรือสัจจะถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างในศีลก็จะมีข้อที่ห้ามพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ ซึ่งคำว่า “พูดส่อเสียด” หมายถึงการพูดที่ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนหรือสังคม ส่วนคำถามที่ว่า “จะพูดความจริงอย่างไร?” ขอให้ยึดหลักว่า “นอกจากจริงแล้วยังต้องดูว่าพูดออกไปจะมีประโยชน์หรือไม่ด้วย” บางเรื่องแม้จะจริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่จำเป็นต้องพูด อีกทั้งต้องรู้จัก “กาลเทศะ” เช่น เมื่อเห็นการแชร์ข้อมูลที่ผิดในกลุ่มไลน์ การเตือนตรงๆ ในกลุ่มอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่พอใจได้ อาจใช้วิธีทักไปเตือนเป็นข้อความส่วนตัว เป็นต้น

“คนฟังชอบใจ-ไม่ชอบใจ ไม่เป็นประเด็นสำคัญ ฟังอย่างนี้บางท่านอาจจะรู้สึกว่า ‘ทำไมล่ะ?..ก็ต้องดูสิว่าพูดแล้วเขาควรจะชอบ’ คือความจริงที่เป็นประโยชน์บางครั้งมันไม่น่าฟังแต่เราจำเป็นต้องพูด เพราะถ้าไม่พูดเขาจะไม่มีโอกาสเห็น นึกสภาพเป็นกระจกมันก็ต้องสะท้อน ‘กัลยาณมิตร’ หรือเพื่อนที่ดีจะทำให้เราได้รู้ความจริงที่เป็นประโยชน์แม้จะไม่น่าฟัง ฉะนั้นคนฟังชอบใจ-ไม่ชอบใจไม่เป็นไร แต่นึกถึงหลักการคือต้องรู้กาลเทศะ” พระมหานภันต์กล่าว

ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า ในมุมมองของตน ผลกระทบจากข่าวลวง-ข่าวเท็จ คือการทำให้เราสูญเสียทรัพยากรที่เป็นปัจจัยจำกัดที่มีค่าที่สุดคือ เวลา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทุกคนได้มาเท่ากัน และเมื่อสูญเสียไปแล้วก็ไม่สามารถหามาทดแทนได้เหมือนทรัพยากรอื่นๆ เพราะข่าวลวงทำให้ต้องมาเสียเวลากับการตรวจสอบซ้ำ ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่ แทนที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้เลย และยังทำให้คนเราขาดเวลาสำหรับการทำความเข้าใจในชีวิต ในความเชื่อหรือศาสนา หรือขาดเวลาทำสิ่งที่ควรทำในสิ่งที่เกิดความงอกงาม

อนึ่ง ในศาสนาพุทธ เมื่อพูดถึงความจริงมักอ้างถึง “หลักกาลามสูตร 10 ประการ” ที่พระพุทธเจ้าสอนชาวกาลามะ ว่าอย่าเชื่อโดยง่ายเพียงเพราะเหตุต่างๆ เช่น เป็นเรื่องที่บอกเล่าต่อๆ กันมา เป็นเรื่องที่คิดเอาเอง หรือเป็นเพราะครูบาอาจารย์บอก แต่เรื่องนี้ก็มีบริบท (Context) อยู่ ไม่ใช่ข่าวที่บอกกันโดยทั่วไป คือหมายถึงการเดินทางทางจิตวิญญาณ ให้เราเชื่อผ่านการปฏิบัติของตนเอง มีตัวเราเป็นคนพิสูจน์ แต่เมื่อมาอยู่ในบริบทของโลกปัจจุบัน ก็น่าสนใจว่าแล้วเวอร์ชั่นที่ร่วมสมัยจะเป็นอย่างไร?

“ตอนเด็กๆ ผมมักจะคิดเอาเองด้วยความเป็นเด็กว่าการพูดความจริงบางส่วน คือการพูดความจริง เมื่อผู้ใหญ่ถามว่า ทำการบ้านเสร็จแล้วหรือยัง? ผมก็บอกว่าทำการบ้านแล้ว แต่เสร็จหรือยัง เว้นเอาไว้ให้เป็นการตีความเอง โตมาขึ้นมาถึงเข้าใจว่ามันไม่ใช่ว่าต้องพูดหมดหรือไม่หมดแต่นั้น แต่มันคือความตั้งใจของเราว่าเป้าหมายของเรามันคืออะไร? เป้าของเรามันเพื่อให้เขาเข้าใจผิดหรือเปล่า? ผมคิดว่าอันนี้มันเป็นประเด็นสำคัญเลย มันมีทั้งเรื่องของบริบท มีเรื่องของความจริงใจ มีเรื่องของความตั้งใจของเราที่จะบิดเบือนสิ่งนี้หรือเปล่า?” ดร.สรยุทธ กล่าว

ด้านผู้ดำเนินการสนทนา สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวถึงวันพูดความจริง ซึ่งตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคม ของทุกปี ว่า หากย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เรากำลังเข้าสู่ยูโทเปีย ทุกคนตื่นเต้นกับอินเตอร์เน็ตในฐานะพื้นที่ใหม่แห่งเสรีภาพ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะทุกคนก็ได้สัมผัสถึงด้านมืดของอินเตอร์เน็ต นำไปสู่การรณรงค์สร้างความระมัดระวังและรู้เท่าทันข่าวลวง (Fake News) ซึ่งในช่วงนี้เองก็มีใครสักคนหนึ่งกำหนดวันพูดความจริงขึ้นมา และสามารถสร้างเป็นกระแสในวงกว้างได้

โคแฟคเราเห็นว่ามีความน่าสนใจดี เราก็เลยจัดกิจกรรมปีนี้เป็นปีแรก เป็นหนึ่งวันที่เราจะได้มีโอกาสรณรงค์กันเรื่องนี้ เพราะว่าหลักๆ ทุกคนน่าจะประสบความทุกข์กับข้อมูลลวง สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-