สังเกตการณ์ สว.67 สิ่งที่ กกต. บอก กับ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสร็จสิ้นลงไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 พร้อมกับรายชื่อว่าที่ สว. 200 คน ประเด็นหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มักกล่าวถึงเกี่ยวกับการเลือก สว. ครั้งนี้คือ “มีการเปิดให้ผู้แทนจากหลายภาคส่วนเข้ามาสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อความโปร่งใส”

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสถานที่เลือกส่วนใหญ่ ทั้งการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ผู้สังเกตการณ์และประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่สื่อมวลชน ไม่สามารถเข้าไปติดตามการเลือกได้อย่างใกล้ชิดในทุกกระบวนการตามที่ กกต. กล่าวอ้าง

โคแฟคเห็นว่าควรตรวจสอบและบันทึกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการสังเกตการณ์การเลือก สว. ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือนำเรื่องการสังเกตการณ์ของภาคประชาชนไปสร้างความชอบธรรมด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือก สว.  

กกต. พูดเรื่อง “สังเกตการณ์” ว่าอย่างไร

วันที่ 30 พ.ค. 2567 นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการ กกต. ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดว่าควรจัดบริเวณให้ผู้สังเกตการณ์ “สามารถสังเกตการณ์การเลือกได้อย่างใกล้ชิด”

วันที่ 3 มิ.ย. 2567 กกต. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เรื่องการกำหนดสถานที่เลือก สว. ระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ควรเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถมองเห็นและสังเกตการณ์ในกระบวนการเลือกได้” และประชาชนสามารถ “ร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการเลือกระดับอำเภอ วันที่ 9 มิ.ย. 2567 และการเลือกระดับจังหวัด วันที่ 16 มิ.ย. 2567 ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกกำหนด”

วันที่ 6 มิ.ย. 2567 เพจเฟซบุ๊กของสำนักงาน กกต. เผยแพร่อินโฟกราฟิก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสังเกตการณ์การเลือก สว. มีข้อความว่า “ในการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา กกต. จะจัดให้มีการเลือกที่โปร่งใสในทุกขั้นตอน ประชาชนหรือสื่อมวลชนจะมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ได้ ดังนี้ (1) สังเกตการณ์การเลือก สว. ระดับต่าง ๆ บริเวณจุดที่ผู้อำนวยการการเลือกกำหนดไว้ด้านหน้าของสถานที่เลือก (2) สังเกตการณ์การลงคะแนนผ่านโทรทัศน์วงจรปิดที่เชื่อมสัญญาณจากระบบการบันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือก ณ บริเวณที่ผู้อำนวยการการเลือกได้จัดเตรียมไว้”

วันที่ 7 มิ.ย. 2567 หรือสองวันก่อนการเลือกระดับอำเภอ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงเรื่องการสังเกตการณ์ของภาคประชาชนในการเลือก สว. ว่า “สามารถสังเกตการณ์ได้” โดย กกต. ได้แจ้งไปยังสถานที่เลือกทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ให้เตรียมสถานที่สำหรับประชาชนและสื่อมวลชนสังเกตการณ์

“สมมติว่าสถานที่เลือกอยู่ให้หอประชุม ก็จะจัดที่ไว้ให้ในนั้น สามารถดูการทำงานของเจ้าหน้าที่และผู้สมัครในนั้นได้ และ กกต. ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังหน่วยงานและองค์กรอย่าง iLaw และ We Watch ที่ขอส่งคนเข้ามาสังเกตการณ์ เราก็ให้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร รวมทั้งประชาชนจะเข้าไปสังเกตการณ์ก็ได้”

เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวด้วยว่า ในการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 กกต. ได้เตรียมสถานที่ให้ “เอกชน ทูตานุทูต องค์กรภาคประสังคม และประชาชน เข้าสังเกตการณ์ได้หลายร้อยคน”

ในการเลือก สว. ระดับประเทศ ซึ่งจัดที่ฮอลล์ 4 ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของ กกต. ซึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกรในการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ กล่าวย้ำหลายครั้งว่าการเลือก สว. ครั้งนี้มีความโปร่งใสเพราะเปิดให้ประชาชนและผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ร่วมสังเกตการณ์  

“ถึงแม้ว่าพี่น้องประชาชนจะไม่ได้มีสิทธิเลือก สว. โดยตรง แต่เราก็ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์กระบวนการต่าง ๆ ของการเลือก ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดมาจนถึงการเลือกระดับประเทศในวันนี้”

“เราถ่ายทอดให้เห็นบรรยากาศการเลือก สว. ของ 20 กลุ่มอาชีพ การเลือกแต่ละขั้นตอนเป็นแบบไหน อย่างไร เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการจัดเลือก สว. ในวันนี้”

ประชาชนติดตามการเลือก สว. ระดับประเทศ ผ่านจอภาพที่เชื่อมสัญญาณจากกล้องวงจรปิดในสถานที่เลือก ณ ฮอลล์ 4 อิมแพค ฟอรั่ม เมื่อ 26 มิ.ย. 2567

“กกต. รู้สึกอบอุ่นเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องประชาชน ทั้งที่อยู่ในบริเวณนี้และอยู่ที่บ้านให้ความสนใจอย่างดียิ่ง นั่นคือกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”

กกต. ให้ข้อมูลว่า ผู้สังเกตการณ์ ณ อิมแพค ฟอรั่ม ประกอบด้วยผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐสภา, เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch), โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), องค์กรการเลือกตั้งจากต่างประเทศ, เจ้าหน้าที่สถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศ, สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศราว 400 คน, ผู้ติดตามผู้สมัคร สว. และประชาชนทั่วไป

ความจริงจากผู้สังเกตการณ์

We Watch และ iLaw ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาชนติดตามการเลือก สว. 67 หรือ เครือข่าย Senate 67 เป็นหัวหอกในการ “ต่อสู้” เพื่อให้ได้เข้าไปสังเกตการณ์มาตั้งแต่ก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือก สว. แต่กว่าจะได้ความชัดเจนจาก กกต. ว่าให้ส่งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ให้ กกต. อนุมัติก็เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกระดับอำเภอ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงวันเลือกจริง ผู้สังเกตการณ์ในสถานที่เลือกหลายแห่งรายงานว่าไม่สามารถ “สังเกตการณ์” ได้อย่างที่ควรจะเป็น

โคแฟคเดินทางไปสังเกตการณ์การเลือก สว. ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ พบปัญหาเช่นเดียวกัน เช่น ปัญหาเรื่องสถานที่ที่เป็นการเลือกกันเองในที่ปิดลับ ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่และผู้สมัครเข้าไป ผู้สังเกตการณ์มองเห็นเหตุการณ์ได้ไกล ๆ หรือทำได้เพียงมุงกันอยู่หน้าประตูทางเข้าสถานที่เลือก ส่วนระบบการถ่ายทอดภาพจากกล้องวงจรปิดนั้นก็แทบจะไม่ช่วยให้ทราบสถานการณ์ความเคลื่อนไหว เพราะไม่มีการถ่ายทอดเสียง กล้องจับภาพมุมสูงระยะไกลหรือตัดภาพไปมาระหว่างกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ทั้ง 20 กลุ่ม ทำให้การติดตามไม่ต่อเนื่องและไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ในการเลือกระดับอำเภอและระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่และสถานที่เลือกบางแห่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้สังเกตการณ์ได้ดีกว่าที่อื่น เช่น การเลือกระดับจังหวัดของนนทบุรี ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารยิมเนเซียม สนามกีฬาจังหวัดนนทบุรี เปิดให้ประชาชนสังเกตการณ์ได้อย่างชัดเจนบริเวณด้านนอกแนวเขตกั้น กกต. แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้สังเกตการณ์การเลือก สว. ไม่ได้สังเกตการณ์ “อย่างใกล้ชิด” หรือ “เห็นทุกกระบวนการ” อย่างที่ กกต. บอก

ในการเลือกระดับจังหวัดของนนทบุรี ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตการณ์ได้ค่อนข้างใกล้ชิด

อุปสรรคของผู้สังเกตการณ์การเลือก สว. เห็นชัดขึ้นในการเลือกระดับประเทศ ทั้งที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะต้องดีกว่าการเลือกระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพราะ กกต. เป็นผู้จัดการเลือกและเลขาธิการ กกต. เป็นผู้อำนวยการการเลือกเอง

กฤต แสงสุรินทร์ จาก We Watch และบุศรินทร์ แปแนะ จาก iLaw สรุปถึงความไม่ตรงกันของสิ่งที่ กกต. บอก กับ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการสังเกตการณ์การเลือกระดับประเทศ 4 ประเด็น ดังนี้

1) กกต. บอกว่าให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปในสถานที่เลือกได้ 20 คน แต่วันจริงเข้าได้ 15 คน

กกต. แจ้งว่าจะให้ผู้สังเกตการณ์จากเครือข่าย Senate 67 เข้าไปในสถานที่เลือก ซึ่งอยู่ภายในห้องประชุมฮอลล์ 4 จำนวน 20 คน แม้เครือข่ายฯ จะเห็นว่าจำนวนน้อยเกินไปมากเพราะกลุ่มอาชีพถึง 20 กลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องใช้ทีมงานหลายคน แต่ก็ได้ส่งรายชื่อให้ กกต. ล่วงหน้ารวมกันแล้วประมาณ 45 คน แต่เมื่อถึงวันจริง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้เข้าได้เพียง 15 คน โดยให้แบ่งโควต้ากันระหว่าง 5 องค์กร ทำให้แต่ละองค์กรส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้แค่ 3-4 คน เท่านั้น ไม่สามารถทำตามแผนสังเกตการณ์ที่วางไว้ได้

กกต. ให้เหตุผลว่า “สถานที่มีจำกัด” แต่บุศรินทร์แย้งว่าฮอลล์ 4 นั้นมีพื้นที่กว้างขวาง และ กกต. ก็จัดบริเวณให้ผู้แทนจากต่างประเทศเข้าไปสังเกตการณ์บริเวณที่เลือกได้อย่างใกล้ชิด

“นี่เป็นสิ่งที่ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า ถ้า กกต. คิดที่จะเปิดให้ประชาชน สื่อมวลชน หรือภาคประชาสังคมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดในสถานที่เลือก ก็สามารถทำได้ แต่มันไม่เกิดขึ้น” บุศรินทร์กล่าวในเวทีเสวนา “สว.67 ทางข้างหน้า ? จากสิ่งที่เห็น” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567

2) จุดสังเกตการณ์ “เข้าได้ก็เหมือนไม่ได้”

ผู้สังเกตการณ์จากเครือข่าย Senate 67 จำนวน 15 คน ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ภายในสถานที่เลือก ถูกจัดให้อยู่บริเวณชั้นลอย ซึ่งค่อนข้างไกลจากบริเวณที่ทำการเลือก ไม่สามารถมองเห็นกระบวนการได้ชัดเจน ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเห็นความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ต้องใช้กล้องส่องทางไกลดู หรือพยายามเดินเข้าไปดูการเลือกของกลุ่มอาชีพที่อยู่ริมแนวเขต กกต. ซึ่งบางทีก็โดนเจ้าหน้าที่กันออกมา

“เรามองไม่เห็นว่าข้างล่างเกิดอะไรขึ้น เวลามีการประท้วง เราก็อยากเก็บข้อมูลให้ชัดเจน ซึ่งข้อมูลของเราก็จะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ได้ด้วย แต่อยู่ข้างบนเราไม่สามารถเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพได้เลย” บุศรินทร์กล่าว

3) ภาพจากกล้องวงจรปิด “ไม่เห็นภาพรวม”

กกต. บอกว่าผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ด้านนอกสถานที่เลือก สามารถติดตามได้จากจอภาพที่เชื่อมสัญญาณจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพตลอดกระบวนการเลือก แต่ในความเป็นจริง ภาพที่เห็นเป็นการตัดสลับไปมาระหว่างกลุ่มต่าง ๆ บางกลุ่มอยู่ในขั้นตอนการลงคะแนน บางกลุ่มเริ่มนับคะแนน บางกลุ่มนับคะแนนใกล้เสร็จ ทำให้ไม่เห็นกระบวนการเลือกที่ต่อเนื่องของแต่ละกลุ่ม จึงไม่เห็นภาพรวม และไม่เห็นเหตุการณ์ในจุดอื่น ๆ ที่กล้องไม่ได้จับภาพ   

“แม้จะมีการซูมบัตรเลือกตั้งตอนนับคะแนนบ้าง แต่เราไม่เห็นภาพรวมในกระบวนการเลือกทั้งหมด ไม่เห็นผู้สมัครยืนจดโพยว่าจะเลือกกลุ่มไหน ไม่เห็นเหตุการณ์ในจุดที่ไม่มีกล้อง” บุศรินทร์กล่าว

สื่อมวลชนติดตามการเลือก สว. ระดับประเทศจากจอมอนิเตอร์ที่เชื่อมสัญญาณจากกล้องที่อยู่ภายในสถานที่เลือก ซึ่งตัดสลับไปมาระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทำให้การติดตามไม่ต่อเนื่องและไม่เห็นภาพรวมของทุกจุด

ปัญหาการถ่ายทอดภาพจากสถานที่เลือกนี้ สื่อมวลชนได้ทักท้วงกับนายแสวง เลขาธิการ กกต. ในฐานะผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศโดยตรง และขอให้มีการแก้ไขเพื่อให้ผู้สื่อข่าวเห็นภาพรวมของการเลือกทุกกลุ่ม แต่นายแสวงชี้แจงว่าเป้าหมายของการติดกล้องวงจรปิดในสถานที่เลือกคือ เพื่อเก็บหลักฐานที่อาจจำเป็นต้องใช้หากมีการทักท้วง ซึ่งที่ผ่านมาศาลก็เรียกหาหลักฐานจากภาพกล้องวงจรปิด ส่วนที่ กกต. เชื่อมสัญญาณออกมาข้างนอกให้สื่อและประชาชนได้ดูนั้น “เป็นการให้เห็นถึงภาพบรรยากาศภายใน ถ้าจะให้เห็นภาพจาก 20 กลุ่ม มันก็มีปัญหาทางเทคนิค”

4) สื่อมวลชนแค่ “เก็บภาพ” ไม่ใช่ “สังเกตการณ์” 

กกต. บอกว่าการเลือก สว. ครั้งนี้มีความโปร่งใสเพราะสื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้ ในความเป็นจริง สื่อมวลชนที่เข้าไปในสถานที่เลือกได้ มีเพียงช่างภาพราว 40 คน ที่ลงทะเบียนแบบพิเศษไว้กับ กกต. โดยเจ้าหน้าที่ กกต. จะพาช่างภาพกลุ่มนี้เข้าไปเก็บภาพในสถานที่เลือกเป็นรอบ ๆ ระหว่างลงคะแนนหรือนับคะแนน รอบละประมาณ 10 นาที   

“การให้สื่อมวลชนเข้าไปแต่ละรอบ…เข้าไปแป๊บเดียวมันบอกอะไรไม่ได้ เรียกว่าให้เข้าไปเก็บฟุตเทจเพื่อมาทำข่าวมากกว่า ไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสอะไรได้เลย” กฤตให้ความเห็น

“กกต. ชอบชี้แจงว่าได้สร้างความโปร่งใสโดยการเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้แล้ว แต่ต้องย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่อย่างนั้น ประชาชนไม่ได้เข้า สื่อมวลชนก็ไม่ได้เข้า ภาคประชาชนได้เข้าไปแค่ 15 คน และได้เข้าไปในจุดที่มองอะไรไม่เห็นด้วย”

ด้านบุศรินทร์จาก iLaw กล่าวทิ้งท้ายถึงภารกิจสังเกตการณ์การเลือก สว. ในครั้งนี้ว่า “การเลือกเกิดขึ้นในพื้นที่ปิดลับ นักข่าวอยู่ข้างนอก ข้างในมีแต่เจ้าหน้าที่ กกต. กับผู้สมัคร ไม่มีฝ่ายที่สามอยู่เลย…[กกต.] บอกว่าสังเกตการณ์ได้ แต่สังเกตการณ์การได้นิดนึง มันไม่ใช่…การสังเกตการณ์ที่ไม่ต่อเนื่องหรือไม่ได้เข้าในสถานที่เลือกเลย มันไม่ได้เห็นอะไรเลย เหมือนเอาเราไปสร้างความชอบธรรมมากกว่า”

กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง