วาทกรรม “รับเงินต่างชาติ” กลับมาอีกครั้งในการเลือก สว. 67

วาทกรรม “รับเงินต่างชาติ” ถูกไอโอฝ่ายอนุรักษนิยมนำมาใช้อีกครั้งในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายประชาธิปไตยที่พยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการเลือก สว. แบบ “เลือกกันเอง” ที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อสกัดกั้นการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายที่ครองอำนาจซึ่งต้องการให้การเลือก สว. เป็นเพียงกลไกเปลี่ยนผ่านเพื่อรักษาอำนาจเดิมไว้

การรับเงินต่างชาติ (แทรกแซงกิจการเมืองในประเทศ) เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดที่หน่วยงานข่าวกรองหรือฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยและกองทัพมักฉวยใช้ต่างกรรมต่างวาระ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่แสวงหารายได้หรือเอ็นจีโอ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนรวมถึงสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนโยบายสาธารณะที่ผิดพลาด การทำลายความน่าเชื่อถือนี้มักใช้ประเด็นเรื่องการสนับสนุนทางการเงิน ร่วมกับข้อกล่าวอ้างที่เกินจริงโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน เป็นการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจไปว่า การรับเงินต่างชาติของเอ็นจีโอมีเจตนาแอบแฝงหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ให้ทุนเพื่อมาแทรกแซงอธิปไตยของประเทศ และเกิดความกลัวและหวาดระแวงต่างชาติ (xenophobia) ซึ่งเป็นความรู้สึกลึก ๆ ของคนไทยอยู่เป็นทุนเดิม

‘ไอโออนุรักษ์’ vs ‘IO International’

โคแฟคมอนิเตอร์การสื่อสารทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงการเลือก สว.  พบความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันของบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 4 บัญชี และบัญชีผู้ใช้งาน X (ทวิตเตอร์) 1 บัญชี โดยแต่ละบัญชีมีผู้ติดตามแตะระดับ 50,000 ขึ้นไป (macro influencers) และบางบัญชี เคยถูกร้องเรียนว่าละเมิดมาตรฐานชุมชนของแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการสร้างข้อมูลเท็จ การละเมิดความเป็นส่วนตัวและใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (hate speech) หลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการมืองล่อแหลม มีทั้งถูกแจ้งเตือน ถูกลบโพสต์หรือปิดกั้นการมองเห็นชั่วคราวหลายครั้ง

เนื้อหาและเป้าหมายหลักของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์ครั้งนี้ มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ เพื่อปลดล็อคกลไกการใช้อำนาจที่รัฐบาลอนุรักษนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ได้วางไว้ นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอำนาจที่เกินขอบเขตของ สว.แต่งตั้ง 250 คน โดยในกระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ แบบเลือกกันเอง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความซับซ้อน ไม่โปร่งใส และถูกออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจเดิมและเปิดโอกาสให้เกิดการฮั้วกันเองของผู้สมัคร สว. และพรรคการเมือง ทั้งนี้ก่อนหน้าการเลือก สว. ทางไอลอว์ พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้าที่นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรือกิจ ได้ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนไปสมัคร สว. กันเป็นจำนวนมากเพื่อไปเลือกและถูกเลือกมากที่สุด รวมทั้งมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกระบวนการการคัดเลือกและตัวผู้สมัครได้มากที่สุด

ประชาชนสังเกตการณ์การนับคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 (ภาพ: กุลธิดา สามะพุทธิ/โคแฟค)

บัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กของสื่อการเมืองชื่อ ‘วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร-สำรอง’ ซึ่งเป็นบัญชีเสริมหลังจากเพจหลักที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีผู้ติดตามร่วมแสนคนภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ได้ถูกปิดไป เป็นฝ่ายเปิดเกมรุก ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เกี่ยวกับความผิดปกติของเว็บไซต์ senate67 ของไอลอว์ ว่ามีรายชื่อผู้สมัคร สว. ที่ลงทะเบียนเพื่อแนะนำตัวในเว็บไซต์ไม่ตรงกับชื่อของผู้สมัครที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้การรับรอง โดยตั้งข้อสังเกตว่ารายชื่อผู้สมัครที่ลงทะเบียนกับไอลอว์เป็น “ผู้สมัครไอโอ” หรือไม่ และตั้งคำถามถึงเจตนาของไอลอว์ว่าทำยอด สว. ขึ้นมาเองเพื่อรายงานผลให้แหล่งเงินทุนทราบ โพสต์ดังกล่าวเขียนข้อความว่า “คำถาม ธนาธร และ ILaw รู้ว่าข้อมูลผิดพลาดมากแต่ยังชักชวนคนมาลง เพื่ออะไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ต้องการสร้างกระแสว่า สว. สีส้ม โดย Make ข้อมูลผู้สมัครขึ้นมาเอง หรือ ต้องทำยอดเพื่อรายงานไปที่นายทุนต่างชาติ”

ในวันเดียวกัน โพสต์ดังกล่าวได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดยบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ ‘Street Hero V3’ ซึ่งเป็นเพจอินฟลูเอนเซอร์สายการเมืองและความมั่นคงฝ่ายอนุรักษ์ที่มีผู้ติดตามกว่า 80,000 คน พร้อมกับพาดหัวว่า IO International ซึ่งมีนัยว่าไอลอว์เป็นองค์กรที่ปั่นข้อมูลของต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ บัญชีผู้ใช้งาน ‘วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร’ บนแพลตฟอร์ม X ได้โพสต์ข้อความต่อเนื่องระหว่างวันที่ 29-30 พ.ค. 2567 เชื่อมโยงไอลอว์กับการรับทุนจากต่างประเทศมาเคลื่อนไหวเรื่องร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมแคปเจอร์หน้าจอเว็บเพจของไอลอว์ซึ่งระบุแหล่งที่มาของเงินทุนต่างประเทศที่สนับสนุนโครงการและกิจกรรมด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชนชนบางส่วน โดยตั้งคำถามว่า ไอลอว์มีเป้าหมายอย่างไรที่รับเงินต่างขาติมาเคลื่อนไหว และถามหาใบเสร็จรับเงิน  โดยในโพสต์ของวันที่ 29 พ.ค. 2567 มีข้อความตอนหนึ่งพาดพิงถึง “บุ้ง ทะลุวัง” หรือ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมการเมืองซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ภายหลังการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง-ความมั่นคงและผู้กระทำความผิดตามมาตรา112 หรือการหมิ่นพระมหากษัตริย์ 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ จัดกิจกรรมก่อนวันรับสมัครผู้รับเลือกเป็น สว. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า “ #ทุกคนคะ  I Law ที่มีพี่เป๋าเป็น ผอ. ได้ทุนจาก องค์กรต่างชาติอย่างน้อย 4 แหล่งทุน แต่ไม่ได้แจ้งว่าได้ปีละกี่บาท และในปี 65 ได้รับเงินเพิ่มจาก FORUM-ASIA ปีเดียวกับที่บุ้งได้รับเงินตามใบเสร็จ I Law ต้องเคลื่อนไหวตามที่เจ้าของเงิน เป้าหมายของพวกคุณคืออะไร จะโชว์ใบเสร็จกี่โมงคะ”

โพสต์ดังกล่าวมีทั้งผู้สนับสนุนและเห็นต่างได้เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือดใต้โพสต์อยู่อย่างต่อเนื่องในช่วงนั้น  โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าชมกว่า 180,000 ครั้ง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ที่ถูกอ้างถึงในชื่อ ‘พี่เป๋า’ ได้โพสต์ข้อความตอบโต้ใต้โพสต์ดังกล่าวในวันที่ 30 พ.ค. 2567 ว่า เพจก้าวไกลโกหกอะไรเอาข้อมูลที่ไม่อัพเดทมาลง ซึ่งข้อมูลในปัจจุบัน มีผู้ให้ทุน 6 ราย และอธิบายต่อว่า จุดมุ่งหมายของเขาคือรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและสิทธิการประกันตัวของผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่เขาไม่เคยปฏิเสธเรื่องการรับทุนต่างชาติแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา ไอลอว์มีท่าทีที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่าการรับทุนต่างชาติของเอ็นจีโอไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงความโปร่งใสในการรับทุนต่างชาติและวัตถุประสงค์ของการทำงานที่ประกาศไว้ในหน้าเว็บไซต์ขององค์กร และมีการจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะ เชิญผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมมาอธิบายการทำงานและเงื่อนไขการรับทุนจากต่างชาติเพื่อทำความเข้าใจกับสังคม 

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค. 2566 ไอลอว์ตกเป็นเป้าหมายหนึ่งของการโจมตีจากไอโอฝ่ายอนุรักษ์ว่ารับเงินต่างชาติมาแทรกแซงการเลือกตั้ง และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. ที่ไปร่วมมือกับไอลอว์ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่า เป็นการดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ในครั้งนั้น ยิ่งชีพได้เปิดเผยกับโคแฟค ถึงขั้นตอนในการพิจารณาให้ทุนของ National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งเป็นมูลนิธิของภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาที่ส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วโลก และยืนยันว่าไม่มีการครอบงำการทำกิจกรรมของไอลอว์จากแหล่งทุนแต่อย่างใด

รับเงินต่างชาติ สู่ การแทรกแซงอำนาจอธิปไตย

การให้ทุนสนับสนุนทางการเงินของต่างชาติภาคไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย และเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยในแต่ละยุคส่งเสริมมาโดยตลอด เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

นับตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมา ประเทศไทยกลายเป็นแนวปะทะที่สำคัญทางอุดมการณ์ของค่ายประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐฯ และค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน ทำให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาอย่างมากจากฝั่งตะวันตกเพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับภาครัฐและกองทัพในการต่อต้านภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมในไทยที่รับเงินต่างชาติ เช่นไอลอว์ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเข้มแข็งมากขึ้น มีรูปแบบการทำงานที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและความต้องการชองประชาชน จึงทำให้เกิดแนวร่วมภาคประชาชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ปัญหาการทุจริตและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จนกลายเป็นการท้าทายอำนาจรัฐไทย และถูกตราหน้าว่าเป็น ‘ภัยคุกคามความมั่นคง’ ของรัฐบาลไทย

(อ่านเพิ่มเติมเรื่องเอ็นจีโอรับเงินต่างจากชาติ ที่นี่)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวที่มีพลวัตสูงของไอลอว์ ที่คู่ขนานไปกับแนวร่วมภาคประชาชนในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ของเยาวชน ปี 2563 และการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลในสภาผู้แทนราษฎร ในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อปลดล็อคกลไกการใช้อำนาจจากการรัฐประหารปี 2557 การปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ และการปฏิรูปกองทัพ รวมทั้งการออกมาเปิดโปงเครือข่ายไอโอของรัฐและกองทัพในช่วงปลายปี 2563 ถึงปลายปี 2564 ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดถูกมองว่าเป็นการสั่นคลอนอำนาจและความมั่นคงของรัฐและกองทัพ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

ไอลอว์จัดกิจกรรมด้านหน้าสถานที่เลือก สว. ระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567

ในทัศนะของฝ่ายความมั่นคงไทย การเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐฯ ผ่านพรรคการเมืองและภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้จะมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับทำให้เกิดความไม่มั่นคงและความตึงเครียดในสังคมหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแทรกแซงกฎหมายของแต่ละประเทศ ไม่เพียงแต่สร้างความไม่พอใจและความขัดแย้ง แต่ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและการปกครองภายในประเทศนั้น ๆ อีกด้วย

7โดยบัญชีผู้งานเฟซบุ๊กชื่อ ‘ปราชญ์สามสี’ ซึ่งมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไอโอระดับมันสมองของฝ่ายกองทัพ ได้กล่าวถึงข้อความข้างต้นในโพสต์เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 และมีใจความตอนหนึ่งว่า “การแซกแทรงทางการเมืองของสหรัฐผ่านพรรคก้าวไกลและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่รับทุนสนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบ hybrid warfare หรือสงครามลูกผสม ซึ่งผสมผสานการใช้กำลังทหาร และการโจมตีทางไซเบอร์ และการรณรงค์ข้อมูลเพื่อบั่นทอนความเชื่อมั่นในรัฐบาลและทำลายอัตลักษณ์ของประเทศ และเป็นลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในฮ่องกง”

‘แทรกแซงอธิปไตย’ สู่การออกฎหมาย ‘ป้องกันการแทรกแซงต่างชาติ’

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของไอโอฝ่ายอนุรักษ์เพื่อโจมตีไอลอว์ในช่วงการเลือก สว. ครั้งนี้ อาจไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผลการเลือก สว. มากเท่ากับข้อกล่าวหาเรื่อง การฮั้วกันเองของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่พยายามผลักดันให้ผู้สนับสนุนพรรคตนเข้าไปนั่งในวุฒิสภาให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากพบหลักฐานชัดเจน อาจส่งผลให้ สว. ที่ได้รับเลือกบางส่วนต้องหลุดจากเก้าอี้หรือการประกาศผลการเลือกอย่างเป็นทางการตามที่ กกต. กำหนดไว้ในวันที่ 3 ก.ค. 2567 ต้องล่าช้าออกไป และอาจทำให้ ‘สว.แต่งตั้ง’ 250 คน รักษาการอยู่ต่อไปจนกว่าจะมี สว. เลือกกันเองครบจำนวน 200 คน

หากมองในระยะกลางและระยะยาว กระบวนการปั่นข้อมูลเหล่านี้เป็นการกัดเซาะและบั่นทอนความน่าเชื่อถือของเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่ข้ออ้างในการออกกฎหมายควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคมที่ทำงานสะท้อนปัญหาสังคมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยรวมหรือไม่

ทั้งนี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีความพยายามยกร่างกฎหมายควบคุมการทำงานของเอ็นจีโอและสื่อมวลชน โดยเมื่อต้นปี 2564 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างกฎหมายของรัฐบาล 2 ฉบับ คือ “กฎหมายควบคุมข้อมูลข่าวสาร” และ “กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ” (องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาสังคมและฝ่ายวิชาการว่า เป็นกลไกที่จะมาจำกัดการทำงานโดยอิสระของเอ็นจีโอและสื่อมวลชน โดยที่รัฐมองประชาชนและเอ็นจีโอเป็น “ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” จึงต้องปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และออกกฎหมายบังคับให้เอ็นจีโอมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงที่กำกับดูแลด้านความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ได้ผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น จนกระทั่งสภาฯ ชุดสุดท้ายในรัฐบาลประยุทธ์ หมดวาระลงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมือเดือนพฤษภาคม 2566

แต่ที่น่าจับตาดูไปกว่านั้น คือการเคลื่อนไหวของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรครัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันการแทรกข้ามชาติ โดยนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ลอรี่ รองโฆษก รสทช. ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “ลอรี่- พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ” วันที่ 9 มิ.ย. 2567 ว่า “กำลังยกร่าง พรบ.ป้องแทรกแซงข้ามชาติ หรือ Foreign Interference Prevention Act (FIPA) ฉบับที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยที่สุด โดยเน้นการเปิดเผยข้อมูลองค์กร, สื่อ หรือบุคคลที่รับเงินต่างชาติ ไม่เน้นคุกคาม แต่ควบคุมการดำเนินการของ ให้เป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล”

พงศ์พลได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีต้นแบบมาจากกฎหมาย Foreign Agent Registration Act (FARA) กฎหมายป้องกันการแทรกแซงข้ามชาติ ปี 1938 ของสหรัฐ ซึ่งบังคับให้ภาคเอกชนที่ทำงานให้รัฐบาลต่างขาติ ต้องเปิดเผยข้อมูลการเงินที่รับมาจากต่างชาติ ‘เพื่อหวังผลทางการเมือง มิเช่นนั้นจะต้องโทษทางอาญา’ และอ้างว่าเขาได้เห็นใบเสร็จรับเงินการเงินของล็อบบียิสต์บริษัทใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐ APCO Worldwide ที่ถูกว่าจ้างโดยธนาธร ให้ทำประชาสัมพันธ์ให้ช่วงปี 2562 นอกจากนี้ เขาได้กล่าวอ้างด้วยว่า “ในปี 2065 มีเงินบริจาคต่างชาติไหลเข้าจำนวนกว่า 585.4 ล้านบาท โดยที่ไม่มีการตรวจสอบ และอ้างว่ามีบางส่วนใช้ไปเป็นท่อน้ำเลี้ยงองค์กรเอ็นจีโอปลอม ม็อบ หรือสื่อฝั่งล้มล้าง”

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง