ภาคีโคแฟค จัดงานเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

บทความ

3 พฤษภาคม 2564 กฤตนัน ดิษฐบรรจง

ขอบคุณที่มา : เวบส่องสื่อ

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 ภาคีโคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2564 โดยในงานได้มีการเสวนาเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 15 (Digital Thinkers Forum) ในประเด็น “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด : บทเรียนและอุปสรรค” และเสวนาสองภาษาในประเด็น โดยมีสื่อมวลชนและประชาชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับชมและถกเถียงผ่านการถ่ายทอดสดใน Facebook Page : Cofact เป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาภาคีโคแฟค ประเทศไทย กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่า การทำงานเรื่องการตรวจสอบข่าวลวงจำเป็นต้องใช้ระบบภาคีเครือข่ายในการร่วมตรวจสอบข่าวลวง และนอกเหนือจากนี้ยังต้องใช้หลักการทางวารสารศาสตร์ในการตรวจสอบข่าวลวงด้วย และในวันนี้ (3 พฤษภาคม 2564) เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งเป็นปีที่ 2 แล้วที่เราต่างอยู่ในสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สมาคมสื่อต่างๆ ในประเทศไทยก็ได้ออกแถลงการณ์ถึงความเป็นห่วงของการประกาศใช้ พ.ร.บ. ต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการแทรกแซงในการนำเสนอข่าวของรัฐได้

แนวคิดหลักของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก คือการนำเสนอข่าวที่เที่ยงตรงและทำหน้าที่อย่างไม่เกรงกลัว สำหรับการจัดงานในวันนี้ก็คือการตรวจสอบข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างเที่ยงตรง ไม่เอนเอียงฝ่ายใด และเที่ยงตรง เชื่อถือได้ พร้อมฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

สนิทสุดา เอกชัย กรรมการ กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม กล่าวต่อว่า จากดัชนีเสรีภาพสื่อขององค์กรสื่อไร้พรมแดน พบว่าประเทศไทยในปี 2563 อันดับตกลงมาอยู่ที่ 140 ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างอำนาจรัฐที่ควบคุมประชาชนและสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายหรือการแทรกแซง จนทำให้สังคมเกิดความเกลียดชังจากการถูกครอบงำ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลทำให้เห็นว่ารัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่อำนาจล้นเหลือ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเพียงใด สื่อมวลชนจึงเป็นหนึ่งในที่พักพิงของประชาชนในการตรวจสอบความจริง โดยไม่ตกเป็นกระบอกเสียงของรัฐอย่างไร? และกู้ศรัทธาอย่างไรในภาวะที่อินเตอร์เน็ตซัดเข้าหาสื่อมวลชน และประชาชนต้องการความจริง เวทีวันนี้จะเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะทำให้เราช่วยกันก้าวข้ามผ่านการถูกครอบงำและค้นหาความจริงเพื่อกอบกู้ศรัทธาให้กับสื่อมวลชนและสังคมต่อไป

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เราเชื่อมั่นในสิทธิของประชาชนที่จะมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ และปัญญา ซึ่งข้อมูลข่าวสารเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตทั้ง 3 ด้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิทธิของพลเมืองของทุกคน ตลอดจนการใช้วิจารณญาณซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ

ปัจจุบันการให้ข้อมูลกลายเป็นธุรกิจ และส่งผลทำให้เกิดการให้ข้อมูลเพียงแค่ด้านเดียว จนทำให้เกิดผลกระทบจำนวนมากต่อผู้คน การได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้านทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตด้วยปัญญาและวิจารณญาณได้ สื่อมวลชนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหา ตรวจสอบความจริง และสามารถตรวจสอบข่าวสาร เพื่อทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เที่ยงตรง อันจะส่งผลทำให้สุขภาวะของสังคมดีขึ้น และขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวพ้นการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้

ทุกท่านสามารถติดตามโคแฟคได้ทาง www.cofact.org หรือ Facebook : Cofact-โคแฟค

Content Creator
กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บรรณาธิการบริหาร MODERNIST Studio : ชอบดูทีวี สนใจเรื่องราวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีและวิทยุ ชอบเขียนบทความ เป็นเด็กค่าย #YWC16